- Lady Bird (เลดี้เบิร์ด) เป็นภาพยนตร์แนว Coming of Age ในปี 2017 นำเสนอเรื่องราวของคริสทีน แมคเฟียร์สัน สาวน้อยวัย 17 ปีที่เรียกตัวเองว่าเลดี้เบิร์ด
- ในวัยที่ต้องการโผบิน เลดี้เบิร์ดน้อยใจในโชคชะตา รวมถึง ‘แม่’ ที่ดูจะไม่เข้าใจอะไรเธอสักอย่าง ซ้ำยังคอยพูดจาทำร้ายจิตใจ ราวกับว่าเธอคือตัวปัญหาของบ้าน
- ตลกร้ายคือแม้สองแม่ลูกจะรักกันมาก แต่ความรักนั้นกลับเคลือบไว้ด้วยความอยากเอาชนะและการใช้อารมณ์ ทำให้ทั้งคู่ผิดใจกันบ่อยครั้ง
ตอนเป็นเด็ก ผมเชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์ประเภทพ่อแม่ไม่เข้าใจมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ การถูกพ่อแม่พูดจาบั่นทอนจิตใจ รวมไปถึงการถูกพ่อแม่ลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผล
ในกรณีของผม พ่อแม่มักสรุปสั้นๆ ว่า “ที่ทำไปเพราะรัก” “พ่อแม่ปรารถนาดีกับลูกเสมอ” หรือไม่ก็สักวันหนึ่งถ้าผมเป็นพ่อคน…ผมก็จะเข้าใจเอง แน่นอนว่ามีบางเรื่องที่ผมพอจะเข้าใจ ส่วนบางเรื่องก็ไม่เข้าใจ เหมือนกับชีวิตของคริสทีน แมคเฟียร์สัน นางเอกจาก ‘Lady Bird’ ภาพยนตร์อเมริกันแนว Coming Of Age ในปี 2017 ที่คว้ารางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กำกับโดย Greta Gerwig ผู้กำกับสาวชื่อดังที่มีผลงานมากมาย (รวมถึงการได้กำกับ Barbie ฉบับคนแสดงที่อยู่ระหว่างการถ่ายทำ
-1-
ความรู้สึกว่าแม่ไม่เข้าใจเกิดขึ้นกับ คริสทีน แมคเฟียร์สัน มานานแล้ว เพราะแม่ของเธอมักขยันหาโอกาสต่อว่าเธอเสมอ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ลามมาจนถึงเรื่องเล็กน้อยอย่างการไม่เก็บที่นอน ทำให้คริสทีนน้อยใจและอดไม่ได้ที่จะตัดพ้อแม่ในบางครั้ง
“แม่เคยเข้านอนโดยไม่เก็บเสื้อผ้าให้เรียบร้อยบ้างไหม แบบสักครั้งในชีวิต แล้วแม่เคยอยากให้แม่ตัวเองไม่โกรธบ้างไหม”
ความไม่พอใจเหล่านี้ ผสมผสานความอับอายที่ตัวเองไม่มีโอกาสหรือมีฐานะร่ำรวยอย่างเพื่อนคนอื่น คริสทีนจึงนึกต่อต้านกับชีวิตที่เป็นอยู่ เธอจึงตั้งชื่อให้กับตัวเองว่า ‘เลดี้เบิร์ด’ ที่แม้จะเชย แต่มันก็ทำให้สาวน้อยรู้สึกภูมิใจที่เธอได้ตั้งชื่อให้กับตัวเอง
แม้บางคนจะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกฟีลกู๊ด แต่ผมเห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมสัมผัสถึงความตึงเครียดที่แฝงมากับบทสนทนาของสองแม่ลูกในหลายๆ ฉาก
