- วิชานอกห้องเรียน ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ของเด็กๆ การที่คนหนึ่งจะสมบูรณ์มากขึ้น หรือมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ต้องให้เขาเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจ จะทำให้จิตวิญญาณของนักเรียนรู้เกิดขึ้น
- Saturday School หรือ โรงเรียนวันเสาร์ พื้นที่แห่งการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยผ่านการเข้าร่วมโครงการต่างๆ และช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ในวิชานอกห้องเรียน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้
- พัฒนาเด็กด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะ 4 ด้าน หลักๆ คือ การรับรู้และเข้าใจตนเอง, ความคิดแบบพัฒนาได้, การล้มแล้วลุก และพฤติกรรมเอื้อต่อสังคม ทำให้เขามีความตั้งใจในการเรียนในวันปกติมากขึ้นตามไปด้วย
หลายคนอาจเคยตั้งคำถามในตอนเรียนหนังสือว่า ‘ทำไมเราต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่สนใจ’ หรือ ‘ทำไมเราถึงเรียนสิ่งที่อยู่นอกเหนือหลักสูตรไม่ได้’
วิชาตามหลักสูตรแกนกลางพื้นฐานที่เราเรียนกันอยู่ในทุกๆ วัน หรือในอดีตนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนหลายคนที่มีความฝันหรือมีเป้าหมายในอนาคตที่ไปไกลมากไปกว่า 8 สาระการเรียนรู้พื้นฐาน หลายคนจึงมองหาโอกาสในการเรียน ‘วิชานอกห้องเรียน’ มากขึ้น
ซึ่งบางคนอาจมีโอกาสได้เรียน ‘วิชานอกห้องเรียน’ ตามที่ใจปรารถนา เพื่อไปสู่ความฝันของตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีอีกจำนวนมากเลยทีเดียวที่มีความฝันแต่ไม่ได้รับโอกาสนั้น ทำให้บางครั้งการเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่หากไม่มีโอกาสหรือต้นทุนมากพอก็จะไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นการมีองค์กรที่มาช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องสำคัญ
The Potential คุยกับ ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร อดีตโปรแกรมเมอร์และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผันตัวมาก่อตั้ง Saturday School หรือ โรงเรียนวันเสาร์ มูลนิธิด้านการศึกษาที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยผ่านการเข้าร่วมโครงการต่างๆ และช่วยตอบโจทย์การเรียนรู้ในวิชานอกห้องเรียน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนรู้
เป้าหมายขององค์กรคืออยากจะเห็นเด็กไทยทุกคนได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน กล้าที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง และไปสู่ศักยภาพสูงสุดเพื่อกลับมาเปลี่ยนแปลงชุมชนรอบข้าง
“Saturday School เลือกวิชานอกห้องเรียน เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มการเรียนรู้ของเด็กๆ ถ้าเป็นวิชาปกติในห้องเรียนก็จะมีคุณครูสอนอยู่แล้ว
แต่การที่จะทำให้คนคนนึงทำให้ตัวเองสมบูรณ์มากขึ้น หรือมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ต้องให้เขาเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพราะจะทำให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ที่อาจจะมากกว่าการเรียนรู้จากวิชาปกติด้วยซ้ำ”
ไม่เพียงแค่ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ของเด็กๆ เท่านั้น แต่ความตั้งใจอีกข้อของคุณยีราฟ และ Saturday School คือการเปิดพื้นที่ให้ ‘คนทั่วไป’ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา เพราะมองว่าองค์ความรู้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงในหลักสูตรหรือตำรา แต่ยังมีอยู่ในภาคประชาชนค่อนข้างมาก
“เราอยากจะเห็นสังคมแบบไหน ประเทศแบบไหน เพื่อนร่วมโลกแบบไหน หรือเราอยากเห็นประเทศไทยดีขึ้นขนาดไหน ผมก็คิดว่าคนทั่วไปน่าจะมามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา”
Saturday School จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะสามารถช่วยพัฒนาคนและสังคมได้ และยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีความตั้งใจอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งอาสาสมัครจะไม่ได้มาเพื่อ ‘ให้’ เท่านั้น เพราะที่นี่จะทำให้ทุกคนได้ ‘รับ’ อะไรกลับไปเช่นเดียวกัน
อะไรคือแรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Saturday School
ย้อนกลับไปนานนิดนึงนะครับ ตั้งแต่ตอนม.ปลาย ผมได้มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งก็เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย
ผอ.ที่โรงเรียนตอนนั้นก็ได้คุยว่า เด็กทุกคนที่มาโรงเรียนได้รับเงินทุนจากโรงเรียน และเงินทุนนี้ก็มาจากภาษีของประชาชน ผอ.จะพยายามบอกตลอดว่าเรามี Mission ในตัวเองที่จะไปช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเป็นอีกหนึ่ง Vision ที่สำคัญสำหรับชีวิตที่ทำในสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
แต่ระหว่างทางก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าประเทศไทยควรที่จะต้องพัฒนาในหลายๆ เหตุการณ์ อย่างตอนผมเข้ามหาวิทยาลัยก็มีชุมนุมแถวมหาวิทยาลัย ทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วในประเทศเรามันมีอะไรต้องพัฒนาอีกเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอะไรบางอย่างให้ประเทศไทยดีขึ้น แต่ตอนนั้นเราก็ยังทำอะไรไม่ได้มาก
แล้วตอนปีสี่ก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ช่วงปี 2554 ตอนนั้นก็จะมีอาสาสมัครมารวมตัวกันที่จุฬาช่วยแพ็กถุงยังชีพ มีศูนย์พักพิงให้ ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้านิสิตของคณะวิศวะ ก็ทำงานและได้มีโอกาสได้ช่วยดูแลเหล่าอาสาสมัครที่เขามาจากข้างนอก ทำให้เรารู้สึกว่า เรามีความหวังกับประเทศไทยมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วคนก็อยากมาช่วยเหลือกันจำนวนมากเลยทีเดียว เป็นความรู้สึกที่เราเห็นและมีความสุขที่ได้มาช่วย ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือคนอื่นและช่วยเหลือสังคม เหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าตอนเรียนจบน่าจะได้ลองทำอะไรบางอย่าง
คิดไปคิดมารวมกับสิ่งที่เราอินก็กลับมาที่เรื่องของ ‘การศึกษา’ ผมคิดว่าการศึกษาน่าจะเป็น Root Cause อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประเทศดีขึ้น คนมีคุณภาพมากขึ้น เลยสนใจเรื่องการศึกษา ระหว่างนั้นหลังผมเรียนจบ ผมก็ไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ปีนิดๆ เพราะจบวิศวะภาคคอมพ์มา พอเป็นโปรแกรมเมอร์ได้สักพักก็เริ่มคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เพื่อที่จะพัฒนาสังคม
เราเลยลองไปเป็นครูจริงๆ ในโรงเรียนขยายโอกาสของ กทม. อยู่ 2 ปี ก็เห็นว่าเด็กๆ มีความสามารถในตัวเองค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งแวดล้อม การเรียนการสอนในวันธรรมดาอาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ ก็เลยเริ่ม Saturday School มาตั้งแต่ตอนนั้น ก็ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน พาเด็กออกไปทำกิจกรรมข้างนอก พอคนข้างนอกเข้ามาข้างใน จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้น
เราเห็นว่าเรามีศักยภาพที่จะทำให้เด็กโตไปได้ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งอย่างที่คิดว่าคนทั่วไปน่าจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ เพราะว่าระบบการศึกษาหรือบุคลากรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาอาจจะขยับตัวยากหรือว่าอาจจะยังไม่ได้มีมุมมองที่คิดว่าจะทำยังไงให้มันเปลี่ยนแปลงไปได้ ผมคิดว่าคนทั่วไปมีความสามารถยังมีอีกเยอะแยะมากมายเลย ที่อยากทำให้การศึกษาไทยหรือสังคมไทยดีขึ้น เลยเปิดพื้นที่ตรงให้เป็นพื้นที่ที่การมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นครับ
มองว่าวิชานอกห้องเรียนมีความสำคัญอย่างไร
จริงๆ ที่ Saturday School เลือก ‘วิชานอกห้องเรียน’ เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มการเรียนรู้ของเด็กๆ ถ้าเป็นวิชาปกติในห้องเรียนก็จะมีคุณครูสอนอยู่แล้ว แต่การที่จะทำให้คนคนนึงทำให้ตัวเองสมบูรณ์มากขึ้น หรือมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ต้องให้เขาเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพราะจะทำให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ที่อาจจะมากกว่าการเรียนรู้จากวิชาปกติด้วยซ้ำ
การเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราเชื่อว่าเด็กมีสิ่งนี้อยู่ในตัวเอง เป็นเรื่องของการรักที่จะเรียนรู้ แต่มันอาจจะถูกทำให้หายไประหว่างทางที่อยู่ในระบบการศึกษา
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะไปกระตุ้นเด็กๆ ได้เนี่ย ผมเชื่อว่าการที่เด็กได้เรียนวิชานอกหลักสูตรหรือสิ่งที่ตัวเองสนใจจะทำให้ศักยภาพหรือจิตวิญญาณของนักเรียนรู้เกิดขึ้น และเพิ่มขึ้นมาหลังจากที่เขาได้รับการจุดประกายโดยใครบางคน
โครงการหลักๆ ของ Saturday School มีอะไรบ้าง
จริงๆ โครงการของ Saturday School มีเยอะแยะมากมายเลย แต่ว่าโครงการหลักๆ ที่เรารับอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมก็จะมีประมาณ 3-4 โครงการ
โครงการหลักที่สุดคือ ‘โครงการนอกหลักสูตรวันเสาร์’ ที่ทำกับเด็กระดับชั้นม.ต้น เราก็จะรับอาสาสมัครมาสอนวิชานอกหลักสูตรให้กับเด็กๆ พวกเต้น ศิลปะ ร้องเพลง ดนตรี กีฬา ทำหนังสั้น การแสดง หรือทำอาหารต่างๆ เป็นวิชาที่ให้เด็กเป็นคนเลือกเองก่อนว่าเด็กอยากเรียนวิชาอะไร แล้วเราก็จะเปิดวิชานั้นในโรงเรียนนั้น
โครงการนี้รับอาสาสมัครเป็น ‘ใครก็ได้’ ที่อยากสอนวิชาต่างๆ มาสอนให้กับเด็กๆ ในวันเสาร์ต่อเนื่องกันประมาณ 10 สัปดาห์ โดยครั้งที่ 11 เราจะมีวัน Big Day ที่เด็กๆ จะแสดงความสามารถของตัวเอง เช่น เด็กที่เรียนเต้นมา 10 สัปดาห์ เขาก็จะมาเต้นโชว์บนเวที หรือถ้าเรียนทำอาหารมาก็อาจจะเป็นการออกบูธทำอาหาร
เราพัฒนาเด็กด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะ 4 ด้าน หลักๆ คือ การรับรู้และเข้าใจตนเอง, ความคิดแบบพัฒนาได้, การล้มแล้วลุก และพฤติกรรมเอื้อต่อสังคม นี่เป็น 4 ตัวที่ไม่ว่าเด็กเขาจะเรียนอะไร เราอยากจะพัฒนาเด็กใน 4 ด้านนี้ให้มากขึ้น
ผมว่า Soft Skill หรือสิ่งที่อยู่ในตัวของเด็กๆ เนี่ยจะทำให้เด็กๆ ขับเคลื่อนชีวิตของตัวเองไปได้ ทั้งตอนมีหรือไม่มีเราก็ตาม
อีกโครงการ ‘Saturday School Student Support’ เป็นการซัพพอร์ตเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงม.ปลาย หรือว่าอาชีวะให้เขาไปถึงฝั่งฝัน อาจเป็นการเข้ามหาวิทยาลัยหรือการประกอบอาชีพที่เขาต้องการ ให้ชัดเจนมากขึ้นและมีทางไปของเขาตามที่เขาฝันไว้มากขึ้น
เป็นโปรแกรมที่เรารับอาสาสมัครมาเป็นพี่เลี้ยงเป็น Mentor ให้กับน้องๆ โดยจะช่วยน้องๆ ค้นหาตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร รู้ข้อดีข้อเสีย และส่วนที่เราต่อยอดอีกคือเราพยายามให้พี่เลี้ยงพาเด็กๆ ไป Connect กับองค์กรต่างๆ ที่เด็กๆ จะสามารถไปทำโครงการร่วมกันได้ ไป Explore ในบริษัทว่าเขาทำอะไรบ้าง ในสายอาชีพที่น้องๆ สนใจ เช่น ด้านสายการสื่อสารเราก็จะเข้าไปหา Thai PBS เพื่อให้น้องๆ ได้ไปเรียนรู้กับพี่ๆ ที่อยู่ในองค์กร เพื่อที่จะให้น้องเขารู้ว่าเขาสนใจด้านนี้นั้นมีอะไรอยู่บ้าง แล้วก็ทางที่จะไปถึงอาชีพต่างๆ ได้จะต้องทำยังไงบ้าง
และอีกโครงการหนึ่งคือ ‘Saturday School International’ เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กๆ สำคัญมาก ยิ่งเวลาที่เขาเรียนรู้ภาษา ทั้งภาษาที่ 2 หรือภาษาที่ 3 ได้ ก็จะทำให้เด็กเขาได้เปิดการเรียนรู้ไปอีกทั่วโลก เป็นการทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องภาษา ตอนนี้ก็จะเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยอาสาสมัครตอนนี้ก็จะเป็นบุคคลทั่วไปในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
คิดว่าการสร้างพื้นที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และค้นหาตัวเอง จะทําให้มุมมองเกี่ยวกับการศึกษาเปลี่ยนไปอย่างไร
ในเรื่องของการศึกษาเนี่ย คือเด็กๆ ที่เราเข้าไปทำงานด้วยเขามีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจนจนถึงปานกลาง ส่วนใหญ่แล้วที่บ้านของเด็กบางคนเขาอาจจะไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษามากนัก การที่เด็กได้เรียนรู้แล้วก็มาเจอพี่ๆ ที่จบมหาวิทยาลัยดีๆ เขาก็จะได้รับแรงบันดาลใจกลับไป พอเขามีศักยภาพของตัวเองเพิ่มขึ้นรู้ว่าตัวเองสามารถไปได้ไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำให้เขาจุดมุ่งหมายที่อยากไปเรียนต่อ หรือพัฒนาตัวเอง เข้าการศึกษามากขึ้น
ผมคิดว่าเรื่องมุมมองต่อการศึกษาของเด็กๆ นั้นน่าจะเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย ผมคิดว่า ‘การเรียนรู้’ กับ ‘การศึกษา’ นั้นต่างกันนิดหน่อย ในส่วนการเรียนรู้น่าจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือเด็กเขาอยากเรียนรู้มากขึ้น แล้วก็รู้ว่าตัวเองสามารถที่จะเรียนรู้ได้ ส่วนเรื่องของการศึกษาก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่จะทำให้เขาไปถึงเป้าหมายที่อยากจะไปได้ ซึ่งมีพี่ๆ ที่เป็นอาสาสมัครเป็นแรงบันดาลใจ
ทําไมจึงอยากเปิดโอกาสให้คนทั่วไปในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา
ถ้ามองภาพใหญ่ การศึกษาคือการพัฒนาคน เพราะการที่จะทำให้สังคมประกอบไปด้วยคนแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาค่อนข้างเยอะ สังคมที่จะอยู่อย่างมีความสุข มีคุณภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปได้เนี่ย การศึกษานั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะหล่อหลอมคนคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพทั้งการใช้ชีวิตตัวเอง และการเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมดีขึ้น
เพราะฉะนั้นผมว่าสังคมหรือคนทั่วไปอย่างเราๆ เนี่ย เราอยากจะเห็นสังคมแบบไหน ประเทศแบบไหน เพื่อนร่วมโลกแบบไหน หรือเราอยากเห็นประเทศไทยดีขึ้นขนาดไหน ผมก็คิดว่าคนทั่วไปน่าจะมามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา
อีกมุมหนึ่งผมมองว่าการศึกษาในปัจจุบันนี้ขึ้นกับทางภาครัฐค่อนข้างเยอะ แล้วการบริหารจัดการอาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร การที่เราจะปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้า หรือว่าอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงเนี่ย เป็นจุดที่ผมคิดว่าเรารอไม่ได้ ที่จะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ และในขณะเดียวกัน เรามี Resource ที่ดีๆ อยู่ในภาคประชาชนทั่วไปและภาคเอกชนค่อนข้างเยอะ ที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมเลยคิดว่าคนทั่วไปมีความสำคัญในการที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเด็กๆ ในระบบการศึกษาปัจจุบัน
มีกระแสตอบรับจากเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการอย่างไรบ้าง?
เด็กที่เข้ามาร่วมส่วนใหญ่ผมคิดว่าเขาน่าจะชอบกิจกรรมของเรานะครับ
พอเขาได้มาเรียนสิ่งที่เขาสนใจ พฤติกรรมก็มีการเปลี่ยนแปลง พอเขารู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพ มีความสามารถในสิ่งที่เขาสนใจ มันทำให้ Mindset และลักษณะนิสัยของเขาเปลี่ยนแปลงไปด้วยในวันเรียนธรรมดา
เราก็ได้ยินเสียงจากคุณครูในโรงเรียนว่าเด็กบางคนที่เขาไม่ตั้งใจเรียน หรือมาบ้างไม่มาบ้าง พอเขาได้เรียนวิชาที่เขาสนใจจริงๆ กับพี่ๆ ที่เขาอาจจะมาให้พื้นที่ปลอดภัย ได้ทดลอง เรียนรู้และสนใจเด็กๆ ทำให้การที่เด็กเขาได้รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถนะ รู้สึกว่าเขาก็กล้าที่จะเรียนรู้มากขึ้น มี Growth Mindset มากขึ้น ทำให้เขามีความตั้งใจในการเรียนในวันปกติมากขึ้นด้วย และมาโรงเรียนมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราได้ยินอยู่เรื่อยๆ
สิ่งที่คุณครูเขาเห็นเด็กก็เป็นแบบหนึ่ง คือเด็กเขาอาจจะขี้อาย ไม่ค่อยกล้า แต่พอคุณครูได้เห็นเด็กในวัน Big Day ปรากฏว่าเด็กกลายเป็นอีกคนหนึ่งเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะได้ยินเสียงจากคุณครูที่ดูแลเด็กๆ ในโรงเรียนค่อนข้างต่อเนื่อง ก็จะมีข้อสังเกตเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกซีซั่น
แล้วกระแสตอบรับจากอาสาสมัครเป็นอย่างไร?
การที่อาสาสมัครได้มาทำงานร่วมกัน อันดับแรกคือเขาได้ทำเพื่อสังคม ได้มาทำเพื่อเด็กๆ และการศึกษาไทย อย่างที่สองคือพออาสาสมัครมาจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายแบ็กกราวนด์ หลากหลายอายุ ซึ่งการที่มีแบ็กกราวนด์กับอายุที่แตกต่างกันเลยทำให้มีความหลากหลายในประมาณหนึ่ง ซึ่งอาสาสมัครที่มาทำงานร่วมกันเนี่ย ทั้งเป็น Core Team Staff และครูอาสา เขาก็ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทำให้อาสาสมัครแต่ละคนได้เรียนรู้จากคนอื่นด้วยที่ทำงานด้วยกัน
เวลาสอนเราไม่ได้ให้เขาไปสอนคนเดียวแต่จะให้สอนกันเป็นทีม แล้วก็มีทีมงานที่ไปช่วยกันไปช่วยพัฒนาครูอาสาและพัฒนากันเอง สร้างโครงการขึ้นมาด้วยกัน สิ่งที่เขาได้กลับไปก็จะมีการพัฒนาสกิลขึ้นมาเป็น Head Team มาเป็น Project Manager บางคนก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนๆ ที่มาร่วมคิดร่วมสร้าง ดีไซน์การสอนไปด้วยกัน ก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน บางคนก็ได้เพื่อนที่มีจิตใจที่อยากจะให้กับสังคมเช่นกัน
เสียงตอบรับก็ค่อนข้างจะ Enjoy แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยากลำบากในบางส่วนเหมือนกัน เพราะอาสาสมัครเขาก็ต้องทำงานหรือเรียนในวันธรรมดา หลังเลิกเรียนหรือหลังเลิกงานเขาก็จะมานัดคุยกันผ่านออนไลน์บ้าง ออฟไลน์บ้าง แล้ววันเสาร์อาทิตย์ก็จะไปสอนเด็ก การที่เขาทำงานเยอะๆ เนี่ยก็จะมีความยากลำบากเหมือนกัน ทีนี้ก็เป็น Learning ของแต่ละคนแล้วว่าเขาจะจัดสรรเวลายังไง
บางคนก็รู้สึกว่าตัวเองมีความอยากที่จะใช้ชีวิตได้อย่างแอ็กทีฟมากขึ้น จริงๆ คนอื่นอาจจะคิดว่า มาวันเสาร์อีกแล้วต้องมาทำหลังเลิกงานเนี่ยมันจะเหนื่อยไปไหม ซึ่งมันก็อาจจะเหนื่อยจริงๆ แต่หลายคนเขาก็สะท้อนกลับมาว่ามันคุ้มค่านะ มันทำให้ชีวิตมีความกระตือรือร้นมากขึ้น
คิดว่า Saturday School จะมีส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยได้มากน้อยแค่ไหน
การที่เราทำโครงการอาสาสมัครเนี่ย เราก็อยากจะขยายไปให้หลากหลายพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตอนนี้เราพยายามที่จะขยายมากขึ้นในกรุงเทพฯ และมากขึ้นในต่างจังหวัด ถ้าในกรุงเทพเราก็มีประมาณเกือบ 10 โรงเรียน ที่เรารันทุกๆ ซีซั่น และทุกๆ โปรเจกต์ ส่วนในต่างจังหวัดเราก็เริ่มขยายครั้งแรกไปที่ภูเก็ต และในปีนี้เราขยายไปอีก 2 จังหวัดคือ ขอนแก่นและนนทบุรี ซึ่งเราก็ตั้งใจว่าจะขยายไปทั่วประเทศในอีกไม่เกิน 5 ปีนี้ อันนี้เรามองในมุมของการขยายพื้นที่ในการรับอาสาสมัครที่จะเข้ามาทำนะครับ
แต่ว่าถ้าเรามองในปริมาณเด็กที่จะได้รับการเรียนการสอนตรงนี้อาจจะไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งประเทศ เลยมองว่ากระบวนการต่างๆ หรือหลักสูตรการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยอาจจะต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำเรามองว่า
อีกขาหนึ่งคือเราอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาด้วย อาจจะเป็นการที่เราทำเป็นต้นแบบอะไรบางอย่างที่ทำให้คนมองเข้ามองแล้วเห็นว่าสิ่งนี้มีความสำคัญ และสามารถทำให้เด็กเรียนรู้เติบโตได้นะ และในระบบการศึกษาจะปรับยังไง
จริงๆ ตอนนี้เราก็ได้ไปทำงานร่วมกับสำนักการศึกษากทม. อยู่เหมือนกัน จากการที่มีนโยบายของผู้ว่าฯ ท่านใหม่ เราก็เข้าไปมีส่วนร่วมที่จะทำให้คนทั่วไปเข้ามาเปลี่ยนแปลง มาช่วยพัฒนาการศึกษามากขึ้น และ Connect กับคนต่างๆ เข้ามาในโรงเรียน กทม.มากขึ้น
โดยสำนักการศึกษากทม. เขาก็จะดูแลโรงเรียนของกทม.อยู่แล้ว เราก็ไป Work ในมุมของการเป็นโครงการที่ทำให้โรงเรียนเปิดพื้นที่ด้วย แล้วก็เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาพัฒนาโรงเรียนในมุมต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กๆ
อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งในอนาคตเราก็เชื่อว่า เราอยากจากร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ ในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาบุคลากรทางด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น และเปลี่ยนระบบทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
ถ้าการเรียนรู้ด้วยโมเดลของ Saturday School สามารถเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาไทยได้ คิดว่าอนาคตการศึกษาไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ภาพคือเด็กทุกคนก็จะมีศักยภาพมากขึ้น ผมคิดว่าเด็กจะอยากเรียนรู้และอยากจะพัฒนาตัวเองมากขึ้น และได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และสิ่งที่มากกว่านั้นคือ เราเห็นการศึกษาไทยที่เด็ก Happy ที่จะไปโรงเรียน แล้วก็คุณครูก็ Happy ในการสอน หรืออาจจะเป็นภาพที่โรงเรียนเป็นแค่พื้นที่ แต่เด็กได้เรียนด้วยตัวเอง ภาพในอนาคตผมว่ามันเป็นได้หลายแบบ การเรียนรู้อาจจะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนอย่างเดียวก็ได้
ผมคิดว่าในอนาคต หลังจากการศึกษาเริ่มเปลี่ยนแล้วสังคมก็จะเปลี่ยน สิ่งต่างๆ ที่เราเห็นว่าอาจจะไม่ดีในตอนนี้ ผมว่ามันก็อาจจะถูกแก้ไขจากการที่คนเริ่มมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการใช้ชีวิตกับตัวเองและสังคม
มีอะไรอยากฝากถึงเด็กๆ หรืออาสาสมัครที่อยากเข้าร่วมโครงการบ้าง
สำหรับเด็กๆ ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และอยากที่จะเรียนรู้ ก็อยากให้ทุกคนไม่หยุดที่จะเรียนรู้ อยากให้หาอะไรที่ตัวเองสนใจหรือถ้ามีโอกาสก็เข้ามาติดตาม Saturday School ได้
สำหรับอาสาสมัคร ถ้ามีเวลาว่างไม่มากก็น้อย ผมว่าการที่เรามาช่วยกันพัฒนาเด็กๆ และพัฒนาการศึกษาเนี่ย อาสาสมัครของ Saturday School ก็กลับไปแล้วได้รับอะไรหลายอย่างจากการที่ตั้งใจมาให้ บางทีการที่เราตั้งใจมาให้ก็เป็นสิ่งที่ดีกับคนอื่น แต่สุดท้ายแล้วเขาก็จะได้อะไรบางอย่างที่ดีต่อตัวเขากลับไปเหมือนกัน ทั้งเรื่องของการได้สังคมที่ดีและการพัฒนาตัวเอง แล้วก็การได้พัฒนาสังคม ไปจนถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมากขึ้น ผมก็อยากขอเชิญชวนมาร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาไปด้วยกันครับ
(ติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการของมูลนิธิ Saturday School เพิ่มเติมได้ที่ www.saturday-school.org หรือ เพจ Saturday School)