- ปัจจุบันแม้ว่าคนพิการจะได้รับสวัสดิการทางสังคมที่ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะของการสงเคราะห์ที่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในหลุมพรางของทัศนคติที่เห็นว่าคนพิการเป็นภาระ
- ในฐานะแกนนำผู้พิการจังหวัดลำปาง เพียงฟ้า สุทธิพรมณีวัฒน์ มองว่าการเสริมสร้างศักยภาพของคนพิการต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนวิธีคิดให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง
- สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการเพิ่มทักษะอาชีพและทักษะชีวิตให้คนพิการ คือการจัดการเรียนรู้และจัดสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
“เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เปลี่ยนผู้รับให้กลายเป็นผู้ให้”
ชายผู้นั่งประจำอยู่ในวีลแชร์ กล่าวประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ เมื่อเอ่ยถึงความคาดหวังในการลุกขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการ ก่อนจะพัฒนามาเป็น โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเครือข่ายชมรมคนพิการ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ปี 2563 โดยการสนับสนุนของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“เราพยายามหาโอกาสให้กับตัวเองและเพื่อนคนพิการ ตอนเริ่มต้นเมื่อปี 2553 เรารวมกลุ่มกันประมาณ 4-5 คน เพื่อที่จะให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ”
เพียงฟ้า สุทธิพรมณีวัฒน์ เล่าถึงที่มาของชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการแจ้ซ้อนว่า เกิดจากตัวเขาและเพื่อนๆ คนพิการส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ และไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้าง จึงตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต การศึกษา ตลอดจนฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของคนพิการ
หลังจากดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ชมรมก็สามารถขยายพื้นที่ครอบคลุมอีก 4 ตำบล คือ ชมรมคนพิการตำบลเมืองปาน ชมรมคนพิการตำบลบ้านขอ ชมรมคนพิการตำบลทุ่งกว่าว และชมรมคนพิการตำบลหัวเมือง เกิดเป็น ‘เครือข่ายชมรมคนพิการอำเภอเมืองปาน’ มีสมาชิกทั้งหมด 1,146 คน
หัวใจของการพัฒนาศักยภาพคือการเห็นคุณค่าในตัวเอง
แม้ว่าการรวมกลุ่มในนามชมรมคนพิการฯ จะช่วยให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นสิ่งที่เพียงฟ้าได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงก็คือ โครงการที่เข้ามาสนับสนุนอาชีพคนพิการ มักไม่ได้สำรวจความต้องการที่แท้จริง และไม่สามารถทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเต็มภาคภูมิได้
“เขายังไม่ถามเลยว่าเราต้องการอะไร เขาก็มาให้เลย ในเมื่อเขาให้เราก็เอา แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ อย่างอยู่ๆ เขาบอกว่าวันนี้จะมาอบรมทำพรมเช็ดเท้าให้นะ เราก็อบรม แล้วก็หายไป ไม่ได้ต่อยอด ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้”
กระทั่งเมื่อเพียงฟ้าได้เข้าร่วมโครงการฯของกสศ. สิ่งที่เขาได้รับนอกจากทุนในการพัฒนาอาชีพกลุ่มเป้าหมายจำนวน 75 คน คือมุมมองต่อความพิการที่เปลี่ยนไป ซึ่งเปรียบเสมือนการปลดล็อกให้เห็นถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาศักยภาพคนพิการ
“กสศ.จะมีทีมพี่เลี้ยงมาทำงานร่วมกัน เราคุยกันแล้ววิเคราะห์ว่า เรื่องที่น่าจะยกระดับเป็นเรื่องของความคิด ความคิดของตัวคนพิการเองเลยนะครับ ที่เมื่อก่อนเขามีมุมมองทัศนคติที่ยังแคบ รอรับอย่างเดียว ไม่ยอมที่จะพึ่งพาตัวเอง รอแต่การสงเคราะห์ ไม่ออกจากชุมชน ไม่ออกจากบ้าน เราก็เลยมองว่าถ้าคนพิการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง แล้วก็ออกมาสู่สังคม ช่วยเหลือชุมชนบ้าง ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ”
กิจกรรมแรกของโครงการจึงเน้นไปที่การปรับมุมมองทัศนคติให้คนพิการเห็นคุณค่าตัวเอง โดยได้เชิญคนพิการที่เป็นต้นแบบของการพึ่งตนเอง คนที่ประสบความสำเร็จด้านอาชีพและชีวิตมาพูดปลุกพลังว่า การอยู่แบบคนพิการโดยไม่พึ่งคนอื่นมากนักต้องทำอย่างไร
“ให้เขาค่อยๆ กลับมาคิด เรียนรู้ และพึ่งพาตัวเองบ้าง…
ให้คนพิการรู้ว่าก่อนอื่นต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ให้โอกาสตัวเองออกสู่สังคม แล้วก็มาช่วยเหลือครอบครัวของตัวเอง ไม่ต้องเป็นภาระให้กับครอบครัว ไม่ต้องเป็นภาระให้กับสังคมมากนัก เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีคุณค่ามีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป”
เพียงฟ้าเลือกใช้คำว่า ‘เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เปลี่ยนจากผู้รับให้เป็นผู้ให้’ เป็นสโลแกนในการขับเคลื่อนงาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานคิด ซึ่งเป็นเงื่อนปมสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาศักยภาพของคนพิการ
“เราก็พยายามมาเรื่อยๆ ใช้ชุมชนเป็นฐาน แล้วก็บ้านเป็นหลัก อาสาสมัครเป็นแรงเสริม ให้คนพิการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เราใช้สโลแกนนี้มาเรื่อย เพื่อให้กลุ่มเกิดความเข้มแข็ง แล้วก็สามารถที่จะช่วยเหลือคนพิการ ให้โอกาสคนพิการที่เขายังมีวิธีคิดที่ยังด้อยค่าตัวเองอยู่ ให้หันกลับมาเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าจะให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องมีอาชีพของตัวเอง แล้วอาชีพนั้นสร้างรายได้ เขาก็จะมีความภาคภูมิใจ ถึงแม้ว่ารายได้จะน้อย แต่ถ้าเขามีอาชีพเป็นของตัวเอง มันก็มีคุณค่าแล้ว และเขาก็จะมีความคิดว่าไม่เป็นภาระของครอบครัวแล้ว ซึ่งมันสร้างกำลังใจ อย่างพ่อลิ (สมาชิกโครงการฯ) เคยคิดฆ่าตัวตายบ่อยมาก แต่พอเจอคุณค่าของตัวเอง พ่อลิก็กลายเป็นต้นแบบของคนพิการไปเลย”
สำหรับอาชีพที่เพียงฟ้าเอ่ยถึง ในที่สุดก็ลงตัวที่การเลี้ยงกบ เพาะเห็ด เพาะกล้า และปลูกไผ่
“อย่างปลูกไผ่ใช้ระยะเวลา 3-4 ปี จึงจะขายลำได้ แต่เราไม่ต้องทำอะไรเยอะ พอ 3 ปีไปแล้วไผ่โตขึ้น เราสามารถขายได้ขั้นต่ำ 40 บาทต่อลำ โดยโครงการจะติดต่อกับภาคีเครือข่ายซึ่งมีที่รับซื้ออยู่แล้ว”
ในมุมมองของเขา สิ่งที่ทำให้ กสศ.ต่างจากหน่วยงานอื่นที่เข้ามาสนับสนุนด้านอาชีพ คือมีการต่อยอดและเชื่อมโยงเครือข่ายอื่นๆ จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงมีการออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน จนมีองค์ความรู้และทักษะเพียงพอที่จะบริการจัดการงานต่อไปได้ด้วยตนเอง
ทว่า นอกเหนือจากทักษะอาชีพและทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว เพียงฟ้ามองว่า ก้าวที่สำคัญที่คนพิการในโครงการได้รับ คือการก้าวข้ามความรู้สึกด้อยค่าของตัวเอง
“ถ้าแค่อบรมอาชีพตอนหลังก็อาจจะทิ้งไป อาจจะไม่ได้ทำ ถ้ายังมีความคิดเหมือนเดิมที่รอแต่การสงเคราะห์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกเรื่องของการสู้ชีวิต ทำเพื่อตัวเองด้วย อย่าไปพึ่งคนอื่นมาก อย่าไปรอรับอย่างเดียว อันนี้คือเรื่องสำคัญเลยครับ
