- แอลลิสัน ทอร์เรส คือตัวละครหลักจากเรื่อง Yes Day และเป็นตัวอย่างของมนุษย์แม่ที่จุกจิก ขี้บ่น และมักปฏิเสธคำขอของลูกเสมอ
- ในสายตาของแอลลิสัน เธอมองว่าตัวเองรู้จักลูกดีที่สุด และลูกคือเด็กตัวน้อยๆ ที่ไม่ค่อยรู้เดียงสา ทว่าในมุมของลูกๆ แอลลิสันกลับเป็นปีศาจร้ายที่คอยขัดขวางความสุขในวัยเยาว์
- เมื่อปัญหาระหว่างแม่ลูกดังไปถึงหูของครูที่โรงเรียน ครูจึงแนะนำให้แอลลิสันแก้ปัญหานี้ด้วยวิธี Yes Day หรือการกำหนดวันขึ้นมาหนึ่งวัน โดยมีกฎเหล็กคือวันนั้นเธอจะต้องตอบรับกับทุกคำขอของลูก
ผมเชื่อว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอุปนิสัยใจคอของลูกอย่างมาก
ถ้าพ่อแม่ใจดีมีเหตุผล…ลูกก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีเหตุผลใช้แต่อารมณ์เข้าว่า…ก็ถือเป็นความโชคร้ายที่ลูกไม่อาจหลีกเลี่ยง
ด้วยเหตุนี้ ลูกหลายคนจึงมีคำนิยามให้พ่อแม่ในมุมที่ต่างกัน บางคนยกให้พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของบ้าน บางคนบอกว่าพ่อแม่คือเจ้ากรรมนายเวรรายใหญ่ แต่ในรายของเคธี ทอร์เรส สาวน้อยวัย 14 ปีจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Yes Day วันนี้ห้ามเซย์โน’ มองว่า “แม่เป็นตัวทำลายความสนุก”
-1-
ก่อนจะมาเป็นตัวทำลายความสนุกของเคธี…ลูกสาวคนโต ‘แอลลิสัน’ เคยเป็นสาวโสดที่สนุกสนานร่าเริง เธอเป็นผู้หญิงประเภทสวย ยิ้มเก่ง และเซย์เยสให้กับความท้าทายต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ทว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หลังจากเธอตั้งครรภ์ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแอลลิสันให้กลายเป็นแม่หน้าบูดจอมบงการ และชัดเจนขึ้นเมื่อเธอมีลูกน้อยถึงสามคนในเวลาไล่เลี่ยกัน
แม้ว่าตอนเด็กๆ หลายคนจะติดพ่อแม่ และถึงจะถูกพ่อแม่ขัดใจยังไง เราก็มักจะยอมแต่โดยดี ทว่าตอนนี้ เคธี ลูกสาวคนโตกำลังอยู่ในช่วงแตกเนื้อสาวในวัย 14 ปี ดังนั้นเวลาที่ถูกแม่ขัดใจ เธอจึงออกอาการฟึดฟัดมากกว่าน้องทั้งสองคน
นอกจากอาการฟึดฟัด ดูเหมือนว่าความต้องการของเคธีก็โตขึ้นและมากขึ้นตามประสบการณ์ชีวิต วันหนึ่งเธอเข้ามาขออนุญาตแม่ไปงานเทศกาลดนตรี ซึ่งแม่ก็ตอบตกลง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเราแม่ลูกจะไปสนุกด้วยกัน ทำให้เคธีระบายความในใจอย่างเหลืออด
“โถ่ ไม่เอาน่า พ่อแม่ของเลย์ลายังอนุญาตเลย…ส่วนพ่อก็บอกว่าหนูไปได้ พ่อเชื่อใจหนู พ่อรู้ว่าหนูจัดการตัวเองได้”
ผมเข้าใจความรู้สึกของเคธี เพราะตอนแตกเนื้อหนุ่ม ผมเองก็รู้สึกโกรธที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ไปไหนดึกๆ (ทั้งที่ผมเป็นผู้ชาย)
