- Time Still Turns The Pages เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของ นิค เฉ็ก ที่ส่งให้เขาคว้ารางวัลผู้กำกับหน้าใหม่จากเวทีม้าทองคำ เอเชียนฟิล์มอวอร์ดส์ และฮ่องกงฟิล์มอวอร์ดส์
- นิค เฉ็ก เขียนบทภาพยนตร์ขึ้นหลังจากที่เพื่อนคนหนึ่งของเขาฆ่าตัวตาย เขาจึงพยายามทำความเข้าใจการตัดสินใจนั้น และพบว่าหนึ่งในสาเหตุของการฆ่าตัวตายคือการที่คนๆ นั้นไม่มีโอกาสพูดหรือระบายอย่างจริงจังกับใครสักคนที่พร้อมรับฟัง
- ภาพยนตร์บอกเล่าถึงเบื้องหลังการฆ่าตัวตายของเด็กชายคนหนึ่งผ่านไดอารี่ที่เขาบันทึกความเจ็บปวดจากการที่ครอบครัวปฏิบัติต่อเขาด้วยความรุนแรงเป็นประจำเพียงเพราะเขาเรียนไม่เก่งอย่างที่พ่อแม่ต้องการ
ตอนที่ผมรู้ว่าจะต้องไปดูภาพยนตร์ฮ่องกงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเด็กประถม ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองจะรับมือกับมวลความรู้สึกได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะตัดสินใจทำลายชีวิตตัวเองได้ สาเหตุหลักย่อมหนีไม่พ้นเรื่องครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งถือเป็นโลกทั้งใบสำหรับหัวใจดวงน้อย
Trigger warning! ในชิ้นงานมีเนื้อหาที่พูดถึงการฆ่าตัวตายและการทำร้ายร่างกาย
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]
“ฉันไม่ได้มีค่าสำหรับใครเลย”
คือประโยคที่ถูกเขียนไว้ในจดหมายลาตายของเด็กคนหนึ่งในภาพยนตร์ ‘Time Still Turns the Pages บันทึกใจสลายจากชายตัวน้อย’ และคงเป็นประโยคที่อยู่ในใจใครอีกหลายคนทั้งที่เลือกจากไป หรือมีชีวิตอยู่ต่อเหมือนคนที่ตายทั้งเป็น
ภาพยนตร์เล่าเรื่องของ Eli เด็กชายวัย 10 ปีที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาและมีจิตใจดี แต่เขากลับถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยความคาดหวังอันสูงลิ่ว และการเปรียบเทียบอย่างไม่ยุติธรรม
Eli พยายามอย่างมากที่จะเป็นที่รักของพ่อแม่ หรืออย่างน้อยก็ถูกมองเห็นสักครั้ง แต่ความเป็นเขากลับดูไร้ค่า เพียงเพราะเขาเรียนไม่เก่งเท่ากับน้องชาย เล่นเปียโนไม่ดีเท่ากับน้องชาย แต่เขาก็ยังบอกตัวเองว่าเขาจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีให้ได้ เหมือนกับประโยคสำคัญจากหนังสือการ์ตูนเล่มโปรด
“สักวันหนึ่งเธอจะเติบโตขึ้น และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เธออยากเป็น อย่ายอมแพ้ไปก่อนนะ!”
วันหนึ่ง เด็กชายบังเอิญได้ยินครูใหญ่พูดว่าการเขียนไดอารี่จะช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกดีขึ้น เขาจึงรีบตรงไปซื้อสมุดบันทึกและเริ่มบันทึกเรื่องราวที่พบในแต่ละวัน
จากนั้นภาพยนตร์ได้ทยอยหยิบยกประสบการณ์ความเจ็บปวดของเด็กและผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กมาบดขยี้ชนิดที่ตัวผมเองถึงกับนอนไม่หลับในคืนนั้น โดยเฉพาะภาพซ้ำๆ ที่ฉายให้เห็นว่าเด็กชายพยายามทำแบบฝึกหัดจนไม่ยอมกินข้าว และอ่านหนังสือเรียนคนเดียวจนดึกดื่น แต่พอเขาสอบตก พ่อกลับไม่เห็นคุณค่าในความพยายาม ทั้งยังด่าทอและตีเขาไม่ยั้งราวกับคนขาดสติจนเนื้อตัวเด็กชายเต็มไปด้วยร่องรอยของบาดแผลที่ค่อยๆ ส่งผลกระทบไปยังหัวใจอันเปราะบาง
สิ่งที่ผมสงสารเด็กชายคนนี้มากๆ คือการที่เขาถูกพ่อกรอกหูบ่อยๆ ว่า “แกมันก็แค่เศษขยะ” เพราะสำหรับเด็กคนหนึ่งไม่มีคำพูดไหนที่น่าเชื่อถือไปมากกว่าคำพูดของพ่อแม่อีกแล้ว
นอกจากนี้แม่ของเขาที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดกลับไม่เพียงไม่ปกป้อง แต่ยังแสดงท่าทีผิดหวังในตัวเขาเต็มทนผ่านสีหน้าสุดเอือมระอาและคำพูดที่ว่า “แกมันดีแต่ขยันก่อเรื่อง” ส่วนน้องชายก็เหมือนจะดูถูกเขาและไม่คิดยื่นมือช่วยเหลือเขาเลยสักครั้ง เรียกได้ว่าทุกคนปฏิบัติต่อเขาราวกับเป็นเด็กไร้ค่า
นอกจากความมานะพยายามเพื่อผลการเรียนที่ดีขึ้น เด็กชายยังมีมุมที่น่าชื่นชม เช่น ตอนที่เขากับน้องชายแอบไปซื้อเกมกดมาเล่น แล้วพ่อตีเขาไม่ยั้ง เขากลับขอรับผิดคนเดียวโดยไม่อ้างถึงน้องชายสักนิด หรือการตั้งเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งเขาจะเติบโตเป็นคุณครูที่ใจดี รับฟังเด็ก ไม่ตัดสินเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกมีกำลังใจเหมือนกับครูสอนเปียโนของเขาที่ไม่เคยเปรียบเทียบเขากับน้องชาย ทั้งยังให้คุณค่าต่อความพยายามมากกว่าผลลัพธ์
“ผมจะเป็นครูที่ดีในอนาคต แม้ว่านักเรียนจะส่งการบ้านช้า หรือเล่นเปียโนได้แย่มากๆ ผมจะไม่ลงโทษเขา และถามเขาว่า “เธอมีอะไรที่ไม่สบายใจรึเปล่า หรือมีอะไรกวนใจทำให้เธอไม่ได้ทำการบ้าน””
อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กคนหนึ่งเผชิญหน้ากับการด่าทอ การทุบตี และการเพิกเฉยอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เขาค่อยๆ สูญเสียความมั่นใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงไปเรื่อยๆ หลายครั้ง Eli จะแอบวิ่งขึ้นไปบนดาดฟ้าของตึกสูง และตะโกนด่าตัวเองว่าเป็น ‘ขยะไร้ค่า’ เขาเริ่มนอนไม่หลับในตอนกลางคืน และรู้สึกหมดแรงอย่างไม่มีสาเหตุ แต่เมื่อขอให้แม่พาไปพบจิตแพทย์ แม่กลับโมโหและต่อว่าเขาอย่างฉุนเฉียว
“แกไม่ได้เหนื่อยหรอก แกแค่เผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว ครูของแกบอกว่าแกเป็นคนไม่มีสมาธิกับการเรียน แกบอกฉันว่าเหนื่อยแล้วอยากไปพบจิตแพทย์? ลูก…นั่นไม่ใช่หน้าที่ของจิตแพทย์หรอก จิตแพทย์มีไว้รักษาคนที่มีปัญหาทางจิต และคนที่เป็นบ้าเท่านั้น! แล้วแกล่ะเป็นคนบ้ารึเปล่า?”
เมื่อเรียนซ้ำชั้นและป่วยจนไม่ได้สอบ พ่อที่เอือมระอาเขาเต็มทนจึงเลือกที่จะไม่สนใจ Eli อีกต่อไป ซึ่งผมมองว่าการเพิกเฉยนั้นรุนแรงกว่าการใช้ความรุนแรง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือการที่ Eli ถูกปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียว ขณะที่คนอื่นในครอบครัวบินไปพักผ่อนที่อเมริกา
“การที่เกรดไม่ดีไม่ใช่เรื่องแย่ แต่แกมีพรสวรรค์อะไรบ้างไหม? ไม่มีเลยล่ะสิ เอาเป็นว่าตอนนี้แกก็ดูน่ารักดี ชื่อของแกคือ Eli แปลว่าสูงหรือยกระดับ แต่ถ้าฉันรู้แบบนี้ แกควรจะชื่อ Alan (มีค่า) และให้น้องของแกชื่อ Eli แทน
แล้วตอนนี้แกจะเอายังไงต่อ แกอยากจบมาทำงานที่แมคโดนัลด์ หรือ 7-11 ใช่ไหม? หรืออยากจะพึ่งพาพ่อแม่ไปตลอดชีวิต? ฉันไม่ได้คาดหวังให้แกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่แกกำลังจะกลายเป็นคนที่ล้มเหลวอย่างสมบูรณ์
มีหลายวิธีในการเลี้ยงลูก หนึ่งในนั้นคือการลงโทษด้วยการตี ส่วนวิธีอื่นๆ มันไม่ค่อยได้ผล แกต้องผ่านความทุกข์ยากและความอดทนถึงจะประสบความสำเร็จ นี่คือเหตุผลที่ฉันหาเงินได้มากกว่าแม่ของแก ถ้าแกอยากจะเป็นคนไม่มีคุณค่า ฉันก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอโทษด้วย ฉันเองก็ไม่ใช่นักการศึกษาที่จะสอนอะไรแกได้มากนัก แต่ไม่เป็นไร ฉันจะไม่ตีแกอีกแล้ว มันเสียเวลาเปล่าๆ” พ่อบอกกับ Eli และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาคุยกับลูกคนโต
หลังจากภาพยนตร์จบ ผมยังคงรู้สึกหดหู่และมูฟออนไม่ได้ เพราะผมเองก็เผชิญกับสิ่งที่ Eli เผชิญเกือบทั้งหมด และผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแท้จริงแล้วในใจของผมนั้นบอบช้ำและแหลกสลายแค่ไหน โดยระหว่างนี้ คำถามต่างๆ มากมายก็เกิดขึ้นวนๆ ซ้ำๆ ในหัวของผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ค่านิยมที่ยกย่องว่าเด็กดีคือเด็กที่เรียนเก่ง?
เกรดควรเป็นหลักเกณฑ์เพียงอย่างเดียวที่ใช้ประเมินค่าของเด็กจริงหรือ?
เมื่อไหร่ความเชื่อผิดๆ ที่ว่ารักลูกให้ตีจะหมดไปเสียที?
ทำไมพ่อแม่โหดๆ มักสำนึกผิดและคิดได้ว่าความรุนแรงที่กระทำต่อลูกเป็นเรื่องผิดในยามที่ตัวเองใกล้ตาย? ฯลฯ
ปัจจุบันเด็กไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 2 คน อีกทั้งเด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงจากครอบครัวหรือโรงเรียนแล้วจัดการกับบาดแผลในอดีตไม่ได้ ก็มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย มีชีวิตต่อไปอย่างแหลกสลาย หรืออาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่นำภาพจำของความรุนแรงมาผลิตซ้ำและส่งต่อความรุนแรงนั้นจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ขนาดใหญ่ที่เน่าเฟะและกัดกินสังคมต่อไปอย่างไม่รู้จบ