อย่างที่พ่อลิเล่า พ่อลิก็ได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ จนไม่ต้องไปฆ่าตัวตาย เกิดลุกขึ้นมาสู้ แล้วก็เป็นแบบอย่างให้คนอื่นมาเรียนรู้ด้วย กสศ. ไม่ได้ให้แค่อาชีพ แต่ให้เรื่องของความรู้ จิตใจ”
การเรียนรู้ของคนพิการต้องเสริมพลังไม่ใช่บั่นทอน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เพียงฟ้าไม่ได้เป็นผู้พิการโดยกำเนิด เขาเล่าว่าตอนอายุได้ 5 ขวบ ตัวเองป่วยเป็นไข้ ขาไม่มีแรง แม่จึงพาไปรักษาที่เชียงใหม่แต่ไม่หาย กลายเป็นคนพิการขาอ่อนแรงทั้งซ้ายและข้างขวา ต้องใช้วีลแชร์ หรือไม้ค้ำยันมาตลอด
แม้ในด้านการศึกษาเขาจะมีโอกาสเรียนในระบบจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ความพิการทำให้เขาพบว่า ‘โรงเรียน’ ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ที่ดีเท่าไรนักในการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้พิการ
“ผมได้รับปัญหาเรื่องของสถานที่ สิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำที่ผมไม่สะดวก การขึ้นไปเรียนบนอาคารชั้น 2 -3 ผมก็ขึ้นลำบาก ส่วนเรื่องวิชาความรู้ มันก็ไม่ค่อยตอบโจทย์ แล้วตอนนั้นผมก็ไม่ค่อยได้เรียน เพราะต้องรักษาไปด้วย คือขาดช่วงในการเรียน ขาดโอกาสในการเรียนต่อระดับสูง”
เมื่อความรู้ไม่เพียงพอสำหรับเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ ประสบการณ์และทักษะอื่นๆ ก็ไม่มี เขาจึงเลือกไปเรียนต่อกับ กศน.(การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) จนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เขามีอาชีพที่มั่นคง
“เมื่อความรู้ไม่มีผมก็ต้องมาเรียนรู้เอง ใช้ประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมไม่มีโอกาสเรียนสูงเหมือนคนอื่น ไม่ได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพอะไร”
มองในมุมนี้ถ้าระบบการศึกษาตอบโจทย์สำหรับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพียงฟ้าอาจจะมีโอกาสมากกว่านี้ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากกว่านี้ และ…ฝันได้ไกลกว่านี้
“ผมมองว่า ทางสถานศึกษาหรือโรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อม คือคนพิการที่จริงเขาทำอะไรก็ได้ ไปโรงเรียนก็ไปได้ แต่พอไปถึงโรงเรียนแล้ว เขาเกิดความพิการเลย เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เขาก็ไม่ไปไง
ถ้าโรงเรียนปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อความพิการ คนพิการเขาก็อยากจะไปเรียน โดยที่เรียนกับคนปกติทั่วไปเลย ไม่ต้องไปแบ่งเป็นโรงเรียนเพื่อคนพิการ ให้คนพิการไปเรียนรู้กับคนปกติ ใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กเลย เขาจะได้มีโอกาสมีเพื่อนเป็นคนทั่วไปด้วย อย่าไปให้เขาอยู่คนเดียว
ผมก็ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ทางสถานศึกษาจะมีระบบแบบนี้หรือเปล่า แต่แถวท้องถิ่นเราไม่มี แล้วก็เรื่องอาชีพ ถ้าโรงเรียนมีการฝึกอาชีพ เป็นหลักสูตรเรียนอาชีพโดยตรงของคนพิการเลย โตมาเขาก็จะมีวิชาเป็นของตนเอง”
นอกจากนี้ เขายังมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า คนพิการน่าจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เช่น คนพิการทางการได้ยินหากมีโอกาสได้เรียนรู้กับคนพิการทางร่างกาย ก็อาจจะช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพได้
“คนพิการทางด้านร่างกายก็อาจจะทำอะไรไม่สะดวก แต่คนพิการทางการได้ยินเขาเดินเหินสบาย แต่เขาสื่อสารไม่ได้ คนพิการทางร่างกายก็จะได้ช่วยเหลือกัน เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะมาเรียนรู้ร่วมกัน”
ดังนั้น หากต้องการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมศักยภาพของคนพิการอย่างแท้จริง องค์ประกอบสำคัญก็คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้ร่วมกัน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ส่วนที่ยังขาดอยู่ คือสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ที่คนพิการต้องไป เช่น วัด โรงเรียน หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยว น่าจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือการออกแบบที่ไม่ทำให้พิการมากกว่าเดิม ที่เรียกว่า Universal Design เพราะสิ่งนี้ต่างหากที่ทำให้คนพิการไม่อยากออกสู่สังคม”
เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า “คนพิการไม่มีอยู่จริง มีแต่สภาพแวดล้อมที่พิการ” เพียงฟ้ามองว่าแม้คนพิการในปัจจุบันจะได้รับการดูแลจากทางภาครัฐพอสมควร แต่ที่ยังขาดอยู่คือ การจัดสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งสภาพแวดล้อมที่ว่านี้นอกจากทางกายภาพแล้ว ยังรวมถึงทัศนคติของคนในสังคมด้วย
“เมื่อก่อนทัศนคติของสังคมต่อคนพิการไม่ค่อยดี จากที่พวกผมลุกขึ้นมารวมกลุ่มกัน คนพิการก็ยังถูกมองว่าต้องไม่ทำอะไร อยู่แต่บ้าน รอแต่การช่วยเหลือ แล้วก็ยังหาว่าคนพิการ… แถวบ้านผมจะบอกว่า เจอคนพิการก็โชคไม่ดีแล้ว จนผมพยายามรวมกลุ่มกัน เพื่อให้สังคมเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีที่ดูถูกคนพิการ เห็นว่าคนพิการอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร
แต่ปัจจุบันสังคมค่อนข้างยอมรับคนพิการมากขึ้น เพราะเราลงมือทำเอง เราเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชน สังคม แล้วเราช่วยเหลือคนพิการในพื้นที่ เป็นการช่วยเหลือครอบครัวคนพิการด้วย ก็เลยทำให้คนพิการได้รับการยอมรับมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เพียงฟ้าเชื่อว่าการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าคนพิการไม่เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเอง
“เราต้องเข้าใจว่าเรามีความบกพร่อง เขามองอย่างนั้นก็ไม่ผิด ทีนี้เราต้องเปลี่ยนมุมมองตัวเองดู หลังจากนั้นคนอื่นก็ยอมรับเราได้ สังคมก็ให้โอกาสเราได้ ผมใช้มุมมองแบบนี้เพื่อที่จะอยู่กับสังคมให้ได้”
ถึงตอนนี้ในวัย 46 ปี กับสถานะคนพิการ เพียงฟ้าบอกว่าเขาภูมิใจที่พาตัวเองและเพื่อนมาถึงจุดที่สังคมรอบข้างให้การยอมรับ และยังสามารถช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนได้
“เคยมีคนถามว่า ฝันอยากจะหายมั้ย อยากจะเดินปกติมั้ย ผมบอกว่าผมชินกับความพิการแล้ว และเหมือนได้สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ถ้าผมไม่พิการ ผมอาจจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นได้เยอะขนาดนี้
ผมไม่อยากจะเป็นคนปกติแล้ว เหมือนกับผมได้มีคุณค่าจากการที่ผมพิการ …ถ้าผมไม่พิการ ผมอาจเป็นคนไม่มีค่าก็ได้”
แต่ถ้าถามถึงความฝันหรืออนาคตการทำงาน เขายอมรับว่าเคยฝันว่าอยากเป็นผู้นำ เป็นนักการเมือง แต่ตอนนี้คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ สร้างคุณค่าได้มากกว่าเส้นทางการเมืองด้วยซ้ำ
“อยากให้คนพิการเปลี่ยนแนวคิดของตัวเอง เพื่อให้คนในสังคมยอมรับเราให้ได้ หลายคนบอกว่า ทำไมสังคมคิดกับเราอย่างนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าเขาคิดแบบนั้นมานาน ติดแบบกรมประชาสงเคราะห์ เพราะฉะนั้น เราต้องพูดเรื่องของศักดิ์ศรีและคุณค่าของตัวเองให้มาก ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ จากผู้รับเป็นผู้ให้บ้าง เปลี่ยนภาระให้เป็นพลังให้ได้ เราก็จะอยู่กับชุมชนสังคมได้”