- โลกคงจะดีขึ้นแน่ หากเราทำดีต่อกันให้มากขึ้น หยาบคายต่อกันให้น้อยลง
- สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง การสอนเรื่องความสุภาพ ความอ่อนโยนให้กับลูก สิ่งที่ตรงไปตรงมา แต่อาจจะยากที่สุดได้แก่ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
- เด็กๆ ควรได้รับคำเตือนที่ว่า “สิ่งที่อยู่ในความคิดเป็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่แสดงออกมามีผลต่อตัวเองและคนอื่นเสมอ” เพื่อเป็นการสร้างเบรกให้เท่าทันความคิด เพราะคนอื่นจะตัดสินเราจากสิ่งที่เราพูดและทำ
การที่เด็กสักคนจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจดีงามในสภาพสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็เป็นความจำเป็นอย่างที่สุด นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่าอุปนิสัยสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่เราจะมอบให้แก่ลูกหลานได้ ซึ่งจะมีคุณค่าและประโยชน์ไปตลอดชีวิตของเขาและเธอเหล่านี้ได้แก่ การมีทักษะทางสังคมที่ดีกับคนรอบข้าง ซึ่งก็แน่นอนว่ารวมเอาทักษะทางอารมณ์ไว้ด้วย
มีงานวิจัยชิ้นหนี่งที่ชี้ว่า เด็กที่แสดงลักษณะนิสัยเข้ากันได้ดีและเป็นที่รักของเพื่อนๆ มีโอกาสมากกว่าเด็กที่ไม่เป็นเช่นนี้ถึง 4 เท่าที่จะเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยในขณะอายุไม่ถึง 25 ปี [1]
อุปสรรคสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้เพื่อนไม่รักและไม่อยากคบค้าสมาคมด้วยคือ การทำตัวหยาบคายทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้เป็นอย่างยิ่ง
อันที่จริงแล้วคนยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะทำตัวหยาบคายมากขึ้นด้วย เพราะสมองส่วนหน้า (frontal lobe) เกิดความเสื่อมถอย ทำงานแย่ลง จึงทำให้คนสูงอายุบางคนแทนที่จะสุขุมมากขึ้น กลับควบคุมตัวเองได้น้อยลง กลายเป็นคนโผงผางและหยาบคายมากขึ้น [2]
คำว่า ‘หยาบคาย’ อาจแตกต่างกันได้มากนะครับ สำหรับแต่ละคน แต่ที่คล้ายกันแน่นอนคือ รวมเอาไว้ทั้งการเลือกใช้คำพูด การแสดงออกอย่างไม่มีมารยาทหรือไม่สนใจมารยาททางสังคม เช่น การไม่ขอบคุณ การดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือด่าว่าโวยวายคนให้บริการในที่สาธารณะ ในกรณีหลังนี้แม้จะใช้คำปกติสามัญก็ยังถือเป็นเรื่องหยาบคายสำหรับคนส่วนใหญ่เช่นกัน
ทำไมคนเราจึงหยาบคายใส่กัน?
ถ้าความหยาบคายเป็นเรื่องไม่ดี ทำไมพบว่ามีคนทำแบบนี้ใส่คนอื่นจนแทบเป็นเรื่องปกติ มีสาเหตุและปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น?
น่าสนใจว่าความหยาบคายกับความรุนแรงในสังคมมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่?
