- หนังสือการ์ตูน ‘จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา’ โดย ชิโอริ อามาเสะ สำนักพิมพ์ชูเอฉะ แปลและจัดพิมพ์ในไทยโดย สำนักพิมพ์รักพิมพ์
- เป็นเรื่องราวของคาบเรียนที่สอนวิชาจริยปรัชญา สลับกับเรื่องราวชีวิตของนักเรียนในห้อง ซึ่งแต่ละคนจะพบปัญหาที่ล้วนแต่เป็นปัญหาที่วัยรุ่นทั่วไป
- คำถามทางปรัชญา ไม่ได้ต้องการวิธีแก้ไข ว่าต้องทำแบบนี้ แล้วปัญหาจะถูกแก้ไข แต่คำถามเหล่านี้คือความคับข้องใจ และทางแก้ไขคือการที่เด็กแต่ละคนตอบตนเองได้อย่างพอใจ หรือยอมรับได้ที่ตนจะคับข้องใจต่อไป
พอพูดถึง ‘ปรัชญา’ หลายคนอาจจะคิดว่าช่างเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน มีแค่อาจารย์หรือนักวิชาการเท่านั้นที่จำเป็นต้องเรียน คนทั่วไปรู้ก็หนักหัวเสียเปล่าๆ การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญาน้อยมาก ทำให้เด็กไทยน้อยคนสนใจเรื่องนี้ พอผมมาเห็นหนังสือการ์ตูนชื่อ ‘จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา’ แค่คำว่า ‘จริย’ จากจริยธรรมผสมกับคำว่าปรัชญาก็ทำให้ผมขมวดคิ้วว่าคนอ่านการ์ตูนจะชอบหรืออินกับเรื่องนี้ได้จริงหรือ แต่พอได้อ่านแล้วก็พบว่ามันน่าสนใจเกินคาดมากเลยครับ
‘จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา’ เป็นเรื่องราวของคาบเรียนที่สอนวิชาจริยปรัชญา หรือปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องจริยธรรม ฉากของเรื่องคือโรงเรียนมัธยมปลาย วิชานี้เป็นวิชาเลือกเสรี คือเด็กเลือกเรียนได้หลายวิชาตามความถนัด แต่เด็กที่เข้าเรียนวิชานี้แทบจะทุกคนแค่บังเอิญต้องมาเรียนเพราะเลือกวิชาอื่นไม่ทัน หรือไม่ก็เลือกเพราะดูว่าเป็นวิชาที่แค่นั่งเรียนให้หมดๆ คาบไปเท่านั้น และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คืออะไร อาจารย์ทาคายานางิ ผู้สอนวิชานี้เองก็ตระหนักเรื่องนี้ดี แต่เขาก็พยายามจะโน้มน้าวนักเรียนในห้องให้เห็นภาพว่าวิชานี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากเพียงใด
คำถามอย่าง ‘เกิดมาเพื่ออะไร’ ‘ตัวเรามีค่าแค่ไหน’ ‘ความรักคืออะไร’ ‘คนดีต้องเป็นคนแบบไหน’ สิ่งเหล่านี้อาจจะลอยเข้ามาในหัวของทุกๆ คนบ้างเป็นบางครั้ง และคำถามเหล่านี้อาจมีผลกระทบมากกับคนที่เพิ่งใคร่ครวญถึงสิ่งเหล่านี้ได้เป็นครั้งแรก โดยวัยแรกที่เริ่มมีคำถามเหล่านี้มาในชีวิตก็คือวัยรุ่น
แม้จะไม่ใช่วิชาที่ห่างไกลจากทักษะทางอาชีพ แต่ก็นำไปใช้กับสถานการณ์ที่สำคัญที่สุด
จอห์น เพียเจต์ นักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์เสนอทฤษฎีที่โด่งดังว่าความคิดของมนุษย์นั้นมีพัฒนาการเป็นแบบ ‘ขั้นบันได’ แต่ละวัยนั้นจะมีวิธีการคิดที่แตกต่างกัน เด็กๆ จะเน้นแต่ตนเองเป็นศูนย์กลาง เน้นแต่สิ่งที่เห็นตรงหน้า และเมื่อพ้นวัยไปความคิดจะเปลี่ยนระบบไปเป็นขั้นที่ซับซ้อนขึ้น ในขั้นสุดท้ายที่ตรงกับวัยรุ่น สิ่งหนึ่งที่พัฒนาโดยสมบูรณ์ในขั้นนี้คือ ‘ความคิดเรื่องนามธรรม’ วัยนี้เริ่มให้ความสนใจและความสำคัญกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตน
หากจะยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ ‘ความรัก’ ที่ไร้รูปร่าง มองไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญมากในชีวิต และอีกสิ่งคือ ‘อุดมการณ์’ ที่ยึดมั่นเป็นหลักในการใช้ชีวิตที่อาจจะคิดขึ้นเองหรือยึดตามคนอื่น ๆ
การเข้าสู่วัยรุ่นยังสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต วัยเด็กเป็นวัยที่รอ ‘อนาคต’ เพราะเหมือนยังไม่ถึงวัยที่ทำอะไรได้เต็มที่ แต่วัยรุ่นกำลังจะก้าวไปสู่จุดที่เรียกว่าอนาคตที่ได้เริ่มลงมือทำ บางคนที่ไม่คิดจะเรียนต่อก็ต้องก้าวสู่โลกการทำงาน คนที่เรียนต่อก็ต้องคิดให้หนักว่าตนเองจะเป็นอะไร และวัยนี้ยังทำอะไรได้ด้วยตนเองหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว การเลือกที่เรียนพิเศษ การหาสิ่งอื่นๆ มาสนองความต้องการในแบบที่พ่อแม่ไม่ได้จัดหามาให้ มีโอกาสได้เลือกเองว่าจะทำอะไร เรียกได้ว่าเป็นวัยแรกที่เริ่มสัมผัสถึง ‘อิสรภาพ’ แต่การได้มาซึ่งอนาคตและอิสรภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ทุกอย่างมีอุปสรรค และอาจจะไม่ได้สวยหรูแบบที่ฝันไว้ในวัยเด็ก
วัยรุ่นหลายคนจึงพบว่าอนาคตนั้นไม่ใช่สิ่งที่สดใสเหมือนที่วาดฝันไว้ในตอนเด็กๆ และตนเองไม่ได้ทำได้ทุกอย่างอย่างที่ตนเคยคิด บางคนเริ่มรู้ถึงข้อจำกัดของตนเอง พบว่าทักษะ ความสามารถบางอย่างนั้นไม่ได้เป็นเลิศ มีคนเก่งกว่าอีกจำนวนมหาศาลในสังคม ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนไปกระตุ้นให้เกิดคำถามถึงความหมายและคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่เราได้ยกไว้
บางคนอาจจะเป็นความคิดที่เข้ามาเป็นสิ่งคิดเล่น ผ่านไปสักพักก็ลืม แต่กับคนที่มีปัญหาเข้ามาในชีวิตที่ทำให้ต้องตอบคำถามเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองจะอยู่ไปทำไม โหยหาความรักโดยไม่รู้ว่ารักที่แท้จริงคืออะไร ไม่รู้ว่าตนเองดีพอหรือเก่งพอที่จะตามความฝันหรือไม่ คำถามเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ถึงแม้ว่าวัยรุ่นจะยังไม่มีภาะหน้าที่เท่าผู้ใหญ่ แต่เราต่างก็รู้ว่าวัยรุ่นก็มีปัญหาสุขภาพจิตได้ เราคงเคยได้ยินถึงวัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้า และที่ร้ายแรงคือทีคนฆ่าตัวตาย และหากมาลองคิดดูแล้วคำถามที่เป็นจุดสำคัญในการความสุข หรือการชี้เป็นชี้ตายล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรัชญา’ ทั้งสิ้น
บางครั้งชีวิตจะอยู่ต่อหรือจากไปขึ้นกับว่าตอบคำถามของตัวเองได้หรือไม่
‘จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา’ แต่ละตอนจะเป็นคาบเรียนที่สอนปรัชญา สลับกับเรื่องราวชีวิตของนักเรียนในห้อง ซึ่งแต่ละคนจะพบปัญหาที่ล้วนแต่เป็นปัญหาที่วัยรุ่นทั่วไปอาจพบเจอ และเราจะพบว่าเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวและพบได้บ่อยๆ เด็กบางคนใคร่ครวญถึงความหมายของรักและเพศสัมพันธ์ เด็กบางคนเสียคุณค่าของการมีชีวิตไปเพราะตนเองพบกับสิ่งเลวร้าย เด็กบางคนสงสัยว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเป็นคนดีพร้อม เด็กบางคนรู้สึกว่าตนเองผิดแปลกไปจากสังคมและนั่นคือความผิด หรือเด็กบางคนที่ได้รับอิสรภาพแต่เขากลับรู้สึกว่างเปล่าและไม่รู้ว่าควรทำอะไร
คำถามทางปรัชญาเหล่านี้ ไม่ได้ต้องการวิธีแก้ไข ว่าต้องทำแบบนี้ๆ แล้วปัญหาจะถูกแก้ไข แต่คำถามเหล่านี้คือความคับข้องใจ และทางแก้ไขคือการที่เด็กแต่ละคนตอบตนเองได้อย่างพอใจ หรือยอมรับได้ที่ตนจะคับข้องใจต่อไป
การให้คำตอบไม่ใช่การบอก แต่เสนอแนวทางเพื่อลองคิด
ที่น่าสนใจคือ ทาคายานางิ อาจารย์ผู้สอนที่เป็นตัวละครหลักในเรื่อง ไม่ได้ใช้การบอกว่าอะไรถูกหรือผิด แต่ยกปรัชญาขึ้นมา เพื่อใช้เป็นหลักการในการเปรียบเทียบ แล้วถามนักเรียนที่กำลังมีปัญหาและชวนให้เขาคิดว่าสิ่งนั้นควรจะมีคำตอบอย่างไรด้วยตนเอง และถึงแม้ทาคายานางิจะยกคำพูดปรัชญาขึ้นมา แต่ทุกครั้งเขาก็พยายามสื่อให้เห็นถึงทั้งสองด้านว่า แม้แต่ตัวปรัชญาที่ตนสอนก็ใช่ว่าจะเป็นหลักตายตัวที่ชี้ถูกผิด หากมองในอีกด้านอาจได้รับคำตอบที่ไม่เหมือนกัน และผู้พิจารณาว่าด้านไหนคือคำตอบของคำถามของพวกเขาก็คือตัวเด็กเอง เด็กอาจจะไม่ได้รับคำตอบทันที แต่ต้องมาจากการใคร่ครวญในการใช้เวลา จนถึงบางคนอาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์ในชีวิตที่นำไปสู่ความเข้าใจนั้น
และแม้แต่ตัวทาคายานางิที่เป็นอาจารย์ที่มีความรู้ปรัชญา ในเรื่องก็จะเล่าว่าเขาเองก็ยังคงมีปัญหาของชีวิตที่ตัดสินไม่ได้เช่นกัน ซึ่งแสดงถึงชีวิตจริงว่าไม่มีสูตรสำเร็จในการตอบทุกคำถาม และบางอย่างต้องใช้เวลาการใคร่ครวญจนถึงเป็นผู้ใหญ่ก็ยังต้องคิดต่อไป และบางครั้งสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนตัดสินใจใหม่ก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงชีวิตจริงๆ
การ์ตูนเล่มนี้ไม่ใช่การพยายามยัดปรัชญาเข้าหัวผู้อ่าน ไม่ได้เน้นว่าผู้อ่านต้องรู้จักหรือจำชื่อนักปรัชญา หรือหลักปรัชญาต่างๆ ให้ได้มากๆ แต่การ์ตูนแสดงวิธีถึงการคิดถึงประเด็นขัดแย้งต่างๆ ในชีวิตอย่างรอบด้าน และแนวทางในการตัดสินคุณค่า แม้ปรัชญาที่ยกมาเราจะพบว่าหลายครั้งมาจากนักปรัชญาที่กล่าวไว้เป็นหลักร้อยหลักพันปีแล้ว แต่การได้ไตร่ตรองถึงแนวคิดเหล่านี้ไม่เคยล้าสมัย และการพยายามหาคำตอบเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สำคัญกับปรัชญามากกว่าเนื้อหาปรัชญาเองเสียอีก
ในเรื่องมีการพูดถึงปรัชญาที่อาจจะทำให้ผู้อ่านสนใจหาอ่านเพิ่มเติมต่อ
สำหรับผู้อ่านที่สนใจอ่านเพราะอยากรู้จักปรัชญา ถึงแม้การอ่านหนังสือเล่มนี้จะไม่เหมือนการเข้าไปนั่งเรียนวิชานั้นด้วยตนเอง เพราะการ์ตูนก็ตัดมาเพียงช่วงเวลาหนึ่งในคาบ ทำให้ไม่ได้สอนปรัชญาต่างๆ โดยละเอียด ถ้าอยากจะเข้าใจปรัชญาที่พูดถึงทั้งหมด อาจจะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเอง แต่คิดว่าหัวข้อที่ยกมาเป็นสิ่งที่ผู้อ่านไปสืบค้นหาอ่านเพิ่มเติมไม่ยากนักทางอินเทอร์เน็ต
สำหรับผู้อ่านการ์ตูนทั่วไป แม้การ์ตูนเล่มนี้จะมีการพูดถึงเรื่องยากๆ ที่อาจจะทำให้บางคนรู้สึกงงหรือน่าเบื่อในฐานะการ์ตูนที่ควรมีไว้ผ่อนคลาย แต่การ์ตูนเองก็มีเนื้อเรื่องซึ่งวางปัญหาของตัวละครให้คนอ่านสงสัยและสนใจว่าสุดท้ายปัญหานั้นจะลงเอยอย่างไร
สิ่งสำคัญของการ์ตูนเล่มนี้ไม่ใช่คำพูดจากนักปรัชญาที่อาจารย์สอนในห้อง แต่เป็นวิธีคิดที่ตัวละครแต่ละคนใช้เพื่อตอบคำถามกับตัวเองโดยใช้คำพูดจากนักปรัชญาเป็นจุดอ้างอิงว่าจะตีความไปให้ถูกหรือผิด หรือดีหรือชั่วอย่างไรได้บ้าง ซึ่งผมว่าส่วนนี้ไม่น่าเบื่อ และไม่น่าจะยากเกินไปแม้ผู้อ่านไม่มีความรู้ปรัชญามาเลยก็ตาม
ผมมองว่าการ์ตูนเล่มนี้เป็นตัวจุดประกายความคิดของสิ่งที่ควรจะสอนในโรงเรียน แม้ว่าสังคมมักจะแนะนำให้วัยรุ่นพึ่งพาผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ อาจารย์แนะแนว รวมไปถึงที่พึ่งทางศาสนาในการตอบ ‘ปัญหาชีวิต’ ซึ่งเป็นคำถามทางปรัชญาที่อาจเกิดขึ้นในใจ แต่บางครั้งด้วยช่องว่างระหว่างวัย ความไว้ใจที่จะพูดเรื่องส่วนตัว และสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยอื่นๆ อาจทำให้เด็กไม่สะดวกใจที่จะทำแบบนั้น และคำถามเหล่านั้นอาจจะสะสมอยู่ในใจซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตของชีวิตได้
วันหนึ่ง เด็กอาจไปเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกับเรื่องเหล่านั้นก็อาจจะกลายเป็นเรื่องหนักหนาในชีวิตที่คิดไม่ตก การมีหลักการคิดเองได้บ้างจึงเหมือนการสร้าง ‘ภูมิ’ ทางสุขภาพจิตทางหนึ่ง และย่อมมีน้ำหนักในการตอบตนเองที่ดีกว่า และทันท่วงทีกว่า
ผมเคยเขียนบทความ ‘จริยธรรม ‘หลังสมัยใหม่’ ของเด็กยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก’ (แนบ link: https://thepotential.org/knowledge/postmodernism/) ว่าในยุคสมัยแห่งข้อมูลปัจจุบัน การตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกผิดตามจริยธรรม ไม่ใช่ยึดตามหลักที่ท่องมาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์และสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความสำคัญของการปลูกฝังจริยธรรมให้กับเด็กยุคใหม่คือ การสอนให้คิดเอง และพิจารณาอย่างรอบด้าน พอได้อ่านการ์ตูนเล่มนี้ ผมก็คิดว่าคาบเรียนจริยปรัชญาในเรื่องช่างเป็นห้องเรียนที่น่าสนใจ หากมีวิชานี้ในโรงเรียนไทยบ้างก็คงจะดี แต่จนกว่าจะถึงวันนั้นที่การศึกษาไทยให้คุณค่ากับการเรียนปรัชญากับเด็กวัยรุ่นมากขึ้น อย่างน้อยก็น่ายินดีที่ยังมีหนังสือการ์ตูนอย่าง ‘จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา’ แปลขายเป็นภาษาไทย และผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นสื่อการสอนที่ดี ผมจะดีใจที่ถ้าเด็กๆ ได้มีโอกาสอ่านเพื่อใช้ในการขบคิดหากวันหนึ่งพบปัญหา และยินดีมากหากพ่อแม่หรือครูได้อ่านเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแนะแนวและสนับสนุนเด็กๆ ตอบสิ่งที่คับข้องใจ และจริงๆ แล้วคำถามชีวิตต่างๆ ก็มักเป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ต้องยังนั่งคิดอยู่เสมอ ผู้ใหญ่เองก็จะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
จริยปรัชญาเป็นวิชาที่ใกล้ตัวกว่าที่คิดมากๆ เพราะเป็นวิชาเกี่ยวกับการตอบคำถามเรื่องคุณค่าและแนวทางของชีวิต ที่เป็นหนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกคนเลยก็ว่าได้