- ธีโอดอร์ ฟินช์ คือเด็กมัธยมที่ถูกเพื่อนๆ เรียกว่าไอ้พิลึก เพราะเขามักพูดจาแปลกๆ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์
- วันหนึ่งฟินช์บังเอิญช่วยชีวิตเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งซึ่งกำลังจะจบชีวิตตัวเอง หลังเธอประสบภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียพี่สาว ทั้งยังช่วยเยียวยาหัวใจอันบอบช้ำของเธอให้แข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง
- ความน่าสนใจของภาพยนตร์คือการบอกผู้ชมว่าการทายาให้ผู้อื่นนั้นง่ายกว่าการรักษาบาดแผลของตัวเอง เหมือนกับฟินช์ที่ไม่อาจก้าวข้ามอดีต โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพ่อและรอยแผลเป็นที่เป็นดั่งเครื่องยืนยันฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนฟินช์อย่างไม่สิ้นสุด
Trigger warning! ในชิ้นงานมีเนื้อหาที่พูดถึงการฆ่าตัวตายและการทำร้ายร่างกาย
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]
…
ผมไม่ใช่คนโลกสวยและเชื่อเสมอว่าโลกเป็นสถานที่แห่งความทุกข์
ผมมีความคิดแบบนี้ตั้งแต่เล็ก อาจจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่พ่อตีผมไม่ยั้ง หลังจากที่ผมพยายามยื้อแย่งดาบพลาสติกเล่มโปรดคืนจากมือของน้องสาว แต่ยื้อกันไปยื้อกันมา จู่ๆ คมดาบก็ดันไปเฉี่ยวบริเวณคิ้วของน้อง
และไม่ว่าผมจะอธิบาย ร้องไห้ หรือกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดยังไง พ่อก็ไม่คิดให้อภัยหรือรับฟังเด็กผู้ชายคนนั้นสักนิด
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้วและผมก็รักพ่อมากๆ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นฝันร้ายที่ยังคงกระทบกระเทือนความรู้สึกผมเสมอ โดยเฉพาะยามได้เห็นข่าวหรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลูกที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกาย
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ที่ลูกถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกายแล้ว ส่วนมากเนื้อหาจะพยายามเล่าถึงการเอาชนะแผลใจของลูกเพื่อดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
แต่นั่นไม่ใช่กับ ‘ธีโอดอร์ ฟินช์’ หนุ่มมัธยมปลายจาก All The Bright Places ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน ผู้ยังคงจมดิ่งอยู่กับอดีตอันเลวร้ายที่คอยหลอกหลอนและเปลี่ยนให้เขากลายเป็น ‘ไอ้พิลึก’ (Freak) ของเหล่าเพื่อนๆ ในโรงเรียน
-1-
หนึ่งในความทรงจำวัยเด็กที่ชัดเจนที่สุดของฟินช์ คือการถูกพ่ออาละวาดและทำร้ายร่างกาย โดยมีหลักฐานชิ้นโตคือ ‘รอยแผลเป็นกลางลำตัว’ คล้ายการถูกของมีคมกรีดเป็นแนวยาว
นอกจากการทำร้ายร่างกาย ฟินช์ก็นึกอะไรเกี่ยวกับพ่อไม่ออก นอกจากว่าตอนเขาอายุ 10 ขวบ พ่อได้เลิกรากับแม่และย้ายเมืองไปมีครอบครัวใหม่ ส่วนแม่ก็เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากคนที่เคยอยู่บ้านดูแลลูกกลับกลายเป็นคนที่อยู่ไม่ติดบ้านและปล่อยให้ลูกดำรงชีวิตเองตามอัตภาพ
ดังนั้นความทรงจำที่สวยงามในวัยเด็กของฟินช์ คงมีเพียง ‘พี่สาว’ ที่ดีกับเขาเสมอ แต่เธอมักยุ่งอยู่กับงานจนแทบไม่มีเวลาให้กับน้องชาย
เมื่อครอบครัวมีปัญหา จึงไม่แปลกที่ฟินช์มักมีปัญหาในโรงเรียน เช่น การขาดเรียนบ่อยๆ จนหมิ่นเหม่จะถูกไล่ออก แต่นั่นไม่เท่ากับปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะตอนโมโห แทนที่ฟินช์จะพ่นคำหยาบหรือแลกหมัดกับคู่กรณีตามประสาเด็กห้าว แต่เขากลับปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจนขว้างเก้าอี้ใส่เพื่อนในห้องจนทุกคนหวาดผวา
นอกจากนี้ ฟินช์มักพูดคำจาประหลาด ๆ เช่น ฉากที่ฟินช์บอกว่าตัวเขาไม่มีอยู่จริงและด้วยเหตุนี้เขาจึงสามารถอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งพฤติกรรมทั้งหลายทำให้เพื่อนๆ เอือมระอาและไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ทั้งยังพากันเรียกเขาว่า ‘ไอ้พิลึก’ (Freak)
ก่อนเขียนบทความ ผมทราบมาว่า All The Bright Places นั้นถูกสร้างมาจากนิยายขายดีของเจนนิเฟอร์ นิเวน โดยในเวอร์ชันนิยายจะอธิบายเพิ่มเติมว่าฟินช์มีอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘ไบโพลาร์’ ทำให้พอเปิดภาพยนตร์ดูอีกครั้ง ผมก็เริ่มเข้าใจฟินช์มากขึ้น
สำหรับอาการของคนที่เป็นไบโพลาร์ตามความเข้าใจของผม คือการมีอารมณ์ดีใจและเศร้าเสียใจสลับกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น พอผู้ป่วยรู้สึกดีใจก็จะคึกคักสุดขีด แต่พอบทจะเศร้าอารมณ์ก็จะนำความรู้สึกดิ่งลงไปในหลุมดำที่อาจนำพาไปสู่การฆ่าตัวตายในภายหลัง ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัยไล่ตั้งแต่สารเคมีในสมองที่อยู่ในระดับที่ไม่สมดุลกัน บาดแผลในวัยเด็ก และสิ่งเร้าจากภายนอก ฯลฯ
-2-
แม้จะพิลึกยังไง แต่ฟินช์ก็มีมุมที่ร่าเริง อบอุ่น และมองโลกในแง่บวกอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ตอนที่เขาเข้าไปเกลี้ยกล่อม ‘ไวโอเล็ต’ เพื่อนร่วมชั้นที่ยืนอยู่บนขอบสะพานไม่ให้กระโดดลงไปข้างล่าง ก่อนจะช่วยเยียวยาจิตใจเธอให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
ฟินช์ทราบมาว่าไวโอเล็ตยังคงทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่พี่สาวของเธอเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อเก้าเดือนก่อน
แน่นอนว่าเพื่อนๆ หลายคนย่อมรู้สึกเสียใจกับไวโอเล็ต ทว่าการที่ไวโอเล็ตเปลี่ยนจากคนร่าเริงสนุกสนานกลายเป็นคนเคร่งขรึมและชอบเก็บตัวนับแต่นั้น ก็พลอยทำให้เพื่อนๆ อึดอัดและไม่กล้าเข้าหาเธอเหมือนเดิม
เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่แม้จะพยายามเข้าหาไวโอเล็ต แต่เมื่อเธอตระหนักว่าพ่อแม่ไม่สบายใจกับปัญหาของเธอ ทำให้เธอเลือกเก็บมันไว้ จนรู้ตัวอีกที เธอก็ยืนอยู่บนสะพานสูง ก่อนที่เสียงของฟินช์จะช่วยเรียกสติกลับมา
หลังจากช่วยชีวิตไวโอเล็ต ฟินช์พยายามชวนไวโอเล็ตมาเดินเล่นด้วยกันบ่อยๆ ทั้งยังชวนเธอมาเป็น Buddy ทำรายงานคู่กัน แน่นอนว่าไวโอเล็ตย่อมพยายามปฏิเสธพร้อมบอกชัดเจนว่าเธอรู้สึกเบื่อหน่ายผู้คน (sick of people)
“ฉันคิดว่าเราควรจับคู่ทำรายงานท่องเที่ยวด้วยกัน ฉันว่าน่าจะดีถ้าเธอได้ออกมาข้างนอก ใช่ผู้คนงี่เง่าจะตาย แต่อาจมีใครสักคนที่เจตนาดีจริงๆ ก็ได้นะ…ฉันเจอคำคมที่เหมาะกับเธอด้วย ‘ฉันรู้สึกว่ามีความสามารถพันอย่างปรากฏขึ้นในตัวฉัน’ เธอเองก็มีความสามารถอย่างน้อยพันอย่างในตัว ถึงแม้เธอจะไม่คิดอย่างนั้นก็ตาม” ฟินช์กล่าว
เมื่อหว่านล้อมสำเร็จ ฟินช์ก็พาไวโอเล็ตออกไปเที่ยว ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่นักจิตบำบัดหลายคนแนะนำให้ผู้ป่วยซึมเศร้านำไปปฏิบัติ โดยสถานที่แต่ละแห่งที่คู่พระนางไปก็ล้วนแต่น่าสนใจ เช่น การเดินทางเกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อเล่นรถไฟเหาะขนาดย่อมหลังบ้านชายชราคนหนึ่ง หรือการทางไปยังกำแพงร้างที่ถูกพ่นสีว่า “ก่อนตายฉันอยากจะ…” ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมด้วยการนำชอล์กบริเวณนั้นมาเติมคำของตัวเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือคำตอบของทั้งคู่ โดยไวโอเล็ตเลือกเติมคำว่า ‘มีความกล้าหาญ’ ส่วนฟินช์เขียนว่า ‘มีสติ’
จะเห็นได้ว่าสถานที่ของฟินช์แทบจะธรรมดามากๆ แต่ผมกลับรู้สึกว่าคนพิลึกอย่างฟินช์กลับเข้าใจไวโอเล็ตกว่าใคร เพราะยามที่รู้สึกว่าโลกใบนี้โหดร้าย การมีใครสักคนเคียงข้าง คอยรับฟังปัญหา รวมถึงปลอบประโลมให้กำลังใจอย่างถูกจังหวะ และนำเราไปเปิดโลกหาประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ชุบชูจิตใจไวโอเล็ตให้กลับมามีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอีกครั้ง เพราะเธอตระหนักแล้วว่าวิธีที่จะให้เกียรติและทำให้พี่สาวผู้ล่วงลับมีความสุขที่สุดคือการที่เธอสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
“ฟินช์สอนฉันว่ามีความงดงามอยู่ในสถานที่ที่คาดไม่ถึงมากที่สุด และมีสถานที่ที่สดใสแม้ในยามมืดมิด และหากไม่มีสถานที่นั้น เราก็สามารถเป็นสถานที่ที่สดใสนั้นได้”
-3-
สมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น ผมมักทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนๆ ที่มีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว ความรัก หรือแม้แต่การเงิน ทว่าพอผมประสบปัญหาซะเอง ผมกลับไม่สามารถนำพลังบวกหรือข้อคิดดีๆ ที่คอยพร่ำบอกเพื่อนๆ มาปรับใช้ ทำให้ผมเรียนรู้ว่าการทายาให้ผู้อื่นนั้นง่ายกว่าการรักษาบาดแผลของตัวเอง
เช่นเดียวกับฟินช์ที่ก่อนหน้านี้ดูจะมีความสุข ร่าเริง และเปี่ยมด้วยพลังบวกยามอยู่กับไวโอเล็ต แต่พอตัวเองเผชิญหน้ากับความเศร้าหมองในจิตใจ ฟินช์กลับไม่สามารถโอบอุ้มความรู้สึกตัวเอง และกลายร่างเป็นคนพิลึกอย่างที่เพื่อนหลายคนกล่าวไว้ ไล่ตั้งแต่การปิดมือถือและหายตัวไปหลายวันจนคนรอบข้างเป็นห่วง, การเขียนโน้ตสั้นๆ ใส่กระดาษโพสต์อิทแผ่นแล้วแผ่นเล่าด้วยท่าทีลนลาน รวมถึงการดำน้ำในอ่างอาบน้ำเป็นเวลานานๆ คล้ายกับคนที่อยากลิ้มลองรสชาติของความตาย
“บางครั้งฉันต้องไปในที่ที่ทำให้ฉันรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ฉันต้องทำในสิ่งที่ย้ำเตือนว่าฉันยังควบคุมตัวเองได้ เพราะพ่อฉันก็เคยอยู่ในอารมณ์ที่มืดมนแบบนี้…(พูดถึงรอยแผลเป็นกลางลำตัว) ฉันเคยตัวเล็กกว่านี้มาก เมื่อก่อนฉันไม่รู้ว่าจะหลีกทางยังไง คนเราไม่ชอบความยุ่งยากใช่ไหมล่ะ” ฟินช์บอกไวโอเล็ตในวันหนึ่ง
หลังจากหายหน้าไปจากโรงเรียนพักใหญ่ จู่ๆ ฟินช์ก็กลับมาที่โรงเรียน แต่ไม่วายถูกเพื่อนคนหนึ่งบูลลี่ด้วยคำว่า ‘พิลึก’ และเพียงคำเดียวอารมณ์อันเดือดดาลของฟินช์ก็ปะทุจนกลายเป็นเรื่องใหญ่
“ผมธีโอดอร์ ฟินช์ ไม่ได้เป็นโรคอะไร ไม่ค่อยแน่ใจว่าผมพาตัวเองที่นี่ทำไม คงเพราะผมเพิ่งชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน มันเหมือนกับว่าผมอยู่ที่นั่นแต่ว่าไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมเหมือนคนที่ดูตัวเองอยู่และบางทีผมรู้สึกสับสนจนต้องออกไปวิ่ง ซึ่งบางครั้งมันก็ช่วยได้ แต่ไม่รู้สิ แค่วิ่งมันจะพอไหม” ฟินช์กล่าวระหว่างเข้ารับการบำบัดกับกลุ่มวิถีทางใหม่ และจากนั้นเขาก็ไม่กลับไปโรงเรียนอีกเลย
ไม่ว่าจะก่อนเหตุการณ์ชกต่อยหรือหลังเหตุการณ์ชกต่อย ผมรู้สึกสงสารฟินช์ที่ถูกเพื่อนๆ นินทาว่าพิลึก เพราะผมมองว่าการที่คนเราถูกตอกย้ำด้วยคำพูดเดิมซ้ำๆ ทุกวัน หากเรามีจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ต่อให้คำๆ นั้นจะจริงหรือไม่ เราก็อาจตกเป็นทาสของคำๆ นั้นได้ในวันหนึ่ง ซึ่งกรณีของฟินช์ในตอนท้ายเรื่องจะเห็นว่าเขาเริ่มเชื่อว่าตัวเองพิลึกจริงๆ ต่างจากตอนต้นเรื่องที่เขาพยายามปลอบตัวเองว่า “มนุษย์ชอบตีตราและอยากให้เราเป็นในแบบที่เขาอยากให้เป็น”
ผมรู้สึกว่าพอฟินช์เชื่อว่าจิตตัวเองมีปัญหาและพิลึกอย่างที่เพื่อนๆ บอก เขาก็เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมเปรียบเทียบว่าเขาก็เหมือนกับพ่อที่ปล่อยให้อารมณ์มืดมนครอบงำจิตใจ เพราะพ่อเองก็เป็นตัวอันตรายที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สุดท้ายฟินช์จึงตัดสินใจไปปรึกษาพี่สาวเรื่องพ่อซึ่งเป็นเหมือนปมฝังใจที่สุดในชีวิต
“ฉันจำเรื่องพ่อไม่ได้เท่าไหร่ เพราะทุกอย่างที่จำได้มันดูแย่…ทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น (ใช้กำลังกับคนในครอบครัว) ที่เขาเป็นแบบนั้นเพราะพวกเรารึเปล่า…มันต้องมีเหตุผลสิ เพราะถ้ามีเหตุผลเขาก็จะดีขึ้นได้ อาจมีบางสิ่งหรือบางคนจะทำให้เขาเป็นคนดีขึ้นได้ใช่ไหม”
ทว่าพี่สาวของเขากลับกล่าวถึงพ่อด้วยท่าทีเย็นชา เพราะเธอเองก็เคยเป็นกระสอบทรายให้พ่อซ้อมจนน่วมเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ พี่สาวของฟินช์ยังชี้ให้ฟินช์เห็นว่าที่พ่อมีพฤติกรรมรุนแรงก็เพราะพื้นเพแล้วพ่อเป็นคนไม่ดีมาตั้งแต่เกิด และเธอก็ไม่อยากคุยกับฟินช์ถึงเรื่องนี้อีกเพราะพ่อได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็น ‘ปัญหาของคนอื่น’ ไปแล้ว
ด้วยบาดแผลจากพ่อ คำบูลลี่ของเพื่อนๆ และคำตอบของพี่สาว ที่สุดแล้วฟินช์จึงสรุปว่าตัวเองก็เป็นคนพิลึกโดยกำเนิดและคงไม่มีทางแก้ไขอะไรได้เหมือนพ่อ เขาจึงตัดสินใจดำดิ่งลงไปในแม่น้ำที่มีตำนานเล่าขานว่ามีแรงดูดบางอย่างบริเวณก้นแม่น้ำซึ่งสามารถนำพาสิ่งมีชีวิตไปสู่โลกอีกใบ
-4-
ผมมองว่าปัญหาสำคัญของฟินช์ คือการที่เขารู้ว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์และมักกระทำสิ่งต่างๆ อย่างขาดสติ ส่วนปัจจัยรอบตัว อย่างครอบครัวที่สมควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยก็กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความเงียบเหงา ไหนจะตอนไปโรงเรียนที่ต้องต่อสู้กับสายตาและคำพูดของเพื่อนที่มองว่าเขาพิลึกอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งฟินช์เคยระบายความอัดอั้นกับเพื่อนคนหนึ่งว่าเขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวปัญหาที่ก่อเรื่องวุ่นวายตลอดเวลาและเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะหยุดตัวเองได้รึเปล่า ซึ่งผมฟังแล้วรู้สึกเห็นใจมากกับความพยายามที่เขาต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง ทว่าด้วยอายุที่ยังน้อย การไร้ที่พึ่งทางจิตใจ ประกอบกับการถูกตอกย้ำปมในใจซ้ำๆ จนยากจะต้านทาน ทางออกของฟินช์จึงลงเอยที่การจบชีวิตตัวเองเพื่อไม่ต้องกลายเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ใจให้กับครอบครัว เพื่อนๆ หรือใครก็ตามในอนาคต
[สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอันหนักหน่วง คงจะดีไม่น้อยถ้าคุณได้ระบายมันกับใครสักคนที่รักและพร้อมจะรับฟัง แต่หากคนที่คุณรักไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย การไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย โดยสามารถเลือกใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อปรึกษานักจิตวิทยาได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง]
All The Bright Places เป็นภาพยนตร์โรแมนติกดรามาสัญชาติอเมริกันในปี 2020 กำกับโดย Brett Haley และได้นักแสดงนำชื่อดังอย่าง Justice Smith มารับบทธีโอดอร์ ฟินช์ |