อย่างเช่น ฉากสองแม่ลูกทะเลาะกันบนรถเรื่องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ที่เลดี้เบิร์ดอยากไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรัฐสักแห่งในนิวยอร์ก แต่แม่ไม่เห็นด้วยเพราะครอบครัวกำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งในมุมนี้ ผมยอมรับว่าเห็นใจแม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเห็นใจเลดี้เบิร์ดเช่นกัน เพราะวิธีการพูดคุยของแม่เต็มไปด้วยอารมณ์และการเอาชนะมากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผล
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ตัวผมเองรู้สึกไม่โอเคเมื่อครั้งยังเด็ก คือการต้องมาโดนพ่อแม่ดุว่าบนรถ เพราะการที่ผู้ใหญ่พูดคุยเรื่องเครียดๆ ขณะเดินทางมันทำให้สมองของเด็กเครียดกว่าการพูดคุยที่บ้านประมาณสามเท่า เพราะรถมีพื้นที่แคบให้อารมณ์เหมือนเราถูกต้อนให้จนตรอก
“แกไม่คุ้มค่าเรียนมหาวิทยาลัยรัฐด้วยซ้ำ…เรียนวิทยาลัยชุมชนไปเถอะ ถ้าจะทำตัวขี้เกียจแบบนี้ เข้าวิทยาลัยชุมชนแล้วก็เข้าคุก แล้วค่อยกลับเข้าวิทยาลัยชุมชนอีกรอบ จากนั้นแกอาจจะรู้จักพยายามไต่เต้า แล้ว…”
ผลลัพธ์ของการพูดไม่คิด ทำให้เลดี้เบิร์ดเปิดประตูกระโดดลงจากรถทันที ท่ามกลางความตกใจของแม่ที่เกือบจะช็อกคาพวงมาลัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จากบทสนทนาดูเหมือนว่าแม่จะขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เพราะคำพูดล้วนเต็มไปด้วยการดูถูกเหยียบย่ำ อยากเอาชนะโดยไม่คำนึงถึงบาดแผลที่จะติดอยู่ในใจลูก ซึ่งน่าแปลกที่พ่อแม่หลายคนไม่ค่อยยอมรับตัวเองในเรื่องนี้ โดยอ้างถึงความรักที่มีต่อลูก ซึ่งจุดนี้ถือว่า ‘อันตราย’ อย่างยิ่ง เพราะนอกจากลูกจะเห็นตัวอย่างผิดๆ แล้ว ผมเชื่อว่าอารมณ์ร้ายๆ ของแม่ก็รังแต่จะยิ่งฝังลึก เหมือนสำนวนที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”
-2-
หลังเหตุการณ์นั้น ภาพของแม่ในหัวเลดี้เบิร์ดดูจะเลวร้ายลง เธอมองว่าแม่เป็นคนที่พร้อมโกรธและหาเรื่องเธอตลอดเวลา ดังนั้นเธอจึงพยายามหากิจกรรมทำนอกบ้าน เช่น การสมัครเล่นละครเวที การหางานทำ หรือการหาแฟนสักคน เพื่อหลีกเลี่ยงการเจอแม่
“แม่ฉันโกรธอยู่เสมอ กลับบ้านช้าก็ไม่เป็นผล ยังไงแม่ก็โกรธฉันอยู่ดี”
ฝั่งของแม่ พอเห็นลูกสาวห่างเหิน ประกอบกับตอนที่เลดี้เบิร์ดพาชายหนุ่มที่กำลังคบหาดูใจมาที่บ้าน ชายหนุ่มก็ดันเล่าให้แม่ฟังว่าเลดี้เบิร์ดอธิบายถึงบ้านหลังนี้ว่า “อยู่บริเวณด้านเสื่อมโทรมของทางรถไฟ” ประกอบกับพฤติกรรมแปลกๆ ของเลดี้เบิร์ดเวลาไปโรงเรียน ที่เธอมักขอลงจากรถก่อนถึงโรงเรียนเล็กน้อย ทำให้แม่ปะติดปะต่อว่าเลดี้เบิร์ดอับอายที่เกิดเป็นลูกของคนฐานะไม่ดี และหาโอกาสตัดพ้อต่อว่าลูกสาวด้วยความเสียใจ
