- การศึกษาที่ช่วยปลูกฝังให้คนในประเทศเข้าใจและเอาใจใส่ธรรมชาติตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย
- เด็กที่ได้รับการปลูกฝังให้รักธรรมชาติตั้งแต่เด็กมักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องความยั่งยืน และการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็ก ช่วยให้เด็กสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กคนอื่นๆ ได้
- ครูควร ‘สอดแทรก’ เนื้อหาความยั่งยืนและธรรมชาติในบทเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ผลกระทบของพฤติกรรมประจำวันต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ไขปัญหา เพราะช่วยให้เด็กเอาใจใส่ (care) และรัก (love) ธรรมชาติมากขึ้น
ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ให้ความเห็นตรงกันว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยธรรมชาติต่างๆ เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำ การเกษตร การประมง และทวีคูณปัญหาสุขภาพและความอดอยาก
สำหรับประเทศไทย นอกจากปัญหาภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ นำมาซึ่งผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม บ่งชี้ว่าประเทศไทยควรต้องหันมาสนใจดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย คนไทยสามารถช่วยกันบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนได้ โดยการช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประจำวันทีละเล็กทีละน้อย ทว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ว่านี้แม้จะทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งอาจต้องอาศัยการศึกษาที่ช่วยปลูกฝังให้คนในประเทศเข้าใจและเอาใจใส่ธรรมชาติตั้งแต่ยังเล็ก
กินส์เบิร์กและออเดรย์ได้ทำการวิจัยในสหรัฐอเมริกาเรื่อง ‘การศึกษาเพื่อความยั่งยืน’ พบว่าเด็กที่ได้รับการปลูกฝังให้รักธรรมชาติตั้งแต่เด็กมักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องความยั่งยืน
นอกจากนี้ การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็ก และยังช่วยให้เด็กสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กคนอื่นๆ ได้
ชิ้นงานวิจัยของกินส์เบิร์กและออเดรย์ชี้แนะว่า สถานศึกษาอาจช่วยปลูกฝังให้เด็กรักธรรมชาติได้ด้วยสองวิธีหลักๆ ดังนี้
หนึ่ง ครูควรส่งเสริมให้เด็ก ‘อยู่’ กับธรรมชาติ (In the environment) แต่ครูควรพูดคุยกับผู้ปกครองให้เข้าใจเรื่องความปลอดภัยให้ถี่ถ้วน กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กอยู่กับสิ่งแวดล้อมประกอบไปด้วย กิจกรรมพาเด็กเข้าป่า หรือเรียนรู้จากธรรมชาติในสวนสาธารณะ และสวนผักในเมือง เป็นต้น
ผลงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้เด็กพัฒนาความพึงพอใจต่อชีวิตและรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงแม้กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมยอดฮิตของหลายโรงเรียน บทเรียนควรส่งเสริมให้เด็กเอาใจใส่ (care) และรัก (love) ธรรมชาติผ่านการสะท้อนหลังเด็กปฏิสัมพันธ์และอยู่กับธรรมชาติ
สอง ครูควร ‘สอดแทรก’ เนื้อหาความยั่งยืนและธรรมชาติในบทเรียน (about and for the environment) เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ผลกระทบของพฤติกรรมประจำวันต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ไขปัญหา นอกจากนี้การสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวยังช่วยให้เด็กเอาใจใส่ (care) และรัก (love) ธรรมชาติมากขึ้น
งานวิจัยของกินส์เบิร์กและออเดรย์พบว่าการสอดแทรกเนื้อหาสิ่งแวดล้อมในบทเรียนอาจขึ้นอยู่กับคนผู้สอนว่าจะทำการอย่างไร เช่น ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ในงานวิจัยนี้สอนเรื่องการรักษาดินและสิทธิที่ดินประกอบกับเนื้อหาหลักด้วย หรือสอดแทรกเรื่องการประหยัดน้ำในกิจกรรมเต้น ทั้งนี้การสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวต้องอาศัยความเข้าใจในพัฒนาการเด็กและเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาควรวางเนื้อหาเรื่องการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างชัดเจนในบทเรียน ส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมในการคิดเนื้อหา และบทเรียนควรส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ (Active Learning)
ถึงแม้การปลูกฝังให้เด็กรักและรักษ์ธรรมชาติในสถานศึกษามีแนวโน้มส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็กและสิ่งแวดล้อม ครูผู้สอนยังต้องเผชิญปัญหารอบด้านที่อาจขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ดังนี้
หนึ่ง ผู้ปกครองอาจกลัวเรื่องความปลอดภัยหากเด็กเล่นอยู่กับธรรมชาติ เช่น ปีนต้นไม้ กินใบไม้ใบหญ้าที่อาจเป็นพิษ ซึ่งความกลัวดังกล่าวอาจส่งผลให้ครูกลัวไปด้วยและเด็กอาจไม่ได้เรียนรู้จากธรรมชาติอย่างเต็มที่ วิธีแก้ไขปัญหาความกลัวนี้คือ สถานศึกษาต้องบอกผู้ปกครองให้ชัดเจนว่ากิจกรรมอยู่กับธรรมชาติประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีบุคลากรช่วยดูแลเด็กตลอดเวลา เป็นต้น
สอง ผู้ปกครองอาจเข้าใจว่าเด็ก ‘ไม่ชอบเล่นข้างนอก’ ทั้งที่เด็กไม่มีโอกาสได้ออกไปเล่นข้างนอกมากนัก ความเข้าใจดังกล่าวอาจส่งผลให้เด็กคิดไปด้วยว่าพวกเขาก็ไม่ชอบเล่นข้างนอกเช่นกัน ครูผู้สอนจึงจำต้องทำตามความต้องการของผู้ปกครองและเด็ก
อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจดังกล่าวอาจจะไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง งานวิจัยของกินส์เบิร์กและออเดรย์พบว่า ผู้ปกครองคนหนึ่งคิดว่าลูกสาวไม่ชอบเล่นน้ำฝนและคิดว่าโรงเรียนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จทำให้ลูกสาวเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่ผลปรากฏว่าลูกสาวชอบเล่นน้ำฝนแต่ไม่ได้มีโอกาสเล่นอย่างสนุกสนานกับเด็กคนอื่นเท่านั้นเอง
สาม บทเรียนของสถานศึกษาทั่วไปมุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทำให้บทเรียนรักและรักษ์ธรรมชาติไม่ได้ถูกให้ความสนใจเทียบเท่ากัน ทั้งที่สถานการณ์โลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มทวีคูณขึ้นทุกวันและอาจส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต นอกจากนี้การสอดแทรกเนื้อหาสิ่งแวดล้อมในบทเรียนเดิมอาจสร้างภาระงานสอนให้ครูเพิ่มขึ้นในขณะที่ตารางเวลาเรียนเท่าเดิม
ดังนั้น จากปัญหาทั้งสามข้อ จะเห็นได้ว่าครูผู้สอนอาจเผชิญอุปสรรคพัฒนาบทเรียนรักและรักษ์ธรรมชาติแก่เด็กเล็ก อุปสรรคดังกล่าวมาจากความคิดและความเข้าใจของผู้ปกครองเอง และโครงสร้างสถานศึกษาที่เน้นเฉพาะการสอนบางสายวิชา
นอกจากนี้ กินส์เบิร์กและออเดรย์ยังพบว่าคุณครูเองก็อาจมีความเข้าใจที่ต่างกันว่าบทเรียนไหนสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องอาศัยการพูดคุยระหว่างผู้ปกครอง เด็กเล็ก ครู สถานศึกษา และนโยบายรัฐบาลเรื่องการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน
ในประเทศไทย ผู้เขียนพบว่าภาคีความร่วมมือต่างๆ เริ่มเรียกร้องให้สถานศึกษาสอดแทรกเนื้อหาเรื่องฝุ่นควันในบทเรียน โดยบทเรียนมักมุ่งเน้นมาตรการป้องกันและลดการเผชิญฝุ่นควันในพื้นที่เสี่ยง
ถึงแม้ปัญหาฝุ่นควันนำพาซึ่งโอกาสให้เด็กเรียนรู้เรื่องและเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจจำกัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพราะความเสี่ยงเรื่องฝุ่น ดังนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเรื่องจุดเน้นไหนจำเป็นต้องอาศัยการพูดคุยและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
References:
https://www.researchgate.net/publication/236751238_Climate_Change_and_Thailand_Impact_and_Response
https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1264526.pdf
https://www.annualreviews.org/doi/10.1146/annurev-publhealth-071910-140612
https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2526290/pm2-5-endless-deja-vu-in-thailand