มีหลายทฤษฎีที่มีผู้หยิบยกขึ้นมาใช้อธิบาย เป็นไปได้ว่ากิริยาแย่ๆ และมารยาทที่เลวทราม อาจจะเคยมีหน้าที่หรือประโยชน์บางอย่างทางสังคม เช่น มีทฤษฎีหนึ่งระบุว่าเมื่อคนมาอยู่รวมตัวกันมากขึ้นจนเป็นเมือง คนในชุมชนก็มีแนวโน้มตาม ‘จิตใต้สำนึก’ ที่จะป้องกันตัวเองจากอันตรายที่มากับคนแปลกหน้า เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ไม่เคยมีอยู่แต่เดิมในชุมชนนั้น [2]
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีแนวโน้มที่จะแสดงกริยาหยาบคายหรือไม่ค่อยเต็มใจต้อนรับคนแปลกหน้าและพยายามรักษาระยะห่างเอาไว้ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่อาจเคยพบหรือพบการระบาดของโรคร้ายแรงบางอย่างอยู่ นักวิจัยระบุว่าลักษณะเช่นนี้ยังสังเกตเห็นได้แม้แต่ในปัจจุบันในหลายพื้นที่ที่ยังคงมีการระบาดของโรคร้ายแรง เช่น ในประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา
เรื่องเดียวกันนี้อาจขยายตัวต่อไปจนทำให้เกิดอคติเรื่องเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ที่ไม่อาจลบล้างไปได้ง่ายๆ เพราะเกิดจากจิตใต้สำนึก หากเรานำคำอธิบายเรื่องนี้ไปทาบกับปรากฏการณ์ที่เราเห็นคนตะวันตกแสดงความรังเกียจ หรือแย่กว่านั้นคือลงมือทำร้าย คนที่หน้าตาแบบเอเชียหรือดูคล้ายคนจีน ในระหว่างเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็พอจะเห็นเค้าลางความเป็นไปได้ของคำอธิบายนี้
ในสถานที่ทำงานซึ่งเราจำนวนมากใช้เวลาส่วนใหญ่ขณะลืมตาอยู่ในที่นั้น อาจกลายเป็นนรกได้ง่ายๆ หากไม่มีการควบคุมพฤติกรรมการทำงานให้ดี มีงานวิจัยที่ทำต่อเนื่องกันถึง 14 ปี ทำให้รู้ว่าคนแทบจะทุกคน (98%) เคยมีประสบการณ์ต้องเจอกับคนเกรี้ยวกราดที่ทำตัวหยาบคายในที่ทำงาน [3]
ความหยาบคายมักไม่ใช่เรื่องปัจจุบันทันด่วน แต่มักเกิดจากการสะสมบ่มเพาะมาเป็นเวลานาน โดยมีรากของปัญหาที่อาจเห็นได้ชัดเจนหรือไม่ชัดเจนก็ได้ และในหลายกรณีย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กเลยทีเดียว
ปัจจัยที่ทำให้คนทำตัวหยาบคายมีอยู่มากมายทีเดียว หนังสือ The Civility Solution: What to Do When People Are Rude ของ พี. เอ็ม. ฟอร์นี (P. M. Forni) ระบุสาเหตุไว้ถึง 11 อย่างด้วยกัน [4] มีทั้งเรื่องความคิดแบบวัตถุนิยม ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน เรื่องของความไม่ยุติธรรมในสังคมก็มีส่วนเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้กลายเป็นการแก้แค้น ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของความหยาบคายได้ด้วยเช่นกัน
การทำตัวนิรนามได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ก็ทำให้คนเราไม่แคร์ต่อคนอื่นมากนัก เพราะหลงคิดไปว่าเมื่อไม่มีใครรู้จัก ก็ย่อมทำอะไรได้ตามใจ โดยหลีกเลี่ยงจะโดนลงโทษได้ง่ายๆ ซึ่งไม่จริง เพราะมีคนโดนกฎหมายลงโทษการโพสต์และคอมเมนต์อย่างไม่มีความรับผิดชอบในชื่อปลอมหรือชื่อสมมุติมาแล้วเป็นจำนวนมาก
ปัจจัยที่เหลือทั้งหมดอิงอยู่กับความคิดที่ยึดถือเอาตัวเองเป็นใหญ่ เป็น ‘ศูนย์กลางจักรวาล’ ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ “ก็อยากทำแบบนี้ ไม่สนใจใครจะคิดไง” การมีอีโก้มาก หรือในทางกลับกันคือ มีความรู้สึกไม่มั่นคงสูง หวั่นไหวง่าย มองคนอื่นในแง่ร้ายก็อาจมีส่วนได้ การเป็นคนที่เครียดง่าย แต่ไม่รู้ว่าจะควบคุมหรือจัดการอย่างไร ทั้งเครียดจากงานและเรื่องที่บ้าน เป็นคนโกรธง่าย หรือกลัวง่าย ก็มีส่วนเช่นกัน
