Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2023

Charlie and the Chocolate Factory: ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ต้นทางชีวิตและความฝันของเด็ก…เริ่มต้นที่บ้าน
Movie
29 April 2023

Charlie and the Chocolate Factory: ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ต้นทางชีวิตและความฝันของเด็ก…เริ่มต้นที่บ้าน

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • วิลลี่ วองก้า คือเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากภาพยนตร์แฟนตาซี Charlie and the Chocolate Factory ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อเดียวกันของโรอัลด์ ดาห์ล
  • วิลลี่ วองก้า เป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูของพ่อ ทำให้เขารู้สึกประหม่าและอึดอัดใจทุกครั้งที่ต้องพูดถึงชีวิตวัยเด็กที่มีพ่อคอยบงการชีวิต
  • จุดเปลี่ยนของวิลลี่ วองก้าคือการแตกหักกับพ่อ และออกมาทำร้านขนมในฝัน ก่อนพัฒนาต่อยอดกลายเป็นโรงงานช็อกโกแลตอันโด่งดัง ซึ่งเขาได้ซ่อนตั๋วทองคำห้าใบไว้ในช็อกโกแลต เพื่อให้ลูกค้าผู้โชคดีได้มาทัวร์โรงงานที่ขึ้นชื่อว่าลึกลับที่สุดในโลก และนั่นทำให้เขาพบกับจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้ง

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน]

ตอนเด็กๆ สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือการที่พ่อแม่ไม่รัก ดังนั้นไม่ว่าพ่อแม่สอนหรือบอกให้ทำอะไร ผมมักทำอย่างไม่มีข้อแม้…แม้บางครั้งอาจทำเพราะกลัวถูกลงโทษ

จนเมื่อเวลาผ่านไปสิบปี ในวันที่ผมทำบัตรประชาชนครั้งแรก ผมกลับพบว่าสิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือ การที่พ่อกับแม่ไม่ยอมรับความฝันของผม

ความฝันของผม ณ เวลานั้น มีทั้งแบบตามกระแสคือการเป็นนักแสดงตลกแบบ ‘โรวัน แอตคินสัน’ (ผู้รับบทมิสเตอร์บีน) และตามใจปรารถนาคือการเป็นครูในโรงเรียนชนบทอันห่างไกลแบบ ‘ครูสอง’ ในภาพยนตร์เรื่องคิดถึงวิทยา

แต่ไม่ว่าจะเป็นดาราตลกหรือครูบ้านนอก ดูเหมือนว่าความฝันของผมกับพ่อแม่คือเส้นขนานที่เข้ากันไม่ได้ เพราะพ่อแม่อยากให้ผมเดินบนเส้นทางสายธุรกิจเหมือนกับท่าน ในการถกเถียงครั้งสุดท้าย ผมจำได้ว่าตัวเองถึงกับ ‘หุบปาก’ โดยอัตโนมัติ เมื่อได้ยินพ่อแม่พูดว่า “ถ้าคิดว่าสิ่งที่คิดมันดีมันถูกต้องก็ออกไปอยู่ข้างนอกแล้วไม่ต้องมายุ่งกับเงินกู”  

แน่นอนว่าเมื่อมนุษย์ผิดหวังกับสิ่งที่ใจปรารถนา เราก็มักจะหาวิธีเยียวยาจิตใจในแบบที่ต่างกัน ซึ่งวิธีของผมคือการฟังเพลงประเภทพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือไม่ก็หาภาพยนตร์ที่ลูกหนีออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝันของตัวเองจนประสบความสำเร็จ ซึ่ง Charlie and the Chocolate Factory ในปี 2005 ก็ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ผมรักและช่วยฮีลใจผมเสมอในวันที่รู้สึกไม่เข้าใจพ่อแม่

Charlie and the Chocolate Factory ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหนูชาร์ลีที่บังเอิญโชคดีเป็นหนึ่งในเด็กห้าคนที่ได้รับตั๋วทองสำหรับการเข้าชมโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และด้วยความเป็นเด็กดีมีมารยาททำให้เขาได้เป็นผู้สืบทอดโรงงานต่อจาก ‘วิลลี่ วองก้า’ ผู้ลึกลับ

จุดที่ผมสนใจในภาพยนตร์แฟนตาซีเรื่องนี้ไม่ใช่ความอลังการของโรงงานช็อกโกแลต แต่กลับเป็นภูมิหลังอันแสนเจ็บปวดระหว่างวิลลี่ วองก้า กับพ่อผู้เข้มงวด และนั่นทำให้วิลลี่ วองก้า ผู้ลึกลับกลายเป็นตัวละครที่ผมอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

-1-

วิลลี่ วองก้า เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ‘ดร.วิลเบอร์ วองก้า’ ทันตแพทย์ชื่อดังประจำเมือง และด้วยความเป็นทันตแพทย์นี้เองทำให้พ่อเอาใจใส่เรื่องสุขภาพในช่องปากของวิลลี่ตั้งแต่เล็ก เขาทั้งออกกฎห้ามไม่ให้วิลลี่กินขนมหวานทุกชนิด แถมยังบังคับให้ลูกสวมเหล็กดัดฟันและหมวกจัดฟันขนาดใหญ่บนหัวตลอดเวลา

หนึ่งในความทรงจำวัยเด็กที่ชัดเจนที่สุดของวิลลี่ วองก้า คือเหตุการณ์ช่วงเทศกาลวันฮาโลวีนที่วิลลี่กับเพื่อนๆ พากันไปทำกิจกรรมให้ขนมหรือให้หลอก (Trick or Treat) ซึ่งวิลลี่ของเราได้ขนมมาไม่น้อยกว่ายี่สิบชิ้น ทั้งคาราเมล อมยิ้ม ช็อกโกแลต ฯลฯ แต่พอกลับมาบ้านพ่อของเขากลับนำขนมทั้งหมดไปเผาในเตาผิง 

“มาดูกันสิว่าปีนี้มีของอันตรายประเภทไหนบ้าง คาราเมล มันคงจะไปติดที่ลวดดัดฟันจริงไหม อมยิ้ม น่าจะเรียกว่าโรคฟันผุบนปลายไม้ แล้วเราก็มีพวกนี้ที่เรียกว่าช็อกโกแลต รู้ไหมอาทิตย์ก่อนพ่ออ่านเจอในวารสารการแพทย์ว่ามีเด็กบางคนแพ้ช็อกโกแลตทำให้จมูกคันยุกยิก…แต่ลูกจะเสี่ยงทำไมล่ะ” 

ในฉากทำร้ายจิตใจฉากนี้ ผมรู้สึกสงสารวิลลี่จับใจที่ทำได้แค่หุบปากและมองพ่อของเขาเผาขนมแสนรัก แต่อีกใจผมก็ตระหนักถึงความหวังดีของดร.วิลเบอร์ที่ต้องการป้องกันวิลลี่จากโรคฟันผุ 

จริงอยู่ที่พ่อแม่หลายคนรักและหวังดีกับลูก ดังนั้นเมื่อเห็นว่าอะไรที่เป็นผลเสียกับลูก คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะพยายามป้องกันเหตุการณ์นั้นตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตาม ดร.วิลเบอร์อาจลืมไปว่าเด็กกับขนมหวานเป็นของคู่กัน ดังนั้นการใช้ไม้แข็งด้วยการเผาขนมของวิลลี่ทิ้งก็ไม่ต่างอะไรกับการเผาความสุขของลูกไปด้วย

เมื่อดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว รวมถึงแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตของเด็กรุ่นใหม่ พบว่าหลายครอบครัวที่พ่อแม่บังคับลูกให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองคิด มักทำให้ลูกเครียด ขาด Self-esteem หรือไม่ก็เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งพ่อแม่หลายคนมักไม่ยอมรับว่าตนเป็นต้นเหตุของปัญหา

สำหรับประเด็นนี้ ในฐานะของคนที่ถูกความหวังดีของพ่อแม่ทำร้ายตอนเด็กๆ ผมมองว่าความหวังดีของพ่อแม่เป็นพื้นฐานที่ดีที่พ่อแม่ทุกคนพึงมอบให้กับลูก 

แต่ข้อควรระวังคือพ่อแม่บางคนมักอินกับความหวังดีของตัวเองมากจนเกินไป ทั้งยังคิดว่า “ฉันนี่แหละที่รักและรู้จักลูกดีที่สุด” และมักแสดงความรักความหวังดีออกมาอย่างผิดวิธี 

โดยเฉพาะการเข้าไปบังคับขู่เข็ญสารพัด ทำให้ลูกหลายคนเหมือนถูกย่ำยีความรู้สึกครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นบาดแผลในใจที่ไม่มีวันหาย แทนที่จะพูดจากันดีๆ คอยอธิบายด้วยเหตุผล หรือต่อให้อธิบายแล้วเด็กไม่ฟัง พ่อแม่ก็ควรใจเย็นๆ และใช้ปัญญาหาวิธีการที่เหมาะสมกับลูกในฐานะที่ “ฉันนี่แหละที่รักและรู้จักลูกดีที่สุด”

นอกจากนี้ หากความคิดหรือการตัดสินใจของลูกไม่ได้เป็นอันตรายกับใคร พ่อแม่ก็ควรให้คำแนะนำและปล่อยให้ลูกได้ลองถูกลองผิดด้วยตัวเอง เพราะผมเชื่อว่าหากพลาดพลั้งขึ้นมา เขาก็จะได้รับบทเรียนที่จำไม่ลืม ทั้งยังช่วยให้เขาตระหนักถึงความรักความหวังดีของพ่อแม่ได้ดีกว่าการที่ถูกบังคับ

-2-

สำหรับวิลลี่ วองก้า หลังจากที่เขาหนีออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝันของตัวเอง กระทั่งได้เป็นเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเปิดโอกาสให้เด็กห้าคนที่เจอตั๋วทองคำในช็อกโกแลตวองก้า สามารถมาเยี่ยมชมโรงงานแบบไพรเวทพร้อมกับเลือกผู้ปกครองมาได้หนึ่งคน โดยไม่มีใครรู้ว่าวิลลี่ วองก้า วางแผนมอบบทเรียนแก่เด็กๆ เหล่านี้

ผมสังเกตว่าเด็กทั้งห้าคนถูกแบ่งขั้วเป็น ‘เด็กดี’ และ ‘เด็กไม่ดี’ อย่างชัดเจน เช่น ชาร์ลี จะเป็นตัวแทนของเด็กดีที่กตัญญู เชื่อฟังผู้ใหญ่ คิดถึงจิตใจคนอื่น ต่างกับเด็กที่เหลือ ไล่ตั้งแต่ ‘ออกัสตัส’ เด็กตุ้ยนุ้ยจอมตะกละที่กระโดดลงไปกินช็อกโกแลตในน้ำตกต้องห้าม ทำให้วิลลี่จัดการมอบบทเรียนแก่เขาด้วยการดูดเข้าไปในท่อผลิตขนม

ส่วน ‘ไวโอเล็ต’ สาวน้อยแชมป์เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นตัวแทนของความเย่อหยิ่ง เพียงเพราะอยากเป็นเด็กคนแรกที่ได้ลิ้มลองหมากฝรั่งสูตรใหม่ของวองก้า เธอจึงตัดสินใจกินหมากฝรั่งที่อยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัย และบทเรียนที่เธอได้รับคือร่างกายที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้าอมม่วง

ด้าน ‘ไมค์’ หนุ่มน้อยจอมอวดดีที่ถือวิสาสะนำตัวเองเข้าไปในเครื่องย่อส่วนซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง ทำให้ร่างกายของเขามีขนาดเท่ากับตุ๊กตุ่นแบบ1/12 ก่อนถูกพาไปยึดตัวให้กลับมาเป็นปกติแต่ก็แลกมากับรูปร่างสองมิติที่คล้ายกับกระดาษแผ่นบางๆ   

สำหรับเด็กอีกคนที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้คือเด็กหญิงชาวอังกฤษที่ถูกพ่อแม่ตามใจจนเสียนิสัยอย่าง ‘เวรูก้า ซ้อลท์’ 

ในจำนวนเด็กทั้งห้าที่ได้รับตั๋วทองคำ ครอบครัวซ้อลท์ดูจะมีฐานะร่ำรวยที่สุดจากการเป็นเจ้าของโรงงานถั่ว พ่อแม่ของเวรูก้าดูจะเป็นพ่อแม่ในฝันของใครหลายคน เพราะหากเวรูก้าต้องการอะไร พ่อแม่ของเธอจะรีบหามาให้แทบจะในทันที รวมถึงตั๋วทองคำจากช็อกโกแลตวองก้าที่พ่อถึงกับกว้านซื้อช็อกโกแลตเท่าที่หาได้พร้อมสั่งให้พนักงานทุกคนหยุดงานเพื่อช่วยกันแกะห่อช็อกโกแลตจนกว่าจะพบตั๋วทองคำ 

เมื่อมาถึงห้องคัดแยกถั่ว ดูเหมือนสองพ่อลูกตระกูลซ้อลท์จะตื่นเต้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพ่อที่พยายามพรีเซนต์โรงงานผลิตถั่วของตัวเองกับวิลลี่ วองก้า 

ส่วนเวรูก้านั้น เธอเกิดตาลุกวาวอยากได้ ‘กระรอก’ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้คัดถั่วในโรงงานช็อกโกแลตแห่งนี้ เธอพยายามขอร้องแกมบังคับพ่อให้ซื้อกระรอกให้ ทว่าวิลลี่ วองก้ากลับไม่ยอมขายให้ เธอจึงถือวิสาสะวิ่งลงไปยังพื้นที่ทำงานของกระรอก ก่อนถูกกระรอกโยนลงไปในท่อขยะขนาดยักษ์

แน่นอนว่าพ่อของเธอย่อมตกใจและพยายามจะวิ่งไปช่วยลูก แต่จังหวะนั้นเองก็มีแก๊งคนแคระอย่างพวก ‘อูมปา-ลูมป้าส์’ ที่ทำงานในโรงงานช็อกโกแลตมาขวางทางพร้อมกับร้องเพลงล้อเลียนสองพ่อลูกอย่างเจ็บแสบ

“ใครกันที่ทำให้เธอไม่ดี ที่ตามใจเธอไปเสียทุกอย่าง เปลี่ยนเธอให้กลายเป็นเด็กไม่ดี ใครคือผู้ทำผิด ใครนะใคร กลับกลายมาเป็นเรื่องน่าเสียใจ คนที่ทำคือแม่และพ่อ”

จากบทเพลงจะเห็นว่าวิลลี่ วองก้าได้แต่งเพลงไว้รอเชือดสองพ่อลูกอยู่แล้ว ผมคิดว่าเขาต้องการแสดงให้เห็นว่านิสัยไม่ดีของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เช่นนี้กระรอกจึงถีบส่งพ่อลงไปในท่อขยะอีกคน 

ถึงฉากนี้จะดูโหดร้ายไปนิด แต่ผมมองว่านอกเหนือจากประเด็นยัดเยียดความหวังดีให้ลูก นี่คือตัวอย่างของคำว่า ‘รักเกินรักมักทำลาย’ ในอีกแง่มุมหนึ่ง ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังรู้สึกว่าวิลลี่ วองก้า ไม่ควรตัดสินเด็กจากพฤติกรรมแค่บางอย่าง และไม่เห็นด้วยกับการถือวิสาสะลงโทษเด็กๆ เพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถแก้นิสัยเสียๆ ของเด็กคนหนึ่งได้โดยการใช้ความรุนแรง

-3-

ตลอดทั้งเรื่อง วิลลี่ วองก้าดูมีบุคลิกที่ผิดแผกจากคนทั่วไป อาจเป็นเพราะจิตใจของเขามีความบิดเบี้ยวและเต็มไปด้วยความเจ็บปวด โดยเฉพาะเวลาที่มีใครเอ่ยถึงพ่อ เขาจะแสดงสีหน้าที่ดูไม่มั่นใจคล้ายยังจมอยู่กับความหลังในวัยเด็ก

ครั้งหนึ่งเมื่อถูกชาร์ลีถามถึงขนมหวานชิ้นแรกที่กิน เขาก็นึกขึ้นได้ว่าหลังจากใจสลายกับการถูกพ่อนำขนมช่วงฮาโลวันไปเผาทิ้ง แต่ยังโชคดีที่มีขนมช็อกโกแลตชิ้นหนึ่งหลุดรอดจากการเผาไหม้ ทำให้วิลลี่มีโอกาสลิ้มลองรสชาติช็อกโกแลตเป็นครั้งแรก และนั่นทำให้เขาค้นพบแพสชันของตัวเอง จนในที่สุดเขาตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝัน ส่วนพ่อก็ยืนกรานว่าบ้านหลังนี้จะไม่ต้อนรับวิลลี่อีก

ด้วยแพสชันอันแรงกล้า วิลลี่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวจากร้านขนมเล็กๆ ไม่กี่ห้องแถวสู่โรงงานช็อกโกแลตที่โด่งดังและใหญ่ที่สุดในโลก ทว่าเขากลับไม่เคยมีความสุขอย่างแท้จริง

หลังการพาคณะเด็กๆ ชมโรงงานช็อกโกแลต วิลลี่ วองก้าเริ่มรู้สึกหมดแพสชันในการผลิตขนม เขาจึงออกตามหาตัวของชาร์ลี เด็กคนเดียวที่รอดจากกับดักในโรงงาน

สำหรับวิลลี่ วองก้า…ชาร์ลีเป็นเด็กที่รักครอบครัวมาก…มากถึงขั้นกล้าปฏิเสธโรงงานช็อกโกแลตที่วิลลี่ วองก้ามอบให้ เพราะข้อเสนอนี้ต้องแลกมากับการละทิ้งครอบครัวเพื่อย้ายมาบริหารโรงงานในฐานะทายาทคนใหม่ 

เมื่อเจอชาร์ลี… วิลลี่ วองก้าถึงกับโพล่งออกมาว่าเขารู้สึกแย่และขอคำชี้แนะจากหนูน้อยว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ชาร์ลีก็ถามวิลลี่ วองก้าว่าทำไมถึงต้องให้เขาทิ้งครอบครัวเพื่อแลกกับโรงงานช็อกโกแลต

“ไม่ใช่แค่ครอบครัว มันเป็นเรื่องของการเป็นผู้ปกครอง พวกเขามักคอยบอกให้ทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ และมันก็ไม่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย”

จากประโยคนี้จะเห็นว่าวิลลี่ วองก้ายังคงติดอยู่กับภาพการใช้อำนาจของพ่อและก้าวข้ามอดีตไม่พ้น อีกทั้งตอนพาเด็กๆ ทัวร์โรงงาน ผมจำได้ว่าจู่ๆ วิลลี่ วองก้าโพล่งขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “นี่พวกคุณรู้หรือเปล่าว่าในช็อกโกแลตมีองค์ประกอบที่กระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟินทำให้คนเรารู้สึกเหมือนกำลังมีความรัก”

นั่นอาจแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่วิลลี่ วองก้ารู้สึกขาดหายที่สุดคือ ‘ความรัก’…โดยเฉพาะความรักจากพ่อ

ชาร์ลีจึงบอกวิลลี่ วองก้าว่าที่พ่อแม่ทำแบบนั้นอาจเป็นเพราะความรักและต้องการปกป้องลูก พร้อมเสนอตัวไปหาพ่อของเขาด้วยกัน

ที่บ้านกึ่งคลินิกทันตกรรมของดร.วิลเบอร์ วองก้า ชาร์ลีสังเกตว่าบริเวณผนังร้านถูกแขวนไปด้วยกรอบรูปมากมายที่เต็มไปด้วยข่าวของวิลลี่ วองก้าตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ แสดงให้เห็นว่าดร.วิลเบอร์ยังคงคิดถึงลูกชายเสมอ

เขาเชิญให้แขกแปลกหน้านอนลงบนเตียงเพื่อตรวจสุขภาพฟัน และทันใดนั้นเขาก็พบว่าลูกค้าคนนี้คือลูกชายที่หายไป ก่อนจะเอื้อมมือไปกอดวิลลี่ วองก้าอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน

หลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมรู้สึกซาบซึ้งและยินดีกับวิลลี่ วองก้า เพราะปมในใจที่ใหญ่ที่สุดของเด็กคือเรื่องพ่อแม่ และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะคลายปมนี้แม้ว่าวันหนึ่งเด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากวิลลี่ วองก้าไม่ประสบความสำเร็จ ผมสงสัยว่าพ่อของเขาจะปฏิบัติต่อเขายังไง แล้วตัวของวิลลี่ วองก้าเองจะมีความสุขกับพ่อของเขาหรือไม่ หรือเขาจะต้องจมอยู่กับความรู้สึกของการเป็นลูกที่ไม่ได้ดั่งใจพ่อแม่ตลอดไป ดังนั้นต่อให้รักและหวังดี แต่หากพ่อแม่ใช้มันอย่างผิดวิธี ความรักความหวังดีนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการทำลายความสดใสของลูกอย่างบริสุทธิ์ใจ

Charlie and the Chocolate Factory (2005) เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกชื่อเดียวกันของโรอัลด์ ดาห์ล ยอดนักเขียนชาวเวลส์ผู้ล่วงลับ โดยได้ทิม เบอร์ตัน นั่งแท่นผู้กำกับ พร้อมดึงนักแสดงชื่อดังอย่างจอห์นนี เดปป์ มารับบทวิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทิม เบอร์ตันได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวของวิลล่า วองก้า สั้นๆ ผ่านเว็บไซต์ ianwinterton.co.uk ว่าเดิมทีหนังสือไม่ได้อธิบายถึงที่มาของนิสัยประหลาดๆ ของตัวละครนี้ เขาจึงสร้างเรื่องราวเบื้องหลังเพิ่มเติมให้กับวิลลี่ วองก้า กับพ่อผู้เป็นทันตแพทย์ที่ปกป้องลูกมากเกินไปจากการห้ามกินขนมทุกชนิด 

Tags:

วัยเด็กผู้ใหญ่อนาคตCharlie and the Chocolate Factoryวิลลี่ วองก้าภาพยนตร์วรรณกรรมบาดแผลทางจิตใจ

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    Stand By Me: เด็กทุกคนล้วนเคยเจ็บปวดเพราะผู้ใหญ่ ขอแค่ใครสักคนที่เชื่อมั่น ความฝันย่อมไม่ดับสลาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    All The Bright Places: พ่อไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์ของการใช้กำลังวันนั้นมันแย่แค่ไหน 

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Book
    แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง (ความโง่เขลาของมนุษย์ก็เช่นกัน)

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Movie
    Lady Bird : ด้วยรักและเอาชนะ ระหว่างมนุษย์ลูกผู้อยากโผบินกับมนุษย์แม่ขี้โมโห

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

‘ดื้ออีกนิด ไปต่ออีกหน่อย’ กับ ซิสุ (Sisu) ปรัชญาชีวิตของชาวฟินแลนด์
How to enjoy life
27 April 2023

‘ดื้ออีกนิด ไปต่ออีกหน่อย’ กับ ซิสุ (Sisu) ปรัชญาชีวิตของชาวฟินแลนด์

เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • ซิสุ (Sisu) คือปรัชญาการใช้ชีวิตหนึ่งของชาวฟินแลนด์ เป็นคำศัพท์ที่มีความลึกซึ้งและเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง แม้อาจตีความได้หลายแบบ แต่ก็มี ‘แพทเทิร์น’ ร่วมกัน คือการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นพยายามในการก้าวต่อไปอีกนิดท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เปิดใจพร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายน้อยใหญ่
  • Sisu ไม่ได้ปฏิเสธความกลัว ไม่ได้ละทิ้งความกังวล แต่เป็นการเดินหน้าต่อโดยมีตรรกะหรือกลยุทธ์รองรับ ทั้งๆ ที่ยังมีกลิ่นอายแห่งความกลัวหรือลังเลอยู่บ้าง
  • เมื่อพูดถึง ‘ความสุข’ บางทีความสุขไม่ได้มาจากการเอาแต่คิดวิเคราะห์หาหนทางว่าเราจะสุขได้ยังไง แต่มาจากการเอาตัวเองดำดิ่งลงไปใช้ชีวิตจมปลักกับมันตรงๆ

ฟินแลนด์เป็นอีกประเทศที่น่ามหัศจรรย์ใจอย่างหนึ่ง เพราะที่ตั้งเชิงภูมิศาสตร์ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค สภาพอากาศหนาวเหน็บไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้ชีวิตนัก ประชากรเบาบาง ทรัพยากรธรรมชาติจำกัดมากๆ และมีประวัติถูกรุกรานจากประเทศอื่นๆ แต่กลับเป็นประเทศที่ถีบตัวเองจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีเยี่ยม รายได้สูง การศึกษาดี และมีดัชนีความสุข (Happiness index) ติดอันดับโลกทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ

เพราะเบื้องหลังการใช้ชีวิตของชาวฟินแลนด์มีสิ่งหนึ่งที่ยึดถือร่วมกันในสังคม นั่นคือ ปรัชญาการใช้ชีวิตที่เรียกว่า ซิสุ (Sisu)

Sisu คืออะไรกันแน่?

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ซิสุ (Sisu) เป็นอีกคำศัพท์หนึ่งที่มีความลึกซึ้งและเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ไม่ได้มีความหมายแบบตรงไปตรงมา (การแปลคำนี้เป็นภาษาอื่นจึงมีได้หลายคำมากๆ) ทำให้การพูดคำนี้ขึ้นมาครั้งนึง หลายคนอาจมีภาพในหัวแว่บขึ้นมาแตกต่างกัน แต่ความต่างหลากหลายนี้จะมี ‘แพทเทิร์น’ ร่วมกัน 

นั่นคือ Sisu จะสะท้อนถึงความมุ่งมั่นพยายามในการก้าวต่อไปอีกนิดท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เปิดใจพร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายน้อยใหญ่ เป็นการทำจิตใจให้สตรองเพื่อก้าวฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ หรือพูดง่ายๆ Sisu จะมีจริตของความดื้อรั้น(ในด้านบวก) ที่ไม่ยอมจำนวนต่อสถานการณ์อันยากลำบากตรงหน้า แต่จะขอ ‘ลองดูซักตั้ง’ ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนเสียก่อน?

ตัวอย่างง่ายๆ บทสนทนาในชีวิตประจำวัน เวลาเจอโจทย์ท้าทายยากๆ 

  • คนที่ไม่มี Sisu อาจตัดบทจบว่า “หูย ยากเกินไป…ทำไม่ได้หรอก”
  • แต่คนที่มี Sisu อาจพูดว่า “โห ฟังดูไม่ง่ายเลยนะ…แต่เดี๋ยวจะขอลองทำดูก่อน”

พวกเขาจะ ‘ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์’ แต่เลือกที่จะทลายข้อจำกัด (ที่เราอาจสร้างขึ้นมาเอง) ก้าวข้ามผ่านสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์  ซึ่งสุดท้ายมักนำไปสู่การค้นพบศักยภาพซ่อนเร้นในตัวใหม่ๆ

คาแรกเตอร์ที่น่าสนใจของ Sisu

เราอาจมองว่า Sisu เป็นแนวคิดสำหรับคนที่ทะเยอทะยาน คนเอาการการงาน และมีเป้าหมายใหม่เรื่อยๆ ที่สูงขึ้นไปไม่สิ้นสุด แต่ไม่น่าเหมาะกับคนที่พึงพอใจในจุดที่ตัวเองเป็นอยู่แล้ว?

แต่ความจริงแล้วแนวคิด Sisu ไม่ได้ ‘แคร์ผลลัพธ์’ ขนาดนั้น เราอาจไม่ได้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้เสมอไปก็ได้ แต่ขอแค่ให้เราได้ ‘ลงมือทำ’ 

ถ้าเปรียบกับกิจกรรมท้าทายที่คนฟินแลนด์ทำกันบ่อยๆ ก็คือ การกระโดดลงน้ำเย็นยะเยือกในแม่น้ำสายต่างๆ บางคนฝึกฝนจนกระโดดลงไปทั้งตัวและแช่อยู่ได้เป็นเวลานาน แต่บางคนทำได้เต็มที่แค่หย่อนขาลงไปก็ถึงลิมิตแล้ว (กิจกรรมโดดลงน้ำเย็นขนาดนี้ต้องผ่านการฝึกฝนเพราะอันตรายต่อร่างกายไม่น้อย)

Sisu ไม่ได้ปฏิเสธความกลัว ไม่ได้ละทิ้งความกังวล แต่เป็นการเดินหน้าต่อ (โดยมีตรรกะหรือกลยุทธ์รองรับ) ทั้งๆ ที่ยังมีกลิ่นอายแห่งความกลัวหรือลังเลอยู่บ้าง

และในด้านการทำงาน Sisu ไม่ใช่ความพยายามเพื่อสร้าง Productivity ต้องทำยอดขายให้สูงสุด หรือโฟกัสที่เป้าหมายจนหลงลืมระหว่างทาง แต่ออกจะเป็นการ ‘แข่งกับใจตัวเอง’ มากกว่า เป็นความตื่นเต้นที่ได้ท้าทายสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย 

คือเราอาจจะมีชีวิตหน้าที่การงานที่ดีพอระดับนึงอยู่แล้ว (แถมเราก็พึงพอใจด้วย) แต่ตัดสินใจ ‘เลือก’ ที่จะพัฒนาไปต่อให้เก่งขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์กับใคร ไม่ใช่เพื่อหวังได้รับการโปรโมต ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่แค่เพื่อดึงศักยภาพ(ซ่อนเร้น)ในตัวให้ออกมามากที่สุด

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ Sisu ไม่ได้จำกัดใช้กันแค่เฉพาะคนบางกลุ่ม…คนในฐานะนี้ ในอาชีพนั้น หรือในเมืองนี้เท่านั้น แต่ดูเหมือนจะเป็นหลักคิดของผู้คนชาวฟินแลนด์ในระดับแมส! เป็นวัฒนธรรม เป็นบุคลิกอุปนิสัยของชาวฟินแลนด์ส่วนใหญ่ไปแล้ว

ที่มาที่ไปของแนวคิด Sisu

ปัจจุบันเราอาจมองฟินแลนด์ว่าเป็นประเทศที่ ‘พัฒนาแล้ว’ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ การศึกษาดีเยี่ยม 

แต่ในยุคสมัยก่อนหน้านั้น ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ยากจนมาก…

หนึ่งในความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่อยู่คู่ประเทศคือ ‘สภาพอากาศ’ ที่หนาวเหน็บเย็นยะเยือก มองด้วยเลนส์จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบเมืองไทย เราอาจคิดว่า ยังไง…หนาวก็ดีกว่าร้อน? 

อากาศหนาวเดินไปไหนเหงื่อไม่ออก สูดเข้าปอดแล้วเย็นชื่นใจ แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าเย็นหรือร้อน ถ้าสภาพภูมิอากาศสุดโต่งสุดขั้วเกินไปก็ยากต่อการใช้ชีวิตทั้งนั้น เพราะหนาวแบบฟินแลนด์คือหนาวเยือกแข็ง จัดว่าสุดขั้วไม่น้อย โดยมีอุณภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่แค่ 5 องศาเซลเซียส ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาว อาจติดลบหลักสิบองศาในบางพื้นที่ได้เลยทีเดียว

แล้วสภาพอากาศที่เย็นเยือกแข็งมาเกี่ยวอะไรกับ Sisu? 

เพราะนี่คือรากเหง้าของการต่อสู้กับธรรมชาติ เผชิญกับภูมิอากาศที่เย็นยะเยือก พออากาศเป็นแบบนี้ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด เกษตรกรรมก็ทำยากขึ้น ทุกคนต้องรวมกลุ่มกัน ช่วยเหลือกัน และผ่านพ้นไปให้ได้ด้วยกัน เพราะมันหนาวเกินจนกระทบต่อการใช้ชีวิต 

นี่ไม่ใช่สภาพอากาศที่ ‘ชิล’ ที่เราอยากจะเดินหรือขับรถออกจากบ้านไปไหนมาไหนก็ทำได้เลยโดยไม่ต้องวางแผน แต่คนฟินแลนด์ไม่ยอมจำนนต่ออากาศที่หนาวเหน็บ พวกเขาจะไม่เปิดฮีทเตอร์หมกตัวอยู่ในบ้าน แต่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งอันท้าทาย เช่น (ตัวอย่างในขีวิตประจำวัน) วิ่งจ๊อกกิ้งท่ามกลางหิมะ หรือกระโดดลงน้ำเย็นยะเยือกเพื่อฝึกร่างกายจิตใจ

อีกประวัติศาสตร์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยเมื่อคุยเรื่อง Sisu นั่นคือประวัติการถูกรุกรานจากสหภาพโซเวียตที่มีอาณาเขตดินแดนติดกันกับประเทศฟินแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

โดยในปี 1939 เครื่องบินรบของโซเวียตบินเข้าน่านฟ้าเมืองหลวงของฟินแลนด์อย่างเฮลซิงกิและปล่อยระเบิดกว่า 350 ลูกลงมาทำลายล้างเมือง ผู้คนล้มตาย บ้านเมืองพินาศ Sisu จึงกลายสภาพเป็น ‘ที่พึ่งทางจิตใจ’ เดียวที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ใช้ชีวิตต่อ

ในขณะนั้น ยังเจอความท้าทายพร้อมๆ กับทหารโซเวียตกว่า 450,000 นายที่กำลังเคลื่อนพลล้อมรอบชายแดนทั่วประเทศฟินแลนด์ ในขณะที่กำลังพลของฟินแลนด์มีน้อยกว่ามาก

  • โซเวียตมีรถถัง 6,000 คัน ฟินแลนด์มีรถถัง 32 คัน
  • โซเวียตมีเครื่องบิน 4,000 ลำ ฟินแลนด์มีเครื่องบิน 114 ลำ

ถ้าเป็นที่อื่น อาจยกธงขาวยอมแพ้ไปแล้วเพื่อลดความสูญเสีย แต่เพราะ Sisu ในหัวใจจึงทำให้ทหารฟินแลนด์เลือกที่จะสู้ปกป้องประเทศ และพวกเขาทำสำเร็จ! โซเวียตเห็นว่าสู้ต่อไปมีแต่เสียมากกว่าได้ ฟินแลนด์และสหภาพโซเวียดจึงได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก (The

Moscow Peace Treaty) ในปีต่อมา 

สงครามสิ้นสุดลง แต่ Sisu ได้ผลิบาน ก่อนจะหยั่งรากลึกในหัวใจคนฟินแลนด์นับแต่นั้นมา

ประยุกต์ใช้ Sisu ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

อันดับแรก บางทีเราอาจต้องใจเย็นๆ ก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจปักธงในใจ…เรื่องไหนที่เรารู้สึกว่า ‘ลำบาก’ บางทีอาจไม่ได้ลำบากขนาดนั้นเหมือนที่คิดในใจตอนแรก

เริ่มได้ง่ายๆ จากเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน เราอาจเดินขึ้นบันได 3 ชั้นแทนการขึ้นลิฟต์ หรือการเดินไปที่ไหนๆ (หรือแค่เดินขึ้นรถไฟฟ้า) แทนการขับรถในช่วงหน้าร้อนสงกรานต์ คนฟินแลนด์เองให้เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น พ่อแม่ให้ลูกวัยเด็กเดินไปโรงเรียนเองท่ามกลากองหิมะที่สูงท่วมท้นตลอดทาง หรือตัวเองไปว่ายน้ำในทะเลที่เย็นยะเยือกในฤดูหนาว

หรือในแง่การทำงาน เราอาจออกจาก Comfort zone ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ยาก ที่ไม่เคยชิน ที่ประหม่า แต่มันอาจปูทางเราไปสู่อะไรๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ในอนาคต มันอาจหมายถึงการเลือกที่จะกระโดดไปทำงานข้ามสายที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน เป็นความท้าทายในระยะสั้น แต่ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมในระยะยาวหรือเพียงแค่สนองความต้องการลึกๆ ในใจเราที่แค่อยากทำให้สำเร็จ

Sisu อาจทำให้เราเฟ้นหาการใช้ชีวิตที่ ‘เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ’ อย่างไม่รู้จบและไม่รู้เบื่อ 

บางคนอาจมีอคติว่าไม่เหนื่อยเหรอที่ต้องทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด? มันจะไม่กระทบความสุขของเราให้น้อยลงเหรอ? แต่ถ้าทำอย่างถูกวิธีในแบบที่เป็นตัวเรา การเอาตัวเองไปเจอกับความท้าทายอาจไม่ได้กระทบ ‘ความสุข’ เสมอไป 

อย่างที่เรารู้กันดีว่า ฟินแลนด์ติดอันดับ Top10 ของโลกมาตลอดในฐานะประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก แน่นอนว่ามันมาจากระบบสวัสดิการสังคม การเมืองการปกครอง และอีกหลายปัจจัยที่ทำงานควบคู่กัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Sisu อยู่เคียงข้างกับทุกกิจกรรมทุกเรื่องก็ว่าได้

เมื่อพูดถึง ‘ความสุข’ บางทีความสุขไม่ได้มาจากการเอาแต่คิดวิเคราะห์หาหนทางว่าเราจะสุขได้ยังไง แต่มาจากการเอาตัวเองดำดิ่งลงไปใช้ชีวิตจมปลักกับมันตรงๆ เลยใช่หรือไม่? ถ้าเป็นเช่นกัน Sisu มีแนวโน้มทำให้เรามีความสุขกับชีวิตมากขึ้นหรือเปล่า…เพราะมันนำพาเราไปเปิดโลกกว้าง ผู้คนใหม่ๆ ประสบการณ์สดใหม่ที่เราอาจมองข้ามมาตลอด?


อ้างอิง

https://jamesclear.com/sisu-mental-toughness

https://www.bbc.com/worklife/article/20180502-sisu-the-finnish-art-of-inner-strength

https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-quiet-joy-of-being/202303/sisu-the-finnish-secret-of-inner-strength-and-resilience

Tags:

ชีวิตการใช้ชีวิตฟินแลนด์ซิสุ

Author:

illustrator

ปริพนธ์ นำพบสันติ

ชอบขบคิดในหัวและหาคำอธิบายให้กับสิ่งรอบตัว

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Book
    ไร้ประโยชน์ ก็ใช่ว่าไร้ค่า: บ้านที่มีแมวขี้โกหก กับหมาในจินตนาการ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน: ชีวิตมีไว้เพื่อใช้ มิใช่แค่เพื่อค้นหาความหมาย

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • How to enjoy life
    นิกเซน (Niksen): ละทิ้งความคาดหวังและอยู่กับปัจจุบันขณะ ศิลปะของการไม่ทำอะไรของชาวดัตซ์

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy life
    อิจิโกะ อิจิเอะ: การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปรัชญาที่ชวนเราตกหลุมรักชีวิตในทุกเช้าวันใหม่

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Book
    คาบเรียนจริยปรัชญา: เมื่อคำถามชีวิตตอบในการ์ตูน

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป

‘นิสัยรักการอ่าน’ มรดกจากพ่อแม่ที่ช่วยให้เด็กเติบโตและมีชีวิตที่ดี
Character building
26 April 2023

‘นิสัยรักการอ่าน’ มรดกจากพ่อแม่ที่ช่วยให้เด็กเติบโตและมีชีวิตที่ดี

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เมื่อเราดิ่งลงไปในเนื้อหาของหนังสือ ก็จะทำให้เราหลีกห่างความกังวลและความเครียดได้ เข้าไปอยู่ในโลกสมมุติที่ผู้เขียนสร้างขึ้น การอ่านหนังสือจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็กๆ และจะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีเมื่อโตขึ้นด้วย
  • การอ่านหนังสือวรรณกรรมดีๆ ยังช่วยทำให้เรามีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น เพราะหนังสือเหล่านี้ช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดอ่านและอารมณ์ของคนอื่นได้ดีขึ้น
  • ทักษะการรับรู้และทำเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในชีวิตที่ต้องค่อยๆ บ่มเพาะให้มีมากขึ้นในชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และชีวิตสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อนมาก การอ่านจึงมีส่วนช่วยในเรื่องแบบนี้เป็นอย่างมาก

โดยทั่วไปแล้ว พ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือผู้ปกครอง ต่างก็อยากให้ลูกหลาน ลูกศิษย์ มีความสามารถที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว ดูแลตัวเองได้อย่างมั่นคงในอนาคต หลายคนอาจจะมองเรื่องการสะสมเงินและหาคอนเน็กชั่น เพื่อส่งลูกเข้า ‘โรงเรียนดีๆ’ เพื่อให้เกิดโอกาสดีๆ ต่อไปในอนาคต 

แต่ส่วนมากอาจไม่รู้หรือหลงลืมวิธีมอบ ‘มรดก’ ที่ยั่งยืนไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเป็นมรดกที่ฝังลงไปในตัวตน ดั่งเลือดเนื้อของตัวเด็กเอง นั่นก็คือ การอบรมบ่มนิสัยบางอย่างที่จำเป็นอย่างแยบคาย 

วิธีการแบบหนึ่งที่มีประโยชน์มากและผ่านการพิสูจน์จากงานวิจัยสารพัดรูปแบบก็คือ การปลูกฝัง ‘นิสัยรักการอ่าน’ 

มีรายงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Scholastic  [1] ที่ระบุว่า พ่อแม่ที่อ่านหนังสือแบบออกเสียงดังฟังชัดสำหรับเด็กๆ ตลอดช่วงวัยประถม มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ เหล่านี้กลายมาเป็นนักอ่านได้มากกว่าพ่อแม่ที่ไม่ทำ    

เด็กที่โชคดีเหล่านี้จะรู้สึกว่า การอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุกและอยากอ่านหนังสือ โดยจะติดเป็นนิสัยรักการอ่าน โดยมีมากถึงกว่า 40% ของเด็กอายุ 6–11 ปี ที่เลียนนิสัยอ่านออกเสียงดังๆ ตามพ่อแม่หรือญาติในตอนที่อยู่ที่บ้าน เทียบกับเด็กราว 13% ที่จะไม่ทำเช่นนั้น 

การที่พ่อแม่อ่านนิทานก่อนนอนให้ฟังจะกลายมาเป็นงานอดิเรกที่เด็กๆ ชอบทำเมื่อโตขึ้นโดยอัตโนมัติ  

การอ่านนิทานก่อนนอนยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งในทางอ้อมด้วย โดยเฉพาะหนังสือที่เป็นกระดาษและตัวเล่ม เพราะมีงานวิจัย [2] ที่พบว่า การอ่านหนังสือจากกระดาษช่วยให้หลับได้ง่ายกว่าและยาวนานกว่าด้วย 

ในการทดลองพบว่าคนที่ใช้อุปกรณ์ช่วยอ่านที่เรียกว่า e-reader หรือใช้แท็บเล็ตในการอ่าน ทำให้คนมากกว่าครึ่ง (54%) ได้เวลานอนน้อยลง เพราะต้องใช้เวลาอีก 20 นาที หลังจากหยุดใช้อุปกรณ์และหลับตาลง จึงจะนอนหลับได้สนิทจริงๆ 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีเวลานอนที่น้อยกว่าคนที่อ่านหนังสือแบบที่เป็นกระดาษก่อนนอน 

การอ่านยังเป็นการผ่อนคลายที่ดีมากอีกด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ [3] พบว่า การอ่านช่วยลดความเครียดได้มากถึง 68% โดยแทบไม่ขึ้นกับประเภทของหนังสือที่อ่านเลย เมื่อเราดิ่งลงไปในเนื้อหาของหนังสือ ก็จะทำให้เราหลีกห่างความกังวลและความเครียดจากเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ เข้าไปอยู่ในโลกสมมุติที่ผู้เขียนสร้างขึ้น  

การอ่านหนังสือจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเด็กๆ และจะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีเมื่อโตขึ้นด้วย

แต่การจะจูงใจให้เด็กๆ อ่านหนังสือ บ้านจำเป็นต้องมีหนังสือให้อ่านด้วย แล้วต้องมีหนังสือมากน้อยแค่ไหนกัน จึงจะเพียงพอหรือเหมาะสม?        

งานวิจัยที่ทำในผู้ใหญ่ 160,000 คนใน 31 ประเทศระหว่าง ค.ศ. 2011–2015 [4] ทำให้สรุปได้ว่า บ้านที่มีหนังสือมากพอ ทำให้เด็กระดับมัธยมศึกษาในบ้านเหล่านั้นที่มีนิสัยช่างอ่าน มีความรู้และทักษะเทียบเท่ากับหนุ่มสาวเติบโตมาในบ้านที่ไม่มีหนังสือแบบเดียวกัน หลังเรียนจบระดับปริญญาตรีทีเดียว

จำนวนหนังสือที่เหมาะสมอาจจะแตกต่างกันได้มากในแต่ละประเทศ ไม่ได้มีความตายตัว เช่น ค่าเฉลี่ยในประเทศตุรกีคือ 27 เล่ม ขณะที่ในสหราชอาณาจักรคือ 143 เล่ม และส่วนในประเทศเอสโทเนียอาจต้องมีมากถึง 218 เล่ม

แต่อาจกล่าวโดยรวมๆ ได้ว่า ควรจะมีหนังสือในช่วง 80–350 เล่ม ซึ่งในกรณีหลังก็พอจะเรียกว่าเป็นห้องสมุดเล็กๆ ประจำบ้านได้    

งานวิจัยในแฝดแท้ที่มีพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการจำนวน 1,890 คู่ [5] ทำให้รู้ว่า แฝดคนที่อยู่ในบ้านที่สนับสนุนทักษะด้านการอ่านตั้งแต่เด็ก จะแสดงผลให้เห็นอย่างรวดเร็วมากคือ เห็นได้ชัดเจน (เมื่อเทียบกับแฝดอีกคน) ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ 

โดยทำคะแนนทิ้งห่างทั้งในแบบทดสอบการอ่านและแบบทดสอบระดับสติปัญญาทั่วไป  

การมีหนังสือเป็นเล่มๆ นอกจากจูงใจให้เด็กๆ อยากอ่านแล้ว ยังมีประโยชน์สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การอ่านหนังสือแบบจับต้องได้ ใช้มือกรีดเปิดผ่านแต่ละหน้าได้ ทำให้จดจำได้ง่ายกว่าและดีกว่า อีกทั้งเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งกว่า หากเทียบกับการอ่านหนังสือเล่มเดียวกันผ่านอุปกรณ์ e-reader ทั้งหลาย [6] 

จึงไม่น่าแปลกใจว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่แม้จะสั่งหรือดาวน์โหลดหนังสือเก็บไว้ใน e-reader แล้ว แต่ก็ยังอ่านหนังสือเล่มที่ทำด้วยกระดาษต่อไปด้วยเช่นกัน และใช้กรณีแรกเป็นทางเลือกในกรณีที่อ่านจากหนังสือเล่มไม่สะดวก เช่น ฟัง ‘หนังสือเสียง’ เล่มเดียวกันนั้น ขณะขับรถหรือออกกำลังกาย 

มีการสำรวจในปี 2012 พบว่ามีคนอเมริกันราว 1 ใน 5 หันมาอ่านอีบุ๊กกัน แต่กระนั้นคนอเมริกันราว 88% ในจำนวนนี้ ก็ยังคงอ่านหนังสือเล่มต่อไปด้วยเช่นกัน [7] 

ถึงตรงนี้คงพอเห็นประโยชน์ของการมีหนังสือจำนวนมากในบ้าน และการอ่านหนังสือกับลูกๆ ในตอนที่เขายังอายุน้อย ว่านี่คือ ‘มรดก’ ที่สำคัญและมีประโยชน์มากที่ติดตัวพวกเด็กๆ ไปตลอดชั่วชีวิต

ประโยชน์สำคัญอีกข้อหนึ่งจะส่งผลในช่วงกลางหรือท้ายของชีวิต เพราะการอ่านช่วยทำให้สมองกระฉับกระเฉง แบบเดียวกับการไปออกกำลังกายที่โรงยิมนั่นแหละครับ การอ่านเพิ่มกำลังสมองและช่วยให้เรื่องความจำเสื่อมหรือสมองทำงานเชื่องช้าลง ล่าช้าออกไปได้

มีงานวิจัยที่สรุปว่าการอ่านหนังสืออย่างเป็นประจำ มีส่วนช่วยทำให้สมองเฉียบแหลมได้นานมากขึ้นและเสื่อมถอยช้าลง [8]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีงานวิจัยที่สรุปว่า กิจกรรมอย่างการอ่านหนังสือ การเล่นหมากรุก หรือการเล่นเกมปริศนาแบบต่างๆ ลดโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลงได้ 2.5 เท่า หากเทียบกับคนที่ไม่นิยมทำกิจกรรมใช้สมอง เรียกว่าการอ่านหนังสือได้ถึง 2 เด้งคือ สมองเสื่อมช้าลงและมีโอกาสเป็นโรคความจำเสื่อมน้อยกว่าอีกด้วย 

ประโยชน์ข้อสุดท้ายที่อยากเล่าให้ฟังก็คือ การอ่านหนังสือวรรณกรรมดีๆ ยังช่วยทำให้เรามีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น เพราะหนังสือเหล่านี้ช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดอ่านและอารมณ์ของคนอื่นได้ดีขึ้น [9] 

ดังนั้น จึงควรอ่านให้หลากหลายประเภทเข้าไว้ ทั้งในหมวดหนังสือความรู้หรือหนังสือฮาวทูต่างๆ ที่เป็นหนังสือ non-fiction และหนังสือที่เป็นเรื่องแต่งจำพวกนิยายต่างๆ 

ทักษะการรับรู้และทำเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในชีวิตที่ต้องค่อยๆ บ่มเพาะให้มีมากขึ้นในชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และชีวิตสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อนมาก การอ่านจึงมีส่วนช่วยในเรื่องแบบนี้เป็นอย่างมาก 

ความที่การอ่านมีสารพัดประโยชน์ดังที่เล่ามา จึงไม่น่าแปลกใจว่าบรรดาผู้บริหารของบริษัทใหญ่ระดับโลก ผู้นำ และผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกว่า game-changer จึงอ่านหนังสือกันเป็นบ้าเป็นหลัง โดยประเมินกันว่าอ่านกันอยู่ราว 3–5 เล่มต่อเดือนหรือสัปดาห์ละเล่มทีเดียว! [10]

ตัวอย่างคนดังที่เป็นหนอนหนังสือก็เช่น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ที่อ่านหนังสือเดือนละราว 2 เล่ม  

ขณะที่บิล เกตส์ ที่อ่านหนังสืออ่านน้อย 50 เล่มต่อปี เฉลี่ยสัปดาห์ละเล่ม ไม่อ่านเปล่าๆ เขายังเขียนสรุปและแนะนำให้คนอื่นลองอ่านหนังสือที่เขาประทับใจด้วย 

ส่วนวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เป็น 1 ในนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอเมริกาบอกว่า เขาอ่านอยู่ที่ราววันละ 500 หน้า! 

