- จาก ‘วัฒนธรรมการทอผ้า’ ถูกผสมผสานกลายเป็น ‘การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)’ ซึ่ง ‘ครูบี-รัตติพร คงประจันทร์’ โรงเรียนบ้านขุนแปะ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในครูผู้พัฒนาหน่วยเรียนรู้ผ้าทอที่บูรณาการหลากหลายศาสตร์วิชา เล่าว่าโรงเรียนมีจุดมุ่งหมายให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และฝึกทักษะที่นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้
- ‘ภูมิปัญญาการทอผ้า’ ไม่เพียงถูกดึงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบ Project-based learning ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังขยายผลองค์ความรู้สู่ ‘ชุมนุมผ้าทอ’ ของโรงเรียน
- ข้อดีของการเรียนรู้เชิงรุก นอกจากจะพัฒนาทักษะด้านการคิดและการแก้ปัญหาแล้ว ยังช่วยให้เด็กทำงานเป็นทีมได้ และยอมรับซึ่งกันและกัน
“ตอนออกแบบแผนการสอนยากมาก แต่ตอนสอนมันดีมากเลย เพราะนักเรียนสนใจ เขาฟังเรา เขาทำความเข้าใจ นักเรียนมีความรู้มากขึ้น เป็นผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก”
ครูรัตติพร คงประจันทร์ หรือ ‘ครูบี’ โรงเรียนบ้านขุนแปะ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าพร้อมรอยยิ้ม หลังจากเมื่อหลายปีก่อนโรงเรียนได้ดึงฐานทุน ‘วัฒนธรรมการทอผ้า’ มาผสมผสาน ‘การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)’ พัฒนาหน่วยเรียนรู้ผ้าทอที่บูรณาการหลากหลายศาสตร์วิชา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ฝึกทักษะที่นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ รวมทั้งยังได้อนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอของชุมชน
ครูรัตติพร เล่าว่า โรงเรียนบ้านขุนแปะ เป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รุ่นที่ 4 เป็นโรงเรียนขนาดกลางกึ่งเล็ก มีนักเรียน 265 คน โดยทั้งหมดเป็นชาวปกาเกอะญอ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม เมื่อว่างเว้นจากการทำนา ปลูกผัก ผู้หญิงจะทอผ้าตามประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน แต่ปัจจุบันด้วยยุคสมัย การทอผ้าเริ่มหายไป เพราะเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ความประณีต และความอดทน ยิ่งที่นี่ใช้การทอแบบกี่เอว นั่งทอนานๆ จะปวดเอวและล้าตามข้อแขน
“สาเหตุที่โรงเรียนเพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าทอ เพราะมองว่านอกจากจะช่วยสืบสานประเพณีและอนุรักษ์ผ้าทอที่เป็นวิถีของชุมชนแล้ว การทอผ้ายังเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่นักเรียนนำไปใช้สร้างรายได้ และไม่อยากให้เด็กๆ ลืมเลือนวัฒนธรรมการทอผ้าไป”
หน่วยเรียนรู้ ‘ผ้าทอมือ’ บูรณาการเชื่อมสหวิชา
เดิมทีบ้านขุนแปะมี ‘ชุมนุมการทอผ้า’ ที่ชาวบ้านมารวมตัวกันทอผ้าแบบกี่เอวที่เป็นวัฒนธรรมชุมชนอยู่แล้ว ผู้ปกครองจะสอนเด็กเรียนรู้วิธีการทอและการย้อมผ้าอยู่บ้างตามวิถีชุมชน แต่เมื่อโรงเรียนบ้านขุนแปะเข้าร่วมโครงการ TSQP ได้นำมาออกแบบเป็น ‘แผนการเรียนรู้’ ที่บูรณาการเชื่อมโยงตัวชี้วัดของวิชาต่างๆ มาไว้ด้วยกัน
“เวลาออกแบบแผนการสอน เราต้องคุยร่วมกับครูวิชาอื่นๆ เช่น แผนเรียนรู้ผ้าทอ ต้องดูว่าสามารถเชื่อมโยงตัวชี้วัดในรายวิชาไหนได้บ้าง ถ้าเชื่อมไม่ได้เลย ครูอาจจะต้องปรับใหม่ ถ้าหากว่าเชื่อมกับวิชาอื่นๆ ได้ ก็ดำเนินการตามแผนไปเลย ซึ่งในแผนการสอนผ้าทอจะมีกิจกรรมให้เด็กออกแบบลายผ้า เด็กต้องวัดและคำนวณพื้นที่ ทำให้เขาได้เรียนคณิตศาสตร์
ในขั้นตอนการทำชิ้นงาน เด็กๆ จะได้ใช้วิชาวิทยาศาสตร์ เพราะต้องมีการทดลอง ลองผิดลองถูก ยกตัวอย่าง การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เด็กจะต้องค้นหาสีธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น เวลาย้อม ถ้าย้อมไม่ติด อาจจะต้องหาสารบางอย่างที่ช่วยให้ผ้าติดสีได้ เขาก็จะมีการวิจัย ทดลอง ซึ่งเด็กๆ ทดลองนำยางกล้วยเข้ามาใช้ ปรากฏว่าช่วยทำให้ผ้าติดสีได้ดี แต่ระยะเวลาที่เราแช่ผ้าอาจจะน้อยเกินไป สีเลยไม่เข้ม” นอกจากนี้การที่เด็กๆ ได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชน หาวัตถุดิบในท้องถิ่น ยังทำให้พวกเขาได้เรียนรู้วิชาสังคม ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงประวัติศาสตร์ชุมชนด้วย และสุดท้ายเมื่อเด็กทอผ้าขายได้ ก็จะได้ความรู้ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ ทั้งการคำนวณต้นทุนและกำไร
สนุกกับกิจกรรมทอผ้า สร้างผลงานจากผ้าทอ
ในแผนการเรียนรู้ผ้าทอ เด็กๆ จะได้สัมผัสกระบวนการผลิตผ้าทอ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการออกแบบลายผ้าผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การย้อมสีธรรมชาติ กระบวนการทอผ้าผืน การปักผ้า รวมถึงการแปรรูปพัฒนาผลิตภัณฑ์
ครูรัตติพร เล่าว่า เราให้เด็กออกแบบลายผ้าผ่านคอมพิวเตอร์ และให้นักเรียนทดลองทอออกมาเป็นผืน ซึ่งก็จะเป็นชิ้นงานของนักเรียนเลย จากนั้นเอามาแปรรูปเป็นสินค้า พอได้ผลงานออกมานักเรียนก็มีความภูมิใจ ส่วนถ้าบางคนไม่สนใจในเรื่องผ้าทอ เขาอาจจะคิดนวัตกรรมที่นำมาใช้ร่วมกับผ้าทอได้ เช่น บางคนอยากออกแบบเครื่องทอผ้า เพื่อให้เพื่อนทอผ้าได้สะดวก เพราะเห็นว่าเพื่อนทอผ้านานๆ ก็จะปวดเอวบ้าง เป็นความคิดตามสไตล์ของเด็กผู้ชาย
“ในกระบวนการเรียนรู้ เด็กๆ จะได้ลงสำรวจในชุมชนของตัวเอง และนำมาใช้เป็นข้อมูลออกแบบ วางแผน ซึ่งขั้นตอนวางแผนจะยากนิดหน่อย เพราะเด็กจะต้องเป็นคนคิดเอง โดยที่เราไม่มีการชี้นำ
ในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ เริ่มแรกจะต้องออกแบบในกระดาษ หรือสร้างแบบเป็นโมเดลไว้ก่อน เสร็จแล้วต้องมีการนำเสนอชิ้นงานให้เพื่อนๆ ฟัง และช่วยกันคอมเมนต์ เพื่อแก้ไขปรับปรุงก่อนจะลงมือผลิตชิ้นงานจริง เมื่อเด็กพัฒนาชิ้นงานเสร็จแล้ว จะต้องนำมาเผยแพร่ให้คนอื่นรับทราบ เช่น เผยแพร่ให้น้องๆ ในโรงเรียนรับรู้ หรือนำเสนอต่อหน้าคณะครูอาจารย์
ในการนำเสนอ เราจะให้เด็กๆ เล่าถึงนวัตกรรมที่นำมาใช้ และต้องประเมินตนเองว่า ตลอดการทำกิจกรรมมีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาได้ไหม ทำอย่างไร เป็นโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งแผนการเรียนรู้ที่นำมาใช้ทั้งหมดนี้จะมีโค้ชและนักวิชาการของ กสศ. เข้ามาช่วยให้คำแนะนำในการจัดกิจกรรม”
แน่นอนว่าการที่เด็กๆ ต้องคิดและวางแผนการทำงานด้วยตนเองคงไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งระหว่างการผลิตชิ้นงานย่อมต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรค ครูรัตติพรบอกว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดสรรถนะ ส่วนกลไกที่จะขับเคลื่อนนำพาเด็กไปสู่ผลลัพธ์นั้นได้ คือ ‘การทำหน้าที่โค้ชของครู’
“ตอนที่เด็กออกแบบในกระดาษนั้นดูเหมือนง่าย แต่พอนำมาสร้างจริงมันยาก มันมีปัญหาระหว่างทางที่เขาเจอ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาต้องแก้ไข ซึ่งเราเป็นครูที่อยู่ข้างหลัง ต้องทำหน้าที่เป็นโค้ช คอยสังเกตพฤติกรรม ถ้าตรงนี้เด็กไปไม่ได้แล้ว เราต้องเอามือเข้ามาช่วย แต่ถ้าหากเด็กยังไปต่อได้ เราปล่อยเขาไปเลย ให้เขามีอิสระในการคิด แต่ถ้าไปไม่ได้จริงๆ เราค่อยเข้ามาช่วย หรือในช่วงนำเสนอ ที่เปิดให้เพื่อนๆ คอมเมนต์งาน ครูต้องคอยอยู่เบื้องหลัง เป็นคนฟัง ช่วยเก็บรายละเอียด และเติมในส่วนที่ขาด เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนางานให้สมบูรณ์”
การปรับแผนการสอนจากการเขียนบนกระดานมาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ผ่านนวัตกรรมทั้ง Project Base Learning และ OECD ซึ่งครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นทั้งผู้แนะนำและนักออกแบบกิจกรรม นับเป็นโจทย์ยากและท้าทายในการปรับตัวอย่างมาก
“ยากมากนะ” ครูรัตติพร กล่าวและเล่าว่าการเรียนเมื่อก่อนมันง่าย เปิดหนังสือ สอนบนกระดานแล้วก็จบ แต่พอมาเจอ PBL เริ่มมีการปรับแผน แต่ก็ยังอิงเนื้อหาในหนังสือค่อนข้างเยอะ แต่พอมาใช้ OECD เรียกว่าเปลี่ยนรูปแบบเลย คือหนังสือเป็นแค่เนื้อหาที่ครูต้องดูเอง ไม่ใช่เอามาใช้กับเด็ก เราต้องสังเคราะห์เนื้อหาในหนังสือ วิเคราะห์ตัวชี้วัดมาให้มากที่สุด ในแต่ละเทอมที่ต้องออกแบบแผนการเรียนรู้แบบนี้ ยากมากกว่าจะผ่าน เพราะพอครูออกแบบแผนเสร็จ ต้องประชุมร่วมกัน เพื่อนำเสนอแผนต่อครูทุกคน เพื่อให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับตัวชี้วัดของแต่ละรายวิชา ที่สำคัญคือต้องออกแบบให้นักเรียนสนใจ
“ตอนออกแบบแผนการสอนยากมาก แต่ตอนสอนมันดีมากเลย เพราะนักเรียนสนใจ เขาฟังเรา เขาทำความเข้าใจ นักเรียนมีความรู้มากขึ้น เป็นผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก และพอได้ฝึกทำบ่อยๆ เราก็ชินเรื่องของกระบวนการ ทำให้สามารถสอดแทรกและพัฒนาแผนการสอนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น การนำเทคโนโลยี หรือเทคนิคการสอนที่ช่วยให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้มาใช้มากขึ้น”
‘ชุมนุมผ้าทอ’ ต่อยอดสร้างอาชีพเด็กและชุมชน
นอกจากการเรียนรู้ในชั้นเรียนแล้ว กสศ. ยังจัดกิจกรรมให้ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนบ้านขุนแปะและโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้สลับกันเดินทางเยี่ยมเยือนโรงเรียนระหว่างกัน เพื่อเป็นเวทีให้เด็กๆ ได้พบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ครูรัตติพร เล่าว่า นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมาร่วมออกแบบลายผ้าทอและแนะนำการแปรรูปผ้าทอให้ทันสมัยมากขึ้น จากเมื่อก่อนเรามีแค่กระเป๋าย่ามและเสื้อ เด็กๆ มาช่วยคิดว่าน่าจะมีกระเป๋าผ้าที่สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงใช้ได้กับทุกช่วงอายุ ทุกคนร่วมกันออกแบบขึ้นมา และนักเรียนโรงเรียนเราเป็นฝ่ายผลิตและจำหน่าย ช่วงนั้นขายกระเป๋าได้มากถึง 2,000 กว่าใบ
ภูมิปัญญาการทอผ้าไม่เพียงถูกดึงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบ Project-based learning ในชั้นเรียนเท่านั้น ครูรัตติพร ยังขยายผลองค์ความรู้สู่ ‘ชุมนุมผ้าทอ’ ของโรงเรียน และเปิดให้นักเรียนที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้
ครูรัตติพร เล่าว่า ชุมนุมผ้าทอตอนนี้มีนักเรียนอยู่ประมาณ 20 คน เพราะมากกว่านี้ครูจะดูแลไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิง อยู่ชั้น ป.4-6 แล้วก็มีเด็กมัธยม การเรียนรู้จะแบ่งตามระดับชั้นและความถนัด อย่างเด็ก ป.4 ที่ดูจะยังเล็กหน่อย จะให้ม้วนผ้า ซึ่งเขาม้วนผ้าฝ้ายเก่งมาก เพราะมีทุนความรู้มาจากที่บ้าน แล้วก็ให้ทดลองปัก เขาก็ปักได้ ส่วนเด็ก ป. 5 กำลังฝึกปัก สำหรับเด็ก ป.6 จะปักมือได้แล้ว เราก็จะให้เริ่มปักดอกไม้ เริ่มชิ้นงานจริงๆ ขณะที่เด็กมัธยมจะถนัดในเรื่องของการทอ ก็ให้เขารับผิดชอบการทอผ้า รวมไปจนถึงการขึ้นผ้า เรียกว่าเด็กๆ จะทำได้ตั้งแต่การม้วนผ้า ทอผ้า ปักผ้า ตัดเย็บ และแปรรูปขาย เป็นกิจกรรมที่จบในหลักสูตรเลย ซึ่งความรู้และทักษะต่างๆ เหล่านี้ จะติดตัวเขา และสามารถนำไปใช้ต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคตได้เลย
“เด็กที่มาทำกิจกรรมในชุมนุม เราคิดค่าแรงให้ด้วย เช่น ถ้าปักดอกไม้จะได้ดอกละ 10 บาท เสื้อ 1 ตัว ใช้ดอกไม้ประมาณ 20 ดอก เด็กคนที่ปักจะได้เงิน 200 บาท หรือถ้าหากเป็นเด็กชั้นเล็กๆ เช่น ป. 4 เขาปักไม่ได้แต่อยากเอาผ้าไปม้วน เราให้เขานำไปม้วนได้เลย ตามแต่นักเรียนจะรับไหว และคิดเงินให้ลูกละ 15 บาท เมื่อม้วนเสร็จก็นำมาส่ง แล้วก็ให้รับอันใหม่ไปทำต่อ ส่วนนักเรียนที่ทอผ้าได้ก็จะรับด้ายไปทอ”
ชุมนุมผ้าทอไม่ได้เพียงสร้างทักษะอาชีพและรายได้เสริมให้กับนักเรียนที่สนใจ แต่ยังส่งผลกระจายรายได้ไปยังครอบครัว รวมถึงนักเรียนที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วไม่ได้ศึกษาต่อ
“จากเดิมเราทำแค่นักเรียน แต่ตอนนี้เราขยายผลสู่ชุมชน เราให้ผู้ปกครองที่สนใจอยากร่วมกิจกรรมมาติดต่อกับที่โรงเรียนได้ เราก็จัดผ้าให้ โรงเรียนจะเป็นเหมือนตัวกลางกระจายสินค้าให้ชุมชนได้เขามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่จบ ม.3 ไปแล้ว แต่ไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องช่วยที่บ้านทำเกษตร ก็มารับทอผ้ากับโรงเรียน ทำเป็นเหมือนอาชีพเสริม เวลาว่างที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้าว เขาจะนั่งทอผ้า แล้วเอามาส่งให้โรงเรียน ทำให้เขามีรายได้ ก็เป็นความภูมิใจที่นักเรียนมีความรู้เอาไปสร้างอาชีพได้ และยังสามารถสานต่อให้ผ้าทอคงอยู่สืบเนื่องไปกับโรงเรียนและชุมชน”
ผลการเรียนรู้เชิงรุก เด็กสนุก คิดเป็น แก้ปัญหาได้
หลังจากโรงเรียนบ้านขุนแปะนำแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุกมาปรับใช้ในห้องเรียน ครูรัตติพร บอกว่า ผลการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เด็กสนใจเรียนมากขึ้น
“จากเมื่อก่อนที่เราเรียนแต่เนื้อหาสาระบนกระดาน ครูสอนไป เด็กก็ง่วงเหงาหาวนอน บางคนก็นอนไปบ้าง ไม่ได้สนใจ พอเราเปลี่ยนจากการเรียนในหนังสือมาสู่การปฏิบัติจริง ได้ทดลองจริง เขาก็มีความสุข สนุกที่ได้คิด พอถึงชั่วโมงเรียน เด็กมานั่งรอกันอยู่เต็มแล้ว จากเมื่อก่อนไม่มาเรียนเร็วขนาดนี้ ก็ดีขึ้น
แล้วที่สำคัญคือเราเห็นพัฒนาด้านความคิดของเด็ก คือเขาได้ฝึกคิดมากขึ้น มีอิสระในการคิดมากขึ้น ทำงานเจอปัญหาเขาได้เรียนรู้วิธีแก้ การเรียนแบบนี้ช่วยฝึกเด็กให้คิดว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก ไม่ใช่ว่าเจอปัญหาแล้วตัน เราได้สอนเด็กไปในตัว เราอยากให้เด็กเรียนแล้วมีความสุข ไม่อยากให้เครียดไปกับเนื้อหา หรือหมกมุ่นอยู่กับการท่องจำ อยากเน้นให้เขาเข้าใจมากกว่า”
นอกจากทักษะด้านการคิดและการแก้ปัญหาแล้ว ครูรัตติพรมองว่า ข้อดีของการเรียนรู้เชิงรุกยังช่วยให้เด็กทำงานเป็นทีมได้ และยอมรับซึ่งกันและกัน
“เราเคยเจอนักเรียนที่เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะว่าทำอะไรไม่เป็น แต่ในความที่เขาทำอะไรไม่เป็น เขาก็มีความเก่งของเขา นักเรียนที่นี่ค่อนข้างอยู่กับชุมชน ต้องตัดไม้ เดินป่า หาของป่า เขาถนัด แต่เด็กอีกคนหนึ่งเป็นคนดอย แต่เขาไปเรียนที่กรุงเทพฯ มาก่อน เขาไม่ถนัดเรื่องตัดไม้ เดินป่า แต่ว่าเขาพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก พอต้องมาอยู่รวมกัน ทำงานร่วมกัน มันเหมือนว่าเด็กเขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน ได้ช่วยกัน รู้ความถนัดของเพื่อน และให้การยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นข้อดีอย่างหนึ่งจากการเรียนกิจกรรมแบบนี้”
ขับเคลื่อนการเรียนรู้เชิงรุก ครูต้องยืดหยุ่น เป็นนักเรียนรู้
จากประสบการณ์ในการออกแบบแผนการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ครูรัตติพร บอกว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้แผนการสอนสัมฤทธิ์ผลได้ ครูต้องเป็นนักเรียนรู้และมีความยืดยุ่นอยู่เสมอ
“การออกแบบแผนการเรียนรู้ไม่มีอะไรที่ตายตัว เราต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ค่อนข้างเยอะ บางครั้งต้องไปอ่านงานวิจัยว่ามีรูปแบบการสอนแบบไหนที่จะนำมาใช้กับเด็กได้บ้าง รูปแบบการเรียนการสอนที่แปลกใหม่จะทำให้เด็กสนุกกับกิจกรรม ยิ่งเป็นงานที่ลดกระดาษและเน้นการลงมือปฏิบัติจริงได้ เด็กจะยิ่งให้ความสนใจมากเท่านั้น”
ที่สำคัญการออกแบบการเรียนรู้ต้องสอดคล้องรองรับกับสถานการณ์ของโรงเรียน และบริบทของชุมชน
ครูรัตติพร เล่าว่า ครูต้องเลือกสิ่งที่เข้ากับตัวนักเรียนและอิงบริบทของชุมชนจริงๆ แผนการเรียนรู้ผ้าทออาจจะเข้ากับโรงเรียนบ้านขุนแปะได้ เพราะเชื่อมโยงกับวิถีของคนภาคเหนือ แต่ถ้าจะนำไปใช้กับโรงเรียนในภาคใต้ อาจจะไม่ได้ เพราะว่าบริบทชุมชน สภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน ภาคเหนือมีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับผ้าทอ การเกษตร การปลูกผัก ส่วนภาคใต้จะมีกิจกรรมประมงเข้ามา ฉะนั้นแผนการสอนจะใช้เหมือนกันหมดไม่ได้ เราต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของตัวเองและชุมชน เด็กถึงจะเกิดสมรรถนะได้
อย่างไรก็ดี ครูรัตติพรบอกว่า ประโยชน์ของการได้มีโอกาสมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้โครงการ TSQP ช่วยให้ครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางได้
“การเรียนสมัยก่อน ครูก็เขียนบนกระดาน ให้เด็กท่องจำ ซึ่งเด็กจำได้ ณ ตอนนั้น แต่พอหมดชั่วโมง เด็กก็ลืม คืนเนื้อหาส่งครูหมด ซึ่งเท่ากับเขาไม่ได้รับความรู้อะไรเลย ทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ แต่วันนี้ที่มีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนที่มุ่งเน้นไปที่ตัวเด็ก ให้เด็กได้ทำกิจกรรม จะทำให้เขามีความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กไปตลอด ต่อให้ผ่านไปกี่ปีเขาก็ยังคงเข้าใจและรู้เรื่อง มันกลายเป็นวิทยาการที่ติดตัวเขา ตกตะกอนและอยู่กับตัวของเขาไปตลอด”