สุดโต่งไปอีกทางคือ พวกหลีกหนีการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น หันไปสิงสถิตอยู่ในโลกดิจิทัล นี่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้กลายเป็นคนหยาบคายได้เช่นกัน และปัจจัยสุดท้ายคือ การเป็นคนมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งต้องเยียวยากันทางการแพทย์อย่างจริงจัง
สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ต้องสอนเรื่องความสุภาพ ความอ่อนโยนให้กับลูกหลาน สิ่งที่ตรงไปตรงมา แต่อาจจะยากที่สุดได้แก่ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่างนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ การอ่านนิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ ที่ส่งสารว่าการมีนิสัยน่ารัก ไม่ทำตัวหยาบคาย เป็นวิธีหนึ่งที่ดีมากในการส่งเสริมและให้กำลังใจกับเด็กๆ ให้ทำตัวเป็นคนน่ารัก จะดีขึ้นไปอีกหากให้เด็กๆ วิเคราะห์วิจารณ์เองว่า ตัวละครใดที่ทำตัวไม่ดี ทำตัวหยาบคาย จะประสบกับเรื่องร้ายๆ ในชีวิตอย่างไรได้บ้าง [5]
เด็กที่โตมากขึ้นมาหน่อย บางคนน่าจะสามารถหยิบยืมวิธีแก้ปัญหาดีๆ ในหนังสือมาใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย
การตั้ง ‘กฎของบ้าน’ ว่าต้องไม่ทำตัวหยาบคายหรือเอาแต่ใจอย่างไม่เหมาะสม เช่น ไม่ได้ดังใจก็ลงไปนอนชักดิ้นชักงอ ผนวกรวมกับบทลงโทษที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป และที่สำคัญคือต้องทำในทันที เพื่อให้เด็กๆ เห็นความเชื่อมโยง ก็มีส่วนในการกล่อมเกลาอุปนิสัยอ่อนโยนในตัวลูกหลานได้ แต่ทั้งนี้ควรต้องแยกแยะสาเหตุให้ดี เพราะบางครั้งการที่เด็กทำตัวงอแงอาจจะมีสาเหตุง่ายๆ มาจากเรื่องแค่เราให้เวลากับพวกเขาน้อยเกินไป ซึ่งก็ควรต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือให้เวลากับเด็กๆ ให้มากขึ้น
เด็กๆ ควรได้รับคำเตือนที่ว่า “สิ่งที่อยู่ในความคิดเป็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่แสดงออกมามีผลต่อตัวเองและคนอื่นเสมอ” เพื่อเป็นการสร้างเบรกให้เท่าทันความคิด เพราะคนอื่นจะตัดสินเราจากสิ่งที่เราพูดและทำ การที่เราทำอะไรกับคนอื่นจึงส่งผลกระทบกับตัวเราเองด้วยเช่นกัน
คำแนะนำที่ดีและใช้ได้จริงอีกอย่างก็คือ แทนที่จะบอกกับเด็กๆ ว่า “ห้ามทำอะไร” ให้บอกกับพวกเขาว่า “หากทำอะไร แล้วจะได้อะไร (ในทางบวก)” เพราะในทางจิตวิทยาเป็นเรื่องที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่า การให้รางวัลเป็นแรงหนุนทางบวกที่เข้มข้นกว่าการลงโทษมาก เช่น แทนที่จะบอกว่า “หากหนูไม่เก็บของเล่นให้เสร็จเดี๋ยวนี้ หนูก็จะอดไปเล่นข้างนอก” ให้เปลี่ยนเป็น “หนูจะได้ออกไปเล่นข้างนอกทันทีที่หนูเก็บของเล่นเสร็จ” แม้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองอย่างก็เหมือนกันนั่นเอง [6]
คุณควรตระหนักอยู่เสมอว่า เด็กๆ อาจทำผิดพลาดได้ และควรได้รับโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดพวกนั้นเสมอ เปิดโอกาสเด็กๆ ได้แก้ไขตัวเอง และทำเรื่องที่ดีทดแทนหรือแก้ไขเรื่องไม่ดีที่ทำไปแล้วก่อนหน้าได้
เช่น ถ้าเด็กพูดจาหยาบคาย ก็ให้บอกว่า “พ่อ/แม่ไม่ได้ยินที่หนูพูดหรอกนะ ถ้าหนูไม่พูดให้ดีกว่านี้” วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
โลกคงจะดีขึ้นแน่ หากเราทำดีต่อกันให้มากขึ้น หยาบคายต่อกันให้น้อยลง และระลึกเสมออย่างที่นักแสดงคนดัง รอบิน วิลเลียมส์ เคยกล่าวไว้
“ทุกคนที่เราพบล้วนแล้วแต่กำลังสู้รบอยู่ในสมรภูมิที่คุณไม่รู้เลย จงดีต่อกันเสมอ”
เอกสารอ้างอิง
[2] The Science of Rudeness. Psychology Now (2023) Vol. 4, pp. 26-27
[3] https://hbr.org/2013/01/the-price-of-incivility
[4] P.M. Forni (2010) The Civility Solution: What to Do When People Are Rude, St. Martin’s Press