- Parasocial Relationship คือ ความสัมพันธ์แบบข้างเดียวที่เราทึกทักเอาเองว่าตัวเองมีความผูกพันส่วนตัวกับบุคคลที่มีชื่อเสียง กล่าวคือ เราอาจมีความรู้สึกสนิทสนมใกล้ชิดกับดาราคนหนึ่งมาก ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยรู้จักเราเลย
- ข้อดีคือ ทำให้เรามีต้นแบบที่ดี ช่วยคลายความเหงา และช่วยเติมเต็มความปรารถนา แต่หากเราหมกมุ่นในดารามากเกินไป อาจนำไปสู่ความผูกพันและความผิดหวังหากดาราคนนั้นไม่ปฏิบัติตัวตามที่เราคาดหวังไว้
- ความสัมพันธ์นี้อาจทำให้ประสบปัญหาการเงิน เพราะนำเงินไปทุ่มเทกับดาราจนหมด อีกทั้งยังอาจมองผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ดาราที่ตัวเองชอบเป็นศัตรู เพราะรู้สึกว่าดาราเป็นส่วนหนึ่งในตัวตน การโจมตีดาราก็คือการโจมตีตัวตนของเราด้วย
ทุกคนล้วนมีดาราที่ตนเองชื่นชอบและติดตามอยู่เป็นประจำ ดาราคือบุคคลมีชื่อเสียงที่ปรากฏตัวในสื่อต่างๆ ยิ่งในยุคของโซเชียลมีเดีย การรู้จักดาราก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ทุกคนสามารถติดตามและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาได้อย่างง่ายดายเพียงใช้โทรศัพท์เครื่องเดียว
ด้วยวิธีที่ง่ายดายเช่นนี้ทำให้เรารับรู้เรื่องราวของดาราเป็นอย่างดีจนอาจก่อให้เกิดความผูกพันบางอย่าง เรารู้สึกว่าตัวเองมีความใกล้ชิดกับดารามากจนเหมือนเพื่อนสนิท แต่เพื่อนสนิทคนนี้กลับไม่เคยอยู่ในสายตาของดาราเลยแม้แต่น้อย คล้ายกับความสัมพันธ์แบบรักข้างเดียว หรือที่เรียกว่า ‘ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม’ (Parasocial Relationship)
Parasocial Relationship คืออะไร?
ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม หรือ Parasocial Relationship คือ ความสัมพันธ์แบบข้างเดียวที่เราทึกทักเอาเองว่าตัวเองมีความผูกพันส่วนตัวกับบุคคลที่มีชื่อเสียง กล่าวคือ เราอาจมีความรู้สึกสนิทสนมใกล้ชิดกับดาราคนหนึ่งมาก ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยรู้จักเราเลย
Parasocial Relationship เป็นคำที่คิดขึ้นโดยนักสังคมวิทยา Donald Horton และ Richard Wohl ในปี 1956 ทั้งสองได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ลักษณะนี้โดยสรุปไว้ว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ผู้ชม (เรา) และผู้แสดง (ดารา) เหมือนได้สื่อสารกันต่อหน้า แต่แท้จริงแล้วเป็นภาพลวงตาที่ผู้ชมคิดไปเองว่าได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้แสดงจริงๆ ทำให้เกิดความสนิทสนมที่เป็นเท็จขึ้นมา
ในบริบทของ Horton และ Wohl หมายถึงสื่อโทรทัศน์และวิทยุเท่านั้น แต่ในปัจจุบันที่โลกก้าวล้ำไปมากกว่านั้น Parasocial Relationship จึงไม่จำเป็นต้องเกิดกับดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้น เรายังสามารถพัฒนาความสนิทสนมเช่นนี้กับตัวละครสมมุติที่ไม่มีจริงได้ เช่น ตัวละครในนิยาย ซีรีส์ ภาพยนตร์ หรืออนิเมะ
Parasocial Relationship จะประกอบไปด้วย 3 สิ่งต่อไปนี้
- การมีปฏิสัมพันธ์แบบทางเดียวหลายๆ ครั้ง (Parasocial Interaction) – ปฏิสัมพันธ์นี้เราจะรู้สึกว่ามีการตอบสนองซึ่งกันและกันเกิดขึ้น เช่น เมื่อเราติดตามดารา เรารู้สึกว่าดาราก็รู้ว่าเรากำลังติดตามเขาอยู่ เรารู้สึกว่าดารารับรู้ถึงการมีอยู่ของเรา
- การมีความผูกพันแบบทางเดียว (Parasocial Attachment) – ความผูกพันในที่นี้หมายถึงการแสวงหาความใกล้ชิดผ่านการใช้สื่อในมือของเรา เช่น ดูซีรีส์ที่เขาแสดงซ้ำๆ หรือตามส่องความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย
- การขาดข้อผูกพันหรือภาระหน้าที่ (Lack of Obligation) – ไม่มีใครต้องรับผิดชอบในความสัมพันธ์นี้ เราสามารถถอนตัวออกมาได้ทุกเมื่อโดยไม่มีความผิดอะไร เพราะอีกฝ่ายก็ไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของความสัมพันธ์นี้
แล้วความสัมพันธ์แบบนี้ส่งผลกับเราอย่างไร?
