- คนที่เผชิญกับความยากลำบากในชีวิต ‘มาบ้าง’ มักจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่ไม่เคยต้องเผชิญเรื่องร้ายๆ ในชีวิตเลย และดีกว่าคนที่ต้องทนทุกข์อยู่บ่อยๆ ซ้ำซาก เพราะจะทำให้เข้มแข็งและสามารถรับมือกับปัญหาที่พบได้ดี
- การเผชิญหน้ากับความท้าทายแปลกใหม่ จะช่วยย้ำเตือนให้เรามองเห็นถึงความเข้มแข็งและศักยภาพในตัวเองที่มีอยู่ ทำให้เราตระหนักถึงและมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มองข้ามไป
- ความยากลำบากในชีวิตไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เราอาจหาวิธีแปรเปลี่ยนมัน ให้กลายไปเป็นพลังและเป็นแรงขับดันสำคัญในชีวิตได้
มีคำกล่าวหนึ่งที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินแล้ว นั่นก็คือ “สิ่งที่ไม่ได้ฆ่าคุณ ก็จะทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น” แต่คำกล่าวนี้มีเป็นความจริงแน่หรือ?
คำพูดนี้อาจจะจริงหรือไม่ก็ได้
เรื่องหนึ่งที่ทุกคนคงไม่โต้แย้งก็คือ ยิ่งเราผ่านวันเวลามากขึ้นเท่าไร เราก็มักจะต้องผ่านเรื่องราวหรือผู้คนที่มองในมุมหนึ่ง ก็อาจจะเป็นเคราะห์ร้ายหรืออาจจะคิดไปถึงขั้นว่า คงทำเวรกรรมอะไรบางอย่างไว้ในชาติก่อน จึงได้มาเจอเหตุการณ์หรือบุคคลพวกนั้นเข้าในชาตินี้
เรื่องร้ายๆ ที่เราต้องเผชิญอาจมีได้หลายรูปแบบ ความยากลำบากอาจเกิดทางร่างกาย เช่น เราต้องทำงานหนัก ใช้แรงมาก หรือแบกหามจนเข่า ไหล่ และหลังแทบทรุด ร่างกายแทบรับไม่ไหว หรือความยากลำบากทางใจหรือทางอารมณ์ จนเกิดความเครียด กระวนกระวายใจ ซึมเศร้า ไปจนถึงเกิดรอยแผลในใจอย่างร้ายแรงยากจะหาย หรือบางคนอาจเผชิญกับความยากลำบากทางสังคมบางอย่าง เช่น โดนรังแก ไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิดอื่นๆ ทั้งคนในครอบครัวหรือคู่ครอง
อีกความยากลำบากหนึ่งคือ ทางด้านการเงิน อาจจะเคยได้ยินเรื่องคนที่ตก ‘นรกบัตรเครดิต’ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ต้องวนเวียนอยู่กับการทำบัตรใหม่เพื่อมากู้เงินมาโปะหนี้เก่าเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด หรือเรื่องของคนเป็นหนี้นอกระบบที่ผ่อนคืนเท่าไหร่ก็ไม่หมดหนี้สินเสียที เงินต้นเหมือนไม่เคยลดลงเลย
น่าสนใจว่ามีงานวิจัยที่ชี้ว่า คนที่ผ่านความยากลำบากในชีวิตมาก่อน มักจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำนองเดียวกันมาเลย [1]
ในการวิจัยนี้มีการสำรวจข้อมูลคน 2,398 คนเป็นระยะเวลานาน โดยเลือกกลุ่มประชากรแบบสุ่มครอบคลุมตัวอย่างอายุตั้งแต่ 18–101 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 49.3 ปี การเก็บข้อมูลทำ 5 ครั้ง ปีละครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 2001-2004
ข้อสรุปที่น่าสนใจก็คือ คนที่เผชิญกับความยากลำบากในชีวิต ‘มาบ้าง’ มีผลตรวจสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่ไม่เคยต้องเผชิญเรื่องร้ายๆ ในชีวิตเลย และดีกว่าคนที่ต้องทนทุกข์อยู่บ่อยๆ ซ้ำซาก โดยเฉพาะในกรณีหลังที่เป็นความทุกข์ยากแบบหนักหนาสาหัสจนยากจะรับมือไหว แถมยังมาบ่อยๆ
โดยเปรียบเทียบแล้ว คนที่มีประสบการณ์ความยากลำบากในชีวิตมาบ้าง มักมีความกังวลใจที่ต่ำกว่า มีอาการบอบช้ำทางใจน้อยกว่า ให้คะแนนเรื่องความบกพร่องของตัวเองต่ำกว่า และมีความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ นั้นไป
เรื่องที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องที่ค้นพบก็คือ กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ตกทุกข์ได้ยาก รับมือกับเหตุการณ์ร้ายๆ เฉพาะหน้าได้ดีกว่า และได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 2 กลุ่ม
นี่เป็นหลักฐานยืนยันได้ในเบื้องต้นว่า คำพูดที่ว่า “สิ่งที่ไม่ได้ฆ่าคุณ ก็จะทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น” น่าจะเป็นเรื่องจริง
เรื่องนี้ดูจะสอดคล้องกันเป็นอย่างดีกับเรื่องการไม่ปกป้องลูกหลานมากจนเกินไป จนก่อให้เกิดความเปราะบางในเด็กและขัดขวางพัฒนาการที่ผมเคยเขียนไว้ [2] เพราะทั้งสองเรื่องเป็นการเอาตัวออกไปเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่และไม่คุ้นเคย เป็นการออกนอกคอมฟอร์ตโซนที่บ้างครั้งก็ไม่ใช่เรื่องสนุก
แต่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตได้ทั้งจากเรื่องร้ายและเรื่องดี
สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องทำนองนี้ ปัญหาใหญ่สุดของความท้าทายทำนองนี้ก็คือ การมีทัศนคติที่ดี การมองโลกในแง่บวก เพื่อรักษาสภาพจิตใจและทำตัวยืดหยุ่นได้มากขึ้น ไม่จมหรือท่วมท้นไปด้วยความเครียดจนเกินรับมือ อาจใช้วิธีการ 3 ขั้นตอนต่อไปนี้ในการจัดการชีวิต [3]
ขั้นตอนแรกสุด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยุ่งยาก ให้พยายามตระหนักรู้ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นว่า เรากำลังเครียดอยู่หรือเปล่า? มีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นหรือเปล่า กำลังโกรธ สับสน กลัว หรือสิ้นหวังหรือเปล่า?
ทันทีที่เราตระหนักเรื่องความคิดและอารมณ์ความรู้สึกได้สำเร็จ เราก็จะเกิดความรู้สึกว่าเรา ‘ควบคุม’ สถานการณ์ได้แทบจะในทันที
ขั้นตอนต่อไปได้แก่ การเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับปัญหาหรือสถานการณ์ตรงหน้าที่กำลังรู้สึกว่า ‘เกินรับมือไหว’ ให้เป็น ‘รับมือได้’ จนเกิดความหวังว่า เราน่าจะหาทางออก ‘ที่ดีกว่า’ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้
ขั้นตอนสุดท้ายได้แก่ การนำปัญหาความยุ่งยากตรงหน้ามาพินิจพิจารณาในมุมใหม่ เปลี่ยนมุมมองและอารมณ์ใหม่ พยายามมองหาวิธีการรับมือกับปัญหาแบบใหม่
หากฝึกฝนด้วยวิธีการแบบนี้บ่อยๆ จนกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัว เราจะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีความหวังในชีวิตมากขึ้น สามารถนำเอาประสบการณ์ความยากลำบากมาใช้ประโยชน์ได้เสมอ
สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพัฒนาความสามารถของตัวเองในแบบนี้ได้อย่างไร คุณจูลี แบสเซตต์ (Julie Bassett) ที่เขียนให้กับนิตยสาร Psychology Now แนะนำวิธีการตั้งเป้าหมายส่วนตัวและการออกนอกคอมฟอร์ตโซนไว้ [3] ว่าทำได้หลายแบบ โดยมีลักษณะสำคัญก็คือ ต้องเลือกพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้จำเป็นต้องเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นๆ ต้องทำตัวให้ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ จนสุดท้ายจะได้รับรู้ได้ถึงความสำเร็จและเกิดความมั่นใจในความรู้ความสามารถตัวเอง
อย่างไรก็ตาม อาจตั้งเป้าหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ล้มเหลวจนหมดกำลังใจเสียแต่ต้น
หากคุณมีกิจวัตรที่ซ้ำซากและน่าเบื่อ อาจเริ่มจากการวางแผนทำอะไรที่ท้าทายศักยภาพทางกาย เช่น การเดินทางไกลในป่า การวิ่งหรือปั่นจักรยานระยะทางไกล โดยตั้งเป้าและค่อยๆ ไต่ข้ามและท้าทายผลสำเร็จไปเรื่อยๆ เช่น เริ่มจากทำเป้าหมายวิ่ง 3 กิโลเมตร และเมื่อทำได้แล้วก็ไปยัง 5 กิโลเมตร ต่อด้วยมินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และฟูลมาราธอน เป็นต้น
บางคนอาจเลือกเดินทางท่องเที่ยวแบบตัวคนเดียว โดยวางแผนไว้ทั้งหมดหรือแค่บางส่วน หรือในที่สุดก็แค่เลือกเป้าหมายที่ต้องการไป แล้วสุ่มการเดินทางให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมใจพร้อมรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง บางคนก็อาจเลือกทำสิ่งที่ตัวเองกลัวเป็นพิเศษ เช่น กลัวความสูงก็ไปกระโดดร่ม โดยเริ่มจากการไปกระโดดหอก่อน จากนั้นก็กระโดดร่มแบบมีครูฝึกร่วมโดดด้วยก่อน ไปจนถึงหัดกระโดดร่มด้วยตัวคนเดียวในที่สุด
แม้แต่การไปยังสถานที่แปลกใหม่ แล้วลองหาทางจดจำเส้นทาง คลำทางโดยไม่พึงพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ต้องใช้กูเกิลแมป ฯลฯ ช่วย ใช้แต่ความจำล้วนๆ ก็เป็นความท้าทายได้เช่นกัน
ยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่อาจเลือกมาทำได้
สำหรับเด็กๆ การเลือกทำกิจกรรมแปลกๆ อาจนำไปสู่การค้นพบความชอบ (หรือความเกลียด) ที่ไม่รู้หรือคาดไม่ถึง ส่งผลต่อการเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนต่อในอนาคตได้ทีเดียว เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตตอนไหน การพาตัวเองไปพบเจอสิ่งแปลกใหม่จึงมีประโยชน์มาก
การเผชิญหน้ากับความท้าทายแปลกใหม่ จะช่วยย้ำเตือนให้เรามองเห็นถึงความเข้มแข็งและศักยภาพในตัวเองที่มีอยู่ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ความมั่นใจ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ อาจทำให้เราตระหนักถึงและมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มองข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
ความยากลำบากในชีวิตจึงไม่ได้มีแต่ข้อเสีย และเราอาจหาวิธีแปรเปลี่ยนมัน ให้กลายไปเป็นพลังและเป็นแรงขับดันสำคัญในชีวิตได้
เอกสารอ้างอิง
[1] Seery, M. D., Holman, E. A., & Silver, R. C. (2010). Journal of Personality and Social Psychology, 99(6), 1025–1041. https://doi.org/10.1037/a0021344
[2] https://thepotential.org/knowledge/bubble-wrap-parenting/
[3] Julie Bassett (2023) Psychology Now, Vol. 7, 16-19.