- ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ หรือ ‘ดร.ต้อง’ คือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เจ้าของเพจ Dr.Tong The Filter
- ดร.ต้อง เชื่อว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพ คือการเห็นคุณค่าในตัวเอง และตระหนักว่าเราต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert) ชีวิตของตัวเอง
- “หลายคนรู้สึกว่าเราจะต้องใช้ชีวิตตอบโจทย์คนอื่น จนลืมไปว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีโจทย์ของตัวเอง แล้ววันใดที่เราฆ่าคุณค่าในใจ เพื่อไปรับใช้ชีวิตที่เราไม่ได้เลือกและฝืน นั่นคือจุดจบของการมีชีวิตที่มีความสุข”
เวลาเข้าร้านหนังสือ ผมมักมองหา ‘ชาร์จหนังสือขายดี 10 อันดับ’ เป็นอย่างแรก และทุกครั้งผมจะเห็นหนังสือว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของมนุษย์ หรือไม่ก็ How to เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย
ในมุมหนึ่ง ผมรู้สึกยินดีที่หลายคนให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมื่อผมหันกลับมามองตัวเอง ผมกลับรู้สึกเหนื่อยและอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า…ทำไมปลายทางของการพัฒนาศักยภาพมักผูกโยงกับการประสบความสำเร็จทางการเงิน ราวกับว่ามันเป็นความสุขแบบสูตรสำเร็จในปัจจุบันไปเสียแล้ว
The Potential ชวน ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ หรือ ‘ดร.ต้อง’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เจ้าของเพจ ‘Dr.Tong The Filter’ มาพูดคุยถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ รวมไปถึงนิยามของความสุข-ความสำเร็จ และคำแนะนำต่างๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแกร่งในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
“พอพูดถึงศักยภาพ แต่ก่อนมันจะจำกัดวงแคบๆ เรื่องสมรรถนะ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการทำงาน แต่ปัจจุบันมันไกลกว่านั้นเยอะ เพราะเราต้องมี 3 สิ่งเพื่อพัฒนาศักยภาพแบบองค์รวม
อันแรกคือ Human Potential ศักยภาพในการปรับปรุงตัวเอง รีสกิล อัพสกิลอะไรต่างๆ สองเป็นเรื่อง Human Experience การเปิดกว้างกับการเปิดรับประสบการณ์การทำงานของคนที่แตกต่างจากเรา แล้วก็อีกอันเป็นเรื่อง Human Pain คือการเข้าใจและมีความฉลาดในการดูแลเยียวยาบาดแผลจิตใจที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน หรือที่มันตามเรามาตั้งแต่อดีต”
ดร.ต้อง ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มักตั้งเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพไว้กับชื่อเสียง เงินทอง หรือการก้าวสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงาน ซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็เป็นเป้าหมายที่แฝงไว้ด้วยความไม่แน่นอน พร้อมชวนปรับมุมมองเล็กน้อยโดยการเปลี่ยนเป้าหมายเหล่านั้นมาเป็นผลพวงของการมีชีวิตที่มีวินัย (Discipline)
“ถ้าถามผมในฐานะผู้บำบัด เป้าหมายของการพัฒนาศักยภาพคือชีวิตที่มีวินัย วินัยที่เราจะมองเป้าหมายในเรื่องของคุณค่าทางใจมากกว่า เพราะความสุขกับความสำเร็จมีวงจรที่สั้นและต้องทำซ้ำๆ เมื่อเราสุขปุ๊บ ไม่นานความสุขก็จบ เราก็ต้องทำสุขขึ้นมาใหม่ หรือพอสำเร็จปุ๊บเนี่ยมันสำเร็จไปแล้ว มันจะมีคำถามต่อว่า ‘แล้วอะไรต่อ?’ ฉะนั้นพอวงจรมันสั้น กฎเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่ามันเป็น Law of Diminishing Returns (กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง) คือยิ่งทำซ้ำยิ่งทำมากก็ยิ่งได้ผลน้อยลง
นอกจาก Diminishing Returns พอเราเสพติดมันจะเป็น Negative Returns (ผลตอบแทนติดลบ) ที่ทำให้เราทุกข์ เช่น บ้างานบ้าความสำเร็จจนกลายเป็นการเสพติด หรือการเสพติดความสุขจนกลายเป็นสุขนิยมรับความทุกข์ไม่ได้เลย อย่างกรณีเด็กบางคนเจอความทุกข์ก็ทำให้ทุกข์นั้นบานปลายออกไป หรือหลายครั้งเราจะเห็นคนรวยคนประสบความสำเร็จสูงหันไปหาคุณค่าอย่างอื่น ซึ่งบางทีมันตลกมากสำหรับเรา เช่น การตั้งลัทธิ นั่นแหละคือ Final Destination ของการไม่เข้าใจว่าสุขสำเร็จเป็นผลพวง แต่ผมไม่ได้แอนตี้สุขสำเร็จนะครับ เพียงแต่เราต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่ Final Destination ถ้ามันใช่มันต้องจบ
ฉะนั้นเมื่อพูดถึงการพัฒนาศักยภาพ เราควรจะผูกอยู่กับคุณค่ามากกว่า แล้วให้ความสุขความสำเร็จเป็นผลพวงของวินัยที่เราผูกโยงกับคุณค่า เพราะคนมีวินัยสุขง่าย สำเร็จง่าย สำเร็จเล็กๆ ในทุกๆ วัน”
อย่างไรก็ตาม ดร.ต้อง ยอมรับว่าการจะพัฒนาศักยภาพโดยผูกเป้าหมายไว้กับคุณค่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากคนส่วนมากมักให้ความสำคัญกับเสียงของคนอื่นมากกว่าเสียงตัวเอง ดังนั้นหากถามว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คำตอบแรกคือการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem)
“ยากครับ กว่าเราจะมั่นใจว่าเรามาถูกทาง เราต้องมีวินัยมากๆ แล้วคุณค่านั้นต้องประจักษ์กับสายตาคนอื่น และมีผลดีออกมายาวพอสมควร เพราะคนรอบตัวจะไม่เชื่อเราในตอนแรก เราจะต้องมี Self-esteem เป็นจุดเริ่มต้น เราต้องมั่นใจในการตัดสินใจของเรา นักจิตวิทยาทุกคนจะพูดเหมือนกันว่า ท้ายสุดแล้ว Expert ของชีวิตเราต้องเป็นเรา ห้ามเป็นคนอื่น เพียงแต่เราจะยอมมองอย่างซื่อสัตย์จริงใจไหม เพราะว่าชีวิตแบบเรามีได้ชีวิตเดียว คุณค่าที่เราจะมอบให้กับโลกใบนี้ ก็มีแค่เราเท่านั้นเองที่ทำได้ ดังนั้นเราต้องมั่นใจก่อนว่าเราคือผู้เชี่ยวชาญชีวิตของตัวเอง”
แม้จะย้ำว่าชีวิตใคร คนนั้นต้องดีไซน์เอง แต่ดร.ต้อง ก็มองว่าอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาศักยภาพคือ ‘ปมในใจ’ โดยเฉพาะบาดแผลจากการเลี้ยงดูที่ฉุดรั้งให้คนส่วนมากไปไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต
“ปมนั้นมีหลายรูปแบบ ปมแรกเรียกว่า ปมซ้ำๆ คือปมที่ติดกับเรามาตั้งแต่เด็กแล้วมันมีแพทเทิร์นให้คนเห็นได้เลย เช่น เราเป็นคนคิดมาก ชอบวิตกกังวลไปก่อน เราผัดวันประกันพรุ่งมากกว่าคนอื่น เรามักจะทำอะไรในนาทีสุดท้ายเสมอ ฯลฯ ซึ่งมันอาจจะมาจากการที่พ่อแม่คอยมอนิเตอร์เรา แล้วไม่ยอมให้เราทำอะไรด้วยตัวเอง หรืออาจจะมาจากพ่อแม่ที่ทิ้งเราให้คิดแก้ปัญหาคนเดียวทำให้เรากังวลมาก ผลที่ตามมาคือเราจะคิดเยอะเกิน กว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็จะช้าจนเสียโอกาสบ่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าปมซ้ำๆ คือเป็นปมที่เรื้อรังเกิดซ้ำๆ ยาวๆ ในชีวิต
อันที่สองคือ ปมซ้อน ลักษณะมันจะเป็นความงง ทำให้เราถูกฟรีซจนทำตัวไม่ถูก ซึ่งเกิดจากคนใกล้ตัวที่ทำให้เราสับสน เช่น เรามีพ่อแม่หรือแฟนที่เป็นคนหลงตัวเองและชอบบังคับเรา ชอบทำให้เรางงเกี่ยวกับคนรอบตัวและไม่ไว้ใจใครเลยนอกจากเขาคนเดียว หรือเราอยู่กับพ่อแม่ที่ทะเลาะกันแรงๆ กรี๊ดใส่กันให้เราเห็นเป็นประจำ อันนี้ก็เป็นปมเหมือนกัน เรียกว่า ปมร่วม แล้วก็มีอีกปมคือ ปม Acute (เฉียบพลัน) ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต เช่น ตกงานกะทันหัน คนที่รักฆ่าตัวตายกะทันหัน โดยที่เราไม่ได้เตรียมใจไว้”
หากไม่นับการไปพบจิตแพทย์เพื่อจัดการกับปมต่างๆ ที่ฝังรากในความรู้สึก ดร.ต้อง แนะนำว่าสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุข และพัฒนาศักยภาพตัวเองได้ต่อไป คือการหันกลับมาใจดีกับตัวเอง
“สิ่งที่ง่ายที่สุด คือเอาตัวเองไปอยู่ใกล้กับคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ อาจเป็นคนรอบตัวเราสักคนที่มีสุขภาพจิตดี เอาตัวเราไปใกล้คนเหล่านั้นเพื่อเรียนรู้จากเขา เพื่อให้เขาช่วยเรามองทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลขึ้น ลองหาคนแบบนั้นสักคนสองคนในชีวิต เพราะครอบครัวหรือแม้แต่ตัวเราเองอาจไม่ใช่ Role Model ที่ดี
สองคือการอ่านบทความอ่านหนังสือดีๆ แล้วก็ทบทวน สามคือการเข้าคอร์สดีๆ แต่ต้องระวังสิ่งที่ดูเป็นลัทธิ โดยอาจจะเลือกจากหมอที่น่าเชื่อถือ แล้วก็อันที่สี่สำคัญมาก คือเราต้องศรัทธาในตัวเอง เพราะท้ายสุด มันไม่มีใครเป็น Expert นอกจากตัวเรา
หลายคนรู้สึกว่าเราจะต้องใช้ชีวิตตอบโจทย์คนอื่น จนลืมไปว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีโจทย์ของตัวเอง แล้ววันใดที่เราฆ่าคุณค่าในใจ เพื่อไปรับใช้ชีวิตที่เราไม่ได้เลือกและฝืน นั่นคือจุดจบของการมีชีวิตที่มีความสุข
แล้วมันมักจะเกิดขึ้น เพราะเราคิดว่าเราเกิดมาเพื่อทำให้คนอื่นมีความสุขเท่านั้น แต่จริงๆ การที่คนอื่นมีความสุข เขาต้องไปตามคุณค่าของเขาเหมือนกัน มันไม่เกี่ยวว่าเขามายืมเรา หรือเราไปยืมเขา เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ลูก รวมไปถึงคู่รักต้องเรียนรู้กันชั่วชีวิตนะ เพราะเรื่องการไม่ยอมรับคุณค่าในกันและกันเป็นเรื่องใหญ่มาก”
แม้ผู้คนจำนวนมากจะสนใจพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็มีคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่บอกว่าไม่อยากทำอะไร นอกจากอยู่เฉยๆ ปล่อยไหลไปวันๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดแบบ NEET (Not in Education, Employment or Training) ดร.ต้อง มองว่าการมีชีวิตแบบนี้ไม่ผิด แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องแยกให้ออกระหว่าง การพักผ่อนเพื่อทบทวนชีวิต กับ การปล่อยไหลที่แฝงไว้ด้วยนัยยะของการผัดวันประกันพรุ่ง
“ถ้ามีชีวิตไปทีละวัน อันนี้เห็นด้วย เพราะมันเกี่ยวกับวินัย อดีตผ่านมาแล้ว อนาคตก็ไม่รู้จะเป็นยังไง เราก็ได้แต่เรียนรู้และโฟกัสกับปัจจุบัน แต่ถ้ามีชีวิตไปวันๆ แบบผัดวันประกันพรุ่ง พยายามกันตัวเองให้ไม่มีอารมณ์หมอง เขาเรียกว่าเป็น Emotional Regulation Practices (การกำกับอารมณ์กับความพึงพอใจในชีวิต) แต่มันเป็นแผนที่แย่ เพราะเวลาเราผัดวันประกันพรุ่ง แทนที่จะกันหัวใจตัวเองจากความรู้สึกแย่ได้ มันกลับให้ผลตรงข้ามเลย เพราะว่าเราจะมาทำมันในวินาทีสุดท้าย และท้ายสุดเราจะยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่าเดิม
แล้วพอเราอยู่โดยไม่ได้พัฒนาทักษะอะไรเลย ไม่สามารถไปชนแม้กระทั่งตลาดงานได้ เราก็จะเป็นภาระคนอื่น พอเป็นภาระคนอื่น มันก็ยิ่งเสริมความรู้สึกแย่กับตัวเองเข้าไปอีก คนที่อยู่ไปวันๆ มักจะเป็นคน Perfectionist หรือไม่ก็กลัวความล้มเหลว เพื่อจะได้ไม่ต้องโดนว่า แต่ท้ายสุด สิ่งที่เขากลัวทุกอย่างมันจะทวีคูณ กลายเป็นดินพอกหางหมู”
ดร.ต้อง ชี้ให้เห็นว่าหากเราต้องการกลับมามีชีวิตที่มีความหมายและมีคุณค่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การปรับมุมมองต่อความล้มเหลว โดยมองว่า ‘ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ’ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราเรียนรู้ เติบโต และเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
“ฉะนั้นให้เราล้มเหลววันนี้เลย ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการเริ่มไปก่อน เพราะธรรมชาติของความล้มเหลวจะช่วยให้เราเริ่มเห็นว่าเราเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร พอเริ่มเห็นเราก็สามารถเริ่มใหม่ และพอเริ่มใหม่เราก็จะเริ่มพลาด แต่ก็จะมีคนมาช่วยเรา หรือท้ายสุดเราก็จะเรียนรู้ ปรับตัว อัพสกิล รีสกิล หรือฝึกกันใหม่ก็ได้ เพราะเราจะเข้าใจว่าตลาดต้องการอะไรจากเรา เพื่อเราจะได้ไปให้ถูกทาง
ถ้าเราฝึกรับความล้มเหลวได้บ่อยๆ เราก็จะรับมือได้ ล้มเหลวเยอะๆ จะได้ชิน เพราะหันซ้ายหันขวา ใครๆ เขาก็มีความล้มเหลว ไม่มีใครสักคนบนโลกใบนี้ประสบความสำเร็จตลอดเวลา แทบจะ 100% เคยล้มเหลวมากกว่าสำเร็จด้วยซ้ำ แม้แต่คนที่เราชื่นชม เขาก็ล้มฟาดมาไม่รู้กี่รอบ เพราะฉะนั้นเราต้องบอกคนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ว่าความล้มเหลวเป็นแก่นสารของการใช้ชีวิต และเป็นประสบการณ์ชีวิตที่จำเป็นมากกว่าความสำเร็จ ถ้ากลัวความล้มเหลว คุณจะเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง”
ในช่วงท้าย ดร.ต้อง ได้ฝากเครื่องมือในการเช็คระดับความสุขในชีวิต ผ่านการมองตัวเองหน้ากระจก พร้อมกับฟังเสียงของความรู้สึกที่สะท้อนออกมาจากหัวใจ
“ตราบใดที่เราตื่นเช้ามามองหน้ากระจก แล้วเรายังชอบตัวเองอยู่ You’re doing good. แต่ถ้าวันใดก็ตามตื่นขึ้นมามองหน้ากระจกแล้วเราไม่ชอบตัวเองแปลว่า Something is wrong. เราวัดแค่นั้นเลยฮะ
ถ้าเราพูดกับตัวเองได้ว่าเราทำได้ดีแล้ว นั่นคือเราดีไซน์ชีวิตเราได้ดีพอสมควร แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้รีบหาว่ามันพลาดตรงไหน เราอาจเกิดมาเพื่อทำให้คนประทับใจก็จริง แต่ยึดมันให้สั้นๆ และโฟกัสกับสิ่งที่ยืนยาวนั่นคือ ชีวิตที่ลงตัวกับหัวใจเราเอง”
นอกจากนี้ยังพูดถึงข้อดีและข้อควรระวังของคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลในความสัมพันธ์กับคนรุ่นก่อน
“คนรุ่นใหม่มีจุดที่ดีมากๆ คือการเปิดกว้าง ยอมรับเพื่อนมนุษย์สูง สามารถเปิดใจรับความแตกต่างได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า แต่สิ่งที่ต้องระวังมากคือความผูกพันที่ลดลง โดยเฉพาะการเปิดใจทำความเข้าใจกับคนรุ่นเก่าที่ยังยึดติดอยู่กับอดีต เช่น การบ่น คนรุ่นเก่าใช้การบ่นแทนความหวังดี อดบ่นไม่ได้ อดสอนไม่ได้ เพราะนั่นคือคุณค่าเดียวที่เขามีและเคยชิน ทุกครั้งที่บ่นและสอนคือเขากำลังจะบอกรัก รักหนูมาก รักลูกมาก แต่ต้องพูดในแง่ลบไม่ให้เหลิง เราก็ต้องสะกดหัวใจตัวเองว่านี่คือแนวภาษาเขาจริงๆ แต่ข้างหลังก็คือโคตรหวังดีเลย
เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่อาจต้องแปลภาษาคนรุ่นเก่าในแบบที่มองจากมุมคนรุ่นเก่า ซึ่งมันไม่ง่าย แต่ก็ฝึกได้ และสุดท้ายที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน คือ ค่อยๆ ช่วยให้คนรู้จัก เช่น ครอบครัวหรือคนรัก เข้าใจชีวิตในแบบเรา โดยไม่จำเป็นให้เขาต้องสมหวัง เราต้องให้เขาผิดหวังด้วย เพราะเขาจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา ให้สมหวังหมด ผมว่ามันไม่ถูก เราก็ผิดหวังเขาก็ผิดหวัง ผิดหวังไปด้วยกัน เพราะเราเป็นเจ้าของ DNA เรา เป็นเจ้าของคุณค่า มันไม่ใช่คนอื่น แล้วถ้าเขารักเราพอ เขาจะต้องก้าวข้ามความผิดหวังในตัวเราให้ได้
เพราะความรักมันไม่ใช่การบังคับ มันคือการให้พื้นที่ปลอดภัยแก่กันและกัน”