- ‘บ้านที่มีแมวขี้โกหก กับหมาในจินตนาการ’ เป็นหนังสือผลงานของ เทราจิ ฮารุนะ ที่ชวนให้เราขบคิดถึงคำถามเชิงปรัชญาที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร?
- หนังสือเล่าเรื่องราวของ ‘ฮาเนะโกะ ยามาบุกิ’ ผู้อยู่ในครอบครัวที่เรียกได้ว่า ‘ไม่ได้เรื่อง’ และใช้ชีวิตกับคำโกหกหลอกลวงด้วยเหตุผลต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกใบนี้ที่สมบูรณ์แบบอยู่ที่ว่าเราจะยอมรับและจัดการกับความบกพร่องของตัวเราเองได้แค่ไหน
- ถ้าเราเกิดมาเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้แก่สังคม แล้วคนที่เกิดมาโดยไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ใครเลย คนแบบนี้มีสิทธิจะอยู่บนโลกใบนี้หรือไม่ แต่แท้จริงแล้ว ทุกชีวิตที่เกิดมา ก็ล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะก่อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ก็ตาม
ปกสวยๆสีหวานๆ กับชื่อเรื่องยาวๆตามเทรนด์ยุคนี้ว่า ‘บ้านที่มีแมวขี้โกหก กับหมาในจินตนาการ’ อาจชวนให้เข้าใจว่า หนังสือเล่มนี้จัดอยู่ในหมวดไลท์โนเวล หรือไม่ก็นิยายสมัยนิยมของวัยรุ่น
แต่จริงๆ แล้ว หนังสือผลงานของ เทราจิ ฮารุนะ นักเขียนรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นเล่มนี้ อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่ชวนให้เราขบคิดถึงคำถามเชิงปรัชญาที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง – เราเกิดมาเพื่ออะไร?
จากประวัติศาสตร์ยาวนานหลายแสนปีของมนุษยชาติ มีคนพยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้ ไม่ว่าจะเป็น…
เราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม เกิดมาเพื่อพัฒนาตัวเอง เกิดมาเพื่อสร้างสิ่งดีๆให้แก่โลกและเพื่อนมนุษย์ หรือแม้กระทั่งเกิดมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ ที่นำมนุษย์ไปสู่เวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม
จะเห็นว่าคำตอบส่วนใหญ่ของคำถามนี้ จะให้น้ำหนักไปที่การสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม สังคม คนรอบข้าง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ชวนให้ขบคิดต่อไปว่า แล้วคนที่เกิดมาโดยไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ใครเลย คนที่มีลมหายใจอยู่ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของใครดีขึ้น คนแบบนี้มีสิทธิจะอยู่บนโลกใบนี้หรือไม่
และนี่คือ แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้
ฮาเนะโกะ ยามาบุกิ อาศัยอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ ในเมืองเล็กๆ ชื่อ ชิโอะฟุริ แต่ผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ‘คนไม่ได้เรื่อง’ ทั้งสิ้น
เริ่มจาก ‘ปู่’ ผู้เต็มไปด้วยความฝันสารพัดโปรเจ็กต์ แต่ไม่เคยลงมือทำได้สำเร็จสักอย่าง ‘ย่า’ ผู้แต่งเรื่องโกหกได้คล่องปาก โดยอ้างเหตุผลว่า ลูกค้าต้องการสินค้าที่มี ‘สตอรี่’
ส่วน ‘แม่’ ก็กลายเป็นคนสติเลื่อนลอย หลังการสูญเสียลูกชายคนเล็กไปในอุบัติเหตุ ขณะที่ ‘พ่อ’ ผู้ไม่เป็นโล้เป็นพายในทุกๆ เรื่อง ทั้งหน้าที่การงานและเรื่องครอบครัว เลือกใช้วิธีหลบหนีปัญหาด้วยการไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น จนกลายเป็นหัวข้อซุบซิบนินทาของคนทั้งเมือง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘เบนิ’ พี่สาวของยามาบุกิ จะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ไม่ได้เรื่อง และสิ่งเดียวที่เธอต้องการ คือ โตเป็นผู้ใหญ่โดยเร็ว เพื่อจะได้ทิ้งครอบครัวไม่ได้เรื่อง ออกไปใช้ชีวิตของตัวเองได้
ใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกใบนี้ที่สมบูรณ์แบบ คนทุกคนล้วนบกพร่อง ชำรุดทรุดโทรม แหว่งวิ่นฉีกขาด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับและจัดการกับความบกพร่อง ชำรุดทรุดโทรม หรือแหว่งวิ่นฉีกขาดของตัวเราเองได้แค่ไหน
หรืออาจพูดอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เราจะมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางความไร้ค่าเปล่าประโยชน์ของชีวิต
ขณะที่ปรัชญาเมธีและผู้นำทางความคิดในโลกยุคโบราณ คร่ำเคร่งกับการค้นหาว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร นักคิดนักเขียน และนักปรัชญาในยุคสมัยใหม่ จำนวนไม่น้อยเลย เชื่อว่า ชีวิตไม่ได้เกิดมาเพื่ออะไรเลย
หนึ่งในนั้นก็คือ อัลแบร์ กามูส์ นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส ผู้ประกาศว่า ชีวิตคือความไร้แก่นสาร (Absurdity)
กามูส์ เติบโตมาในห้วงเวลาที่โลกถูกแผดเผาด้วยไฟสงคราม พ่อของเขาตายในสนามรบขณะที่เขาอายุเพียง 2 ขวบ ในช่วงวัยเด็ก กามูส์ชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล เขามีความฝันจะเป็นนักฟุตบอล แต่เมื่อหมอวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นวัณโรค พรสวรรค์และความมุ่งมั่นของกามูส์ ก็พังทลายในพริบตา
ชีวิตช่างไร้แก่นสารเสียเหลือเกิน
ในช่วงวัยหนุ่ม กามูส์ ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักคิด และนักเขียน ผลงานหนังสือของเขา มุ่งไปที่การตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต โดยเน้นไปที่ความเป็นปัจเจก และเจตจำนงเสรี ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1957 ทว่า หลังจากนั้นไม่กี่ปี กามูส์ ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในช่วงชีวิตกำลังรุ่งโรจน์
ชีวิตช่างไร้แก่นสารเสียเหลือเกิน เพียงชั่วกระพริบตาของห้วงเวลา ชีวิตหนึ่งดับสูญ
ไม่ว่าชีวิตนั้นจะมีค่านิยม ศรัทธาความเชื่อ หรืออุดมการณ์อันสูงส่งเพียงใด สุดท้าย ชีวิตก็ไร้แก่นสารใดๆ ให้ยึดถือ
แม้ว่าชีวิตและผลงานของกามูส์ จะบอกกับเราว่า ชีวิตคือความไร้แก่นสาร แต่เขาไม่ได้เลือกใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยไร้สาระ ตรงกันข้าม กามูส์ เชื่อว่า ชีวิตเกิดมาเพื่อมีความสุข โดยเฉพาะความสุขที่แท้จริง ที่มิใช่ความสำราญเริงรมย์ไปวันๆ
ความสุขที่แท้จริงในความหมายของกามูส์ คือ 1 อยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง 2 หลุดพ้นจากความทะเยอทะยาน 3 มีความคิดสร้างสรรค์ และ 4 จงรักใครสักคน
ท้ายที่สุดแล้ว กามูส์ พยายามบอกกับเราว่า ชีวิตไม่ได้ไร้แก่นสารหรอก แต่เปลือกของมันต่างหาก ที่ไร้แก่นสารให้ยึดมั่นถือมั่น ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์อันสูงส่ง ศรัทธาอันแรงกล้า หรือความมุ่งมาดปรารถนาใดๆ ซึ่งหากลอกเปลือกอันไร้สาระเหล่านั้นออกไป เราจึงจะค้นพบคุณค่าและความหมายของชีวิต
…..
ยามาบุกิ ตัวละครเอกในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นอีกคนที่คุ้นเคยความไร้แก่นสารของชีวิต เขาเติบโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยคนไม่ได้เรื่อง ขณะที่ตัวเองก็ไม่ต่างจากสมาชิกคนอื่นๆ เขาเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถหรือพรสวรรค์ใดๆ ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีความโดดเด่น ไม่มีใครสนใจ ไม่ต่างจากอากาศธาตุ
ยามาบุกิ อยากเลี้ยงหมามาตั้งแต่เด็ก แต่ทำได้แค่เพียงเลี้ยงหมาในจินตนาการ ใช้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเป็นที่พึ่งทางใจ โดยที่ตัวเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การทำแบบนี้เป็นเรื่องไร้แก่นสารหรือเปล่า
ตอนเด็กๆ ยามาบุกิ ไม่ชอบทั้งชื่อและนามสกุลของตัวเอง เขาคิดว่า ชื่อ ยามาบุกิ เป็นชื่อที่โบราณล้าสมัย ส่วนนามสกุลฮาเนะโกะ ซึ่งแปลว่า แมวมีปีก ก็เป็นนามสกุลที่ถูกชาวเมืองเรียกขานลับหลังว่า บ้านแมวขี้โกหก ด้วยความที่สมาชิกในบ้านหลังนี้ ล้วนมีพฤติกรรมที่ชวนให้เข้าใจว่า เป็นคนขี้โกหก
แน่นอนว่า การโกหกไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ตามมาตรฐานชี้วัดศีลธรรมอันดีงาม แต่ในความเป็นจริง จะมีสักกี่คนที่กล้าพูดเต็มปากว่า ไม่เคยโกหกเลยสักครั้งในชีวิต
ยิ่งไปกว่านั้น จะมีใครที่กล้าตัดสินว่า การพูดความจริงที่ทำให้คนฟังต้องเจ็บปวด กับการโกหกที่ทำให้คนอื่นรู้สึกมีความสุข อย่างไหนจะดีกว่ากัน
ย่าของยามาบุกิ เคยพูดว่า บางครั้ง คำโกหกก็เป็นยาได้เหมือนกัน เธอเปิดร้านขายของกระจุกกระจิกที่ล้วนแต่มี ‘สตอรี่’ ที่เพ้อฝันเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นลูกอม ที่แปะป้ายว่า ยาที่กินแล้วจะลืมความเจ็บปวด หรือสร้อยไข่มุกปลอมประดับแอเมทิสต์ ซึ่งย่าบอกกับลูกค้าว่า เป็นสร้อยคอแห่งความรัก เพราะคนทำสร้อยเส้นนี้ ขุดหาแอเมทิสต์ทุกเม็ดมาด้วยมือตัวเอง เพื่อร้อยเป็นสายสร้อยให้กับหญิงสาวคนรัก
คำพูดของย่า ควรเรียกว่า คำโกหกหลอกลวง หรือเป็นแค่การเล่าเรื่องสนุกๆ ที่ลูกค้าชอบฟัง และรู้กันดีอยู่แล้วว่า เป็นแค่เรื่องในจินตนาการ
แม่ของยามาบุกิ ซึ่งทำใจไม่ได้กับการสูญเสียเซจิ ลูกชายคนเล็ก เลือกที่จะหลอกตัวเองว่า ลูกยังไม่ได้จากไปไหน เพียงแค่ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน อีกสักประเดี๋ยวก็จะกลับมากินข้าวเย็นที่เธอเตรียมไว้
การหลอกตัวเองของแม่ เป็นการโกหก หรือเป็นการเยียวยาจิตใจ ที่ช่วยให้เธอรอดพ้นจากความจริงอันโหดร้ายได้
ยามาบุกิ เกลียดการโกหก แต่เขาเต็มใจโกหกเพื่อความสบายใจของแม่ ทุกครั้งที่แม่เที่ยวเดินตามหาเซจิ เขาจะคอยตอบว่า น้องไปเดินเล่นกับพ่อบ้าง หรือกำลังเล่นอยู่ข้างนอกบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ยามาบุกิ โกหกแม่ว่า เซจิ ย้ายไปอยู่กับลุง ที่รับอุปถัมภ์และส่งให้เรียนโรงเรียนชื่อดัง ยามาบุกิ ทำถึงขนาดเขียนจดหมายแทนน้องชายผู้ล่วงลับ ส่งมาถึงแม่เป็นประจำ เพื่อให้แม่สบายใจว่า ลูกชายคนนี้ยังสบายดี
แน่นอนว่า การไม่พูดความจริงของยามาบุกิ คือ การโกหก แต่ใครจะกล้าบอกว่า นั่นคือสิ่งผิด
…..
หนังสือเรื่อง ‘บ้านที่มีแมวขี้โกหก กับหมาในจินตนาการ’ แบ่งออกเป็น 7 บท โดยที่แต่ละบท เกิดขึ้นในช่วงเวลาห่างกัน 5 ปี ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการการเติบโตของยามาบุกิ จากเด็กน้อยวัย 8 ขวบ ในบทแรก กลายเป็นผู้ใหญ่วัย 34 ปี ในบทสุดท้าย
ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นยามาบุกิ ค่อยๆ ค้นพบคำตอบของคำถามว่า “เราเกิดมาทำไม”
ครั้งหนึ่ง ในช่วงวัยหนุ่ม ยามาบุกิ ซึ่งย้ายออกจากบ้านไปเรียนที่วิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้มีโอกาสนั่งคุยกับย่า ผู้ซึ่งกำลังเย็บผ้ากิโมโนอย่างขะมักเขม้น
“เข็มกลัดเนี่ยมีประโยชน์อะไรเหรอ” ยามาบุกิ หมายถึงเข็มกลัดที่เป็นสิ่งประดับ
“ถูกต้อง ไม่มีประโยชน์อะไรเลย” ย่าพูดอย่างเย็นชา “เหมือนแกนั่นล่ะ”
“แกน่ะเป็นเด็กที่ไม่มีประโยชน์อะไรต่อสังคมเลย” ย่าพูดย้ำ “แต่ใช่ว่าจะเป็นเหตุผลให้ยามาบุกิไม่ควรมีตัวตนบนโลกนี้เสียเมื่อไร”
“หมายความว่า ผมเป็นคนที่ควรมีตัวตนบนโลกใบนี้เหรอ” ยามาบุกิ ถาม
“ก็ใช่น่ะสิ เพราะแกเป็นหลานสุดน่ารักของย่าไงล่ะ”
ครั้งหนึ่ง ในช่วงวัยผู้ใหญ่ ยามาบุกิ ได้มีโอกาสนั่งคุยกับพ่อ บทสนทนาของทั้งคู่ พาย้อนอดีตไปถึงเรื่องสวนสนุก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ปู่ใฝ่ฝันอยากจะสร้างขึ้น แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่เรื่องขี้โม้ในความคิดของชาวเมือง
“สวนสนุกที่ว่าน่ะ เอาเข้าจริงก็เป็นของที่ไม่จำเป็นใช่มั้ยล่ะ… ถึงไม่มีสวนสนุกก็ไม่มีใครตาย” พ่อพูด
“แต่ก็นะ… โลกที่ไม่มีสวนสนุกก็คงน่าเบื่อแย่”
…..
แน่นอนว่า หนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ตำราทางวิทยาศาสตร์ ที่มีข้อสรุปชัดเจนว่า สุดท้ายแล้ว เราทุกคนเกิดมาเพื่ออะไร
แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องราวของยามาบุกิ ฮาเนะโกะ ก็บอกกับเราว่า ทุกชีวิตที่เกิดมา ล้วนมีคุณค่าในตัวของมัน ไม่ว่าชีวิตนั้นจะสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมหรือไม่
ชีวิตของคนธรรมดา ที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษใดๆ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อโลกใบนี้ ก็ยังมีคุณค่าในการดำรงอยู่ หากชีวิตนั้นยังเป็นที่รักของใครสักคน