การที่เด็กคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ส่งการบ้าน หรือทำการบ้านแบบส่งๆ เขียนด้วยลายมือที่อ่านไม่ออก อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำลายสมาธิเพื่อนในห้องเรียน อาจเป็นเพราะเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ คุยกับ หมอวิน-ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ เพจ ‘เลี้ยงลูกตามใจหมอ’ ถึงปัจจัยที่ส่งผลให้เด็ก ‘อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้’ ทั้งในด้านพัฒนาการและมองไปถึงระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเองได้ “มันก็ต้องบูรณาการทั้งระบบการศึกษา วิธีการสอน การวัดผล นั่นคือฝั่งของโรงเรียน ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องเข้ามาด้วย ไม่ใช่ผลักภาระมาที่ครู ที่บ้านไม่มีใครอ่านหนังสือให้ลูกฟังเลยตั้งแต่เด็ก เด็กจะไปรักการอ่านได้ยังไง ไม่เคยมีอะไรทำให้เกิดการเรียนรู้”
คุณครูท่านหนึ่งเปิดสมุดแบบฝึกหัดที่ให้การบ้านนักเรียนของตัวเองไป เพื่อจะตรวจทานดูว่า การบ้านที่ให้ไปนั้น เด็กๆ เข้าใจกันมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ต้องปวดใจเมื่อพบว่าลายมือที่เด็กเขียนส่งมาเป็นลายมือที่อ่านไม่ออกเลยสักนิด คุณครูเกิดความสงสัยในตัวเองว่า
“นี่เป็นเพราะเราสอนไม่เข้าใจ หรือ เด็กคนนั้นมีปัญหาด้านการเรียนรู้กันนะ”
สถานการณ์จำลองข้างต้นคุณครูหลายท่านน่าจะเคยพบเจอกันมาบ้าง พฤติกรรมที่เด็กแสดงมาเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ทั้งคุณครูและผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กหลายด้าน
The Potential ชวนหาคำตอบในเรื่องนี้กับ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ หมอวิน กุมารแพทย์ โรงพยาบาลนครธน และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกตามใจหมอ’ กัน
เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ
การที่เด็กคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในด้านการเรียนรู้ เช่น ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ส่งการบ้าน หรือทำการบ้านแบบส่งๆ เขียนด้วยลายมือที่ไม่สามารถอ่านเป็นคำได้ หรือในด้านอารมณ์ เช่น มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น พูดจาโวกเวกโวยวาย และทำลายสมาธิของเพื่อนคนอื่นๆ ในห้องเรียน ฯลฯหมอวินชวนทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องผ่านการวิเคราะห์ทั้งในมุมของครูผู้สอนและผู้เรียน
“แน่นอนคุณครูทุกคนมีความคาดหวังว่าเด็กต้องใฝ่เรียน สั่งงานไปก็ควรจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ทำส่ง เวลาทำส่งคุณครูก็คงคาดหวังเหมือนกันว่า ทำส่งก็คงจะต้องทำงานให้ครบถ้วน เรียบร้อย ครูจะได้รู้ว่าเขาเข้าใจอะไรบ้าง ไม่เข้าใจอะไรบ้าง จะได้เสริมต่อ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ เขียนก็ยึกยือ ทำงานก็ดูแบบไม่ได้ตั้งใจ บางอันก็ทำไม่เสร็จ ทั้งหมดนี้มันอยู่ที่บริบทที่ความคาดหวังของครูว่าเด็กคนหนึ่งควรจะตอบสนองกับการเรียนยังไง”