“แม่ไม่คิดว่าจะอยู่บ้านนี้ตั้ง 25 ปี แม่เคยนึกว่าจะได้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้ ไม่ว่าแม่จะให้อะไรแกไป มันก็ไม่เคยพอ รู้บ้างไหมว่าแม่ต้องเสียเงินเท่าไหร่เพื่อเลี้ยงแกจนโต แล้ววันๆ หนึ่งแกโยนเงินทิ้งไปเท่าไหร่”
แม้ประโยคทั้งหมดจะเป็นความจริง แต่การพูดประโยคในลักษณะ ‘ทวงบุญคุณ’ ท่ามกลางอุณหภูมิการสนทนาอันแสน ‘ดุเดือด’ ก็ทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เพราะหลังจากนั้นเลดี้เบิร์ดได้ตะโกนให้แม่บอกจำนวนเงินที่แม่เลี้ยงดูเธอมาทั้งชีวิต เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเธอจะหามันมาคืนแม่ทั้งหมด
“บอกตัวเลขมาว่าแม่ใช้เงินเลี้ยงหนูไปเท่าไหร่ พอหนูโตขึ้นและหาเงินได้เยอะๆ หนูจะเขียนเช็คเป็นค่าที่หนูติดหนี้แม่ แล้วหนูจะได้ไม่ต้องคุยกับแม่อีก”
-3-
ท่ามกลางเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างแม่ลูกที่ครุกรุ่นตลอดทั้งเรื่อง ผมพบว่าเลดี้เบิร์ดรักแม่ของเธอมาก เพราะถึงปากจะบ่นถึงแม่ให้เพื่อนฟัง แต่เธอกลับคอยออกตัวปกป้องแม่เสมอยามที่เพื่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงแม่ในทางเสียหาย
“คือแม่ก็รักฉันแหละ…แม่ของฉันไม่ได้บ้า…แม่ก็แค่ใจกว้าง…แม่อบอุ่นมาก”
ขณะที่แม่เองก็มีมุมที่แสดงความรักความอ่อนโยนเช่นกัน อย่างตอนที่เลดี้เบิร์ดนั่งร้องไห้หลังไปมีความสัมพันธ์กับชายหนุ่ม แทนที่จะถามไถ่กดดัน แม่กลับดึงเธอมากอดและชวนไปทำกิจกรรมด้วยกัน (เพื่ออยู่เป็นเพื่อนลูก)
ในตอนกลางเรื่อง ผมชื่นชอบฉากที่แม่เป็นธุระพาเลดี้เบิร์ดไปซื้อชุดสำหรับงานพรอมที่กำลังมาถึง ซึ่งไม่ว่าเลดี้เบิร์ดจะหยิบชุดไหนมาลอง แม่ก็จะตินั่นตินี่อยู่เสมอ ท้ายสุดเลดี้เบิร์ดจึงพูดด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่าอยากให้แม่ชมเธอหรือชอบเธอบ้างสักนิด ทำให้แม่รู้สึกผิดพร้อมกับ ‘ขอโทษ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้น
“แม่รักแกแน่นอนอยู่แล้ว แม่อยากให้แกเป็นแกในแบบฉบับที่ดีที่สุดของตัวเองเท่าที่จะเป็นได้…” แม่กล่าว
หลังงานพรอมผ่านไป ถ้าจำกันได้ ตอนที่เลดี้เบิร์ดกระโดดลงจากรถหลังทะเลาะกับแม่เรื่องมหาวิทยาลัย (เธอได้แอบขอร้องให้พ่อไปสมัครสินเชื่อให้ เผื่อไว้ในกรณีที่ฟลุกเข้ามหาวิทยาลัยในนิวยอร์กได้) ซึ่งตอนท้ายเรื่องปรากฏว่าเด็กเรียนไม่เก่งอย่างเธอกลับได้รับเลือก เพราะเหตุการณ์ 9/11 ทำให้หนุ่มสาวหลายคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในนิวยอร์กจึงพากันไปสมัครเรียนที่เมืองอื่น
แน่นอนว่าพอแม่รู้เรื่องการแอบสมัครเรียนและการสมัครสินเชื่อ ทำให้แม่โกรธเลดี้เบิร์ดถึงขั้นเฉยชา แม้ตอนที่ไปส่งเลดี้เบิร์ดที่สนามบินก็ไม่มีการร่ำลาโอบกอดกันอย่างลึกซึ้ง ทว่าการเฉยชาก็ไม่ได้แปลว่าแม่ไม่รู้สึกเป็นห่วงหรือเสียใจที่ลูกสาวต้องอยู่ไกลบ้าน เพราะตอนที่เลดี้เบิร์ดถึงนิวยอร์ก เธอได้พบจดหมายหลายฉบับของแม่ที่พ่อแอบเอามาใส่กระเป๋าเดินทาง ซึ่งทั้งหมดมีเนื้อหาถึงเธอทั้งสิ้น
“เลดี้เบิร์ดลูกรัก, ตอนแม่ตั้งท้องแก มันเป็นปาฏิหาริย์ แม่แก่แล้ว ตอนนั้นอายุเกือบ40…”
“คริสทีนลูกรัก, แม่รู้ว่าตอนนี้แกใช้ชื่อเลดี้เบิร์ดแล้ว…”
“เลดี้เบิร์ดลูกรัก, แม่เสียใจที่เราทะเลาะกันและแม่ขอโทษ…”
ผมสัมผัสว่าบางทีสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะสื่อ อาจเป็นภาพของเลดี้เบิร์ด ลูกนกซึ่งไม่พอใจการอยู่นิ่งๆ ในรังและอยากจะออกไปโผบิน เห็นโลก และทำอะไรอย่างที่ใจใฝ่ฝัน โดยไม่ต้องมีครอบครัวหรือปัจจัยรอบต่างๆ มาตีกรอบ แต่สุดท้ายเจ้านกน้อยกลับพบว่ารังของตัวเองนั้นอบอุ่นและน่าอยู่ที่สุด
ส่วนแม่ แม้จะปากร้าย ขี้โมโห และชอบเอาชนะ แต่แม่ก็มีภาระที่ต้องหาเลี้ยงคนทั้งบ้าน แถมสามียังป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาเป็นเวลานาน ทำให้แต่ละวันของเธอผ่านไปด้วยความหนักหนาสาหัส ไหนจะความเป็นห่วงที่มีต่อเลดี้เบิร์ด เพราะในใจของแม่ก็หวังลึกๆ ให้เธอมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต
“เงินไม่ใช่เกรดในชีวิต การประสบความสำเร็จไม่ได้มีความหมายอะไรทั้งนั้น ก็แค่แปลว่าประสบความสำเร็จ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะมีความสุข” แม่กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม่ของเลดี้เบิร์ดหรือพ่อแม่หลายคนมักติดกับดักทางความคิดที่ว่า “ฉันรู้จักลูกดีที่สุด” จึงไม่แปลกที่พ่อแม่จะขีดเส้นทางชีวิตให้ลูกตามมุมมองของตัวเองฝ่ายเดียว ซึ่งหากตรงกับความต้องการของลูกก็แล้วไป แต่ช่างโชคร้ายที่เด็กๆ มักถูกพรากความฝันของเขา และแทนที่ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ของผู้ให้กำเนิด
เมื่อเด็กต้องฝืนทำในสิ่งที่พ่อแม่บอกว่าดี แต่เขาไม่ชอบไม่ถนัด จึงไม่แปลกที่เด็กหลายคนจะมีปัญหาทางใจ รู้สึกเครียด หรือไม่ก็เป็นโรคซึมเศร้า
ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยถ้าพ่อแม่ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนจะเปิดใจถามลูก รับฟังลูก ควบคู่ไปกับการควบคุมอารมณ์ตัวเอง ค่อยๆ พูดกับลูกอย่างเข้าอกเข้าใจ…เพื่อให้รู้ซึ้งถึงความต้องการที่แท้จริงของลูก
และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นยังไง อย่างน้อยที่สุด ลูกจะได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต