- การเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กเป็นเจ้าของ โดยใช้ 3 นวัตกรรม ที่มีต้นแบบจากมูลนิธิลำปลายมาศ คือ จิตศึกษา เพื่อพัฒนาปัญญาภายใน, PBL (Project-based learning) ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นชุมชน และ ภาษาไทยวรรณกรรมเพื่อการคิดขั้นสูง
- คุยกับ ครูพรสวรรค์ ศิริวัฒน์ ครูวัยเกษียณผู้รักการสอน เปลี่ยนมายเซ็ตจากสอนแบบท่องจำ เข้มงวด สู่การสร้างคุณค่าให้เด็ก และให้เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้
- ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เด็กๆ มีทักษะ EF มีสมรรถนะ 6 ด้าน ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ครูยังมี Growth Mindset เป็นนักเรียนรู้ และเป็นครูโค้ช รวมถึงมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน
“เราอยากให้เด็กคนนี้ออกแสงเป็นอะไร อยากให้เป็นซูเปอร์แมนใช่ไหม องค์ประกอบของซูเปอร์แมนมีอะไรบ้าง หลักสูตรนี้บอกให้เราได้ฟูมฟัก ให้เราได้พาเขาไป ด้วยตัวของเขาเอง 70 เปอร์เซ็นต์ เราแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ออกแสงเป็นซูเปอร์แมนตามที่เขาฝัน และเราอยากให้เป็นไป นี่คือหลักสูตรฐานสมรรถนะ”
26 ปี ในการทำงานที่โรงเรียนแห่งนี้ของ ครูพรสวรรค์ ศิริวัฒน์ ในวัย 61 ปี ผู้ที่ผ่านทั้งการใช้หลักสูตรแกนกลาง 51 ในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ มาจนถึงวันนี้ที่ โรงเรียนบ้านโชคนาสาม ได้เข้าร่วม ‘โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ (TSQP) เครือข่ายสนับสนุนและพัฒนาการใช้นวัตกรรม มูลนิธิลำปลายมาศ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 ของการเข้าร่วมโครงการ นอกจากความรู้และทักษะต่างๆ ที่เด็กได้รับแล้ว ครูเองก็ได้รับพลังงานที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองด้วย
The Potential พาทุกคนไปเยี่ยมชมโรงเรียนต้นแบบที่ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เน้นการเรียนรู้ที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผ่านกิจกรรมจิตศึกษาและ PBL (Project-based learning) กับ ‘ครูพรสวรรค์’ ครูวัยเกษียณผู้รักการสอน ที่ โรงเรียนบ้านโชคนาสาม โรงเรียนเล็กๆ กลางชุมชน อยู่ในตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีนักเรียนเพียง 300 กว่าคน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปดูกันว่าการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นเจ้าของนั้นดีอย่างไร
เจ้าของการเรียนรู้ตัวจริงคือ ‘เด็ก’
สำหรับการเรียนรู้ที่ครูและผู้บริหารของโรงเรียนแห่งนี้ตั้งใจออกแบบให้กับผู้เรียนนั้น เน้นให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ โดยใช้ 3 นวัตกรรม ที่มีต้นแบบจากมูลนิธิลำปลายมาศ คือ จิตศึกษา เพื่อพัฒนาปัญญาภายใน, PBL (Project-based learning) ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นชุมชน และ ภาษาไทยวรรณกรรมเพื่อการคิดขั้นสูง โดยครูพรสวรรค์ได้ยกตัวอย่างสองกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐานและเด็กๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ของเขาเอง นั่นคือ กิจกรรมซรอวเซราะยืง (ข้าวบ้านเรา) และ กิจกรรมปลูกผักไฮโดรโมปีนา (ผักไฮโดรโปนิกส์มาจากไหน?)
แต่ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ผ่าน PBL ครูพรสวรรค์ชวนทุกคนทำกิจกรรมที่ต้องทำเป็นประจำทุกเช้าก่อนเริ่มเรียนวิชาแรกของวัน โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที นั่นก็คือ ‘จิตศึกษา’ เริ่มจากการนั่งล้อมวงเป็นวงรี เพื่อให้มองเห็นหน้าค่าตากันได้ทุกคน จากนั้นค่อยๆ หลับตา ทำสมาธิสักครู่หนึ่ง แล้วก็ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องด้วยการหยิบยกเรื่องราวจากสื่อโฆษณาบ้าง จากเรื่องเล่าในหนังสือบ้าง หรือแม้แต่เรื่องราวในชีวิตของแต่ละคน มาพูดคุยสะท้อนคิดกันในวง
“จิตศึกษาเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กเกิดการจดจ่อ แล้วสำหรับครูมันเป็นกิจกรรมสำหรับเยียวยา ลูกมาจากบ้าน ไม่รู้เจออะไรบ้าง แต่เมื่อเขาก้าวเข้ามาโรงเรียน สิ่งที่เราอยากตรวจสอบเขาคือสภาวะจิต เพื่อให้เขาได้เรียนในวิชาพื้นฐานอย่างมีความสุข ก็ต้องทำกิจกรรมจิตศึกษาให้เขาได้ผ่อนคลาย ให้เขาได้ระบาย ให้เขาได้พูด เหมือนเขาได้ทบทวนตัวเอง แล้วใจเขาก็สบายพร้อมที่จะไปเรียน”
นอกจากนี้ก็มีการทำ Brain Gym หรือกิจกรรมการบริหารสมอง โดยใช้มือในการเคลื่อนไหว เป็นการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกให้ทำงานได้ดีขึ้น และเพื่อเรียกเด็กให้จดจ่ออยู่กับการทำกิจกรรมตรงหน้า เช่น การนับเลข
ครูพรสวรรค์ย้ำถึงการทำจิตศึกษาว่า ครูต้องปรับมายเซ็ตตัวเอง ต้องให้เวลาและอาศัยความอดทนในการฟังด้วย เพราะเมื่อเปิดโอกาสให้เด็กพูด เด็กย่อมอยากพูด ซึ่งครูก็ต้องพร้อมเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย รวมถึงต้องหมั่นสังเกตเด็กและกวาดสายตามองเด็กทุกคน
“เราต้องฝึกเขาไปเรื่อยๆ ให้เวลาเขา และอดทนฟังเขาทุกวันๆ เพราะเราให้เขาพูด เขาก็อยากพูด แล้วเราก็ต้องฟังเขาด้วย พอฟังแล้วก็ต้องฟังให้ได้ว่า เขาพูดเรื่องอะไร เราต้องโต้ตอบกับเขาได้ แล้วก็ได้เถียงกันบ้าง แต่เป็นการเถียงกันด้วยเหตุและผล
บางครั้งเขาดื้อครูก็ต้องดุ แต่ครูจะบอกเขาว่า ทำไมต้องดุ ดุเพราะอะไร ต้องมีตึงมีหย่อน ที่สำคัญคือต้องซื่อสัตย์กับเขา แล้วเขาจะซื่อสัตย์ตอบ”
“อย่างเรื่องกฎระเบียบ เด็กบางคนก็ผมยาว บางคนก็ผมสั้น ที่นี่ไม่มีกฎห้ามไว้ผมยาว เราขอสะอาดพอ เด็กบางคนเขาบอกครูผมสั้นมันไม่หล่อ เราก็ขอพบกันครึ่งทาง ขอสะอาด ถ้าผมยาวต้องมัดรวบให้เรียบร้อย เด็กผู้ชายแต่ก่อนเราก็บ่นว่าทำไมถึงรุงรังแบบนี้ เขาก็บอก ครูผมไปเกี่ยวข้าวมา เอาเวลาที่ไหนตัดผม เราก็เข้าใจ มาเรียนก็ดีละ แต่ก่อนยืนดุเลย หลังๆ มาเราก็บอกเขาว่า ครูเป็นห่วง ทำไมมาสาย เป็นอะไรรึเปล่า ก็เปลี่ยนคำพูด…”
ส่วนกิจกรรมที่บูรณาการ PBL จะออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นชุมชน โดยครูร่วมกันระดมความคิดเพื่อให้กิจกรรมนั้นๆ สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง และเน้นออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็น Active Learning เพื่อพัฒนาปัญญาภายนอก ส่งเสริมสุขภาวะนักเรียนผ่านโครงงาน และ PLC ในการจัดการเรียนรู้
สำหรับกิจกรรมแรกที่เข้ากับบรรยากาศช่วงเก็บเกี่ยวข้าวของคนในชุมชนก็คือ กิจกรรม ‘ซรอวเซราะยืง’ เป็นภาษาเขมรแปลว่า ‘ข้าวบ้านเรา’ ครูพรสวรรค์อธิบายว่าเป็นกิจกรรม PBL คือการใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ โดยครูจะเป็นผู้วางแผนแค่ช่วงตั้น ว่ามีความรู้พื้นฐานหรือ K (knowledge) ใดบ้างที่เด็กๆ จะได้รับจากกิจกรรมนี้ รวมถึงสามารถบูรณาการเข้ากับวิชาใดได้บ้าง
“ถ้าเรียนแล้วต้องเตรียม K อะไรบ้าง ครูจะใช้คำว่า K0 ก็คือ K พื้นฐาน คือเมื่อทำนาก็ต้องรู้ว่าวิธีการทำนา เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่หลังจากนั้นเด็กนักเรียนจะเกิดการค้นพบด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติ เช่น เขาทำนาเขาไปเจออะไรบ้าง ครูมีหน้าที่แค่ชง สมมติว่าเขาเจอปัญหา “ครูผมลงไถไม่ได้” ครูก็จะถามเขาว่า “แล้วถ้าลงไถไม่ได้เป็นเพราะอะไร ไถแล้วติด เราต้องทำยังไงลูก” ครูแค่โยนคำถาม เขาก็จะหาวิธีการด้วยตัวของเขาเอง ครูต้องไม่บอกว่ามันผิดหรือมันถูก ครูต้องพูดคำว่า “ได้” มันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ เขาก็จะค้นพบ
“ครูทำแบบนี้ได้ไหม…” ครูก็จะบอกว่า “ลองดูสิลูก ครูลองไปแล้วถ้ามันไม่ได้ละ ไม่ได้เราก็ลองใหม่” เขาก็จะทำจนสำเร็จ คือถึงขั้นไปน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ ก็คือพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิง ไม่ว่าจะเป็นโคกหนองนา ทำจากพื้นที่เล็กๆ อันนี้ก็คือเด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง”
ซึ่งกิจกรรมนี้ครูพรสวรรค์เสริมว่า ผลผลิตที่ได้จากการทำนาข้าวนั้น เด็กๆ นำมาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีก นั่นคือ การทำข้าวหอมมะลิแดงมาทำบราวนี่ รวมถึงขนมพื้นบ้านอย่างขนมนางเล็ด ซึ่งนี่คือความคิดของเด็กๆ ทั้งนั้น
ส่วน ‘ไฮโดร โมปีนา’ หรือถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘ผักไฮโดรโปรนิกส์มาจากไหน’ เป็นการเรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ว่ามีที่มาที่ไปจากไหน แล้วปลูกอย่างไร พื้นที่แห่งนี้จะสามารถปลูกได้หรือไม่ เป็นกึ่งๆ การทดลองวิทยาศาสตร์
“ไฮโดร โมปีนา คือเรามีปัญหาเรื่องพื้นที่เหมือนแห้งแล้ง ปลูกผักไม่ค่อยขึ้น เอ๊ะ…มันมีวิธีการไหนนะที่เราสามารถปลูกผักกินเองได้ แล้วก็เกิดการเรียนรู้ด้วย เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนชีววิทยาในตัวด้วย เรียนเรื่องระบบนิเวศ เขาก็ค้นแล้วมาหารือกันในวง PLC แล้วก็พบว่า ครูต้องทำเรื่องผัก ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แต่ก็ไม่ได้เป็นไฮโดรแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราปลูกผักโดยเอาวัสดุเหลือใช้มาปลูก แล้วเด็กๆ เขาก็เสนอว่า เราไม่ต้องใช้ปุ๋ยได้ไหมครู มันสกปรก ครูก็ถามเขาว่า สกปรกตรงไหนลูกอธิบายมา ก็เลยเกิดการทดลอง ปลูกผักไฮโดรฯ มีทั้งที่เป็นไฮโดรเปลือย คือปลูกกลางแจ้ง แล้วมีที่เป็นกรีนโดม หรือที่เป็นแขวน อันนี้คือเขาเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วบางคนเขาก็นำไปทำเป็นธุรกิจของเขาเองที่บ้านค่ะ”
ผลลัพธ์การเรียนรู้ เด็กกล้าตั้งคำถาม กล้าลงมือทำ
เมื่อมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ สิ่งที่หลายคนน่าจะอยากรู้ และเป็นสิ่งที่ครูและโรงเรียนเองก็คาดหวังไว้นั่นก็คือ ผลลัพธ์ที่ได้ ครูพรสวรรค์อธิบายว่า สำหรับโรงเรียนบ้านโชคนาสาม ในส่วนของกิจกรรมจิตศึกษา ช่วยเสริมสร้างทักษะการคิด และเป็นการตรวจเช็คสุขภาพจิตของเด็กๆ ไปในตัว
“อย่างแรกเลยคือเรื่องจิตใจ ให้คิดบวก มองโลกในแง่ดี อย่างที่สอง มีกระบวนการคิด เพราะในกิจกรรมจิตศึกษา เราจะมี ชง เชื่อม ใช้ โดยการใช้คำถามกระตุ้นให้เขาได้พูดขึ้นมา และเราจะมีสื่อ มีนิทาน มีบทความ อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญ ให้เขาได้สะท้อน แต่ปกติครูจะใช้วรรณกรรม แล้วก็มีเรื่องของ Stop Bullying มาจนถึง IQ EQ ดี”
เห็นอย่างนี้แล้ว สิ่งที่อยากรู้ตามมาคือ ครูสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองยังไง? ครูพรสวรรค์ตอบทันทีว่า ครูใช้วิธีการประชุม และการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน
“ที่นี่คือ เยี่ยมทุกกรณี มีเหตุอันต้องไปเยี่ยมคือเยี่ยม ไม่ได้เยี่ยมเป็นเทศกาล สมมติเราไปขึ้นบ้านใหม่หรืองานกฐิน หรืองานอะไรก็ตามที่เราได้พบกับผู้ปกครองเราก็พูดเลย พูดคุยกัน สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เล่าให้ฟัง แล้วก็เชิญมาประชุมร่วมกับเรา มาพูดคุยกัน ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาคุยแต่เรื่องปัญหา คุยเรื่องอื่นๆ ก็มาคุย เรื่องที่เราอยากแจ้งให้ทราบ แล้วก็กลุ่มไลน์เป็นหลัก”
ทั้งนี้ กว่าที่เด็กๆ โรงเรียนบ้านโชคนาสาม จะมีความกล้ามากขึ้น ไม่ว่าจะกล้าคิด กล้าถาม กล้าแสดงความเห็น กล้าลงมือทำนั้น ครูพรสวรรค์บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของครูโรงเรียนแห่งนี้ โดยเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจ หรือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กัน
“อย่างแรกที่เราต้องมี คือความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนต้องใกล้กันก่อน ต้องมีสัมพันธภาพที่ดี เด็กต้องเข้าใจว่า ทุกๆ การทำกิจกรรมของเขา ไม่มีการฟันธงว่ามันผิดหรือมันถูก เขาก็เกิดความไว้วางใจ เพราะเราไว้วางใจเขาก่อน
หลังจากนั้นเราก็พัฒนาเขาโดยการ ‘ชง เชื่อม ใช้’ สร้างแรงบันดาลใจ ทำเลยลูก ครูเชียร์อย่างเดียว เขาก็จะเกิดความมั่นใจ คือทุกอย่างที่ลูกพูดหรือทุกอย่างที่ลูกทำมันไม่มีผิด แต่จะดีกว่านี้อีกนิด ถ้าลูกเติมสิ่งนี้เข้าไป เราค่อยๆ เติมเต็มให้เขา
การจะทำให้เด็กเกิดการยอมรับทั้งตัวเองและผู้อื่น เด็กต้องเชื่อมั่น เหมือนตอนนี้ที่เขากำลังทำขนมถ้วย ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วเขาทำได้เลยนะ หลายครั้งมากเลย ครูอันนี้มันเละมาเลย อันนี้ไม่ได้ แล้วยังไงลูก ลองเอาเพิ่มแป้งไหมคะครู ลองเลยลูก จริงๆ เรามีคำตอบอยู่แล้วเพราะเรามีประสบการณ์ แต่เราจะยังไม่บอก ให้เขาลองทำดูก่อน หรือตอนที่ไอน้ำจากฝาหม้อนึ่งหยดลงขนม เราก็บอกเขาว่า เหมือนจะขาดการรองนะ ไอน้ำเลยหยดลงขนมโดยตรง หนูลองไปดูสิลูกว่ามีอะไรซับได้บ้าง เขาก็เอาผ้าขาวมาหุ้ม ก็เกิดการเรียนรู้ แต่ละหน่วยกว่าจะปิดควอเตอร์ก็ 10 สัปดาห์ค่ะ 10-15 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่ 1 ชั่วโมง”
ดังนั้น ระยะทางของการเรียนรู้ เด็กจะเกิดการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ จึงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เขาตั้งใจ
กิจกรรมต่างๆ ที่ครูนำมาสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ นั้น นอกจากสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน คือ การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน ที่ช่วยให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เห็นคุณค่า ครูพรสวรรค์ยังมองเห็นการเปลี่ยนบางอย่างในตัวเด็กด้วย
“อย่างแรกเลย เขามีความสุขในการจัดกิจกรรม อย่างที่สอง เด็กมีกระบวนการคิด คิดอย่างเป็นระบบ อยู่กันเป็นสังคม อย่างลูกที่ทำกิจกรรมครบถ้วนตามนวัตกรรมเนี่ย ลูกกลับเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ เขาจะซื่อสัตย์ต่อตนเอง พูดเรื่องจริง แล้วก็สามารถที่จะแชร์ เล่าให้ใครฟังก็ได้ แก้ปัญหาแบบนี้ สามารถคุยกับเพื่อนหาทางแก้ปัญหากันได้ แม้ว่าจะทะเลาะเบาะแว้งกันแต่เขาก็สามารถเคลียร์กันได้ และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ ครูเรียกว่า การสร้างทัศนคติให้กับพลเมืองเล็กๆ มีสุข”
อย่างไรก็ตาม ครูพรสวรรค์เสริมว่า การจัดการตนเอง การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม เป็น 3 สิ่งสำคัญ ที่ช่วยให้เด็กเอาตัวรอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และนอกจากทักษะต่างๆ ที่เด็กได้รับจากการเรียนรู้ที่เขาเป็นเจ้าของแล้ว ครูเองก็ได้รับพลังงานที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวครูด้วย
“อย่างแรกเลย เปลี่ยนมายเซ็ตของตัวเองอย่างสิ้นเชิง แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่หนักอึ้ง มันเบา มันมองบวก เมื่อก่อนครูจะเป็นคนซีเรียส มันต้องได้ มันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนหลังมาก็เปลี่ยน มองว่าก็เขาเป็นอย่างนี้ เราควรจะสอนตามเรา หรือว่าอย่างที่เขาเป็น มันต้องอย่างที่เขาเป็น พอเรามีมายเซ็ตแบบนี้มันทำให้เราไม่เครียดในการเป็นครู คนก็อยากใกล้ โดยเฉพาะลูกเขาก็อยากใกล้เรา ก็ง่ายต่อการสอนด้วย เพราะเขารับหมด”
ข้อค้นพบอีกอย่างหนึ่งที่ครูพรสวรรค์เจอหลังจากการใช้จิตศึกษา ก็คือการโยนคำถามของครู ซึ่งครูก็ฝึกไปพร้อมๆ กับเด็ก ฝึกไปเรื่อยๆ จนเกิดทักษะ
บทบาทครู ของครูวัยเกษียณ
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทำให้ครูพรสวรรค์ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่ครูมาจนถึงวันนี้ ก็เพราะรักในการสอน และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
“โรงเรียนนี้ให้ทุกอย่างเลย ให้ความสำเร็จ ให้ครูได้ทดลอง ครูรู้สึกรักและผูกพัน ครูได้เชี่ยวชาญ ได้เจริญเติบโต ได้งอกงามจากเด็ก ไม่เคยงอกงามด้วยตนเอง งอกงามจากเด็กทั้งหมดเลย เลยอยากตอบแทน”
จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูโรงเรียนบ้านโชคนาสามแห่งนี้ ครูทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้ แม้จะทะเลาะกันแต่สุดท้ายแล้วก็คุยกันด้วยเหตุและผล
“นี่ก็ 3 ปี แล้วนะที่เรานำนวัตกรรมของลำปลายมาศมาใช้ แล้วก็เกิดผลดีกับเด็กๆ ของเราด้วย แต่โรงเรียนบ้านโชคนาสามดีจังเลย ตรงที่ว่าพอใช้แล้วใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คือใช้ก็ใช้ด้วยกัน เปลี่ยนวิถีด้วยกัน (เปลี่ยนทั้งระบบ) แม้ว่าจะมีครูต่อต้านบ้างก็ตาม แต่เราจะมองที่ประโยชน์ของเด็กเป็นอันดับแรก ก็เลยทำให้สามารถทำงานไปด้วยกันได้
แล้วอีกอย่างเขาจะให้เกียรติ อย่างครูเกษียณแล้วครูเป็นครูนอกราชการเลยนะ ไม่สามารถที่จะมาบอกเขาได้เลยนะในความเป็นจริง แต่ครูสามารถบอกกล่าวเขาได้ และเขาฟัง หรือเวลาเกิดขัดแย้งกันเราก็ไปไกล่เกลี่ย” ครูพรสวรรค์ ศิริวัฒน์ โรงเรียนบ้านโชคนาสาม ทิ้งท้ายพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มและแววตาแห่งความสุข สัมผัสได้ถึงความรักในอาชีพครู และความหวังดีต่อเด็กๆ ในโรงเรียนแห่งนี้
โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) เป็นโครงการหนึ่งที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ มีเป้าหมายคือการพัฒนาโรงเรียนขนาดกลาง ประมาณร้อยละ 10 โดยมีระยะเวลาของการพัฒนาโรงเรียนประมาณ 3 ปี ให้เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการ การพัฒนาคุณภาพครู และการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนเกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มีโรงเรียนเข้าร่วมการพัฒนา 2 รุ่น รุ่นที่ 1 จำนวน 11 แห่ง และรุ่นที่ 2 จำนวน 30 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 14 อำเภอ ในเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 3 เขต โดยส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากร 786 คน นักเรียน 10,598 คน และนักเรียนยากจนพิเศษ 3,570 คน โดยมี 3 เครือข่ายร่วมพัฒนา คือ 1. มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต มีโรงเรียนเข้าร่วม 19 แห่ง (รุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2) 2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 มีโรงเรียนเข้าร่วม 12 แห่ง 3. มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา มีโรงเรียนเข้าร่วม 10 แห่ง |