- คุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำมาตลอด 20 ปี ดังจะเห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ผลการทดสอบ PISA ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงว่า ‘ระบบการศึกษาไทยกำลังล้มเหลว’
- ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เสนอว่าประเทศไทยต้องเร่ง ‘ลงทุน 4 เรื่อง’ เพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะและเรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ ได้แก่ ลงทุนในเด็กแรกเกิด ลงทุนในเด็กปฐมวัย ลงทุนรักษาเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษา และลงทุนเรื่องการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
- “ถ้าเด็กตกหล่นออกจากระบบจะเกิดปัญหาสังคม และเด็กคนนั้นจะขาดทักษะพื้นฐาน ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
“เราจำเป็นต้องลงทุนกับการศึกษา… ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ปฐมวัย ไปจนถึงการรักษาอย่าให้เด็กตกหล่นออกนอกระบบ และแน่นอนต้องยกระดับคุณภาพของการศึกษาพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นหัวใจที่ทำให้เด็กมีทักษะ มีความพร้อมในการเรียนรู้ต่อไป”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเวที TEP Forum 2024 ถึงความสำคัญของการออกแบบนโยบายเพื่อสร้างสมรรถนะของคนไทยให้เรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ โดยชี้ว่าคุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำมาตลอด 20 ปี ดังจะเห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ผลการทดสอบ PISA ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงว่า ‘ระบบการศึกษาไทยกำลังล้มเหลว’
ผลการทดสอบยังพบว่าคะแนนด้าน ‘การอ่าน’ ของเด็กไทยตกต่ำที่สุด ทั้งที่เป็นความสามารถพื้นฐานในการทำความเข้าใจ เป็นกระบวนการเรียนรู้การคิด และทำให้เรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนขึ้นไปได้ ส่วนสาเหตุที่เด็กไทยสอบคะแนน PISA ได้ไม่ดี เพราะว่าการเรียนรู้ในเมืองไทยเน้นการท่องจำ การจดจำข้อเท็จจริง ขณะที่การเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะหรือสมรรถนะอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเจอโจทย์คณิตศาสตร์ที่ต้องประยุกต์ใช้ความรู้ เด็กไทยส่วนใหญ่จึงทำข้อสอบลักษณะนี้ไม่ได้ นั่นแปลว่าเราขาดความรู้ที่ใช้ได้จริง
“ขณะเดียวกันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่กำลังเป็นตัวเปลี่ยนเกม คนอาจจะตกงานเยอะขึ้นหากไม่มีทักษะที่ดีเพียงพอ และไม่ใช่แค่คนเท่านั้น เพราะแม้กระทั่งสิงโตฮอลลีวู้ดที่ชื่อว่า Luke อาจจะเป็นสิงโตตัวสุดท้ายที่ถูกถ่ายวิดีโอเพื่อผลิตภาพยนตร์หรือสารคดี เนื่องจากตอนนี้เราเขียน Prompt เข้าไปใน Chat GPT แค่ 1 บรรทัด ก็สามารถสร้างวิดีโอได้แล้ว ล่าสุดยังพบข่าวน่าตื่นเต้นว่า เทคโนโลยีกำลังทำให้เราเข้าใจภาษาสัตว์มากขึ้นทุกที มีทีมวิจัยใช้ AI วิเคราะห์เสียงช้างแอฟริกาเวลาคุยกัน และพบว่าพวกมันเรียกชื่อกันด้วย”
‘4 เรื่องต้องลงทุน’ สร้างสมรรถนะคนไทย
ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่กำลังขับเคลื่อนโลกให้เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดบ่งชี้ว่า หากคนไทยไม่มีทักษะพื้นฐานที่เข้มแข็ง คงยากที่จะอยู่รอดได้ในโลกใหม่ที่โกลาหลเช่นนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เสนอว่าประเทศไทยต้องเร่ง ‘ลงทุน 4 เรื่อง’ เพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะและเรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การลงทุนเรื่องแรกคือ ต้องลงทุนในเด็กแรกเกิด ตอนนี้มีเฉพาะเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ผลการศึกษา TDRI ที่ทำให้กับยูนิเซฟพบว่า เมื่อแจกเงินให้กับคุณแม่ที่มีลูกในช่วงแรกเกิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กได้รับโภชนาการดีขึ้น ซึ่งแปลว่าต่อไปเด็กมีโอกาสมีสมองที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น เด็กมีโอกาสพบแพทย์และได้รับวัคซีนบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพดี ดังนั้นเงิน 600 บาท เปลี่ยนอะไรได้เยอะเลย แต่ถ้ามีการลงทุนเข้าไปช่วยเหลือเด็กแรกเกิด ผมว่าเด็กไทยจะมีพื้นฐานที่ดีมากๆ
“ลงทุนในเด็กแรกเกิดแล้ว เรื่องที่สองคือ ต้องลงทุนในเด็กปฐมวัยด้วย เพื่อให้ไร้รอยต่อ โดยลงทุนกับเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบ จนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการศึกษาที่พบ และ Jame Heckman ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยมีผลตอบแทนมากมายมหาศาล เราควรทำให้เด็กไทยมีความพร้อมตั้งแต่ปฐมวัย เพราะเมื่อเข้าเรียนเขาจะได้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
สำหรับการลงทุนเรื่องที่สามคือ การลงทุนรักษาเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษา เพราะถ้าเด็กตกหล่นออกจากระบบจะเกิดปัญหาสังคม และเด็กคนนั้นจะขาดทักษะพื้นฐาน ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
ปัจจุบันมีเด็กที่ตกหล่นออกจากระบบการศึกษาราว 1.2 ล้านคน แต่หากมีการลงทุนพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยที่ระบบการศึกษายังมีคุณภาพไม่ดีพอ นั่นก็อาจทำให้การลงทุนกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า ดังนั้นการลงทุนในเรื่องที่สี่จึงเป็นเรื่องการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
“เราต้องลงทุนสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้เกิดขึ้นให้ได้ ต้องเน้นการสร้าง ASK โดย A คือ Attitude หรือ ทัศนคติ อุปนิสัย ซึ่งในที่นี้ได้รวม V คือ Value หรือคุณค่าไว้ด้วยแล้ว เพราะเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ที่อยู่ได้ในศตวรรษนี้ ส่วน S คือ Skill หรือ ทักษะ โดยศตวรรษนี้ต้องการคนที่ใฝ่หาความรู้ อดทน รับผิดชอบ เราต้องการคนที่มีทักษะในเชิงวิพากษ์ สื่อสารและทำงานเป็นทีมได้ สุดท้าย K คือ Knowledge หรือ ความรู้
ปัจจุบันนอกจากเด็กไทยต้องมีความรู้พื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์แล้ว อาจจะต้องมีทักษะศตวรรษที่ 21 เพิ่มเข้าไปอีก เพราะว่าโลกซับซ้อนขึ้น ทำให้ต้องมีทัศนคติที่จำเป็นต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องเป็นคนเปิดกว้าง กล้าทดลอง มีจิตใจแห่งการเติบโต มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถมองภาพใหญ่ วาดภาพสถานการณ์ เข้าใจความเป็นไปในโลก มีทฤษฎีแห่งความรู้ และมีทักษะรู้ใช้ประโยชน์และเสพเอไอได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คิดว่ามีความจำเป็นต้องลงทุน”
ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ ยังเล่าถึงกรณีตัวอย่างการลงทุนด้านการศึกษาในต่างประเทศ โดย Copenhagen Consensus Center ของประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษาวิธีการลงทุนด้านการศึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ อย่างน้อย 150 วิธี เพื่อดูว่าการลงทุนในเรื่องใดให้ผลตอบแทนที่ดี
“ผมขอยกตัวอย่างการลงทุนด้านการศึกษาเรื่องหนึ่งซึ่งได้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ คือ การทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนรู้ตรงกับทักษะที่ตัวเองมีอยู่ เนื่องจากปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่เรียนไม่ทัน ทั้งนี้มีภาพที่เป็นผลสำรวจจากประเทศอินเดียแสดงให้เห็นว่า เด็กในชั้นเรียน ป.6 จำนวน 300 คน มีเด็กเพียง 2 คน ที่มีทักษะของเด็ก ป.6 ที่ควรจะมีจริงๆ ขณะที่เด็กที่เหลือมีทักษะเท่ากับเด็ก ป.4 ดังนั้นโจทย์คือเด็กจะเรียนร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งถ้าเป็นการเรียนแบบปัจจุบัน ต้องนำค่าเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ แปลว่าในชั้นเรียน ป.6 ครูต้องสอนความรู้ในระดับ ป.3 หรือ ป.4 เพื่อให้เด็กส่วนใหญ่เรียนรู้ได้ ปัญหาที่จะเกิดคือเด็กที่มีทักษะ ป.5-6 จะเบื่ออย่างยิ่ง และหากในห้องเรียนมีเด็กที่มีทักษะอยู่ในระดับ ป.1-2 ร่วมอยู่ด้วย เด็กก็เรียนไม่ทันอยู่ดี สุดท้ายกลายเป็นปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา และเป็นปัญหาของสังคมต่อไป
ด้วยเหตุนี้การศึกษาของ Copenhagen Consensus Center จึงพุ่งเป้าว่า การสอนความรู้หรือทักษะใหม่ ต้องเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับทักษะที่เด็กมี ไม่สามารถข้ามขั้นได้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งปัจจุบันก็มีข้อเสนอหลายแนวทางที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ทัน
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า วิธีแรก คือ การสอนเพิ่มหลังเลิกเรียน ช่วยเด็กที่เรียนได้ช้าให้ตามทันเพื่อนได้ วิธีนี้น่าสนใจ แต่ว่าครูและเด็กต้องพร้อมลงทุนลงแรง วิธีที่สอง คือ เรียนในกลุ่มระดับการเรียนใกล้กัน ด้วยการแบ่งชั้นตามแต่ละวิชา อย่าไปกำหนดตายตัว เช่น ให้มีการเดินเรียน ให้เด็กแต่ละกลุ่มได้เรียนในระดับชั้นที่เหมาะสมกับตัวเอง วิธีแบบนี้มีข้อดีและความท้าทายอยู่ วิธีที่สาม คือ นำเอไอมาช่วยสอนเด็ก เพราะหลังจากที่เด็กทำข้อสอบแล้ว AI จะรู้ว่าเด็กมีความรู้ระดับไหน จากนั้นนำ AI มาช่วยไกด์เด็ก เพื่อให้เด็กเรียนทัน โดยไม่ได้ทิ้งการเรียนการสอนด้วยครู เพียงแต่เอา AI เป็นตัวเสริม
“ผลการศึกษาที่น่าสนใจคือ การลงทุนช่วยเหลือเด็กตามแนวทางที่กล่าวมานี้ ช่วยให้เกิดผลตอบแทนที่ทำให้เด็กเรียนทันกันสูงอย่างยิ่ง คือ ถ้าใช้ AI หรือ ลงทุนเทคโนโลยีไป 1 บาท จะได้ผลตอบแทนมาถึง 70 บาท ในขณะที่ถ้าไม่ใช้เทคโนโลยี แต่เลือกใช้วิธีอื่น เช่น การเดินเรียน หรือวิธีติว จะได้ผลตอบแทนกลับมา 40-50 เท่า สิ่งนี้คือตัวอย่างที่คิดว่าอาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้”
‘7 นโยบาย’ สร้างสมรรถนะคนไทยให้เรียนรู้ไร้รอยต่อ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมา ได้มีการสังเคราะห์ถึงนโยบายที่จะช่วยในการลงทุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสร้างสมรรถนะของคนไทยให้เรียนรู้แบบไร้รอยต่อได้ 7 นโยบายด้วยกัน นโยบายแรก คือ การปรับหลักสูตรเพื่อสร้างสมรรถนะ เพราะถ้าเราไม่มีการปรับหลักสูตรการศึกษาของไทย การปรับเปลี่ยนไปสู่การสร้างสมรรถนะแบบไร้รอยต่อคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรแกนกลางของปี 2551 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีส่วนของการคิดขั้นสูงเลย และแม้กระทั่งขึ้นชั้น ม.1 แล้ว ก็มีตัวชี้วัดที่เป็นการคิดขั้นสูงเพียง 16 จาก 71 ตัว ซึ่งก็ถือเป็นส่วนน้อยเท่านั้น
ฉะนั้นวิชาประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นวิชาความจำ ไม่เคยมีการถกอภิปรายว่าคนในแต่ละยุคตัดสินใจทำอะไร เพราะอะไร ทั้งที่จะช่วยเปิดการเรียนรู้อย่างมาก
“มูลนิธิสยามกัมมาจลศึกษาไว้ว่า ปัจจุบันมีอย่างน้อย 67 ประเทศ ใช้หลักสูตรที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน และมีการปรับหลักสูตรอยู่สม่ำเสมอ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีผลการสอบ PISA อยู่อันดับ 1 ของโลก และมีการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ทุก 6 ปี ขณะที่ประเทศไทยไม่มีการปรับหลักสูตรใหญ่มา 16 ปีแล้ว และยังเน้นความรู้มากกว่าสมรรถนะ เน้นการท่องจำมากกว่าการคิดขั้นสูง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับหลักสูตรไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ผมคิดว่าสิ่งนี้คือกระดุมเม็ดสำคัญ”
เมื่อมีการปรับหลักสูตรใหม่ แต่วิธีการประเมินสมรรถนะยังเป็นแบบเดิม ก็อาจจะไม่เอื้อให้การสร้างสมรรถนะทำได้สำเร็จ ดังนั้นนโยบายที่สอง คือ สร้างการประเมินสมรรถนะที่เชื่อถือได้
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การประเมินสมรรถนะที่ผ่านมาจะพบว่ายังไม่ค่อยเห็นผล เช่น ก่อนหน้านี้มีโจทย์ค่อนข้างน่าสนใจว่า หากเกิดอารมณ์ทางเพศจะต้องทำอย่างไร? ซึ่งคำตอบคือการเตะฟุตบอล เมื่อมีอารมณ์ทางเพศไม่ว่าจะเวลาไหน หรือเป็นเพศใดก็ต้องลุกขึ้นมาเตะฟุตบอล เพราะมีคำตอบเดียว หรือว่าเร็วๆ นี้ มีโจทย์ที่อยากให้คนคิดวิเคราะห์ และตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงมีคำถามว่า การทำอาหารเมนูใดทำให้เกิดโลกร้อนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นคำถามที่นำมาสู่การถกเถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเฉลยข้อไหนก็ถกเถียงได้ทั้งสิ้น เช่น ถ้าเฉลยว่าปลาทำให้เกิดโลกร้อนน้อยกว่าเนื้อ แต่ถ้าปลานั้นถูกขนส่งผ่านทางเครื่องบิน ก็อาจจะสร้างผลกระทบต่อโลกร้อนได้มากเช่นกัน ดังนั้นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ควรลงทุนทำเรื่องการประเมินสมรรถนะ เพราะสิ่งนี้จะบ่งชี้ได้ว่าการเข้าไปช่วยเหลือนั้นสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ อะไรคือบทเรียน ถ้าเราไม่มีไม้บรรทัดที่ดีก็ยากที่จะไปสู่จุดหมายได้”
“นโยบายที่สาม คือ ลดภาระ คืนเวลา พัฒนาครู ล่าสุดมีข่าวดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายการยกเลิกเวรครู ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ในเชิงสัญลักษณ์นั้นสำคัญมาก เมื่อผู้บริหารให้ความสำคัญกับบุคลากรครูมากกว่าของในโรงเรียนสูญหาย อย่างไรก็ดียังมีสิ่งที่ควรลดภาระครูอีกหลายอย่าง
ผลการศึกษาของ TDRI ในบริบทของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พบว่า ครูยังมีภาระกวนใจที่ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการสอนได้ เช่น การทำรายงาน การทำธุรการ ซึ่งการลดภาระงานเหล่านี้จะช่วยให้ครูมีเวลาและสามารถพัฒนาทักษะการสอนแบบใหม่ หรือการทำ PLC ในโรงเรียน”
สำหรับนโยบายที่ 4 คือ การให้ครูและผู้อำนวยการอยู่ประจำอย่างน้อย 3 ปี โดยมุ่งหวังให้ฝ่ายการเมืองช่วยผลักดันสร้างแรงจูงใจให้ผู้อำนวยการและครูมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น และสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้โดยไม่ต้องย้ายไปสู่โรงเรียนใหญ่
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นโยบายที่ 5 คือ การกระจายอำนาจจัดการศึกษา โดยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นตัวอย่างของการพยายามใช้ระบบที่เป็นอยู่ มีการโอนอำนาจบางส่วนให้จังหวัดหรือในพื้นที่มีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ ออกแบบหลักสูตร แต่ก็พบว่ามีบางเรื่องไปได้ ขณะที่หลายเรื่องยังมีข้อจำกัด สำหรับสิ่งที่ควรเรียกร้องต่อไป คือ ให้มีการกระจายอำนาจจัดการศึกษาไปสู่พื้นที่จัดการตนเอง
“ในหลายประเทศมีการใช้ลักษณะร่วมกัน คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าของโรงเรียน เป็นผู้ว่าจ้างครู ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้สารพัดเลย เช่น ปัญหาของการยุบโรงเรียนเล็ก ที่เมืองไทยเจอปัญหาตลอด แต่ยังทำไม่ได้ เพราะการยุบโรงเรียนโดยกระทรวงศึกษาธิการจะทำให้ท้องถิ่นเสียทรัพย์สินบางอย่าง
ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจไปหาผู้ว่าราชการจังหวัด มีคณะกรรมการบริหารการศึกษาในระดับจังหวัดเข้ามาช่วยบริหารจัดการการศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งในระดับจังหวัด ญี่ปุ่นไม่มีปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเลย เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุเยอะกว่าและมีเด็กเกิดน้อยกว่าไทยมาก ฉะนั้นการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วแปลงพื้นที่ตรงนั้นให้ผู้สูงอายุได้ใช้ประโยชน์ หรือให้คนในท้องถิ่นนำไปใช้งานในรูปแบบที่ยอมรับได้ ทำให้การยุบโรงเรียนหรือการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นได้สำเร็จ”
นโยบายที่ 6 คือ การสร้างแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน เพื่อให้เกิดพื้นที่เรียนรู้แบบไร้รอยต่อ ดังเช่น บ้านปลาดาวเดินหน้าจัดทำ maker space ในหลายพื้นที่ และมีความพยายามในการทำห้องสมุดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภายนอก ซึ่งการสร้างแหล่งเรียนรู้เป็นสิ่งที่เมืองไทยควรลงทุน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น เพราะหากภาคเอกชนมองเห็นว่าเป็นวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดีได้ก็สามารถลงทุนส่งเสริมได้เช่นกัน
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นโยบายที่ 7 คือ การใช้ AI ช่วยการเรียนรู้ แม้ในสังคมจะเริ่มมีความกังวลถึงพิษภัยของการพัฒนาที่รวดเร็วจนน่ากลัวของ AI แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง AI มีโอกาสที่จะเข้ามาช่วยปฏิวัติการศึกษาของไทยได้ โดย Salman Khan ซึ่งเป็นผู้ทำ Khan Academy ที่มีการจัดการสอนออนไลน์ และได้ออกหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Brave new Words How AI Will Revolutionize Education ซึ่งบอกเล่าถึงการทดลองนำ AI มาใช้ในการจัด Personalize Learning ในรูปแบบของ Chatbot เพื่อแก้ปัญหาสำคัญคือการทำให้เด็กทั้งชั้นเรียนรู้ได้ทัน
“โดยสรุปผมคิดว่าเราจำเป็นต้องลงทุนกับการศึกษา และการสร้างทุนมนุษย์ของคนไทย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ปฐมวัย ไปจนถึงการรักษาอย่าให้เด็กตกหล่นออกนอกระบบ และแน่นอนต้องยกระดับคุณภาพของการศึกษาพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นหัวใจที่ทำให้เด็กมีทักษะ มีความพร้อมในการเรียนรู้ต่อไป และในโลกทุกวันนี้มีแหล่งเรียนรู้ดีๆ ถ้าคนไทยมีทักษะพื้นฐานเป็นเบื้องต้นอยู่ ขณะเดียวกันนโยบายที่ต้องผลักดันมีตั้งแต่การปรับหลักสูตร การปรับวิธีการประเมิน รวมทั้งยังต้องปรับวิธีการสอนของครู ลดเวลา และคืนเวลาให้ครู การกระจายอำนาจทางการศึกษา หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นหนทางปฏิรูปการศึกษาไทย ที่ขับเคลื่อนให้เด็กรุ่นใหม่มีสมรรถนะพร้อมต่อการเรียนรู้และอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21
เรียบเรียงจากการบรรยายพิเศษในหัวข้อ สร้างนโยบาย สร้างสมรรถนะคนไทย ให้เรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ โดยดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในเวทีสาธารณะระดับประเทศ TEP Forum 2024 ‘สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้ : เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ’ |