- วิธีสมุดบันทึก เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะส่งเสริมการอ่านของเด็กไทย ด้วยวิธีที่เรียบง่ายและได้ผลดี
- กฎ 3 ประการของวิธีนี้คือ ใช้สมุดที่ไม่มีเส้นบรรทัด เริ่มต้นด้วยดินสอ และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่บังคับ
- สิ่งที่เด็กได้รับจากการเขียนบันทึก คือการเรียนรู้ผ่านการเติบโตทางความคิดของตัวเอง ซึ่งผู้ใหญ่อาจใช้อ่านแผนที่ชีวิตของเด็กได้ด้วย
โดยธรรมชาติของเด็กมักอยากเล่าเรื่องตัวเอง แต่วิธีที่ใช้เพื่อส่งเสริมการอ่านให้เขา คือเอาเรื่องของคนอื่นไปเล่าให้เด็กฟัง การเอาสมุดไม่มีเส้นให้เด็ก จึงเป็นการฟังเรื่องเล่าของเขาในรูปแบบหนึ่งที่ไม่กดดัน ไม่เร่งเร้า ไม่ตีกรอบ และไม่จำกัดวิธีการ
“สมุดบันทึกมันเหมือนเมล็ดพันธุ์เมล็ดหนึ่งที่จะต้องเติบโตเองและต้องไม่มีอะไรมาครอบ หน้าที่ของพ่อแม่ครูมีอยู่อย่างเดียวคือ คอยใส่ปุ๋ยบำรุงดินเท่านั้นเอง ไม่ใช่เอาฝาชีไปครอบ ซึ่งการเอาอะไรไปครอบมันก็ไม่ดีทั้งนั้น เพราะมันจะไม่เติบโตอย่างธรรมชาติ”
อาจารย์มกุฏ อรฤดี ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ หรือคุณตาสมุดบันทึกของเด็กๆ เอ่ยถึงสมุดบันทึก เครื่องมือที่ราคาถูกที่สุดที่ใช้ในการผลักดันการอ่านและเขียนของเด็กๆ มาตลอด 6 ปี
หลายคนอาจรู้จักอาจารย์มกุฏ อรฤดี ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 นักเขียนเรื่องสั้น นวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน ผู้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพไว้มากมาย ทว่าอีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือการเป็นผู้สร้างหลักสูตรบรรณาธิการศึกษาและวิชาหนังสือขึ้นในมหาวิทยาลัย, โครงการระบบหนังสือหมุนเวียนในโรงเรียนและมัสยิด, โครงการห้องสมุดหนังสือดี, โครงการฝึกฝนผู้มีดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ รวมถึงโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ ที่หวังว่าจะทำให้เด็กๆ มีกำลังใจในการฝึกฝนตนเองจนอ่านออกและเขียนได้
หลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าวิธีสมุดบันทึกจะสร้างนักเขียนและนักวาดการ์ตูนรุ่นจิ๋วมาแล้วหลายต่อหลายคน แต่สมุดบันทึกกว่าสามพันเล่มที่เด็กกว่าสามพันคนเขียนจดหมายมาขอ ‘คุณตา’ ด้วยความตั้งใจนั้น มีความหมายซ่อนอยู่มากกว่าการฝึกเป็นนักอ่าน นักเขียนเสียอีก
วิธีสมุดบันทึก มีสารตั้งต้นจากความสงสัยในวิธีการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กที่ผ่านมาว่า แท้จริงแล้วเราควรจะส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือด้วยวิธีไหนกันบ้าง? นอกจากแนะนำให้เด็กอ่านหนังสือ มีห้องสมุดโรงเรียนหรืออำเภอ หรือสารพัดวิธีเท่าที่เคยทำมากว่าครึ่งศตวรรษ
อาจารย์มกุฏจึงเริ่มบทบาทคุณตาสมุดบันทึกเมื่อปี 2557 โดยร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม แจกสมุดบันทึกให้เด็กตั้งแต่ 5-9 ปี จำนวน 1,100 คนทั่วประเทศ ปรากฏว่ามีเด็กหลายคนแสดงทั้งฝีมือและความคิด หรืออาจจะเรียกว่าศักยภาพในตัวเองออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เกิดเป็นหนังสือจากการบันทึกหลายเล่ม เช่น บันทึกส่วนตัวซายูริ, ความสุขของเด็กสมาธิสั้น, จนกว่าเด็กปิดตาจะโต เป็นต้น เหล่านี้เป็นหนังสือรางวัลวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นทั้งสิ้น และในชั้นเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ใช้วิธีการสมุดบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนเช่นกัน
“เราจะรู้ว่าเด็กคิดอะไร มีความสามารถอะไร มีปัญหาอะไร ก็จากการบันทึก การสอนด้วยวิธีนี้จะดำเนินไปได้ดีกว่าการสอนปกติ ฝึกพัฒนาการของพวกเขาในแต่ละช่วงวัย เช่น ในเด็กเล็กเราจะเห็นความพยายามในการใช้มือของเขาจับดินสอวาดและเขียนเป็นรูปเป็นร่าง ในขณะที่เด็กเขียนคนอาจจะคิดว่าเด็กไม่ได้คิดอะไรเลย เขียนไปเรื่อยเปื่อย แต่แท้จริงแล้วการลากเส้นทุกเส้น การเขียนตัวหนังสือทุกคำมาจากความคิดของเขา”
จากความสงสัยที่ว่า ทำไมเด็กไทยถึงอ่านหนังสือน้อย? ซึ่งการที่เขาอ่านหนังสือน้อย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมากจากการเข้าไม่ถึงหนังสือด้วยทุนทรัพย์ หรือในระดับโรงเรียนเมื่อห้องสมุดในโรงเรียนไม่ดีพอ เด็กเข้าไปก็ได้รับความรู้ไม่เต็มที่ทำให้ไม่สนุก เมื่อไม่สนุกก็ไม่อยากอ่านเท่านั้นเอง
“เพราะฉะนั้นหนังสือที่เด็กจะอ่านต้องสนุกก่อน เด็กจึงอยากอ่าน และเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขาย่อมชอบการ์ตูนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ธรรมชาติเด็กมีอยู่อย่างหนึ่งคือชอบเล่าเรื่อง เขาไม่สามารถอ่านเรื่องของคนอื่นไปได้ตลอด ย่อมมีชั่วขณะหนึ่งที่เด็กอ่านไปแล้วรู้สึกว่าฉันก็อยากเล่าเรื่องของฉันเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เขาเล่า”
สมุดบันทึกสักเล่ม จึงเป็นเครื่องมือให้เด็กได้ขีดเส้น ได้ระบายสีถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสือเรื่องที่เขาอยากเล่า อยากบ่น ในสมุดบันทึกแต่ละเล่มจึงเต็มไปด้วยกระบวนการเติบโตทางความคิดของเด็กคนนั้น
กฎการเรียนรู้ผ่านวิธีสมุดบันทึก
กระบวนการสำคัญที่จะทำให้สมุดบันทึกแต่ละเล่ม ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน
- สมุดต้องไม่มีเส้นบรรทัด เพื่อเปิดเสรีให้เด็กเต็มที่
เพราะเส้นบรรทัดคือเส้นที่ขีดบังคับตั้งแต่ต้นให้เด็กจะต้องเขียนเฉพาะตัวหนังสือ วาดรูปไม่ได้ ถ้าวาดรูปลงไปบนเส้นบรรทัดรูปจะถูกทำลายตั้งแต่แรก ถ้าเราใช้กระดาษที่ไม่มีเส้นก็จะเปิดโอกาสให้เด็กเขียนหรือวาดรูปได้อย่างอิสระ แล้วถ้าเด็กอยากได้เส้นบรรทัดเขาจะขีดเอง หรือถ้าเขาเขียนไปแบบเบี้ยวๆ บูดๆ ก็ไม่เป็นไร นั่นคือการที่เขาได้ระบายความคิดออกมาเต็มที่ และที่สำคัญคือธรรมชาติของเด็กเขาจะวาดรูปก่อนเพราะยังเขียนตัวหนังสือไม่ได้
- เริ่มต้นจากดินสอดีที่สุด
ไม่ควรจะให้เด็กเขียนหรือวาดด้วยปากกาตั้งแต่แรก โดยเฉพาะปากกาลูกลื่น เพราะปากกาลูกลื่นมันลื่นเกินกว่าที่มือเด็กจะควบคุมได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอ ลายมือจึงเสียตั้งแต่ตอนนั้น ดังนั้นควรให้เด็กฝึกด้วยดินสอก่อน เนื่องจากเด็กจะสามารถใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กบังคับดินสอได้ง่ายกว่า ลากไปไหนก็ได้ตามจินตนาการ ทำให้เขารู้จักใช้กล้ามเนื้อ แล้วก็ค่อยๆ ฝึกจนบังคับนิ้วให้ลากไปเป็นตัวหนังสือได้
- พ่อแม่หรือครูต้องไม่บังคับเด็กให้เขียน
เพื่อให้เขาคิดอย่างอิสระ จนกว่าจะถึงเวลาที่เด็กเริ่มสะกดคำหรืออยากสะกดคำ ในตอนแรกเราจะเห็นว่า เด็กที่ได้สมุดบันทึกไปเขาจะวาดรูป เพราะยังเขียนไม่ได้ ให้สังเกตว่าในรูปนั้นมีอะไรบ้าง เพราะในรูปวาดนั้นมักจะซ่อนเรื่องราวต่างๆ มีตัวละคร มีเหตุการณ์ มีองค์ประกอบที่จะบอกเล่าเรื่องได้ หรืออาจแฝงด้วยความรู้สึกของเด็กเอง
แต่ถ้าใครอยากได้สมุดบันทึกจากอาจารย์มกุฏเงื่อนไขมีอย่างเดียวคือ จะต้องเขียนจดหมายมาขอกับคุณตาสมุดบันทึก เพื่อที่จะอธิบายถึงความต้องการของตัวเอง ขณะนี้มีจดหมายหลายพันฉบับ บางคนก็พยายามเขียนและจ่าหน้าซองด้วยตัวเอง บางคนก็ให้พ่อแม่ช่วย แต่การที่เด็กเขียนเองเขาก็ภูมิใจและรอคอยที่จะได้รับสมุดกลับไป พร้อมสัญญาว่าจะเขียน แม้ว่าบางคนจะต้องใช้เวลาเป็นปีก็ตาม
บันทึกไม่ลับของเด็ก 3 แบบ
“อย่างคนหนึ่งที่เรากำลังจะทำหนังสือให้กับเขาชื่อว่า ยูโตะ เขาขอสมุดมาตั้งแต่ 7 ขวบ เวลาผ่านไป 2 ปี ไม่ได้ข่าวเลย จนไปเห็นรูปวาดของยูโตะในเฟซบุ๊กแม่เขา เราก็พยายามให้แม่เขาติดต่อมา ปรากฏว่าผ่านไป 2 ปี ยูโตะเขียนแค่ 3-4 หน้า ถามว่าทำไม เขาบอกขี้เกียจและเขาสอบตกภาษาไทย เขาไม่ชอบภาษาไทย เราก็พยายามพูดคุย ท้ายที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปเรากำลังจะมีหนังสือหนึ่งเล่มของยูโตะ ที่เขียนเรื่องแมววัดในขณะที่เขาไปบวชและรูปวาดฝีมือเขาเอง”
นอกจากนี้ยังมีบันทึกของเด็กสมาธิสั้นที่เริ่มต้นด้วยสมุดบันทึกเช่นเดียวกัน โดยเขียนความรู้สึกในฐานะเด็กสมาธิสั้นและได้รับการบำบัด เล่าตั้งแต่เริ่มรู้ตัวว่าสมาธิสั้น ปัญหาที่เจอ ไปจนถึงเป้าหมายในชีวิต สมุดบันทึกเป็นเครื่องมือที่ดีอย่างหนึ่งในการบำบัด ขณะนี้เด็กคนนั้นลดยาได้เกินครึ่ง และมีสมาธิมากขึ้น มีวิธีคิดที่เป็นระบบมากขึ้น
ส่วนบันทึกของเด็กตาบอด เป็นเด็กที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ในวิชาบรรณาธิการศึกษา ซึ่งงานอย่างหนึ่งคือการบันทึกทุกวัน แต่เนื่องด้วยตาบอดตั้งแต่เด็ก วิธีเขียนของเขาก็คือฝึกจากพิมพ์ดีด และในคอมพิวเตอร์จะมีโปรแกรมหนึ่งในการแปลงตัวหนังสือเป็นเสียง และแปลงจากเสียงเป็นข้อความ ทำให้สามารถเล่าเรื่องที่อยากเล่าผ่านตัวหนังสือได้เช่นกัน ปัจจุบันเขาสามารถเขียนลายมือได้แล้วหลังจากจบปริญญาตรี โดยทดลองให้เขาจับดินสอหรือปากกาค่อยๆ ลากเส้นจนกลายเป็นตัวหนังสือและรูปวาดต่างๆ ด้วยสองมือของเขาเอง
อ่านแผนที่ชีวิตด้วยวิธีสมุดบันทึก
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีนี้เด็กกำลังเติบโตไปอย่างถูกทาง ก็จะต้องเฝ้าดูทุกๆ วันที่เด็กเริ่มวาดหรือเริ่มเขียน ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจของผู้ปกครองในการติดตามผล ถ่ายรูปและส่งมาให้คุณตาสมุดบันทึกประเมินเสียหน่อยว่าพัฒนาไปถึงขั้นไหนหรือระหว่างทางมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
“เราเฝ้าดูถึงขนาดที่รู้ว่าเด็กจะมาทางวาดรูป หรือเขียนหนังสือ หรือจะไปทางอื่น เช่น นักออกแบบ นักวิทยาศาสตร์ เด็กบางคนเราเห็นแววความเป็นนักคิด นักทดลอง เพราะเขาเขียนหรือวาดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ บางคนเขียนแต่เลข ในขณะที่บางคนวาดรูปชุด ออกแบบชุด ซึ่งวิธีสมุดบันทึกเราสามารถค้นพบตัวตนได้หมดที่ไม่ใช่แค่นักเขียนอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้เรามีเด็กเหล่านี้อยู่ในมือเกือบ 20 คน”
ส่วนที่เน้นเรื่องการเขียนหนังสือเป็นพิเศษ ก็เพราะนี่เป็นพื้นฐานสำคัญในการจะพัฒนาตัวเองไปสู่การเรียนรู้ด้านอื่นๆ อย่างการเป็นนักเขียน เรามักมาสอนกันที่หลังเมื่อโตแล้ว และสอนด้วยทฤษฎีที่ครูรู้มา ถามว่าครูที่สอนเอาทฤษฎีมาจากไหน ก็เอามาจากครูของครูของครูที่สอนกันมาเป็นสิบๆ ปี ท้ายที่สุดเรามีเพียงทฤษฎีเดียวเท่านั้น
“แต่เราไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงทฤษฎีของตัวเองที่มีมาตั้งแต่เกิดเลย สิ่งที่เราได้หลังจากที่เริ่มโครงการมาเพียง 2 ปี คือเราเห็นว่าเด็กหลายๆ คนที่เริ่มเขียนหนังสือดีแต่ละคนเขียนไม่เหมือนกันเลย เพราะว่าเราไม่ได้มีฝาชีไปครอบเด็ก เราไม่มีทฤษฎีไปบอกให้เด็กเชื่อว่าการเขียนต้องเริ่มต้นแบบนี้ ดำเนินเรื่องแบบนี้ ผูกปมอย่างนี้ แล้วหักมุมจบอย่างนี้ หรือคลี่คลายอย่างนี้ ดังนั้นเด็กจึงไม่มีทฤษฎีของครู แต่เด็กมีทฤษฎีของตัวเองที่เกิดการเรียนรู้ผ่านการเติบโตทางความคิดของตัวเอง”
“เด็กแต่ละคนเขามีลักษณะเฉพาะของตัวเอง มันไม่มีสูตรสำเร็จว่าอายุเท่านี้จะเป็นอย่างนี้บอกไม่ได้ เรารู้เพียงว่าเมื่อเด็กยังเขียนหนังสือไม่เป็น ยังสะกดคำไม่ถูก สิ่งที่จะเห็นได้คือความคิดของเด็กผ่านรูปที่วาด เมื่อเด็กเริ่มสะกดคำเป็น เด็กจะพยายามสะกดคำเพื่อที่จะอธิบาย ถ้าเด็กสะกดคำไม่เป็นเด็กจะถามพ่อแม่ แล้วก็จะเขียนตามและพยายามคิดตาม นั่นคือการพัฒนา”
บันทึกแต่ละหน้าคือการเติบโตทางความคิด
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของอาจารย์มกุฏหรือคุณตาสมุดบันทึก ช่วงวัยของเด็กๆ ที่เหมาะสมในการเริ่มฝึกอ่านเขียนนั้น ขึ้นอยู่กับการเติบโตของเด็กแต่ละคนซึ่งอาจไม่เท่ากัน ช่วง 3-5 ขวบ เด็กจะเริ่มวาดรูปตามฝาผนัง อยากจะวาดรูป เมื่อยื่นเครื่องมือให้เด็กจะขีดเขียน ระบายสี กระทั่งช่วง 5 ขวบ เด็กอยากเขียนเป็นตัวหนังสือ เพราะได้เห็นและเริ่มรู้จักตัวหนังสือมากขึ้นจากหนังสือที่พ่อแม่ให้อ่านหรือจากป้ายบอกทาง เมนูตามร้านอาหาร เห็นโดยที่ยังไม่ต้องสอนด้วยซ้ำ ซึ่งช่วงนี้เด็กจะเริ่มเล่าเรื่องเป็นและเล่าได้ดีถ้าฝึกให้เด็กเขียนบันทึกสิ่งที่อยากเล่า
“เพราะการบันทึกทำให้เด็กเติบโตทางความคิด ดังนั้นเราจะทำไปจนเป็นที่มั่นใจว่าวิธีนี้กระทรวงศึกษาธิการควรจะนำมาใช้เหมือนที่อังกฤษกับญี่ปุ่นเขาใช้กัน ก็คือให้เด็กเขียนบันทึกเป็นกิจจะลักษณะ ถ้าให้เด็กไทยทุกคนเขียนบันทึกเราจะได้ความคิดของเด็กมหาศาล แล้วเรารู้เร็วว่าเด็กแต่ละคนควรจะไปทางไหน ไม่ต้องรอจนกระทั่งจบมัธยมแล้วไปเข้ามหาวิทยาลัย แค่ประถมก็รู้ได้แล้ว”
‘วิธีสมุดบันทึก’ จึงเป็นเครื่องมือค้นหาศักยภาพของเด็กที่เร็วที่สุด ได้ผลดีที่สุด และราคาถูกที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะจำเป็นหลายอย่างที่เป็นพื้นฐานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการอ่าน การจับใจความ การเล่าเรื่อง การคิดอย่างเป็นระบบ คิดอย่างสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ มีสมาธิ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจที่ดีของเด็กอีกหลายคน