- The Makanai เป็นซีรีส์ญี่ปุ่นที่ยกเบื้องหลังของอาชีพ ‘ ไมโกะ’ และ ‘เกอิโกะ’ มาเล่า ซึ่งเรามักจะรู้จักกันในชื่อ ‘เกอิชา’ เป็นอาชีพที่คอยสืบสานศิลปะ วัฒนธรรมอันเก่าแก่แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น กว่าจะเป็นได้ต้องฝึกฝนหลายด้าน
- ซีรีส์นี้ได้เล่าถึงสองเพื่อนรักวัยรุ่น ‘คิโยะจัง’ และ ‘ซูจัง’ ที่ตัดสินใจเดินตามความฝันในการเป็นไมโกะ เลือกที่จะไม่เรียนต่อม.ปลาย
- ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการ อย่างพ่อของซูจังที่เป็นห่วงลูกแต่ก็แสดงออกด้วยการกดดันลูกให้กลับบ้าน ต่างจากคุณยายของคิโยะจังที่ซัพพอร์ตและเต็มใจส่งหลานสาวให้ออกไปทำอะไรที่อยากทำ และให้คุณค่ากับทุกทางเลือกของหลานๆ
Month: March 2023
- ‘ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นต้นทางของความสำเร็จ’
- หนังสือ THE HAPPINESS ADVANTAGE เป็นดังกุญแจไขไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ผ่านหลักการ 7 ข้อสำคัญ อันเป็นวิธีปรับความคิดและการกระทำ เริ่มต้นด้วยรู้จักจิตวิทยาเชิงบวกด้วยกลยุทธ์ ‘สุขไว้ก่อน’ เป็นอันดับแรก
- ความสุขจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมน ที่ช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้รู้สึกดีและช่วยจัดระบบข้อมูลการเรียนรู้ ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์แก้ไขปัญหายากๆ ทำให้คนคิดบวกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบ
สิ่งเดียวที่พี่ชายวัย 7 ขวบจะคิดได้ ก่อนที่เอมีจะปล่อยโฮ เพราะอุบัติเหตุตกจากเตียงชั้น 2 ลงมาในท่าคลานสี่เท้า ใช้เข่ายันพื้น คือบอกเธอว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนตกลงไปในท่าคลานสี่เท้าแน่นอน เธอเป็นยูนิคอร์น! แน่นอนว่าพี่ชายโกหก แต่มันได้ผล เธอสับสน เสียงสะอื้นติดอยู่ในคอ และนาทีนั้นมันระงับเสียงร้องไห้ของน้องสาววัย 5 ขวบได้ เพราะสิ่งที่เอมีต้องการมากที่สุด ก็คือการยอมรับว่าเธอคือยูนิคอร์นแสนวิเศษ เหตุการณ์เกิดขึ้นภายใต้แววตาขัดแย้ง จากการที่สมองพยายามจะตัดสินความเจ็บปวดหรือตัวตนใหม่ในฐานะยูนิคอร์น ปรากฏว่าอย่างหลังชนะ เอมียิ้มกว้างและปีนกลับขึ้นไปบนเตียงด้วยความภูมิใจที่ได้เป็นยูนิคอร์นตัวน้อย
เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องจริงในวัยเด็กจากผู้เขียนหนังสือ THE HAPPINESS ADVANTAGE ที่กำลังบอกเราว่า หน่วยประมวลผลในสมองของมนุษย์เปลี่ยนความจริงไปตามวิธีคิดได้ ดังที่เคยได้ยินกันมาบ้างว่า หลายๆ ครั้ง ยาหลอกก็ให้ผลลัพธ์ในการรักษาไม่ต่างจากยาจริง นั่นเพราะมนุษย์มีพลังความคิดและความเชื่อที่บันดาลเรื่องราวได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
คำถามชวนคิดว่า ความสุขกับความสำเร็จอะไรเกิดก่อนกัน เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่บนปกหนังสือแบบยิงตรงมาที่คนมุ่งความสำเร็จและใฝ่หาความสุข แต่ไม่เคยหาคำตอบมาก่อนหรือก่อนหน้านั้นอาจเข้าใจกันมาตลอดว่า ความสำเร็จเท่านั้นจะนำความสุขมาให้ แต่เมื่ออ่านหนังสือ จะพบว่า ‘ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นต้นทางของความสำเร็จ’ ทำให้เราเองได้แง่มุมดีๆ จากการอ่าน จนเปรียบความสุขเป็นดังกุญแจไขไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ผ่านหลักการ 7 ข้อสำคัญ อันเป็นวิธีปรับความคิดและการกระทำ เริ่มต้นด้วยรู้จักจิตวิทยาเชิงบวกด้วยกลยุทธ์ ‘สุขไว้ก่อน’ เป็นอันดับแรก
แม้หลักการจาก THE HAPPINESS ADVANTAGE จากสำนักพิมพ์ WE LEARN จะไม่ใช่ฮาวทูโดยตรง แต่สอนให้เข้าใจและใช้จิตวิทยาเชิงบวก ที่ SHAWN ACHOR ผู้เชี่ยวชาญด้านศักยภาพของมนุษย์และอดีตอาจารย์พี่เลี้ยงในฮาร์วาร์ดที่มีประสบการณ์ 12 ปี ได้ศึกษางานของนักวิจัยคนสำคัญๆ และวิชาเปิดสอนกับนักศึกษาฮาร์วาร์ด มานำเสนอเป็นเนื้อหา 3 ส่วนในเล่ม เป็นแนวคิดส่งผลต่อคนรอบข้าง เป็นการเชื่อมโยงความสุขกับประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อยกระดับความสำเร็จระดับบุคคลและองค์กร เพราะแม้แต่นักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ทั้งฉลาดและเก่ง กลับเป็นผู้ไม่มีความสุขแบบเรื้อรัง อีกทั้งเกือบครึ่งหนึ่งซึมเศร้าจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่ง ‘ภาวะไร้ความสุข’ แบบนี้ ยังเกิดขึ้นกับคนทำงานกว่าร้อยละ 45 จากการสำรวจเมื่อปี 2010 ของสถาบันวิจัยคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด
หากเทียบกับความสุขของคนไทยสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่าปัจจัยความสุขขึ้นอยู่กับ สุขภาพ การงานมั่นคง ไม่มีหนี้สินนอกระบบ และครอบครัวมีเวลาให้กันเพียงพอ โดยองค์ประกอบด้านสุขภาพจิตที่อ่อนแอที่สุดคือ สมรรถภาพของจิตใจ อยู่ที่ร้อยละ 64.3 ทำให้เห็นความจำเป็นของการใช้จิตวิทยาเชิงบวก มาเพิ่มความสามารถในการฟื้นฟูจิตใจตัวเอง เพิ่มความสำเร็จและประสิทธิภาพให้ขึ้นไปอยู่เหนือค่าเฉลี่ยมาตรฐานสุขภาพจิต และต่อไปนี้เราจะท่องไปกับบางส่วนของ 7 หลักการ จากหนังสือ ได้แก่
1.กลยุทธ์สุขไว้ก่อน
2.คานและจุดหมุน
3.ปรากฏการณ์เตตริส
4.การล้มเพื่อก้าวหน้า
5.วงกลมโซโร
6.กฎ 20 วินาที
7.การลงทุนทางสังคม
คิดบวกตามนิยามของวิทยาศาสตร์ความสุข
วิทยาศาสตร์ด้านความสุข อธิบายถึงความสุขว่าเป็นความรู้สึกเชิงบวกจากความพึงพอใจ การรู้สึกว่าตัวเองมีความหมายและเป้าหมาย บางคนเลือกใช้คำว่า ‘การคิดบวก’ โดยบาร์บาร่า เฟรดริกสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวกอันดับต้นๆ ของโลก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ระบุว่า ความยินดี ความขอบคุณ ความสงบ ความหวัง ความภูมิใจ แรงบันดาลใจ และความรัก เป็นความรู้สึกเชิงบวกที่พบบ่อยที่สุด และความรู้สึกดีๆ เหล่านี้เป็นส่วนผสมของความสำเร็จ โชคดีที่การตั้งคำถามต่อด้วยวิทยาศาสตร์ เป็นแว่นขยายผลการทำงานของสมองและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตรงกับที่นักจิตวิทยาเคยระบุว่า
ความรู้สึกเชิงลบจะจำกัดความคิดและตัวเลือกการแสดงออก เช่น เหลือแค่ ‘สู้’ หรือ ‘หนี’ แต่ความรู้สึกเชิงบวกจะขยายขอบเขตและสร้างเสริมตามทฤษฎี ซึ่งเป็นกลไกทางชีววิทยา
ความสุขจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมน ที่ช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขัน หรือกระตุ้นโดพามีนและเซโรโทนินออกมา ฮอร์โมนทั้งสองเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี และช่วยจัดระบบข้อมูลการเรียนรู้ จดจำและดึงข้อมูลออกมาใช้ได้เร็ว และช่วยให้เซลล์ประสาทในสมองเชื่อมโยงกัน ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์แก้ไขปัญหายากๆ ทำให้คนคิดบวกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยแนะนำวิธีการยกระดับความสุขหรือคิดบวก จากการทำสมาธิอย่างน้อยวันละ 5 นาทีอย่างสม่ำเสมอ การค้นหาสิ่งที่ตั้งตารอ เช่น ชมภาพยนตร์ที่อยากดู กำหนดวันพักร้อนลงในปฏิทิน ทำความดีด้วยความตั้งใจ ลดการติดตามข่าวสารเชิงลบ การเดินเล่นในที่อากาศสดใสสัก 20 นาที ออกกำลังกาย จ่ายเพื่อคนอื่นบ้าง และใช้คุณลักษณะเด่นของตนเอง เช่น ความรักในการเรียนรู้ พาเราออกไปหาสิ่งใหม่มาเติมพลังบวกในชีวิต
จุดหมุนของอาร์คิมิดีสกับเกมเตตริสเกี่ยวข้องกับ ‘การตีความของสมอง’
อาร์คิมิดีส นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวกรีกผู้มีชีวิตสมัยก่อนคริสตกาล คิดสูตรคานและจุดหมุนไว้ว่า คานที่ยาวพอและตำแหน่งยืนที่ดี สามารถขยับโลกทั้งใบได้ เป็นอีกมุมมองที่ ‘ชอว์น’ ผู้เขียนยกตัวอย่างเทียบให้เห็นผลของการเปลี่ยนจุดหมุนว่าทำให้คานมีพลังมากขึ้นและพร้อมยกทุกอย่าง เทียบกับการเปลี่ยนวิธีคิดก็เป็นเช่นเดียวกับการเปลี่ยนจุดหมุน
การทดลองเปลี่ยนจุดหมุนคานอย่างหนึ่ง ท้าทายแนวคิดทางฟิสิกส์ที่ว่า ‘เวลาเดินไปในทิศทางเดียว’ แต่เอลเลน แลงเกอร์ พิสูจน์ว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น จากการนำชายวัย 75 ปี กลุ่มหนึ่งเข้าสู่การทดลองเมื่อปี 1979 โดยให้ย้ายเข้าสถานพักฟื้น 1 สัปดาห์ แล้วออกแบบสิ่งแวดล้อมในที่พักให้เหมือนชีวิตในปี 1959 เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าทดลองมองโลกย้อนหลังไป 20 ปี ผลการทดลองนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับเราไปด้วย เพราะชายวัย 75 ในการทดลอง สามารถเคลื่อนไหวร่างกายและมีแรงบีบมือดีขึ้น สายตาดีขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็น อีกทั้งความจำดีขึ้น ค้านกับสิ่งที่เราเชื่อกันมาตลอดว่า ระดับสติปัญญาจะคงที่และไม่เปลี่ยนเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และพิสูจน์ว่าการตีความของสมอง มีอิทธิพลต่อกระบวนการแก่ลงของร่างกาย
ต่อมาคือ ปรากฏการณ์เตตริส เป็นผลจากความสามารถแบ่งแยกเรื่องแย่ๆ กับเรื่องดีๆ ผ่านความเข้าใจการทำงานของสมองเมื่อเล่นเกมเตตริส หรือเกมจัดเรียงตัวต่อลักษณะต่างๆ ที่ตกลงมาจากด้านบนจอ ให้ผู้เล่นหมุนขยับตำแหน่งโดยมีเป้าหมายเดียวคือ จัดเรียงให้ตัวต่อเป็นเส้นตรง เป็นเกมที่ผู้เล่นเห็นภาพติดตาหรือติดอยู่ในกับดักวิธีคิดเดิมๆ ไม่ต่างจากการเล่นเตตริส ช่วยอธิบายการทำงานของสมองว่ามันเป็นเครื่องกรองข้อมูล หรือ เลือกรับรู้สิ่งที่ตัวเองมองหา หรือมักจะเห็นสิ่งที่ตัวเองมองหาในทุกที่ ตรงกับการทดลองของนักจิตวิทยา เรียกว่า ‘ตาบอดเพราะความไม่ใส่ใจ’
ครั้งนั้นผู้เข้าทดลอง 46 เปอร์เซ็น มองไม่เห็นคนใส่ชุดกอริลลาที่เดินผ่านกล้องนานถึง 5 วินาที เพราะมัวแต่เฝ้านับจำนวนการรับส่งลูกของนักบาสเกตบอลตามโจทย์ที่ได้รับ แสดงถึงปรากฏการณ์เตตริสเชิงลบ แต่พลังของปรากฏการณ์เตตริสเชิงบวกเกิดขึ้นได้เช่นกัน จากการตั้งค่าสมองให้มองหาและสนใจในเรื่องดี ซึ่งมี 3 องค์ประกอบคือ ความสุข ความรู้สึกขอบคุณ และการมองโลกแง่ดี
หนังสือแนะนำให้ทำแบบฝึกหัดสิ่งดีๆ 3 อย่าง ด้วยการเขียนบันทึกสั้นๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ดีๆ โดยพบว่าผู้ที่เขียนบันทึกเพียง 1 สัปดาห์ ก็สามารถวัดความสุขได้มากขึ้นและซึมเศร้าน้อยลง หรือแสดงว่าบันทึกจากการที่สมองกรองหาสิ่งดีๆ มีประสิทธิภาพและลดอาการป่วยได้
การพัฒนาจาก ‘ล้มเพื่อก้าว’ และขีดความสามารถนอก ‘วงกลมโซโร’
มีคนจำนวนไม่น้อยใช้เรื่องที่เคยเลวร้ายมาก่อน ขยายขีดความสามารถของตัวเอง แล้วเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ล้มเหลวเพื่อก้าวหน้า’ หนังสืออธิบายให้เห็นว่า สมองมนุษย์เป็นนักเขียนแผนที่ เพื่อค้นหาเส้นทางความสำเร็จ โดยแขวนการตัดสินใจไว้กับ ‘จุดที่ตัวเองอยู่’ และผู้คนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หากมองความล้มเหลวเป็นโอกาส
ในทางตรงข้าม หากมองความล้มเหลวเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในโลก ความล้มเหลวจะกลายเป็นสิ่งจองจำบุคคลนั้นไว้
ในความเป็นจริงก็มีคนจำนวนมาก เคยสัมผัสช่วงเวลาผิดพลาด ใช้ ‘ผิดเป็นครู’ เป็นบทเรียนหรือแก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้นเมื่อผ่านปัญหานั้นมาแล้ว มันยังเชื่อมไปถึงการจัดการเป้าหมายเล็กๆ ไปสู่เป้าหมายใหญ่ขึ้น เปรียบตัวเองเป็นวงกลมวงแรก หรือ ‘วงกลมโซโร’ เทียบกับตำนานฮีโร่สวมหน้ากากโซโร ของดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ในอเมริกา แต่อีกด้านหนึ่งกล่าวถึงโซโรว่า ก่อนจะกลายเป็นบุรุษผู้มีทักษะชั้นยอด เขาเป็นเพียงคนหุนหันพลันแล่นและไร้ความอดทน แม้ปรารถนาจะผดุงความยุติธรรมปราบคนเลว แต่ความอยากสำเร็จทันที ยิ่งทำให้ชายหนุ่มยิ่งไร้ความสามารถและอ่อนแอ ติดเหล้าและสิ้นหวัง จนกระทั่ง ‘ดอน ดิเอโก’ มองเห็นศักยภาพและรับเป็นศิษย์ ด้วยเงื่อนไขให้ชายหนุ่มฝึกอยู่ภายในวงกลมเล็กๆ เท่านั้น วันคืนผ่านไป เขาต่อสู้อยู่ภายในวงกลมได้อย่างคล่องแคล่ว จนรู้ระดับทักษะและเชื่อในความสามารถของตัวเอง เป็นการเอาชนะวงกลมวงแรกสู่การสร้างตำนานโซโรในที่สุด
การเชื่อมความเข้าใจด้วยเรื่องเล่าแบบนี้ เราว่าเป็นพลังให้กับคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นผู้ควบคุมกำหนดอนาคตตัวเอง พยายามกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนมันผลิดอกออกผล มั่นใจจนสามารถขยายวงกลมนั้นออกไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญของกระบวนการคิดเชิงบวกนี้ คือการเป็นยอดนักดาบของโซโรไม่ได้ได้มาเพียงข้ามคืน ความสำเร็จก็ต้องอาศัยการก่อร่างจากความทุ่มเทพยายาม ที่มีความคิดบวกเป็นเครื่องหนุน
กฎ 20 วินาทีและการลงทุนทางสังคม
ประสบการณ์การศึกษาของผู้เขียน แสดงว่ามนุษย์เป็นแหล่งรวมความเคยชินกับการทำสิ่งต่างๆ โดยอัตโนมัติ จนมันหลอมรวมเป็นพฤติกรรม ในหัวข้อการลงมือทำวันละนิดหรือพัฒนาวันละนิด จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสมองและวิถีของประสาท หรือนิยามว่า ‘กฎ 20 วินาที’ ที่ผู้เขียนสังเกตว่า ตนฝึกกีต้าร์ได้สำเร็จเมื่อขยับกีต้าร์มาไว้ใกล้ตัว แทนที่จะต้องเสียเวลาเดินไปหยิบ 20 วินาที ช่วงเวลาที่ดูน้อยนิดสามารถอธิบายใช้พลังใจเล็กๆ น้อยๆ แต่มีผลกับความสำเร็จของมนุษย์ ขณะเดียวกันพลังใจที่ถูกทดสอบตลอดเวลา มีแนวโน้มหมดไปก่อนที่จะทำสำเร็จ นั่นทำให้เกิดข้อสรุปว่าการเพาะบ่มนิสัยหรือความสามารถใหม่ ต้องขจัดขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือกินเวลาออกไป เพราะสมองจะหาทางทำสิ่งที่คิดว่าง่ายที่สุด
ปิดท้ายที่ ‘การลงทุนทางสังคม’ ให้ความสำคัญกับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า ซึ่งหลักการนี้ เหมาะกับการทำงานยุคใหม่ ที่มีความท้าทายและความเครียด กล่าวคือจะรอดหรือจะรุ่ง ก็ขึ้นอยู่กับการคนในสังคมรอบข้างที่ตัวเองมีด้วย
วงคลื่นผิวน้ำแผ่ออกไปอยู่เสมอ
ส่วนที่ 3 ของหนังสือเปรียบเปรยถึงวงคลื่นผิวน้ำให้เห็นภาพชัด กล่าวถึงเรื่องการรับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของเราสู่ผู้คนรอบข้าง เพราะการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนรอบข้าง ทำให้เกิดการสนับสนุนทางจิตใจ ปฏิสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ออกซิโทซินหลั่งออกมา ลดความวิตกกังวลและสร้างสมาธิ แต่คนที่ขาดปฏิสัมพันธ์อาจทำให้ความดันโลหิตสูงถึง 30 มิลลิเมตรปรอท ส่วนผู้ที่มีความสัมพันธ์เพียงผิวเผิน มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 2-3 เท่า มันทำให้เรามองเห็นไปด้วยว่า เรารับส่งพฤติกรรมกันไปมาในทุกทิศทาง
ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องกับเรา เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท และครอบครัว จะรับทัศนคติและพฤติกรรม แม้แต่อารมณ์เชิงบวกที่ส่งต่อยังไปคนข้างๆ
ตลอดเวลาการอ่านหนังสือ THE HAPPINESS ADVANTAGE เราเห็นเรื่องราวส่วนดีๆ ที่มาจากความคิดเชิงบวกและเห็นผลกระทบจากความคิดเชิงลบที่มีอำนาจทั้ง 2 ขั้ว ขั้วลบเป็นดังโดมิโนตัวแทนชีวิตจิตใจล้มครืนลงทั้งกระดานในเวลาไม่กี่นาที ขั้วบวกเป็นเหมือนตัวต่อเลโก้ นวัตกรรมของเล่นแห่งยุคสมัยสร้างสรรค์จินตนาการได้ไม่รู้จบ เป็นอำนาจความคิดคล้ายกับ AS A Man Thinketh ของ JAMES ALLEN นักเขียนด้านปรัชญาชื่อก้องที่เสนอมาตั้งแต่ 100 กว่าปีที่แล้วว่า ความคิดกำหนดชีวิต จะสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนเป็นผลจากความคิดที่มีพลังกว่าที่เราจะคิดถึงหรือตีกรอบได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถประเมินศักยภาพแท้จริงของตัวเองว่ามันสิ้นสุดที่ใด แต่หากทำให้ความสุขเป็นศูนย์กลาง โอกาสที่ความสำเร็จจะหมุนรอบตัวเราก็มีสูงมากขึ้นเท่านั้น
- แม้โลกในฝันของเราทุกคนคือ ทุกคนซื่อสัตย์พูดแต่ความจริง แต่ทักษะเล็กๆ น้อยๆ ในการโกหก ช่วยให้เอาตัวรอดในบริบทสังคมจริงได้ดีกว่า เพราะหลายครั้งการพูดแต่ความจริงก็ทำให้เราตกที่นั่งลำบากได้
- ความจริงแล้วเด็กอายุแค่เพียง 2 ขวบ ราว 30% เริ่มพูดโกหกเป็นแล้ว และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 3 ขวบ ก็จะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อถึง 4 ขวบก็มีอยู่ราว 80% ที่โกหกเป็น!
- ในเด็กวัยรุ่นมักโกหกเพราะอยากเป็นอิสระด้วยความที่เชื่อว่าดูแลตัวเองได้ วัยรุ่นเริ่มคิดว่าตัวเองไม่ใช่เด็กแล้ว และมีความสามารถในการดูแลตัวเองได้แล้วไม่ต่างจากผู้ใหญ่
พ่อแม่หรือครูอาจารย์บางคนอาจแปลกใจ (หรือแม้แต่ตกใจ) ที่รู้ความจริงว่าลูกหรือลูกศิษย์โกหก แต่การที่เด็กๆ โกหกอาจไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไปก็ได้ จำเป็นต้องแยกแยะให้ดี
ความจริงเรื่องหนึ่งที่พบกันก็คือ แม้แต่เด็กอายุแค่เพียง 2 ขวบ ก็อาจแสดงพฤติกรรมการโกหกได้แล้ว โดยพบว่าเด็กวัยนี้ราว 30% เริ่มพูดโกหกเป็นแล้ว และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 3 ขวบ ก็จะมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเป็น 50% เมื่อถึง 4 ขวบก็มีอยู่ราว 80% ที่โกหกเป็น! [1-2]
‘การแต่งเรื่อง’ ของเด็กเล็กเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลใจสักเท่าไหร่ อันที่จริงแล้วในทางจิตวิทยากลับมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า เด็กเริ่มมีพัฒนาการและเริ่มแยกแยะความคิดของตัวเองกับความคิดของคนอื่นออกจากกันได้ ในทางวิชาการบอกว่าเป็นไปตาม ‘Theory of mind’
เวลาเด็กบอกแม่ว่า “พ่อบอกว่าหนูกินไอศกรีมได้” ทั้งที่พ่อไม่ได้บอก จึงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดแทนคนอื่นและเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ความสามารถเช่นนี้สำคัญสำหรับทักษะการเข้าสังคม ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจคนอื่น ร่วมไม้ร่วมมือเป็น และเอาใจใส่คนอื่นได้ในยามที่อีกฝ่ายไม่สบายใจได้
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ แม้โลกในฝันของเราทุกคนคือ ทุกคนซื่อสัตย์พูดแต่ความจริง แต่ทักษะเล็กๆ น้อยๆ ในการโกหก ช่วยให้เอาตัวรอดในบริบทสังคมจริงได้ดีกว่า เพราะหลายครั้งการพูดแต่ความจริงก็ทำให้เราตกที่นั่งลำบากได้
ตัวอย่างที่มักยกกันก็คือ การโกหกด้วยเจตนาดี หรือ “ไวท์ลาย (white lie)” เช่น การขอบคุณย่ายายที่ถักสเวตเตอร์ให้และบอกว่ามันสวยมาก ทั้งที่ในใจเห็นว่ามันน่าเกลียดชะมัด!
เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผู้ใหญ่มักไม่ถือสากับเด็กเล็กที่โกหกก็คือ พ่อหนูน้อยแม่หนูน้อยเหล่านั้นมักจะทำได้ไม่ดีและดูชวนให้ขบขันมากกว่าจะกลุ้มใจ เช่น เด็กคนนั้นอาจจะบอกว่า ไม่ได้แอบกินขนมเค้กทั้งๆ ที่มีเศษขนมเค้กติดปากอยู่ หรือบอกว่าหมาหรือแมวเป็นคนวาดกำแพงบ้านเลอะเทอะ ทั้งที่มือตัวเองเปื้อนเต็มไปหมด
มีการทดลองหนึ่ง [3] ที่ดูตลกดีคือ ผู้ทดลองเอาตุ๊กตา ‘บาร์นีย์’ ที่เป็นไดโนเสาร์สีชมพู ไปวางไว้ข้างหลังเด็กอายุ 3–7 ขวบ แล้วบอกว่าห้ามแอบดูตุ๊กตาปริศนาที่วางอยู่ข้างหลัง ซึ่งเด็กแทบทุกคนในการทดลองนี้ต่างก็อดใจไม่ไหว ต้องหันกลับไปมองด้วยกันแทบทั้งนั้น แล้วพวกหนูน้อยก็มักจะโกหกว่าไม่ได้ทำอีกด้วย
ผลการทดลองทำให้รู้ว่ายิ่งอายุเพิ่มขึ้น จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่โกหกก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
เด็กอายุ 3–5 ขวบ จะทำหน้าตาเฉยๆ เพื่อหลอกได้ดี แต่ก็มักเผลอหลุดปากว่าไม่ได้หันไปดูบาร์นีย์ (อ่านถึงตรงนี้ คุณอาจจะอมยิ้ม) ส่วนอายุมากกว่านั้นจะมีอยู่ครึ่งหนึ่งที่ทำเป็นไม่รู้เรื่องรู้ราว ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือก็หลุดปากชื่อบาร์นีย์ออกมาเช่นกัน
เรื่องที่น่าสังเกตสำหรับเด็กในวัยนี้คือ เด็กที่อายุมากกว่าอาจเริ่มเกิดความรู้สึกไม่ดีตอนที่ตัวเองโกหกบ้างแล้ว
แต่ธรรมชาติของการโกหกในเด็กวัยรุ่นจะแตกต่างออกไปจากเด็กเล็กค่อนข้างมากในหลายเรื่อง
งานวิจัยในวัยรุ่น 490 คนที่ครอบคลุมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรี [4] มีวัยรุ่น 82% ในจำนวนนี้ที่ยอมรับว่า เคยโกหกผู้ปกครองในช่วงปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการเก็บข้อมูลของ ดร.แนนซี ดาร์ลิง (Nancy Darling) ที่ทำวิจัยเรื่องวัยรุ่นกับการโกหกอย่างยาวนานที่ว่า ตัวเลขอาจจะสูงถึง 96% [5] และเป็นกลุ่มช่วงกลุ่มอายุที่โกหกสูงสุด
พูดอีกอย่างคือ หาวัยรุ่นที่ไม่เคยโกหกพ่อแม่ผู้ปกครองตัวเองแทบเจอเลยทีเดียว!
มีการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า ‘พิน็อกคิโอรุ่นเยาว์ถึงเก๋ากึ๊ก (From Junior to Senior Pinocchio)’ [6] ระบุว่ามีวัยรุ่นถึง 3/4 ที่โกหกโดยเฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน และมีมากถึง 60% ที่ระบุว่าโกหกมากถึง 5 ครั้งทุกวัน
ดร.แนนซี สรุปข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวัยรุ่นราว 10,000 คน ครอบคลุมอายุ 10–24 ปี ใน 6 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ชิลี ฟิลิปปินส์ อิตาลี สวีเดน และยูกันดา ทำให้เห็นภาพว่าการโกหกของวัยรุ่นแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 แบบคือ แบบแรกเป็นการโกหกโดยการหลบเลี่ยง พยายามปิดบังบางอย่างที่ไม่อยากพูดถึง ขณะที่แบบที่ 2 เป็นการโกหกโดยการละไว้ ไม่บอกให้หมด
แบบที่ 2 นี่เป็นการโกหกแบบยอดนิยมที่นักการเมืองในโลกนี้ใช้กัน
ส่วนแบบสุดท้าย เป็นการโกหกแบบแต่งเรื่องมาหลอกอย่างจงใจ แบบนี้มักจะพบได้น้อยกว่าอีก 2 แบบแรก อย่างไรก็ตาม การโกหกแบบนี้ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวมากกว่าอีก 2 แบบมาก
ทำไมวัยรุ่นต้องโกหก?
การเป็นวัยรุ่นนี่ ไม่ง่ายจริงๆ และเหตุผลที่ต้องโกหกก็มีการวิจัยกันอย่างจริงๆ จังๆ โดยสถาบันโจเซฟสัน (The Josephson Institute) ในกลุ่มเด็กมัธยมปลายมากถึง 20,000 คน ได้เป็นรายงานออกมาใน ค.ศ. 2012 พอสรุปได้สั้นๆ ว่า มีเหตุผลอยู่มากมายทีเดียว หากจะยกมาเพียงบางส่วนที่พบได้บ่อยก็คงได้แก่ เหตุผลทั้ง 7 ประการนี้คือ
(1) ไม่อยากมีปัญหา
(2) ไปทำอะไรที่อันตรายมาหรือไม่ก็ทำสิ่งที่โดนสั่งห้ามไว้
(3) เชื่อว่ากฎที่พ่อแม่ตั้งไว้ไม่ยุติธรรม
(4) เชื่อว่าสิ่งที่ทำไม่ได้อันตรายสักหน่อย
(5) เพื่อปกป้องความรู้สึกคนอื่นไม่ให้รู้สึกไม่ดี
(6) ต้องการเก็บรักษาความลับบางอย่าง
สุดท้ายซึ่งน่าจะสำคัญที่สุดด้วยคือ เพราะอยากเป็นอิสระด้วยความที่เชื่อว่าดูแลตัวเองได้ วัยรุ่นเริ่มคิดว่าตัวเองไม่ใช่เด็กแล้ว และมีความสามารถในการดูแลตัวเองได้แล้วไม่ต่างจากผู้ใหญ่
หัวเรื่องอะไรที่พวกวัยรุ่นเค้าโกหกกัน?
หัวข้อที่โกหกบ่อยๆ มีหลากหลายทีเดียว ยกตัวอย่าง
(1) ใช้เงินซื้ออะไรไปบ้าง
(2) คบหรือไม่คบใครเป็นเพื่อน
(3) ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติดอะไรบ้างหรือเปล่า
(4) ไปทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
(5) ไปร่วมปาร์ตี้อะไรกับใครบ้างหรือเปล่า
(6) ทำการบ้านหรือยัง
(7) เกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติก—คบใครอยู่บ้างหรือไม่
สรุปโดยหลักๆ ก็คือ โกหกเพราะความอยากมีตัวตนที่ชัดเจน ดูจากรายการข้างต้นแล้ว บางเรื่องก็ดูเล็กน้อย ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ก็มีบางหัวข้อที่อาจเป็นอันตรายได้ ข้อมูลสำคัญบางอย่างก็มักปกปิดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสอบที่ต่ำ ความเครียดกังวลใจในการเข้ากลุ่มเพื่อน การแยกตัวออกจากสังคม และการถูกเพื่อนรังแก หลายคนก็เลือกจะไม่บอกกับพ่อแม่
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีผู้ปกครองแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่า ลูกตัวเองแอบไปดื่มมา โดยแม่จะจับสังเกตได้เก่งกว่า (จับผิดได้ถึง 71%) แม้ว่าอาจจะเดาผิดเยอะเหมือนกันคือ 33% ที่จิ้มไปที่ลูกว่าโกหกอยู่แน่ กลับกลายเป็นว่าลูกพูดความจริงอยู่
ดังนั้น ทั้งแม่และพ่อควรตระหนักถึงตัวเลขเหล่านี้ไว้บ้าง จะได้ไม่ไปกล่าวหาลูกง่ายๆ จนเกิดเป็นแผลใจ ไม่ไว้วางใจกันอีกต่อไป เพราะจะทำให้ไม่เล่าเรื่องต่างๆ ให้พ่อแม่ฟังอีกต่อไป
อีกประเด็นที่น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยคือ วัยรุ่นที่โกหกบ่อยๆ มีแนวโน้มเสี่ยงติดแอลกอฮอล์สูงกว่าตามไปด้วย [7] โดยเป็นการศึกษาในเด็กนักเรียนระดับเกรด 7–8 (เทียบกับระบบของไทยคือ ม.1–2) จำนวน 4,000 คน
มีการศึกษาที่พบว่าความอบอุ่นและความเชื่อใจกันในครอบครัว ทำให้วัยรุ่นมีแนวโน้มจะโกหกน้อยลง และทำให้มีแนวโน้มจะติดการดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าไปด้วย
ในทางตรงกันข้าม การจับตามองอย่างเกินสมควรของคนในครอบครัวนั้น ไม่ค่อยได้ผลทั้งเรื่องป้องกันการโกหกและป้องกันการติดสุรา
การสื่อสารกันอย่างเปิดเผยและการให้อิสระกับวัยรุ่นของพ่อแม่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและลดการโกหกและเรื่องสืบเนื่องอื่นๆ ด้วย
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ การแสดงตัวว่าพร้อมจะให้คำปรึกษา ทำตัวเป็นเห็นเป็นแบบอย่าง โดยไม่โกหกเสียเอง อาจตั้งกฎในครอบครัวได้ แต่การทำโทษต้องเหมาะสม ไม่ทำด้วยความโกรธหรือทำโทษอย่างไม่มีขอบเขต
สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในครอบครัวนี่เองที่จะช่วยลดการโกหกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด.
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.cbc.ca/news/health/kids-lying-healthy-ideas-1.3412815
[2] https://theconversation.com/why-do-kids-lie-and-is-it-normal-98948
[3] Intl J Behavioral Dev, Vol. 26, Issue 5. 2002. https://doi.org/10.1080/01650250143000373
[4] J Youth Adolescence, Vol. 33, No. 2. 2004, pp. 101–112. https://doi.org/10.1023/B:JOYO.0000013422.48100.5a
[5] https://www.newportacademy.com/resources/restoring-families/why-do-teenagers-lie/
[6] Acta Psychologica 160 (2015) 58–68. http://dx.doi.org/10.1016/j.actpsy.2015.06.007
[6] Acta Psychologica 160 (2015) 58–68. http://dx.doi.org/10.1016/j.actpsy.2015.06.007
0001-6918
[7] J Adolescence. Vol. 57, Issue 1. June 2017, pp. 99-107. https://doi.org/10.1016/j.adolescence.2017.04.003
- ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เกิดขึ้นในยุคที่อัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะจำนวนเด็กน้อยลงจนต้องปรับขนาดโรงเรียน กลายเป็นวงจรปัญหาต่อเนื่องเพราะโรงเรียนถูกตัดทรัพยากรทำให้คุณภาพของโรงเรียนลดน้อยตาม
- ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ‘โรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ แก้ปัญหาแบบไหนที่ตรงจุด ?’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงทัศนะและหาทางออกร่วมกันทั้งฝั่งวิจัย นโยบาย และผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก
- หลายโรงเรียนต้องสรรหานวัตกรรมมาต่อลมหายใจของตัวเอง เพื่อคุณภาพการศึกษา แต่ที่ผ่านมายังอยู่ระหว่างการหาโมเดลที่มีประสิทธิภาพ และต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ
อัตราการเกิดลด – นักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนน้อยลง – โรงเรียนปรับลดขนาด – โรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบ – เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
นี่คือวงจรปัญหาของการศึกษาไทยในยุคที่อัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ บวกกับค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนในเมือง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและความพร้อม ทำให้โรงเรียนหลายแห่งถูกลดระดับกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือการปิดโรงเรียนหรือไม่ก็ถูกตัดทอนทรัพยากรด้านงบประมาณและอัตราการจ้างครู ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการจัดการเรียนการสอนต่อไป ต้องสรรหานวัตกรรมมาต่อลมหายใจของตัวเอง และหาหนทางที่จะทำให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการหาโมเดลที่มีประสิทธิภาพ และต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ
ในวงเสวนา TEP Forum 2023 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ได้มีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ‘โรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ แก้ปัญหาแบบไหนที่ตรงจุด ?’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงทัศนะและหาทางออกร่วมกัน
เริ่มจากด้านการวิจัยและนโยบาย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษา TDRI. ชูข้อเท็จจริงจากผลวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และ เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School) นำเสนอโครงการนำร่องที่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้
ร่วมด้วยตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ผอ.ชนิตา พิลาไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโคกทอง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประธานกลุ่มเครือข่ายนอกกะลาภาคกลาง และ ผอ.พิชญ์สินี ชื่นชูวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ คณะกรรมการจากเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลาภาคกลาง ที่มาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่หายไป ปัญหาใหญ่ที่น่ากังวล
หนึ่งในปัญหาหลักที่โรงเรียนขนาดเล็กพบคือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกหลานไปเรียนยังโรงเรียนประจำจังหวัดหรือโรงเรียนเอกชน เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพและทรัพยากรของโรงเรียนมากกว่า ซึ่งปัจจัยนี้ก็ยิ่งทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กลดลงเรื่อยๆ จนอาจโดนยุบในที่สุด
และเมื่อโรงเรียนถูกยุบ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่ครอบครัวไม่มีกำลังมากพอจะส่งไปเรียนโรงเรียนอื่นก็จะหลุดออกจากระบบการศึกษา นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและอาชีพต่อไปในอนาคต
นี่คือความท้าทายของภาครัฐในการออกแบบนโยบายให้รองรับคนทุกกลุ่ม แก้ไขปัญหาการจัดสรรงบประมาณ บุคลากรครูที่ขาดแคลน รวมถึงหาแนวทางที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถอยู่ได้ เพราะสำหรับชุมชนแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานและทุกอย่างของชุมชนอีกด้วย
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยจาก TDRI. อ้างอิงถึงผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ว่าปรากฏการณ์การเกิดโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ
“โรงเรียนขนาดเล็กก็เป็น 1 ใน 5 ปัญหาที่เรายกขึ้นมาว่า ต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการที่เราจะสร้างเด็กขึ้นมาได้นั้นต้องมีทรัพยากรและโรงเรียนที่พร้อม มีครูที่เพียงพอ
แต่ที่สนใจโรงเรียนขนาดเล็กเป็นพิเศษ ก็เพราะจากปรากฏการณ์อัตราการเกิดลดน้อยลง ทำให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ลดน้อยตามไปด้วย จากเดิม 10 ปีก่อนมี 7.2 ล้านคน ปีนี้เหลือแค่ 6.5 ล้านคน นับว่าหายไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่ก็ทำให้จำนวนโรงเรียนลดลงไปจาก 3 หมื่นกว่าโรงเรียน เหลือประมาณ 28,000 กว่าโรงเรียน ซึ่งจำนวนนี้ก็มีทั้งโรงเรียนที่เด็กไปกองเพิ่มขึ้นและลดลง
แต่เราจะเจาะที่โรงเรียนที่เด็กลดลงเป็นหลัก บางโรงเรียนถ้าแค่จำนวนเด็กลดอย่างเดียวก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น แต่บางโรงเรียนลดแล้วทำให้เปลี่ยนขนาดโรงเรียนไปด้วย เช่น จากขนาดกลางไปเป็นขนาดเล็ก พอขนาดโรงเรียนเปลี่ยนก็จะส่งผลต่อหลักสูตรด้วย รวมถึงยังมีโรงเรียนที่ยุบไปเลย 200 กว่าโรงเรียน”
ในบรรดาผลกระทบที่กระจายเป็นวงกว้าง สิ่งที่น่ากังวลคือโรงเรียนขนาดเล็กมักจะพบปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งงานวิจัยล่าสุดพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครูกว่า 80% ส่วนโรงเรียนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จะขาดแคลนครูประมาณ 28% โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูนั้น เป็นโรงเรียนประถมถึง 99% กลุ่มนี้จึงน่าห่วงเป็นพิเศษ
“คำว่าขาดแคลนคือขาดแคลนตามอัตรากำลังว่าเด็กควรมีครูเท่าไหร่ ซึ่งเราพบว่าหลายโรงเรียนขาดแคลนถึงขนาดไม่มีครูมากพอจะสอนในแต่ละห้องด้วยซ้ำ กลุ่มนี้เฉลี่ยแล้วมีห้องเรียนประมาณ 8 ห้อง แต่มีครู 4 คน ซึ่งมันไม่ใช่แค่ว่ามีจำนวนครูเพียงพออย่างเดียว แต่ครูจะต้องสอนในแต่ละวิชาได้ด้วย นี่จึงเหตุผลว่าทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ในเรื่องการขาดแคลนครู เราพบว่ามีโรงเรียนที่ครูเกินและโรงเรียนที่ครูขาด โรงเรียนที่ครูเกินก็มักจะอยู่ในโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ถ้าเราคำนึงการบริการจัดการบุคลากรที่เกิน เราก็ควรจะมีการเกลี่ยครูโดยการโยกย้ายครูจากโรงเรียนครูเกินไปโรงเรียนที่ขาด แต่ปัญหาคือ ถึงแม้เราจะสามารถเกลี่ยครูได้ทั้งประเทศ เดิมจากที่ขาดแคลนครูประมาณ 35,000 คน ก็จะยังขาดแคลนอีก 20,000 กว่าคน สุดท้ายแล้วครูในระบบก็ยังไม่พออยู่ดี”
เสียงจากโรงเรียนขนาดเล็ก กับการลดทอนทรัพยากรตามโครงสร้าง
ผอ.พิชญ์สินี ชื่นชูวงษ์ จากโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าอัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งถูกลดทอนทรัพยากรและงบประมาณทำให้มีความพร้อมน้อยลง และเมื่อโรงเรียนมีความพร้อมน้อยลง เด็กนักเรียนก็ย้ายออกไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่ามากขึ้น
“จังหวัดนครปฐม เขต 1 ของเรา มีโรงเรียนอยู่ประมาณ 120 โรงเรียน โดยกลุ่มโรงเรียนที่บ้านห้วยรางเกตุอยู่จะมีทั้งหมด 12 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดกลางเพียง 3 โรงเรียน ส่วนอีก 8 โรงเรียนเป็นขนาดเล็กทั้งหมด โดยโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กน้อยที่สุดคือมี 20 กว่าคน
แต่ในเรื่องของความพร้อม เราขาดแคลนเพราะด้วยโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ และการจัดสรรอัตรากำลังครู เพราะตอนนี้เราใช้วิธีการยึดกับเกณฑ์เดียวกันที่นับตามจำนวนเด็ก
ซึ่งเราก็มีพูดคุยกับโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนอื่นๆ ก็พบปัญหาคล้ายกันคือเรื่องจำนวนเด็กเกิดน้อย และปัญหาที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือ ผู้ปกครองอยากให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า ซึ่งอาจจะอยู่ข้ามจังหวัด เพราะเขาอาจมีความพร้อมกว่าในด้านบุคคล ห้องเรียน สื่อและอุปกรณ์ หรือโรงเรียนเอกชน เพราะผู้ปกครองก็จะมีความเชื่อมั่นมากกว่า”
เช่นเดียวกับ ผอ. ชนิตา พิลาไชย จากโรงเรียนวัดโคกทอง ที่กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่เคยเป็นโรงเรียนขนาดกลางมาก่อนและโดนลดมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งแต่ปี 2562 สิ่งหนึ่งที่พบเจอคือปัญหาครูย้ายออก เพราะว่าเมื่อลดขนาด โรงเรียนก็ถูกตัดจำนวนครูทันทีตามเกณฑ์ จึงทำให้ต้องพยายามหานวัตกรรมและหนทางมาทดแทนทรัพยากรที่ขาดแคลน
“ตอนนี้โรงเรียนวัดโคกทองมีจำนวนเด็กนักเรียนทั้งหมด 105 คน เพราะว่าเขตบริการของเรามีเพียง 1 หมู่ ซึ่งตรงนั้นมีประชากรแค่ประมาณ 200 กว่าหลังคาเรือน ประชากร 1,000 กว่าคน แต่ผู้ปกครองที่มีความพร้อมก็จะพาลูกหลานไปเรียนในตัวเมืองโพธาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ หรือโรงเรียนเอกชน
และเราก็เจอปัญหาของการที่มีครูไม่ครบชั้น แต่เนื่องจากปี 2564 -2565 เรารับโครงการจาก ปตท. ที่จ้างครูให้ 4 คนเป็นเวลา 2 ปี ทำให้เรามีครูเกือบครบชั้น แต่หลังจากนั้นเราก็เหลือครูแค่ 6 คน ซึ่งเรามีวิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาทดแทนการจัดการเรียนการสอนของครู เพราะเรามี 9 ชั้นเรียน อนุบาลเรารวมเหลือ 2 ชั้น คืออนุบาล 1-2 รวมกัน และอนุบาล 3 จำนวน 1 ห้องเรียน ส่วนระดับประถม เราก็มีการรวมชั้นหลังจากที่ครูออกไป ป.1-2 รวมชั้นกัน เป็นบูรณาการช่วงชั้น ส่วนหลักสูตรก็ใช้หลักสูตรบูรณาการ Problem Base Learning ซึ่งตัวนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง”
ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมโรงเรียนแม่แบบ
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) เล่าถึงการแก้ไขปัญหาด้วยโครงการ ACCESS School (โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา) โดยใช้นวัตกรรมโรงเรียนแม่แบบให้โรงเรียนขนาดเล็กๆ ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้
“เราได้รับการท้าทายจากกระทรวงศึกษาธิการ ว่าคุณต้องพัฒนาตัวเอง โดยการแสวงหานวัตกรรม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนใหม่ เพราะเรามีครูน้อยอยู่แล้ว และมีข้อจำกัดมากมายในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะฉะนั้นเราต้องหานวัตกรรมการเรียนการสอน และระดมการมีส่วนร่วม ซึ่งหัวใจคือการมีส่วนร่วมจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชนและกรรมการสถานศึกษาจากทุกภาคส่วนเข้ามาดูแล
เพราะคำว่าโรงเรียนไม่ใช่แค่สถานศึกษาหรือที่เรียนอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นเขาถึงบอกว่า โรงเรียนเป็นทุกอย่างของชุมชนและรากฐานของสังคม
ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กเขาก็ไม่อยากยุบโรงเรียนไปตามระบบ แต่เขาอยากจะท้าทายและอยากพัฒนามากกว่า เขาจึงไปเรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ นวัตกรรมที่ ACCESS School ส่งเสริมอยู่ มีอยู่ 2 โรงเรียนที่เป็นแม่แบบใหญ่ คือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งมีอยู่ 3 นวัตกรรม คือ จิตศึกษา PBL และ PLC ซึ่งรหัสลับสำคัญคือ กฎหมายทุกตัวทั้งมาตรา 6 และ 8 ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติบอกว่า ต้องการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์
คำว่ามนุษย์สมบูรณ์เขาแยกเป็น 2 ส่วน คือ ปัญญาภายในและปัญญาภายนอก เพราะฉะนั้นนวัตกรรมนี้จึงเข้าไปคลิกข้างใน ทำให้เด็กมีระเบิดจากภายใน มีความสุขในการเรียน เด็กจะรู้ว่าเขาต้องไปทางไหน ชีวิตต้องไปต่ออย่างไรในโลกใบนี้ นั่นคือการเติบโตจากภายใน พอหลังจากนั้นการเติบโตจากภายนอกก็จะไม่ยากแล้ว เด็กก็จะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ที่สำคัญคือโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้โรงเรียนมีการเติบโต
อีกหนึ่งคือ นวัตกรรมสอนคิด (Thinking School) ของโรงเรียน อบจ.เชียงราย ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากนิวซีแลนด์มาพัฒนา นั่นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้จักคิด ซึ่งโรงเรียน อบจ.เชียงราย เป็นโรงเรียนที่ไม่มีหนังสือ เรียนแบบสมัยใหม่นวัตกรรมพวกนี้จึงเป็นคีย์สำคัญมาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน สร้างวัฒนธรรมการเรียนใหม่ เรียกว่า ‘นิเวศการเรียนรู้ใหม่’
โจทย์สำคัญคือเราต้องทำยังไงให้โรงเรียนพร้อมแม้จะอยู่ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ มากมาย รวมถึงเรื่องหลักสูตรบูรณาการที่ต้องเอาไปสอนครู”
ACCESS School เพิ่มศักยภาพโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความยั่งยืน
“โครงการ ACCESS School เป็นเหมือนโครงการนำร่อง เฟส 1 ของสหภาพยุโรป เราก็นำไปทำกับ 8 จังหวัด ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก พัฒนาจากจิตศึกษามาเป็นเรื่องการเรียนรู้บนฐานชุมชน พัฒนาเชื่อมต่อกับฐานการงานอาชีพได้ดี โดยใช้นวัตกรรมเรื่องอาชีพในชุมชนเข้ามาเรียนรู้ และครูของเขาจะเปลี่ยนใหม่ โดยการเพิ่มเติมครูภูมิปัญญาเข้ามาสอน และสถานประกอบการ ฟาร์มทุกฟาร์มในพื้นที่เปิดเป็นห้องเรียนของเด็ก นี่คือนวัตกรรมที่สำคัญ
เราอยากเห็นนโยบายจากรัฐบาล เพราะว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ครู หรือผู้อำนวยการ แต่เป็นเรื่องของทุกคนในท้องถิ่นนั้น รวมถึงของทั้งประเทศ”
เทวินฏฐ์ อธิบายเกี่ยวกับโครงการ ACCESS School ว่าเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคม และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เอื้อให้เด็กในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี น่าน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านเทคนิคและการจัดการ ให้กับองค์กรภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินขับเคลื่อนรูปแบบการพัฒนา ‘โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก’
รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการโรงเรียนทีมีประสิทธิภาพผ่านการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน และเพิ่มขีดความสามารถให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนข้อเสนอด้านนโยบายทางการศึกษา ผ่านทางเวทีวิชาการ การเจรจา และสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับคุณภาพและส่งเสริมความยั่งยืนของโรงเรียนขนาดเล็กสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
“ตอนนี้เราวางไว้ 400 โรงเรียน เดิมเริ่มจาก 12 โรงเรียนต้นแบบ เราเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่ชัดเจน โรงเรียนพวกนี้ก็จะดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเข้ามาด้วย เพราะพอโรงเรียนเกิดขึ้นใหม่ ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เด็กมาโรงเรียนแล้วมีความสุขเขาก็จะกลับมาเรียน
ดังนั้น การที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่องประชากรลดลงเท่านั้น แต่มีปัจจัยหลายอย่างทั้งเศรษฐกิจ หลักสูตร และการวัดผล สิ่งนี้ทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าและหลุดจากระบบไปในที่สุด
ซึ่งภายใต้โครงการนี้เรายังทำวิจัย โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึงเป็นผู้วิจัย เพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นและเด็กจำนวนน้อยลงนั้นมีหลายปัจจัย และอีกอย่างคือมันอยู่ได้ด้วยภาคประชาสังคม” เทวินฏฐ์ กล่าว
ปลดล็อกปัญหาด้วยนโยบายจากภาครัฐ
ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรครูนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเร่งด่วน เพราะแม้จะเกลี่ยครูได้ แต่ก็ยังคงขาดแคลนนับหมื่นคน อีกทั้งโรงเรียนกลุ่ม Stand Alone เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องปกป้องเอาไว้และเติมทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้โรงเรียนยังคงอยู่ได้
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษา TDRI ได้เสนอให้มีนโยบายควบรวมโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาครูขาดแคลน เช่น หาก 2 โรงเรียนมีจำนวนเด็กน้อยทั้งคู่ อาจจะเปิดให้โรงเรียนหนึ่งสอนป.1-3 ส่วนอีกโรงเรียนสอน ป.4-6 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ก็ต้องสอบถามความสมัครใจของคนในชุมชนด้วย
ด้าน ผอ.พิชญ์สินี จากโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ ก็เสนอว่าควรมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณและหน้าที่ของครู
“คิดว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหลายๆ อย่าง เพราะบางอย่างเราไม่สามารถใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งหมดได้ แต่ต้องตัดสินตามรายโรงเรียน เช่น ค่าสาธารณูปโภค เพราะสมมติ 2 โรงเรียนมี 9 ห้องเหมือนกัน แต่โรงเรียนหนึ่งมีเด็ก 200 คน อีกโรงเรียนหนึ่งมี 60 คน แต่ละห้องเรียนมีไฟห้องละ 4 ดวงเหมือนกัน แม้จะมีเด็กแค่ 5 คนต่อห้อง หรือ 20 คนต่อห้อง ก็ต้องเปิดไฟ 4 ดวงเท่ากัน
ภาครัฐต้องมีวิธีในการบริหารจัดการ ไม่ใช่ให้เงินก้อนมาเพื่อค่าจัดการเรียนการสอน แต่เราต้องนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วย รวมถึงภาระหน้าที่ของครูก็มากเหมือนโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ บางคนต้องไปเป็นรักษาการณ์ ต้องทิ้งเด็กไปทำในสิ่งที่นอกเหนือจากหน้าที่ครู จึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้ให้ได้”
ผอ.พิชญ์สินี เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบบใดก็ตาม เป้าหมายสำคัญคือต้องพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยพัฒนาแบบองค์รวมให้เด็กมีปัญญาทั้งภายนอกและภายใน
“โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง นั่นคือโรงเรียนต้องจำลองสถานศึกษาให้เป็นเวทีที่ให้เด็กได้ใช้ชีวิตประจำวันจริงๆ
โรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุตอนแรกเราไม่มีที่พึ่งพา แต่โชคดีที่รู้จักโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เรามองว่าจิตศึกษาของเขาตอบโจทย์ทุกอย่าง แต่การที่เราจะขับเคลื่อนได้ก็ต้องอาศัยผู้บริหารและครูที่กล้าเปลี่ยนแปลง รวมถึงคนในชุมชนและนโยบายที่สนับสนุน เพราะสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เราไม่ได้ต้องการงบมาสร้างอาคารสถานที่ให้โอ่อ่าหรูหรา ขอแค่ให้โรงเรียนมีสนามพลังบวก คือ สะอาดและปลอดภัย”
ขณะที่ ผอ.ชนิตา จากโรงเรียนวัดโคกทอง กล่าวว่า เรื่องวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน การมีนโยบายมาสนับสนุนให้กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กมีความเข้มแข็งมากขึ้นจึงน่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้
“วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องมีความอดทนและมองหานวัตกรรม รวมทั้งภาคีเครือข่ายมาสนับสนุน เราต้องช่วยเด็กและคนในชุมชน เพราะผู้ปกครองบางท่านไม่ได้มีกำลังมากพอ
อย่างบางทีถ้านักเรียนป่วย ครูก็ต้องช่วยจ่ายค่ารักษา เพราะไม่มีสวัสดิการรองรับ หรือแม้แต่การเยี่ยมบ้านเด็ก เพราะฉะนั้นเราทำเหมือนโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ทุกอย่าง แต่วันนี้โรงเรียนขนาดเล็กเราจับมือและช่วยเหลือกัน
นวัตกรรมลำปลายมาศที่เราไปเรียนรู้มา ก็เอามาขับเคลื่อน ปรับและพัฒนานวัตกรรมให้เหมาะกับเรา เรามีเพื่อนและภาคีทำให้โรงเรียนมีเครื่องมือในการต่อสู้ปัญหา และทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่หายไปจากชุมชน”
ด้าน เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ปิดท้ายด้วยการเสนอนโยบายให้รัฐสนับสนุนเป็น 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม เนื่องจากโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและทำให้แต่ละโรงเรียนมีที่ยืนของตัวเองอย่างชัดเจน
“เราได้ไปเห็นประกาศของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง ยุบ รวมและเลิกสถานศึกษา ปี 2550 มันมีคำว่า ‘สถานศึกษาพิเศษ(2)’ ซึ่งคือสถานศึกษาเพื่อทดลองและวิจัย เพราะโรงเรียนทั้งหมดกำลังพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ผมคิดว่าหากกระทรวงศึกษาธิการนำโรงเรียน Stand Alone กลุ่มที่ไม่สามารถยุบรวมกับใครได้มาเข้ากับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลได้น่าจะดี เพราะจะสามารถนำร่องให้ได้ เพราะเมื่อนำร่องแล้วขาก็จะมีโอกาสพัฒนา มีสิทธิ์ฝึกอบรม และดูงานนวัตกรรมต่างๆ มีสิทธิประโยชน์ทางการศึกษาที่ควรได้รับตามหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร งบประมาณและอื่นๆ เพราะนี่คือหัวใจหลักที่โรงเรียนควรได้รับการสนับสนุน
อีกอย่างที่อยากฝากถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือเรื่องครู เพราะสิ่งหนึ่งที่สถาบันฝึกหัดครูในไทยไม่ได้ทำคือ การสอนวิชาบูรณาการ เพราะสิ่งสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็กคือการบูรณาการ จึงอยากให้สถาบันฝึกหัดครูเปิดชั้นเรียนการบูรณาการให้มากขึ้น ต้องให้นักศึกษาครูได้ลองทำมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างประสบการณ์ฝึกหัดครู เพราะเขาจะไม่สามารถไปฝึกที่โรงเรียนขนาดเล็กได้ เพราะว่าไม่มีครูพี่เลี้ยงและความพร้อมมากพอ
ผมจึงคิดว่าเราจะทำยังไงให้นักศึกษาฝึกหัดครูซึมซับถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องให้เขาได้ลองไปทำ ไปเจอและแก้ปัญหา รวมถึงฝึกการบูรณาการ เพราะจริงๆ การบูรณาการนั้นเป็นทักษะสำคัญไปจนถึงอนาคต”
- ธีโอดอร์ ฟินช์ คือเด็กมัธยมที่ถูกเพื่อนๆ เรียกว่าไอ้พิลึก เพราะเขามักพูดจาแปลกๆ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์
- วันหนึ่งฟินช์บังเอิญช่วยชีวิตเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งซึ่งกำลังจะจบชีวิตตัวเอง หลังเธอประสบภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียพี่สาว ทั้งยังช่วยเยียวยาหัวใจอันบอบช้ำของเธอให้แข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง
- ความน่าสนใจของภาพยนตร์คือการบอกผู้ชมว่าการทายาให้ผู้อื่นนั้นง่ายกว่าการรักษาบาดแผลของตัวเอง เหมือนกับฟินช์ที่ไม่อาจก้าวข้ามอดีต โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพ่อและรอยแผลเป็นที่เป็นดั่งเครื่องยืนยันฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนฟินช์อย่างไม่สิ้นสุด
Trigger warning! ในชิ้นงานมีเนื้อหาที่พูดถึงการฆ่าตัวตายและการทำร้ายร่างกาย
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]
…
ผมไม่ใช่คนโลกสวยและเชื่อเสมอว่าโลกเป็นสถานที่แห่งความทุกข์
ผมมีความคิดแบบนี้ตั้งแต่เล็ก อาจจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่พ่อตีผมไม่ยั้ง หลังจากที่ผมพยายามยื้อแย่งดาบพลาสติกเล่มโปรดคืนจากมือของน้องสาว แต่ยื้อกันไปยื้อกันมา จู่ๆ คมดาบก็ดันไปเฉี่ยวบริเวณคิ้วของน้อง
และไม่ว่าผมจะอธิบาย ร้องไห้ หรือกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดยังไง พ่อก็ไม่คิดให้อภัยหรือรับฟังเด็กผู้ชายคนนั้นสักนิด
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้วและผมก็รักพ่อมากๆ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นฝันร้ายที่ยังคงกระทบกระเทือนความรู้สึกผมเสมอ โดยเฉพาะยามได้เห็นข่าวหรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลูกที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกาย
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ที่ลูกถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกายแล้ว ส่วนมากเนื้อหาจะพยายามเล่าถึงการเอาชนะแผลใจของลูกเพื่อดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข
แต่นั่นไม่ใช่กับ ‘ธีโอดอร์ ฟินช์’ หนุ่มมัธยมปลายจาก All The Bright Places ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน ผู้ยังคงจมดิ่งอยู่กับอดีตอันเลวร้ายที่คอยหลอกหลอนและเปลี่ยนให้เขากลายเป็น ‘ไอ้พิลึก’ (Freak) ของเหล่าเพื่อนๆ ในโรงเรียน
-1-
หนึ่งในความทรงจำวัยเด็กที่ชัดเจนที่สุดของฟินช์ คือการถูกพ่ออาละวาดและทำร้ายร่างกาย โดยมีหลักฐานชิ้นโตคือ ‘รอยแผลเป็นกลางลำตัว’ คล้ายการถูกของมีคมกรีดเป็นแนวยาว
นอกจากการทำร้ายร่างกาย ฟินช์ก็นึกอะไรเกี่ยวกับพ่อไม่ออก นอกจากว่าตอนเขาอายุ 10 ขวบ พ่อได้เลิกรากับแม่และย้ายเมืองไปมีครอบครัวใหม่ ส่วนแม่ก็เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากคนที่เคยอยู่บ้านดูแลลูกกลับกลายเป็นคนที่อยู่ไม่ติดบ้านและปล่อยให้ลูกดำรงชีวิตเองตามอัตภาพ
ดังนั้นความทรงจำที่สวยงามในวัยเด็กของฟินช์ คงมีเพียง ‘พี่สาว’ ที่ดีกับเขาเสมอ แต่เธอมักยุ่งอยู่กับงานจนแทบไม่มีเวลาให้กับน้องชาย
เมื่อครอบครัวมีปัญหา จึงไม่แปลกที่ฟินช์มักมีปัญหาในโรงเรียน เช่น การขาดเรียนบ่อยๆ จนหมิ่นเหม่จะถูกไล่ออก แต่นั่นไม่เท่ากับปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะตอนโมโห แทนที่ฟินช์จะพ่นคำหยาบหรือแลกหมัดกับคู่กรณีตามประสาเด็กห้าว แต่เขากลับปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจนขว้างเก้าอี้ใส่เพื่อนในห้องจนทุกคนหวาดผวา
นอกจากนี้ ฟินช์มักพูดคำจาประหลาด ๆ เช่น ฉากที่ฟินช์บอกว่าตัวเขาไม่มีอยู่จริงและด้วยเหตุนี้เขาจึงสามารถอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งพฤติกรรมทั้งหลายทำให้เพื่อนๆ เอือมระอาและไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย ทั้งยังพากันเรียกเขาว่า ‘ไอ้พิลึก’ (Freak)
ก่อนเขียนบทความ ผมทราบมาว่า All The Bright Places นั้นถูกสร้างมาจากนิยายขายดีของเจนนิเฟอร์ นิเวน โดยในเวอร์ชันนิยายจะอธิบายเพิ่มเติมว่าฟินช์มีอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘ไบโพลาร์’ ทำให้พอเปิดภาพยนตร์ดูอีกครั้ง ผมก็เริ่มเข้าใจฟินช์มากขึ้น
สำหรับอาการของคนที่เป็นไบโพลาร์ตามความเข้าใจของผม คือการมีอารมณ์ดีใจและเศร้าเสียใจสลับกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น พอผู้ป่วยรู้สึกดีใจก็จะคึกคักสุดขีด แต่พอบทจะเศร้าอารมณ์ก็จะนำความรู้สึกดิ่งลงไปในหลุมดำที่อาจนำพาไปสู่การฆ่าตัวตายในภายหลัง ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัยไล่ตั้งแต่สารเคมีในสมองที่อยู่ในระดับที่ไม่สมดุลกัน บาดแผลในวัยเด็ก และสิ่งเร้าจากภายนอก ฯลฯ
-2-
แม้จะพิลึกยังไง แต่ฟินช์ก็มีมุมที่ร่าเริง อบอุ่น และมองโลกในแง่บวกอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ตอนที่เขาเข้าไปเกลี้ยกล่อม ‘ไวโอเล็ต’ เพื่อนร่วมชั้นที่ยืนอยู่บนขอบสะพานไม่ให้กระโดดลงไปข้างล่าง ก่อนจะช่วยเยียวยาจิตใจเธอให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
ฟินช์ทราบมาว่าไวโอเล็ตยังคงทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่พี่สาวของเธอเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อเก้าเดือนก่อน
แน่นอนว่าเพื่อนๆ หลายคนย่อมรู้สึกเสียใจกับไวโอเล็ต ทว่าการที่ไวโอเล็ตเปลี่ยนจากคนร่าเริงสนุกสนานกลายเป็นคนเคร่งขรึมและชอบเก็บตัวนับแต่นั้น ก็พลอยทำให้เพื่อนๆ อึดอัดและไม่กล้าเข้าหาเธอเหมือนเดิม
เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่แม้จะพยายามเข้าหาไวโอเล็ต แต่เมื่อเธอตระหนักว่าพ่อแม่ไม่สบายใจกับปัญหาของเธอ ทำให้เธอเลือกเก็บมันไว้ จนรู้ตัวอีกที เธอก็ยืนอยู่บนสะพานสูง ก่อนที่เสียงของฟินช์จะช่วยเรียกสติกลับมา
หลังจากช่วยชีวิตไวโอเล็ต ฟินช์พยายามชวนไวโอเล็ตมาเดินเล่นด้วยกันบ่อยๆ ทั้งยังชวนเธอมาเป็น Buddy ทำรายงานคู่กัน แน่นอนว่าไวโอเล็ตย่อมพยายามปฏิเสธพร้อมบอกชัดเจนว่าเธอรู้สึกเบื่อหน่ายผู้คน (sick of people)
“ฉันคิดว่าเราควรจับคู่ทำรายงานท่องเที่ยวด้วยกัน ฉันว่าน่าจะดีถ้าเธอได้ออกมาข้างนอก ใช่ผู้คนงี่เง่าจะตาย แต่อาจมีใครสักคนที่เจตนาดีจริงๆ ก็ได้นะ…ฉันเจอคำคมที่เหมาะกับเธอด้วย ‘ฉันรู้สึกว่ามีความสามารถพันอย่างปรากฏขึ้นในตัวฉัน’ เธอเองก็มีความสามารถอย่างน้อยพันอย่างในตัว ถึงแม้เธอจะไม่คิดอย่างนั้นก็ตาม” ฟินช์กล่าว
เมื่อหว่านล้อมสำเร็จ ฟินช์ก็พาไวโอเล็ตออกไปเที่ยว ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่นักจิตบำบัดหลายคนแนะนำให้ผู้ป่วยซึมเศร้านำไปปฏิบัติ โดยสถานที่แต่ละแห่งที่คู่พระนางไปก็ล้วนแต่น่าสนใจ เช่น การเดินทางเกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อเล่นรถไฟเหาะขนาดย่อมหลังบ้านชายชราคนหนึ่ง หรือการทางไปยังกำแพงร้างที่ถูกพ่นสีว่า “ก่อนตายฉันอยากจะ…” ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมด้วยการนำชอล์กบริเวณนั้นมาเติมคำของตัวเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือคำตอบของทั้งคู่ โดยไวโอเล็ตเลือกเติมคำว่า ‘มีความกล้าหาญ’ ส่วนฟินช์เขียนว่า ‘มีสติ’
จะเห็นได้ว่าสถานที่ของฟินช์แทบจะธรรมดามากๆ แต่ผมกลับรู้สึกว่าคนพิลึกอย่างฟินช์กลับเข้าใจไวโอเล็ตกว่าใคร เพราะยามที่รู้สึกว่าโลกใบนี้โหดร้าย การมีใครสักคนเคียงข้าง คอยรับฟังปัญหา รวมถึงปลอบประโลมให้กำลังใจอย่างถูกจังหวะ และนำเราไปเปิดโลกหาประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ชุบชูจิตใจไวโอเล็ตให้กลับมามีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอีกครั้ง เพราะเธอตระหนักแล้วว่าวิธีที่จะให้เกียรติและทำให้พี่สาวผู้ล่วงลับมีความสุขที่สุดคือการที่เธอสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
“ฟินช์สอนฉันว่ามีความงดงามอยู่ในสถานที่ที่คาดไม่ถึงมากที่สุด และมีสถานที่ที่สดใสแม้ในยามมืดมิด และหากไม่มีสถานที่นั้น เราก็สามารถเป็นสถานที่ที่สดใสนั้นได้”
-3-
สมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น ผมมักทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อนๆ ที่มีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว ความรัก หรือแม้แต่การเงิน ทว่าพอผมประสบปัญหาซะเอง ผมกลับไม่สามารถนำพลังบวกหรือข้อคิดดีๆ ที่คอยพร่ำบอกเพื่อนๆ มาปรับใช้ ทำให้ผมเรียนรู้ว่าการทายาให้ผู้อื่นนั้นง่ายกว่าการรักษาบาดแผลของตัวเอง
เช่นเดียวกับฟินช์ที่ก่อนหน้านี้ดูจะมีความสุข ร่าเริง และเปี่ยมด้วยพลังบวกยามอยู่กับไวโอเล็ต แต่พอตัวเองเผชิญหน้ากับความเศร้าหมองในจิตใจ ฟินช์กลับไม่สามารถโอบอุ้มความรู้สึกตัวเอง และกลายร่างเป็นคนพิลึกอย่างที่เพื่อนหลายคนกล่าวไว้ ไล่ตั้งแต่การปิดมือถือและหายตัวไปหลายวันจนคนรอบข้างเป็นห่วง, การเขียนโน้ตสั้นๆ ใส่กระดาษโพสต์อิทแผ่นแล้วแผ่นเล่าด้วยท่าทีลนลาน รวมถึงการดำน้ำในอ่างอาบน้ำเป็นเวลานานๆ คล้ายกับคนที่อยากลิ้มลองรสชาติของความตาย
“บางครั้งฉันต้องไปในที่ที่ทำให้ฉันรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ฉันต้องทำในสิ่งที่ย้ำเตือนว่าฉันยังควบคุมตัวเองได้ เพราะพ่อฉันก็เคยอยู่ในอารมณ์ที่มืดมนแบบนี้…(พูดถึงรอยแผลเป็นกลางลำตัว) ฉันเคยตัวเล็กกว่านี้มาก เมื่อก่อนฉันไม่รู้ว่าจะหลีกทางยังไง คนเราไม่ชอบความยุ่งยากใช่ไหมล่ะ” ฟินช์บอกไวโอเล็ตในวันหนึ่ง
หลังจากหายหน้าไปจากโรงเรียนพักใหญ่ จู่ๆ ฟินช์ก็กลับมาที่โรงเรียน แต่ไม่วายถูกเพื่อนคนหนึ่งบูลลี่ด้วยคำว่า ‘พิลึก’ และเพียงคำเดียวอารมณ์อันเดือดดาลของฟินช์ก็ปะทุจนกลายเป็นเรื่องใหญ่
“ผมธีโอดอร์ ฟินช์ ไม่ได้เป็นโรคอะไร ไม่ค่อยแน่ใจว่าผมพาตัวเองที่นี่ทำไม คงเพราะผมเพิ่งชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน มันเหมือนกับว่าผมอยู่ที่นั่นแต่ว่าไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมเหมือนคนที่ดูตัวเองอยู่และบางทีผมรู้สึกสับสนจนต้องออกไปวิ่ง ซึ่งบางครั้งมันก็ช่วยได้ แต่ไม่รู้สิ แค่วิ่งมันจะพอไหม” ฟินช์กล่าวระหว่างเข้ารับการบำบัดกับกลุ่มวิถีทางใหม่ และจากนั้นเขาก็ไม่กลับไปโรงเรียนอีกเลย
ไม่ว่าจะก่อนเหตุการณ์ชกต่อยหรือหลังเหตุการณ์ชกต่อย ผมรู้สึกสงสารฟินช์ที่ถูกเพื่อนๆ นินทาว่าพิลึก เพราะผมมองว่าการที่คนเราถูกตอกย้ำด้วยคำพูดเดิมซ้ำๆ ทุกวัน หากเรามีจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ต่อให้คำๆ นั้นจะจริงหรือไม่ เราก็อาจตกเป็นทาสของคำๆ นั้นได้ในวันหนึ่ง ซึ่งกรณีของฟินช์ในตอนท้ายเรื่องจะเห็นว่าเขาเริ่มเชื่อว่าตัวเองพิลึกจริงๆ ต่างจากตอนต้นเรื่องที่เขาพยายามปลอบตัวเองว่า “มนุษย์ชอบตีตราและอยากให้เราเป็นในแบบที่เขาอยากให้เป็น”
ผมรู้สึกว่าพอฟินช์เชื่อว่าจิตตัวเองมีปัญหาและพิลึกอย่างที่เพื่อนๆ บอก เขาก็เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมเปรียบเทียบว่าเขาก็เหมือนกับพ่อที่ปล่อยให้อารมณ์มืดมนครอบงำจิตใจ เพราะพ่อเองก็เป็นตัวอันตรายที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สุดท้ายฟินช์จึงตัดสินใจไปปรึกษาพี่สาวเรื่องพ่อซึ่งเป็นเหมือนปมฝังใจที่สุดในชีวิต
“ฉันจำเรื่องพ่อไม่ได้เท่าไหร่ เพราะทุกอย่างที่จำได้มันดูแย่…ทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น (ใช้กำลังกับคนในครอบครัว) ที่เขาเป็นแบบนั้นเพราะพวกเรารึเปล่า…มันต้องมีเหตุผลสิ เพราะถ้ามีเหตุผลเขาก็จะดีขึ้นได้ อาจมีบางสิ่งหรือบางคนจะทำให้เขาเป็นคนดีขึ้นได้ใช่ไหม”
ทว่าพี่สาวของเขากลับกล่าวถึงพ่อด้วยท่าทีเย็นชา เพราะเธอเองก็เคยเป็นกระสอบทรายให้พ่อซ้อมจนน่วมเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ พี่สาวของฟินช์ยังชี้ให้ฟินช์เห็นว่าที่พ่อมีพฤติกรรมรุนแรงก็เพราะพื้นเพแล้วพ่อเป็นคนไม่ดีมาตั้งแต่เกิด และเธอก็ไม่อยากคุยกับฟินช์ถึงเรื่องนี้อีกเพราะพ่อได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็น ‘ปัญหาของคนอื่น’ ไปแล้ว
ด้วยบาดแผลจากพ่อ คำบูลลี่ของเพื่อนๆ และคำตอบของพี่สาว ที่สุดแล้วฟินช์จึงสรุปว่าตัวเองก็เป็นคนพิลึกโดยกำเนิดและคงไม่มีทางแก้ไขอะไรได้เหมือนพ่อ เขาจึงตัดสินใจดำดิ่งลงไปในแม่น้ำที่มีตำนานเล่าขานว่ามีแรงดูดบางอย่างบริเวณก้นแม่น้ำซึ่งสามารถนำพาสิ่งมีชีวิตไปสู่โลกอีกใบ
-4-
ผมมองว่าปัญหาสำคัญของฟินช์ คือการที่เขารู้ว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์และมักกระทำสิ่งต่างๆ อย่างขาดสติ ส่วนปัจจัยรอบตัว อย่างครอบครัวที่สมควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยก็กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความเงียบเหงา ไหนจะตอนไปโรงเรียนที่ต้องต่อสู้กับสายตาและคำพูดของเพื่อนที่มองว่าเขาพิลึกอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งฟินช์เคยระบายความอัดอั้นกับเพื่อนคนหนึ่งว่าเขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวปัญหาที่ก่อเรื่องวุ่นวายตลอดเวลาและเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะหยุดตัวเองได้รึเปล่า ซึ่งผมฟังแล้วรู้สึกเห็นใจมากกับความพยายามที่เขาต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง ทว่าด้วยอายุที่ยังน้อย การไร้ที่พึ่งทางจิตใจ ประกอบกับการถูกตอกย้ำปมในใจซ้ำๆ จนยากจะต้านทาน ทางออกของฟินช์จึงลงเอยที่การจบชีวิตตัวเองเพื่อไม่ต้องกลายเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ใจให้กับครอบครัว เพื่อนๆ หรือใครก็ตามในอนาคต
[สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอันหนักหน่วง คงจะดีไม่น้อยถ้าคุณได้ระบายมันกับใครสักคนที่รักและพร้อมจะรับฟัง แต่หากคนที่คุณรักไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย การไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย โดยสามารถเลือกใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อปรึกษานักจิตวิทยาได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง]
All The Bright Places เป็นภาพยนตร์โรแมนติกดรามาสัญชาติอเมริกันในปี 2020 กำกับโดย Brett Haley และได้นักแสดงนำชื่อดังอย่าง Justice Smith มารับบทธีโอดอร์ ฟินช์ |
- ถ้าเราลองมองอีกมุมหนึ่ง การมีความสุขในชีวิตไม่ใช่การพยายามหาทางเหนือกว่าผู้อื่น แต่เป็นรากความคิดที่พยายาม ‘ไม่เหนือ’ กว่าคนอื่น
- กฎของยานเต้ (Law of Jante) คือกฎ 10 ข้อ จากจากนิยายของอัคเซล ซันเดอโมส (Aksel Sandemose) นักเขียนชาวสแกนดิเนเวียน ที่ส่งเสริมความถ่อมตน และความเท่าเทียม
- แนวคิด Law of Jante ช่วยเราให้ไม่ด่วนตัดสินใจอะไรง่ายๆ แต่หล่อหลอมให้เราหัดคิดทบทวน เปิดพื้นที่ให้เราได้ตกผลึกทางความคิดได้ลึกซึ้งกว่าเดิม คิดวิเคราะห์ถี่ถ้วน รอบคอบในการตัดสินใจ บอกลาการคิดอะไรแบบผิวเผิน
โลกของเราทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยการแข่งขัน พวกเราล้วนเคยชินกับการขบคิดวิเคราะห์ว่าตัวเองจะหาทาง ดีกว่า-พิเศษกว่า-เหนือกว่า คนอื่นยังไงได้บ้างอยู่ตลอดไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
- ต้องแซงหน้าคู่แข่งเพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาด
- ต้องโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานเพื่อได้รับการโปรโมต
- ต้องทำผลงานความสำเร็จได้ยิ่งใหญ่กว่ารุ่นพ่อแม่ที่สร้างมา
แต่ระหว่างเส้นทางการแข่งขันนี้ กลับเต็มไปด้วยความเครียดความกดดัน มันพ่วงความคาดหวังอันสูงลิบและแรงกระตุ้นบางอย่างที่เราต้องพุ่งชนเพดานศักยภาพตัวเองอยู่ตลอด
มารู้ตัวอีกทีคุณอาจพบว่า มันได้บั่นทอนความสุขในชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว และรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้เอนจอยอย่างที่ควรจะเป็น บางทีเราคว้าความสำเร็จมาไว้ตรงหน้าได้แท้ๆ แต่ทำไมกลับไม่แฮปปี้เท่าที่ควร?
เป็นไปได้หรือไม่? ถ้าเราลองมองอีกมุมนึง การมีความสุขในชีวิตไม่ใช่การพยายามหาทางเหนือกว่าผู้อื่น แต่เป็นรากความคิดที่พยายาม ‘ไม่เหนือ’ กว่าคนอื่น?
และประเด็นนี้เองได้นำพาเราให้พบกับ กฎของยานเต้ (Law of Jante) ของชาวสแกนดิเนเวียนที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้อย่างดีเยี่ยม
Law of Jante กฎที่เตือนว่า “เราอาจไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่นหรอก”
แม้ว่า Law of Jante จะมีคำว่า ‘Law’ (กฎหมาย) อยู่ก็ตาม แต่นี่ไม่ใช่กฎหมายที่ใช้ในประเทศจริงๆ แต่เสมือนเป็นกฎทางสังคมที่ไม่ได้ถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร (Unwritten social rules) มากกว่า
โดยต้นกำเนิดของ Law of Jante เป็นเรื่องราวที่มาจากนิยายเรื่องหนึ่งที่แต่งโดย อัคเซล ซันเดอโมส (Aksel Sandemose) นักเขียนชาวสแกนดิเนเวียน
โดยในนิยายมีการเอ่ยถึงเมืองสมมติเล็กๆ แห่งหนึ่งในเดนมาร์กที่ชื่อว่า ‘Jante’ ความโดดเด่นคือ ประชาชนในเมือง Jante ดูจะมีความสุขเอนจอยกับชีวิตและปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติมีความเคารพซึ่งกันและกัน เสมือนเป็นดินแดนยูโทเปีย (Utopia) สังคมในอุดมคติอย่างไงอย่างงั้น
เมื่อสืบลึกลงไปพบว่า เพราะประชาชนในเมือง Jante ต่างปฏิบัติตามกฎอยู่ 10 ข้อด้วยกันอย่างเคร่งครัด จึงเป็นที่มาของ Law of Jante นั่นเอง
บัญญัติ 10 ประการ หัวใจของ Law of Jante
หัวใจสำคัญของ Law of Jante คือแนวคิดที่เตือนใจผู้คนอยู่เสมอว่า “เราอาจไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่นหรอก”
โดย Law of Jante มีบัญญัติ 10 ประการดังนี้
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘พิเศษ’ กว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘ดี’ กว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘ฉลาด’ กว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘เหนือ’ กว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘มี’ มากกว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘สำคัญ’ กว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเอง ‘เก่ง’ กว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเองควรได้รับ ‘ความสนใจ’ มากกว่าผู้อื่น
- อย่าเผลอคิดว่าตัวเองจะเที่ยวไป ‘เทศนา’ ผู้อื่นได้ตามอำเภอใจ
- อย่าเผลอไป ‘หัวเราะเยาะ’ ผู้อื่น ทั้งด้านทัศนคติความคิด รูปลักษณ์ภายนอก หรือการกระทำ
แม้ Law of Jante จะมีต้นกำเนิดจากในนิยาย แต่มันกลับมี ‘อิทธิพลทางความคิด’ ในโลกแห่งความจริงต่อผู้คนในแถบสแกนดิเนเวีย เพราะได้รับการเผยแพร่บอกต่ออย่างกว้างขวาง ชาวสแกนดิเนเวียนหลายคนก็อ่านหรือได้รับรู้แนวคิดนี้มาตั้งแต่เด็กๆ และปรับใช้กับการดำเนินชีวิต
ถ้าเราขบคิดถึงกฎทั้ง 10 ข้อจะพบว่า มันส่งเสริมความถ่อมตน (Humbleness) สำรวมความสำเร็จของตัวเอง ไม่ยกตนโอ้อวดเหนือผู้อื่น เคารพในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน เป็นแนวคิดที่ให้เกียรติกันในฐานะ ‘เพื่อนมนุษย์’ และส่งเสริมความเท่าเทียม (Equality) ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดรับความแตกต่าง
อย่าลืมว่า คนเราทุกคนย่อมมี ‘ศักดิ์ศรี’ ในใจกันอยู่แล้ว (ซึ่งไม่ใช่อีโก้) เป็นจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเลยก็ว่าได้ การเที่ยวไปแสดงออกถึงความเหนือกว่า (Superiority) หรือไปคิดว่าคนอื่นต่ำต้อยกว่าเรา อาจไปกระทบกระทั่งด้อยค่าศักดิ์ศรีในใจของผู้อื่นได้แม้ว่าคุณจะไม่ตั้งใจก็ตาม
ทำไม Law of Jante ถึงน่าสนใจกว่าที่คิด
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ Law of Jante กระตุ้นให้เรา ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ เราอาจเห็นคนอื่นตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่ในมุมมองของเรารู้สึกว่ามันไม่ make sense เอาซะเลย
- มันไม่ make sense สำหรับคุณ
- แต่อาจ make sense สำหรับคนนั้น
สุดท้ายแล้วคุณอาจค้นพบว่า ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับคนนั้น อยู่ในเงื่อนไขแบบนั้น อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น คุณเองก็อาจตัดสินใจไม่ต่างไปจากคนนั้นหรอก! (สุดท้ายเราเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขาหรอก)
แนวคิดนี้ช่วยเราให้ไม่ด่วนตัดสินใจอะไรง่ายๆ แต่หล่อหลอมให้เราหัดคิดทบทวน เปิดพื้นที่ให้เราได้ตกผลึกทางความคิดได้ลึกซึ้งกว่าเดิม คิดวิเคราะห์ถี่ถ้วน รอบคอบในการตัดสินใจ บอกลาการคิดอะไรแบบผิวเผิน
แต่อย่าเข้าใจผิดเชียว Law of Jante ไม่ได้จะมา ‘กดทับ’ ศักยภาพในตัวคุณหรอก (นั่นเป็นคนละเรื่องกัน) แต่จะมายกระดับจิตใจคุณให้มองเห็นคุณค่าและความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่นต่างหาก
ในมิติระบบทุนนิยมและการทำงานในโลกธุรกิจ เราถูกตั้งระบบให้หาทางดีเด่นกว่าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว หาวิธีสร้างภาพลักษณ์อันแสนดี ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง หรือแม้แต่โจมตีคู่แข่งเมื่อค้นพบจุดอ่อน กดได้ต้องรีบกด ทำลายได้ต้องรีบทำลาย เรื่องนี้นำมาซึ่งความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวล ความอิจฉาริษยา และอาจกระทบต่อจรรยาบรรณของพนักงานระดับปฏิบัติการที่เป็นคนลงมือทำงานจริงๆ กรณีที่ต้องกล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย
หรือบางทีแล้ว ในการทำงานและใช้ชีวิต เราจะพบว่าแท้จริงแล้วหลายเรื่องเราทำได้ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำถ้าพวกเรา ‘ร่วมมือกัน’ มองเห็นข้อดีและนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาใช้ พร้อมๆ กับยอมรับและหาทางป้องกันจุดอ่อนให้กันและกัน
Law of Jante กับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน
ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับ ความคาดหวัง (Expectation) ถ้าเราสร้างเงื่อนไขมีความคาดหวังที่สูง ความสุขจะเกิดยาก แต่ถ้าเราคาดหวังต่ำ เช่น ไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะต้องเก่งกาจพิเศษไปกว่าคนอื่น เมื่อเรามองคนด้วยความเท่าเทียมกันทางสิทธิและศักดิ์ศรี เมื่อมองว่าเราไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้นในฐานะมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ แปลกแต่จริง ‘ความสุข’ มักเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าโดยไม่รู้ตัว (ไม่เชื่อไปทดลองทำดู)
นอกจากนี้ เราลงรายละเอียด Law of Jante และนำมาใช้แต่ละข้อได้เลยทีเดียว ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว เช่น
- ตามกฎข้อ 3: อย่าเผลอคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าผู้อื่น – ให้เราเปิดใจรับฟังเพื่อนฝูงที่เขาอาจไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพราะการมีโอกาสได้เรียนสูง ไม่ได้หมายความว่าเราจะฉลาดกว่าคนอื่น
- ตามกฎข้อ 8: อย่าเผลอคิดว่าตัวเองควรได้รับความสนใจมากกว่าผู้อื่น -เป็นการเตือนสติตัวเราเองไม่ให้ทำตัวเป็นจ่าฝูงหรือเป็นจุดศูนย์กลางในหมู่เพื่อนที่ทุกคนต้องคอยเอาอกเอาใจ
- ตามกฎข้อ 10: อย่าเผลอไปสั่งสอนเทศนาผู้อื่นโดยอำเภอใจ – ฝึกให้เราคิดหน้าคิดหลังก่อนไปสั่งสอนหรือให้คำแนะนำเพื่อนฝูง เช่น เรื่องความรัก เพราะแต่ละคนเจอสถานการณ์และบริบทที่แตกต่างกัน
เมื่อเรามาพิจารณาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อาจมีคำถามว่า Law of Jante กำลังกดทับศักยภาพความสามารถของชาวสแกนดิเนเวียน หรือทำให้พวกเขาเป็นคนเก็บกดทางอารมณ์รึเปล่า? คำตอบส่วนใหญ่ก็น่าจะไม่ เพราะชาวสแกนดิเนเวียนถูกจัดอันดับเป็นชาติที่คนมีความสุขติดอันดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอดไม่ว่าจะถูกจัดอันดับโดยสำนักไหนก็ตาม
และในแง่ของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งร่ำรวย ชาวสแกนดิเนเวียนก็เป็นชาติที่ผู้คนอยู่ดีกินดี มีรายได้สูงอันดับต้นๆ ของโลกเสมอมา
ตัวอย่างเช่น GDP ต่อหัว (GDP per capita) ของชาวสแกนดิเนเวียนในปี 2021
- สวีเดน อยู่ที่ประมาณ 176,000 บาทต่อเดือน
- เดนมาร์ก อยู่ที่ประมาณ 197,000 บาทต่อเดือน
- นอร์เวย์ อยู่ที่ประมาณ 258,000 บาทต่อเดือน
Law of Jante ยังเปลี่ยนสายตาของเราให้มองอีกด้านหนึ่ง เช่น จากเดิมโฟกัสที่การฉุดรั้ง เตะตัดขา ด้อยค่า หาจุดอ่อน และคอยหาทางขิงกันและกัน ก็เปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือค้ำจุน สมานแผลที่ขา หาจุดแข็ง และเคารพซึ่งกันและกัน สุดท้ายทุกคนน่าจะได้ประโยชน์และมีความสุขเอนจอยกับการใช้ชีวิตทั่วหน้ากัน
อ้างอิง
Nordgreen UK. (2019, March 26). Exploring Jante Law: The Cultural Norms in Scandinavian Countries. https://nordgreen.co.uk/blogs/nordic-culture/jante-law
Danish Jante Law: Why is Denmark So Happy? (2017, May 12). Brewminate: A Bold Blend of News and Ideas. https://brewminate.com/danish-jante-law-why-is-denmark-so-happy/
Statista. (2022, October 11). GDP per capita at current prices in the Nordic countries 2010-2022, by country. https://www.statista.com/statistics/1274468/gdp-per-capita-nordic-countries/
- ในบรรดากรอบคิดหรือชุดคำศัพท์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น BANI World เป็นคำที่กำลังได้รับความสนใจในวงวิชาการ
- BANI เป็นผลงานของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน Jamais Cascio เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของตัวอักษรหน้าคำศัพท์ 4 คำ ได้แก่ Brittle ความเปราะบาง, Anxious ความกังวล, Nonlinear การคาดเดายาก, Incomprehensible ความเข้าใจได้ยาก
- ‘การรู้โดยสัญชาตญาณ’ (Intuition) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจได้ จากการศึกษาพบว่าการเรียนรู้โดยสัญชาตญาณเกิดขึ้นในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ เด็กในช่วงวัยนี้เรียนรู้และตัดสินใจโดยอาศัยสัญชาตญาณได้แล้ว
“ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นได้?”
“ทำไมพวกเขาถึงทำอย่างนั้น?”
“พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่?”
“ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของนี้ คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร?”
ภาวะของความสับสน งุนงง พยายามทำความเข้าใจแต่จับต้นชนปลายไม่ถูก บทสรุปสุดท้ายพบว่า ยิ่งค้นหาคำตอบยิ่งไม่เข้าใจและไม่สามารถหาเหตุผลที่เข้าท่ามาอธิบายได้ เป็นสภาวะที่ใช้อธิบาย ‘Incomprehensible’ หรือ ‘ความไม่เข้าใจ’ ในโลกโกลาหล หรือ BANI World ได้เป็นอย่างดี
Incomprehensible – ภาพลวงตาของข้อมูลความรู้ ที่ยิ่งค้นหายิ่ง (ไม่) ค้นพบ
จาไมส์ คาสซิโอ (Jamais Cascio) นักมานุษยวิทยาและนักเขียนผู้มีความสนใจด้านอนาคต อธิบายว่า ใน BANI World หรือ โลกโกลาหล เรารู้สึกเหมือนกำลังพยายามค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่สามารถกำกับหรือควบคุมอะไรได้ และไม่สามารถตีความได้ว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร หลายต่อหลายครั้งกลับพบว่า คำตอบที่ค้นเจอไม่น่าพอใจและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
อีกแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่า ‘การคิดว่ารู้’ เปรียบเสมือนภาพลวงตาของความรู้ หลายคนเข้าใจว่าตนเองเข้าใจแล้ว ทำให้ปิดประตูรับการเรียนรู้หรือความรู้ที่ต่างไปจากเดิม
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมักเห็นพ้องตรงกันว่า ‘ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งตระหนักได้ว่าแทบไม่รู้อะไรเลย’ เพราะคำตอบที่ได้จากคำถามหนึ่ง มักนำไปสู่คำถามถัดไป จึงเหมือนการยิ่งค้นหาก็ยิ่งไม่ค้นพบคำตอบ
ด้วยเหตุนี้ คาสซิโอ จึงกล่าวว่า BANI World เป็นโลกที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พัฒนาแนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อตอบคำถามที่ตนสงสัยและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เข้าใจได้ยาก
ยิ่งโปร่งใส ยิ่งสร้างความเข้าใจ
นวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้น และข้อมูลข่าวสารที่แพร่หลายจนท่วมท้น ความต้องการรู้ การอยากทำความเข้าใจ ยิ่งทำให้ความต้องการหาคำตอบมีมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องหรือเชื่อถือได้
ความเหลื่อมล้ำ เช่น การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์สื่อสาร นำมาสู่การคาดการณ์คำตอบที่ยิ่งสร้างความสับสน คาสซิโอ กล่าวว่า ความไม่เข้าใจนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลที่มีมากล้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เร็วเกินไปจนเกิดช่องว่างทางสังคม
ทั้งนี้ การคลี่คลายความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ สามารถแก้ไขได้ด้วย ‘ความโปร่งใส’ (Transparency) หรืออีกด้านหนึ่ง คือ การเปิดเผย (ข้อมูล) ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการนำประสบการณ์ทั้งจากความล้มเหลวและความสำเร็จมาเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจ หรือที่เรียกว่า ‘การรู้โดยสัญชาตญาณ’ (Intuition)
ยกตัวอย่างเรื่องความโปร่งใสในตลาดอาหาร หลายบริษัทนำเสนอคุณค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยการระบุที่มาหรือต้นทางของอาหาร รวมถึงส่วนประกอบที่เป็นจุดเด่น และส่วนประกอบอื่นๆ อย่างละเอียด ยิ่งให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาด ช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น ทลายกำแพงของความไม่รู้ด้วยข้อมูลที่โปร่งใสและเข้าถึงได้
ในมุมมองด้านการศึกษา Transparency in Learning and Teaching (TiLT) หรือ ความโปร่งใสในการเรียนรู้และการสอน เป็นชุดกลยุทธ์การสอนอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในชั้นเรียน กลยุทธ์การสอนนี้มุ่งเน้นการนำเสนอและสร้างความเข้าใจให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมของการเรียนรู้และตอบข้อสงสัยต่อไปนี้ของผู้เรียน
- ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้? เป้าหมายของการเรียนรู้คืออะไร ข้อมูลความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ได้อย่างไร แล้วส่งผลต่ออาชีพหรือการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคตอย่างไร?
- ขั้นตอนการเรียนรู้ประกอบด้วยอะไรบ้าง? มีอะไรที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ?
- การทำกิจกรรมต่อไปนี้ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาหรือหลักสูตรได้ดีขึ้นอย่างไร?
- ผู้สอนจะใช้เกณฑ์อะไรประเมินผลงานของผู้เรียน?
จากการศึกษาโดย แมรี่ แอน วินเคิลเมส (Mary-Ann Winklemes) พบว่า การสอนที่โปร่งใสช่วยให้ผู้เรียนทำงานในแต่ละรายวิชาได้ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นโดยไม่ลาออกกลางคัน นอกจากนี้ ยังช่วยลดช่องว่างด้านความสำเร็จ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เรียนที่ด้อยโอกาส ผลการวิจัย ระบุว่า เมื่อผู้สอนใช้กลยุทธ์การสอนแบบ TiLT ผู้เรียนมีความมั่นใจในตัวเองเชิงวิชาการมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และรู้สึกว่าทักษะที่ตนกำลังพัฒนาจะเป็นที่ยอมรับในการประกอบอาชีพในอนาคต
การเพิ่มความโปร่งใสในหลักสูตร
ทั้งนี้ ผู้สอนสามารถสร้างความโปร่งใสให้กับหลักสูตร ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เรียนได้ดังนี้
- ผู้สอนอธิบายเป้าหมายการเรียนรู้ของงานที่มอบหมายแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจน โดยระบุวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการทำงาน และเกณฑ์ประเมินความสำเร็จ ตั้งแต่เริ่มต้น
- วัดความเข้าใจของผู้เรียนระหว่างการเรียนรู้ และอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนรับทราบ
- ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมประเมินผลงานของตนเอง หรือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในชั้นเรียน
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พูดคุยและซักถามถึงข้อติดขัดในการเรียน นอกจากนี้ ผู้สอนสามารถให้คำแนะนำผู้เรียนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลงานของผู้เรียนก่อนประเมินผลได้
- ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมวางแผนหัวข้อการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับหลักสูตร/เนื้อหาที่ผู้สอนกำลังวางแผนการสอน
ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้เรียน ตีพิมพ์ในวารสารด้านการศึกษา “The Journal of Effective Teaching” ปี 2013 กล่าวถึงการออกแบบการเรียนการสอนที่มีความโปร่งใสว่า
“ฉันเข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำโปรเจกต์นี้…การเรียนส่วนใหญ่หากเราได้รับมอบหมายให้ทำงานกลุ่ม เราจะรู้สึกเหมือนครูขี้เกียจเลยให้ทำงานกลุ่ม ทำให้ไม่อยากเข้าเรียนในสัปดาห์ถัดไป แต่การออกแบบหลักสูตรให้มีความโปร่งใสทำให้เราเห็นว่าครูไม่ได้ทำให้เรายุ่งและเสียเวลาไปเปล่าๆ เรามองเห็นภาพว่าความคิดของเราจะถูกนำไปใช้ในการวางแผนการสอน ทำให้เราทำโปรเจกต์ได้อย่างตั้งใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเห็นความเชื่อมโยงว่าทำไปเพื่ออะไร แล้วมีประโยชน์อะไรกับตัวเอง”
สร้างความเข้าใจผ่านการรู้โดยสัญชาตญาณ
นอกจากความโปร่งใสแล้ว คาสซิโอ กล่าวว่า ‘การรู้โดยสัญชาตญาณ’ (Intuition) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจได้ จากการศึกษาพบว่าการเรียนรู้โดยสัญชาตญาณ (Intuitive Learning) เกิดขึ้นในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ นั่นหมายความว่า เด็กในช่วงวัยดังกล่าวเรียนรู้และตัดสินใจโดยอาศัยสัญชาตญาณได้แล้ว
การเรียนรู้โดยสัญชาตญาณเริ่มต้นจากประสาทสัมผัส (Senses) และการรับรู้ (Perceptions) ทำงานเชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึก (Subconscious) ซึ่งเป็นพื้นที่สะสมประสบการณ์และที่เก็บตัวของคุณลักษณะต่างๆ (Personality) ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล การแก้ปัญหาโดยสัญชาตญาณมักเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เนื่องจากไม่มีประสบการณ์มาก่อน เราจึงตอบสนองต่อสถานการณ์ลักษณะนี้ด้วยลางสังหรณ์ตามแรงกระตุ้นโดยสัญชาตญาณ
การศึกษาในปี 1976 (https://catalogue.nla.gov.au/Record/5310587)) เกี่ยวกับการคิดโดยสัญชาตญาณชี้ให้เห็นพัฒนาการของเด็กวัย 6 ขวบที่สอดคล้องกับคำอธิบายตามทฤษฎีการพัฒนาทางสติปัญญญาของเด็ก โดย ฌอง เปียเจย์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวคือ
“ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 7 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งชีวิตที่เจตจำนง (willing) ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเพื่อวางรากฐานการใช้ชีวิต คำว่าเจตจำนงในที่นี้ให้ความหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจตามธรรมชาติ เช่น พัฒนาการของเด็กทารกตั้งแต่การตั้งไข่ พยายามเกาะ ยืน แล้วเดิน การพูดและการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องใช้ความรู้สึกหรือการคิดวางแผน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กในช่วงวัยนี้จะไม่รู้สึกหรือไม่คิดอะไรเลย เพียงแต่แรงกระตุ้นที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือการเลียนแบบ” (https://thepotential.org/knowledge/willing-feeling-thinking/)
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้โดยสัญชาตญาณทำงานสัมพันธ์และสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมีเหตุผล มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) นักข่าวและเจ้าของหนังสือด้านสติปัญญาที่มียอดขายถล่มทลายอย่าง ‘The Tipping Point’ และ ‘Blink’ กล่าวว่า การเรียนรู้โดยใช้เหตุผลอาจใช้เวลานับเดือน ขณะที่การเรียนรู้โดยสัญชาตญาณเกิดขึ้นได้ภายในช่วงเสี้ยววินาที แต่ทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะท้ายที่สุดเมื่อเติบโตขึ้นการทำตามสัญชาตญาณจะผสมผสานเข้ากับประสบการณ์ชีวิต สอดคล้องกับงานวิจัยจาก University of Tübingen ประเทศเยอรมันนีที่ผลการศึกษาสนับสนุนว่า การตัดสินใจโดยสัญชาตญาณมักเริ่มต้นจากประสบการณ์เดิมเสมอ (https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27110441/)
ทั้งนี้ แม้วัยเด็กจะไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่ข้อได้เปรียบของพวกเขาคือ วัยเด็กมีความคิดสร้างสรรค์สูงจากการไม่ถูกจำกัดภายใต้กรอบหรือการพยายามใช้เหตุผลมากเกินไป การตอบสนองโดยสัญชาตญาณของพวกเขาจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติ
สรุปได้ว่าสัญชาตญาณที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ ในระยะยาวเกิดขึ้นจากการลงมือทำลองผิดลองถูก สั่งสมเป็นชุดความรู้หรือคลังข้อมูลส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ระบบสมองจะทำมาประมวลผลเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน แล้วผสมผสานกับการคิดอย่างมีเหตุผล ทั้งหมดทั้งมวล สะท้อนให้เห็นแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่หนีไม่พ้นการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing)
BANI World หรือ โลกโกลาหลนี้ เต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่ที่ชวนให้ไม่เข้าใจมากมาย คนเราจึงต้องการความชัดเจนเพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง ทั้งความโปร่งใสและการรู้โดยสัญชาตญาณจะช่วยให้เราพาตัวเองออกจากเขาวงกต คลี่คลายความไม่เข้าใจในสิ่งที่ไม่รู้ ให้กระจ่างชัดขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://thepotential.org/knowledge/bani-world-ep1-brittle/
https://thepotential.org/knowledge/bani-world-ep2-anxious/
https://thepotential.org/knowledge/bani-world-ep3-nonlinear/
อ้างอิง
https://exploringyourmind.com/intuitive-learning/
https://www.gse.harvard.edu/news/ed/20/05/teacher%E2%80%99s-intuition
https://medium.com/@cascio/facing-the-age-of-chaos-b00687b1f51d
https://thinkinsights.net/leadership/bani/
https://resources.kenblanchard.com/blanchard-leaderchat/dealing-with-change-in-a-bani-world
https://tilthighered.com/tiltexamplesandresources
https://citl.indiana.edu/teaching-resources/diversity-inclusion/tilt/index.html
- คุณยายผมดีที่สุดในโลก เป็นภาพยนตร์เกาหลีในปี 2002 บอกเล่าเรื่องราวของซังวู เด็กชายที่ถูกแม่เลี้ยงเดี่ยวส่งไปอยู่กับยายผู้เป็นใบ้ในชนบท หลังแม่ของเขาตกงานและยังหางานใหม่ไม่ได้
- ด้วยสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาร ประกอบการเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้ซังวูนึกดูถูกแลทำตัวไร้มารยาทกับคุณยายเกือบตลอดทั้งเรื่อง
- ไม่ว่าคุณยายจะโดนกลั่นแกล้งแค่ไหน แต่เธอยังคงปฏิบัติต่อซังวูด้วยความรักจนหัวใจอันหยาบกระด้างของซังวูค่อยๆ อ่อนโยน และเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]
มีใครรักปู่ย่าตายายมากกว่าพ่อแม่บ้าง?
ผมคือคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้น ทั้งยังบ่อน้ำตาตื้นได้ง่ายๆ เมื่อต้องพูดถึงอากงอาม่า
ผมมีความผูกพันกับอากงอาม่าเป็นพิเศษ เพราะตอนเด็กๆ พ่อมักส่งผมไปอยู่ดูแลพวกท่านทุกวันอาทิตย์ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลากว่าสี่ปี
ช่วงไม่กี่เดือนแรก ผมยอมรับว่าถึงจะรักอากงอาม่า แต่ก็รู้สึกขัดใจกับการมัดมือชกของพ่อที่ไม่ถามความสมัครใจของผมสักคำ ในเมื่ออากงอาม่าก็มีหลานอีกสิบกว่าคน หรือแม้แต่ตัวพ่อแม่เองก็ไม่เห็นจะสละเวลามารับหน้าที่นี้เลย แถมเวลานั้นผมยังอยู่ในวัยมัธยมที่ใครๆ ต่างก็ดิ้นรนไปเรียนพิเศษช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม พ่อก็เผด็จการเกินกว่าที่ผมจะต่อต้านหรือปฏิเสธ ผมจึงก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามคำสั่งแต่โดยดี เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องถูกตบหรือหักเงินค่าขนม
ผมพยายามทำตัวเป็นหลานที่ดีที่สุด คอยพูดคุยเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำป้อนยาอากงอาม่าอย่างดี ทว่าหลายครั้งผมกลับมีความรู้สึกว่าแท้จริงแล้ว เป็นอากงอาม่าต่างหากที่ดูแลผม โดยเฉพาะการคอยถามไถ่เรื่องราวต่างๆ ในชีวิต รวมถึงปลอบประโลมผมยามระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องพ่อ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ถ้าป๊าไม่รัก อากงอาม่าจะเลี้ยงลื้อเอง” ซึ่งคำพูดนี้เปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมรู้สึกว่าการมาหาพวกท่านไม่ใช่การบังคับอีกต่อไป
ระหว่างที่ต้องดูแลรับใช้อากงอาม่า ผมจำได้ว่าเคยรับชมภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง คุณยายผมดีที่สุดในโลก (2002) ที่แม้เนื้อหาจะไม่ได้คล้ายคลึงกับชีวิตของผม แต่ข้อความหลายอย่างที่ภาพยนตร์ฝากไว้กลับเปี่ยมด้วย ‘พลัง’ ที่สามารถเรียกน้ำตาของผมกับอากงอาม่าออกมาได้ง่ายๆ
คุณยายผมดีที่สุดในโลก บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ซังวู’ เด็กชายวัยเจ็ดขวบที่ถูกแม่เลี้ยงเดี่ยวส่งไปอยู่กับยายผู้เป็นใบ้ในชนบทที่ทุรกันดาร หลังแม่ของเขาตกงานและประสบภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง
ณ กระท่อมอันซอมซ่อ ซังวูไม่เพียงไม่พอใจต่อความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของยาย เขายังรู้สึกโมโหแม่มากๆ ที่ปล่อยให้เขาต้องมาจมปลักอยู่ที่นี่เป็นเวลาสองเดือน
ด้วยนิสัยเอาแต่ใจและเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ซังวูมักทำตัวไม่น่ารักกับยาย ทั้งการพ่นถ้อยคำหยาบคายและแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่น การเตะไหใบใหญ่ของยายจนแตก, การขโมยรองเท้าเพียงคู่เดียวของยายไปทิ้ง หรือการขโมยปิ่นปักผมจนยายต้องเอาช้อนมาปักแทน แต่ถึงหลานตัวแสบจะร้ายแค่ไหน ยายกลับไม่เคยถือสา แถมยังคอยใช้ภาษามือถามซังวูเสมอว่า “หลานอยากได้อะไรหรือเปล่า”
เมื่อไม่มีแสงสีให้หลงระเริง ที่พึ่งเดียวที่ทำให้ชีวิตของซังวูผ่านพ้นแต่ละวันอันแสนน่าเบื่อ คือการหมกมุ่นกับเกมกด โปสการ์ดขบวนการฮีโร่ หรือไม่ก็ฟิกเกอร์หุ่นยนต์สุดเท่ โดยมองข้ามคุณยายที่คอยปรนิบัติดูแลเขาอย่างดี
หนึ่งในฉากไฮไลท์ของภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำของผม คือฉากที่คุณยายใช้ภาษามือถามซังวูว่าอยากกินอะไร ก่อนได้รับคำตอบว่า ‘ไก่ทอดเคนตั๊กกี้’ เธอจึงรีบออกจากบ้านและหอบไก่ตัวเป็นๆ ฝ่าสายฝนกลับมาในตอนเย็น
แต่แล้วเมื่อยายยกอาหารมาเสิร์ฟ ซังวูกลับร้องไห้ด้วยความผิดหวัง ทั้งยังปัดจานข้าวทิ้งอย่างไม่ใยดี เพราะสิ่งที่เขาปรารถนาคือไก่ทอดไม่ใช่ไก่ต้มทั้งตัวที่ยายภูมิใจเสนอ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมประทับใจไม่ใช่แค่ความทุ่มเทของยาย แต่รวมถึงการตกผลึกทางความรู้สึกในใจของซังวูที่ตื่นขึ้นกลางดึกและเปิดใจกินไก่ต้มจนรู้สึกชื่นชอบในรสมือของยาย ทำให้วันต่อมาเมื่อพบว่ายายนอนซมเพราะพิษไข้ เขาจึงกุลีกุจอจัดเตรียมอาหารให้ยาย ก่อนยกมาเสิร์ฟให้เธอถึงห้อง
อีกฉากที่ประทับใจคือตอนยายรู้ว่าซังวูอยากกินช็อกโกแลตพาย เธอจึงรีบไปซื้อมาให้หลานรักทันที ส่วนซังวูเองก็รู้สึกซาบซึ้งในความหวังดีนั้น จึงนำช็อกโกแลตพายห่อหนึ่งมาหย่อนลงในถุงผ้าของคุณยายเพื่อให้เธอลิ้มลอง
แม้เรื่องราวของทั้งคู่อาจดูเหมือนความรักระหว่างคุณยายแสนดีกับหลานชายจอมแสบที่ไม่ได้ถึงกับแปลกใหม่จนน่าตื่นเต้น แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีข้อความสำคัญบางอย่างที่ซ่อนไว้ระหว่างบรรทัด
สำหรับพฤติกรรมดื้อด้านเอาแต่ใจของซังวู ผมมองว่าเกิดจากการเลี้ยงดูของแม่ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีเวลาให้ลูก เพราะตัวเธอเองต้องออกไปทำงานเหมือนคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่เธอพอจะชดเชยให้ลูกได้คือเกมกดและของเล่นฟิกเกอร์ที่ลูกชอบ แต่ไม่ว่าวัตถุเหล่านี้จะดึงดูดใจซังวูมากแค่ไหน ผมกลับมองว่าสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือเวลา ความรัก และความใส่ใจจากแม่ เพราะสำหรับเด็กย่อมไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าครอบครัว
นอกจากการไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ผมมองย้อนไปยังฉากเปิดเรื่องที่แม่พาซังวูลงจากรถทัวร์แล้วพบว่าซังวูร้องไห้งอแงเพราะรับไม่ได้กับสภาพแวดล้อมในชนบท แม่จึงจัดการตบหัวและเหวี่ยงแขนเรียกสติซังวูไปไม่น้อยกว่าสามครั้ง
หากพูดถึงเรื่องการใช้ความรุนแรงกับลูก ผมเชื่อว่าคนเจนเนอเรชั่น Y ขึ้นไปคงคุ้นเคยกับคำพูดทำนองว่า ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี’ เป็นอย่างดี ซึ่งในกรณีของซังวู แม่ของเขานั้นเลือกที่จะใช้ ‘กำลัง’ เพื่อขู่ให้ลูกยอมจำนนมากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผล แน่นอนว่าอาจมีคนเถียงว่าถ้าลูกไม่เชื่อฟังก็ควรใช้กำลังจะได้เข็ดหลาบ แต่คำถามคือการใช้กำลังให้ผลดีเสมอไปจริงเหรอ?
จริงอยู่ที่การใช้กำลังอาจส่งผลให้ลูกยอมทำตามคำสั่งของพ่อแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่างานวิจัยทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าในระยะยาวลูกที่ถูกพ่อแม่ทุบตีหรือใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา
เช่นนี้ ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจที่ซังวูจะดุด่ายายในตอนต้นเรื่อง ทั้งยังทำท่าเงื้อมมือใส่ยายแบบที่แม่เคยทำกับเขา แต่จุดพลิกผันของซังวูคือการที่ยายของเขาไม่ได้มีนิสัยเหมือนกับแม่ กลับกันยายเป็นคนที่ไม่นิยมความรุนแรง เปี่ยมด้วยเมตตา และแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านความรักความใส่ใจในแบบที่ซังวูไม่เคยได้รับจากแม่
ในทางกลับกัน ผมเชื่อว่าหากยายใช้ความรุนแรงกับซังวู ก็คงให้ผลลัพธ์ไม่ต่างอะไรกับแม่ที่ซังวูยอมจำนนด้วยความกลัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยายได้ใช้ความรักเอาชนะจิตใจอันแข็งกระด้างของซังวู จนเขาค่อยๆ เปลี่ยน พฤติกรรมให้ตัวเองเป็นคนที่โอบอ้อมอารีมากขึ้น
หลังชมภาพยนตร์จบในตอนนั้น ผมรู้สึกเพียงแค่ตัวเองโชคดีเหลือเกินที่มีอากงอาม่าที่ดีไม่แพ้คุณยายในภาพยนตร์ และเมื่อกลับมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งในวัยกลางคน ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกขอบคุณอากงอาม่าอีกครั้ง
…เพราะแม้วัยเด็กของผมจะไม่ได้ความรักความเข้าใจจากพ่อมากนัก แต่ความรักความปรารถนาดีของอากงอาม่าก็ช่วยให้ผมก้าวผ่านวันคืนที่โหดร้ายและเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าในตัวเอง
- Empathy, Compassion และ Kindness คือส่วนผสมของคำว่า ‘ความใจดี’ คาแรกเตอร์สำคัญที่ นีท – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน ชวนค้นหาและฝึกฝน ผ่านการ์ตูนที่เราดูกันมาตั้งแต่เด็กๆ
- ความใจดี มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แสดงออกมาตรงๆ ชัดเจน แสดงออกตรงข้าม แบบปากไม่ตรงกับใจ เป็นความใจดีที่ถูกซ่อนไว้ และการพยายามเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ใจดีขึ้น ซึ่งแบบหลังต้องการโอกาสและแรงเสริม
- สำหรับการค้นหาความใจดีและติดตั้งคาแรกเตอร์นี้ออกแบบโดยใช้หลักของแบนดูรา (Bandura) การเรียนรู้จากตัวแบบ คือการที่เราเห็นคนหนึ่งคนทำแล้วทำตาม มี 4 ขั้น คือ สนใจ จำได้ ทำบ่อยๆ และมีแรงจูงใจ
วันนี้คุณ ‘ใจดี’ กับตัวเองและคนข้างๆ บ้างหรือยัง ?
อาจจะฟังดูโลกสวย แต่การดูแลหัวใจตัวเองด้วยการใจดีกับตัวเองบ้าง เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย เพราะข้อดีของการมีคาแรกเตอร์นี้นอกจากจะทำให้หัวใจเราแข็งแรง ยืดหยุ่นกับตัวเองมากขึ้น ความใจดีของเรายังส่งผลให้ความสัมพันธ์กับคนข้างๆ ดีตามไปด้วย เพราะใครๆ ก็ชอบคนใจดี…จริงไหม?
หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี The Potential ชวน นีท – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน นักออกแบบการเรียนรู้ และ Influencer เจ้าของช่อง Tiktok Neatto.chan สาวเสิร์ฟอนิเมะ พูดคุยถึงการค้นหาความใจดีของตัวเอง ผ่าน Pop-culture อย่างการ์ตูนที่เราดูกันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะไม่ว่านิทานหรือการ์ตูน ทุกเรื่องย่อมจบด้วย “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” และหากถอดคาแรกเตอร์ของตัวละครออกมา เราจะเห็นความใจดีซ่อนอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหน เช่น ใจดีแบบเปิดเผย แสดงออกตรงๆ เข้าใจง่าย หรืออาจปากไม่ตรงกับใจ แสดงออกตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูด หรือเมื่อก่อนเคยใจร้าย แต่วันนี้พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่
แล้วจริงๆ แล้วความใจดีคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน? จำเป็นต่อเราทุกคนใช่ไหม? เราจะสร้างคาแรกเตอร์ให้กลายเป็นคนใจดีได้อย่างไร? แล้วใจดีแบบไหนไม่ให้โดนเอาเปรียบ? เรามาค้นหาไปพร้อมๆ กัน
‘ความใจดี’ หนึ่งในทักษะสำคัญของชีวิต
ก่อนอื่นนีทเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของ ‘ความใจดี’ ที่ตัวเองตีความออกมาจากทักษะ Empathy and Compassion ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน 23 ทักษะของ IDGs: Inner Development Goal ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ไว้ 17 เป้าหมายหลัก เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 ซึ่งการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้จำเป็นต้องมี 23 สกิล แบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ และ ‘ความใจดี’ ที่กำลังจะพูดถึงก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ความใจดีมันจะอยู่ในพาร์ทของ Caring for Others and the World คือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และหนึ่งทักษะที่เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้ มันคือการที่เรามีความใจดีหรือคำว่า empathy and compassion ซึ่งถ้าแปลความหมายโดยรวม ก็หมายความว่ามันคือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคน โดยเรามีปฏิสัมพันธ์กับเขาด้วยความใจดี มีคำว่า kindness มีความใจดีกับเขา มีคำว่า empathy กับเขา เข้าอกเข้าใจเขา และ compassion เมตตาเขาเพื่อช่วยขจัดความทุกข์อะไรบางอย่างออกไปได้ ดังนั้นมันจะมี 3 คำนี้ในความใจดี”
นีทชวนมองต่อในมุมจิตวิทยาว่า 3 คำนี้ (kindness, empathy และ compassion) มีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อย่างคำว่า ใจดี หรือ Kindness เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา เช่น คุณเป็นคนใจดี เป็นมิตร ชอบช่วยเหลือ ยิ้มง่าย เป็นต้น
ส่วนคำว่า Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) เป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา เป็นความรู้สึกที่เราเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไร? เป็น Feeling (ความรู้สึก) ว่า I understand your feeling. และคำว่า Compassion คล้ายๆ กับ empathy คือการที่ I understand you.ผสมกับ I would like to help you. (ฉันเข้าใจคุณ และ ฉันอยากจะช่วยคุณ) 3 คำนี้จึงเป็นก้อนรวมที่คุณนีทเรียกว่า ‘ความใจดี’ นั่นเอง
“อันดับแรกคุณจะใจดีกับใครได้คุณต้องมี empathy ก่อน คือเข้าใจความรู้สึกว่า เขากำลังเศร้าเพราะเขาอกหัก เขากำลังเศร้าเพราะเขาโดนแม่ด่า พอมี empathy เสร็จมันต้องเกิด I would like to help you. ก็จะมีความ compassion เข้ามาผสม ว่าเออ…ฉันอยากช่วยแกอะ สุดท้ายคือการช่วยเหลือมันต้องแสดงออกมาแบบ kindness ไม่ใช่แบบสมมติด่าเพื่อน เรื่องแค่นี้ทำไมต้องเศร้า ผู้ชายคนเดียว อันนี้มันไม่ kindness แม้ว่าคุณอยากจะช่วยให้เพื่อนคลายจากความทุกข์ แต่คุณก็ต้องแสดงท่าทาง kindness ออกมา เช่น แกๆ ฉันเข้าใจ มากอดๆ นะ”
“เรารู้สึกว่า 3 ตัวนี้มันคือตัวที่จะคลายความเศร้าได้อันดับแรกเลย อย่างคำว่า ความใจดี เรามอง 2 มิติ หนึ่งคือใจดีกับตัวเอง และสองคือใจดีกับคนอื่น ซึ่งใจดีกับตัวเอง เราไม่ค่อยทำเลย ขนาดเราเป็นนักจิตวิทยานะ ยังเผลอบ่นเผลอด่าตัวเองเลย เรายังไม่เมตตากับตัวเองเลย ทั้งๆ ที่เราควรจะเมตตาและให้อภัยตัวเองและเข้าใจตัวเอง หรือบางทีเรายังต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือคนอื่นอาจจะต้องการความช่วยเหลือจากเรา
ซึ่งไม่ว่าเราจะเมตตากับตัวเอง ใจดีกับตัวเอง หรือใจดีกับผู้อื่น มันทำให้เรารู้สึกอย่างนึงว่า แม้ว่าโลกมันจะอยู่ยาก แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมันเอื้อ มันช่วยเหลือเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเราเดินไปด้วยกันได้ เรารู้สึกว่าเราต่อสู้กับโลกนี้ได้ โดยที่โลกก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แล้วเราก็ไม่ได้เดียวดายขนาดนั้น อันนี้เป็นคีย์หลักเลยที่เลือก ‘ความใจดี’ มาเป็นหัวข้อแรกเลย”
ค้นหา ‘ความใจดี’ ของตัวเองผ่านการ์ตูนเรื่องโปรด
สำหรับการค้นหาความใจดีผ่านการ์ตูนนั้น เธอเล่าว่า ส่วนหนึ่งคือความฝัน และความหลงใหลในการ์ตูน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่นำมาใช้ในการศึกษา เพียงแค่นำมาต่อยอดในมุมของนักจิตวิทยา
“การ์ตูนมันเป็นความทรงจำและความฝันในวัยเด็กของเรา เรื่องแรกๆ ที่ดูตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง คือ ‘เซนกิ เทพอสูรสองหน้า’ แล้วก็มี ‘นักซิ่งสายฟ้า Let’s & Go’ โดยสมัยก่อนเราจะสามารถดูการ์ตูนผ่านเทป VDO หรือดูจากทีวีก็ได้ ซึ่งหลักๆ เราก็ชอบดูการ์ตูนเสาร์อาทิตย์ของช่อง 9 ซึ่งทุกคนรู้ไหมว่า? ก่อนจะได้ดูการ์ตูน มันจะมีรายการไฮไลท์การ์ตูน 9 ที่มีพี่นัท–น้องนพ มาเป็นพิธีกร ซึ่งในรายการนั้นจะมีการตั้งคำถาม ให้เราโทรไปตอบคำถาม อย่างเช่น (สมมติ) โปเกม่อนตอนนี้สอนให้เรารู้ว่าอะไร? แล้วก็มีช้อยส์ให้เรากดเลือก เพื่อชิงของรางวัล มันก็เหมือนนิทานอีสปที่ตอนจบมันก็ต้องมี “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” เราก็เลยผูกพันกับความเป็นการ์ตูนแบบนี้”
นอกจากความสนุกของการดูการ์ตูนในวัยเด็กแล้ว เธอมองว่าจริงๆ แล้ว การ์ตูนเป็นสื่อการเรียนรู้ที่อยู่กับเรามาตั้งแต่นานแล้ว รายการไฮไลท์การ์ตูน 9 ในวันนั้นจึงทำให้เห็นว่า การ์ตูนไม่ได้ดูแค่ความสนุก แต่มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในนั้น
“จากแค่เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร เราเริ่มมาหาคำ เวิร์ดดิ้ง หรือแรงบันดาลใจจากการ์ตูนละ เราก็เลยเขียนเรื่องส่งไปนิตยสารเล่มโปรด มันเหมือนเป็นนิตยสารวิชาภาษาไทย ที่เกี่ยวกับเรื่องการเขียน การอ่าน ก็จะมีแนะนำวรรณกรรมต่างๆ แต่ว่าจุดนึงของนิตยสารเล่มโปรดคือเขาจะมีให้เด็กๆ ร่วมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อลองเขียนบทความส่ง เหมือนเป็นทีมบ.ก.ตัวน้อย ซึ่งตอนนั้นเรามีความอยากเป็นนักเขียน นักพูด ก็เลยส่งเรื่องไป มันเป็นจุดเริ่มต้นของความฝัน”
“เรารู้สึกว่าการ์ตูนมันเรียนรู้อะไรได้เยอะ แต่ว่าหลายๆ ครั้งพอเราโตขึ้นมามันจะมีคำว่า ความฝันกลายเป็นความฝัน เราก็เริ่มรู้สึกว่า ความฝันเกี่ยวกับการ์ตูน เขียนการ์ตูน หรือทำงานสายนี้ ก็กลายเป็นความฝันของเราไป เหมือนทำได้แค่ชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งจริงๆ เราอยากทำมาตลอด แต่เราไม่เมตตาตัวเองเลย เราไม่ใจดีกับตัวเอง หรือไม่สามารถเชื่อมั่นอย่างเต็๋มร้อยว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันดีจริงๆ นะ
เราทำช่องTiktok ซึ่งเป็นช่องวิเคราะห์การ์ตูนผ่านจิตวิทยา ในตอนที่ทำบางทีเราก็ใจร้ายกับตนเอง บ่นคลิปตนเอง จริงๆ เราก็พยายามใจดีกับตนเองนะ แต่มันก็ไม่ strong พอ เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาที่ต้องการคนใจดีมาช่วยอ่าเนอะ เช่น ทาง JAM เชิญเราไปพูดใน Special Live ของ Conan the Movie 25 เจ้าสาวฮัลโลวีน หรือ พี่เอิ้น Pochi Pochi ซึ่งเขาคือคนที่เรานับถือ ก็ชวนไป live เรื่อง “น้องซูเล็ตต้า” ความใจดีที่มีคนมอบโอกาสให้ ทำให้เราคิดว่า สิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่า! Social support (การสนับสนุนทางสังคม) มันสำคัญเนอะ”
“เราต้องการกำลังใจ เราต้องการพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าสิ่งที่เราทำมันใช่ นั่นคือการที่เราได้รับความใจดีจากคนรอบตัว บางครั้งโลกมันโหดร้ายแล้ว แต่มันก็มีคนใจดีที่อยู่เคียงข้างเรา”
ติดตั้งคาแรกเตอร์ ‘ใจดี’ ผ่านตัวละครในการ์ตูน
เพราะส่วนสำคัญในชีวิตวัยรุ่นล้วนเป็นเรื่องของเพื่อนและความสัมพันธ์ ความใจดีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้
“เพื่อนคือส่วนสำคัญในชีวิตของเขา มันคือพัฒนาการเลย เพราะฉะนั้นการที่มีทักษะในเรื่องของความใจดี แสดงออกด้วยความใจดีจึงสำคัญ เช่น เมื่อเวลาเพื่อนมีความทุกข์ แล้วคุณอยากจะช่วยเหลือเพื่อน มันทำให้ความสัมพันธ์ในกลุ่มของพวกคุณดี ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น สองตัวที่เล่ามามันก็ยังตอบโจทย์วัยรุ่น จริงๆ แล้ว ขั้นตอน How to ไม่สำคัญเท่าคุณ intention อยากจะทำมันหรือเปล่า มันคือความใส่ใจว่าฉันอยากจะทำมัน เรารู้สึกว่าการสร้างบริบทจาก Pop Culture คือจริงๆ มีหลายแบบ ด้วยความที่ชอบอนิเมะที่สุดก็ต้องเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด มาสอน ถ้าเราเลือกสิ่งที่ไม่ถนัดมาเราก็จะดูเฟก”
สำหรับการค้นหาความใจดีและติดตั้งคาแรกเตอร์นี้ออกแบบโดยใช้หลักของแบนดูรา (Bandura) การเรียนรู้จากตัวแบบ คือการที่เราเห็นคนหนึ่งคนทำแล้วทำตาม มี 4 ขั้น คือ สนใจ จำได้ ทำบ่อยๆ และมีแรงจูงใจ
“ขั้นแรก กระบวนการที่เรารู้สึกใส่ใจ เราสนใจก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเรามาสร้างความใจดีกัน ก็ต้องมีกิมมิกในการเปิดเรื่องผ่านตัวละครที่ชอบ ตัวละครที่คุณชอบมีความใจดีอยู่หรือเปล่า action ไหนที่เขาแสดงความใจดี มันคือการสร้าง attention ความใส่ใจให้กับคุณ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ขั้นต่อมาพอคุณสร้างเสร็จแล้ว ต้องมาคุยกันนะว่า แล้วตัวละครที่เราชอบหรือความใจดีที่เขาแสดงออกมา เขามีวิธีการทำหรือ How to อย่างไร นี่คือขั้นที่ 2
ส่วนขั้นที่ 3 คือการ Practice ซ้อมเพื่อให้เราฝึกบ่อยๆ เราจะได้คุ้นชิน ซึ่งอันนี้จะเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่เอามาช่วย เช่น เราจะ get feeling เข้าใจเขายังไง ก็อาจจะฝึก empathy กันเล็กน้อย ฝึกวิธีการแสดงออก ถ้าเขามีปัญหาอย่างนี้เราจะช่วยยังไงให้เราไม่เดือดร้อนและช่วยเขาได้ และขั้นสุดท้าย Motivation (แรงจูงใจ) ก็เหมือนพูดคุยกันว่าแล้วสุดท้ายเราทำสิ่งนั้นมันดียังไง”
โดยจะสอนผ่าน 3 กิจกรรม ผ่านคำว่า ‘Feel’ ‘Think’ ‘Act’ เริ่มจากการ Feel ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกและเข้าใจกับความใจดีก่อน
“หลังจากนั้นเราก็จะมาถอดแบบความ empathy ละ ว่าเราจะเข้าใจตัวละครแต่ละตัวได้ยังไง ก็คืออาจจะเอาซีนของตัวการ์ตูนมาวิเคราะห์สถานการณ์ เช่น ซีนนี้คนนี้เขารู้สึกยังไง ยกตัวอย่าง ‘ทันจิโร่’ ในเรื่องดาบพิฆาตอสูร ตอนที่เขาต้องไปปราบอสูรข้างขึ้นที่ 6 แล้วพี่น้องของตัวที่เป็นอสูรกำลังจะสลายไป พี่น้องสองคนก็ด่ากันอยู่ เหมือนว่าทำไมเธอถึงทำให้ฉันตาย ทำไมเธอถึงไม่ช่วย ทันจิโร่รู้สึกว่า จริงๆ พี่น้องสองคนนี้ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เขาก็พูดกับคนที่เป็นพี่ชายว่า “จริงๆ ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นสินะ” แล้วก็เหมือนพูดอะไรบางอย่างกับพี่ชายประมาณว่า อย่าโกรธกันเลย เพราะคงจะมีคนไม่ชอบคุณเยอะ คุณฆ่าคนไปเยอะ แต่คุณมีกันแค่สองคนพี่น้อง เพราะฉะนั้นรักกันไว้เถอะ
เราก็จะมาถอดว่าตอนนั้นทันจิโร่รู้สึกยังไง เขามี empathy ยังไง อาจจะรู้สึกว่า พี่น้องสองคน ก็มีความโกรธกันอยู่ ก็เลยต่างพ่นความโกรธใส่กัน และสิ่งที่เขาทำคือ ฉันอยากจะ compassion เขาคืออยากจะช่วยเขาก็เลยพูดแบบนั้นไป ซึ่งเป็นการพูดดีๆ ไม่ได้ด่า เราก็จะถอดแบบจากความทันจิโร่ได้ ซึ่งเรารู้สึกว่าความอินนี้มันจะทำให้เรา feel ได้ แล้วเราก็จะสามารถเห็นความ empathy ได้”
นอกจากความใจดีที่แสดงออกมาตรงๆ ชัดเจนแบบ ‘ทันจิโร่’ แล้ว ในชีวิตจริงเราอาจเจอคนที่เขาใจดีแต่เราไม่รู้ เป็นความใจดีที่ถูกซ่อนไว้ แสดงออกตรงข้ามกับคำพูด และการพยายามเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่ใจดีขึ้น ซึ่งแบบหลังต้องการโอกาสและแรงเสริม
“ยกตัวอย่าง ‘ดาเมียน’ จาก Spy x Family จริงๆ ถ้าเราดูคาแรกเตอร์คนนี้แบบผ่านๆ นะ เป็นเด็กผู้ชายที่เป็นลูกคนใหญ่คนโต ดูมีความหยิ่งๆ ยกตนข่มท่านนิดๆ แต่มีฉากสองสามตอนที่เราจะได้เห็นความใจดีของเขา ความใจดีของเขามันซ่อนอยู่บนความหยิ่งของเขา เขาไม่ได้พูดตรงๆ ว่าผมอยากจะช่วยเหลือ มันจะมีตอนนึงที่นักเรียนเขาแข่งดอร์จบอลกัน แล้วอาเนียที่เป็นตัวละครหลักล้ม แต่ตอนแรกดาเมียนจะไม่ช่วย เพราะว่าถ้าฉันแข่งชนะฉันอาจจะได้รางวัล แต่สุดท้ายสิ่งที่ดาเมียนทำก็คือมากันลูกบอลให้อาเนียแล้วตัวเองก็ต้องออกจากการแข่งขัน สิ่งนี้มันคือความใจดีที่ซ่อนอยู่ ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่ช่วยหรอก ซึ่งสิ่งนี้มันจะทำให้เรายืดหยุ่นเรื่องบางเรื่องมากขึ้น
อย่างเวลาที่เรามองคน เราจะเริ่มไม่ได้มองแค่สิ่งที่เขาทำแค่ทำตอนนี้ แต่เราจะเริ่มถอดว่า หรือเขาจะมีความใจดีซ่อนอยู่นะ”
ในกระบวนการนี้ นอกจากการค้นหาความใจดีผ่านตัวละครแล้ว นีทมองว่าเราต้องถามตัวเองว่า ถ้าเราเป็นดาเมียนเราจะทำอย่างไรให้เขาแสดงความใจดีออกมาได้ตรงๆ ได้มากกว่านี้? หรือบางครั้งเราอาจจะเจอคนที่มีคาแรกเตอร์อีกแบบที่นีทใช้คำว่า ‘ความใจดีที่เปลี่ยนแปลงไป’ คือการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนที่ใจดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราควรทำคือการยอมรับและให้โอกาส
“อีกอันนึงคือรู้สึกว่าเราอาจจะต้องยอมรับความใจดีที่เปลี่ยนแปลงไป คือตัวละครบางตัวตอนแรกไม่ได้ใจดี แต่พอเขาเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่าง แล้วเขาเป็นคนใจดี เราก็ควรจะให้ second chance (โอกาสที่สอง) บางทีเราต้องเข้าใจ คนเราอาจจะมีนิสัยไม่ดีได้ แต่ถ้าเขาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเราก็ควรจะให้โอกาสเขา ให้พื้นที่เขา เวลาเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีก็ต้องการคำชมนะ ซึ่งมันคือขั้นสุดท้ายของ bandura คือเราเปลี่ยนแล้วเราก็ต้องการเสริมแรงด้วยการชม การยอมรับว่าสิ่งที่คุณทำมันดี”
ส่วนคำว่า Think คือการที่เราคิดมากขึ้น หลังจากที่ถอดความใจดีของตัวละครออกมาแล้ว ลองดึงพฤติกรรมที่ดีของตัวละครนั้นมาเลือกใช้
“จากนั้น Action เราอาจจะเขียนเป็น action Plan อาจจะมีสถานการณ์ว่า ฉันจะเริ่มนับหนึ่ง ในการช่วยเหลือจากใครก่อนดี เพราะสุดท้ายแล้ว แม้ว่าเราจะวางแผนมา ถ้าเราไม่แสดงออกก็จบ แอ็กชั่นนี้คือเหมือนแค่หนึ่งแอ็กชั่นเล็กๆ ที่วันนี้คุณจะเอากลับไปทำ เพื่อทำให้คุณเป็นคนใจดีที่มากขึ้น เช่น เห็นเพื่อนร้องไห้เพราะอกหัก แอ็กของฉันคือเป็นห่วงเพื่อน ไม่อยากให้เพื่อนเศร้าเพราะเลิกกับแฟน ถ้าคุณมีความ empathy คุณเข้าใจว่าเพื่อนเศร้า คุณมี compassion ที่อยากจะช่วยเหลือเขา เราแสดงออกแบบ kindness ปลอบว่า “ไม่เป็นไรนะแก” แล้วตบไหล่เบาๆ แค่นี้คือดู kindness แล้ว เดี๋ยวอยากด่าต่อค่อยว่ากัน สุดท้ายเราแค่ต้องการคนที่เข้าใจ ปลอบก่อนแล้วค่อยสอนกัน”
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วยการเป็นคนใจดี แบบไม่โดนเอาเปรียบ
ใครๆ ก็อยากให้คนอื่นใจดีด้วย เพราะความใจดีที่เรามีให้คนอื่น ความใจดีที่เรามีให้ตัวเอง และความใจดีที่เรามีให้กันและกัน เป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้คนเรารู้สึกว่าโลกมันไม่โดดเดี่ยว แล้วในมุมของจิตวิทยาความใจดีนั้นสำคัญอย่างไร?
“ถ้าถามว่า ความใจดีช่วยอะไรเราบ้าง หนึ่งก็คือถ้าเราพูดแบบทั่วไป แบบที่เราไม่ได้มีปัญหาในชีวิต คุณสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนได้ ใครๆ ก็ชอบคนใจดี ไม่มีใครชอบคนขี้ด่า คนเห็นแก่ตัว สองคือเราพูดในมุมที่เราเริ่มมีปัญหาละ เวลาที่เรามีปัญหา ใครๆ ก็ต้องการคนช่วยเหลือ ใครๆ ก็ต้องการคนเข้าใจ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรามีความใจดี แล้วเรามอบความใจดีให้แก่กัน มันทำให้ Relationship (ความสัมพันธ์) เราดี แล้วมันทำให้สุขภาวะเราดี
เราเคยเขียนบทความลงใน potential ชื่อว่า PERMA (ระบุที่มาของความสุขและทุกข์ด้วยหลัก PERMA และจงวาดวงกลมความทุกข์ให้เต็มกระดาษเอสี่!) มันเป็นสุขภาวะที่ทำให้คนเรามีความสุข มันมีด้วยกันอยู่ 5 ตัว P E R M A หนึ่งองค์ประกอบนั้นคือตัว R – Relationship ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งการที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อมีปัญหาแน่นอนว่ายังมีคนที่คอยช่วยเหลือเราเสมอ”
และเพื่อไม่ให้เสียสมดุล เราจำเป็นต้องบาลานซ์ความใจดีของเราให้ได้ เพราะอะไรที่มากเกินไปย่อมมีผลเสีย ซึ่งสิ่งที่ควรระวังของความใจดี คือการใจดีแบบที่ตัวเราไม่รู้สึกแย่ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากความใจดีของเรา
“สุดท้ายแล้ว เราจะต้องมาดูว่า สิ่งไหนที่เราทำได้ โดยที่เราไม่ได้เปลี่ยนตัวเองไปทั้งหมด อันนี้คือความสำคัญว่า เราเป็นคนใจดีแบบที่เราเป็นได้ หรือถ้าวันนี้เรารู้สึกไม่ไหว เราจะตอบปฏิเสธอย่าง assertive (กล้าแสดงออก) เขายังไง เข้าใจนะ แต่ว่า…เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราก็ต้องใจดีกับตัวเอง ถ้าวันนี้เรารู้สึกไม่ไหว เราจะมีการปฏิเสธเพื่อนยังไงให้เพื่อนก็ไม่เสียความรู้สึก แล้วเราก็ไม่ต้องยอมเพื่อคนอื่นขนาดนั้น”
Step by Step เริ่มต้นที่ตัวเรา
สภาพแวดล้อม หรือสังคมรอบข้างที่เอื้อต่อคาแรกเตอร์ความใจดีนั้นก็สำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่การสอน ว่าเราสอนให้เด็กได้แสดงความใจดีไหม
“เด็กทุกคนมีคาแรกเตอร์นี้ แต่สิ่งสำคัญคือสังคมให้โอกาสเขาในการแสดงออกมาหรือเปล่า อย่างบางทีเด็กมาช่วยแล้วเราบอกไม่ต้องทำเลย ทำแล้ววุ่นวายมากขึ้น กลายเป็นว่าเด็กจะเรียนรู้เลยนะ ว่าคุณไม่ชอบ ซึ่งสิ่งนี้มันก็เป็นไปตามหลักการเสริมแรง ว่าสิ่งที่เราตอบสนอง แสดงกลับไปต่อพฤติกรรมของเด็กนั้น เสริมแรงให้เด็กอยากใจดีหรือไม่ เช่น เด็กมาช่วย แล้วเราขอบคุณ มันเป็นการเสริมแรงให้เขาอยากทำต่อ แต่ถ้าเด็กมาช่วยแล้วเขาทำได้ไม่ดี และคุณไปดุเขา เขาจะรู้สึกว่างั้นไม่ช่วยละกัน เพราะการโดนดุทำให้เขาเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ดีใช่ไหม มันคือการไม่เสริมแรงให้อยากทำ หรือลดการช่วยเหลือลง กลายเป็นว่าคุณทำให้เขาไม่เกิดความใจดี ดังนั้นสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญ เพราะมีทั้งส่งเสริมและไม่ส่งเสริม”
สำหรับคนที่อาจยังค้นหาความใจดีทั้งหมดที่พูดมาไม่เจอ ในฐานะนักจิตวิทยา นีทแนะนำว่า เริ่มจากเราเข้าใจความรู้สึกตัวเองให้ได้ก่อน
“เราทุกคนมีความใจดี เริ่มต้นง่ายๆ คือเข้าใจความรู้สึกทั้งตัวเองและเพื่อนก่อน ว่าเขารู้สึกยังไง? เราพอจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง? แล้วลองแอ็กชั่นดูแบบสั้นๆ อาจจะเริ่มง่ายๆ ก่อนก็ได้ อย่างนั่งบีทีเอสเห็นคนชราเราลุกให้เขานั่ง นี่ก็คือความใจดีที่เราแสดงออกมา จริงๆ ความใจดีไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ทำได้จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเอาที่เราไม่เดือนร้อนด้วยนะ”
สุดท้ายนี้นีทสรุปสั้นๆ ว่า “ความใจดีมันทำให้เรามีความสุขมากขึ้นด้วย เพราะเรารู้สึกว่ามีคนใจดีกับเรา โลกมันไม่ได้โหดร้ายกับเรามากเกินไป สิ่งๆ นี้คือสิ่งสำคัญที่เราว่ามันเพียงพอและมันจำเป็นสำหรับทุกคนในตอนนี้ เพราะในโลกที่ใจร้ายก็ยังมีคนใจดี มันก็อาจจะดูโลกสวยแหละ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่อยากจะบอกทุกคน”
แค่เราใจดีกับตัวเองก่อน เราก็เพิ่มคนใจดีให้กับสังคมได้แล้วหนึ่งคน อย่าละเลยความใจดีกับตัวเองไปเลยนะ ในวันแย่ๆ ปลอบตัวเองก่อนว่า “แกไม่เป็นไรนะ” แล้วค่อยๆ หาทางออกให้กับปัญหาดีไหม
- คุณ ผม และผู้คนที่สวนกันบนรถไฟสายฮังคิว คือนิยายขนาดกะทัดรัด ที่ร้อยเรียงเรื่องราวอันอบอุ่นหัวใจ ที่เกิดขึ้นบนรถไฟธรรมดาๆ ขบวนหนึ่ง โดยแต่ละบทในเรื่อง คือหนึ่งสถานีที่เป็นจุดหมายของรถไฟขบวนนี้
- นิยายเรื่องนี้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘การพบเจอ’ บางครั้งก็ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป เหมือนกับเป็นแค่ความบังเอิญทั่วๆ ไป ทว่าบางครั้งความบังเอิญ ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เกิด ‘การพบเจอ’ เหล่านี้
- รถไฟบางขบวนอาจจะสนุก มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและผู้คนที่น่าคบหา บางขบวนก็อาจจะแออัดและเต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่แยแสเรา แต่อย่างไรในท้ายที่สุด รถไฟก็จะแล่นไปจนถึงสถานีสุดท้าย
ผมรู้จักเว็บไซต์แปลกๆ เว็บไซต์หนึ่งที่มีชื่อว่า The Dictionary of Obscure Sorrows แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า พจนานุกรมแห่งความเศร้าเร้นลับ คำศัพท์ทุกคำที่ถูกรวบรวมเอาไว้ในพจนานุกรมดิจิทัลเล่มนี้นั้นเป็นคำศัพท์ที่ไม่มีอยู่จริง และเป็นคำศัพท์ที่เฉพาะเจาะจงมากๆ จนแทบไม่มีโอกาสได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
หนึ่งในคำศัพท์เหล่านั้นคือคำว่า sonder ซึ่งมีนิยามยืดยาวอยู่ว่า “การตระหนักรู้ว่าคนทุกคนที่เดินสวนกับคุณนั้น มีชีวิตอันหลากสีสันและสลับซับซ้อนไม่แพ้ชีวิตของคุณเอง พวกเขาทุกคนมีเพื่อน เพื่อนของเพื่อน ครอบครัว ความฝัน ความวิตกกังวล และความเร้นลับเป็นของตัวเอง ทุกๆ คนที่เดินผ่านคุณไปบนถนน ล้วนเป็นตัวเอกในเรื่องราวของพวกเขา เส้นทางสู้ชีวิตอันนับไม่ถ้วนปรากฏออกมาในทุกๆ วินาทีและดับหายไปในชั่วครู่ อาจเป็นใครบางคนที่นั่งดื่มกาแฟอยู่ในฉากหลัง เป็นไฟหน้ารถที่สว่างวาบเพียงครู่เดียว หรือเป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่เปิดไฟค้างไว้ในช่วงพลบค่ำ”
ผมเชื่อว่า ความรู้สึกเช่นนี้คงจะเคยเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างน้อยก็สักครั้งสองครั้ง มันอาจทำให้คุณรู้สึกเศร้าอย่างบอกไม่ถูก หรือไม่ก็ทำให้คุณรู้สึกทึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณอยู่เสมอ สำหรับผม ความคิดเช่นนี้มักเกิดขึ้นในตอนที่ผมอยู่ในที่ที่คับคั่งและไม่มีอะไรทำนอกจากนั่งรอ ฟังเพลง เล่นโทรศัพท์ หรือจ้องมองผู้คนที่ผ่านไปผ่านมารอบๆ ตัว และส่วนมากผมจะมีโอกาสได้ทำเช่นนั้นเมื่ออยู่บนรถไฟขบวนใดขบวนหนึ่ง
คุณ ผม และผู้คนที่สวนกันบนรถไฟสายฮังคิว คือนิยายขนาดกะทัดรัด ที่แปลงความรู้สึกเช่นนี้ออกมาในรูปแบบตัวอักษรได้ดีเยี่ยม แต่ละเหตุการณ์ร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราวอันอบอุ่นหัวใจที่เกิดขึ้นบนรถไฟธรรมดาๆ ขบวนหนึ่ง
ขบวนรถไฟสายฮังคิว เริ่มวิ่งจากสถานีทาคาระซึกะ และสิ้นสุดสายที่สถานีนิชิโนะมิยะคิตะงุจิ มันวิ่งรับส่งผู้โดยสารทุกวันอย่างไม่รู้เหนื่อย มันจะเทียบชานชาลาอย่างนุ่มนวล เปิดประตูของมันออก รับผู้โดยสารนับร้อยคนเข้าไป ปิดประตู และเคลื่อนตัวสู่สถานีต่อไปด้วยความแม่นยำและตรงต่อเวลา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวี่ทุกวัน เป็นหน้าที่ของเครื่องจักรโดยแท้จริง
แต่ถึงอย่างนั้น รถไฟขบวนนี้ (และทุกขบวน) ก็ไม่ได้ไร้ชีวิตจิตใจ เพราะขบวนรถไฟคือสิ่งที่โอบรับผู้คนมากมายและเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้ในจุดเดียวกัน สักวันหนึ่ง สักช่วงเวลาหนึ่ง เรื่องราวพวกนั้นจะเกี่ยวพันกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
คู่หนุ่มสาวหนอนหนังสือที่พบกันอย่างไม่คาดคิด
หญิงสาวในชุดเจ้าสาวที่ไม่ใช่เจ้าสาว
หญิงชรามากประสบการณ์ชีวิตกับหลานสาว
แฟนสาวที่กำลังทะเลาะกับหนุ่มหัวร้อนอารมณ์เดือด
เด็กสาวมัธยมปลายที่คบหากับหนุ่มซื่อบื้อ
นักศึกษาบ้านนอกสองคนที่กำลังคุยเรื่องเฮลิคอปเตอร์
เหล่าแม่บ้านชั้นสูงที่ส่งเสียงดังรบกวนผู้โดยสาร
เหล่าผู้คนแปลกหน้าที่ร่วมใจกันมาอยู่บนรถไฟแคบๆ สังเกตเห็นกันและกัน พูดคุยกัน กระทบกระทั่งกัน ตกหลุมรักกัน หรือบางคราวก็แค่เดินผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นพิเศษ
เรื่องราวของพวกเขาดำเนินต่อไปในทุกๆ สถานี บางคราวเรื่องราวหนึ่งจบลงเพื่อให้อีกเรื่องหนึ่งเริ่มขึ้น บางคราวเรื่องราวสองเรื่องดำเนินไปพร้อมๆ กัน และบางคราวเรื่องราวของพวกเขาก็สวนทางกัน เกี่ยวพันกันเป็นเส้นสายของความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
คุณจะอยากหยิบนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หากคุณต้องการสัมผัสถึงเศษเสี้ยวเล็กๆ ในชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตา ค้นหากำลังใจในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ปลอบประโลมหัวใจจากการจากลา หรือแค่ต้องการนั่งบนรถไฟและชมวิวจากหน้าต่าง ค่อยๆ รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่แผ่ขยายออกเหมือนระลอกน้ำเล็กๆ
นิยายขนาดกะทัดรัดอีกเรื่องหนึ่งที่ดำเนินเนื้อเรื่องในสไตล์คล้ายๆ กันคือ เสี้ยวชีวา คีตา ราตรี ของ อิซากะ โคทาโร่ (ยังคงเป็นนิยายที่มีชื่อเรื่องเท่ที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา)
ทั้งสองเรื่องนี้มีจุดร่วมคือความกระชับของเนื้อเรื่อง ตัวละครที่หลากหลาย และชั้นเชิงการเขียนที่อธิบายได้ว่าคล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction หากคุณเอาความรุนแรงเลือดสาดออกและแทนที่ด้วยความรู้สึกนุ่มฟูอบอุ่นหัวใจ
นิยายเรื่องนี้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘การพบเจอ’ มันคือเหตุการณ์ที่บางครั้งก็คลุมเครือ บางครั้งก็ดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป เหมือนกับเป็นแค่ความบังเอิญทั่วๆ ไป ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ต่างจากที่ผู้คนบังเอิญชนกันระหว่างที่เดินสวนกันบนขบวนรถไฟ ทว่าบางครั้งความบังเอิญก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เกิด ‘การพบเจอ’ เหล่านี้
ในบทแรกของนิยายเรื่องนี้ พนักงานบริษัทเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ทำให้เขารู้จักกับภรรยา มันเป็นเหตุการณ์ที่ดูเชย จนเหมือนเป็นฉากที่หลุดออกมาจากละคร ภรรยาของเขาบังเอิญทำกระเป๋าสตางค์ตกบนถนนและเขาก็เป็นคนหยิบไปคืนให้เธอ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์
เช่นเดียวกัน หนุ่มหนอนหนังสือที่โดยสารบนรถไฟสายฮังคิวก็ได้สนทนากับแฟนสาวในอนาคตของเขาเป็นครั้งแรกเมื่อเธอนั่งลงข้างๆ เขาและชวนคุยเรื่องทิวทัศน์ด้านนอกหน้าต่าง
“โชคดีจังเนอะที่เกิดเรื่องบังเอิญแบบนั้น” ชายหนุ่มผู้บังเอิญพบรักทั้งสองคนพูดเช่นนั้น
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ภรรยาที่ทำกระเป๋าสตางต์หล่นนั้นจริงๆ แล้วเธอตั้งใจทำหล่นเพราะอยากรู้ว่าชายที่เป็นสามีในอนาคตของเธอจะสังเกตเห็นรึเปล่า และหญิงสาวบนรถไฟสายฮังคิวก็ตั้งใจเลือกที่นั่งตรงนั้นเพราะเธอรู้สึกถูกชะตากับชายหนุ่มตั้งแต่ที่เห็นเขาในห้องสมุด
มันอาจจะดูเหมือนเหตุการณ์ที่ไม่สลักสำคัญ เราอาจจะไม่รู้ตัวตั้งแต่วินาทีแรกที่มันเกิดขึ้น แต่พอลองมองกลับมา ก็สามารถหัวเราะและพูดได้ว่า “จริงๆ แล้วเหตุการณ์นั้นคือการพบเจอนี่นา”
เนื้อเรื่องใน คุณ ผม และผู้คนที่สวนกันบนรถไฟสายฮังคิว นั้นถูกแบ่งออกเป็นบทๆ แต่ละบทคือหนึ่งสถานีที่เป็นจุดหมายของรถไฟขบวนนี้ เมื่อเดินทางมาถึงสถานีสุดท้าย เราก็ได้เห็นจุดเริ่มต้นที่เป็นเหมือนประกายไฟแห่งความสัมพันธ์ของผู้คนมากมายหลายคู่มาแล้ว แต่ว่านั่นก็เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของนิยายเล่มนี้
เพราะว่ารถไฟยังต้องวิ่งย้อนกลับอีกหนึ่งครั้ง จากสถานีนิชิโนะมิยะคิตะงุจิ วิ่งย้อนกลับมาจนถึงสถานีทาคาระซึกะ เหตุการณ์เล็กๆ ที่ถูกเกริ่นเอาไว้ในครึ่งแรกแผ่ขยายออกเป็นเรื่องราวชีวิตของตัวละครเหล่านั้น ความรู้สึกของพวกเขา การตัดสินใจ และการเริ่มต้นเรื่องราวใหม่ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า
คู่หนุ่มสาวหนอนหนังสือที่กำลังพัฒนาความสัมพันธ์
หญิงสาวที่เพิ่งทิ้งชุดเดรสสีขาวไปพร้อมกับอดีตของเธอ
หญิงชรามากประสบการณ์ชีวิตกับหลานสาวและสุนัข
หญิงสาวที่กำลังจะตัดความสัมพันธ์กับชายหนุ่ม
เด็กสาวมัธยมปลายกับการสอบเข้ามหาลัย
คู่รักบ้านนอกที่ไร้ประสบการณ์ด้านความรัก
หญิงวัยกลางคนที่อยู่ในกลุ่มแม่บ้านชั้นสูงอย่างไม่เต็มใจนัก
ถึงแม้บนปกของนิยายเล่มนี้จะเขียนเอาไว้ว่า ทันทีที่รถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานี เรื่องราวต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้น… แต่ในความเป็นจริงเรื่องราวต่างๆ เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ผู้คนจะก้าวเท้าเข้ามาบนขบวนรถไฟ และเรื่องราวของพวกเขาจะยังดำเนินต่อไปหลังจากที่รถไฟหยุดเทียบชานชาลา ยากที่จะบอกได้ว่าแท้จริงแล้วหนึ่งเหตุการณ์เป็นจุดจบหรือจุดเริ่มต้นกันแน่ บางทีอาจจะเป็นทั้งสองอย่างเลยก็ได้
วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือวันที่โรงเรียนของผมจัดงานปัจฉิมนิเทศให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามและหก ผมเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่กำลังจะจบออกไปและเตรียมตัวเข้าสู้รั้วมหาลัย
เป็นเรื่องบังเอิญอย่างเหมาะเจาะที่ผมเลือกหยิบนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่านในช่วงเวลาที่เรียกได้ว่ากำลังจะลงจากรถไฟขบวนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ชีวิตมัธยม’ มันทำให้ผมตระหนักได้อีกครั้งถึงเรื่องที่ธรรมดาสามัญมากๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่น้อยคนจะตระหนักถึงก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวอย่างผม
ชีวิตเป็นเรื่องยากและน่าปวดหัว ผู้คนจึงชอบอธิบายมันด้วยการใช้อุปลักษณ์ อย่าง Life is a rollercoaster ที่สื่อว่าชีวิตก็คือรถไฟเหาะ มีขึ้นก็ย่อมมีลงเป็นเรื่องธรรมดา บางช่วงอาจจะสนุกสุดเหวี่ยง แต่บางช่วงก็คงจะน่ากลัวไม่แพ้กัน มันก็คงจะเป็นเรื่องจริงนั่นแหละ
แต่หากเรามองในภาพรวม บางครั้ง Life is also a train ชีวิตอาจเป็นรถไฟยาวเหยียดหลายขบวนที่แล่นผ่านกัน สวนทางกัน และเฉียดกัน ไม่มีที่ใดเป็นจุดหมายปลายทางจริงๆ เราเพียงแค่ก้าวขึ้นไปบนรถไฟขบวนหนึ่ง จากสถานีใดสถานีหนึ่ง เราอาจจะอยู่บนรถไฟขบวนนั้นแค่ชั่วครู่เดียว หรืออาจจะอยู่ไปจนสุดสายเลยก็ได้ จากนั้นเราก็จะเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟขบวนอื่น เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ผู้คนส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นนั้นจะก้าวออกจากรถไฟโดยไม่พูดอะไรกับเราเลยแม้แต่คำเดียว แต่บางครั้งบางคราวเราก็อาจจะเก็บกระเป๋าสตางค์ที่ใครบางคนทำหล่นไว้ (หรือแกล้งทำหล่นไว้)
รถไฟบางขบวนอาจจะสนุก มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและผู้คนที่น่าคบหา บางขบวนก็อาจจะแออัดและเต็มไปด้วยผู้คนที่ไม่แยแสเรา แต่อย่างไรในท้ายที่สุด รถไฟก็จะแล่นไปจนถึงสถานีสุดท้าย มันจะเกิดขึ้นก่อนที่เราจะรู้ตัวเสียอีก
แน่นอนว่าเรารู้อยู่แล้วตั้งแต่ก้าวขึ้นมาว่าเราจะต้องลงสถานีใดสถานีหนึ่ง แต่มันก็ยากที่จะประเมินว่าระยะทางนั้นใกล้ไกลแค่ไหน มีเพื่อนและคนรู้จักของผมไม่น้อยเลย ที่อยู่ๆ ก็ร้องไห้ออกมาในวันปัจฉิมหรือหลังจากสอบปลายภาค ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นพวกเขาชอบบ่นว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบสักที
โปรดระวังขณะก้าวออกจากรถ คุณอาจจะสะดุดล้มเพราะลังเลเมื่อประตูรถไฟเปิดออก หรือรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับผู้โดยสารที่จะแยกย้ายไปยังสถานีอื่นๆ แต่ก็อย่าปล่อยให้มันทำให้คุณไม่กล้าก้าวขึ้นไปบนรถไฟขบวนใหม่ๆ
หากจะพอเป็นการปลอบประโลมใครก็ตามที่หวาดกลัวการจากลา ก็ขอให้รู้ไว้ว่ารถไฟทุกขบวนนั้นเชื่อมต่อถึงกันและกันอยู่เสมอ จริงอยู่ที่เหล่าผู้โดยสารจะไม่มีวันมาอยู่พร้อมหน้ากันบนรถไฟขบวนเดียวกันและในเวลาเดียวกันอีกเป็นครั้งที่สอง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นไปแล้วครั้งหนึ่งจะกลายมาเป็นเหตุอันไม่บังเอิญซึ่งก่อให้เกิด ‘การพบเจอ’ ครั้งใหม่ๆ อีกนับไม่ถ้วน
อย่าจ้องมองขบวนรถไฟที่จากไปแล้วนานนัก เพราะรถไฟขบวนใหม่กำลังเคลื่อนตัวเทียบชานชาลาอยู่เบื้องหน้าคุณ