- รักตัวเองนั้นถือว่าเป็นกลไกที่แตกต่างจากรักที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลอื่นๆ เพราะเราไม่ต้องมีกลไกในการผูกพันหรือผูกมัดตัวเราเอง รักตนเองจึงไม่ใช่รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งภายนอก เพราะมันเป็นกิจกรรมของตนเองถึงตนเอง
- 3 ด้านสำคัญของการ ‘รักตัวเอง’ คือ การดูแลให้ความใส่ใจกับตัวเองทั้งกายและใจ, ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น นั่นคือ ‘การเห็นคุณค่าในตัวเอง’ (Self-esteem) รวมถึงการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด ล้มเหลว รู้จักให้อภัยตนเอง
- คนที่รักตัวเองเป็น จะทำให้ตัวเองมีความสุขได้ ไม่ว่าตนเองจะมีคู่รักแบบโรแมนติกหรือไม่ก็ตาม
หากท่านฟังเพลงปลอบใจคนอกหัก อ่านคำคมของคนดังในโซเชียลมีเดีย หรืออ่านคำให้กำลังใจในวอลของนักโคชชิง จนถึงอ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพจิต ท่านจะพบกับสิ่งหนึ่งที่คนส่งเสริมให้ทำเสมอคือการ ‘รักตัวเอง’ แม้แต่ผมเองก็เคยเขียนเรื่องนี้ไปว่าให้รักตัวเราเองก่อนจะมีคู่รัก (อ่านได้ที่ https://thepotential.org/life/self-love) จนกระทั่งวันก่อนมีเพื่อนมาถามผมว่า “แล้วรักตัวเองมันหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมคนถึงใช้ถึงพูดกันเยอะแยะ” ผมเลยเพิ่งเอะใจว่าคำนี้มีความหมายที่ค่อนข้างกำกวมอยู่พอสมควร ผมคิดว่าน่าจะมีบางท่านมีข้อสงสัยว่า…
“การรักตัวเองนี่เหมือนกับความรักแบบเดียวกับคู่รักหรือแฟนไหม”
“เป็นไปได้หรือที่คนจะไม่รักตัวเอง ใคร ๆ ก็รักตัวกลัวตายและอยากมีความสุขกันทั้งนั้น”
“รักตัวเองนั้นมันเหมือนคำปลอบใจที่เอาไว้ใช้สำหรับคนที่ไม่มีคู่รัก เลยต้องหันมา ‘รักตัวเอง’ แทน”
วันนี้ผมเลยชวนมารู้จักความหมายของคำว่า ‘รักตัวเอง’ ให้ชัดๆ กันครับ
สิ่งหนึ่งที่มักจะสับสนกับคำว่ารักตัวเองได้ง่ายๆ คือคำว่า ‘หลงตัวเอง’ คำคู่นี้เป็นคำที่มีชวนให้สับสนกันมานานแล้ว หลงตัวเองเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่หมกมุ่นกับคุณลักษณะต่างๆ ของตัวเองว่าดีว่าเหนือกว่าใคร คำนี้ให้ความหมายในทางลบและมีการใช้กันมาอย่างยาวนานทั่วไปทั้งในการพูดปกติและเชิงวิชาการ
คำนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงจิตวิทยาตอนศาสตร์ยังแบเบาะราวๆ ค.ศ. 1890 ช่วงนั้นจิตวิทยาได้รับอิทธิพลจากทฤษฎี ‘จิตวิเคราะห์’ เป็นหลัก ซึ่งผู้ก่อตั้งแวดวงจิตวิเคราะห์นั้นน่าจะเป็นคนที่เคยได้ยินชื่อกันดีเพราะเขาคือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ จิตวิเคราะห์มองความรักว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์มีไว้เพื่อกำหนดเป้าหมายของความต้องการ เพื่อให้ได้มาเพื่อความสุข เช่น เป้าหมายแรกก็คือแม่ เพราะแม่เป็นผู้ให้อาหารให้ความอบอุ่น และเมื่อโตขึ้นเป้าหมายมันจะย้ายและไปเป็นคู่รัก นี่คือรูปแบบความรักปกติที่เกิดไปตามวัย
อย่างไรก็ตามบางคนอาจพัฒนาเป้าหมายของความรักผิดพลาด และทิศทางความรักมันย้อนกลับมาหาตัวเอง เลยกลายเป็นการหลงตัวเองแทน ซึ่งการหลงตัวเองเป็นสิ่งผิดปกติในทางจิตวิเคราะห์ และสิ่งนี้เป็นที่มาของโรคจิตและโรคประสาท
แม้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่จิตวิทยาสมัยใหม่ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของจิตวิเคราะห์หลายอย่าง การหลงตัวเองยังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ โดยการหลงตัวเองในจิตวิทยาสมัยใหม่นั้นเป็น ‘บุคลิกภาพ’ (ลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละคนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนไปตามเวลา บุคลิกภาพนั้นพัฒนามาตั้งแต่เด็ก) คนที่มีบุคลิกภาพหลงตนเองคือคนที่ให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินควร เชื่อว่าตนเองต้องได้ในสิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะทางใดก็ตาม และมองว่าตนเองดีกว่าคนอื่นๆ จนเกินเหตุ ถ้ามีบุคลิกภาพรูปแบบนี้สูงเกินไปก็จะกลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ ขอเน้นว่าสูงเกินไปนะครับ เพราะคนเราทุกคนมีระดับความหลงตัวเองอยู่แล้ว อาจจะมีมากน้อยต่างกันไปแค่นั้น แต่ถ้าไม่มากเกินไป มันก็เป็นเพียงลักษณะที่ต่างกันไปของแต่ละคนเท่านั้น
ส่วนประวัติของคำว่ารักตัวเองนั้น แม้ว่าจะมีมาแต่โบร่ำโบราณเช่นกันแต่จะใช้กันในแวดวงของศาสนาและปรัชญาเสียมากกว่า และเพิ่งเข้ามามีบทบาทในแวดวงจิตวิทยาในหัวข้อการส่งเสริมสุขภาพจิตราว ค.ศ. 1950 คำนี้มีความหมายที่ไม่ชัดเจน และให้นิยามแตกต่างกันไปตามแวดวงที่มันอยู่ อย่างไรก็ตาม ‘รักตัวเอง’ ที่คนนิยมพูดถึงกันทั้งในความหมายทั่วไป และความหมายในเชิงวิชาการ นั้นเป็นความในแง่บวกไม่ใช่การหลงตัวเองซึ่งเป็นในแง่ลบ แค่จุดนี้ก็เห็นถึงข้อแตกต่างที่ชัดเจนหนึ่งอย่างของสองคำนี้แล้ว ว่าแล้วเรามาดูความหมายของรักตัวเองกันต่อ
รักตัวเองมันมีหน้าตาแบบไหน เหมือนกับรักแฟน รักพ่อแม่ รักเพื่อนหรือเปล่า ถ้าเราแยกความรักเป็นประเภทง่ายๆ เราจะเห็นว่าเป้าหมายของบุคคลที่จะรักนั้นจะแตกต่างกันไป และเบื้องหลังกลไกในสมองของเราเวลาเกิดความรักกับคนในกลุ่มต่างกัน ก็มีกลไกแตกต่างกันไปด้วย จิตวิทยาวิวัฒนาการที่ศึกษาว่ากลไกต่างๆ ของมนุษย์นั้นมีเพื่อตอบสนองความอยู่รอดอย่างไรให้คำตอบกับเรื่องนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนครับ
รักระหว่างพ่อแม่หรือคนเลี้ยงและเด็ก รักในรูปแบบนี้เป็นความผูกพันเพื่อตอบสนองความอยู่รอดของเด็กที่เกิดมาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป ทำให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงรู้สึกผูกพันกับเด็กเพื่อให้ค่อยอยู่ใกล้เอาใจใส่ดูแลลูกตัวเองที่ยังอ่อนแอให้มีชีวิตรอด และทำให้เด็กรู้สึกว่าผูกพันต้องการอยู่ใกล้ผู้เลี้ยงตลอดเพราะเป็นผู้เลี้ยงที่ให้ทั้งอาหารและความปลอดภัย
รักแบบโรแมนติก หรือรักแบบคู่รักเกิดเพื่อให้มีการใกล้ชิดระหว่างหนุ่มสาวเพื่อเกิดการสืบเผ่าพันธุ์ และอยากให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันต่อเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก ในสมัยโบราณการมีทั้งพ่อและแม่ช่วยเลี้ยงลูกนั้นสำคัญกับการอยู่รอดของลูกมาก นอกจากนี้รักในรูปแบบนี้มีจุดเด่นคือ ความหึงหวง เพราะการมีชู้ของฝ่ายชายอาจหมายถึงการทิ้งให้ฝ่ายหญิงเลี้ยงลูกคนเดียว ส่วนการมีชู้ของฝ่ายหญิงหมายถึงฝ่ายชายอาจถูกหลอกให้เลี้ยงลูกของคนอื่น