นิสัยรักการอ่านจึงเป็น ‘มรดก’ ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่พ่อแม่จะมอบให้ลูกได้ครับ

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.scholastic.com/content/dam/KFRR/PastReports/KFRR2015_5th.pdf

[2] Falbe J, Davison KK, Franckle RL, et al. Sleep duration, restfulness, and screens in the sleep environment. Pediatrics. 2015;135(2):e367-e375. doi:10.1542/peds.2014-2306

[3] https://www.telegraph.co.uk/news/health/news/5070874/Reading-can-help-reduce-stress.html

[4] https://www.theguardian.com/books/2018/oct/10/growing-up-in-a-house-full-of-books-is-major-boost-to-literacy-and-numeracy-study-finds

[5] https://www.sciencedaily.com/releases/2014/07/140724094209.htm

[6] https://www.wired.com/2014/05/reading-on-screen-versus-paper/

[7] https://www.pewresearch.org/internet/2012/04/04/the-rise-of-e-reading-5/

[8] http://www.neurology.org/content/81/4/314

[9] https://www.science.org/doi/abs/10.1126/science.1239918

[10] https://medium.com/accelerated-intelligence/the-way-you-read-books-says-a-lot-about-your-intelligence-find-out-why-c2127b00eb03

Tags:

หนังสือความเข้าอกเข้าใจ(empathy)ความสัมพันธ์การอ่านความจำใช้งานทักษะ

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    เพื่อนยาก: ความผูกพัน ความฝัน ความรับผิดชอบและการจากลาชั่วนิรันด์ในนาม ‘มิตรภาพ’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Cover
    Book
    The Wild Robot: ชีวิตที่ลิขิตเอง ไม่ต้องรอโปรแกรมคำสั่ง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • How to enjoy life
    อ่านอะไร อ่านเท่าไร อ่านอย่างไร: วิธีสะสมต้นทุนชีวิตด้วยหนังสือ

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    โลกโกลาหล (BANI World) Ep2 Anxious: ความวิตกกังวลที่หายขาดได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Everyone can be an Educator
    วิธีสมุดบันทึก: การเรียนรู้บนสมุดไร้เส้น ชวนเด็กคิด อ่าน เขียนอย่างอิสระกับครูใหญ่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ‘มกุฏ อรฤดี’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

‘เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำไม’ บทสนทนาว่าด้วย ควอนตัม ความเชื่อ และการศึกษา กับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ 
Everyone can be an Educator
24 April 2023

‘เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำไม’ บทสนทนาว่าด้วย ควอนตัม ความเชื่อ และการศึกษา กับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ 

เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • “เราไม่มีกระบวนการที่ให้พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ดีกับผู้คน ตั้งแต่ในระบบโรงเรียนแล้วก็นอกระบบโรงเรียนด้วย ในโรงเรียนยังสอนเรื่องที่ควรจะสอน เช่น ความปลอดภัย ทักษะชีวิต น้อยเกินไป ขณะที่สื่อก็เล่นแต่ข่าวที่ต้องสดใหม่ พอข่าวจางไปก็เลิกนำเสนอ ทั้งสองอย่างนี้มีส่วนทำให้คนไทยมีมายาคติในเรื่องทางวิทยาศาสตร์อยู่เยอะมาก”
  • “การศึกษาในระบบแทนที่จะเป็น Content-based ก็ไม่อาจละเลยกระบวนการซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน สื่อมวลชนก็สำคัญมาก… อยากให้ตระหนักเรื่องการควบคุมคุณภาพ ต้องมีกระบวนการทำให้คนไทยสามารถเสพสื่อและสร้างสื่อที่มีคุณภาพ เพราะความรู้ที่ถูกต้องเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างให้ดีขึ้นได้”

ไม่ว่าจะเพราะระบบการศึกษาที่ทำให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไม่อาจเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต หรือเพราะความคิดความเชื่อในสังคมไทยที่ทำให้ความรู้ต้องอยู่แต่บนหิ้ง ต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยยังคงมอง ‘วิทยาศาสตร์’ ไม่ต่างจาก ‘ยาขม’ ทั้งยากและน่าเบื่อ ทั้งที่วิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อเราและต่อโลกอย่างมากมาย 

The Potential ชวนคุยกับ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะเเละวัสดุเเห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้มุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้แก่สังคมมานานกว่า 20 ปี ผ่านการเขียนหนังสือและบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ สัมมนา สร้างกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง การันตีด้วยรางวัลด้าน Mahidol Science Communicator Award 2020 ประเภทรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 

ล่าสุด หนังสือ ‘ควอนตัม : จากแมวพิศวง…สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ ได้รับรางวัลดีเด่น หนังสือสารคดี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องเล่าแสนสนุกและครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง

หนังสือเล่มนี้มีที่มาอย่างไร

ผมทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์มา 20 กว่าปี เขียนหนังสือมากกว่า 30 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ มีเรื่องประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์อยู่บ้าง แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขียนหนังสือควอนตัม คือผมเห็นว่าควอนตัมเป็นศาสตร์พื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1900 ปัจจุบันนี้ปี ค.ศ. 2023 เรียกว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีอายุมากกว่า 120 ปีแล้ว ในหลายประเทศโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกมีหนังสือควอนตัมสำหรับคนทั่วไป หรือ Popular Science อย่างน้อยๆ กว่า 30 เล่ม 

แต่น่าแปลกใจว่าประเทศไทยกลับมีหนังสือควอนตัมที่เขียนโดยคนไทยในรูปแบบของตำราเรียนเท่านั้น ไม่มีหนังสือที่เขียนเพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจอ่านได้เลย ซึ่งคนทั่วไปในที่นี้ผมหมายถึงเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป เป็นระดับที่เขาเริ่มเรียนรู้ได้มากแล้ว ดังนั้นถ้าเราเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ควอนตัม ก็น่าจะช่วยให้เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ควอนตัมเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกจับตาอย่างมาก 

วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญ แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบวิทยาศาสตร์?

การพูดว่าคนไทยไม่สนใจวิทยาศาสตร์อาจเป็นการพูดแบบเหมารวม แต่จริงๆ ยังมีคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจจริงๆ สังเกตได้จากยังมีบางสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังๆ เริ่มมีหนังสือแปลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ยังขายได้ แสดงว่าอย่างน้อยยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจ ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กด้วย แต่เป็นผู้ใหญ่ที่สนใจเรื่องอย่างควอนตัม หรือว่าทฤษฎีต่างๆ ที่ล้ำๆ แต่ถ้าเราอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่แปลจากต่างประเทศ ก็อาจจะมีการอ้างถึงเรื่องควอนตัมอยู่เสมอ แต่ยังไม่มีใครเคยอธิบายให้เข้าใจชัดเจนอย่างเป็นระบบว่า แนวคิดของควอนตัมคืออะไร คำแต่ละคำมีความหมายอย่างไร มีแต่การกล่าวอ้างถึงที่ไม่ได้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนในตัวองค์ความรู้พื้นฐาน

ที่ผ่านมามีวิธีการเลือกเรื่องหรือประเด็นในการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไปอย่างไรให้น่าสนใจ  

เริ่มแรกเลย เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตอนนั้นผมใช้วิธีจับประเด็นที่เป็นข่าวในช่วงนั้นมาวิเคราะห์ ดูเหมือนว่าผู้อ่านจะตอบสนองค่อนข้างดี ให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่สดใหม่ อะไรที่เป็นข่าวดัง คนสนใจแน่นอน ผมใช้วิธีนี้มาสัก 4-5 ปี สนุกแต่เหนื่อย เพราะว่าต้องคอยไล่ตามข่าว แต่ก็ต้องเลือกข่าวที่เรามีความเชี่ยวชาญและเข้าใจมากพอที่อธิบายได้ด้วย แต่หากไม่เป็นข่าวดัง จะใช้วิธีเลือกสื่อสารในสิ่งที่ควรรู้ คือเรื่องพื้นฐานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มีการกล่าวถึงแต่ไม่เคยอธิบายได้ชัดเจนหรือเข้าใจพื้นฐานจริงๆ ซึ่งกรณีควอนตัมก็เข้ากับทั้ง 2 กรณี คือเป็นข่าว หรือมีการอ้างถึงในบทความ คลิป หรือสื่อต่างๆ 

บางคนอาจสังเกตว่าผมเขียนเรื่องฝนฟ้าอากาศบ่อยมาก กระทั่งไปสร้างชุมชมคนรักมวลเมฆ ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกเกือบ 4 แสนคนแล้ว ทำไมถึงมุ่งเป้าเรื่องนี้? ก็เพราะมีข่าวพยากรณ์อากาศทุกวัน แล้วก็บ่อยครั้งที่เหตุการณ์เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศเป็นประเด็นที่คนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแค่เมฆแปลกๆ แสงสีประหลาด ฟ้าผ่า ไปจนถึงน้ำท่วมและภัยแล้ง ผมก็จะเลือกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาขยายความ 

แน่นอนว่าประเด็นที่เลือกต้องอยู่ในความสามารถในการสื่อสารของเราด้วย ซึ่งการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจความรู้พื้นฐานจริงๆ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราต่อยอดความรู้ได้ อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ที่คนชอบอ้างกัน แต่ความหมายที่ถูกต้องคือจินตนาการควรต่อยอดมาจากความรู้จริง เพราะถ้าคุณไม่รู้อะไรเลยแล้วไปจินตนาการ ก็จะกลายเป็น ‘จินตนาเกิน’ คือเรื่องเพ้อฝัน 

จริงๆ แล้ว คนส่วนใหญ่อาจไม่ใช่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แต่เพราะไม่รู้ว่ามีประโยชน์หรือนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้อย่างไร

อาจจะอธิบายได้แบบนี้ วิทยาศาสตร์นั้นมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นเนื้อหากับกระบวนการ เวลาคนคิดถึงวิทยาศาสตร์มักคิดถึงเรื่องเนื้อหามากกว่า เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซึ่งเป็นการแบ่งเพื่อให้ง่ายในแง่ของการสอน แต่สำคัญไม่แพ้กันคือกระบวนการ อย่างการศึกษาด้านโบราณคดี มานุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือวิชาอะไรต่างๆ ซึ่งตัวเนื้อหาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่กระบวนการเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะว่าคุณต้องมีหลักฐานชั้นต้น ชั้นรอง แล้วคุณก็ต้องตีความภายใต้บริบทแวดล้อม แล้วเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการวิทยาศาสตร์ 

ดังนั้นการพูดถึงคำว่าวิทยาศาสตร์ต้องคุยให้ดีว่าเราคุยกันในด้านไหน แต่ว่าถ้าถามว่าแล้วเราพยายามทำอะไรอยู่ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ทุกคนเชื่อว่า นอกจากอยากสื่อสารเนื้อหาแล้ว อยากสื่อสารกระบวนการด้วย แต่กระบวนการเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลามากกว่า เพราะต้องค่อยๆ คิด ไตร่ตรอง สังเกต ทดลอง ตรวจสอบ แล้วก็สรุปรวบยอดความคิด ซึ่งถ้าทำได้จะมีประโยชน์กับทุกเรื่องเลย

หัวใจของการเรียนวิทยาศาสตร์คืออะไร

หัวใจของการเรียนวิทยาศาสตร์คือการจับหลักการมันให้ได้ แล้วใช้กระบวนการที่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์มีหลักการอยู่ ถ้าเอาแบบปรัชญาเลย ยกตัวอย่าง เรื่องโหราศาสตร์ หรือศาสนาที่มีพระเจ้า ถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์มั้ย คำตอบคือ ไม่อยู่ในบริบทของวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ต้องถูกพิสูจน์ว่าผิดได้ (falsifiability) นี่เป็นหลักของนักปรัชญาชื่อ คาร์ล พ็อบเพอร์ (Karl Popper) คือถ้าเกิดคุณอ้างอะไรขึ้นมา แล้วไม่มีวิธีการที่ตรวจสอบว่าผิดได้ ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทของวิทยาศาสตร์ ส่วนกระบวนการทดลองทั้งหลาย จริงๆ เป็นการพยายามจับผิด เพื่อดูว่าถ้าจับผิดได้แสดงว่าสิ่งที่เชื่อมานั้นไม่ถูกต้อง ก็จบไป แต่ถ้าจับผิดไม่ได้ แสดงว่าเข้าเค้า แต่ว่าวิทยาศาสตร์จะไม่สรุปว่าเป็นปรมัตถสัจจะที่ว่าจริงแท้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เพราะยังอยู่ภายใต้บริบทที่กำลังทดลองอยู่ ถ้าทำการทดลองครั้งที่ 2 ยังถูกอยู่ ความเชื่อมั่นก็สูงขึ้น ทดลองครั้งที่ 3 ก็ยังถูกอยู่ ความเชื่อมั่นก็ยิ่งสูงขึ้น แต่ถ้าทำการทดลองครั้งที่ 4 แล้วปรากฏว่าผิด ความเชื่อมั่นจะลดลงแล้ว และเกิดข้อสงสัยว่าที่เชื่อมาไม่ครบหรือเปล่า สิ่งนี้คือกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งแล้วก็คือกระบวนการจับผิดความเชื่อว่าสิ่งที่เราตั้งเอาไว้จริงหรือเปล่า ถ้าเกิดจับผิดได้ก็แสดงว่าทฤษฎีหรือความเชื่อที่เคยมีอยู่ยังไม่ครบ หรือยังไม่ถูกต้อง ถ้าเกิดจับผิดไม่ได้เราก็พูดว่าน่าจะใช่นะ แต่จะไม่มีการฟันธงว่าใช่ 100%  นั่นคือวิทยาศาสตร์ 

แต่ท้ายที่สุดแล้ววิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจเปลี่ยนความเชื่อคนจำนวนหนึ่งได้ โดยเฉพาะในสังคมไทย?

เรื่องความเชื่อต้องพูดว่าเป็นเรื่องของมนุษย์ มนุษย์มีมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของตรรกะอยู่ด้วย เช่น ความพึงพอใจ ผลประโยชน์ และมีความซับซ้อนอยู่มาก เรื่องต่างๆ บางทีมาอย่างซับซ้อนแยบยลจนไม่อาจแยกเหตุและผลออกจากกันได้อย่างชัดเจน คือแม้ว่าจะรู้ทั้งรู้แต่ก็ยังทำอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย เรารู้ว่ารับกินอาหารมันๆ ไม่ดี แต่ก็ยังชอบกิน หรือรู้ว่ากินน้ำตาลมากไม่ดีนะ แต่เราก็ยังชอบรสหวาน แม้ว่าจะมีความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์บอกเราอยู่ แต่ถ้าเราใช้ตรรกะมากขึ้นอีกหน่อย เราก็อาจจะพยายามลด กินได้แต่กินให้น้อยๆ

คล้ายๆ กับที่เรารู้เรื่องดาราศาสตร์ แต่ก็ยังเชื่อเรื่องโหราศาสตร์กันอยู่?

เรื่องโหราศาสตร์เป็นอะไรที่อยู่คู่กับมนุษย์ไปอีกยาวนานแน่นอน เพราะทุกคนอยากรู้อนาคต และน่าจะมีความคาดหวังว่าอนาคตของเราจะดีขึ้น ไม่ว่าจะส่วนตัวหรือส่วนรวม เช่น ฉันอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีฐานะดีขึ้น ในแง่สังคมเราก็อยากให้สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีสงคราม แต่ว่าอนาคตของหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ทำนายได้ยาก แม้ว่าบางเรื่องจะพอบอกทิศทางได้ เช่น ถ้าน้ำมันดีเซลราคาเพิ่มขึ้น สินค้าหลายอย่างก็มีแนวโน้มจะแพงขึ้นตามเพราะต้นทุนในการขนส่งสูงขึ้น แต่บางอย่างก็ทำนายได้ยาก เช่น ชีวิตคนเรา หรือเหตุการณ์บ้านเมือง เพราะฉะนั้นโหราศาสตร์จะเข้ามาตรงนี้ เป็นการทำนายอนาคต เพราะว่ามนุษย์อยากรู้อนาคต เขาก็จะเล่นกับจิตวิทยามนุษย์ ดังนั้นโหราศาสตร์ยังอยู่กับเราแน่นอน 

มีอีกอย่างหนึ่งที่วิทยาศาสตร์แท้ๆ แตกต่างจากการทำนายทายทักแบบอื่น คือความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของนักวิชาการ ถ้านักวิทยาศาสตร์พูดอะไรออกไป แล้วเกิดไม่จริงตามที่เขาพูด เขาก็จะเสียเครดิตมากทีเดียว การพูดเรื่องจริงให้สนุกทำได้เหมือนกัน แต่ว่าไม่ง่าย เพราะว่าคุณต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด หรือไม่สื่อสารให้เข้าใจผิดเพี้ยน ในขณะที่เรื่องอื่นๆ เช่น การทำนายของหมอดู เขาก็ทายได้โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ต่อให้เขาทายผิด คุณก็คงจะไม่ไปไล่ตามเช็คบิลเขา 

ท่ามกลางสังคมไทยที่เป็น ‘สังคมอุดมความเชื่อ’ อะไรคือความหนักใจในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ 

มีหลายแง่มุม แต่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าส่งผลกระทบมาก คือ หากมีนักวิชาการบางคนที่หิวแสงจนกระทั่งให้ข้อมูลโดยที่ตัวเองไม่รู้จริงไปบ่อยครั้ง นี่คือสิ่งที่หนักใจเรื่องหนึ่ง เมื่อคนที่ดูน่าเชื่อถือมาพูด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์มาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วผิด แม้บางเรื่องคนเชื่อผิดไปแล้วอาจจะไม่เดือดร้อนก็ตาม แต่อาจมีบางกรณีที่สร้างความเสียหายได้ อย่างน้อยในทางวิชาการเป็นการทำให้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เสียหาย 

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือมายาคติ เช่น ความเชื่อที่ว่า ‘โทรศัพท์มือถือล่อฟ้าผ่า’ เป็นมายาคติที่ใช้ภาษาวิทยาศาสตร์พูดด้วย เพราะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งผมก็พยายามให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้มากว่า 10 ปี พยายามสื่อสารในทุกช่องทางที่ทำได้ เพื่อให้คนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ต้นเหตุที่นำมาสู่ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากตำราเรียนและกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ยังไม่ดีพอ เรื่องที่สองคือองค์กรที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่น่าจะทำ รวมถึงสื่อก็ยังไม่ให้พื้นที่ในการสื่อสารหรืออธิบายเรื่องต่างๆ เหล่านี้ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร

เราไม่มีกระบวนการที่ให้พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ดีกับผู้คน ตั้งแต่ในระบบโรงเรียนแล้วก็นอกระบบโรงเรียนด้วย ในโรงเรียนยังสอนเรื่องที่ควรจะสอน เช่น ความปลอดภัย ทักษะชีวิต น้อยเกินไป ขณะที่สื่อก็เล่นแต่ข่าวที่ต้องสดใหม่ พอข่าวจางไปก็เลิกนำเสนอ 

ทั้งสองอย่างนี้มีส่วนทำให้คนไทยมีมายาคติในเรื่องทางวิทยาศาสตร์อยู่เยอะมาก 

มองว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องใดที่ควรจะใส่ให้เด็กๆ หรือเยาวชนได้เรียนรู้?

มองได้หลายมิติเลย มิติที่เป็นรูปธรรม เช่น การเรียนที่ตั้งต้นจากตัวเรา ร่างกายและจิตใจรักษาให้ดี กินอาหารอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ และบางทีต้องสอนให้ลึกกว่านั้นด้วย เช่น นอกจากกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว ยังต้องดูแลจุลินทรีย์ในร่างกายเราให้ถูกต้องด้วย เมื่อร่างกายดีแล้วก็ต้องมาดูแลจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญ อย่างคนในปัจจุบันคนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น เมื่อกาย-ใจดีแล้วค่อยขยายผลไปปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เรื่องจิตวิทยาต่างๆ แล้วก็สิ่งแวดล้อม จากนั้นค่อยเอาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เข้าไปเติมเต็มในจุดที่พอเหมาะ เช่น สารอาหารเป็นเรื่องเคมี กระบวนการย่อยในร่างกายก็เป็นทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา วิชาเหล่านี้เป็นสาขาที่มีเสน่ห์โดยตัวมันก็จริง แต่ถ้าเราเอาสุขภาพกาย-ใจเป็นตัวตั้ง ศาสตร์เหล่านี้จะเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่มีพลัง 

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเรียนรู้งานช่าง แล้วอยู่ๆ เราก็บอกว่ามาเรียนเรื่องค้อน เรื่องเลื่อย กันเถอะ ก็จะดูแปลก  แทนที่จะบอกว่าเรามาเรียนเรื่องสร้างสิ่งของกัน สร้างสิ่งของต้องทำยังไงก่อน คุณต้องไปเลื่อยไม้มาก่อน ต้องฉลุ ทาสี เป็นต้น ใช้ค้อนใช้เลื่อยเป็นเครื่องมือ เปรียบกับการเรียนวิทยาศาสตร์ก็เหมือนเราไปเรียนเครื่องมือ แล้วเรียนแบบละเอียดด้วย ดังนั้น ผมคิดว่าหากเราใช้เป้าหมายเป็นตัวตั้ง เช่น สุขภาพกาย-ใจของคน แล้วจากนั้นก็ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นรูปธรรม แต่ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการสังเกตธรรมชาติอันงดงาม และการได้เล่นกับการทดลองสนุกๆ อย่างแน่นอน ผมคิดว่าต้องใช้วิธีการต่างๆ ผสมผสานกันให้เหมาะกับวัยและบริบทในเรื่องหนึ่งๆ

ดูเหมือนว่าถ้าเราจะลดอคติกับวิทยาศาสตร์ ต้องเชื่อมโยงหรือบอกได้ว่าวิทยาศาสตร์มีประโยชน์กับชีวิตประจำวันอย่างไร เพราะปัจจุบันเด็กอาจมองว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม? 

ต้องบอกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่จริงๆ มนุษย์เราบอกทางอ้อมมีข้อดีอยู่ บอกตรงๆ เราฟังเข้าหู แต่บอกอ้อมๆ อาจจะช่วยให้หลายคนนึกขึ้นเองได้ คือเมื่อผ่านประสบการณ์ ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้วกลับไปชี้ให้เขาเห็นว่าถ้าไม่มีสิ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้าเปรียบเทียบกับงานช่าง ถ้าไม่มีสิ่ว ไม่มีค้อนจะเกิดอะไรขึ้น ก็เหมือนกันถ้าคุณไม่รู้คณิตศาสตร์จะเกิดอะไรขึ้น คุณจะคิดคำนวณหรือทำบางเรื่องไม่ได้  

อยากให้ลองอธิบายควอนตัมในแบบที่คนทั่วไปเข้าถึงได้และสนใจ

ทฤษฎีควอนตัมเป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของสิ่งเล็กๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ สิ่งเล็กๆ ที่ว่านี้ เช่น อะตอม โมเลกุล หรืออนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ทฤษฎีควอนตัมมี 3 มิติใหญ่ มิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ มิติที่เป็นเทคโนโลยี และมิติที่เป็นปรัชญา จุดนี้เป็นเสน่ห์ของควอนตัม ยกตัวอย่างมิติที่เป็นเทคโนโลยีก่อนเพราะค่อนข้างใกล้ตัว ปัจจุบันคนเราชอบเทคโนโลยี คุณรู้มั้ยว่าของไฮเทคทั้งหลายที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ LED ทรานซิสเตอร์ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือต่างๆ ทำงานด้วยกลไกที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ธรรมดาไม่ได้ ต้องลงลึกถึงระดับควอนตัม ถ้าวันหนึ่งคุณเป็นวิศวกร คุณต้องการเทคโนโลยีบางอย่างก็ต้องเรียนศาสตร์นี้ 

สำหรับควอนตัมในมิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาจจะน่าสนใจว่าการถือกำเนิดของทฤษฎีควอนตัมช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงความเชื่อบางอย่างได้อย่างมีเหตุผล บางความเชื่อที่เคยเชื่อแบบ 100.00% ควอนตัมก็พลิกความเชื่อได้ ยกตัวอย่างเรื่องแสง ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่มหัศจรรย์มาก คือนักคิดถกเถียงกันมานานราว 2 พันปีแล้วว่าแสงเป็นอนุภาคหรือเป็นคลื่นกันแน่ ถ้าเป็นอนุภาคมันก็จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ที่เคลื่อนที่มาเป็นสายธาร หรือถ้ามันเป็นคลื่น มันก็อาจมีการกระเพื่อมคล้ายกับธงโบกสะบัดหรือผิวน้ำที่กระเพื่อมขึ้นลง อย่างนิวตันเชื่อว่าแสงน่าจะเป็นอนุภาค เพราะเวลาเราฉายแสงไปบนกระจกจะสะท้อนเหมือนเราโยนลูกปิงปองลงบนกระจก ลูกปิงปองก็จะเด้งขึ้นมา นี่ไงแสงเป็นอนุภาค แต่ว่าภายหลังโทมัส ยังทำการทดลองพบว่าแสงมีพฤติกรรมเลี้ยวเบนได้ก็แสดงว่าแสงต้องเป็นคลื่นแน่ๆ 100% คำว่า การเลี้ยวเบน นี่ลองนึกง่ายๆ ว่า ถ้าเราอยู่ในห้องที่เปิดประตูอยู่ แล้วมีคนยืนอยู่ข้างนอกห้องแต่เรามองเขาไม่เห็น แต่พอเขาพูด เราจะได้ยินเสียงเขาได้ เพราะว่าเสียงเลี้ยวเบนเข้ามาได้ 

แต่ต่อมามีการค้นพบว่าแสงทำตัวเป็นอนุภาคได้ เช่น ในปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ก็เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เคยเชื่อกันมา 100% สามารถพลิกได้ พูดแบบง่ายๆ ก็คือ แสงตีสองหน้าได้ คือเป็นคลื่นในบางสภาวะ หรือเป็นอนุภาคในบางสภาวะ 

ดังนั้น ทฤษฎีควอนตัมสอนเราว่าแม้แต่หลักฐานที่คุณเชื่อกันมาอย่างมั่นใจ 100% อาจนานกว่าศตวรรษก็ได้ คุณก็อย่าได้มั่นใจนัก อาจจะต้องเผื่อใจไว้บ้าง เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่มาหักล้างความเชื่อนั้นได้ 

แล้วผมคิดว่าเรื่องนี้ใช้ได้กับหลายเรื่องในชีวิต นี่ขนาดวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการทดลองอย่างชัดเจน ดังนั้นนับประสาอะไรกับเรื่องความเชื่อของสังคมมนุษย์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามค่านิยมหรืออำนาจต่างๆ  ส่วนควอนตัมในมิติปรัชญา ก็มีแง่มุมให้ถกเถียงกันในการตีความเกี่ยวกับ ‘ความจริง’ เรื่องปรัชญาในทฤษฎีควอนตัมนี้เถียงกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววจะจบเลย

เด็กจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากควอนตัมที่เชื่อมโยงมาถึงความเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต 

ถ้าถามถึงในชีวิตประจำวัน อาจจะตอบไม่ได้ตรงไปตรงมานัก เพราะว่าทฤษฎีควอนตัมพูดถึงของเล็กๆ เช่น กลไกการทำงานของอนุภาคต่างๆ ในอะตอม ในโมเลกุล หรือในสสาร แต่ว่าทฤษฎีควอนตัมช่วยให้ความเข้าใจในธรรมชาติลึกซึ้งขึ้น ส่วนใครก็ตามที่มีจริตชอบเทคโนโลยีก็อาจจะสนใจ วันนี้อาจยังเด็กอยู่ แต่วันหนึ่งเขาอาจจะเรียนหรือทำงานด้านนี้ ไปสร้างอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ เช่น สร้างเซนเซอร์ที่มีความไวสูงมากกว่าเดิม หรือสร้างนาฬิกาไฮเทคที่วัดเวลาที่แม่นยำกว่าเดิม ถ้าเราวัดหรือควบคุมสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำมากขึ้น อาจมีประโยชน์ในบางกรณี เช่น การช่วยชีวิตคน เป็นต้น ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร ก็ยิ่งมีโอกาสสูงขึ้นที่จะช่วยเขาได้ทัน

ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มองว่าคนรุ่นใหม่มีมิติความเข้าใจวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง?

มองว่าขึ้นอยู่กับสื่อที่เขาเสพ ถ้าเป็นคนที่ใช้สื่อได้อย่างเหมาะสม และเลือกสื่อได้ถูก ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ ก็จะสามารถรับสารได้อย่างถูกต้อง ถ้าใครสักคนได้อ่านหนังสือดีๆ อ่านเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ หรือฟัง Podcast ที่มีสาระ ความเข้าใจคนๆ นั้นก็ย่อมดีขึ้น ดังนั้นจึงต้องระวังการเสพสื่อ ถ้าสื่อไม่มีคุณภาพ มีข่าวปลอม หรือมีข้อมูลผิดเพี้ยนเยอะ ก็จะทำให้การเรียนรู้ผิดพลาด

เรื่องนี้คนที่ใช้เทคโนโลยีไอทีต่างๆ จำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะว่าเรื่องนี้เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ คนนี้พูดเรื่องนี้เชื่อได้ แต่ถ้าพูดเรื่องอื่นอาจต้องระวัง เป็นต้น

ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้คือการใช้วิจารณญาณแยกแยะ?

การแยกแยะใช้ได้กับทุกเรื่อง และวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน เพราะแม้แต่ตอนนี้สื่อวิทยาศาสตร์เองก็มีสื่อที่คุณภาพดีมากๆ เลย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พยายามทำกันอยู่ กับแบบที่ทำกันเองก็มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ถ้าเปรียบเทียบกับการทำหนังสือ การทำสื่อแบบออนไลน์มีข้อดีคือเร็ว เปลี่ยนคอนเทนต์ เพิ่มคอนเทนต์ได้ง่าย  แต่ออนไลน์มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากเลยคือ เนื้อหาจำนวนมากไม่ได้ผ่านระบบบรรณาธิการที่เข้มข้น ซึ่งบรรณาธิการมีหน้าที่ขัดเกลาบทความให้ดีขึ้น พอไม่มีบรรณาธิการก็ขึ้นอยู่กับคนที่ทำคอนเทนต์แล้ว ซึ่งจะมีสักกี่คนที่มีคุณภาพพอที่จะสร้างคอนเทนต์ดีๆ ได้ ในการทำหนังสือที่มีคุณภาพ ขนาดคนทำคอนเทนต์ดีๆ พอผ่านบรรณาธิการยังถูกปรับแก้ได้มากมาย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าในเมื่อโลกขณะนี้ไปในทิศทางออนไลน์เยอะขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับสารกับผู้เสพสื่อต่างๆ ว่าคุณจะมีวิจารณญาณในการเลือกรับสารอย่างไร 

นอกจากแยกแยะได้แล้ว ต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์? 

ต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แล้วก็ต้องมากับพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ด้วย ถ้ามีทักษะอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้พื้นฐาน คุณก็ไม่มีอะไรจะวิเคราะห์ นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมผมถึงเขียนหนังสือควอนตัมเล่มนี้ ก็เพราะว่าคุณต้องมีความรู้พื้นฐานก่อนที่จะไปคิดวิเคราะห์ต่อได้ และในทางกลับกันถ้าคุณมีความรู้พื้นฐาน แต่ไม่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ คุณก็จะจับต้นชนปลายไม่ถูก ฉะนั้นต้องมีทั้งสองอย่างประกอบกัน ต้องไปคู่กันทั้งเนื้อหาและกระบวนการ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย

เราจะยกระดับความรู้หรือกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชนในบ้านเราได้อย่างไรบ้าง 

ขอมองทั้งสังคมนะครับ เรื่องนี้มองได้หลายมิติ ถ้ามองจากฝั่งการศึกษา การศึกษาในระบบแทนที่จะเป็น Content-based ก็ไม่อาจละเลยกระบวนการซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน สื่อมวลชนก็สำคัญมากเช่นกัน แน่นอนบางอย่างคุณผลิตคอนเทนต์เองได้ เพราะว่าคุณมีความเชี่ยวชาญ มีคลังข้อมูล คุณก็ต้องคัดคอนเทนต์ออกมาให้ดีมีคุณภาพ แต่ถ้ายังไม่เชี่ยวชาญก็ต้องสร้างขึ้นมา แล้วก็ต้องเลือกคนผลิตคอนเทนต์ให้ดีด้วย เพราะสื่อเหล่านี้จะคงอยู่ไปอีกนาน ฉะนั้นสิ่งที่คุณเขียน พูด หรือทำคลิปต่างๆ มันอยู่ไปอีกนาน 

ผมมักเตือนตัวเองว่าหนังสือเล่มหนึ่งมีอายุยาวนานกว่าคนเขียน นานกว่าสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ และอาจจะยาวนานกว่าอารยธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก 

เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ผลิตสื่อขึ้นมา ควรทำให้ดีที่สุด อยากให้ตระหนักเรื่องการควบคุมคุณภาพ ต้องมีกระบวนการทำให้คนไทยสามารถเสพสื่อและสร้างสื่อที่มีคุณภาพ เพราะความรู้ที่ถูกต้องเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างให้ดีขึ้นได้  

ในบทบาทของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีข้อเสนอในการปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง 

ทุกวันนี้การส่งเสริมคนเก่งๆ ที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้วและก็ใช้ทรัพยากรมาก แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือเราจะยกระดับคนส่วนใหญ่ที่อาจจะอยู่ในระดับปริ่มๆ เกณฑ์ ซึ่งมีจำนวนมากเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร ต้องช่วยกันคิดตรงนี้ คิดกระบวนการทั้งในระบบและนอกระบบ อย่างข้อสอบ 100 คะแนน คะแนนเฉลี่ยคือ 30 นี่ฟังแล้วคิดว่าน่าจะทำใด้ดีกว่านี้ เราจะยกระดับคนส่วนใหญ่ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นได้อย่างไร ทำให้พวกเขาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรต้องทำครับ

Tags:

หนังสือวิทยาศาสตร์การศึกษาความเชื่อดร.บัญชา ธนบุญสมบัติContent-basedควอนตัม: จากแมวพิศวง สู่ควอนตัมคอมพิวเตอร์

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Book
    เสี้ยวส่วนความทรงจำของ Paulo Freire  ใน Pedagogy of Hope 

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    The Catcher in the Rye : ไม่ต้องมีใครโอบรับใคร ถ้าไม่มีผู้ใดร่วงหล่นจากท้องทุ่ง

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

  • Creative learning
    วิทยาศาสตร์ในนาข้าว ไขปริศนาภูมิปัญญาสู่การเรียนรู้ข้างกองฟาง กับ ลุงจี๊ด ‘นาบุญข้าวหอม’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Everyone can be an Educator
    วิธีสมุดบันทึก: การเรียนรู้บนสมุดไร้เส้น ชวนเด็กคิด อ่าน เขียนอย่างอิสระกับครูใหญ่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ‘มกุฏ อรฤดี’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

 The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ
21 April 2023

 The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • หนังสือ The Road หรือ ถนนสายอำมหิต ผลงานของ Cormac Mccarthy ที่อ่านจบแล้วอาจจะตั้งคำถามเดียวกับตัวละครว่า “พวกเรายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า”
  • หนังสือเล่าเรื่องราวชะตากรรมอันแสนหดหู่ของสองพ่อลูก และต้องกระเสือกกระสนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ในโลกที่กำลังจะถึงกาลอวสาน
  • เด็กน้อยถือกำเนิดขึ้นหลังจากวันโลกาวินาศ เขาไม่รู้จัก ‘อารยธรรม’ ด้วยซ้ำ แต่แม้ ‘ความดี’ จะเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และมองหาตัวอย่างแทบไม่เห็น แต่เด็กน้อยก็ยังเชื่อมั่นในความดีที่พ่อพร่ำสอน และให้ความดี เป็นแสงในใจ ในโลกที่มืดมนและโหดร้าย


“พวกเรายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า” เด็กชายถาม

“แน่นอน พวกเรายังเป็นคนดี”

“และจะเป็นตลอดไป”

“ใช่ จะเป็นตลอดไป”

บทสนทนาสั้นๆ ของสองพ่อลูก อาจเป็นการสปอยล์ทางอ้อม ถึงเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีชื่อว่า The Road ผลงานของ Cormac Mccarthy หรือ ถนนสายอำมหิต ในฉบับแปลไทยโดย นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็ก ความหนาเพียงไม่ถึง 260 หน้า แต่หลังจากที่อ่านจบแล้ว ผมเชื่อว่า คำถามเดียวกับที่ลูกชายถามพ่อว่า “พวกเรายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า” จะค้างคาอยู่ในใจคุณไปอีกนานเท่านาน

(หมายเหตุ – บทความชิ้นนี้ มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญของหนังสือ พูดง่ายๆ ว่า สปอยล์นั่นแหละครับ)

เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งสักแห่งในโลกหลังการล่มสลายของอารยธรรม (ซึ่งไม่ได้มีการให้รายละเอียดว่าเกิดจากอะไร แต่มีหลายอย่างที่ชวนให้ตีความได้ว่า น่าจะเกิดจากสงครามนิวเคลียร์) โลกที่ผู้คนล้มตาย สรรพสัตว์และพันธุ์พืชล้มตาย บ้านเมืองล่มสลาย สีสันหายสาบสูญ และที่สำคัญ ‘ความดีงาม’ ก็ไม่หลงเหลือในโลกใบนี้

ในโลกที่สิ่งมีชีวิตหายากยิ่งกว่ายาก หากคุณอยากจะมีชีวิตรอด ก็มีเพียงแค่เก็บเมล็ดพืชแห้งค้างปี ขุดคุ้ยหาอาหารกระป๋องที่เล็ดรอดสายตาคนอื่น (แม้ว่าจะอยู่ในสภาพบุบบิบสนิมเขรอะ ไม่ต้องพูดถึงว่ามันผ่านพ้นวันหมดอายุไปกี่ปีแล้ว) หรือไม่ก็เข่นฆ่า-จับกินสิ่งมีชีวิตทุกตัวที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นหมาสักตัว หรือแมวสักตัว

หรือแม้กระทั่งเด็กสักคน

การดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ในโลกที่กำลังจะถึงกาลอวสาน จะมีใครสนใจอะไรกับสิ่งที่เรียกว่าความดีอีกหรือ

เด็กน้อยนิรนามในเรื่อง ถือกำเนิดขึ้นหลังจากวันโลกาวินาศ เขาจึงไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘อารยธรรม’ เขาแทบไม่เคยเห็นเด็กคนอื่นด้วยซ้ำ และแน่นอน เขาย่อมไม่เคยเห็นโลกในสภาพที่ยังงดงาม โลกที่ยังมีสีเขียวครึ้มของต้นไม้ โลกที่ยังมีนกขับขานบทเพลง โลกที่ยังมีผีเสื้อหลากสีโบยบินดอมดมดอกไม้

แต่เด็กน้อยก็รู้จักสิ่งเหล่านั้น เพราะพ่อของเขาเล่าให้เขาฟังอยู่เสมอ และที่สำคัญ พ่อของเขายังสอนให้เขารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘ความดี’

สองพ่อลูกไร้นามในเรื่อง คือ ผู้อยู่รอดที่หลงเหลือเพียงน้อยนิด ทั้งคู่เดินเท้าไปตามถนนมุ่งลงใต้ โดยที่เป้าหมายที่เมืองริมฝั่งทะเล เพราะเชื่อว่า ที่นั่นจะอบอุ่นกว่า ที่นั่นน่าจะมีอาหารมากกว่า และที่นั่นอาจจะมีผู้อยู่รอดมากกว่า

ทั้งหมดนั้น อาจเป็นแค่ความเชื่อ อาจเป็นแค่ความหวัง แต่มันก็เป็นพลังที่พาให้ทั้งคู่ยังก้าวเท้าย่ำเดินต่อไปได้ พร้อมกับลมหายใจที่รวยรินริบหรี่ลงทุกวัน

“เราจะไม่เป็นไรใช่ไหมพ่อ”

“ใช่ เราจะไม่เป็นไร”

“จะไม่มีเรื่องร้ายๆเกิดกับเราใช่ไหม”

“ไม่มีหรอก”

“เพราะเรามีแสงในใจ”

“ใช่ เพราะเรามีแสงในใจ”

แสงในใจที่พ่อตอกย้ำพร่ำบอกลูกอยู่บ่อยๆ คือ ‘ความดี’ ซึ่งแทบจะกลายเป็นเรื่องเล่าขานที่ไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะในโลกที่ทุกผู้คนที่พบเจอ พร้อมจะเข่นฆ่ากันเพื่อความอยู่รอด พร้อมจะเข่นฆ่ากันเพื่อกินอีกฝ่ายเป็นอาหาร

แม้ว่าความดีจะเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และมองหาตัวอย่างแทบไม่เห็น แต่เด็กน้อยก็ยังเชื่อมั่นในความดีที่พ่อพร่ำสอน และให้ความดี (หรือความเชื่อในความดี) เป็นแสงในใจ ที่ฉานฉายส่องนำทางในโลกที่มืดมนและโหดร้าย

“เราจะไม่กินใครใช่ไหม”

“แน่นอนอยู่แล้ว”

“ต่อให้หิวโซแค่ไหน”

“เราจะไม่กินคน… หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่กิน”

“เพราะเราเป็นคนดี”

“ใช่”

“และเรามีแสงในใจ”

“เรามีแสงในใจ ใช่”

งานเขียนของคอร์แมค แมคคาร์ธี ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย สั้นกระชับ หากงดงามราวบทกวีไฮกุ ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ไปด้วย เหมือนเราเดินทางไปสองพ่อลูกไร้นาม ท่องไปบนถนนที่รกร้างไร้ผู้คน ไร้สิ่งมีชีวิต มีแค่เพียงความหนาวเหน็บ ที่พยายามจะพรากลมหายใจสุดท้ายไปจากเรา

หลายครั้งหลายตอน ที่หนังสือเล่มนี้พาเราพบเจอแต่ภาพชะตากรรมอันแสนหดหู่ของสองพ่อลูก จนชวนให้รู้สึกอึดอัด แต่พอถึงจุดๆ นั้น เรื่องราวในหนังสือจะพลิกผันคลี่คลาย พร้อมกับบทสนทนาที่ตอกย้ำให้เราระลึกขึ้นได้ว่า เรา-ซึ่งหมายถึงทั้งสองพ่อลูกและคนอ่านอย่างผม ยังไม่สิ้นหวังหรอก เพราะเรามีแสงในใจนี่นา

ในช่วงต้นเรื่อง หนังสือได้เท้าความถึงแม่เด็ก ซึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังจากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความหวังที่ริบหรี่ลงทุกวัน จนเธอมองว่า การจบชีวิตตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากเทียบกับทางเลือกอื่น ที่มีแค่อดตาย หนาวตาย หรือถูกฆ่าตายเป็นอาหารของคนอื่น

ถึงตอนนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า หากเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราจะเลือกทางใด ระหว่างการจบชีวิตตัวเองเสียตั้งแต่เนิ่นๆ หรือพยายามกระเสือกกระสนให้มีชีวิตรอดต่อไป ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่า จะรอดไปได้อีกกี่วัน  หรืออาจจะพบจุดจบในสภาพที่เลวร้ายกว่าการฆ่าตัวตายหลายพันเท่า

และในตอนนั้น ผมก็อดคิดอีกไม่ได้ว่า หากในเรื่องนี้ ไม่มีตัวละครที่เป็นลูกชาย เหลือแค่พ่อเพียงคนเดียว เขาอาจตัดสินใจจบชีวิตตัวเองตั้งแต่ต้นเรื่องไปแล้ว

ใช่ครับ ในโลกของวรรณกรรม การมีตัวละครที่เป็นเด็ก คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความหวัง ในโลกที่รกร้างไร้ชีวิต เด็กคนหนึ่ง คือ ตัวแทนของความหวังและความฝัน ถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

แม้ว่าในเรื่อง จะมีหลายฉากหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า บทบาทของพ่อคือผู้ปกป้องคุ้มครองลูก จนเผลอคิดไม่ได้ว่า หากไม่มีพ่อแล้ว เด็กชายจะอยู่รอดได้อย่างไร แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จึงได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว ลูกชายต่างหาก ที่รับบทบาทผู้ปกป้องพ่อ ให้รอดพ้นจากความสิ้นหวังในชีวิต

ระหว่างการเดินทาง มีอยู่หลายฉากที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะคอยปกป้องหัวใจของพ่อแล้ว เด็กชายนิรนามยังพยายามปกป้องผู้อื่นที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายอีกคนหนึ่ง หมาจรจัด ชายแก่ใกล้ตาย หรือแม้กระทั่งโจรที่พยายามแย่งชิงข้าวของจากพวกเขา

“ช่วยเขาสิ พ่อ ช่วยเขาเถอะ… เดี๋ยวเขาก็ตายพอดี”

“ยังไงเขาก็ตายอยู่แล้ว”

“เขากลัวมาก พ่อ”

“ลูกไม่ใช่คนที่ต้องคอยห่วงไปหมดทุกเรื่องนี่นา

ใบหน้ามอมแมมนั้นเงยขึ้นทั้งน้ำตา “ใครว่า” เด็กชายตอบ “ผมนี่แหละคือคนที่ต้องห่วง”

ความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นของเด็กน้อย หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า แสงในใจของเขา คือ สิ่งที่คอยนำทางให้ทั้งคู่ยังคงเดินต่อไปบนถนนสายอำมหิตที่เป็นชื่อเรื่อง

ยิ่งในวันที่ผู้เป็นพ่อ พลัดหลงทางสู่ความมืดมนในจิตใจ เด็กชายก็คอยเป็นแสงส่องนำทางให้เขากลับคืนมา ด้วยคำทักท้วงสั้นๆ ว่า ในเรื่องเล่าของพ่อ คนดีต้องช่วยเหลือคนอื่น แต่ทำไมในชีวิตจริง เราถึงไม่ยอมช่วยเหลือใครเลยล่ะ

สำหรับผู้เป็นพ่อ เรื่องเล่าอาจเป็นแค่คำปลอบประโลม เป็นเหมือนคำโกหกสีขาว ที่แค่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นความหดหู่โหดร้ายไปอีกวัน (ไม่ต่างจากคำโกหกของกุยโด ที่ช่วยให้โจชัว ลูกชายของเขา ผ่านพ้นคืนวันอันโหดเหี้ยมในค่ายกักกันนาซี ในภาพยนตร์เรื่อง Life Is Beautiful) แต่สำหรับลูกชายแล้ว ทุกเรื่องที่เขาได้ฟังจากพ่อ จะไม่เป็นแค่เรื่องเล่า หากเขาเชื่ออย่างจริงจัง และลงมือทำให้มันกลายเป็นเรื่องจริง

แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว เมื่อทั้งคู่ไปถึงเมืองชายทะเล ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ไม่มีความอบอุ่น ไม่มีอาหาร ไม่มีคนดีที่เหลืออยู่ และที่เลวร้ายที่สุด ผู้เป็นพ่อกำลังจะสิ้นใจ โลกทั้งใบเหมือนกำลังจะดับมืดลง-แม้กระทั่งเด็กชายก็ยังนึกกังขา

“มันมีจริงหรือ ไอ้แสงในใจเนี่ย”

“มี”

“ไหนล่ะ มองไม่เห็นเลย”

“มีสิลูก อยู่ในตัวลูกไง อยู่ข้างในนั้นตลอด พ่อเห็น”

บทสนทนานั้น ทำให้ผมต้องวางหนังสือลง แล้วพยายามค้นหาแสงที่อยู่ในใจตัวเอง พร้อมสัญญาว่า จะรักษาแสงนั้นให้คงอยู่ต่อไป แม้จะริบหรี่ลงทุกทีก็ตาม

Tags:

ความดีความหวังพ่อแม่ลูกการเลี้ยงดูThe Roadถนนสายอำมหิต

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Extended family-no logo
    Family Psychology
    ‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear ParentsMovie
    Survival of the thickest – แด่ผู้รอดชีวิตจาก toxic parents

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Book
    พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 

    เรื่อง อัฒภาค

  • Dear ParentsMovie
    Stutz: เปิดอกสื่อสารออกไป ให้หัวใจได้บำบัด

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

The Last Lecture: ปาฐกถาในวาระสุดท้ายที่บอกว่า ‘อะไรมีความหมายที่สุดในชีวิต’
Book
21 April 2023

The Last Lecture: ปาฐกถาในวาระสุดท้ายที่บอกว่า ‘อะไรมีความหมายที่สุดในชีวิต’

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • หนังสือ The Last Lecture เขียนโดย แรนดี เพาช์ และเจฟฟรีย์ ซาสโลว์ แปลเป็นภาษาไทยโดย วนิษา เรซ (สำนักพิมพ์อมรินทร์ How to) เล่าถึงชีวิตจริงของแรนดี เพาช์ ศาสตราจารย์วัย 47 ปี แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายและมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกินหกเดือน เขาจึงใช้ช่วงเวลาสุดท้ายเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัว รวมถึงตอบรับคำเชิญของมหาวิทยาลัยเพื่อขึ้นปาฐกถาครั้งสุดท้ายเพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คำถามไวรัลประเภท “เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณตระหนักถึง…” ดูจะโด่งดังและชักชวนให้ใครหลายคนเข้าไปแสดงความเห็น ซึ่งหนึ่งในคำถามที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือคำถามที่ว่า “เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิต” 

ท่ามกลางคอมเมนต์ ผมสังเกตว่าผู้คนมักให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการแชร์ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความตาย’ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่คนรักต้องจากไป หรือหากใครกำลังเผชิญกับโรคร้ายก็จะแชร์วิธีการรับมือกับความตายในแง่มุมต่างๆ จนผมรู้สึกว่า “…น่าเสียดายที่คนใกล้ตายมักเห็นคุณค่าของชีวิตมากกว่าคนทั่วไป…” และนั่นชวนให้ผมคิดถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบ

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Last Lecture บอกเล่าเรื่องจริงของ แรนดี เพาช์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย แถมคุณหมอยังบอกด้วยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกราว 3 – 6 เดือนเท่านั้น

-1-

ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ แรนดี เพาช์ มีอายุ 47 ปี เขารู้ตัวดีว่าตัวเองจะไม่สามารถร่วมเฉลิมฉลองวันเกิดของภรรยาแสนรักและลูกๆ ในปีถัดไป…ยิ่งคิดแรนดีก็ยิ่งปวดใจ  

หลังจากที่หมอแจ้งข่าวร้าย แรนดีรู้ดีว่าตัวเองมีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือการปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความเศร้าไปจนตาย หรือสองคือการยอมรับความจริงอย่างมีสติและก้าวออกจากสนามชีวิตอย่างสง่างามที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าแรนดีเลือกอย่างหลัง ประกอบกับช่วงเวลานั้น แรนดี้ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนให้มาปาฐกถา ‘เลกเชอร์ครั้งสุดท้าย’ ทำให้แรนดีตระหนักถึงเป้าหมายสุดท้ายที่เขาอยากจะทิ้งทวนก่อนจากโลกนี้ไป

“การเลกเชอร์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนหลายๆ คนที่ผมรักจะได้เห็นผมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่…เป็นโอกาสที่ผมจะได้คิดจริงๆ ว่าอะไรที่มีความหมายที่สุดสำหรับผม ว่าจะผนึกให้ผู้คนจดจำผมในแบบไหน และได้ทำประโยชน์เท่าที่ผมจะสามารถทำได้ขณะที่กำลังจะจากไป”

ในการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายต่อหน้าผู้คนกว่าสี่ร้อยชีวิต แรนดีได้พูดถึงประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน โดยหัวข้อที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือเรื่องความฝันที่เขาเคยอยากเป็นนักอเมริกันฟุตบอล

แรนดีบอกว่าแม้ตัวเขาจะไม่สามารถก้าวสู่การเป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพได้ แต่การไล่ล่าความฝันอันล้มเหลวในครั้งนั้นกลับกลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต เพราะเขาได้พบกับโค้ชร่างยักษ์ที่มีชื่อว่า จิม แกรห์ม

โค้ชแกรห์มเป็นผู้ฝึกสอนที่มีวิธีการสอนแหวกแนวไม่เหมือนใคร อย่างเช่นวันแรกของการฝึกซ้อม แทนที่โค้ชจะเอาลูกบอลมาแจกให้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพหรือทักษะเฉพาะตัว เขากลับมุ่งเน้นเรื่องทัศนคติของผู้เล่น 

“มีคนกี่คนอยู่บนสนามฟุตบอลในหนึ่งเกมและมีกี่คนที่ได้จับลูกฟุตบอล…ดังนั้นเราจึงจะมาเรียนรู้สิ่งที่คนอีกยี่สิบเอ็ดคนจำเป็นต้องทำ” โค้ชแกรห์มกล่าว

ในการฝึกพื้นฐานอันเข้มข้น แรนดีดูจะเหนื่อยมากกว่าเพื่อนร่วมทีม เพราะนอกจากเขาจะตัวเล็กที่สุดแล้ว โค้ชก็มักเคี่ยวกรำเขาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการฝึกซ้อมท่าเดิมซ้ำๆ จนกว่าจะถูกใจ แถมหลังฝึกเขามักถูกทำโทษให้วิดพื้นจนผู้ช่วยโค้ชต้องเข้ามาปลอบใจ

“หลังจากที่ผมถูกปล่อยตัวในที่สุด ผู้ช่วยโค้ชคนหนึ่งเดินเข้ามาปลอบใจ “โค้ชแกรห์มเคี่ยวเธอหนักเลยสิวันนี้…นั่นเป็นสิ่งที่ดีมากนะ เมื่อเราทำอะไรพลาดและไม่มีใครเตือนเราเลย นั่นแปลว่าเขาหมดความหวังในตัวเราแล้ว” คำสอนนั้นติดอยู่ในหัวผมตลอดชีวิต เมื่อคุณพบว่าคุณทำอะไรพลาดทำอะไรไม่ได้เรื่อง และไม่มีใครเตือนคุณเลย นั่นไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีสำหรับคุณ บางครั้งคุณอาจไม่อยากได้ยินคำติ แต่บ่อยไปที่คนที่ติเตียนคุณนั้น แท้จริงแล้วคือคนที่บอกว่าเขายังรักคุณนะ เขายังเป็นห่วงคุณอยู่ และเขาอยากช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้น” แรนดี กล่าว

พอได้ฟังคำพูดของผู้ช่วยโค้ช แรนดีก็มุ่งมั่นทำตามคำสอนของโค้ชแกรห์ม และได้เรียนรู้ว่าถ้าฝึกหนักพอ สิ่งที่เขาทำไม่ได้ในวันนี้ก็จะทำได้ในวันพรุ่งนี้ และเมื่อเขาสามารถทำตามคำสั่งของโค้ชได้ เขาก็สัมผัสถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง

“ปัจจุบันคนชอบพูดถึงการให้ความเชื่อมั่นในตัวเองแก่เด็กๆ แต่นี่มิใช่สิ่งที่ใครมอบให้แก่กันได้ มันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องสร้างเอง โค้ชแกรห์มสอนเราในสถานการณ์ที่ไม่มีการเอาอกเอาใจ เรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองน่ะหรือ โค้ชรู้ดีว่ามีเพียงวิธีเดียวที่จะสอนให้เด็กๆ พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง นั่นคือมอบภารกิจอะไรสักอย่างที่เด็กทำไม่ได้ และให้เด็กๆ ฝึกฝนอย่างหนักจนเขาทำได้ และคุณก็มอบภารกิจใหม่ไปเรื่อยๆ”

ในฐานะที่ตอนเด็กๆ ผมเคยมีความฝันอยากเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติ ผมรู้สึกเห็นด้วยกับบทเรียนที่แรนดีได้รับจากโค้ชของเขา เพราะสิ่งที่มากกว่าทักษะทางด้านกีฬา คือทัศนคติที่ดีและทักษะชีวิต เช่น การมีวินัย การมีน้ำใจนักกีฬา การทำงานเป็นทีม และการรู้จักอดทนอดกลั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 

-2-

นอกจากประสบการณ์เรื่องอเมริกันฟุตบอล ผมถูกใจกับหัวข้อที่แรนดีพูดถึงวิธีการใช้ชีวิตที่เขาทดลองแล้วได้ผลกว่า 30 หัวข้อ โดยผมขอเลือกสองหัวข้อที่ชื่นชอบที่สุด

หัวข้อแรกคือเรื่อง ‘อย่าบ่นและจงทำงานให้หนักขึ้น’ โดยแรนดีพูดถึงนักกีฬาคนโปรดตลอดกาลอย่าง แจ๊คกี้ โรบินสัน (1919-1972) นักเบสบอลอาชีพผิวสีคนแรกในอเมริกา เขาต้องอดทนกับการถูกเหยียดผิวในยุคที่สังคมมองว่า ‘คนขาวคือชนชั้นสูง ส่วนพวกผิวสีคือชนชั้นทาส’

“เขารู้ว่าเขาต้องเล่นให้เก่งกว่าคนผิวขาว และเขารู้ว่าต้องฝึกให้หนักกว่า นั่นคือสิ่งที่เขาทำ เขาตั้งปฏิญาณที่จะไม่บ่น แม้คนดูจะถ่มน้ำลายใส่เขาก็ตาม

ผมเคยมีภาพของแจ๊คกี้ โรบินสัน แขวนไว้ในห้องทำงาน…สิ่งที่สอนใจจากเรื่องราวของพวกเขาคือการพร่ำบ่นไม่ใช่กลยทุธ์ที่ดี เราทุกคนมีเวลาและพลังงานที่จำกัด เวลาที่เราใช้ไปในการตีโพยตีพายนั้นไม่ช่วยให้เราก้าวไปสู่เป้าหมายได้ และก็ไม่ทำให้เรามีความสุขขึ้นด้วย…ผมเชื่อว่าหากเราเอาพลังงานแค่หนึ่งในสิบที่ใช้ไปในการบ่นมาแก้ปัญหา เราจะพบว่าเรื่องราวต่างๆ ออกมาดีอย่างไม่น่าเชื่อ” แรนดีพูดถึงไอดอลของเขา

เรื่องถัดมาคือ ‘การขอโทษที่ไม่เต็มใจแย่กว่าไม่ขอโทษเสียอีก’ ส่วนตัวผมรู้สึกชื่นชอบชื่อของหัวข้อนี้มาก  อาจเป็นเพราะการขอโทษที่ผมได้รับส่วนมากมักจะเป็นคำขอโทษประเภท “เราขอโทษนะแต่…” ซึ่งฟังแล้วให้ความรู้สึกแก้ตัวมากกว่าการขอโทษและรู้สึกผิดจริงๆ

แรนดีมองว่าการขอโทษไม่ใช่เรื่องของการสอบตกหรือสอบผ่าน และหากเปรียบการขอโทษกับเกรดนั้น การแสดงออกที่ต่ำกว่า A หมายความว่าเราทำได้ไม่ดีพอ

“การขอโทษที่ถูกต้องมีองค์ประกอบสามส่วน 1.สิ่งที่ฉันทำลงไปไม่ถูกต้อง 2.ฉันเสียใจมากที่ทำให้คุณเสียใจ 3.ฉันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง แน่นอนว่าคนบางคนอาจจะเอาเปรียบคุณตอนที่คุณถามถึงข้อที่สาม แต่คนส่วนใหญ่จะซาบซึ้งที่คุณพยายามจะทำให้เรื่องราวดีขึ้น พวกเขาอาจแนะนำให้คุณแก้ไขในเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ และบ่อยครั้งพวกเขาเองนั่นแหละที่จะช่วยลงมือทำให้ทุกอย่างดีขึ้น 

นักศึกษามักถามผมว่า “ถ้าหากเราขอโทษและอีกฝ่ายไม่ขอโทษกลับล่ะ” ผมก็จะบอกเขาว่า “นั่นไม่ใช่สิ่งที่พวกคุณสามารถควบคุมได้ ดังนั้นอย่าให้มันทำลายความตั้งใจของคุณ” ”

-3-

แม้การปาฐกถาทั้งหมดจะคล้ายกับการที่คนใกล้ตายคนหนึ่งมาแชร์เทคนิคการมีชีวิตที่ดี แต่แรนดีบอกว่าแท้จริงแล้วเขานำกลยทุธ์ ‘หันหัวหลอก’ ในอเมริกันฟุตบอลมาปรับใช้ โดยการหันหัวหลอกที่แรนดีพูดถึงมีอยู่สองประเภทคือการที่ผู้เล่นคนหนึ่งหันหน้าไปทางซ้ายเพื่อหลอกคู่ต่อสู้ว่าจะวิ่งไปทางนั้น แต่ความจริงแล้วเขาเตรียมจะวิ่งไปทางขวาต่างหาก ส่วนการหันหัวหลอกอีกประเภทคือการที่เราถูกสอนเรื่องหนึ่งแต่กลับไม่รู้ตัวว่าเรากำลังถูกสอน

แรนดีมีลูกน้อยสามคนคือ ‘ดีแลน’ ลูกชายคนโตวัยห้าขวบ ‘โลแกน’ ลูกคนกลางอายุสองขวบ และ ‘โคลอี้’ ลูกสาวคนสุดท้องวัยเพียง 1 ขวบ ดังนั้นสิ่งที่แรนดีสื่อว่าหันหัวหลอกคือการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อผู้ฟังสี่ร้อยกว่าชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงลูกๆ ทั้งสามของเขา

“สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือว่าเวลาพ่อแม่สอนอะไรลูก แล้วถ้าเรื่องนั้นได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกด้วย มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะ ถ้าผมสามารถทำให้กลุ่มผู้ฟังหัวเราะหรือปรบมือในเวลาที่เหมาะสม ก็อาจทำให้สิ่งที่ผมจะบอกลูกของผมมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น”

แรนดีมองว่าเมื่อเขาไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่จั่วมาได้ เขาก็ควรบริหารการเล่นไพ่ที่มีอยู่ในมืออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายจะเป็นดั่งตำราให้กับลูกๆ ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากไม่นับเรื่องการเลกเชอร์ครั้งสุดท้าย แรนดีได้ปรึกษาบรรดานักจิตวิทยา เพื่อนฝูง รวมถึงคนที่สูญเสียพ่อแม่ไปเมื่อพวกเขายังเล็ก ซึ่งทั้งหมดแนะนำให้แรนดีหาวิธีที่ทำให้เด็กๆ รู้ว่าพ่อนั้นรักพวกเขามากแค่ไหน เพราะเมื่อเด็กได้รู้ว่าพ่อแม่รักพวกเขามากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งทำให้พวกเขาสัมผัสถึงความรักของพ่อแม่ได้ดีเท่านั้น 

“สิ่งที่เด็กๆ ต้องการเหนือสิ่งอื่นใด คือเขาจำเป็นต้องรู้ว่าพ่อแม่รักเขามาก และพ่อแม่ของเขาก็ไม่จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่เพื่อให้เขารับรู้ข้อนี้…”

นอกจากนี้แรนดีได้รับคำแนะนำว่าเขาไม่ควรบอกลูกแค่ว่า “พ่อรักลูก” แต่ควรบอกเล่าถึงความทรงจำและความประทับใจพิเศษที่เขามีต่อลูกคนนั้นๆ ผ่านการถ่ายวิดีโอกับลูกๆ การเขียนบันทึก ซึ่งผมขอยกตัวอย่างจดหมายที่แรนดีเขียนไว้ให้กับดีแลนที่เป็นลูกคนโต

“ผมชื่นชมความรักและความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นในตัวลูกคนนี้ ถ้าหากเด็กคนหนึ่งเจ็บปวด ดีแลนจะเดินเอาของเล่นหรือผ้าห่มไปให้เขา อีกคุณลักษณะหนึ่งที่ผมเห็นในตัวดีแลนก็คือ เขาเป็นคนช่างคิดช่างวิเคราะห์ไม่ต่างจากพ่อของเขาเลย เขารู้แล้วว่าคำถามนั้นสำคัญกว่าคำตอบ เด็กหลายคนจะถามว่า ‘ทำไม ทำไม ทำไม’ แต่กฎข้อหนึ่งในบ้านเราคือ คุณไม่มีสิทธิตั้งคำถามที่มีแค่คำเดียว ดีแลนเข้าใจแนวคิดนี้ดีมาก เขาชอบที่จะตั้งคำถามเต็มประโยค และความอยากรู้อยากเห็นของเขาโตเกินอายุอย่างมาก ผมยังจำได้ดีที่ครูอนุบาลของดีแลนบอกว่า ‘เวลาที่อยู่กับดีแลน คุณจะพบว่าตัวเองกำลังนึกคิดว่า ฉันอยากเห็นจังเลยว่าเด็กคนนี้จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบไหน’ …”

-4-

สิ่งที่ผมชื่นชมคือถึงแรนดีจะรักลูกมากแค่ไหน แต่เขากลับไม่มีความคิดที่จะชี้นำหรือบังคับให้ลูกเป็นในแบบที่เขาต้องการ 

แรนดีบอกว่าการที่พ่อแม่กำหนดความฝันให้ลูกอาจจะหยุดยั้งการพัฒนาของลูกได้ โดยเฉพาะหากความฝันของพ่อแม่ไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ

“ผมมองเรื่องนี้ว่า หน้าที่ของพ่อแม่คือการสนับสนุนให้ลูกพัฒนาความสุขในการมีชีวิต และมีแรงกระตุ้นอย่างใหญ่หลวงที่จะก้าวไปตามความฝันของเขาเอง 

สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำให้ได้ก็คือ การช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาเครื่องมือส่วนตัวขึ้นมาชุดหนึ่งสำหรับภารกิจทำความฝันให้เป็นจริง

จากการได้พบนักศึกษาจำนวนมากในชั้นเรียนที่ผมสอน ผมสังเกตว่าพ่อแม่สมัยนี้ไม่ตระหนักเลยว่าคำพูดของตัวเองมีอำนาจมากแค่ไหน แน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอายุและความมั่นคงในตัวเองของเด็กด้วย แต่บางครั้งคำกล่าวโดยไม่ตั้งใจของพ่อแม่อาจทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกกระแทกด้วยรถขุดดินคันโต…ชีวิตของเขาจะเป็นชีวิตของเขาเอง ผมแค่ขอให้ลูกๆ หาหนทางของตัวเองด้วยความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่น ผมต้องการให้พวกเขารู้สึกว่าผมอยู่ตรงนั้นกับพวกเขาเสมอ ไม่ว่าเขาจะเลือกเส้นทางใดก็ตาม”

Tags:

ความตายลูกชีวิตThe Last Lecture

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    ความตายขับเคลื่อนชีวิต (2): เมื่อการระลึกถึง ‘ความตาย’ ทำให้เข้าใจความหมายของ ‘ชีวิต’

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Movie
    Modern love Tokyo (2022): แม่ต้องปล่อยวางหลายเรื่อง แต่วันหนึ่งลูกจะภูมิใจในเราเองแหละ

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Book
    ไร้ประโยชน์ ก็ใช่ว่าไร้ค่า: บ้านที่มีแมวขี้โกหก กับหมาในจินตนาการ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • How to enjoy life
    เดอสแตดนิง (Döstädning): มากกว่าจัดบ้านคือจัดการชีวิต ศิลปะการละทิ้ง(ก่อนตาย) สไตล์ชาวสวีเดน

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Myth/Life/CrisisBook
    ไม่ต้องแตกสลายเพื่อจะพบแสงสว่าง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

ชวนเด็ก ‘รัก’ และ ‘รักษ์’ สิ่งแวดล้อม เปิดประตูสู่การศึกษาเพื่อความยั่งยืน
Education trend
19 April 2023

ชวนเด็ก ‘รัก’ และ ‘รักษ์’ สิ่งแวดล้อม เปิดประตูสู่การศึกษาเพื่อความยั่งยืน

เรื่อง กัญญาณัฐ เลิศคอนสาร ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การศึกษาที่ช่วยปลูกฝังให้คนในประเทศเข้าใจและเอาใจใส่ธรรมชาติตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย
  • เด็กที่ได้รับการปลูกฝังให้รักธรรมชาติตั้งแต่เด็กมักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องความยั่งยืน และการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็ก ช่วยให้เด็กสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กคนอื่นๆ ได้
  • ครูควร ‘สอดแทรก’ เนื้อหาความยั่งยืนและธรรมชาติในบทเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ผลกระทบของพฤติกรรมประจำวันต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ไขปัญหา เพราะช่วยให้เด็กเอาใจใส่ (care) และรัก (love) ธรรมชาติมากขึ้น

ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวข้อถกเถียงที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ให้ความเห็นตรงกันว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยธรรมชาติต่างๆ เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำ การเกษตร การประมง และทวีคูณปัญหาสุขภาพและความอดอยาก

สำหรับประเทศไทย นอกจากปัญหาภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ นำมาซึ่งผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม บ่งชี้ว่าประเทศไทยควรต้องหันมาสนใจดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย คนไทยสามารถช่วยกันบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนได้ โดยการช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประจำวันทีละเล็กทีละน้อย ทว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ว่านี้แม้จะทำได้ด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนหนึ่งอาจต้องอาศัยการศึกษาที่ช่วยปลูกฝังให้คนในประเทศเข้าใจและเอาใจใส่ธรรมชาติตั้งแต่ยังเล็ก

กินส์เบิร์กและออเดรย์ได้ทำการวิจัยในสหรัฐอเมริกาเรื่อง ‘การศึกษาเพื่อความยั่งยืน’ พบว่าเด็กที่ได้รับการปลูกฝังให้รักธรรมชาติตั้งแต่เด็กมักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่องความยั่งยืน 

นอกจากนี้ การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็ก และยังช่วยให้เด็กสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กคนอื่นๆ ได้

ชิ้นงานวิจัยของกินส์เบิร์กและออเดรย์ชี้แนะว่า สถานศึกษาอาจช่วยปลูกฝังให้เด็กรักธรรมชาติได้ด้วยสองวิธีหลักๆ ดังนี้

หนึ่ง ครูควรส่งเสริมให้เด็ก ‘อยู่’ กับธรรมชาติ (In the environment) แต่ครูควรพูดคุยกับผู้ปกครองให้เข้าใจเรื่องความปลอดภัยให้ถี่ถ้วน กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กอยู่กับสิ่งแวดล้อมประกอบไปด้วย กิจกรรมพาเด็กเข้าป่า หรือเรียนรู้จากธรรมชาติในสวนสาธารณะ และสวนผักในเมือง เป็นต้น 

ผลงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้เด็กพัฒนาความพึงพอใจต่อชีวิตและรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงแม้กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมยอดฮิตของหลายโรงเรียน บทเรียนควรส่งเสริมให้เด็กเอาใจใส่ (care) และรัก (love) ธรรมชาติผ่านการสะท้อนหลังเด็กปฏิสัมพันธ์และอยู่กับธรรมชาติ

สอง ครูควร ‘สอดแทรก’ เนื้อหาความยั่งยืนและธรรมชาติในบทเรียน (about and for the environment) เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ผลกระทบของพฤติกรรมประจำวันต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ไขปัญหา นอกจากนี้การสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวยังช่วยให้เด็กเอาใจใส่ (care) และรัก (love) ธรรมชาติมากขึ้น 

งานวิจัยของกินส์เบิร์กและออเดรย์พบว่าการสอดแทรกเนื้อหาสิ่งแวดล้อมในบทเรียนอาจขึ้นอยู่กับคนผู้สอนว่าจะทำการอย่างไร เช่น ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ในงานวิจัยนี้สอนเรื่องการรักษาดินและสิทธิที่ดินประกอบกับเนื้อหาหลักด้วย หรือสอดแทรกเรื่องการประหยัดน้ำในกิจกรรมเต้น ทั้งนี้การสอดแทรกเนื้อหาดังกล่าวต้องอาศัยความเข้าใจในพัฒนาการเด็กและเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาควรวางเนื้อหาเรื่องการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างชัดเจนในบทเรียน ส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมในการคิดเนื้อหา และบทเรียนควรส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) 

ถึงแม้การปลูกฝังให้เด็กรักและรักษ์ธรรมชาติในสถานศึกษามีแนวโน้มส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเด็กและสิ่งแวดล้อม ครูผู้สอนยังต้องเผชิญปัญหารอบด้านที่อาจขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ดังนี้ 

หนึ่ง ผู้ปกครองอาจกลัวเรื่องความปลอดภัยหากเด็กเล่นอยู่กับธรรมชาติ เช่น ปีนต้นไม้ กินใบไม้ใบหญ้าที่อาจเป็นพิษ ซึ่งความกลัวดังกล่าวอาจส่งผลให้ครูกลัวไปด้วยและเด็กอาจไม่ได้เรียนรู้จากธรรมชาติอย่างเต็มที่ วิธีแก้ไขปัญหาความกลัวนี้คือ สถานศึกษาต้องบอกผู้ปกครองให้ชัดเจนว่ากิจกรรมอยู่กับธรรมชาติประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีบุคลากรช่วยดูแลเด็กตลอดเวลา เป็นต้น

สอง ผู้ปกครองอาจเข้าใจว่าเด็ก ‘ไม่ชอบเล่นข้างนอก’ ทั้งที่เด็กไม่มีโอกาสได้ออกไปเล่นข้างนอกมากนัก ความเข้าใจดังกล่าวอาจส่งผลให้เด็กคิดไปด้วยว่าพวกเขาก็ไม่ชอบเล่นข้างนอกเช่นกัน ครูผู้สอนจึงจำต้องทำตามความต้องการของผู้ปกครองและเด็ก 

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจดังกล่าวอาจจะไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง งานวิจัยของกินส์เบิร์กและออเดรย์พบว่า ผู้ปกครองคนหนึ่งคิดว่าลูกสาวไม่ชอบเล่นน้ำฝนและคิดว่าโรงเรียนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จทำให้ลูกสาวเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่ผลปรากฏว่าลูกสาวชอบเล่นน้ำฝนแต่ไม่ได้มีโอกาสเล่นอย่างสนุกสนานกับเด็กคนอื่นเท่านั้นเอง

สาม บทเรียนของสถานศึกษาทั่วไปมุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทำให้บทเรียนรักและรักษ์ธรรมชาติไม่ได้ถูกให้ความสนใจเทียบเท่ากัน ทั้งที่สถานการณ์โลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มทวีคูณขึ้นทุกวันและอาจส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต นอกจากนี้การสอดแทรกเนื้อหาสิ่งแวดล้อมในบทเรียนเดิมอาจสร้างภาระงานสอนให้ครูเพิ่มขึ้นในขณะที่ตารางเวลาเรียนเท่าเดิม

ดังนั้น จากปัญหาทั้งสามข้อ จะเห็นได้ว่าครูผู้สอนอาจเผชิญอุปสรรคพัฒนาบทเรียนรักและรักษ์ธรรมชาติแก่เด็กเล็ก อุปสรรคดังกล่าวมาจากความคิดและความเข้าใจของผู้ปกครองเอง และโครงสร้างสถานศึกษาที่เน้นเฉพาะการสอนบางสายวิชา 

นอกจากนี้ กินส์เบิร์กและออเดรย์ยังพบว่าคุณครูเองก็อาจมีความเข้าใจที่ต่างกันว่าบทเรียนไหนสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องอาศัยการพูดคุยระหว่างผู้ปกครอง เด็กเล็ก ครู สถานศึกษา และนโยบายรัฐบาลเรื่องการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

ในประเทศไทย ผู้เขียนพบว่าภาคีความร่วมมือต่างๆ เริ่มเรียกร้องให้สถานศึกษาสอดแทรกเนื้อหาเรื่องฝุ่นควันในบทเรียน โดยบทเรียนมักมุ่งเน้นมาตรการป้องกันและลดการเผชิญฝุ่นควันในพื้นที่เสี่ยง

ถึงแม้ปัญหาฝุ่นควันนำพาซึ่งโอกาสให้เด็กเรียนรู้เรื่องและเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจจำกัดกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพราะความเสี่ยงเรื่องฝุ่น ดังนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเรื่องจุดเน้นไหนจำเป็นต้องอาศัยการพูดคุยและมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

References: 

https://www.researchgate.net/publication/236751238_Climate_Change_and_Thailand_Impact_and_Response

https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1264526.pdf

https://www.annualreviews.org/doi/10.1146/annurev-publhealth-071910-140612

https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2526290/pm2-5-endless-deja-vu-in-thailand

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/media/746r

https://theactive.net/data/dust-free-for-child/

Tags:

สิ่งแวดล้อมActive Learningธรรมชาติการศึกษาเพื่อความยั่งยืน

Author:

illustrator

กัญญาณัฐ เลิศคอนสาร

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Competency cover
    Social Issues
    เรียนรู้อย่างมีความหมาย-ไร้รอยต่อ สร้างสมรรถนะเด็กไทยพร้อมรับความท้าทายแห่งอนาคต

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Everyone can be an Educator
    อเล็กซ์ เรนเดลล์: Environment Education ออกไปเรียนรู้โลกเพื่อกลับมาเป็นตัวเองที่ดีกว่าเดิม

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Transformative learningLearning Theory
    เปลี่ยนวิกฤตการเรียนรู้ถดถอย เป็นโอกาสปฏิรูปการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน : ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Everyone can be an Educator
    “ขยะก็เหมือนความสัมพันธ์ ถูกผลักจากตัวเหมือนตัดความสัมพันธ์ทั้งที่เราสร้างมันขึ้นมา” ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Creative learningCharacter building
    เดินเท้าแกะรอยเมล็ดพันธุ์ เพื่อพบ ‘มะตาด’ ต้นสุดท้ายในบ้านควน

    เรื่องและภาพ The Potential

‘ปีนป่าย ข้ามน้ำ มุดอุโมงค์’ ค่ายเยาวชนที่ออกแบบ Soft Skill ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นและอยู่ร่วมกัน: ดร.เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์
Space
17 April 2023

‘ปีนป่าย ข้ามน้ำ มุดอุโมงค์’ ค่ายเยาวชนที่ออกแบบ Soft Skill ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นและอยู่ร่วมกัน: ดร.เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • ค่ายเยาวชน KRSC อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี คือพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนที่เน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบ Learning by Doing เพื่อติดตั้งทักษะชีวิตให้เด็กๆ โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากค่ายลูกเสือ
  • ดร.แอ๊ะ- เลิศจันฑา ในฐานะผู้บริหารและนักจัดการเรียนรู้ จบปริญญาเอกด้านการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 พ่วงด้วยดีกรีวิทยากรสำนักงานลูกเสือโลกและผู้ประสานงานโครงการ Scouts of the World Award คนเดียวของประเทศไทย
  • การออกแบบกิจกรรมจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเด็กและพัฒนาการตามช่วงวัย ซึ่งเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายจะได้ผจญภัยตามฐานกิจกรรมต่างๆ 30 ฐานและได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม

“การมีความรู้ด้านวิชาการเป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่แล้วตามหน้าที่ที่ทุกคนต้องเรียน แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยเฉพาะเรื่อง soft skills สำคัญมากๆ เพราะมันจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข” 

มุมมองของ ‘ดร.แอ๊ะ’ เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งแก่งกระจานริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท แอนด์ แคมป์ปิ้ง (KRSC) ชวนให้นึกถึงระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันที่แม้จะมีการพูดถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น แต่กลับเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และจุดนี้เองทำให้เยาวชนหลายคนเปรียบได้กับ ‘นักรบ’ ที่ถูกมอบเพียงแค่ ‘อาวุธ’ แต่กลับไม่ได้รับ ‘ชุดเกราะ’ ที่จะช่วยปกป้องตนเองในสมรภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันตลอดเวลา

ดร.เลิศจันฑา จบปริญญาเอกด้านการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ่วงด้วยดีกรีวิทยากรสำนักงานลูกเสือโลกและผู้ประสานงานโครงการ Scouts of the World Award คนเดียวของประเทศไทย จึงนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาออกแบบอาณาจักรการเรียนรู้นอกห้องเรียนบนพื้นที่กว่า 70 ไร่ ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี       

“ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นรีสอร์ทของป๊ากับแม่มาก่อนค่ะ เราก็เอามาทำค่ายเยาวชนทุกชนิด เช่น การจัดค่ายอบรมเสริมทักษะการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายคุณธรรมจริยธรรม และการรับจัดค่ายลูกเสือ เนตรนารี แต่ความเป็นค่ายลูกเสือค่อนข้างจะชัดเจนที่สุด”

‘ค่ายลูกเสือ’ แห่งศตวรรษที่ 21

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ลูกเสือ’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงความเชย ล้าสมัย หรือไม่ก็เครื่องแต่งกายทั้งชุดสีน้ำตาล หมวก ผ้าพันคอ วอกเกิ้ล พู่สัญลักษณ์ประจำหมู่ อินทรธนู เข็ม เชือก เข็มขัดตราลูกเสือ ถุงเท้าพับ พู่ถุงเท้าลูกเสือ รองเท้า ฯลฯ ที่กว่าจะใส่ครบก็ใช้เวลาไปไม่น้อยเลยทีเดียว และพอถึงคาบการเรียนลูกเสือ แน่นอนว่าสิ่งที่ใครหลายคนพบเจอคือ การตรวจเครื่องแบบ พร้อมบทลงโทษสำหรับผู้ที่แต่งตัวผิดระเบียบราวกับว่าเครื่องแบบลูกเสือเป็นเครื่องแบบศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้หลายคนค่อนข้างจะติดลบเมื่อเอ่ยถึง ‘ค่ายลูกเสือ’

แต่ไม่ใช่กับที่นี่…ค่าย KRSC ที่เน้นย้ำว่าการแต่งกายเป็นเพียงเรื่องรอง เพราะเจ้าของดูจะให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของวิชาลูกเสือที่ครูหลายคนอาจหลงลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อน

“คนที่เป็นลูกเสือจริงๆ ไม่ต้องใส่ชุดลูกเสือ แต่คนที่เป็นลูกเสือแค่ใจเป็นลูกเสือก็โอเคแล้ว จริงๆ นะ ใจลูกเสือคือลูกเสือเกิดมาเพื่อพัฒนาเด็ก ถ้าคุณเข้าใจคอนเซ็ปต์ว่ากิจกรรมทุกสิ่งอย่าง วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาเด็ก แค่นี้มันก็ฟินแล้ว สิ่งนี้มันจะออกมาจากสายตาเลยนะ ไม่ใช่แค่คำพูดการกระทำ มันจะออกมาจากสายตาว่าอยากให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อจะได้ประโยชน์ คือตามันจะเปล่งประกาย มันจะสนุกมากๆ และไม่โบราณเลยค่ะ

ปัญหาเรื่องชุดลูกเสืออยู่ที่ระบบการศึกษาบ้านเรา อย่างบางโรงเรียนเด็กแต่งตัวมาไม่ครบ ก็ลงโทษสั่งให้เขาไปเก็บขยะในชั่วโมงลูกเสือ ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้อะไร 

ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ Input คือคุณครูเวลาไปเจอวิทยากรที่ไม่มีคุณภาพทำให้ไม่เข้าใจว่าลูกเสือเป็นยังไงเกิดมาเพื่ออะไร ทั้งที่จริงลูกเสือไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ผู้ใหญ่มาเอาวุฒิทางการลูกเสือหรือไปเอาเงินเดือนเหรียญตราใดๆ ถ้าแค่ครูมายเซ็ตไม่ได้แต่แรกแล้วมาสอนเด็ก เขาจะได้ยังไง พอไม่เข้าใจว่าคอนเซ็ปต์ของคนจัดตั้งลูกเสือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เขาสอนให้เรามีระเบียบวินัย เหมือนทำงานองค์กรต่างๆ คุณก็ต้องใส่ยูนิฟอร์มเหมือนกัน ชุดลูกเสือก็แค่สอนให้คุณรู้ว่าตั้งแต่หัวจรดเท้าต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ลองฝึกให้มีวินัยง่ายๆ ให้ทุกคนแต่งตัวเหมือนกันไม่มีชนชั้นวรรณะ ไม่ได้เป็นทุนนิยมขนาดนั้น เราก็ควรอธิบายให้น้องๆ ฟัง ไม่ใช่ไปบังคับหรือไม่บอกเหตุผลว่าทำไมถึงให้ใส่ชุดลูกเสือ”  

ดร.เลิศจันทากล่าวต่อว่าเมื่อปัญหาสำคัญของกิจกรรมลูกเสืออยู่ที่ Input หรือผู้ถ่ายทอดป้อนข้อมูล เธอจึงนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาเฟ้นหาวิทยากรที่มีคุณภาพ รวมถึงการเทรนด์สตาฟให้มีทัศนคติแบบ Positive Thinking สอนตั้งแต่เรื่องวิธีคิด การพูด รวมถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็น ก่อนลงมือออกแบบกิจกรรมต่างๆ ในสไตล์ Learning by Doing ที่ช่วยให้เยาวชนเกิดสมรรถนะได้จริง

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ krsc.thailand

“กิจกรรมแบบ Learning by Doing จะให้น้องๆ เขาได้ลองลงมือทำแล้วเกิดสมรรถนะ เช่น ฐานผจญภัยประมาณสามสิบฐานที่จะสอนให้น้องๆ ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งการปีนป่าย ข้ามน้ำ มุดอุโมงค์ ซึ่งพอให้น้องๆ ทำกิจกรรม เราจะแบ่งน้องๆ เป็นทีมมีทั้งหัวหน้ากลุ่มและสมาชิกกลุ่ม หัวหน้ากลุ่มมีหน้าที่ดูแลเพื่อนๆ พอทำกิจกรรมเสร็จเปลี่ยนฐานเราก็จะเปลี่ยนคนที่เป็นผู้นำให้เป็นผู้ตาม ผู้ตามกลายเป็นผู้นำเพื่อฝึกให้ทุกคนเรียนรู้ความเป็นผู้นำผู้ตามไปด้วย ซึ่งทุกๆ ฐานจะมีการสรุปบทเรียนว่าฐานนี้ทำให้เขาเกิดสมรรถนะอะไร”

แน่นอนว่ากิจกรรมแนวผจญภัยอาจสร้างความสนุกสนานเร้าใจให้กับน้องๆ หลายคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบและผ่านกิจกรรมแต่ละฐานอย่างง่ายดาย ซึ่งดร.เลิศจันฑามองว่าเป็นโอกาสดีที่จะสอนให้น้องๆ เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนต้องสนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

“อย่างในบางฐาน เช่น การปีนผา ถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทาย น้องๆ หลายคนกริ๊ดกร๊าดด้วยความสนุกสนาน แต่บางคนกลับกลัวและไม่กล้าเล่น เราต้องมีการ Encourage (สนับสนุนให้กำลังใจ) น้องๆ ว่าในสถานการณ์แบบนี้ควรทำยังไง เพื่อนๆ ทุกคนต้องมาอยู่กันเป็นทีมและเชียร์อัพเพื่อนๆ ให้ลองให้กล้าทำ 

แต่สิ่งที่ห้ามพูดเด็ดขาดคือห้ามเปรียบเทียบ “เห้อ โบยังทำได้เลย ทำไมพอลล่าทำไม่ได้ล่ะ ไม่ได้เรื่องเลย” แบบนี้ไม่ได้ ห้ามพูด 

เราก็จะสอนสตาฟรวมถึงสอนน้องๆ ให้พูดว่า “อ้าวไปช่วยเชียร์อัพพอลล่าหน่อยเร็ว พอลล่าสู้ๆ พอลล่าสู้ๆ” ซึ่งสองประโยคนี้มีความหมายคล้ายกันแต่วิธีในการพูดต่างกัน ”

เมื่อย้อนกลับมาถามเรื่องชุดลูกเสือว่าที่ค่าย KRSC มีกฎระเบียบเคร่งครัดมากน้อยแค่ไหน ดร.เลิศจันฑายืนยันว่าค่ายของเธอไม่ได้เคร่งครัดกับกฎมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกายหรือแม้แต่การลดทอนพิธีการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

“เราจะสอนให้น้องๆ เข้าใจว่าความหมายของชุดลูกเสือแค่สอนให้มีระเบียบวินัย อย่างรองเท้าผ้าใบหนูต้องใส่ หนูไปผจญภัยรองเท้าผ้าใบต้องใส่สิ ขืนใส่รองเท้าแตะล้มมาจะทำยังไง แต่ถ้าเราบอกว่าหนูต้องใส่รองเท้าผ้าใบ ถ้าไม่ใส่หนูจะโดนทำโทษแบบนั้นไม่ได้ มายเซ็ตมันต่างกัน อย่างผ้าผูกคอไม่ต้องใส่ชุดลูกเสือก็ได้ใส่ผ้าผูกคออย่างเดียว 

ถ้าสังเกตเดี๋ยวนี้ค่ายเยาวชนทุกค่ายมีผ้าผูกคอ ซึ่งพื้นฐานมาจากลูกเสือ จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย มันเป็นกิมมิกของการบอกว่า “เราเป็นกลุ่มเดียวกัน” แค่นี้เลยค่ะ ทีนี้พอเราอธิบายความหมาย Simplify กระบวนการให้มันง่ายขึ้น น้องๆ ไม่ต้องถึงขั้นเปิดแถวตอนเช้าร้อนๆ นานๆ ถ้าเปิดก็แค่แป๊บๆ ให้เสร็จพูดเร็วๆ แต่ได้สาระ จบเสร็จปุ๊บก็ไปทำกิจกรรมต่อ ไม่ต้องไปอยู่กลางแดด ไปอยู่ใต้ร่มไม้ แต่เวลาทำกิจกรรมให้ได้ไปเล่นฐานจริงๆ มันก็สนุกแล้วค่ะ แค่นี้มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนมายเซ็ตที่เขามีต่อลูกเสือแล้ว”

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ krsc.thailand

‘ค่ายทักษะชีวิต’ เสริมเกราะให้เด็กแกร่ง

นอกจากภาพลักษณ์เรื่องการเป็นค่ายลูกเสือแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังสามารถจัดค่ายเยาวชนและค่ายส่งเสริมทักษะชีวิตให้กับเยาวชนในด้านต่างๆ หรือที่หลายคนเรียกว่า Soft Skills  

“เมื่อก่อนเรามักได้ยินคำว่า ‘เรียนให้เยอะ จบให้สูง จบมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน’ แต่คำพูดดังกล่าวล้าสมัยไปแล้วในปัจจุบัน เพราะความรู้และเทคโนโลยีสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นวุฒิทางการศึกษาจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าคนๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จเสมอไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนๆ นั้นมีความขยันใฝ่เรียนรู้มากแค่ไหน สามารถปรับตัวเมื่อเผชิญกับปัญหาได้อย่างไร ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นหรือเปล่า 

เพราะความรู้ด้านวิชาการที่เรียนในห้องเรียนอย่างเดียวเอาตัวไม่รอด มันไม่ได้เลย มันต้องมีความพลิกแพลงยืดหยุ่น และทักษะชีวิตแบบ Soft Skills เหล่านี้เกิดจากกิจกรรมนอกห้องเรียนทั้งนั้น”

สำหรับการออกแบบค่ายทักษะชีวิตของ KRSC ดร.เลิศจันฑาได้นำทฤษฎีทักษะแห่งชีวิตศตวรรษที่ 21 กับเรื่องสมรรถนะที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และ Mindset มาดีไซน์กิจกรรมต่างๆ ให้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์และช่วงวัยของเยาวชน 

“ในการจัดค่ายเยาวชนจะต้องดูก่อนว่าเป็นค่ายที่เราจัดขึ้นเองหรือโรงเรียนมาใช้สถานที่ เขาก็จะบอกเราว่าต้องการให้น้องๆ เรียนรู้อะไร แล้วเราค่อยเอาหลักการข้างต้นมาบวกกับหลักที่ค่ายเขาต้องการ เช่น ค่ายทักษะชีวิต อาจารย์จะบอกว่าอยากได้ความเป็นผู้นำ อยากให้น้องๆ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ทีนี้เราก็มาดูกิจกรรมว่ามีอะไรบ้างที่เราจะสามารถให้น้องๆ ได้ตามช่วงอายุ เด็กอายุ 3-5 ขวบ ต้องทำกิจกรรมการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ระบายสีสนุกๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่เน้นความถูกต้องเป๊ะๆ 

พอเด็กอายุ 7-12 ปี กลุ่มนี้จะต้องปล่อยพลังเยอะๆ เราต้องให้เขามีกิจกรรมที่ชาเลนจ์นิดหนึ่ง โดยเฉพาะกิจกรรมยิงธนู ปีนผานี่เป็นกิจกรรมไฮไลท์ที่น้องๆ ตื่นเต้นมาก แต่ถ้าโตขึ้นมาเป็น 12-16 ปี เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มโชว์ออฟ ฉะนั้นกิจกรรมต้องออกแบบให้มีความสวยงามดูเท่ๆ คูลๆ อย่างบางครั้งเราจะมีเวิร์กช็อปให้น้องๆ ได้ทำขนมหรืออาหารกับคนในชุมชนที่เราเชิญมาเป็นวิทยากร วิทยากรเขาก็ภูมิใจ เด็กๆ ก็สนุกอย่างครั้งที่แล้วทำขนมครก น้องๆ ก็ได้ฝึกผสมแป้งเอง หยอดเอง แคะขนมครกเอง 

ส่วนถ้าเป็นเด็กมหาวิทยาลัย เราจะให้น้องๆ มา Brainstorm (ระดมความคิด) ทำ Project Based (การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ) ร่วมกัน แต่ทั้งนี้ค่ายของเราจะมีช่างภาพโดยเฉพาะที่คอยถ่ายภาพหรือมีการไลฟ์กิจกรรมต่างๆ ทำให้น้องๆ รู้สึกว่ามันไม่โบราณ แถมยังได้ถ่ายภาพสวยๆ อีกด้วย”

แม้กิจกรรมของค่ายจะค่อนข้างหลากหลายไปตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ ดร.เลิศจันฑายืนยันว่ากิจกรรมของ KRSC จะเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning หรือ Learning by Doing ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการลงมือทำ 

“ถ้าเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เราจะเน้นเรื่อง 3R คืออ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น กับ 4C คือ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การร่วมมือกัน และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ ดังนั้นทุกกิจกรรมที่ทำเราจะพยายามทำให้ตอบโจทย์ในทุกอัน เช่น ถ้าน้องๆ ต้องระบายสี เราจะแบ่งเป็นทีม เขาก็ต้องร่วมมือกับเพื่อนว่าจะทำยังไงให้ลายออกมาไม่เหมือนกันแต่มีแนวทางคล้ายๆ กันทั้งทีม เช่น เป็นสีชมพูเหมือนกันทั้งทีมห้าคน แต่ออกมาไม่เหมือนกัน นั่นคือความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือถ้าสีชมพูไม่พอเราจะกระจายหรือทำยังไงให้ได้เหมือนกัน การสื่อสารคือต้องคุยกับเพื่อนๆ ด้วย เพราะฉะนั้นทุกกิจกรรมเราจะเน้นทุกอัน”

นอกจากทฤษฎีที่กล่าวมาแล้ว การนำทฤษฎี 21 วันมาปรับใช้กับน้องๆ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย โดยทฤษฎีดังกล่าวระบุว่าหากเราทำอะไรซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัยติดตัวเราต่อไป

“แม้น้องๆ ส่วนมากจะอยู่กับเราแค่ 3 วัน 2 คืน หรือเต็มที่ที่สุดที่เคยจัดคือ 5 วัน เราก็จะปรับทฤษฎี 21 วัน เป็น 21 ชั่วโมง แล้วก็ทำอะไรซ้ำๆ บอกซ้ำๆ อยู่ภายใต้กฎซ้ำๆ เชียร์อัพบ่อยๆ เขาก็จะเริ่มเข้าใจเริ่มจำไปอย่างน้อยนิดหนึ่งก็ยังดี ซึ่งในการสร้างเงื่อนไขในการเรียนรู้ก็เคยมีคำถามกับเราว่าทำไมต้องกำหนดขนาดนี้ แอ๊ะก็บอกว่าเวลาเราอยู่ในสังคม เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เพราะฉะนั้นการมี Common Rules คือพื้นฐานของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ถ้าน้องๆ ทำตามกฎเล็กๆ ได้เหมือนกัน สังคมก็จะอยู่ง่าย เหมือนกับที่ทำไมถึงต้องมีกฎหมาย เพื่อที่ให้ทุกคนเข้าใจว่าโอเค เราอยู่ร่วมกันหลายคน บริบทในการเติบโตเราต่างกัน” 

แต่หากน้องๆ ที่มาค่ายไม่ทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ร่วมกัน เช่น การพูดคำหยาบ ทีมงาน KRSC ก็จะใช้วิธีการสอนด้วยรักและอธิบายกับน้องๆอย่างเป็นมิตร ซึ่งดร.เลิศจันฑาเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนมายเซ็ตของน้องๆ ได้ในที่สุด 

“ถ้าน้องพูดคำหยาบไม่สุภาพ แอ๊ะจะเข้าไปใส่ซอฟท์เลยค่ะ แอ๊ะจะเดินไปกอดแล้วบอกน้องว่า ‘เราจะไม่พูดอย่างนี้นะลูก อยู่ในค่ายเราจะไม่พูดจาไม่เพราะกัน เพราะว่าเพื่อนอาจจะไม่เข้าใจว่าความหมายเป็นยังไง เราเปลี่ยนคำพูดดีไหมลูก’ แรกๆ น้องเขาก็จะงงๆ ทำไมพูดไม่ได้ แต่เราก็จะพูดซ้ำๆ สามสี่ครั้ง พอน้องพูดหยาบอีกเราก็ชาร์จอีก พูดอีกก็ชาร์จอีก ชาร์จจนกว่าจะหยุดพูด จริงค่ะ เป็นแบบนั้นจริงๆ 

ซึ่งมันเหมือนกับการเลี้ยงลูกเลย พอเวลาเราใส่ความรักไปสุดๆ ความรักมันจะท่วมท้นเขา แล้วเขาจะเปลี่ยนมายเซ็ต

หลังจากน้องๆ กลับบ้านไปก็มีพ่อแม่หลายคนรีวิวค่ายมาว่าอาจารย์ทำยังไง ทำไมน้องกลับไปแล้วไม่พูดคำหยาบ น้องกลับมาช่วยพ่อแม่ล้างชาม พ่อแม่ก็งงเพราะที่ผ่านมาปกติน้องอยู่บ้านเอาแต่เล่นเกม แอ๊ะบอกที่นี่เราเก็บโทรศัพท์ค่ะ แต่จะให้เล่นได้ในช่วง Free time activity แต่ระหว่างนั้นเราก็จะหาอะไรมาให้น้องๆ มาร่วมเล่นกัน เช่น พาไปเดินป่า เพื่อให้เขาไม่มีเวลาว่าง อย่างการพูดไม่เพราะเราก็ชาร์จ จนตอนหลังเขารู้สึกว่าเพื่อนไม่พูดอ่ะ It’s not cool. เราจะบอกว่ามันไม่คูลเลยนะลูก คนเท่ๆ เดี๋ยวนี้เขาไม่พูดกันหรอก เด็กๆ พอฟังก็จะบอกว่านึกว่าพูดแล้วคูลมาตลอดเลย 

ดังนั้นเด็กเดี๋ยวนี้ถือว่าน่าสงสารนะเพราะเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี แล้วคนสอนมันไม่ใช่แค่เฉพาะครูในโรงเรียนกับครอบครัว คนสอนมันมีอยู่เยอะมาก มัน Flood of Information และเขาได้เรียนรู้จากใครก็ไม่รู้ที่เราไม่รู้จัก การพูดการจาที่ไม่เพราะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของเขา เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่อยู่กับเราก็พยายามให้เขาปรับมายเซ็ต และสร้างสื่อในด้านบวกๆ ให้ค่อยๆ ซึมไป”

‘Soft Skills’ กุญแจสู่อนาคตในโลกที่พลิกผัน

ในฐานะที่ทำงานด้านการศึกษาและการจัดค่ายสำหรับเยาวชนมาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี รวมไปถึงการเป็นผู้ประกอบการ ดร.เลิศจันฑาเน้นย้ำว่าทักษะนอกห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับน้องๆ ในอนาคต เพราะการเก่งอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เพราะความรู้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นอกจากนี้เราอาจต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างโรคโควิด ซึ่งสิ่งต่างๆ ทำให้เธอตระหนักว่า Soft Skills คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้ในโลกที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว 

“สมัยนี้จะอาศัยแค่ความรู้แค่วิชาการอย่างเดียวเอาตัวไม่รอดค่ะ มันไม่ได้เลย มันต้องรู้จักพลิกแพลงยืดหยุ่น ซึ่ง soft skills เหล่านี้เกิดจากกิจกรรมนอกห้องเรียนทั้งนั้น 

สอนให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไง ทำงานร่วมกับผู้อื่นยังไง ถ้าเราคิดแต่ว่าเราตัวคนเดียวไม่ทำงานร่วมกับคนอื่นเลย ไม่มี Connection ไม่รู้จักการสื่อสารเชิงบวก ไม่รู้จักใครเข้ากับใครไม่ได้ อย่างช่วงโควิดไม่มีทางรอดเลยค่ะ 

ถ้าเราเป็นคนไม่ดีชอบบูลลี่เพื่อนตลอดเวลาเพื่อนจะคบจะช่วยเราไหมก็ไม่มีทาง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเรียนรู้ มันคือสมรรถนะทั้งหมด มีทักษะอย่างเดียวไม่มีความรู้ได้ไหมก็ไม่ได้อีกค่ะ เพราะในการใช้ชีวิตต้องรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่าฉันเอาตัวรอดอย่างเดียวแต่ไม่สนใจว่าความถูกผิดคืออะไรแบบนี้ก็ไม่ได้

ฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากและต้องปลูกฝังน้องๆ ตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่หน้าที่ของพ่อแม่ ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนร่วมกัน เพื่อทำให้สังคมนี้ให้น่าอยู่ขึ้นมากๆ สังคมดีไม่มีขายค่ะ อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง”

Tags:

ค่ายเยาวชน KRSCดร.เลิศจันฑา สีเหลืองสวัสดิ์ทักษะแบบอ่อนหยุ่น (soft skill)การเรียนรู้นอกห้องเรียนLearning by Doingทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Movie
    F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • SpaceBook
    Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

    เรื่อง เจษฎา อิงคภัทรางกูร

  • Social Issue
    ‘4 เรื่องต้องลงทุน’ กับ ‘7 นโยบาย’ สร้างสมรรถนะคนไทยให้เรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ: ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

    เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    วิทยาศาสตร์ในนาข้าว ไขปริศนาภูมิปัญญาสู่การเรียนรู้ข้างกองฟาง กับ ลุงจี๊ด ‘นาบุญข้าวหอม’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • 21st Century skills
    พลังแห่ง Soft Skill ทักษะที่จะช่วยให้เด็กเข้าใกล้ความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ไม่ต้องแตกสลายเพื่อจะพบแสงสว่าง
Myth/Life/CrisisBook
14 April 2023

ไม่ต้องแตกสลายเพื่อจะพบแสงสว่าง

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ฮีทคลิฟฟ์ เด็กกำพร้าผิวคล้ำจากเมืองลิเวอร์พูล ถูกนำมาเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรมร่วมกับลูกแท้ๆ เอิร์นชอว์ ที่คฤหาสน์วุธเธอริงไฮตส์ แต่เพราะไม่สมหวังในความรักทำให้เขาเริ่มต้นที่จะแก้แค้นด้วยเล่ห์กลต่างๆ
  • เราไม่อาจเพิกเฉยกับภาวะหน้าไหว้หลังหลอกและแสแสร้งที่แทรกซึมอยู่ในสนามพลังเหล่านี้และในตัวเราเอง ด้วย แม้ม่านมายาจะค่อยๆ ถูกปลดออกไปทีละชั้น เมื่อแต่ละวงจรการเปลี่ยนแปลงสมบูรณ์
  • บางทีเราก็ปล่อยให้ความแค้นลากเลือดจากอดีตมากร่อนใจ กระทั่งเราเองกำลังพ่นพิษใส่ความสัมพันธ์ตรงหน้า

“Your task is not to seek for love, but merely to seek and find all the barriers within yourself that you have built against it.” ― Rumi 

1.

ผมชื่อ ฮีทคลิฟฟ์ เคยเป็นเด็กกำพร้าผิวคล้ำที่ตุรัดตุเหร่อยู่ในเมืองลิเวอร์พูล (ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึง 20 เมืองดังกล่าวมีผู้อพยพมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาโดยใช้เป็นประตูสู่อังกฤษหรือประเทศอื่น ลิเวอร์พูลยังเป็นศูนย์ค้าทาสกระทั่งถูกล้มเลิกไปในปีค.ศ. 1807 ดังนั้น ก็พอให้ผู้อ่านคาดเดาได้ว่าฮีทคลิฟฟ์ในบริบทเช่นนี้จะรู้สึกมีปมด้อยอะไรได้บ้าง) ประมาณสามสิบปีก่อนเข้าศตวรรษที่ 19 คุณเอิร์นชอว์พาผมกลับมายังคฤหาสน์วุธเธอริงไฮตส์ ณ ดินแดนทางตอนเหนือของอังกฤษ เขารักและเลี้ยงดูผมเป็นลูก ร่วมกับลูกสาวและลูกชายของเขา แคเธอรีน และ ฮินด์ลีย์    

แคเธอรีน ชอบออกไปเล่นกับผมในท้องทุ่งกว้างซึ่งมีลมกระโชกแรงดุจดังหัวใจอิสระของเธอ แต่ฮินด์ลีย์กลับรู้สึกว่าถูกผมแย่งความรัก เขาคอยกลั่นแกล้งผมจนพ่อไล่ให้เขาออกจากบ้านไปเรียนหนังสือที่อื่น และเมื่อพ่อเสียชีวิตแล้ว ฮินด์ลีย์ก็กลับมาครองวุธเธอริงไฮตส์พร้อมกับภรรยาและจงใจทำให้ผมเป็นกรรมกรขาดการศึกษา  

แต่ผมกับแคเธอรีนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กระทั่งวันที่เธอเริ่มปันใจให้ เอดการ์ ชายหนุ่มตระกูลลินตันที่มีหน้าตาทางสังคม ซึ่งอาศัยอยู่กับน้องสาว อิสเบลลา ลินตัน ณ คฤหาสน์เกรนจ์ในละแวกใกล้เคียงบ้านของเรา และแม้แคเธอรีนจะรักผมแต่ก็กลับหลุดปากเรื่องสถานะของผมที่ดูต่ำต้อย 

ผมหนีออกจากวุธเธอริงไฮตส์ไปด้วยดวงใจที่ขื่นขมตรมช้ำ 

สามปีผ่านไป ผมกลับมาอย่างชายผู้มั่งคั่งและจะไม่ถูกเหยียบย่ำอีกต่อไป ฮินด์ลีย์กำลังเป็นหนี้เป็นสินหลังจากสูญเสียภรรยา ผมจึงถือโอกาสเป็นเจ้าหนี้เขาและด้วยเล่ห์กลของผม ในไม่ช้าผมก็ได้ครอบครองวุธเธอริงไฮตส์ นอกจากนั้น ผมยังจงใจแต่งงานกับ อิสเบลลา ลินตัน ที่ผมไม่ได้รักเพียงเพื่อจะครอบครองคฤหาสน์เกรนจ์ที่มีพวกขี้เหยียด ผมทารุณกรรมภรรยาเชื้อสายลินตัน กระทั่งอีผู้ดีมันต้องหนีไปอยู่กรุงลอนดอนและเลี้ยงลูกชายของเราที่นั่น

แคเธอรีนแต่งงานกับ เอดการ์ ลินตัน และหลังจากคลอดลูกสาวที่หน้าตาเหมือนเธอเหลือเกิน เธอก็เสียชีวิต ต่อมาฮินด์ลีย์ พี่ชายของเธอก็ลาจากโลกนี้ไปเช่นกัน ผมจึงถือโอกาสเอาแฮร์ตัน ลูกชายของมันมาเลี้ยง ผมบีบให้ลูกชายของฮินลีย์ซึ่งควรจะต้องโตไปเป็นสุภาพบุรุษเจ้าของที่ดินตกลงไปในความต่ำต้อย ไร้การศึกษา ทำงานกรรมกรและดูดิบๆ เหมือนที่ผมเคยถูกกระทำ ดูสิว่าจะจบสวยกว่าผมได้ไหม? ผมสะใจที่แม้จะทำอะไรแย่ๆ กับเด็ก แต่มันก็ยังเคารพผม 

ผมใช้ชีวิตที่เหลือกดขี่เด็กทุกคนที่มีเลือดเนื้อของคนที่ผมแค้น ผมผู้เคยอยู่ชายขอบและถูกรังแก บัดนี้รู้สึกชอบธรรมที่จะเอาคืนอย่างเลือดเย็นขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าภายหลังจะมั่งคั่งเพียงไหน หัวใจผมก็ยังขาดพร่อง ยิ่งล้างแค้นก็ยิ่งขยี้แผล และแคเธอรีนก็ยิ่งดูห่างไกลออกไปทุกที และลึกลงไปกว่านั้น ส่วนหนึ่งของการแก้แค้นก็เป็นเพียงการจำลองการแต่งงานของแคเธอรีนที่ทำให้ผมร้าวรานขึ้นมาอีกครั้ง 

ผมบังคับให้ลูกชายของผมซึ่งมีเชื้อสายลินตัน(จึงเป็นเสมือนตัวแทนของ เอดการ์ ลินตัน) แต่งงานกับลูกสาวของแคเธอรีน (ภาพแทนแคเธอรีน)

กระนั้น ลูกสาวของแคเธอรีนกลับมีใจให้ แฮร์ตัน ที่ผมเลี้ยงให้เป็นเหมือนผม มันอาจเป็นตอนจบอันสมหวังที่ผมปรารถนามานาน เหมือนได้มองเรื่องราวแห่งบาดแผลเก่า ในมุมมองใหม่ที่เป็นบวกกว่าเดิม

ผมเพียงปรารถนาจะอยู่กับแคเธอรีน 

วิญญาณเธอมารับผม และมีคนฝังศพของผมไว้ใกล้กันกับร่างของเธอ

2.

หากคนกระแสหลักไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ แล้วเราบริสุทธิ์ขนาดนั้นเลย?

ความรุนแรงอันเป็นระบบระเบียบเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในท้องที่ต่างๆ ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปเพื่อที่ความสุขสบายบางรูปแบบจะยังคงอยู่ ในระดับการเคลื่อนไหวทางสังคม เราจึงควรเข้าข้างกลุ่มที่ถูกกดทับและถูกทำให้เป็นชายขอบในประเด็นใดๆ การสร้างความตระหนักรู้โครงสร้างที่ทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่า การรู้เท่าทันความรุนแรงที่แทรกซึมอยู่ในอุดมการณ์ต่างๆ ฯลฯ ควรได้รับการสนับสนุน 

กระนั้น เราไม่อาจเพิกเฉยกับภาวะหน้าไหว้หลังหลอกและแสแสร้งที่แทรกซึมอยู่ในสนามพลังเหล่านี้และในตัวเราเอง ด้วย แม้ม่านมายาจะค่อยๆ ถูกปลดออกไปทีละชั้น เมื่อแต่ละวงจรการเปลี่ยนแปลงสมบูรณ์ 

เวลาที่เราก่อกรรมทำเข็ญกับคนอื่นในนามแห่งความยุติธรรม เราเกลียดตัวกินไข่อยู่หรือไม่ หรือเรากำลังไม่รักด้านที่ถูกทำให้รู้สึกต่ำต้อยและไร้อำนาจของตนเองหรือไม่? หากเราอยากทำให้ใครสักคนรู้สึกไร้ค่าบ้าง ใช่หรือไม่ว่าเรากำลังไม่อยากรับรู้ว่าตนเองรู้สึกว่าตนไร้ค่าเพียงใด? ฉันเคยโกรธคนอื่นเพราะโกรธตัวเองที่ไม่ว่าเฆี่ยนตีตัวเองมากมายเพียงไหนก็ยังรู้สึกไม่ ‘ดีพอ’ จนกระทั่งวันหนึ่งก็ต้องเรียนรู้(แม้ไม่ง่ายนัก)ที่จะเปลี่ยนการลงโทษตัวเองเป็นการให้รางวัลตัวเองบ้าง มากกว่าที่จะรอคอยให้คนในครอบครัวมาให้กำลังใจ 

3.

เราไม่จำเป็นต้องแตกสลายและทำให้คนอื่นพังทลาย เพียงเพื่อจะพบแสงและเปลี่ยนชีวิต

จิตวิญญาณที่รู้สึกถูกกระทำ เปรียบเหมือนคนนอนตายตาไม่หลับ และโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มันก็ได้เรียกหาบุคคลแบบเดิม หรือสร้างเหตุการณ์แบบเดิมๆ ขึ้นมา ครั้งแล้วครั้งเล่า 

ความรักที่อยากหลอมรวมอาจกลายเป็นความหลงตน(Narcissistic) หรือลืมตน(forget its own being)โดยสิ้นเชิงราวกับอัตตาที่ถูกพลังงานอีกขั้วกลืนกิน หลายครั้ง หัวใจที่สั่นไหวผิดจังหวะอันคุ้นชินซึ่งได้อาจหาญกระโจนเข้าเปลวเพลิงอันน่าหวาดกลัวก็ทำให้เราได้พบอีกชั้นแห่งความจริง นั่นเอง มันไม่ได้ทำเพื่อรักมากกว่าการแสวงหาความจริงแท้ แต่การเติบโตเปลี่ยนผ่านนั้นไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องเรียกร้องบทเรียนดิบโหดที่จะตัดทะลวงภาพหลงผ่านการบดขยี้อัตตาเราให้พังทลายเพียงเพื่อจะเปิดช่องแผลให้แสงลอดส่องเข้ามา เราได้ทำความรู้จักเงามืดแต่ก็ไม่จำเป็นต้องแตกสลายเพียงเพื่อจะโผหาอ้อมกอดแห่งแสงสว่างอีกแล้ว เราแค่ขอบคุณที่สรรพสิ่งได้ให้เราและขอบคุณตัวเองที่เราได้ให้ อีกทั้งเราไม่จำเป็นต้องกดระเบิดพลีชีพทำร้ายตัวเองเพื่อที่จะทำร้ายหรือไม่ทำร้ายคนอื่น และไม่ต้องทำร้ายคนอื่นแบบที่เราถูกกระทำเพียงเพื่อจะหาตอนจบที่ดีกว่า การตายแล้วเกิดใหม่ในชีวิตอันมีปัญญากว่าเกิดได้ในความธรรมดาประจำวันด้วย และไม่จำเป็นต้องผุดขึ้นจากเถ้าถ่านแห่งวิกฤตอันตึงเครียดเท่านั้น จิตวิญญาณที่รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมมักสร้างหรือดึงดูดสถานการณ์เดิมๆ เข้ามาโดยอาจซุกซ่อนแก่นสารเก่าในเปลือกหุ้มใหม่ๆ แต่แล้วเสี้ยวเวลาอันเป็นจุดเปลี่ยนก็มาถึง ทำให้เราไม่ต้องกลับไปเยี่ยมมันอีกแล้ว และด้วยเหตุนั้นก็อนุญาติให้ร่องน้ำแห่งชีวิตเปลี่ยนไป   

เหตุเดียวกันอาจสร้างผลที่แตกต่าง แต่เหตุที่ต่างกันก็อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์อย่างเดียวกันด้วย (The Individual as a Channel of Group Process โดย Claire Nance) ปฏิสัมพันธ์แสนสามัญต่อคนรอบข้างก็ทำให้ลอกคราบเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่มีสุขภาวะกว่าและส่งผลกระเพื่อมเชิงบวกไปในระบบร่วมได้ 

แต่บางที เราปล่อยให้ความแค้นลากเลือดจากอดีตมากร่อนใจ กระทั่งเราเองกำลังพ่นพิษใส่ความสัมพันธ์ตรงหน้าหรือไม่? 

ความสัมพันธ์แบบที่จริงๆ แล้วเราเองก็โหยหาอย่างมาก

รวมถึงความสัมพันธ์กับตนเอง ซึ่งเปี่ยมด้วยรัก

อ้างอิง

Wuthering Heights โดย Emily Brontë (1847) *อิงโดยบิดมุมเล่า

 “Nelly, I am Heathcliff!”: The Intersection of Class, Race, and Narration in Emily Brontë’s Wuthering Heights โดย Hannah Caywood
Sitting in the Fire: Large Group Transformation Using Conflict and Diversity (ภาษาไทย นั่งกลางไฟ แปลโดย ณฐ ด่านนนทธรรม) โดย อาร์โนล มินเดล
The Individual as a Channel of Group Process: Case Studies in Group Process Work โดย Claire Nance
Violence โดย Slavoj Zizek
บทกวีหลายบทของท่าน Rumi สนใจดูเพิ่มเติม อาจอ่านบทกวีแนวซูฟี (Sufi) อันเป็นรหัสนัยแห่งอิสลาม The Masnavi of Rumi, Book One: A New English Translation with Explanatory Notes โดย Jalaloddin Rumi  แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Alan Williams 


ขอบคุณพลังงานราศีพิจิกและเรือน 8 อ่านพื้นฐานเพิ่มเติมที่ คัมภีร์สูตรเรือนชะตา โดย พลตรี ประยูร พลอารีย์

Tags:

นิยายชีวิตWuthering Heightsการเติบโต

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Book
    ความฝันที่ล้มเหลวไม่เจ็บปวดเท่าความฝันที่ไม่ได้ลงมือทำ: คิริโกะกับคาเฟ่เยียวยาใจ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • How to enjoy life
    เปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ในชีวิต(ที่เรารับมือได้)ให้กลายเป็นแรงขับดัน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • IMG_3795
    Healing the trauma
    เมื่อบาดแผลหล่อหลอมชีวิต: การเติบโตงอกงามจากความเจ็บปวด (Post-traumatic Growth)

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Marshmallow
    How to enjoy life
    ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ทักษะชีวิตที่ช่วยให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Book
    คุณ ผม และผู้คนที่สวนกันบนรถไฟสายฮังคิว: เราทุกคนล้วนเป็นผู้โดยสาร ในขบวนรถไฟสายชีวิต

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

‘รักตัวเอง’ สุขจริงหรือแค่ปลอบใจ แล้วแค่ไหนถึงกลายเป็นหลงตัวเอง
How to enjoy life
11 April 2023

‘รักตัวเอง’ สุขจริงหรือแค่ปลอบใจ แล้วแค่ไหนถึงกลายเป็นหลงตัวเอง

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • รักตัวเองนั้นถือว่าเป็นกลไกที่แตกต่างจากรักที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลอื่นๆ เพราะเราไม่ต้องมีกลไกในการผูกพันหรือผูกมัดตัวเราเอง รักตนเองจึงไม่ใช่รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งภายนอก เพราะมันเป็นกิจกรรมของตนเองถึงตนเอง
  • 3 ด้านสำคัญของการ ‘รักตัวเอง’ คือ การดูแลให้ความใส่ใจกับตัวเองทั้งกายและใจ, ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น นั่นคือ ‘การเห็นคุณค่าในตัวเอง’ (Self-esteem) รวมถึงการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด ล้มเหลว รู้จักให้อภัยตนเอง
  • คนที่รักตัวเองเป็น จะทำให้ตัวเองมีความสุขได้ ไม่ว่าตนเองจะมีคู่รักแบบโรแมนติกหรือไม่ก็ตาม

หากท่านฟังเพลงปลอบใจคนอกหัก อ่านคำคมของคนดังในโซเชียลมีเดีย หรืออ่านคำให้กำลังใจในวอลของนักโคชชิง จนถึงอ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพจิต ท่านจะพบกับสิ่งหนึ่งที่คนส่งเสริมให้ทำเสมอคือการ ‘รักตัวเอง’ แม้แต่ผมเองก็เคยเขียนเรื่องนี้ไปว่าให้รักตัวเราเองก่อนจะมีคู่รัก (อ่านได้ที่ https://thepotential.org/life/self-love) จนกระทั่งวันก่อนมีเพื่อนมาถามผมว่า “แล้วรักตัวเองมันหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมคนถึงใช้ถึงพูดกันเยอะแยะ” ผมเลยเพิ่งเอะใจว่าคำนี้มีความหมายที่ค่อนข้างกำกวมอยู่พอสมควร ผมคิดว่าน่าจะมีบางท่านมีข้อสงสัยว่า…

“การรักตัวเองนี่เหมือนกับความรักแบบเดียวกับคู่รักหรือแฟนไหม”

“เป็นไปได้หรือที่คนจะไม่รักตัวเอง ใคร ๆ ก็รักตัวกลัวตายและอยากมีความสุขกันทั้งนั้น”

“รักตัวเองนั้นมันเหมือนคำปลอบใจที่เอาไว้ใช้สำหรับคนที่ไม่มีคู่รัก เลยต้องหันมา ‘รักตัวเอง’ แทน”

วันนี้ผมเลยชวนมารู้จักความหมายของคำว่า ‘รักตัวเอง’ ให้ชัดๆ กันครับ

สิ่งหนึ่งที่มักจะสับสนกับคำว่ารักตัวเองได้ง่ายๆ คือคำว่า ‘หลงตัวเอง’ คำคู่นี้เป็นคำที่มีชวนให้สับสนกันมานานแล้ว หลงตัวเองเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่หมกมุ่นกับคุณลักษณะต่างๆ ของตัวเองว่าดีว่าเหนือกว่าใคร คำนี้ให้ความหมายในทางลบและมีการใช้กันมาอย่างยาวนานทั่วไปทั้งในการพูดปกติและเชิงวิชาการ 

คำนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงจิตวิทยาตอนศาสตร์ยังแบเบาะราวๆ ค.ศ. 1890 ช่วงนั้นจิตวิทยาได้รับอิทธิพลจากทฤษฎี ‘จิตวิเคราะห์’ เป็นหลัก ซึ่งผู้ก่อตั้งแวดวงจิตวิเคราะห์นั้นน่าจะเป็นคนที่เคยได้ยินชื่อกันดีเพราะเขาคือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ จิตวิเคราะห์มองความรักว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์มีไว้เพื่อกำหนดเป้าหมายของความต้องการ เพื่อให้ได้มาเพื่อความสุข เช่น เป้าหมายแรกก็คือแม่ เพราะแม่เป็นผู้ให้อาหารให้ความอบอุ่น และเมื่อโตขึ้นเป้าหมายมันจะย้ายและไปเป็นคู่รัก นี่คือรูปแบบความรักปกติที่เกิดไปตามวัย 

อย่างไรก็ตามบางคนอาจพัฒนาเป้าหมายของความรักผิดพลาด และทิศทางความรักมันย้อนกลับมาหาตัวเอง เลยกลายเป็นการหลงตัวเองแทน ซึ่งการหลงตัวเองเป็นสิ่งผิดปกติในทางจิตวิเคราะห์ และสิ่งนี้เป็นที่มาของโรคจิตและโรคประสาท

แม้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่จิตวิทยาสมัยใหม่ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของจิตวิเคราะห์หลายอย่าง การหลงตัวเองยังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ โดยการหลงตัวเองในจิตวิทยาสมัยใหม่นั้นเป็น ‘บุคลิกภาพ’ (ลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละคนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนไปตามเวลา บุคลิกภาพนั้นพัฒนามาตั้งแต่เด็ก) คนที่มีบุคลิกภาพหลงตนเองคือคนที่ให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินควร เชื่อว่าตนเองต้องได้ในสิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะทางใดก็ตาม และมองว่าตนเองดีกว่าคนอื่นๆ จนเกินเหตุ ถ้ามีบุคลิกภาพรูปแบบนี้สูงเกินไปก็จะกลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ ขอเน้นว่าสูงเกินไปนะครับ เพราะคนเราทุกคนมีระดับความหลงตัวเองอยู่แล้ว อาจจะมีมากน้อยต่างกันไปแค่นั้น แต่ถ้าไม่มากเกินไป มันก็เป็นเพียงลักษณะที่ต่างกันไปของแต่ละคนเท่านั้น 

ส่วนประวัติของคำว่ารักตัวเองนั้น แม้ว่าจะมีมาแต่โบร่ำโบราณเช่นกันแต่จะใช้กันในแวดวงของศาสนาและปรัชญาเสียมากกว่า และเพิ่งเข้ามามีบทบาทในแวดวงจิตวิทยาในหัวข้อการส่งเสริมสุขภาพจิตราว ค.ศ. 1950 คำนี้มีความหมายที่ไม่ชัดเจน และให้นิยามแตกต่างกันไปตามแวดวงที่มันอยู่ อย่างไรก็ตาม ‘รักตัวเอง’ ที่คนนิยมพูดถึงกันทั้งในความหมายทั่วไป และความหมายในเชิงวิชาการ นั้นเป็นความในแง่บวกไม่ใช่การหลงตัวเองซึ่งเป็นในแง่ลบ แค่จุดนี้ก็เห็นถึงข้อแตกต่างที่ชัดเจนหนึ่งอย่างของสองคำนี้แล้ว ว่าแล้วเรามาดูความหมายของรักตัวเองกันต่อ

รักตัวเองมันมีหน้าตาแบบไหน เหมือนกับรักแฟน รักพ่อแม่ รักเพื่อนหรือเปล่า ถ้าเราแยกความรักเป็นประเภทง่ายๆ เราจะเห็นว่าเป้าหมายของบุคคลที่จะรักนั้นจะแตกต่างกันไป และเบื้องหลังกลไกในสมองของเราเวลาเกิดความรักกับคนในกลุ่มต่างกัน ก็มีกลไกแตกต่างกันไปด้วย จิตวิทยาวิวัฒนาการที่ศึกษาว่ากลไกต่างๆ ของมนุษย์นั้นมีเพื่อตอบสนองความอยู่รอดอย่างไรให้คำตอบกับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนครับ

รักระหว่างพ่อแม่หรือคนเลี้ยงและเด็ก รักในรูปแบบนี้เป็นความผูกพันเพื่อตอบสนองความอยู่รอดของเด็กที่เกิดมาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป ทำให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงรู้สึกผูกพันกับเด็กเพื่อให้ค่อยอยู่ใกล้เอาใจใส่ดูแลลูกตัวเองที่ยังอ่อนแอให้มีชีวิตรอด และทำให้เด็กรู้สึกว่าผูกพันต้องการอยู่ใกล้ผู้เลี้ยงตลอดเพราะเป็นผู้เลี้ยงที่ให้ทั้งอาหารและความปลอดภัย 

รักแบบโรแมนติก หรือรักแบบคู่รักเกิดเพื่อให้มีการใกล้ชิดระหว่างหนุ่มสาวเพื่อเกิดการสืบเผ่าพันธุ์ และอยากให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันต่อเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก ในสมัยโบราณการมีทั้งพ่อและแม่ช่วยเลี้ยงลูกนั้นสำคัญกับการอยู่รอดของลูกมาก นอกจากนี้รักในรูปแบบนี้มีจุดเด่นคือ ความหึงหวง เพราะการมีชู้ของฝ่ายชายอาจหมายถึงการทิ้งให้ฝ่ายหญิงเลี้ยงลูกคนเดียว ส่วนการมีชู้ของฝ่ายหญิงหมายถึงฝ่ายชายอาจถูกหลอกให้เลี้ยงลูกของคนอื่น

รักพี่น้อง รักเพื่อน เป็นลักษณะของความสนิทชิดใกล้ที่เกิดจากการใช้เวลาอยู่ด้วยกันจนคุ้นเคย เกิดเป็นความสัมพันธ์ในคนกลุ่มเดียวกันที่มีอะไรคล้ายๆ กัน ความรู้สึกรักแบบนี้จะสร้างกลุ่มที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันตอนเดือดร้อน ร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน สร้างความปลอดภัยให้แก่กันและกันมากขึ้น หรือรวมถึงความสบายใจจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ไว้ใจได้

สังเกตว่ารักแต่ละแบบมีกลไกที่แตกต่างกัน แม้จะใช้คำว่า ‘รัก’ เหมือนกันก็ตามแต่ตอบสนองความอยู่รอดในคนละแง่มุม แต่สิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายกันคือการสร้างเหมือนสิ่งผูกมัดให้คนที่อยู่ด้วยกันและตอบสนองต่อความอยู่รอดนั้นอยู่ด้วยกันไว้

อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเวลาพูดถึงกลไกของความรักคือ ‘คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม’ เพราะมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงกลไกทางความคิดหรือความรู้สึกที่ธรรมชาติให้มาเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์เราสร้างอารยธรรมที่เกิดมาจากภาษาและสัญลักษณ์นามธรรมต่างๆ จำนวนมหาศาล หลายสิ่งที่มนุษย์ให้คุณค่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดในเชิงวิวัฒนาการเท่านั้น แต่เป็นคุณค่าทางใจที่สังคมให้คุณค่ามากกว่า เช่น ถึงแม้รักแบบโรแมนติกมีที่มาจากการสืบเผ่าพันธุ์  แต่ในสังคมสมัยใหม่ ความรักไม่ได้ตายตัวแค่กิจกรรมทางเพศหรือการมีลูก แต่เป็นเรื่องที่สำคัญทางความรู้สึกมากกว่า คู่รักที่ทั้งสองฝ่ายมีร่างกายเป็นเพศเดียวกันก็มีความรักแบบโรแมนติกได้ หรือคนจำนวนมากที่แต่งงานแต่ไม่เคยคิดจะมีลูก 

แล้ว ‘รักตัวเอง’ นั้นจะเป็นอีกรูปแบบของประเภทของรักในด้านบนไหม หากมองในแง่กลไกทางจิตวิทยาแล้วคำตอบคือไม่ใช่ครับ 

แม้ทางภาษาเราจะใช้คำว่า ‘รัก’ เหมือนกัน แต่รักตัวเองนั้นถือว่าเป็นกลไกที่แตกต่างจากรักที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลอื่นๆ เพราะเราไม่ต้องมีกลไกในการผูกพันหรือผูกมัดตัวเราเอง 

หรืออาจจะพูดได้ว่ารักตนเองไม่ใช่รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งภายนอก เพราะมันเป็นกิจกรรมของตนเองถึงตนเอง 

นอกจากนี้ถึงแม้คำว่ารักตัวเองถูกพูดถึงในแวดวงจิตวิทยาบ่อยครั้ง แต่ว่าบุคคลที่วิจัยเรื่องนี้แต่ละคนอาจจะให้นิยามกับคำว่ารักตัวเองแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามมีจุดที่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันว่ารักตัวเองนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้ และผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือ 3 ด้านสำคัญของการ ‘รักตัวเอง’

ด้านแรกที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงที่สุดคือ การดูแลให้ความใส่ใจกับตัวเองให้มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ไม่ปล่อยให้ตนเองทรุดโทรมหรือล้มป่วย

ด้านที่สองคือ ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ตรงนี้คำที่เราน่าจะคุ้นคือ ‘การเห็นคุณค่าในตัวเอง’ (Self-esteem) คือประเมินว่าตัวเราเองนั้นมีแง่ดี มีความสามารถ มีจุดแข็ง มีคุณค่า พูดง่ายๆ ว่ารู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ปฏิเสธการเป็นตัวเราเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา ไม่หวั่นไหวจากการถูกสังคมประเมินหรือตีค่า

และด้านสุดท้าย รักตัวเองยังรวมถึงการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด ล้มเหลว รู้จักให้อภัยตนเองกับเรื่องดังกล่าว และหากรู้สึกแย่ เสียใจ เจ็บปวด ก็ยอมรับและเข้าใจในสภาพของร่างกายและจิตใจที่เป็นแบบนั้น

นอกจากนี้ยังมีหากศึกษาในงานวิจัยหรือตำราที่ต่างกัน อาจจะพบถึงประเด็นอื่นๆ มากไปกว่านั้น เช่น การพัฒนาตนในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะความชำนาญ บางครั้งรวมไปถึงการพัฒนาตนในทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนา แต่ในภาพรวมแล้ว การทำหรือการคิดสิ่งดีๆ ให้แก่ตนเอง ให้ตนเองรู้สึกดี มีความสุข หรือพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘รักตัวเอง’

หากเราสังเกตแล้วจะพบว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับการรักตัวเองเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนทุกคนควรจะทำทั้งนั้น และนี่เป็นสิ่งที่ตอบคำถามอีกข้อที่คนสงสัยว่า การรักตัวเองนั้นเป็นเหมือนของทดแทนการไม่มีคนรักหรือไม่ โดยคำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ เพราะรักทั้งสองอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกัน แม้หลายๆ คนที่พบปัญหากับความรักจะได้รับการแนะนำให้ ‘กลับมารักตัวเองก่อน’ ไม่ได้หมายความว่าให้เขาไปรักตัวเองในรูปแบบเดียวกับรักแฟน แต่หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ ยอมรับในตัวเราเอง มุ่งทำความเข้าใจตนเองมากกว่า 

คนที่รักตัวเองเป็น จะทำให้ตัวเองมีความสุขได้ ไม่ว่าตนเองจะมีคู่รักแบบโรแมนติกหรือไม่ก็ตาม

ถึงแม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีสัญชาตญาณรักตัวกลัวตายติดตัวมาแต่เด็กและเราทุกคนต่างแสวงหาความสุขเป็นปกติ แต่เนื่องจากสังคมมนุษย์นั้นซับซ้อน เราเลยมีความสุขที่ซับซ้อนมากกว่าการกินอิ่ม มีที่พักปลอดภัย ไม่เจ็บไม่ไข้ มนุษย์เราให้ความสำคัญกับหลากหลายเรื่องอย่างการงาน การเงิน ความก้าวหน้า คู่รัก และเรื่องอื่นๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งการแสวงหาความสุข การทำในสิ่งที่ตนคิดว่าจำเป็น สำคัญ หรืออยากได้นั้นดึงความสนใจของเราไปจากตัวเราเองจนหมด ผลคือเราลืมทำกิจกรรมที่ดูแลเอาใจใส่ตนเองและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดีกับตัวเอง อย่างที่เขาเรียกกันว่า ‘ลืมรักตัวเอง’ 

เหมือนเรามุ่งเดินไปสู่เป้าหมายไกลๆ ที่เราคิดว่าเราจะทำให้ตัวเรามีความสุข แต่เราลืมทำสิ่งที่จำเป็นที่อยู่ใกล้ นี่เป็นคำตอบว่าทำไมบางคนถึงดูไม่รักตัวเอง ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็น่าจะให้ความสำคัญกับตัวเองทั้งนั้น 

ก่อนจากกัน ผมอยากพูดถึงการรักตัวเองในรูปแบบที่จำง่ายๆ ทุกครั้งที่ผมพูดเกี่ยวกับความหมายของความรักผมจะนึกถึงคำพูดของคุณดวงหทัย ศรัทธาทิพย์ (ดารา/ผู้เขียนบท) ที่กล่าวว่าการที่เรารักใครก็เหมือนเรามีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาให้แก่คนคนนั้น แม้ว่าการรักตัวเองจะเป็นคนละเรื่องกับความรักแบบโรแมนติก แต่ผมกลับพบว่านิยามของคุณดวงหทัยนั้นเหมาะกับการตอบคำถามเวลาที่เราคิดว่า ‘เราจะรักตัวเองได้อย่างไร’ แม้อาจจะไม่เที่ยงตรงกับนิยามตามพุทธศาสนา แต่ผมคิดว่าการมีพรหมวิหาร 4 แก่ตนเองเป็นเคล็ดลับในการจดจำถึงแนวทางในการรักตนเอง

เมตตาต่อตนเอง หมั่นดูแลให้ตัวเองสุขภาพแข็งแรง มองหาว่าสิ่งใดที่ทำให้ตนมีความสุขโดยไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น หมั่นทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต เล่นกีฬา ทำงานอดิเรก ทำสิ่งที่ตนเองรัก

กรุณาต่อตนเอง ให้ตนเองพ้นทุกข์ หากเครียด กลุ่มอกกลุ้มใจเรื่องใด ให้ลองหาทางออกดู อย่าปล่อยให้มันหมักหมมในใจ อาจจะเริ่มที่การทบทวนเรื่องราวด้วยตนเองและหาทางจัดการลดความทุกข์ความเครียดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ไปจนถึงการพึ่งพาทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนาหากทางนั้นทำให้ท่านสบายใจ

มุทิตาต่อตนเอง ยินดีเมื่อตัวเรามีความสุข หนึ่งในหลักของสุขภาพจิตที่ดีคืออย่าลืมยินดีกับความสุขที่เข้ามาในชีวิต แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้ตระหนักและปลาบปลื้มเมื่อมีสิ่งที่ดีๆ เกิดในชีวิต จะจดบันทึกเหตุการณ์ดีๆ เอาไว้ก็เป็นไอเดียที่ดี

อุเบกขาต่อตนเอง บางครั้งปัญหาในชีวิตบางเรื่องมันนอกเหนือความพยายามของเรา และปัญหาบางอย่างมันเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามันไม่ทำให้เราไม่ถึงตาย เราก็ยังต้องอยู่ต่อไป ยอมรับและวางเฉยกับสิ่งนั้น อย่าเก็บเอามาทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเองว่าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น

หลายๆ ท่านที่อ่านแล้วคิดว่าทุกอย่างที่บอกมานั้นก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ถือว่าดีแล้วครับ ท่านรักตัวเองอยู่แล้ว แต่หากท่านไหนรู้สึกว่าลืมทำหรือใส่ใจบางข้อไป ก็อยากให้ลองใส่ใจตรงนี้ไว้บ้าง ปัญหาหลายๆ อย่างในชีวิตนั้น พอมันเป็นปัญหามันย่อมสร้างความทุกข์อยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่คนที่รักตัวเองเป็นจะมีความเข้มแข็งในการสู้ทั้งกายและใจ เชื่อมั่นว่าตนเองทำอะไรได้ และไม่รู้สึกเหมือนชีวิตพังไปหากล้มเหลว ซึ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้ท่านยังมีความสุขได้ครับ

เอกสารอ้างอิง

Bowlby, J. (1969). Attachment and loss: Vol. 1. Attachment. New York: Basic Books.

Bowlby, J. (1973). Attachment and loss: Vol. 2. Separation, anxiety, and anger. New York: Basic Books.

Baumeister, R. F., Smart, L., & Boden, J. M. (1996). Relation of threatened egotism to violence and aggression: the dark side of high self-esteem. Psychological review, 103(1), 5.

Hazan, C., & Shaver, P. (1987). Romantic love conceptualized as an attachment process. Journal of personality and social psychology, 52(3), 511

Henschke, E., & Sedlmeier, P. (2021). What is self-love? Redefinition of a controversial construct. The Humanistic Psychologist.

Maharaj, N., & April, K. A. (2013). The power of self-love in the evolution of leadership and employee engagement. Problems and perspectives in management, (11, Iss. 4), 120-132.

ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์. (2540) มีผัวเสียทีดีไหมหนอ. กรุงเทพฯ , ดอกหญ้า.

ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.

ริดชาร์ด แอพพิกนานซี. (2562). ฟรอยด์ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.

https://en.wikipedia.org/wiki/Self-love

Tags:

การเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)จิตวิทยาฝึกยอมรับความล้มเหลวการดูแลตัวเองรักตัวเองรูปแบบความรัก

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • How to enjoy life
    เปิด ‘ไพ่มูดูชีวิต’ เข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งและค้นหาวิธีดูแลใจ กับ ‘อั๊ท – ณอัญญา สาวิกาชยะกูร’ เพจวารีแห่งใจ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • How to enjoy life
    การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) ที่ไม่ใช่แค่การกดดัน ตำหนิตัวเอง

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    มองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity) : ในวันที่เราต่างมีช่วงเวลาแย่ แต่ต้องกดมันไว้ว่า ‘ไม่เป็นไร’

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    A BEAUTIFUL DAY IN THE NEIGHBORHOOD: วางสัมภาระในใจออกเดินทางใหม่เพื่อให้เข้าใจชีวิต

    เรื่อง กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

  • Life classroom
    SELF-COMPASSION: ไม่ต้องใจร้ายกับตัวเองมากนักก็ได้วัยรุ่น

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel