- มนุษย์มีแบบแผนบางอย่างเสมอ เหตุการณ์ที่เจอและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ เช่น ความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรม แต่บางครั้งแบบแผนเหล่านั้นอาจจะกลับมาทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว
- จริงๆ กลไกป้องการทางจิตใจ น่าจะต้องออกแบบมาเพื่อป้องกันเราจากความเจ็บปวดทางจิตใจ แต่กลับไม่ได้ช่วยป้องกันเราจากความเจ็บปวดเสมอไป เมื่อใช้กลไกป้องกันจิตใจแบบเดิมซ้ำๆ มากเกินไปกลับยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นแล้วเราก็ต้องเจอกับความเจ็บปวดเหมือนเดิม
- กลไกป้องกันทางจิตใจนี้มักจะพบในกลุ่มคนที่มีปัญหาความสัมพันธ์ มันจะทำให้เกิดการตีความหมายการกระทำของอีกฝ่ายผิดไป หากยิ่งเกิดมากขึ้นก็จะยิ่งบ่อนทำลายความสัมพันธ์
คุณอาจเคยเจอคนที่ไปไหนก็กลัวคนอื่นจะไม่ชอบ แล้วเขาก็มักจะเจอคนไม่ชอบเขาอยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่ามีคนจำนวนหนึ่งโอเคกับเขา แต่ก็มีจำนวนหนึ่งเลยที่ไม่ค่อยชอบเขา คุณฟังเรื่องราวของเขาจนรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่อีกใจก็รู้สึกตงิดอยู่ลึกๆ ว่ามันมีอะไรบางอย่างมากกว่านั้น
มนุษย์เป็นแบบนี้ เรามักจะมีรูปแบบหรือแพทเทิร์นบางอย่างในชีวิตเสมอ แพทเทิร์นบางอย่างอาจเป็นกระบวนการคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งส่วนมากคนเรามักจะไม่รู้ตัว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พยายามสร้างแพทเทิร์นให้ตัวเองอยู่แล้ว เพราะการมีแบบแผนบางอย่างมันจะทำให้เราคิดน้อยลง นั่นหมายถึง เราเปลืองพลังงานน้อยลง เคยสังเกตไหม บางคนรู้สึกเครียดทีไรก็จะหยิบมือถือขึ้นมาตลอด บางคนกระวนกระวายใจเมื่อไหร่ก็จะต้องออกไปสูบบุหรี่ บางคนเวลาคุยกับคนอื่นทีไรก็จะชอบมีความคิดวิ่งเข้ามาในหัวอยู่เสมอว่า “เขาจะคิดยังไงกับเรานะ”
อย่างที่บอกว่า มนุษย์มีแบบแผนบางอย่างเสมอ เหตุการณ์ที่เจอและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ เช่น ความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรม อาจเกิดขึ้นเพราะปัจจัยภายนอก เช่น เราอยู่ในวัดก็มีแนวโน้มว่าสถานที่นี้จะทำให้เราเจอคนที่พูดเพราะ แต่บางอย่างที่เราเจอก็อาจเกิดขึ้นเพราะปัจจัยภายในได้เช่นกัน เคยเห็นคนรอบข้างที่ไปที่ไหนเขาก็เจอแต่คนน่ารักไหมครับ คุณอาจรู้สึกว่าเขาโชคดีจังที่เจอคนรอบข้างที่ดี การที่จะดึงดูดคนที่น่ารัก อบอุ่น ใส่ใจ ซ้ำๆ คนนั้นก็อาจจะมีต้องมีต้นทุนบางอย่างในตัวเขาด้วย เช่น เขาอาจเป็นคนที่ใส่ใจคนรอบข้าง พยายามเข้าใจความรู้สึกคนอื่นเสมอ ไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นความโชคดีเสมอไป หากสิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ
ชีวิตเป็นแพทเทิร์นที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว สิ่งนี้แหละที่ทำให้เกิดแบบแผนที่เราเอามาทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่น่าสนใจของรูปแบบกลไกป้องกันจิตใจคือ จริงๆ กลไกป้องการทางจิตใจ น่าจะต้องออกแบบมาเพื่อป้องกันเราจากความเจ็บปวดทางจิตใจ แต่กลับไม่ได้ช่วยป้องกันเราจากความเจ็บปวดเสมอไป เมื่อใช้กลไกป้องกันจิตใจแบบเดิมซ้ำๆ มากเกินไปกลับยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นแล้วเราก็ต้องเจอกับความเจ็บปวดเหมือนเดิม หมายความว่าไม่มีรูปแบบป้องกันจิตใจแบบใดที่ใช้งานได้ดีทุกเหตุการณ์ คุณอาจเป็นคนที่เก็บกดอารมณ์เก่งเวลาที่ต้องทำงานกับลูกค้า แต่การเก็บกดอารมณ์ที่มากเกินไปในครอบครัวก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีของการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง
ปัญหาของมนุษย์อยู่ตรงนี้แหละครับ พอชีวิตเราเป็นแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ปัญหาหลายๆ อย่างก็มักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ที่น่าตกใจมากๆ คือ ใครจะคิดว่าการที่เรามีปมบางอย่างในจิตใจจะเป็นสาเหตุให้เราเอามากลับมาทิ่มแทงตัวเอง
ยกตัวอย่าง คุณเป็นคนที่เกลียดตัวเอง เวลาเจอคนอื่นคุณก็มักจะคิดเสมอว่าคนอื่นจะต้องไม่ชอบฉันแน่เลย ทั้งที่จริงนั่นเป็นความคิดที่คุณมีกับตัวเอง แต่การจะมองว่าเราไม่ชอบตัวเองมันก็เจ็บปวดเกินไป เราเลยใช้กลไกป้องกันจิตใจที่ถ่ายโอนความคิดหรือความรู้สึกบางอย่างไปให้คนอื่น (จิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า projection) แต่มนุษย์ซับซ้อนยิ่งกว่านั้น เราสามารถสร้างให้คนอื่นเป็นในแบบที่เราคิดจริงๆ ได้ด้วย นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับหลายๆ คนที่มักเจอแพทเทิร์นในชีวิตซ้ำๆ แล้วรู้สึกว่าทำไมคนอื่นต้องทำแบบนี้กับฉันด้วย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนอื่นทำแบบนั้นจริงๆ แต่อีกส่วนอาจเป็นเพราะเราสร้างให้คนอื่นทำแบบนั้นกับเราก็ได้ หากมองในตัวอย่างที่ยกมาเมื่อกี้ เวลาที่เราสร้างให้คนอื่นเป็นในแบบที่เราคิด อาจเกิดจากการที่คุณเชื่อว่าคนอื่นจะไม่ชอบคุณ คุณก็เลยอาจจะพูดจาไม่ดีใส่เขาก่อนเพื่อปกป้องตัวเอง เขาทำอะไรนิดหน่อย คุณก็ตีความหมายการกระทำเลยว่าเขาน่าจะไม่ชอบคุณแน่ๆ พอคุณมีมุมมองต่อเขาไม่ดีก็ยิ่งมีแนวโน้มที่คุณจะปฏิบัติต่อเขาไม่ดี พอเขารู้สึกไม่ถูกให้เกียรติมากพอ เขาก็เริ่มไม่ชอบคุณจริงๆ แล้วมันมายืนยันความเชื่อของคุณว่านี่ไงเขาเกลียดฉันจริงๆ ด้วย ทางจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า Projective Identification
อีกสักตัวอย่าง สมมุติว่าคุณเป็นคนไม่ค่อยเล่าเรื่องของตัวเองให้ใครฟังเพราะรู้สึกว่าเรื่องราวของตัวเองไม่ได้น่าสนใจ แล้ววันหนึ่งคุณก็น้อยใจที่คนอื่นไม่ค่อยรับฟังคุณ (ความจริงคือคุณนั่นแหละที่ไม่ได้เล่าเรื่องของตัวเองออกไป คนอื่นเลยคิดว่าคนไม่ค่อยอยากแบ่งปันเรื่องส่วนตัว) คุณเลยบอกว่าคนอื่นไม่ให้ความสำคัญฉันเลย (projection) ทั้งที่จริงนี่คือความรู้สึกที่คุณมีกับตัวเอง คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญแต่การจะยอมรับแบบนั้นมันก็เจ็บปวดเกินไปคุณเลยถ่ายโอนมุมมองเชิงลบนั้นไปให้คนอื่นแทน และเหมือนเดิมครับ มนุษย์มีความสามารถพิเศษที่สามารถสร้างให้คนอื่นคิดว่าเราไม่สำคัญจริงๆ ได้ด้วย คุณก็อาจจะไม่เล่าเรื่องตัวเองแบบนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อนสนิทถามเรื่องทั่วไปในชีวิต คุณก็เล่าแบบผิวเผินเพราะรู้สึกไม่ได้เชื่อใจมากพอว่าเขาสนใจเรื่องของคุณ พอเพื่อนสนิทรับรู้ว่าคุณไม่อยากเล่า เขาก็ถามเรื่องส่วนตัวคุณน้อยลง แล้วการกระทำนั้นก็มายืนยันความเชื่อของคุณว่านี่ไงคนอื่นไม่ให้ความสำคัญฉันหรอก (projective identification) แล้วคุณก็เก็บเรื่องราวของตัวเองไว้เพียงคนเดียวจนติดเป็นแพทเทิร์นในชีวิตแบบไม่รู้ตัว
คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการจัดการกับกลไกป้องกันทางจิตใจเหล่านี้ที่ส่งกระทบต่อความสัมพันธ์
หนึ่ง, การตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) หมั่นคิดทบทวนความคิด-ความรู้สึกของตัวเองเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น อะไรที่มักจะเป็นปัญหาซ้ำๆ ในความสัมพันธ์ ที่แนะนำให้สังเกตผ่านความสัมพันธ์เพราะความสัมพันธ์มักเป็นกระจกสะท้อนที่ทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น และหากเกิดปัญหาจากหลายๆ ความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ใกล้กันก็อาจบอกได้ว่าเรากำลังมีแพทเทิร์นบางอย่างที่ทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว
สอง, เมื่อสังเกตเห็นแพทเทิร์นที่เราใช้ในความสัมพันธ์ พยายามตระหนักรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น และความคิดที่แล่นเข้ามาในหัว ซึ่งปกติกลไกป้องกันทางจิตใจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ ไม่แปลกเลยที่จะสังเกตไม่เห็นในช่วงแรก หรือเห็นแล้วก็อาจจะแก้ไขไม่ได้ทันที อะไรที่เป็นแพทเทิร์นมักใช้เวลาเสมอ
สาม, ให้เวลาตัวเอง คุณอาจรู้สึกตกใจที่เห็นแพทเทิร์นตัวเองเป็นแบบนั้น ทุกอย่างมีที่มาที่ไปเสมอ คุณอาจรู้สึกแย่จากการเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์จากรูปแบบที่คุณสร้างขึ้นมา ใจเย็นกับตัวเองเข้าไว้ ค่อยๆ ใช้เวลา
สี่, ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ แพทเทิร์นเหล่านี้อาจมีที่มาของปัญหาที่มีความซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขด้วยตัวเอง หากรู้สึกว่ารับมือไม่ได้ ไม่รู้จะจัดการอย่างไร จัดการแล้วก็ไม่ดีขึ้น รู้สึกแย่มากกว่าเดิมก็ออกไปหาผู้เชี่ยวชาญได้เลยครับ สุขภาพจิตเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ชีวิตมากๆ
ปรากฎการณ์แบบนี้อาจฟังดูซับซ้อนเหมือนไม่น่าเกิดขึ้นจริงกับคนทั่วไป แต่เชื่อไหมครับ มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เพียงแต่มันแยบยลมากๆ จนมองเห็นได้ยาก ยิ่งกว่านั้น การมองเห็นแล้วยอมรับยิ่งจะยากไปใหญ่เพราะมนุษย์มักจะมีกลไกทางจิตใจที่ปฏิเสธความจริงที่เจ็บปวด กลไกพวกนี้มักเกิดขึ้นโดยที่ไม่เรารู้ตัว (unconscious)
กลไกป้องกันทางจิตใจนี้มักจะพบในกลุ่มคนที่มีปัญหาความสัมพันธ์ มันจะทำให้เกิดการตีความหมายการกระทำของอีกฝ่ายผิดไป หากยิ่งเกิดมากขึ้นก็จะยิ่งบ่อนทำลายความสัมพันธ์ เพราะเราไม่ได้มองเขาอย่างที่เขาเป็น เราไม่ได้เข้าใจเจตนา ความคิด ความรู้สึกของเขาจริงๆ แต่เรามองเขาผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายของเรา แล้วเผลอคิดว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเจอ ซึ่งไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป คนที่เราเจอในทุกวันนี้คือคนใหม่ คนในอดีตคือคนในอดีต แน่นอนว่าอดีตส่งผลต่อตัวเราในปัจจุบันอย่างมาก แต่ก็อย่าลืมว่าคนในปัจจุบันสุดท้ายก็จะกลายเป็นคนในอดีต ถ้าอยากมีอดีตที่ดีกว่าเดิม การเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนในปัจจุบันก็อาจช่วยให้คุณมีประสบการณ์ในอดีตที่ดีก็ได้ เพราะเดี๋ยววันนี้ก็จะผ่านไปอีกวัน