รักพี่น้อง รักเพื่อน เป็นลักษณะของความสนิทชิดใกล้ที่เกิดจากการใช้เวลาอยู่ด้วยกันจนคุ้นเคย เกิดเป็นความสัมพันธ์ในคนกลุ่มเดียวกันที่มีอะไรคล้ายๆ กัน ความรู้สึกรักแบบนี้จะสร้างกลุ่มที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันตอนเดือดร้อน ร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน สร้างความปลอดภัยให้แก่กันและกันมากขึ้น หรือรวมถึงความสบายใจจากการได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ไว้ใจได้
สังเกตว่ารักแต่ละแบบมีกลไกที่แตกต่างกัน แม้จะใช้คำว่า ‘รัก’ เหมือนกันก็ตามแต่ตอบสนองความอยู่รอดในคนละแง่มุม แต่สิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายกันคือการสร้างเหมือนสิ่งผูกมัดให้คนที่อยู่ด้วยกันและตอบสนองต่อความอยู่รอดนั้นอยู่ด้วยกันไว้
อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเวลาพูดถึงกลไกของความรักคือ ‘คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม’ เพราะมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงกลไกทางความคิดหรือความรู้สึกที่ธรรมชาติให้มาเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์เราสร้างอารยธรรมที่เกิดมาจากภาษาและสัญลักษณ์นามธรรมต่างๆ จำนวนมหาศาล หลายสิ่งที่มนุษย์ให้คุณค่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดในเชิงวิวัฒนาการเท่านั้น แต่เป็นคุณค่าทางใจที่สังคมให้คุณค่ามากกว่า เช่น ถึงแม้รักแบบโรแมนติกมีที่มาจากการสืบเผ่าพันธุ์ แต่ในสังคมสมัยใหม่ ความรักไม่ได้ตายตัวแค่กิจกรรมทางเพศหรือการมีลูก แต่เป็นเรื่องที่สำคัญทางความรู้สึกมากกว่า คู่รักที่ทั้งสองฝ่ายมีร่างกายเป็นเพศเดียวกันก็มีความรักแบบโรแมนติกได้ หรือคนจำนวนมากที่แต่งงานแต่ไม่เคยคิดจะมีลูก
แล้ว ‘รักตัวเอง’ นั้นจะเป็นอีกรูปแบบของประเภทของรักในด้านบนไหม หากมองในแง่กลไกทางจิตวิทยาแล้วคำตอบคือไม่ใช่ครับ
แม้ทางภาษาเราจะใช้คำว่า ‘รัก’ เหมือนกัน แต่รักตัวเองนั้นถือว่าเป็นกลไกที่แตกต่างจากรักที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลอื่นๆ เพราะเราไม่ต้องมีกลไกในการผูกพันหรือผูกมัดตัวเราเอง
หรืออาจจะพูดได้ว่ารักตนเองไม่ใช่รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งภายนอก เพราะมันเป็นกิจกรรมของตนเองถึงตนเอง
นอกจากนี้ถึงแม้คำว่ารักตัวเองถูกพูดถึงในแวดวงจิตวิทยาบ่อยครั้ง แต่ว่าบุคคลที่วิจัยเรื่องนี้แต่ละคนอาจจะให้นิยามกับคำว่ารักตัวเองแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามมีจุดที่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันว่ารักตัวเองนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้ และผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือ 3 ด้านสำคัญของการ ‘รักตัวเอง’
ด้านแรกที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงที่สุดคือ การดูแลให้ความใส่ใจกับตัวเองให้มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ไม่ปล่อยให้ตนเองทรุดโทรมหรือล้มป่วย
ด้านที่สองคือ ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็น ตรงนี้คำที่เราน่าจะคุ้นคือ ‘การเห็นคุณค่าในตัวเอง’ (Self-esteem) คือประเมินว่าตัวเราเองนั้นมีแง่ดี มีความสามารถ มีจุดแข็ง มีคุณค่า พูดง่ายๆ ว่ารู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ปฏิเสธการเป็นตัวเราเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา ไม่หวั่นไหวจากการถูกสังคมประเมินหรือตีค่า
