- มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน หรือ The Midnight Library ผลงานเขียนของแมตต์ เฮก (Matt Haig) ผู้เข้าถึงจิตใจของผู้คนที่ล้มเหลวกับชีวิต จากประสบการณ์ตรงของตนเอง
- หนังสือเล่าเรื่องราวของ ‘นอรา’ ที่เชื่อว่า ชีวิตของเธอคือความล้มเหลว จึงตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง และตื่นขึ้นมาในห้องสมุดเที่ยงคืนที่เธอสามารถเลือก ‘ชีวิตของฉัน’ ในจักรวาลแห่งความเป็นไปได้
- บนทางแยกแห่งความเป็นไปได้นับหมื่นแสนล้าน ที่นำเราไปสู่พหุจักรวาลที่แตกต่างจากเดิม ล้วนไม่มีความหมายใดๆ หากเรา ‘ไม่ลงมือกระทำ’ ด้วยการก้าวเดินไปบนทางแยกนั้น
(บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อเรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ*การฆ่าตัวตาย และตอนจบของหนังสือ)
คนเราเกิดมาทำไม? ชีวิตนี้มีอยู่เพื่ออะไร? หรืออะไรคือความหมายของชีวิต
ผมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน ล้วนเคยมีสักครั้งในชีวิต ที่ฉุกคิดถึงคำถามข้างบน ไม่ว่าจะเป็นการขบคิดในเชิงปรัชญานามธรรม หรือแค่แวบขึ้นมาพร้อมความขุ่นข้องหมองใจ ในห้วงยามที่ชีวิตไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
และผมเชื่อว่า การขบคิดถึงคำถามเรื่องความหมายของชีวิต อาจเป็นคุณสมบัติหนึ่งเดียว ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ
นับตั้งแต่เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว มนุษย์ในหลากหลายอารยธรรมความเชื่อ เริ่มขบคิดเพื่อหาคำตอบของคำถามเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เชื่อว่า เป้าหมายของชีวิตคือการดับทุกข์ หรือ เอพิคิวรัส นักปรัชญาชาวกรีก ผู้เชื่อว่า เป้าหมายของชีวิตคือ การเสาะแสวงหาความสุข (แต่สุขในแบบของเอพิคิวรัส ไม่ใช่สุขสำราญสำมะเลเทเมาอย่างที่เราคิดหรอกครับ) หรือ อัลแบร์ กามู นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ประกาศว่า ชีวิตมิใช่อื่นใด แต่คือความไร้แก่นสารโดยสิ้นเชิง
ถึงแม้จะมีคำตอบที่แสนชาญฉลาดจากนักคิดผู้เปี่ยมด้วยปรีชาญาน แต่หลายคนยังไม่หายขุ่นข้องใจ มนุษย์จำนวนมากยิ่งกว่ามากในทุกวันนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากความหมกมุ่นอยู่กับคำถามเรื่องความหมายของชีวิต
ยิ่งในโลกปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีทำให้โลกหมุนเร็วกว่าเดิมและแคบลงกว่าเดิม เรามองเห็นชีวิตที่สวยงาม ชีวิตที่น่าอภิรมย์ของคนอื่นๆ ไม่จะเป็นรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนข้อความ ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียที่ปรากฎบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา นั่นทำให้ชีวิตกลายเป็นการเปรียบเทียบ กลายเป็นการแข่งขัน ที่มียอดไลก์และจำนวนผู้ติดตามเป็นรางวัลล่อใจ
บ้างก็มองว่า ชีวิตคือศัตรูคู่อริ จึงพยายามต่อสู้ แต่สุดท้ายก็ถูกชีวิตสู้กลับจนพ่ายยับกลับมา
นอรา ซีด เชื่อว่า ชีวิตของเธอคือความล้มเหลว ไม่มีใครรักเธอ ไม่มีใครต้องการเธอ โลกนี้น่าจะดีขึ้นถ้าไม่มีเธออยู่ สิ่งสุดท้ายในชีวิตที่นอราทำก็คือ กินยาฆ่าตัวตาย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหนังสือที่มีชื่อว่า มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน
มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน หรือ The Midnight Library เป็นผลงานเขียนของแมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้มีผลงานหนังสือขายดีหลายล้านเล่ม ทั้งนิยายและสารคดี ผลงานของเขาได้รับคำชื่นชมทั้งจากนักอ่านและนักวิจารณ์ว่า เป็นผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจ และปลอบประโลมใจให้กับผู้คนที่รู้สึกว่า ตัวเองกำลังปราชัยในชีวิต
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังสือของแมตต์ จะเข้าถึงจิตใจของผู้คนที่ล้มเหลวกับชีวิต เพราะตัวเขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น ในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วในช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ถึงแม้เจ้าตัวจะไม่เคยเปิดเผยว่าอะไรช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้นมาได้ แต่เชื่อว่า หนังสือเรื่อง มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน น่าจะบอกอะไรกับเราได้
แมตต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เชื่อในพระเจ้า สิ่งที่เขาศรัทธาคือหนังสือ และห้องสมุดก็คือศาสนสถานสำหรับเขา
อาจกล่าวได้ว่า เรื่องราวของนอรา ซีด ในหนังสือเรื่อง มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน ก็คือ เรื่องราวของแมตต์ เฮก ในอีกห้วงจักรวาล ซึ่งเป็นแค่หนึ่งจักรวาล จากพหุจักรวาลแห่งความเป็นได้นับหมื่นแสนล้าน
นอรา เชื่อว่า ชีวิตของเธอคือความล้มเหลว เธอเคยเป็นนักว่ายน้ำอนาคตไกล ภายใต้การสนับสนุนและผลักดันจากพ่อ แต่เธอตัดสินใจทิ้งการว่ายน้ำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การแตกหักกับพ่อ นอรา ร่วมก่อตั้งวงดนตรีกับโจ พี่ชายของเธอ แต่สุดท้าย เธอก็เลิกล้มความฝันในการเป็นนักดนตรี และทำให้เธอมีปัญหาบาดหมางกับพี่ชาย
เท่านั้นยังไม่พอ นอรา เพิ่งจะบอกเลิกแฟนหนุ่มก่อนหน้างานแต่งงานเพียงไม่กี่วัน เพียงเพราะเธอไม่แน่ใจอะไรบางอย่าง หลังจากนั้น ชีวิตเธอก็ดิ่งลงเรื่อยๆ นอรา ถูกเลิกจ้าง ทั้งจากงานประจำที่เป็นพนักงานในร้ายขายเครื่องดนตรี และงานพาร์ตไทม์ที่เป็นครูสอนเปียโนให้เด็กชายคนหนึ่ง
ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นอรา ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง คือ ความตายของแมวชื่อ วอลแตร์ ซึ่งเธอเชื่อว่า เป็นความผิดของเธอที่เลี้ยงดูมันไม่ดีพอ
นอรา ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตาย เพื่อจบชีวิตที่แสนห่วยแตก (ในความคิดของเธอ) แต่ทุกอย่างไม่จบง่ายดายอย่างที่เธอคิด นอราตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่เรียกว่า ห้องสมุดเที่ยงคืน ที่มีบรรณารักษ์ผู้ดูแลห้องสมุด ชื่อ มิสซิสเอล์ม
ในโลกความเป็นจริง หรือที่ในหนังสือใช้คำว่า ‘ชีวิตรากเหง้า’ (ซึ่งเราอาจเรียกมันว่า จักรวาลที่ 1) มิสซิสเอล์ม เป็นบรรณารักษ์ใจดีของห้องสมุดประจำโรงเรียน และเป็นคนคอยปลอบใจนอรา ในวันที่เธอได้รับข่าวร้ายว่าพ่อของเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
มิสซิสเอล์มในโลกหลังความตาย บอกกับนอราว่า ห้องสมุดเที่ยงคืน คือ สถานที่ที่อยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ณ ขณะนี้ นอรายังไม่ก้าวเข้าสู่ความตายอย่างแท้จริง เธอได้รับโอกาสให้เลือกใช้ชีวิตใหม่ในแบบที่เธออยากจะเป็น ด้วยการเลือกหนังสือ ‘ชีวิตของฉัน’ ที่มีอยู่นับหมื่นแสนล้านเล่มในห้องสมุด ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1 หากยังไม่พอใจชีวิตใหม่ที่เลือก เธอจะถูก ‘วาร์ป’ กลับมาที่ห้องสมุดเที่ยงคืนอีกครั้ง 2 หากเธอตายในจักรวาลใดจักรวาลหนึ่ง ชีวิตเธอจะสิ้นสุดลงจริงๆ และสุดท้าย หากนอรายังไม่สามารถเลือกชีวิตที่พึงพอใจได้ เธอจะได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความตายดังที่ใจปรารถนา
‘ชีวิตของฉัน’ แต่ละเล่ม คือ ชีวิตของนอรา ในแต่ละจักรวาลแห่งความเป็นไปได้ที่มีจำนวนเหลือคณานับ ในชีวิตหนึ่ง นอรา เป็นอาจารย์สอนปรัชญา ในอีกชีวิตหนึ่ง เธอเป็นนักกีฬาว่ายน้ำระดับเหรียญทองโอลิมปิก และในอีกชีวิตหนึ่ง เธอเป็นร็อคสตาร์ชื่อเสียงโด่งดัง ที่มีแฟนคลับและฟอลโลเวอร์นับล้าน
“เธอมีชีวิตได้มากมายหลายชีวิต…พอๆ กับความเป็นไปได้ที่เธอมี เป็นชีวิตที่เธอตัดสินใจเลือกใหม่ และสิ่งที่เธอเลือกจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ถ้าเธอทำสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมแค่สิ่งเดียว เธอจะมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างออกไป”
อ่านถึงตรงนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถึงแม้เรื่องราวหรือทฤษฎีพหุจักรวาล เอกภพคู่ขนาน มิติคู่ขนาน หรือพหุภพ (multiverse) จะมีการเขียนถึงตั้งแต่ยุคปรัชญากรีกเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทฤษฎีเกี่ยวกับพหุจักรวาล ถูกนำมาอ้างถึงอย่างมาก ทั้งในนิยายไซไฟและสื่อภาพยนตร์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาการในสาขาฟิสิกส์ควอนตัน ที่มีการยอมรับถึงความเป็นไปได้ของพหุจักรวาล
แต่อีกส่วนหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะผู้คนในโลกปัจจุบัน ซึ่งถูกท่วมทับด้วยภาพชีวิตที่สวยงามของคนอื่น ไม่พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ และโหยหาตัวตนที่ดีกว่าเดิม สุขกว่าเดิม และต่างไปจากเดิม
นอรา ได้มีโอกาสเลือกเป็นตัวเองในรูปแบบต่างๆ ในจักรวาลหนึ่ง เธอได้แต่งงานกับแฟนหนุ่ม ได้เปิดผับที่เมืองชนบทในอังกฤษ และในอีกจักรวาล เธอทำงานในสถานรับเลี้ยงสุนัข และได้พบรักกับหนุ่มรุ่นน้องที่โรงเรียน ขณะที่ในอีกจักรวาล นอราได้แต่งงานกับเชื้อพระวงศ์ (เธอบอกว่าเธอไม่ชอบชีวิตนี้เอามากๆ)
และในจักรวาลหนึ่ง นอราเป็นนักวิจัยด้านธารน้ำแข็งที่ขั้วโลก ที่นั่น เธอเกือบถูกหมีขั้วโลกกิน ทำให้ตัวเองได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว เธอไม่ได้อยากตายอย่างที่คิดไว้เลย
แท้ที่จริงแล้ว นอรา ซีด (รวมถึงแมตต์ เฮก และมนุษย์ทุกคน) ไม่ได้อยากตาย เธอยังอยากมีชีวิตอยู่ ภายใต้วงเล็บว่า ชีวิตที่สวยสดงดงามกว่าชีวิตนี้
หลังจากลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน สุดท้าย นอรา จึงค้นพบชีวิตที่เธออยากจะเป็นจริงๆ (ซึ่งเราจะยังไม่พูดถึงมันในตอนนี้) แต่ในโลกความเป็นจริงล่ะ เรามีโอกาสเลือกชีวิตที่แตกต่างหลากหลายเหมือนนอราหรือเปล่า
ถึงแม้โลกความเป็นจริง (ซึ่งในหนังสือเรียกมันว่า ชีวิตรากเหง้า หรือคุณอาจเรียกมันว่า จักรวาลที่ 1 หรืออะไรก็ตามแต่) จะไม่มีห้องสมุดเที่ยงคืน แต่เราทุกคนสามารถเลือกชีวิตที่ดีกว่าเดิม สวยงามกว่าเดิม และแตกต่างจากเดิม ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘การกระทำ’ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ‘การใช้ชีวิต’
บนทางแยกแห่งความเป็นไปได้นับหมื่นแสนล้าน ที่นำเราไปสู่พหุจักรวาลที่แตกต่างจากเดิม ล้วนไม่มีความหมายใดๆ หากเราไม่ลงมือกระทำ ด้วยการก้าวเดินไปบนทางแยกนั้น
นอรา ที่เคยเป็นพนักงานในร้านขายเครื่องดนตรี สามารถเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยการเลือกหนังสือเล่มใหม่ในห้องสมุดเที่ยงคืน แต่คุณเอง ก็สามารถเป็นคุณอีกคน ในเวอร์ชั่นสุดยอดนักกีฬา ด้วยการฝึกซ้อมให้หนักกว่าเดิม หรืออาจเป็นคุณอีกคน ในเวอร์ชั่นที่มีความสุขกว่าเดิม เพียงแค่คุณเลือกที่จะปล่อยวางคำพูดนินทาว่าร้ายของเพื่อน
ทุกการกระทำที่ต่างไปจากเดิม ล้วนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากเดิม -คงจำกันได้นะครับว่า มิสซิสเอล์ม บรรณารักษ์ห้องสมุดเที่ยงคืน ได้กล่าวไว้
กลับมาที่บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่า หลายคนน่าจะเดาออกไม่ยากว่า สุดท้าย นอราเลือกกลับไปสู่ชีวิตรากเหง้า ชีวิตดั้งเดิมที่ล้มเหลวเฟลทุกอย่างนั่นแหละ เพราะเธอค้นพบแล้วว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ ‘การเลือก’ แต่เป็น ‘การกระทำ’ มากกว่า
ชีวิตรากเหง้าของนอรา อาจเต็มไปด้วยปัญหา แต่ชีวิตในจักรวาลอื่นๆของเธอก็เช่นกัน ทุกชีวิตล้วนมีปัญหาในแบบฉบับของมัน แต่เธอสามารถ ‘กระทำ’ เพื่อทำให้มันดีกว่าเดิมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเลือกก้าวเดินไปบนทางแยกใหม่
นอรา ยังค้นพบว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ ‘การกระทำ’ ก็คือ ‘การเห็น’
เฮนรี่ เดวิด ธอโร นักเขียนและนักปรัชญาชาวอเมริกัน กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่เธอมองไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่เธอเห็นต่างหากที่สำคัญ” และคำพูดนั้น ช่วยให้นอราได้ ‘เห็น’ สิ่งดีๆ ในชีวิต ที่เธอไม่เคย ‘เห็น’ มาก่อน
สิ่งดีๆ ที่นอราเห็น ซึ่งถือเป็นคีย์เวิร์ดของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความใจดีมีเมตตา ที่เธอเคยมอบให้แก่คนอื่น ล้วนส่งผลอย่างยิ่งต่อผู้รับอย่างที่เธอเองก็คาดไม่ถึง
ความช่วยเหลือในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่นอราเคยให้กับชายชราคนหนึ่ง ทำให้ชีวิตเขาแตกต่างไปจากเดิม เช่นเดียวกับความใส่ใจและเอื้ออาทรที่เธอเคยมีให้กับเด็กชายคนหนึ่ง ก็ทำให้เขาไม่โตไปเป็นอันธพาลขี้คุก
และความใจดีมีเมตตาของมิสซิสเอล์ม บรรณารักษ์ที่นอรา เคยรู้จักในช่วงวัยเด็ก ช่วยให้นอรารอดพ้นจากความตาย และได้ตระหนักว่า ชีวิตคือสิ่งสวยงาม ต่อให้เราไม่เข้าใจความหมายของมันก็เถอะ
ผมปิดหนังสือเล่มนี้ลง พร้อมกับคิดถึงข้อความของอัลแบร์ กามู ที่ถูกหยิบมาอ้างถึงในหนังสือเล่มนี้ ข้อความนั้นเขียนไว้ว่า “คุณจะไม่มีวันมีชีวิต ถ้าคุณมัวแต่มองหาความหมายของชีวิต”
ใช่ครับ ชีวิตไม่ได้มีไว้เพื่อค้นหาความหมายเพียงอย่างเดียว หากแต่มีไว้ใช้ด้วย จงใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ใช้อย่างใจดีมีเมตตา ทั้งกับผู้อื่นและตัวคุณเอง