- ปิน็อกกีโอ เป็นหนึ่งในตัวละครจากวรรณกรรมเด็กที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก แต่สิ่งที่ทำให้ปิน็อกกีโอ แตกต่างจากตัวละครในวรรณกรรมเด็กอื่นๆ คือ นิสัยที่ตรงกันข้ามกับนิยามของเด็กดีทุกอย่าง และมีพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่สังคมคาดหวังจาก ‘เด็ก’ หรือ ‘ผู้ใหญ่’
- เป้าหมายสำคัญในการเขียนเรื่องปิน็อกกีโอ เพื่อเป็นนิทานสอนเด็กให้รู้จักประพฤติตัวตามแบบอย่าง ‘เด็กดี’ ที่สังคมคาดหวัง โดยเล่าเรื่องราวให้ปิน็อกกีโอพบเจอกับวิบากกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์และการเรียนรู้จากความผิดพลาดของปิน็อกกีโอ
- แม้การสอนอย่าง ‘ตรงไปตรงมา’ ในเรื่องปิน็อกกีโอ อาจจะ‘เชย’ และใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ในโลกยุคปัจจุบัน แต่แก่นสำคัญ ที่เป็นความจริงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ ความรัก ความเข้าใจ และการให้โอกาส จะช่วยให้เด็กคนหนึ่ง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างแน่นอน
ปิน็อกกีโอ หรือที่หลายคนคุ้นในชื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พิน็อกคิโอ, พีน็อกคีโอ หรือ พิน็อคคีโอ นับเป็นหนึ่งในตัวละครจากวรรณกรรมเด็กที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก
แต่สิ่งที่ทำให้ปิน็อกกีโอ แตกต่างจากตัวละครในวรรณกรรมเด็กอื่นๆ และกลายเป็นภาพจำของคนทั่วโลกเมื่อพูดถึงตัวละครตัวนี้ ก็คือ ความเป็นเด็กดื้อ ขี้เกียจเรียนหนังสือ และชอบโกหก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่สังคมคาดหวังจาก ‘เด็ก’ หรือ ‘ผู้ใหญ่’ ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม
แล้วอะไรล่ะ ทำให้ตัวละครเด็กดื้ออย่าง ปิน็อกกีโอ ยังเป็นที่รักของนักอ่านทั่วโลก
ย้อนกลับไปเมื่อ 1883 หรือเมื่อ 139 ปีที่แล้ว การ์โล กอลโลดี นักเขียนชาวอิตาลี จากเมืองฟลอเรนซ์ ได้สร้างสรรค์วรรณกรรมเด็กเรื่อง การผจญภัยของปิน็อกกีโอ (The Adventure of Pinocchio) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเด็กที่ได้รับความนิยมยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังถูกดัดแปลงเป็นอะนิเมชั่นโดย วอลท์ ดิสนีย์ และทำให้ตัวละครปิน็อกกีโอ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมป๊อป
ปิน็อกกีโอ (ถอดเสียงตามฉบับแปลเป็นภาษาไทย โดย กมลเดช สงวนแก้ว สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) เป็นเรื่องราวของหุ่นไม้ตัวหนึ่ง ที่มีความปรารถนาอยากจะเป็นเด็กผู้ชาย แต่ก่อนที่ความฝันจะกลายเป็นจริงได้ ปิน็อกกีโอ ต้องผจญภัยผ่านพบอุปสรรคนานัปการ เพื่อพิสูจน์คุณค่าในตัวเองว่า เขามีความเหมาะสมและคู่ควรจะได้รับพรให้กลายร่างเป็นมนุษย์จริงๆ
โดยพื้นฐานและภูมิหลัง การ์โล กอลโลดี เคยเป็นนักข่าวและนักวิพากษ์สังคมด้วยอารมณ์ขัน ทำให้เรื่องราวของปิน็อกกีโอ แฝงด้วยการเสียดสีและสอดแทรกนัยยะปัญหาโครงสร้างสังคม แต่ถึงกระนั้น เป้าหมายสำคัญในการเขียนเรื่องปิน็อกกีโอ ก็เพื่อเป็นนิทานสอนเด็กให้รู้จักประพฤติตัวตามแบบอย่าง ‘เด็กดี’ ที่สังคมคาดหวัง
แล้วอะไรล่ะ คือ สิ่งที่สังคมคาดหวังจาก ‘เด็กดี’
เด็กเอ๋ย..เด็กดี ต้องมีหน้าที่กี่อย่างด้วยกัน?
ในช่วงวัยหนุ่มของกอลโลดี อิตาลีอยู่ในช่วงของการรวมชาติ (หลังจากแตกเป็นรัฐอิสระมากมาย ในช่วงหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน) เขามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า สังคมที่ดี จะต้องปลูกฝังและสร้างตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กที่ดีจะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และจะช่วยกันผลักดันให้ประเทศชาติพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและดีงาม
เด็กดีในนิยามของกอลโลดี คือ เด็กที่เชื่อฟังพ่อแม่-ผู้ใหญ่ ตั้งใจเรียน ขยันหมั่นเพียร และไม่พูดโกหก ซึ่งจะว่าไปแล้ว นั่นก็คือนิยามของเด็กดีตามแบบฉบับที่ทุกสังคมคาดหวังจากเด็กคนหนึ่ง
ทว่า ปิน็อกกีโอ ซึ่งเป็นหุ่นที่ถูกแกะสลักจากไม้ และจู่ๆ ก็มีชีวิตขึ้นมา คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนิยามของเด็กดีทุกอย่าง วินาทีแรกที่ปิน็อกกีโอมีร่างกายครบสมบูรณ์ จากฝีมือการแกะสลักของช่างไม้เจ๊ปเปตโต สิ่งแรกที่เจ้าหุ่นแสนซนทำก็คือ ดึงวิกผมของเจ๊ปเปตโต ผู้เป็นเหมือนพ่อของตัวเอง เอามาใส่หัวตัวเองเล่น จนเจ๊ปเปตโตต้องอุทานออกมาว่า
“ไอ้ลูกสารเลว! เกิดมายังไม่ทันเรียบร้อยดี แกก็เริ่มดื้อกับพ่อของแกแล้ว! ไม่ดีนะ ลูกน้อย ไม่ดี!”
เท่านั้น ยังไม่พอ ปิน็อกกีโอ ยังแผลงฤทธิ์ต่อด้วยการหนีออกจากบ้าน จนไปพบกับจิ้งหรีดพูดได้ ซึ่งคอยตักเตือนปิน็อกกีโอว่า
“เวรกรรมจะเกิดแก่เด็กที่ไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ และเมื่อไม่พอใจก็ทอดทิ้งบ้านไป เด็กแบบนี้จะเอาดีอะไรไม่ได้ในโลกนี้ และไม่เร็วก็ช้า น้ำตาจะต้องเช็ดหัวเข่า”
หากยึดตามบริบทของการเลี้ยงเด็กในยุคปัจจุบัน ถ้อยคำตักเตือนของจิ้งหรีดพูดได้ อาจฟังดูสุดโต่งหรือเถรตรงเกินไป ชนิดที่ว่า ถ้าไม่ขาวก็ดำ ไม่มีการประนีประนอม หรือยืดหยุ่น แต่หากเรามองอีกอย่างหนึ่งว่า แท้จริงแล้ว กอลโลดี ต้องการให้จิ้งหรีด เป็นเหมือนมโนธรรมฝ่ายดีในจิตใจของเด็ก ก็ดูจะสมเหตุสมผลและเข้าใจได้มากกว่า
ในทางจิตวิทยา ยังมีการถกเถียงไม่รู้จบว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับพื้นฐานจิตใจที่ดีงามหรือเลวร้าย หลายคนเชื่อว่า เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับจิตใจที่ดีงาม แต่เมื่อเติบโตขึ้นจึงค่อยถูกแปดเปื้อนด้วยความชั่วร้ายในรูปแบบต่างๆ ขณะที่อีกหลายคน มองตรงกันข้ามว่า พื้นฐานจิตใจของเด็ก ฝักใฝ่แต่เรื่องราวที่สนองสัญชาตญาณเป็นหลัก โดยไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมความดีงาม ดังนั้น จึงต้องมีผู้ใหญ่คอยอบรมสั่งสอนเพื่อให้เติบโตเป็นคนดีของสังคม
ปิน็อกกีโอ ก็เช่นกัน ทำทุกอย่างเพื่อสนองตอบความพอใจตามสัญชาตญานของตน โดยประกาศว่า จะไม่ไปโรงเรียน แต่จะไปวิ่งเล่นจับผีเสื้อ ปีนต้นไม้ กิน ดื่ม นอน เที่ยวเตร็ดเตร่ไปมาตั้งแต่เช้าจดเย็น
จิ้งหรีด ซึ่งเป็นตัวแทนมโนธรรมฝ่ายดีในจิตใจ เพียรพยายามเตือนสติปิน็อกกีโออีกหลายครั้ง แต่สิ่งที่มันได้รับกลับมา ก็คือ ถูกเจ้าหุ่นแสนดื้อ ใช้ไม้ตะลุมพุกฟาดเปรี้ยงจนถึงแก่ชีวิต
อนิจจา ปิน็อกกีโอ ฆ่ามโนธรรมฝ่ายดีในจิตใจตัวเองไปเสียแล้ว
วิบากกรรมของวีรบุรุษ
แม้ว่าปิน็อกกีโอ จะเป็นวรรณกรรมเด็ก ที่มีความเป็นเทพนิยาย แต่โครงเรื่อง หรือรูปแบบการเดินเรื่อง กลับมีกลิ่นอายของตำนานพื้นบ้าน หรือมหากาพย์ยุคโบราณ ซึ่งตัวเอกของเรื่อง จะต้องผจญวิบากกรรมต่างๆ นานา เพื่อที่จะพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จและได้รับการเชิดชูให้เป็นวีรบุรุษ
ตำนานพื้นบ้าน หรือมหากาพย์ ที่มีการเล่าเรื่องตามขนบนี้ มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นมหากาพย์กิลกาเมช มหากาพย์โอดิสซี หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของเรือโนอาห์ในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งตัวละครเอก ต้องผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ หรือถ้าเรียกตามภาษาสมัยใหม่ก็คงต้องใช้คำว่า ทำเควสต์เพื่อผ่านด่านต่างๆ ในเกมส์
เช่นเดียวกัน ปิน็อกกีโอ ซึ่งสร้างความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง จากการฆ่ามโนธรรมฝ่ายดีในจิตใจตัวเองไป จึงต้องคำสาปเช่นเดียวกับเหล่าวีรบุรุษยุคเก่าก่อน ให้ต้องเผชิญกับอุปสรรคอันแสนหนักหนาที่ถาโถมเข้ามาเป็นระลอก เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่า ยังคงมีคุณค่าที่คู่ควรกับการได้รับการยอมรับในฐานะวีรบุรุษอีกครั้ง
วิบากกรรมที่ปิน็อกกีโอต้องเผชิญ มีตั้งแต่ ถูกคนเชิดหุ่น ผู้มีฉายาว่า มนุษย์กินไฟ จับตัวและเตรียมโยนเข้ากองไฟ ถูกล่อลวงโดยหมาจิ้งจอกและแมว โดนจับแขวนคอปางตาย ถูกชาวไร่จับและบังคับให้เป็นหมาเฝ้าเล้าไก่ เกือบถูกชาวประมงจับโยนลงกระทะทอดปลา ถูกเปลี่ยนร่างเป็นลา (หรือฬา ตามศัพท์ที่ใช้ในหนังสือฉบับแปลของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) และถูกปลาฉลามยักษ์กลืนกินลงท้อง
ขณะที่วิบากกรรมต่างๆ ทำให้เหล่าตัวเอกในตำนาน เปลี่ยนร่างจากมนุษย์ธรรมดา กลายเป็นวีรบุรุษที่คู่ควรกับการเชิดชู อุปสรรคที่ถาโถม ก็ทำให้ปิน็อกกีโอ เปลี่ยนร่างจากหุ่นไม้ตัวหนึ่ง กลายเป็นเด็กชายที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณได้เช่นกัน
อันที่จริงแล้ว การเปลี่ยนร่างจากหุ่นไม้กลายเป็นเด็กชายของปิน็อกกีโอ ยังมีนัยยะที่สื่อถึงการเปลี่ยนสภาพ จาก ‘เด็กเลว’ กลายเป็น ‘เด็กดี’ ตามมาตรฐานของสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนร่างของปิน็อกกีโอ ยังเป็นเหมือนการก้าวผ่านช่วงวัย (coming of age) จาก ‘เด็กน้อย’ กลายเป็น ‘ผู้ใหญ่’ อีกด้วย
อ้อมกอดแห่งรัก…จักเอาชนะทุกสิ่ง
วิบากกรรมที่ถาโถม ทำให้ปิน็อกกีโอ เรียนรู้ว่า การโกหก การเกียจคร้าน ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นำพาแต่ความยุ่งยากและเลวร้ายมาสู่ตัวในภายภาคหน้า และเมื่อได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้น ปิน็อกกีโอ จึงสามารถก้าวผ่านครั้งสำคัญในชีวิต และเปลี่ยนสภาพจากหุ่นไม้กลายเป็นเด็กชายจริงๆ
นอกเหนือจากการได้รับบทเรียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเองแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปิน็อกกีโอ สามารถก้าวผ่านครั้งสำคัญในชีวิตไปได้ ยังมาจากความรักของ ‘พ่อ’ และ ‘แม่’
แม้ว่าปิน็อกกีโอ ซึ่งเป็นหุ่นไม้ที่ถือกำเนิดจากท่อนไม้ท่อนหนึ่ง ไม่ได้มีพ่อแม่ที่แท้จริง แต่เขาก็มีช่างไม้ เจ๊ปเปตโต เป็นตัวแทนของพ่อ และเทพธิดาผมสีฟ้า เป็นตัวแทนของแม่
ในช่วงต้นของเรื่องราวในหนังสือ เราจะได้เห็นความรักและความปรารถนาดีที่เจ๊ปเปตโต มีให้กับเจ้าหุ่นไม้แสนดื้อ ไม่ว่าจะเป็นการยอมอดอาหาร เพื่อให้ปิน็อกกีโออิ่มท้อง หรือการยอมเสียสละเสื้อกันหนาวเพียงตัวเดียวที่มี เพื่อให้เจ้าหุ่นไม้ได้มีหนังสือเอาไว้อ่านที่โรงเรียน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปิน็อกกีโอหนีออกจากบ้าน ช่างไม้ชายชรา พร้อมหัวใจที่แตกสลาย ก็ลงเรือล่องทะเลเพื่อออกตามหาลูกชายแสนดื้อ จนถูกปลาฉลามยักษ์กลืนกินเข้าไปในท้อง
ส่วนเทพธิดาผมสีฟ้า ซึ่งเป็นตัวแทนของแม่ผู้แสนอ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจ ก็คอยสั่งสอนและชี้แนะแนวทางที่ถูกที่ควรให้กับปิน็อกกีโอ
“เด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่… เด็กดีต้องเอาใจใส่ต่อการเรียนและการงาน… เด็กดีต้องพูดแต่ความจริง… เด็กดีไปโรงเรียนด้วยความเต็มใจ…”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เทพธิดาผมสีฟ้า ได้ให้สิ่งที่มีค่ายิ่งแก่ปิน็อกกีโอ นั่นคือ ‘โอกาส’ ในการแก้ไขความผิดพลาดที่เคยทำลงไป
“เพราะเหตุนี้อย่างไรเล่า แม่จึงยกโทษให้เจ้า การที่เจ้าเศร้าโศกอย่างจริงใจทำให้แม่รู้ว่าเจ้ามีน้ำใจดี แม้เด็กที่มีน้ำใจดีอาจเกเรไปบ้างและหลงผิด ก็ยังพอมีหวังว่าจะกลับตัวเป็นคนดีและดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง”
ถึงแม้ว่าการเทศนาสั่งสอนอย่าง ‘ตรงไปตรงมา’ ในเรื่องราวของปิน็อกกีโอ อาจเป็นอะไรที่ ‘เชย’ และใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ ในโลกยุคปัจจุบันที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากสังคมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่แก่นสำคัญในหนังสือ ที่เป็นความจริงอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ก็คือ ความรัก ความเข้าใจ และการให้โอกาส จะช่วยให้เด็กคนหนึ่ง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างแน่นอน