และด้านสุดท้าย รักตัวเองยังรวมถึงการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด ล้มเหลว รู้จักให้อภัยตนเองกับเรื่องดังกล่าว และหากรู้สึกแย่ เสียใจ เจ็บปวด ก็ยอมรับและเข้าใจในสภาพของร่างกายและจิตใจที่เป็นแบบนั้น
นอกจากนี้ยังมีหากศึกษาในงานวิจัยหรือตำราที่ต่างกัน อาจจะพบถึงประเด็นอื่นๆ มากไปกว่านั้น เช่น การพัฒนาตนในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะความชำนาญ บางครั้งรวมไปถึงการพัฒนาตนในทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนา แต่ในภาพรวมแล้ว การทำหรือการคิดสิ่งดีๆ ให้แก่ตนเอง ให้ตนเองรู้สึกดี มีความสุข หรือพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘รักตัวเอง’
หากเราสังเกตแล้วจะพบว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับการรักตัวเองเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนทุกคนควรจะทำทั้งนั้น และนี่เป็นสิ่งที่ตอบคำถามอีกข้อที่คนสงสัยว่า การรักตัวเองนั้นเป็นเหมือนของทดแทนการไม่มีคนรักหรือไม่ โดยคำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ เพราะรักทั้งสองอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกัน แม้หลายๆ คนที่พบปัญหากับความรักจะได้รับการแนะนำให้ ‘กลับมารักตัวเองก่อน’ ไม่ได้หมายความว่าให้เขาไปรักตัวเองในรูปแบบเดียวกับรักแฟน แต่หมายถึงการดูแลเอาใจใส่ ยอมรับในตัวเราเอง มุ่งทำความเข้าใจตนเองมากกว่า
คนที่รักตัวเองเป็น จะทำให้ตัวเองมีความสุขได้ ไม่ว่าตนเองจะมีคู่รักแบบโรแมนติกหรือไม่ก็ตาม
ถึงแม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะมีสัญชาตญาณรักตัวกลัวตายติดตัวมาแต่เด็กและเราทุกคนต่างแสวงหาความสุขเป็นปกติ แต่เนื่องจากสังคมมนุษย์นั้นซับซ้อน เราเลยมีความสุขที่ซับซ้อนมากกว่าการกินอิ่ม มีที่พักปลอดภัย ไม่เจ็บไม่ไข้ มนุษย์เราให้ความสำคัญกับหลากหลายเรื่องอย่างการงาน การเงิน ความก้าวหน้า คู่รัก และเรื่องอื่นๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งการแสวงหาความสุข การทำในสิ่งที่ตนคิดว่าจำเป็น สำคัญ หรืออยากได้นั้นดึงความสนใจของเราไปจากตัวเราเองจนหมด ผลคือเราลืมทำกิจกรรมที่ดูแลเอาใจใส่ตนเองและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดีกับตัวเอง อย่างที่เขาเรียกกันว่า ‘ลืมรักตัวเอง’
เหมือนเรามุ่งเดินไปสู่เป้าหมายไกลๆ ที่เราคิดว่าเราจะทำให้ตัวเรามีความสุข แต่เราลืมทำสิ่งที่จำเป็นที่อยู่ใกล้ นี่เป็นคำตอบว่าทำไมบางคนถึงดูไม่รักตัวเอง ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็น่าจะให้ความสำคัญกับตัวเองทั้งนั้น
ก่อนจากกัน ผมอยากพูดถึงการรักตัวเองในรูปแบบที่จำง่ายๆ ทุกครั้งที่ผมพูดเกี่ยวกับความหมายของความรักผมจะนึกถึงคำพูดของคุณดวงหทัย ศรัทธาทิพย์ (ดารา/ผู้เขียนบท) ที่กล่าวว่าการที่เรารักใครก็เหมือนเรามีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาให้แก่คนคนนั้น แม้ว่าการรักตัวเองจะเป็นคนละเรื่องกับความรักแบบโรแมนติก แต่ผมกลับพบว่านิยามของคุณดวงหทัยนั้นเหมาะกับการตอบคำถามเวลาที่เราคิดว่า ‘เราจะรักตัวเองได้อย่างไร’ แม้อาจจะไม่เที่ยงตรงกับนิยามตามพุทธศาสนา แต่ผมคิดว่าการมีพรหมวิหาร 4 แก่ตนเองเป็นเคล็ดลับในการจดจำถึงแนวทางในการรักตนเอง