อีกทั้งการที่เด็กวัยนี้เอาแต่อยู่ใต้เงาพ่อแม่ ย่อมตกเป็นเป้าให้เพื่อนๆ ล้อเลียนว่า ‘ลูกแหง่’ ซึ่งเป็นคำพูดสุดจี๊ดที่ทำร้ายจิตใจวัยรุ่นอย่างแรง
เมื่อถูกแม่เซย์โน เธอจึงนำความโกรธและไม่พอใจแม่มาแต่งกลอนไฮกุส่งครูในคาบภาษาอังกฤษ
“ฉันเป็นนกในกรง แม่เป็นผู้จองจำฉัน แม่จ๋าปล่อยหนูไปเถอะ”
นอกจากเคธีแล้ว น้องคนรองยังส่งการบ้านวิชาประวัติศาสตร์ด้วยการนำคลิปตอนแม่ด่ามาเปรียบเทียบในทำนองว่า ‘แม่คือผู้นำเผด็จการ’ ไม่ต่างอะไรกับสตาลินและมุโสลินี
-2-
ผลลัพธ์จากการส่งการบ้านในวันนั้น ทำให้ครูที่ปรึกษาของทั้งคู่เรียกแอลลิสันกับสามีมาพบเพื่อแจ้งเรื่องนี้ ทำให้แอลลิสันรู้สึกผิดหวังและเสียใจมากๆ ที่ลูกไม่เห็นความปรารถนาดี ก่อนต่อว่าสามีที่โยนภาระหน้าที่เลี้ยงลูกจนทำให้เธอกลายเป็นจอมเผด็จการในสายตาของลูก
“คุณทำให้ฉันดูแย่ เพราะคุณได้เล่นเป็นคุณพ่อจอมสนุกสนานที่ทุกคนรัก ส่วนฉันต้องเล่นบทเป็นวายร้าย ในวีดีโอคุณก็เห็นว่าไม่มีบทที่คุณเป็นตัวร้ายเลยนี่
มันอาจถูกอัพโหลดลงยูทูบ แล้วฉันจะกลายเป็นแม่โรคจิต…ไม่ยุติธรรมเลย ตอนอยู่กับลูกๆ ฉันได้ยินเสียงตัวเองและคิดว่าถ้าเป็นฉันก็คงไม่อยากอยู่กับตัวเอง”
ผมขออนุญาตแทรกเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวเล็กน้อย ด้วยปัญหาเกี่ยวกับสามีที่มักโยนหน้าที่เลี้ยงลูกให้ภรรยา ซึ่งนับเป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของนักจิตวิทยาชื่อดัง Dr. Alaokika Bharwani ที่อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมสามีหลายคนถึงไม่เต็มใจช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร โดยเธอบอกว่าสามีเหล่านี้มักเรียนรู้พฤติกรรมดังกล่าวมาจากต้นแบบของผู้ปกครองและบทบาททางเพศที่เกิดขึ้นสมัยเป็นเด็ก โดยเฉพาะการเห็นผู้เป็นแม่แสดงบทบาทที่ ‘อ่อนน้อมถ่อมตน’ ต่อพ่อ…ผู้เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวและเปรียบเสมือน ‘ศูนย์กลาง’ ของครอบครัว
อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาได้แนะนำคุณพ่อยุคใหม่ว่าต้องรับฟังและเข้าใจความต้องการของคู่รัก นอกจากนี้การไม่สนับสนุนภรรยาเรื่องการเลี้ยงดูบุตรยังเป็นสัญญาณว่าความต้องการของเธอไม่สำคัญเท่ากับความต้องการของคุณ
“นั่นถือเป็นการละเลยทางอารมณ์ มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการทำหน้าที่ของตัวเองและความเห็นแก่ตัว ในการทำหน้าที่ของตนเอง ฉันเคารพความต้องการของฉันพอๆ กับความต้องการของคุณ ในขณะที่ความเห็นแก่ตัวคือ ความต้องการของฉันสำคัญกว่าคุณและครอบครัว” Dr. Alaokika Bharwani กล่าว
ในช่วงจังหวะที่แอลลิสันต่อพ้อสามี ปรากฏว่าครูพละได้ยินเข้าจึงเข้ามาให้คำแนะนำกับทั้งคู่ โดยเขาแนะนำให้แอลลิสันนำแผน ‘Yes Day’ มาใช้กับลูกๆ ซึ่งกฎของมันคือการกำหนดวันขึ้นมาหนึ่งวัน และในวันนั้นพ่อกับแม่ต้องตอบรับทุกคำขอของลูก โดยไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีงาม
“ผมรู้ว่ามันฟังดูตลก แต่มันคือตัวพลิกเกมที่แท้จริงเลยล่ะ มันจะช่วยปลดปล่อยเด็กๆ ให้เป็นอิสระ และเมื่อเด็กๆ เป็นอิสระ มันก็ช่วยปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระด้วย” ครูพละกล่าว
-3-
ในที่สุด แอลลิสันก็ตัดสินใจนำวัน Yes Day มาใช้กับลูกๆ เพราะเธอไม่อยากให้ลูกมองว่าเธอเป็นนางมารที่คอยขัดขวางความสนุก
เมื่อแอลลิสันยอมที่จะเปิดใจยอมรับความต้องการของลูก ผมสังเกตเห็นถึงรอยยิ้มและเสียงหัวเราะดังๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาตลอดทั้งเรื่อง นั่นเพราะลูกๆ ต่างต้องการความรักที่มาพร้อมกับความเข้าอกเข้าใจ มากกว่าความรักที่แน่นจนบีบรัด…ภายใต้มายาคติ “พ่อแม่ย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (ในความคิดตัวเอง) ให้กับลูก”
แต่สิ่งที่ผมชื่นชมแอลลิสันที่สุดในตอนอนุญาตให้มี Yes Day ไม่ใช่การเปิดรับข้อเสนอทุกข้อของลูกอย่างไร้สติ แต่เป็นตอนที่เคธีมาคุยกับเธอเรื่องเทศกาลดนตรีเพื่อท้าทายให้เธอพูดคำว่า ‘ไม่’ ซึ่งนับว่าเป็นการละเมิดกฎสูงสุดของวัน Yes Day
สิ่งที่แอลลิสันทำคือการแบ่งรับแบ่งสู้ เธอเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อเสนอของเคธี แต่ก็ยังไว้ลายความเป็น ‘มนุษย์แม่’ ด้วยการตั้งเงื่อนไข นั่นก็คือหากเธอชนะชาเลนจ์ทุกข้อในวัน Yes Day …เคธีจะต้องยอมให้เธอไปงานเทศกาลดนตรีด้วยกัน ทำให้เคธีรู้สึกว่าแม่คุยกับเธออย่างมีเหตุมีผลมากกว่าใช้อารมณ์หรือเผด็จการแห่งความเป็นแม่
แม้จะผ่านชาเลนจ์สุดพิลึกอย่างทุลักทุเล เช่น การขับรถเข้าเครื่องล้างรถอัตโนมัติและเปิดกระจกจนทุกคนเปียกปอน ฯลฯ แต่แอลลิสันก็ทำให้ลูกๆ เห็นว่าเธอเป็นคนที่ใจดีและสนุกสุดเหวี่ยงแค่ไหน ทว่าระหว่างที่ภารกิจสุดท้ายกำลังจะจบลง แอลลิสันกลับแอบฉวยโอกาสที่เคธีไปเข้าห้องน้ำ เพื่อหยิบโทรศัพท์มือถือของลูกมาเช็ค ทำให้วันดีๆ ทั้งวันพังทลายลงในพริบตา
-4-
ถ้าผมเป็นแอลลิสัน แน่นอนว่าผมย่อมตกใจที่เห็นเพื่อนของเคธีส่งแชทมาว่าคืนนี้จะมีหนุ่มๆ หุ่นล่ำมารวมกลุ่มกับพวกเราในเทศกาลดนตรี เช่นกันถ้าผมเป็นเคธี การสอดแนมของแอลลิสันย่อมถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างแรง
“แม่ดูมือถือหนูทำไม เห็นได้ชัดว่าแม่กำลังทำตัวเวอร์เกินไปเพราะหนูควบคุมสิ่งที่เลย์ลาพิมพ์มาไม่ได้ พอกันทีกับ Yes Day หนูไม่เอาด้วยแล้ว
ไม่อยากเชื่อว่าหนูยอมโดนแม่หลอกว่าแม่เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ แม่ไม่ได้ไว้ใจหนูเลย…แม่เลิกยุ่งกับหนูสักทีเถอะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือหนูไม่ต้องการแม่อีกต่อไปและแม่ก็แค่รับมันไม่ได้”
เมื่อไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับการสอดแนม แอลลิสันจึงรู้สึกเสียใจกับการกระทำของตัวเองและหันไปโอดครวญกับสามี
“มันเป็นกฎที่สำคัญมาก ฉันไม่น่าดูมือถือของลูกเลย ไม่แปลกใจที่ลูกจะโกรธ แต่มันวางอยู่ตรงนั้นและมีรูปเด็กผู้ชาย ฉันไม่ชอบเวลาที่ถูกลูกเกลียด ฉันแค่หวังให้ลูกเข้าใจว่าที่ทำไปทุกอย่างก็เพราะรัก…ลูกยังเป็นเด็กตัวน้อยๆ ของเราเสมอ”
สำหรับประเด็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเคธี โดยที่แอลลิสันอาศัยสิทธิ์ของการเป็นผู้ให้กำเนิดและเช็คโทรศัพท์มือถือของลูกนั้น ผมรู้สึก ‘รับไม่ได้’ เพราะแม้เคธีจะเป็นเพียงเด็กอายุ 14 ปีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่แม่ก็ไม่ควรอ้างสิทธิ์ความเป็นแม่ที่รักลูกมากกว่าใครในการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของลูก
อย่างไรก็ตาม หากแม่อยากเช็คมือถือจริงๆ ก็ควรขออนุญาตจากลูกก่อน อย่างในกรณีนี้ สมมติว่าแอลลิสันเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นการขอลูกเช็คโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถ้าเคธีไม่ให้ ผมมองว่าแอลลิสันเองก็มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะไม่อนุญาตให้เคธีไปเทศกาลดนตรีเช่นกัน
ส่วนประเด็นสุดท้ายอย่างเรื่องการมองลูกเป็นเด็กตัวน้อยเสมอ ผมเชื่อว่าแม่ๆ หลายคนก็คงคิดไม่ต่างกับแอลลิสัน ซึ่งในตอนท้ายเรื่องเธอก็ได้เข้าไปปรับความเข้าใจกับเคธีว่ามักยากแค่ไหนสำหรับแม่คนหนึ่งที่จะปล่อยให้ลูกโตขึ้นและต้องยอมรับว่าวันหนึ่งลูกจะมีชีวิตของตัวเอง ขณะเดียวกันเคธีก็ได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้ว เธอไม่ได้รำคาญแม่ หากแต่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวในการลองถูกลองผิด โดยมีแม่คอยสนับสนุนเธออยู่ห่างๆ คอยเป็น ‘ฟูกนุ่มๆ’ ในวันที่เธอล้ม
เดิม Yes Day เป็นหนังสือชื่อดังของ Amy Krouse ในปี 2009 ที่ขายดิบขายดีจนติด New York Times Bestseller ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวที่อบอุ่นน่าสนใจทำให้ Netflix Original ตัดสินใจนำหนังสือเรื่องดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 2021 โดยได้ดาราแม่เหล็กชื่อดังอย่าง ‘เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์’ มารับบทเป็นแอลลิสัน…มนุษย์แม่ที่ไม่อยากให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ |