- วิชาสื่อสารเป็นคือวิชาชีวิตในหน่วยการเรียนรู้เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวที่นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนปัญญาประทีปจะต้องเรียนรู้
- หัวใจสำคัญของการสื่อสารเป็นคือการเรียนรู้และรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง พร้อมกับการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ
- แนวคิดในการออกแบบการเรียนรู้มีพื้นฐานมาจาก ‘วาจาสุภาษิต’ ในหลักพุทธธรรม ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้โดยการพานักเรียนไปสัมผัสกับประสบการณ์และผู้คนที่หลากหลาย ผ่านการทำกิจกรรมนอกรั้วโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงหัวใจของการสื่อสารที่แท้จริง
“ระหว่างที่กำลังนั่งคุยกันอยู่นี้ ก็มีคำว่าสื่อสารคั่นกลางระหว่างเรา ทีนี้จะทำอย่างไรให้การสื่อสารที่มีอยู่นั้นมันดี จะทำอย่างไรให้ระหว่างเรามันเป็นสนามหญ้านุ่มๆ เป็นสวนดอกไม้ เราต้องไม่ทำให้มันเป็นกองไฟ หรือพื้นที่ที่โรยด้วยตะปูและกับระเบิด อันนี้คือแนวคิดของการสร้างวิชาสื่อสารเป็น”
ธีรยุทธ พงษ์ศิริยะกุล หรือ ‘ครูตู่’ โรงเรียนปัญญาประทีป จังหวัดนครราชสีมา กล่าวด้วยรอยยิ้มขณะเริ่มต้นบทสนทนาถึงความสำคัญของวิชาบูรณาการ ‘สื่อสารเป็น’ ที่เขารับหน้าที่เป็นครูผู้สอน โดยวิชานี้ถือเป็นหนึ่งในหน่วยการเรียนรู้ ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ครูตู่บอกว่าด้วยความที่โรงเรียนปัญญาประทีปเป็นโรงเรียนวิถีพุทธปัญญา การสอนวิชาชีวิตต่างๆ จึงคิดอยู่บนพื้นฐานคำสอนของพระพุทธเจ้าผ่านสองหัวข้อสำคัญคือ หลัก ‘ไตรสิกขา’ และ ‘ภาวนา 4’ ที่เหมาะสมกับพัฒนาการของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น
“ครูอยากบ่มเพาะนักเรียนช่วงวัยรุ่นที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างเข้มข้นที่สุด แต่ครูก็คิดว่าจะทำยังไงให้ชีวิตของนักเรียนทั้งชีวิต หรือที่เราเรียกว่าองค์รวมพัฒนาไปด้วยกัน
คือความรู้ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าคิดไว้แล้ว คำว่า ‘ไตรสิกขา’ ไตร แปลว่า สาม, สิกขา แปลว่า การศึกษา รวมแล้วแปลว่า การศึกษาชีวิตทั้งสามด้านของมนุษย์ เริ่มด้วยศีล ต่อไปที่สมาธิ และปัญญา ซึ่งคำศัพท์ภายนอกอาจเรียกว่า สังคม จิตใจ และสติปัญญาความรู้
ไตรสิกขาถ้าแยกออกมาชัดๆ จะกลายเป็น ‘ภาวนา 4’ ซึ่งเป็นหลักเชื่อมโยงกัน ถ้ากายแบ่งออกมาจะเป็น กายภาวนา กับ ศีลภาวนา สมาธิแตกออกเป็น จิตภาวนา ปัญญาก็ตรงตัวเป็น ปัญญาภาวนา
ส่วนของกาย ศีลเป็นสิ่งที่พัฒนาได้เลยตอนนี้ เพราะจะกลายเป็นจิตและปัญญาของเรา ศีลภาวนาคือทำยังไงให้เราอยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุขไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ซึ่งวิชาสื่อสารเป็นอยู่ในธีมศีลภาวนา โดยพระอาจารย์ชยสาโร (องค์ประธานที่ปรึกษาโรงเรียนปัญญาประทีป) บอกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการสื่อสาร ครูก็มาคิดต่อว่าถ้าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์ของคนกับคน หรือคนกับกลุ่มคน เราจะมีวิธีการพัฒนาอย่างไร”
หลังจากขอคำปรึกษาจากพระอาจารย์ชยสาโรแล้ว ครูตู่ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือเรื่อง ‘พุทธธรรม’ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เพื่อนำมาเป็นไอเดียในการออกแบบการเรียนรู้ผ่าน 3 บทเรียนสำคัญ
“บทเรียนแรกชื่อว่า ‘การสื่อสารภายใน’ สื่อสารกับชีวิตตัวเอง ชีวิตคืออะไร ก็จะนำเรื่องขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มาให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าชีวิตมนุษย์จะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ซึ่งมันอาจเป็นความรู้เชิง ‘สุตมยปัญญา’ เป็นปัญญาที่ได้จากการฟัง เป็นความรู้เชิงความรู้ความจำ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทำให้ความรู้ชุดนี้กลายเป็นความรู้เชิงประจักษ์
บทเรียนที่สอง จะให้เด็กๆ พิจารณาว่าแล้วชีวิตเป็นอย่างไร ผ่านหลักไตรลักษณ์ คือทุกชีวิตต่างมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ทุกชีวิตเป็นทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ไม่เหมือนทุกข์ในอริยสัจ 4 เพราะความหมายของทุกข์ในไตรลักษณ์มันมีความขัดแย้งขัดเคืองซึ่งทำให้มันต้องเปลี่ยน เช่น กายของเรามีดิน น้ำ ลม ไฟ น้ำกับไฟมันขัดแย้งกัน ลมกับดินก็ขัดแย้งกัน มันจึงเป็นปัจจัยให้ต้องเปลี่ยนตามหลักอนิจจัง ข้อที่ 3 ก็คืออนัตตา มันไม่มีใครเป็นเจ้าของโดยแท้จริง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุปัจจัย
บทเรียนที่สาม ชีวิตเป็นไปอย่างไร ก็คือเป็นไปตามหลักกรรมนั่นเอง มีเหตุก็ต้องมีผล ตามหลักปฏิจจสมุปบาท มีสิ่งนี้ย่อมมีสิ่งนี้ เราพูดหรือทำแบบนี้ ผลที่รับกลับมามันก็เกิดต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราบอกว่าฉันรู้สึกดีกับเธอจังเลย หรือกระทั่งกูเกลียดมึงในภาษาวัยรุ่น มันก็มีเป็นทอดๆ ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ครูตู่ยอมรับว่าความรู้ที่เขาพูดมาล้วนเป็นสิ่งที่ไกลตัวจากวัยรุ่น ดังนั้นการจะทำให้นักเรียนของเขาเข้าถึงหลักธรรมต่างๆ ได้จำเป็นต้องสร้างกิจกรรมให้เขาได้เป็นผู้ทดลองและเรียนรู้ด้วยตัวเอง
“สำหรับการสื่อสารภายใน ครูได้กำหนดเวิร์กชอปให้เขามาลองนั่งท่าเทพบุตรเป็นเวลา 15 นาที เพราะที่ผ่านมาเด็กๆ จะทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าอยู่แล้ว แต่สังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่มักเอามือลงเท้าพื้น หรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นนั่งท่าเทพธิดา เป็นเพราะเขาเอาใจกับกายมาผูกกันว่าร่างกายเจ็บ ใจเขาก็ไม่ไหวด้วย
พอครูให้เขานั่งยาวขึ้นกว่าตอนขอศีล เด็กๆ ก็จะนั่งจนรู้สึกว่านิ้วมันจะหักอยู่แล้ว แต่ครูก็ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนท่า ถ้ามีใครเปลี่ยนท่า ครูขอเริ่มจับเวลาใหม่ ซึ่งระหว่างนั้นครูก็จะบรรยายไปด้วยเพื่อให้เขาเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน สัญญาแปลว่าความจำ ความจำมันบอกเราว่านั่งท่านี้จะเกิดอะไรขึ้น เวทนาคือความรู้สึกที่รับรู้ถึงความเจ็บ สังขารปรุงแต่ง ปรุงแต่งว่านิ้วจะหักแล้ว เดี๋ยวเข่าจะเล่นกีฬาไม่ได้ คือให้เขารู้ความรู้สึกภายในก่อนจะออกมาเป็นการกระทำ เขารู้ว่ามันกำลังปรุงอยู่นะ เขาก็เลยไม่เปลี่ยนท่า การกระทำก็เลยถูกยับยั้งเอาไว้ก่อน
ทีนี้สมมติวันหนึ่งภายในบอกว่าโกรธเพื่อนมาก แทนที่จะด่าหรือเดินไปต่อยเลย การเรียนรู้เรื่องการสื่อสารภายในจะเป็นตัวยั้งเขาว่าตอนนี้มันกำลังปรุงแต่งให้เขาคิดว่าคนนี้มันไม่ดี มันเลวสุดๆ มันควรโดนแบบนี้”
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหลังจากเด็กๆ สามารถฝ่าด่านความปวดเมื่อยไปได้ครบ 15 นาที ครูตู่จะรีบส่งน้ำแข็งให้ทุกคนถือไว้คนละก้อนโดยมีกฎว่าห้ามปล่อยและห้ามสลับข้าง เพื่อ ‘ขโมยความรู้สึก’ จากขาไปอยู่ที่มือ ซึ่งครูตู่บอกว่าบทเรียนนี้สอนให้รู้ว่ากายกับใจไม่จำเป็นต้องผูกกันตลอดเวลา อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความไม่เที่ยงที่เชื่อมโยงไปถึงหลักไตรลักษณ์อีกด้วย
“พอทำกิจกรรมเสร็จ ครูจะให้เขียน AAR (After Action Review) เพื่อสรุปความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนร่วมกิจกรรมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราอยากให้เด็กๆ ที่นี่ได้มีปัญญาเชิงประจักษ์ เป็นปัญญาที่เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ใช่แค่การฟังแล้วจำ”
ครูตู่บอกว่าเมื่อเด็กๆ เข้าใจตัวเองผ่านการสื่อสารภายในมากขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเรียนรู้การเข้าใจผู้อื่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนกับคน โดยการออกไปพูดคุยและรู้จักกับผู้คนในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย
“ครูจะพาพวกเขาไปออกทริปที่เป็นการพาเด็กๆ ไปเจอกับสังคมที่มีความแตกต่างกับสังคมภายในโรงเรียนที่เขาเคยเจอ เช่น การไปพูดคุยสัมภาษณ์เยาวชนที่ก้าวพลาดที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ แต่ก่อนจะไปเราต้องทำความคิดก่อน คำถามไหนที่ถามแล้วจะไม่กรีดแผลเก่าเขา คำถามไหนถามแล้วรู้สึกว่าเรากับเขามีการแบ่งชนชั้น คำถามไหนที่ถามแล้วเขากับเรารู้สึกเป็นพวกเดียวกันเพื่อให้เขาเปิดใจเล่าให้เราฟัง ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก
ครูจะบอกนักเรียนเสมอว่าสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกันคือ ‘รักสุข เกลียดทุกข์’ สั้นๆ แค่นี้ มีใครไหมไม่รักที่จะมีความสุข มีใครไหมที่รักอยากจะได้ทุกข์มา มีใครไหมที่ไม่เกลียดทุกข์ ไม่มี ฉะนั้นไม่ว่าคนจะพลาดขนาดไหนในชีวิต เขาก็ยังรักสุข เกลียดทุกข์เหมือนเรา เพียงแต่เขาไม่มีความรู้พอ จิตใจไม่เข้มแข็งพอ หรือมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ขับเคลื่อนให้เขาทำแบบนั้น เหมือนเด็กคนหนึ่งที่บอกว่าเขาอยู่โรงเรียนสามัญเพียงแต่มีเพื่อนเป็นเด็กช่าง วันหนึ่งเขาเห็นเพื่อนคนนั้นถูกคู่อริทำร้าย เขาก็แค่เข้าไปช่วยและใช้ไม้หน้าสามฟาดเข้าไปทีเดียว แต่มันกลับทำให้คนที่ถูกฟาดเสียชีวิต เขาเลยต้องติดอยู่ที่นี่ มันเลยทำให้พอพูดคุยแล้วเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้คนเหล่านั้นทำความผิด เด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าตัวเขาก็พลาดได้เพราะอารมณ์ชั่ววูบ ดังนั้นเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนนั้นอยู่ที่ใจที่สติของเรา”
นอกจากการทำความเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนต่าง ‘รักสุข เกลียดทุกข์’ ที่เปรียบเสมือนคาถาประจำวิชาแล้ว สิ่งที่ครูตู่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘หลักวาจาสุภาษิต’ ซึ่งเป็นดั่งหลักยึดและหัวใจสำคัญของวิชาสื่อสารเป็น
“ครูชอบคำที่บอกว่า ‘ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด พูดแล้วคำพูดเป็นนายเรา’ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะพูดต้องมีหลักวาจาสุภาษิตเป็นหลักยึด เริ่มจากข้อแรกว่าเป็นจริงไหม ข้อสองเป็นจริงแล้วเป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้ามันเป็นจริงแต่ไม่มีประโยชน์ควรพูดไหม สามคือถูกที่ถูกเวลาไหม
ถ้าเกิดเพื่อนมีกลิ่นตัวแต่เราไปบอกเขาในระหว่างที่เพื่อนเต็มห้องแบบนี้มันก็ไม่ถูก สี่คือเจตนาของเราเป็นยังไง เพราะถ้าเจตนาในการพูดคือการตั้งใจทำร้ายเขา อย่างนั้นก็ไม่ผ่าน ข้อสุดท้ายคือภาษาที่ใช้ต้องเหมาะสมกับคู่สนทนาและมีความสุภาพ ซึ่งถ้าผ่านทั้งห้าข้อไปได้ เด็กๆ ก็จะสามารถสื่อสารได้ทั้งการพูดและการเขียนอย่างถูกต้องโดยไม่สร้างผลเสียให้กับตัวเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่น”
เมื่อขึ้นเทอมสอง ครูตู่จะจัดกิจกรรมสำคัญที่ถือเป็นไฮไลท์ของวิชาสื่อสารเป็นนั่นคือการทำ ‘ละครเวที’ เพราะการเล่นละครเวทีจะทำให้เด็กๆ ฝึกมองโลกและเรียนรู้วิธีคิดในมุมของผู้อื่น
“ละครเวทีจะช่วยในเรื่อง Public Speaking แน่ๆ แต่ก่อนหน้านั้นครูจะฝึกเขาก่อนด้วยการให้ทำ TED Talks ที่แต่ละคนต้องไปหาเรื่องที่เขาสนใจมาพูดให้ครูและคนอื่นๆ ฟัง ประมาณ 10 นาที จากนั้นจะเป็นโปรเจกต์ละครเวทีเพื่อส่งเสริมให้เขากล้าพูดในที่สาธารณะ รู้จักถอดความเป็นตัวเองออก เอาชีวิตของคนอื่นมาสวมทับเพื่อแสดงออกไป
บางปี มีการแสดงเรื่องซีอุย ครูก็ให้เขาศึกษาว่าซีอุยคือใคร เหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีพฤติกรรมแบบนี้ มีความคิดแบบนี้คืออะไร หลังจากนั้นไปศึกษา น้อมเข้ามาเป็นตัวเอง คนที่แสดงเป็นซีอุยก็ต้องน้อมภูมิหลังชีวิตของซีอุยมา แล้วค่อยๆ ซ้อม Personality ที่ทำให้คนเห็นว่าซีอุยน่าจะแสดงออกมาแบบไหน ถ้าเกิดเขาถูกพ่อตบตีตั้งแต่เด็ก เขาน่าจะเป็นคนที่ Friendly ไหม เขาจะเป็นคนที่ Introvert ไหม อันนี้ก็แล้วแต่เขา ให้เขาไปหาบุคลิกภาพของซีอุยเข้ามาในตัวเขา ส่วนการสื่อสารที่เป็นอวัจนภาษาก็จะต้องแสดงออกให้เห็นว่าลักษณะการกินเครื่องในครั้งแรกกับครั้งที่ 20 เป็นเหมือนกันไหม มันก็จะมีรายละเอียดเรื่องกระบวนการละครเข้ามา แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการสื่อสารทั้งสิ้น”
ครูตู่บอกว่าหลังจากผ่านวิชาสื่อสารเป็นไปแล้ว สิ่งที่หลายคนสะท้อนกลับมาคือ เด็กๆ มีทักษะในการเรียนรู้และรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง พร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ส่งผลให้ ‘ความสัมพันธ์’ ในห้องเรียนดีขึ้น เด็กรู้จักการขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชม และตักเตือนกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร
“จริงๆ ทุกกิจกรรมจะย้อนกลับไปที่หลักแรกของโรงเรียนคือ ‘ไตรสิกขา’ การศึกษาชีวิตทั้งสามด้าน เป็นกระบวนการที่ต้องร้อยเรียงสอดคล้องหมุนไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฐาน Head Hand Heart ฐานหัว ฐานกาย ฐานใจ ต้องสัมพันธ์กัน เหมือนกิจกรรมที่พาเด็กๆ ไปข้างนอกไปเจอคนที่แตกต่างหลากหลายนั้น เราต้องเตรียมใจเขาให้พร้อมมากๆ ก่อน หลังจากนั้นมันจะออกมาเป็นคำพูดและการกระทำที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการพัฒนาสามฐานนี้ไปเรื่อยๆ ชีวิตองค์รวมมันก็จะถูกยกขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ
การสื่อสารเป็นทำให้เราอยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น เช่น การพูดจะพูดยังไงให้ดี พอผ่านหลักวาจาสุภาษิตมาแล้ว เมื่อเด็กๆ เขาพูดดีมันก็เกิดเป็นปัญญา เกิดเป็นความรู้ส่วนตัวว่าการพูดแบบนี้แหละมันทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น มันทำให้คนฟังมีความสุข สามารถอยู่กันอย่างมีความสุขรักใคร่ช่วยเหลือ แต่ถ้าเกิดเขาพูดผิดซึ่งก็ไม่แปลกที่คนเราอาจจะมีเผลอบ้าง เขาก็จะกลับมาทบทวนได้ว่าทำไมเขาพูดแล้วเพื่อนถึงร้องไห้ เขาขาดหรือตกหลักข้อไหนทำให้ผิดพลาดไปหรือเปล่า เขาก็จะเกิดปัญญา
เพราะฉะนั้น กาย ศีล จิต ปัญญาเหมือนจะแยกกัน แต่จริงๆ ทำงานร่วมกันตลอดเวลา โรงเรียนจึงสอนการสื่อสารว่าในหลักวิชาการคืออะไร ให้เด็กเข้าใจและสามารถเอาไปใช้โดยมีหลักยึดที่ดี (กาย ศีล ภาวนา วาจาสุภาษิต) จากพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นวิชาชีวิตในแง่ของการใช้ภาษาในการสื่อสาร ถ้าความรู้กับใจมันดีมันพร้อม มันก็จะผลักออกมาเป็นคำพูดและการกระทำที่ดี ก็จะเกิดคำที่ชื่อว่า สื่อสารเป็น”