เมตตาต่อตนเอง หมั่นดูแลให้ตัวเองสุขภาพแข็งแรง มองหาว่าสิ่งใดที่ทำให้ตนมีความสุขโดยไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น หมั่นทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต เล่นกีฬา ทำงานอดิเรก ทำสิ่งที่ตนเองรัก
กรุณาต่อตนเอง ให้ตนเองพ้นทุกข์ หากเครียด กลุ่มอกกลุ้มใจเรื่องใด ให้ลองหาทางออกดู อย่าปล่อยให้มันหมักหมมในใจ อาจจะเริ่มที่การทบทวนเรื่องราวด้วยตนเองและหาทางจัดการลดความทุกข์ความเครียดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ไปจนถึงการพึ่งพาทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนาหากทางนั้นทำให้ท่านสบายใจ
มุทิตาต่อตนเอง ยินดีเมื่อตัวเรามีความสุข หนึ่งในหลักของสุขภาพจิตที่ดีคืออย่าลืมยินดีกับความสุขที่เข้ามาในชีวิต แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้ตระหนักและปลาบปลื้มเมื่อมีสิ่งที่ดีๆ เกิดในชีวิต จะจดบันทึกเหตุการณ์ดีๆ เอาไว้ก็เป็นไอเดียที่ดี
อุเบกขาต่อตนเอง บางครั้งปัญหาในชีวิตบางเรื่องมันนอกเหนือความพยายามของเรา และปัญหาบางอย่างมันเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามันไม่ทำให้เราไม่ถึงตาย เราก็ยังต้องอยู่ต่อไป ยอมรับและวางเฉยกับสิ่งนั้น อย่าเก็บเอามาทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเองว่าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น
หลายๆ ท่านที่อ่านแล้วคิดว่าทุกอย่างที่บอกมานั้นก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ถือว่าดีแล้วครับ ท่านรักตัวเองอยู่แล้ว แต่หากท่านไหนรู้สึกว่าลืมทำหรือใส่ใจบางข้อไป ก็อยากให้ลองใส่ใจตรงนี้ไว้บ้าง ปัญหาหลายๆ อย่างในชีวิตนั้น พอมันเป็นปัญหามันย่อมสร้างความทุกข์อยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่คนที่รักตัวเองเป็นจะมีความเข้มแข็งในการสู้ทั้งกายและใจ เชื่อมั่นว่าตนเองทำอะไรได้ และไม่รู้สึกเหมือนชีวิตพังไปหากล้มเหลว ซึ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้ท่านยังมีความสุขได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
Bowlby, J. (1969). Attachment and loss: Vol. 1. Attachment. New York: Basic Books.
Bowlby, J. (1973). Attachment and loss: Vol. 2. Separation, anxiety, and anger. New York: Basic Books.
Baumeister, R. F., Smart, L., & Boden, J. M. (1996). Relation of threatened egotism to violence and aggression: the dark side of high self-esteem. Psychological review, 103(1), 5.
Hazan, C., & Shaver, P. (1987). Romantic love conceptualized as an attachment process. Journal of personality and social psychology, 52(3), 511
Henschke, E., & Sedlmeier, P. (2021). What is self-love? Redefinition of a controversial construct. The Humanistic Psychologist.
Maharaj, N., & April, K. A. (2013). The power of self-love in the evolution of leadership and employee engagement. Problems and perspectives in management, (11, Iss. 4), 120-132.
ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์. (2540) มีผัวเสียทีดีไหมหนอ. กรุงเทพฯ , ดอกหญ้า.
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.
ริดชาร์ด แอพพิกนานซี. (2562). ฟรอยด์ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.