“ส่วนผู้เรียน อันนี้เราพูดถึงในกรณีที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องของพัฒนาการ ปัญหาเรื่องการเรียนอื่นๆ เราก็จะพบว่าเด็กสมัยนี้ ปัญหาคือเขาไม่ได้มีแรงจูงใจในการเรียนขนาดนั้น โดยเฉพาะถ้าเขาเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นการศึกษาแบบคัดออก ก็คือชื่นชมเด็กเก่งเท่านั้น เด็กไม่เก่งก็อาจจะมีความรู้สึกว่า ฉันก็ไม่ได้เก่งอะไร ทำอะไรก็ไม่ได้มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถทำได้ ไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถอะไร เพราะฉะนั้นเด็กบางคนก็เลยไม่มีแรงจูงใจในการเรียน เพราะว่าเขา relate (เชื่อมโยง) กับชีวิตเขาไม่ได้
มีเด็กหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ฉันเรียนเลขไปทำไม สุดท้ายก็มีเครื่องคิดเลขอยู่ดี จะเขียนไปทำไม สุดท้ายแล้วทุกวันนี้ก็มี Google Translate (ช่วยแปลภาษา) มี Google Collection (ช่วยบันทึกและจัดระเบียบผลการค้นหาด้วย AI นำมาเก็บไว้เป็น Collection) มี AI มาช่วยแก้ภาษา เขาจึงไม่รีเลทกับชีวิตเขาว่ามันมีความหมายในการเรียน มันเลยขาดแรงจูงใจ”
หมอวินมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาอาจไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน หลักสูตรไม่เอื้อต่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเองได้
“ทำไม่ครบก็ถูกครูด่า กลับไปบ้านพ่อแม่ก็ไม่เคยคุยด้วย พ่อแม่อาจจะยิ่งดุ คุณครูบอกทำการบ้านไม่ส่ง บางบ้านตีอีก ยิ่งทำให้การเรียนการทำการบ้านความรู้สึกเป็นเชิงลบกับผู้เรียน ไปเรียนทุกวันกลับบ้านไปโดนด่าทั้งที่บ้านทั้งที่โรงเรียน ฉันอุตส่าห์ทำการบ้านมา แต่ฉันเขียนลายมือไม่สวย อาจจะเขียนส่งๆ ไปก่อน เอาให้ครบ ก็ยังถูกด่า แทนที่จะมีใครเห็นว่าอย่างน้อยฉันก็ทำนะ และมีแรงจูงใจเชิงบวกว่า อะไรที่ทำให้เขาทำได้มากขึ้น ดีขึ้น เขียนสวยขึ้น มันไม่มีแรงจูงใจอะไรเลย
ซึ่งในแง่ของการเรียนทุกคนก็รู้ว่า การอ่านออกเขียนได้ มันเป็นเรื่องพื้นฐานมากเลยของการเรียนรู้ในอนาคต
ถ้าอ่านไม่ได้เขียนไม่ออก AI ก็ช่วยคุณไม่ได้นะ ไม่รู้จักตัวอักษร ไม่รู้จักสรุปความ ในอนาคตงานการง่ายๆ เอกสารราชการจะไปติดต่อใคร พูดจาไม่รู้เรื่อง เขียนไม่ได้เลย มันจะไปทำอะไรได้ ซึ่งอันนี้คุณครูก็หวังดีมาก แต่ผู้เรียนไม่รีเลท เพราะฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะสร้างแรงจูงใจในการเรียน ให้ผู้เรียนรู้ว่ามันมีประโยชน์กับชีวิตเขานะ”
นอกจากนี้ หมอวินเสริมในมุมของครูผู้สอนว่า “ครูเองก็ถูกกดทับด้วยระบบ ห้ามติด 0 ห้ามติด ร. อีก เขาก็เลยมีความคาดหวังว่ามันควรจะต้องเป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกันผู้เรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการเรียนการสอนเกิดขึ้น ทั้งหมดถูกครอบด้วยระบบการศึกษาไทย ซึ่งอาจทำให้มันไม่เกิดความเชื่อมโยงในชีวิต ท่องอย่างเดียวเพื่อไปสอบ แต่ไม่เกิดความเชื่อมโยงว่าฉันจะเอาสิ่งที่เรียนไปใช้ยังไงบ้าง เช่น มัธยมฯ ฉันจะเรียนตรีโกณไปทำไม ฉันจะเรียนกราฟพาราโบลาไปเพื่ออะไร บางทีมันไม่เกิดการเชื่อมโยง หรือเรียนไปแล้วมันไม่สนุก”
“มันก็ต้องบูรณาการทั้งระบบการศึกษา วิธีการสอน การวัดผล นั่นคือฝั่งของโรงเรียน ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องเข้ามาด้วย ไม่ใช่ผลักภาระมาที่ครู
ที่บ้านไม่มีใครอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังเลยตั้งแต่เด็ก เด็กจะไปรักการอ่านได้ยังไง ไม่เคยมีอะไรทำให้เกิดการเรียนรู้ อย่างเช่นไม่เคยมีใครมานั่งเล่นบทบาทสมมติกับเด็ก ไม่เคยมีใครมานั่งสนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ มันเลยรีเลทกันไม่ได้ ทำให้วันๆ ก็ผลักภาระออกนอกบ้านให้คุณครูผู้สอน เมื่อเกิดปัญหา ตัวเองก็ไม่ช่วยเข้าไปแก้ปัญหา ให้เป็นภาระครู แล้วคุณครูบางคนก็อาจไม่สนใจ ผลักเป็นภาระของครูชั้นปีต่อไป เมื่อจบประถมฯ ยังไม่ได้ ก็ผลักเป็นหน้าที่ของครูมัธยมฯ”
LD, สมาธิสั้น ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็ก นอกเหนือจากการขาดแรงจูงใจในการเรียน หมอวินบอกว่ายังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครูและผู้ดูแลเด็กต้องพิจารณาด้วยความใส่ใจ นั่นคือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งมีด้วยกันหลายภาวะที่ส่งผลต่อการเรียนของเด็ก โดยหลักๆ ที่พบเจอ คือ LD: Learning Disability หรือบกพร่องทางการเรียนรู้ และอีกอย่างที่เจอไม่น้อยไปกว่ากันคือ สมาธิสั้น หรือ ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder
“ที่หมอเคยหาข้อมูลมีเมื่อปี 61 เอาแค่โรงเรียนในสังกัด กทม. แสนกว่าคน ในชั้นประถม 1-6 มีประมาณ 13% ที่มีปัญหา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เยอะนะ และในนั้นมีอีกเท่าไหร่ที่มีความบกพร่องและมีอีกเท่าไหร่ที่ระบบการศึกษาไม่ทำให้เขาอ่านออกเขียนได้ แอลดีโดยภาพรวมหรือการบกพร่องทางการเรียนรู้มันอยู่ประมาณสัก 5-10% ของผู้เรียนอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ถ้าเด็กห้องนึงมี 40-50 คน จะมี 1-2 คน ที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ด้านการอ่าน การเขียน แล้วก็การคำนวน”
เมื่อถามว่า LD ส่งผลต่อการอ่านออกเขียนได้ของเด็กอย่างไร? หมอวินอธิบายว่า…
“เมื่อเด็กมีปัญหาเรื่องการอ่าน เขาก็ไม่เข้าใจบทเรียน เอาการบ้านไปทำก็อ่านไม่รู้เรื่อง หรือการคำนวนมีเด็กที่ก็ยังไม่เก่งเลข ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเรื่องการเรียนผ่านการที่อ่านไม่ได้ สะกดไม่เป็น คำนวนไม่ได้ สิ่งที่ได้คือการเรียนตก หรือทำการบ้านไม่ได้ แล้วก็เกิดปัญหา
บางคนที่เขาเขียนหยุกหยิกๆ คือเขาจะพอรู้ว่าเขาจะสื่อสารอะไร แต่เขาเขียนออกมาไม่ได้ หรือบางคนอ่านไม่ออกว่าโจทย์ต้องการอะไร หรืออ่านไม่ได้เลย อันนี้จะต้องประเมินตั้งแต่ไอคิว เอาไปทำเทสว่ามีความบกพร่องทางการเรียนหรือเปล่า เพื่อวินิจฉัยโรค ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนจะเป็นคนบอก แล้วก็จะเป็นพ่อแม่ที่พามาพบหมอพัฒนาการเพื่อทำการประเมิน”
ส่วนในกลุ่มสมาธิสั้น หรือ ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder มี 2 กลุ่มอาการหลักก็คือ สมาธิสั้น กับ พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น โดยกลุ่มสมาธิสั้น อาการที่แสดงออกมาคือไม่จดจ่อใส่ใจกับงานใด ถูกดึงดูดความสนใจจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ขี้ลืม ลืมแม้กิจวัตรตัวเอง ลืมทำงานที่ได้รับผิดชอบ รวมไปถึงเหม่อลอยง่าย และอีกกลุ่มคือพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ส่วนใหญ่มักมีอาการหยุกหยิก อยู่ไม่เป็นสุข ไม่สามารถนั่งอยู่ในห้องเรียนได้จนครบเวลา หรืออยู่ๆ ก็พูดโพล่งขึ้นมา ฟังคำถามไม่เคยจบพูดแทรกตลอด การฟังไม่ดี เมื่อเจอปัญหาจำเป็นต้องส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ หมอพัฒนาการเด็ก เพื่อประเมินและรักษา
นอกจากนี้ หมอวินยังเสริมอีกกลุ่มอาการที่มีปัญหาเรื่องสติปัญญา แบบไปสุดด้านใดด้านหนึ่ง คือ เด็กที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ หรือ Gifted Child ซึ่งมักจะขี้เบื่อ ต้องการการเรียนรู้ที่ท้าทายและยากขึ้น ส่วนอีกฟากหนึ่งก็คือ สติปัญญาล่าช้า หรือ IQ ต่ำ แต่ทั้ง IQ และ LD เหล่านี้อาจสัมพันธ์กับพันธุกรรมได้ ซึ่งทั้งหมดก็จะแสดงออกด้วยปัญหาการเรียน
และภายใต้ปัญหาการเรียนของเด็กคนหนึ่ง หมอวินอธิบายว่า สิ่งที่คนเห็นมักจะเห็นแค่ด้านพฤติกรรม เช่น ไม่ใส่ใจ ไม่ส่งงาน ไม่มีความรับผิดชอบ โดดเรียน ไม่มาเรียน แต่ลึกลงไปอาจมีปัญหาอื่นซ่อนอยู่ ยังไม่รวมถึงปัญหาทางกลุ่มอารมณ์ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมายที่ส่งผลกับการเรียน
“คุณครูหลายคนก็จะบอกว่า เวลาเด็กมีปัญหาทางการเรียน ไปขุดๆ เถอะ เด็กมีปัญหาที่บ้านด้วย คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ค่อยใส่ใจด้วย มันก็เลยทำให้ปัญหาของเด็กมันไม่ได้รับการแก้ไข
คือคุณครูใส่ใจคนเดียวไม่ได้ พ่อแม่ก็ต้องใส่ใจด้วย แล้วพอคุณครูบอกให้ไปหาแพทย์บางทีก็ไม่พาไป ก็แก้ไขไม่ได้ มองว่าปัญหาเรื่องการเรียนก็เป็นที่ครู คุณครูสอนไม่เข้าใจ เด็กเรียนตก ปัญหาอยู่ที่ครูสอนเด็กไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วมันมีปัญหาของเด็กอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันแก้ปัญหาทั้งทางบ้านแล้วก็คุณครู”
อ่านหนังสือกับลูก เล่นบทบาทสมมุติ กระตุ้นพัฒนาการ เปิดประตูสู่ทักษะในอนาคต
ในฐานะคุณพ่อท่านหนึ่ง หมอวินมองว่าการอ่านสำคัญกับลูกอย่างมาก และเป็นคนหนึ่งที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ
“บางคนอ่านตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง เพราะแค่การได้ยินผ่านหน้าท้องก็กระตุ้นพัฒนาการเด็กแล้ว หลายคนบอกลูกยังไม่รู้หนังสือเลย อ่านให้ฟังจะได้ประโยชน์อะไร แต่แค่ได้ยินเสียง ได้เห็นปากขยับ เสียงขึ้นสูงลงต่ำเด็กจับได้หมด จับน้ำเสียงจับสำเนียง จับการสื่อสารผ่านคุณแม่ และที่สำคัญเวลาเรานั่งอ่านนิทาน เด็กมักจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัก เด็กได้ความรักเต็มที่
การอ่านจึงเป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นพัฒนาการ และเป็นการกระตุ้นทำให้เด็กรักการอ่าน เมื่อรักการอ่านมันเปิดประตูไปสู่ทักษะอีกมากมายเลยในอนาคต
เมื่อพอมองเห็นว่าการอ่านมันสนุก มีเรื่องราว เด็กอาจจะเริ่มชอบตัวละครบางตัว เริ่มต่อยอดจากตัวละครนั้น ชอบสัตว์ สัตว์ตัวนี้หรือเรื่องราวที่อยู่ในนิทานที่สอดแทรกเข้ามาทำให้เด็ก ได้ในความรู้ ในความสนุก ได้ความคิดเพิ่มเติม แล้วบางทีก็ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้”
เรื่องราวของนิทานยังเป็นบทสนทนาชั้นดี ที่พ่อแม่จะได้ชวนลูกคิด วิเคราะห์ แยกแยะ แต่หมอวินย้ำว่า “นิทานก็คือนิทาน ไม่ใช่เซกชั่นดัดสันดานเด็กนะ”
“เพราะบางคนอ่านนิทาน อ่านไปตำหนิลูกไป เช่น อ่านนิทานที่สอนเรื่องการแปรงฟัน ด่าตั้งแต่หน้าแรก นี่เห็นไหม เขาแปรงฟัน ฟันเขาขาว หนูไม่แปรงฟัน ฟันก็จะผุ เหมือนกลายเป็นเซกชั่นที่เรามานั่งแล้วตำหนิลูกว่า ทำไม่ทำเหมือนในนิทาน อ่านนิทานไปในแบบที่นิทานต้องการสื่อสาร ไม่ต้องเอาอันนี้มาติ หรือมาทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เรื่องนี้ก็ต้องระวัง”
นอกจากนี้ ‘การเล่น’ เช่น การเล่นบทบาทสมมติกับเด็ก ก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ดีเช่นกัน
“ยกตัวอย่าง เล่นขายของกับลูก แม่ซื้อมาม่า 2 ห่อ จ่ายเงินด้วยเงินปลอมไป เด็กก็จะเริ่มบวกลบได้ ได้ขายไปเท่านี้อันนี้เหลือกี่อัน แล้วเมื่อของพวกนี้มันถูกเชื่อมโยงในสิ่งที่เขาสนใจ ในอนาคตเขาก็อยากบวกลบเลขได้ เพราะมันสัมพันธ์กับสิ่งที่เขาสนใจและพัฒนาไปเรื่อยๆ”
ดังนั้น พ่อแม่ควรเริ่มจากการที่อ่านให้ฟัง ชี้ชวนกันคุย และท้ายที่สุดเด็กจะอ่านได้ด้วยตัวเอง การที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เขาเล็กๆ จึงถือเป็นแต้มต่อเมื่อเขาเข้าไปเรียนในระบบการศึกษา
“หลายๆ บ้านไม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง ใช้หน้าจอเลี้ยงลูกเป็นหลัก พวกนี้มันส่งผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อพัฒนาการของเด็กและไม่ได้ช่วยให้เด็กเป็นคนรักการเรียน”
แต่ละบ้านจึงควรจะมีนิทานเล่มโปรดสักเล่ม หมอวินบอกว่าแค่นิทานเล่มโปรดเพียงเล่มเดียวสามารถต่อยอดได้มากมาย
“นิทาน 1 เล่ม อ่าน 100 รอบ แต่ละรอบอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ หรือถ้าไม่มีหนังสือจริงๆ ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา สามารถเอามาเล่าให้ลูกฟังได้หมด เด็กจะเริ่มรู้กับตัวเลขผ่านสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น รู้จักเลข 1 โดยที่ไม่ต้องมานั่งบอก ไม่ต้องมานั่งขีดเขียนว่านี่คือเลข 1 เพราะเดินผ่านแม่บอกนี่ไงซอย 1 ทุกวัน
คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวหลัก หนังสือก็คือสื่อ ถ้าไม่มีสื่อที่เป็นหนังสืออยู่ในมือ สื่อรอบตัว ถุงขนม หรือป้ายบิลบอร์ดต่างๆ จริงๆ สามารถอ่านให้ลูกฟังได้หมด อุ๊ย! แมวตัวนั้น สมมติมีบิลบอร์ดรูปแมวใส่แว่นตาดำ แมวใส่แว่นตาดำใส่ไปทำไมนะ เริ่มตั้งคำถาม ลูกอาจจะตอบ เราพูดต่อ นี่ก็เป็นนิทานเรื่องสั้นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้”
เล่นให้เต็มที่ อ่านเขียนเมื่อพร้อม สร้างแรงจูงใจในการเรียน เชื่อมโยงกับชีวิต
วิธีการสอนที่น่าสนใจของคุณครูก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกอยากเรียน
“คงเคยได้ยินว่าเด็กหลายคนไม่สนใจการสอนเพราะครูดุเกินไป เด็กบางคนเกลียดวิชานั้นเพราะคนคนเดียว และเกลียดไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเวลามันเกิดเหตุว่าผู้เรียนไม่สนใจ มันดูได้ทั้งระบบการศึกษา วิธีการสอน ปัจเจกบุคคล ครูผู้สอนและวิธีการตัดเกรด วิธีการวัดผล มันบวกกันทุกอย่างเลย ที่จะทำให้การเรียนมันไปได้”
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่หมอวินเน้นย้ำคือ เด็กแต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน ดังนั้นอย่าพยายามสนใจว่า อ่านได้หรือเขียนได้เมื่อไหร่
“ในวัยอนุบาลเดี๋ยวนี้เน้นอ่านออกเขียนได้ แบบบังคับให้ต้องอ่านออกแล้วต้องเขียนได้ ซึ่งเด็กมีความพร้อมไม่เท่ากัน เด็กหลายคนยังไม่พร้อมจับปากกา ซึ่งจริงๆ วัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่เราต้องมานั่งอยู่เฉยๆ และจับปากกา
วัยอนุบาลเป็นวัยที่พลังงานในตัวเยอะ ต้องวิ่งเล่นปีนป่าย พอถึงเวลามานั่งอ่านนิทาน เห็นตัวอักษร ได้ยินการออกเสียง เพื่อสร้างความหมายในการที่เด็กคนหนึ่งจะอ่าน และเมื่อกล้ามเนื้อมือพร้อม สมองพร้อม และความรักการอ่านพร้อม เด็กจะอยากเขียนเอง
แต่เด็กหลายคนถูกบังคับให้นั่งเฉยๆ แล้วก็คัด ก.ไก่ และมันเริ่มไม่เกิดความหมายในการที่เด็กคนนึงจะนั่งเขียนได้ แตกต่างจากการที่ สมมติตุ๊กตาตัวโปรดชื่อกุ๊กไก่ อยากจะเขียนชื่อตุ๊กตาจัง มาม๊าสอนหนูเขียนหน่อย เวลาเราให้ปุ๊บเขาก็พร้อมเขียน เพราะเขาอยากเขียนตามที่ร่างกายเขาพร้อมที่จะเขียน หลายคนจึงบอกว่า เข้าป.1 ยังเขียนไม่ได้ แต่เมื่อพร้อมแป๊บเดียวเท่านั้นเอง เขียนได้แล้ว เพราะฉะนั้นในวัยอนุบาลไม่ต้องเร่งขนาดนั้น แต่เมื่อเข้าวัยประถม อันนี้เป็นวัยที่ต้องเริ่มละ เริ่มที่จะอ่านออกเริ่มที่จะเขียนได้ตามวัย”
สำหรับช่วงปฐมวัยควรเน้นที่ ‘การเล่น’ ก็คือการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างเต็มที่ โดยการวิ่งเล่นปีนป่าย หรือลงมือทำงานศิลปะ รวมไปถึงการอ่านนิทานที่ทั้งภาพและเสียงที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก
“การขีดเขียนตามวัย วิธีการขีดเขียนไม่ใช่นั่งเขียน ก.ไก่ การขีดเขียนตามวัยคือในเด็กเล็กๆ อาจจะเป็นสีเทียนมาขีดเป็นเส้นยุ่งๆ จากนั้นก็อาจจะมีภาพมาให้ได้ระบายสีโดยที่ออกนอกภาพก็ได้ไม่เป็นไร แต่ความแม่นยำในการระบายสีจะเริ่มมากขึ้น จากขีดเป็นเส้นตรง เริ่มขีดวงกลมได้ เริ่มสามเหลี่ยมได้ เริ่มสี่เหลี่ยมได้ เด็กก็จะเริ่มประกอบกันเป็นภาพที่มากขึ้นได้ พอเริ่มประกอบเป็นภาพ พอลากเส้นตรงได้ เขาจะเริ่มทำอะไรที่มันยากขึ้นคือ เขียนตัวอักษรได้ ไล่ไปตามสเต็ปที่ควรจะเป็น
เด็กบางคนเขาก็ชอบนะ นั่งคัดก.ไก่ แต่ถ้าถูกบังคับให้นั่งเขียน ทัศนคติจะเริ่มไม่ดีในการเรียน ก็จะพบว่ามีการศึกษาหลายอันบอกว่า การนั่งขีดเขียนให้เป็นตั้งแต่อนุบาล กับเริ่มมาขีดเขียนตามวัยที่เขาควรจะเขียนได้ในวัยประถมเนี่ย ปลายทางไม่ต่างกัน แต่ทัศนคติสุดท้ายต่อการขีดเขียนและต่อการเรียนต่างกัน คนที่ถูกบังคับ ทำให้เกิดทัศนคติลบต่อการเรียนคือไม่ชอบเรียน มากกว่ากลุ่มที่ไปตามวัยที่ควรจะเป็น
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว วัยอนุบาลก็เลยไม่มีมานั่งขีดเขียน เล่นเป็นหลัก โรงเรียนบูรณาการก็เกิดขึ้นตรงจุดเพราะจุดนี้แหละ ก็คือเล่นให้พร้อมที่จะเรียนรู้จริงในวัยประถม แต่การเรียนวิชาการก็ไม่ผิดนะ แต่กลับมาบ้านต้องเล่นให้พอด้วย เพราะที่โรงเรียนเขาอาจจะถูกบังคับให้นั่งเฉยๆ ขีดเขียนเยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกลับมาบ้านก็ต้องเล่นให้เป็นไปตามวัยอย่างเต็มที่”
นอกจากการอ่านออกเขียนได้ จะเป็นพื้นฐานของทักษะที่สำคัญแล้ว ยังสะท้อนถึงอนาคตคุณภาพของประชากรได้ด้วย นี่จึงเป็นความน่ากังวลที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อคุณภาพประชากรในประเทศไม่ดี ศักยภาพของประเทศก็ไม่ดีตามไปด้วย โอกาสการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ไม่ดี จะมีนักลงทุนคนไหนอยากมาลงทุนในประเทศที่ทรัพยากรบุคคลไม่ดี
ครอบครัว โรงเรียน และรัฐ บูรณาการ 3 ภาคส่วน ช่วยกันแก้ปัญหาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้
เมื่อปัญหาการอ่านออกเขียนได้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องในระดับประเทศ ทางออกของปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน
เริ่มจากในระดับครอบครัว หมอวินเน้นว่า พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพตั้งแต่แรก คำว่า ‘เลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ’ หมายความถึงการเลี้ยงลูกไปตามวัย ไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวและใส่ใจในทุกๆ การเติบโตของลูก และที่สำคัญคือ ส่งเสริมให้เป็น
“ถ้าพูดถึงเรื่องการเรียนก็ต้องส่งเสริมให้รักการอ่านตั้งแต่อยู่ที่บ้าน แล้วก็ให้เขาเล่นแบบปลายเปิดอย่างเต็มที่ ให้เขาเติบโตในแบบของเขา ไม่ต้องบังคับ บ้านไหนที่เลี้ยงแบบบังคับว่าต้องเรียนตามที่คุณพ่อคุณแม่อยากจะให้เรียน อาจจะทำให้เขายิ่งไม่รีเลทเข้าไปใหญ่ว่า การเรียนนั้นมันมีคุณค่าให้กับเขายังไง
หลายคนบอกต้องเรียนสายนี้เท่านั้น ต้องเรียนไปเป็นอย่างนี้เท่านั้น เด็กเลยยิ่งไม่ชอบการเรียน เหมือนมันถูกบังคับให้เรียนในสิ่งที่เขาไม่ได้อยากเรียน แล้วก็เรียนในแบบที่เขาไม่ได้อยากเรียน มันพัฒนาศักยภาพในตัวเขาได้ไม่เต็มที่”
สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่อาจจะต้องวางความคาดหวังลงบ้าง มองให้เห็นว่าลูกของเรามีความชอบ ความถนัดในด้านไหน และสนับสนุนทั้งทุนการศึกษาและเสริมแรงใจไปพร้อมๆ กัน
“ในฝั่งคุณครูก็คือให้ดูว่า เด็กคนนั้นมีปัญหาพฤติกรรม หรือปัญหาของพัฒนาการอยู่ภายใต้นั้นหรือเปล่า เช่น เด็กคนนี้ป่วนคลาสมาก ทำให้การเรียนการสอนยากลำบาก พูดเสียงดัง หุนหันพลันแล่น สมาธิสั้นหรือเปล่า ลองเอาแบบคัดกรองของกรมอนามัยมาลองติ๊กดู คุณครูสามารถไปดาวน์โหลดมาใช้ได้ ถ้ามี คุณพ่อคุณแม่พามาพบแพทย์นะครับเพื่อประเมินในรายละเอียดอีกที่ว่าจำเป็นจะต้องรับการรักษาไหม เพราะสมาธิสั้น มียาที่ช่วยอยู่นะครับ
แล้วก็เด็กสมาธิสั้นไม่ใช่โตไปแล้วจะหายนะ คือโตไปก็เป็นสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ซึ่งก็จะส่งผลกับการใช้ชีวิตของเขาได้อีกเยอะมากเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นใจในตัวเอง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การเข้าสังคม ทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์อีกเยอะมาก เพราะฉะนั้นรีบเจอตั้งแต่วัยประถมตอนต้นดีที่สุด และรีบแก้ไขรักษากันนะครับ ซึ่งถ้ารักษามีโอกาสหายสูง”
“และเด็กหลายคน ผู้ใหญ่หลายคนที่โตมาก็มีความบกพร่องในการเรียน ถ้าไปลองหาอ่าน คนที่ได้รางวัลโนเบลหลายคน ก็มีความบกพร่องทางการเรียน กว่าจะอ่านออกก็นานมาก แต่ด้วยความเข้าใจที่ดีของคุณครู เขาก็สามารถผ่านมาแล้วก็ทำให้ได้รับรางวัลโนเบล เยอะแยะคนที่ประสบความสำเร็จชีวิต แต่บกพร่องทางการเรียนก็ผ่านมาได้ เพราะคุณครูเข้าใจและพ่อแม่เข้าใจ แล้วก็ทำให้การเรียนมันผ่านไปได้”
“ถ้าพูดถึงหลักสูตรเรื่องนี้หมอว่าก็ปรับขึ้นเยอะนะ อย่างเช่นไม่มีการสอบเข้าป.1 ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งนะที่ทำให้เด็กไม่ต้องถูกบังคับให้อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่วัยอนุบาล ในวัยที่เขาอาจยังไม่พร้อม
สองก็คือการปรับแบบเรียน ก็ต้องไปถามครู แบบเรียนที่เขาใช้งานอยู่ หลายแบบเรียนก็ไม่ได้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว ไม่ได้ทำให้เขารีเลทกับการใช้ชีวิตจริงๆ เช่น เด็กที่ไม่ชอบวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ แต่พอเป็นพอสแคสต์ประวัติศาสตร์ยอดวิวพุ่ง แสดงว่ามันต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและการวัดผลประเมินผล บางทีให้ไปนั่งท่องปีพ.ศ.อะไร เกิดอะไรขึ้น เพื่ออะไร รู้ไปทำไมว่าปีนี้เกิดอะไร คำถามคือเหตุการณ์นี้มันส่งผลยังไงกับชีวิต มันน่าจะมีตัวเชื่อมโยงกับชีวิตมากกว่าที่จะไปนั่งจำและสอบปรนัย ก ข ค ง แต่สุดท้ายผู้เรียนจำอะไรไม่ได้เลย”
การแก้ปัญหาจึงต้องทำอย่างบูรณาการทั้งที่บ้าน โรงเรียน และรัฐ ไปพร้อมๆ กัน