- ปิราเนซิ คือชื่อตัวเอกและผู้บรรยายของนิยายเล่มนี้ เป็นนิยายที่ได้รับรางวัล The Women’s Prize for Fiction ประจำปี 2021 เขียนโดย ซูซานน่า คลาร์ก ซึ่งว่ากันว่าเป็นนิยายที่ดีที่สุด แต่อ่านยากที่สุด
- เรื่องราวในปิราเนซินั้นถูกเล่าผ่านการเขียนบันทึกประจำวันของเขา เกี่ยวกับการสำรวจเขาวงกตที่เรียกว่า ‘บ้าน’ และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้มีจุดสิ้นสุด
- เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องราวของความเปล่าเปลี่ยวในโลกอันไร้ที่สิ้นสุด แต่ในทางตรงกันข้าม ปิราเนซิเป็นบุคคลที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เขารู้สึกมีความสุขไปกับการเรียนรู้ใหม่ๆ ในทุกสิ่งเล็กๆ ที่บ้านมอบให้ แม้ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จะเป็นได้ไม่ถึงน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทรก็ตาม
เมื่อพูดถึงนิยายเรื่อง ปิราเนซิ ของ ซูซานน่า คลาร์ก มีหลายเรื่องที่ผมสามารถเขียน บรรยาย และสาธยายถึงได้ ผมอาจจะเกริ่นว่ามันเป็นนิยายที่ได้รับรางวัล The Women’s Prize for Fiction ประจำปี 2021 หรือผมอาจจะพยายามโน้มน้าวคุณให้ลองอ่านมันดูสักครั้ง โดยผมจะบอกคุณว่ามันเป็นหนึ่งในนิยายเล่มโปรดของผม และเป็นนิยายเล่มเดียวที่ผมซื้อซ้ำเมื่อฉบับแปลภาษาไทยถูกตีพิมพ์
หรือบางทีผมอาจจะเล่าถึงเนื้อหาของนิยายเล่มนี้ ซึ่งถึงแม้จะเรียบง่ายแต่ก็เขียนออกมาอย่างมีชั้นเชิงและเต็มไปด้วยรสนิยม ให้อารมณ์เหมือนกำลังแก้ปริศนาที่อีกแค่นิดเดียวก็จะค้นพบข้อสรุป ขาดไปแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ผู้อ่านต้องคอยพลิกหน้ากระดาษตามหา
บทแทรก : ปิราเนซิ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ว่ากันว่า ดีที่สุด แต่อ่านยากที่สุด (แม้กระทั่งจะจัดให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในหมวดหมู่ไหน ก็ยังยากเลย) นักวิจารณ์หลายคน กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า นี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับทุกคน คนส่วนใหญ่อาจเกลียดมัน แต่สำหรับบางคน พวกเขาหลงรักมันเลยล่ะ
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสัมผัสด้วยตัวเองถึงจะเป็นการดีที่สุด เช่นเดียวกับนิยายทุกๆ เรื่อง คุณจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเมื่ออ่านโดยไร้อคติและไม่จำเป็นต้องมีคนมาโน้มน้าวเพื่อให้คุณเข้าใจในสิ่งที่นิยายอยากจะสื่อ
เพราะฉะนั้นเนื้อหาที่ผมจะเขียนเกี่ยวกับ ปิราเนซิ จึงไม่ใช่รีวิวหรือบทสรุปแบบสั้นๆ ของเนื้อเรื่อง แต่จะเป็นการขบคิดถึงบางอย่างที่แทบไม่ถูกพูดถึงเมื่อผู้คนพูดถึงการอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง
หนึ่งคือบ้าน เคหสถานที่เป็นที่พึ่งทางกายและใจของผู้คนเช่นผมและคุณ
อีกอย่างคือสิ่งที่ไร้ที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขต ไม่อาจเอื้อมถึง สิ่งที่เราเรียกกันว่าอนันต์
สองสิ่งที่ดูไร้ความเกี่ยวข้องอย่างสิ้นเชิงกลับถูกผนวกเข้าด้วยกันไม่เพียงแค่ในนิยายเล่มนี้ แต่ในเรื่องเล่าอันน่าพิศวงเรื่องอื่นๆ อีก คงจะไม่ใช่ความบังเอิญที่นักเขียน ศิลปิน และผู้คนมากมายจะหลงใหลและมองเห็นความลึกล้ำไม่มีที่สิ้นสุดในโถงทางเดินและผนังที่ทอดยาวของบ้านเรือนทั่วๆ ไป
ผมอยากเชิญให้คุณอ่านบทความนี้ต่อหากคุณสงสัยใคร่รู้ใน สถาปัตยกรรมรอบตัว สัญลักษณ์เลขแปดเอียงข้าง และวิธีที่วรรณกรรมนำสองสิ่งนี้มาแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ผู้คนอาจมีต่อความไพศาลเกินขอบเขตการรับรู้
นี่อาจเป็นการเกริ่นเนื้อหาที่แปลกไปสักนิด แต่การใช้อักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ให้ถูกนั้นเป็นพื้นฐานของการเขียนภาษาอังกฤษ
เรารู้กันดีว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะถูกเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก ส่วนตัวพิมพ์ใหญ่นั้นถูกใช้ในไม่กี่กรณี ได้แก่ คำแรกของประโยค นามเฉพาะ และตัว I ที่หมายถึงผู้เขียน
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเขียนจะแหกกฎเหล่านี้เพื่อสร้างชั้นเชิงที่น่าสนใจในงานเขียนของพวกเขา
ในเรื่องสั้น The Library of Babel คำว่า Library จะถูกเขียนด้วยพิมพ์ใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของประโยคหรือในบริบทใดๆ ส่วนในนิยายชวนปวดหัวอย่าง House of Leaves คำว่า House ก็ถูกเขียนด้วยพิมพ์ใหญ่อย่างไม่มีข้อยกเว้น
เช่นเดียวกัน ใน ปิราเนซิ คำว่า House ก็ถูกสะกดด้วยด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ด้วยเหตุผลที่จะกล่าวถึงในภายหลัง (เป็นเรื่องน่าสนใจที่งานเขียนทั้งสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้มีแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ที่ไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดหรือบ้าน)
ปิราเนซิ คือชื่อตัวเอกและผู้บรรยายของนิยายเล่มนี้ เขาอยู่ในสถานที่ที่ตัวเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ บ้านนั้นประกอบไปด้วยห้องโถงยาวเหยียดและสูงชัน ห้องมุขหลากหลายห้องที่เชื่อมถึงกันและกัน ขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่ขึ้นและลงไปยังชั้นอื่นๆ และรูปปั้นนับล้านที่เรียงรายอยู่ตามผนังของทุกๆ ห้อง ไม่มีรูปปั้นใดซ้ำกัน
ปิราเนซิเป็นนักสำรวจ จากบันทึกของเขา เราทราบได้ว่าปิราเนซิไปเยือนโถงทั้งหมดเจ็ดพันหกร้อยเจ็ดสิบแปดห้อง โถงแต่ละห้องมีความยาวและกว้างใกล้เคียงกับสนามฟุตบอลหนึ่งสนาม และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้มีจุดสิ้นสุด
ทุกครั้งที่ปิราเนซิเดินทางไปไกลกว่าที่เคย เขาจะพบกับห้องใหม่ รูปปั้นที่ไม่คุ้นตา และภัยอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ในมุมมืด ความจริงแล้วมีเพียงปิราเนซิผู้เดียวที่เรียกสถานที่แห่งนั้นว่าบ้าน คำเรียกที่ผู้คนใช้กันมากกว่าคือ ‘เขาวงกต’
บทสนทนาส่วนหนึ่งในปิราเนซิ:
“ทำไมถึงบรรยายโลกใบนั้นว่าเป็นเขาวงกตล่ะครับ”
“ผมคิดว่าคงเป็นมโนภาพของความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาล สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ผสมกับความน่ากลัวของการมีตัวตน ไม่มีใครมีชีวิตรอดออกมาจากที่นั่นได้”
ความน่าหวาดกลัวของการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นอนันต์นั้นถูกกล่าวถึงในงานเขียนอีกสองเรื่องที่ผมได้ยกตัวอย่างมา
The Library of Babel เป็นเรื่องราวของห้องสมุดที่บรรจุหนังสือทุกเล่มที่เคยเขียนและจะถูกเขียนขึ้นในอนาคต ทุกความเป็นไปได้ของการร้อยเรียงตัวอักษร มันคือศูนย์รวมภูมิปัญญาทั้งหมดของมนุษย์ แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนน้อย ห้องสมุดนั้นอัดแน่นไปด้วยหนังสือที่ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เป็นเพียงตัวอักษรสีดำที่เรียงต่อกันไปเรื่อยๆ บนหน้ากระดาษ ระหว่างปกหนังสือ บนชั้นหนังสือ ในห้องสมุดที่แผ่ขยายต่อไปเรื่อยๆ
ผู้คนที่หวาดกลัวความเป็นอนันต์ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้พากันฉีกทึ้งหน้ากระดาษและเผาหนังสือเหล่านั้นจนวอดวาย แต่นั่นก็เป็นแค่การหยิบเม็ดทรายออกทีละเม็ดจากทะเลทรายที่กว้างใหญ่
ใน House of Leaves ครอบครัวธรรมดาๆ ค้นพบว่าบ้านของพวกเขามีพื้นที่ขนาดหนึ่งส่วนสี่ฟุตที่ไม่ควรจะมีอยู่ การใช้เครื่องมือวัดอย่างถี่ถ้วนนำไปสู่ข้อสรุปว่าบ้านของพวกเขามีขนาดภายในและภายนอกไม่เท่ากัน การค้นพบหนึ่งนำไปสู่การค้นพบถัดๆ ไป พวกเขาค้นพบโถงทางเดินที่กว้างผิดปกติ ท้ายที่สุดผู้ที่สำรวจพื้นที่อันเป็นไปไม่ได้ก็ค่อยๆ ถูกความมืดมิดของมันกัดกินจิตใจ
…ถึงอย่างนั้นปิราเนซิก็ยังเรียกโถงนับพันของเขาว่าเป็นบ้าน
ความงดงามของบ้านไม่อาจหาที่เปรียบได้ และความอารีของบ้านไม่มีที่สิ้นสุด ปิราเนซิกล่าวในบทเปิดของนิยาย
หากเราลองสังเกตสถาปัตยกรรมที่อยู่รอบตัว จะสัมผัสได้ไม่ยากว่าการออกแบบ ทั้งขนาด สีสัน และรูปร่างของตึกรามบ้านช่องและห้องหับล้วนมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและจิตใจของมนุษย์
คงเป็นเพราะความสัมพันธ์ยาวนานหลายสหัสวรรษของมนุษย์และสิ่งก่อสร้าง เราให้ความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมแก่รูปแบบต่างๆ ของบ้านเรือน ทำให้ผนัง ประตู ส่วนโค้งเว้า และวัสดุต่างๆ มีความหมายพิเศษขึ้นมา
ไม่มีใครออกแบบบ้านเหมือนกับที่ออกแบบโบสถ์ กระจกหลากสีก็ไม่มีทางมาอยู่ในห้องนอนธรรมดาๆ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘ความขลัง’ ที่สัมผัสได้เวลาก้าวเข้าไปในวิหารสูงใหญ่หรือวัดที่เงียบสงบก็เป็นเพราะเราเชื่อมโยงความหมายและแนวคิดต่างๆ เข้ากับตัวอาคารบ้านเรือน และเหล่าสถาปนิกก็ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับบทความนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชายผู้เป็นที่มาของชื่อปิราเนซิ นั่นคือ โจวันนี แบ็ตทิสตา ปิราเนซิ (Giovanni Battista Piranesi) นักโบราณคดี สถาปนิก และศิลปินชาวอิตาลีแห่งศตวรรษที่สิบแปด
ภาพสลักของเขาอาจจะเป็นการนำเสนอความอ้างว้างและความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ทั้งเสาคอลัมน์ที่เรียงกันยืดยาวไปไกลสุดสายตาหรืองานประติมากรรมโรมันโบราณที่วางแน่นขนัดจนลายตา
แต่ภาพของเขาก็ทำให้เกิดคำถามหนึ่งขึ้นมา โดยเฉพาะภาพที่มีอาคารที่ยิ่งใหญ่และไพศาลเกินกว่าที่มนุษย์จะสร้างขึ้นมาได้จริงๆ นั่นคือ ความหมาย สภาพอารมณ์ และแนวคิดที่เชื่อมโยงกับความเป็นอนันต์คืออะไรกัน?
อีกหนึ่งจุดร่วมของเรื่องเล่าแห่งอนันต์เหล่านี้คือความหมกมุ่นของเหล่าตัวเอกต่อสถานที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย ผู้บรรยายไร้ชื่อใน The Library of Babel คิดว่าการอ่านหนังสือในโลกให้มากเท่าที่เขาจะทำได้เป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เขาได้รับ ตัวเอกวิล เนวิดสันใน House of Leaves หมกมุ่นกับการสำรวจบ้านของเขาถึงขนาดยอมกระทบกระทั่งกับครอบครัวและเสี่ยงชีวิตของตัวเขาเอง
ปิราเนซิเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เขาอุทิศตนให้กับการสำรวจบ้านของเขา ทำรายการบัญชีของรูปปั้นทั้งหมดที่เขาพบเจอลงในสมุด คอยจดบันทึกปริมาณน้ำขึ้นน้ำลง และเขาสามารถจดจำเส้นทางและตำแหน่งของห้องโถงทุกห้องที่เขาเคยไปเยือน
แต่สิ่งที่ปิราเนซิมีมากกว่าตัวเอกจากอีกสองงานเขียนคือ ‘ความเคารพ’ และ ‘ความขอบคุณ’ ที่เขามีให้ต่อบ้าน (หรือโลกที่เขาอาศัยอยู่)
เรื่องราวในปิราเนซินั้นถูกเล่าผ่านการเขียนบันทึกประจำวันของปิราเนซิ หมายความว่าทุกอย่างที่ผู้อ่านเห็นบนหน้ากระดาษคือถ้อยคำของตัวเขาเอง การที่คำว่าบ้านถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ก็เป็นเพราะความสำคัญที่ปิราเนซิมอบให้แก่มัน
และความจริงแล้วคำที่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ก็ไม่ได้มีแค่คำว่าบ้าน แต่รวมถึงคำศัพท์อื่นๆ ที่เราคงจะมองว่าเป็นสิ่งของธรรมดาๆ เช่น หน้าต่าง น้ำ ดวงดาว และก้อนเมฆ ในสายตาของเขา ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่มีตัวตนเป็นเอกเทศ สมบูรณ์ และงดงาม
สิ่งนี้เองคือข้อคิดและบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้รับหลังจากครุ่นคิดเกี่ยวกับนิยายเล่มนี้มาเป็นเวลาเกือบสองปี
แรกเริ่มเดิมที ผมนึกว่าปิราเนซิเป็นเรื่องราวของความเปล่าเปลี่ยวในโลกอันไร้ที่สิ้นสุด ทั้งๆ ที่ตัวเอกของเรื่องก็กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปิราเนซิเป็นบุคคลที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่างน้อยก็สำหรับผม เขาขอบคุณและมีความสุขไปกับทุกสิ่งเล็กๆ ที่บ้านมอบให้เขา และเขามีใจรักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จะเป็นได้ไม่ถึงน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทรก็ตาม
บทแทรก : ในตอนท้ายของเรื่อง ปิราเนซิ ได้หวนคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริง เขาและผู้อ่าน ได้พบว่า หลายสิ่งหลายอย่าง (รวมถึงผู้คน) ที่อยู่ในบ้านที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลของปิราเนซิ ล้วนมีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่อยู่ในรูปลักษณ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ชายชราคนหนึ่งเดินผ่านผมไป เขาดูเศร้าสร้อยและเหนื่อยล้า… ผมก็ระลึกขึ้นได้ว่าผมรู้จักเขา… ผมรู้สึกอยากคว้าตัวเขาไว้และบอกกับเขาว่า ในโลกอีกใบหนึ่ง คุณคือกษัตริย์ผู้สูงส่งและทรงธรรม”
ใช่หรือไม่ว่า ด้วยจิตสำนึกขอบคุณและความรักที่ปิราเนซิมีให้กับบ้าน ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในสถานที่นั้น เปลี่ยนรูปแปลงร่างเป็นสิ่งที่ดีงามและงดงาม?
แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตเหมือนปิราเนซิ แต่โลกของพวกเรานั้นกว้างใหญ่ยิ่งกว่านั้นมาก
จักรวาลขยายขอบเขตของมันอย่างทวีคูณในทุกๆ ช่วงวินาที และเช่นเดียวกับปิราเนซิที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านความหมายของรูปปั้นที่นับล้านเขาพบเจอ พวกเราก็เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านเรื่องราวของผู้คนบนโลกที่มีอยู่เป็นพันๆ ล้านคน
ผมคิดว่าปิราเนซิพูดถูกแล้วในตอนต้นเรื่อง
ความเป็นอนันต์นั้น อาจน่าหวาดหวั่น แต่เมื่อมองในทางกลับ มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ความยิ่งใหญ่ของมันทำให้เราแลดูเล็กจนแทบจะไม่มีตัวตน แต่ภายในความไพศาลนั้นก็ยังมีสิ่งเล็กๆ นับไม่ถ้วนที่สวยงาม เพียงแค่เราสังเกตและเห็นค่า
ลองสะกดสิ่งที่เรารักด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เช่นนั้น เราอาจจะเห็นความอารีไม่มีที่สิ้นสุด ในโลกที่มีความอ้างว้างเป็นอนันต์