- คุณยายผมดีที่สุดในโลก เป็นภาพยนตร์เกาหลีในปี 2002 บอกเล่าเรื่องราวของซังวู เด็กชายที่ถูกแม่เลี้ยงเดี่ยวส่งไปอยู่กับยายผู้เป็นใบ้ในชนบท หลังแม่ของเขาตกงานและยังหางานใหม่ไม่ได้
- ด้วยสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาร ประกอบการเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้ซังวูนึกดูถูกแลทำตัวไร้มารยาทกับคุณยายเกือบตลอดทั้งเรื่อง
- ไม่ว่าคุณยายจะโดนกลั่นแกล้งแค่ไหน แต่เธอยังคงปฏิบัติต่อซังวูด้วยความรักจนหัวใจอันหยาบกระด้างของซังวูค่อยๆ อ่อนโยน และเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]
มีใครรักปู่ย่าตายายมากกว่าพ่อแม่บ้าง?
ผมคือคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้น ทั้งยังบ่อน้ำตาตื้นได้ง่ายๆ เมื่อต้องพูดถึงอากงอาม่า
ผมมีความผูกพันกับอากงอาม่าเป็นพิเศษ เพราะตอนเด็กๆ พ่อมักส่งผมไปอยู่ดูแลพวกท่านทุกวันอาทิตย์ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลากว่าสี่ปี
ช่วงไม่กี่เดือนแรก ผมยอมรับว่าถึงจะรักอากงอาม่า แต่ก็รู้สึกขัดใจกับการมัดมือชกของพ่อที่ไม่ถามความสมัครใจของผมสักคำ ในเมื่ออากงอาม่าก็มีหลานอีกสิบกว่าคน หรือแม้แต่ตัวพ่อแม่เองก็ไม่เห็นจะสละเวลามารับหน้าที่นี้เลย แถมเวลานั้นผมยังอยู่ในวัยมัธยมที่ใครๆ ต่างก็ดิ้นรนไปเรียนพิเศษช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม พ่อก็เผด็จการเกินกว่าที่ผมจะต่อต้านหรือปฏิเสธ ผมจึงก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามคำสั่งแต่โดยดี เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องถูกตบหรือหักเงินค่าขนม
ผมพยายามทำตัวเป็นหลานที่ดีที่สุด คอยพูดคุยเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำป้อนยาอากงอาม่าอย่างดี ทว่าหลายครั้งผมกลับมีความรู้สึกว่าแท้จริงแล้ว เป็นอากงอาม่าต่างหากที่ดูแลผม โดยเฉพาะการคอยถามไถ่เรื่องราวต่างๆ ในชีวิต รวมถึงปลอบประโลมผมยามระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องพ่อ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ถ้าป๊าไม่รัก อากงอาม่าจะเลี้ยงลื้อเอง” ซึ่งคำพูดนี้เปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมรู้สึกว่าการมาหาพวกท่านไม่ใช่การบังคับอีกต่อไป
ระหว่างที่ต้องดูแลรับใช้อากงอาม่า ผมจำได้ว่าเคยรับชมภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง คุณยายผมดีที่สุดในโลก (2002) ที่แม้เนื้อหาจะไม่ได้คล้ายคลึงกับชีวิตของผม แต่ข้อความหลายอย่างที่ภาพยนตร์ฝากไว้กลับเปี่ยมด้วย ‘พลัง’ ที่สามารถเรียกน้ำตาของผมกับอากงอาม่าออกมาได้ง่ายๆ
คุณยายผมดีที่สุดในโลก บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ซังวู’ เด็กชายวัยเจ็ดขวบที่ถูกแม่เลี้ยงเดี่ยวส่งไปอยู่กับยายผู้เป็นใบ้ในชนบทที่ทุรกันดาร หลังแม่ของเขาตกงานและประสบภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง
ณ กระท่อมอันซอมซ่อ ซังวูไม่เพียงไม่พอใจต่อความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของยาย เขายังรู้สึกโมโหแม่มากๆ ที่ปล่อยให้เขาต้องมาจมปลักอยู่ที่นี่เป็นเวลาสองเดือน
ด้วยนิสัยเอาแต่ใจและเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ซังวูมักทำตัวไม่น่ารักกับยาย ทั้งการพ่นถ้อยคำหยาบคายและแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายอย่าง เช่น การเตะไหใบใหญ่ของยายจนแตก, การขโมยรองเท้าเพียงคู่เดียวของยายไปทิ้ง หรือการขโมยปิ่นปักผมจนยายต้องเอาช้อนมาปักแทน แต่ถึงหลานตัวแสบจะร้ายแค่ไหน ยายกลับไม่เคยถือสา แถมยังคอยใช้ภาษามือถามซังวูเสมอว่า “หลานอยากได้อะไรหรือเปล่า”
เมื่อไม่มีแสงสีให้หลงระเริง ที่พึ่งเดียวที่ทำให้ชีวิตของซังวูผ่านพ้นแต่ละวันอันแสนน่าเบื่อ คือการหมกมุ่นกับเกมกด โปสการ์ดขบวนการฮีโร่ หรือไม่ก็ฟิกเกอร์หุ่นยนต์สุดเท่ โดยมองข้ามคุณยายที่คอยปรนิบัติดูแลเขาอย่างดี
หนึ่งในฉากไฮไลท์ของภาพยนตร์ที่อยู่ในความทรงจำของผม คือฉากที่คุณยายใช้ภาษามือถามซังวูว่าอยากกินอะไร ก่อนได้รับคำตอบว่า ‘ไก่ทอดเคนตั๊กกี้’ เธอจึงรีบออกจากบ้านและหอบไก่ตัวเป็นๆ ฝ่าสายฝนกลับมาในตอนเย็น
แต่แล้วเมื่อยายยกอาหารมาเสิร์ฟ ซังวูกลับร้องไห้ด้วยความผิดหวัง ทั้งยังปัดจานข้าวทิ้งอย่างไม่ใยดี เพราะสิ่งที่เขาปรารถนาคือไก่ทอดไม่ใช่ไก่ต้มทั้งตัวที่ยายภูมิใจเสนอ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมประทับใจไม่ใช่แค่ความทุ่มเทของยาย แต่รวมถึงการตกผลึกทางความรู้สึกในใจของซังวูที่ตื่นขึ้นกลางดึกและเปิดใจกินไก่ต้มจนรู้สึกชื่นชอบในรสมือของยาย ทำให้วันต่อมาเมื่อพบว่ายายนอนซมเพราะพิษไข้ เขาจึงกุลีกุจอจัดเตรียมอาหารให้ยาย ก่อนยกมาเสิร์ฟให้เธอถึงห้อง
อีกฉากที่ประทับใจคือตอนยายรู้ว่าซังวูอยากกินช็อกโกแลตพาย เธอจึงรีบไปซื้อมาให้หลานรักทันที ส่วนซังวูเองก็รู้สึกซาบซึ้งในความหวังดีนั้น จึงนำช็อกโกแลตพายห่อหนึ่งมาหย่อนลงในถุงผ้าของคุณยายเพื่อให้เธอลิ้มลอง
แม้เรื่องราวของทั้งคู่อาจดูเหมือนความรักระหว่างคุณยายแสนดีกับหลานชายจอมแสบที่ไม่ได้ถึงกับแปลกใหม่จนน่าตื่นเต้น แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมีข้อความสำคัญบางอย่างที่ซ่อนไว้ระหว่างบรรทัด
สำหรับพฤติกรรมดื้อด้านเอาแต่ใจของซังวู ผมมองว่าเกิดจากการเลี้ยงดูของแม่ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีเวลาให้ลูก เพราะตัวเธอเองต้องออกไปทำงานเหมือนคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่เธอพอจะชดเชยให้ลูกได้คือเกมกดและของเล่นฟิกเกอร์ที่ลูกชอบ แต่ไม่ว่าวัตถุเหล่านี้จะดึงดูดใจซังวูมากแค่ไหน ผมกลับมองว่าสิ่งที่เขาต้องการที่สุดคือเวลา ความรัก และความใส่ใจจากแม่ เพราะสำหรับเด็กย่อมไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าครอบครัว
นอกจากการไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ผมมองย้อนไปยังฉากเปิดเรื่องที่แม่พาซังวูลงจากรถทัวร์แล้วพบว่าซังวูร้องไห้งอแงเพราะรับไม่ได้กับสภาพแวดล้อมในชนบท แม่จึงจัดการตบหัวและเหวี่ยงแขนเรียกสติซังวูไปไม่น้อยกว่าสามครั้ง
หากพูดถึงเรื่องการใช้ความรุนแรงกับลูก ผมเชื่อว่าคนเจนเนอเรชั่น Y ขึ้นไปคงคุ้นเคยกับคำพูดทำนองว่า ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี’ เป็นอย่างดี ซึ่งในกรณีของซังวู แม่ของเขานั้นเลือกที่จะใช้ ‘กำลัง’ เพื่อขู่ให้ลูกยอมจำนนมากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผล แน่นอนว่าอาจมีคนเถียงว่าถ้าลูกไม่เชื่อฟังก็ควรใช้กำลังจะได้เข็ดหลาบ แต่คำถามคือการใช้กำลังให้ผลดีเสมอไปจริงเหรอ?
จริงอยู่ที่การใช้กำลังอาจส่งผลให้ลูกยอมทำตามคำสั่งของพ่อแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่างานวิจัยทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าในระยะยาวลูกที่ถูกพ่อแม่ทุบตีหรือใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกับพ่อแม่ของพวกเขา
เช่นนี้ ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจที่ซังวูจะดุด่ายายในตอนต้นเรื่อง ทั้งยังทำท่าเงื้อมมือใส่ยายแบบที่แม่เคยทำกับเขา แต่จุดพลิกผันของซังวูคือการที่ยายของเขาไม่ได้มีนิสัยเหมือนกับแม่ กลับกันยายเป็นคนที่ไม่นิยมความรุนแรง เปี่ยมด้วยเมตตา และแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านความรักความใส่ใจในแบบที่ซังวูไม่เคยได้รับจากแม่
ในทางกลับกัน ผมเชื่อว่าหากยายใช้ความรุนแรงกับซังวู ก็คงให้ผลลัพธ์ไม่ต่างอะไรกับแม่ที่ซังวูยอมจำนนด้วยความกลัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยายได้ใช้ความรักเอาชนะจิตใจอันแข็งกระด้างของซังวู จนเขาค่อยๆ เปลี่ยน พฤติกรรมให้ตัวเองเป็นคนที่โอบอ้อมอารีมากขึ้น
หลังชมภาพยนตร์จบในตอนนั้น ผมรู้สึกเพียงแค่ตัวเองโชคดีเหลือเกินที่มีอากงอาม่าที่ดีไม่แพ้คุณยายในภาพยนตร์ และเมื่อกลับมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งในวัยกลางคน ผมก็อดไม่ได้ที่จะนึกขอบคุณอากงอาม่าอีกครั้ง
…เพราะแม้วัยเด็กของผมจะไม่ได้ความรักความเข้าใจจากพ่อมากนัก แต่ความรักความปรารถนาดีของอากงอาม่าก็ช่วยให้ผมก้าวผ่านวันคืนที่โหดร้ายและเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าในตัวเอง