เมื่อค้นหาเกี่ยวกับ Parasocial Relationship ในอินเทอร์เน็ต เราจะพบข้อมูลจากหลายแหล่งที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ลักษณะนี้ได้ในด้านลบ แต่นักจิตวิทยาคลินิก Dr. Adam Borland (2023) ได้กล่าวถึง Parasocial Relationship ไว้ว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี
หากเราประสบกับ Parasocial Relationship ในด้านบวกและนำไปสู่การมีอารมณ์และสังคมที่ดี นั่นก็เป็นเรื่องดี แต่หากความสัมพันธ์นี้เข้ามาควบคุมบงการชีวิตของเรามากเกินไป นั่นก็เป็นสัญญาณว่าเรากำลังประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการแก้ไข
Dr. Borland ได้กล่าวถึงข้อดีของ Parasocial Relationship ไว้ดังนี้
- ทำให้เรามีต้นแบบที่ดี – เมื่อเรารู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกับใคร เราก็อยากจะเป็นเหมือนกับคนนั้น การชื่นชอบดาราทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องดี เราจึงอยากทำตามสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้ดูดีเหมือนเขา
- ช่วยคลายความเหงา – Parasocial Relationship ทำให้เรารู้สึกได้เชื่อมต่อ สบายใจ และมีเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เรารู้สึกเหงาและเดียวดาย เช่นในช่วงต้นการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้องอยู่แต่ในบ้าน
- ช่วยเติมเต็มความปรารถนา – หลายๆ คนไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ตัวเองปรารถนา การเห็นดาราที่เราชอบประสบความสำเร็จในสิ่งเหล่านั้น ทำให้เรารู้สึกยินดีและสมหวังไปกับเขา เพราะความสัมพันธ์นี้ทำให้เรารู้สึกว่าได้ร่วมเดินทางและฝ่าฟันอะไรมาด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม นักจิตบำบัด Angela Ficken (2023) ได้กล่าวถึงความเสี่ยงใน Parasocial Relationship ไว้ว่า คนที่หมกมุ่นในดารามากเกินไป อาจนำไปสู่ความผูกพันทางอารมณ์และความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นหากดาราคนนั้นไม่ปฏิบัติตัวตามที่เราคาดหวังไว้ อีกทั้งความหมกมุ่นที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ความห่างเหินในความสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง
คนที่ตกอยู่ใน Parasocial Relationship จนไม่รู้ตัวว่าอีกฝ่ายไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของตน อาจเกิด ‘ภาวะหลงผิดว่ารัก’ (Erotomania) ซึ่งเป็นภาวะทางจิตที่บุคคลหลงคิดไปเองว่าอีกฝ่ายรักตนเหมือนกับที่ตนรัก โดยอีกฝ่ายมักเป็นดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง
ภาวะหลงผิดว่ารักอาจนำไปสู่พฤติกรรมคุกคามดารา นั่นคือการตามติดดาราที่มากเกินไปจนสร้างความหวาดกลัวให้กับดารา บุคคลที่มีพฤติกรรมนี้มักเรียกว่า ‘สตอกเกอร์’ หรือ ‘ซาแซงแฟน’
Dr. Borland ยังเสริมถึง Parasocial Relationship ที่เป็นพิษว่า อาจทำให้ประสบกับปัญหาทางการเงิน เพราะนำเงินไปทุ่มเทกับดาราจนหมด อีกทั้งยังอาจมองผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ดาราที่ตัวเองชอบเป็นศัตรู เพราะรู้สึกว่าดาราเป็นส่วนหนึ่งในตัวตน การโจมตีดาราก็คือการโจมตีตัวตนของเราด้วย
นอกจากนี้ Parasocial Relationship กับการซื้อสินค้ามีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด จากการศึกษา ‘อิทธิพลของการโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์บนแอปพลิเคชันติ๊กต็อกต่อความตั้งใจซื้อสินค้า’ ของภูรินทร์ จุนประทีปทอง (2565) ด้วยการเก็บข้อมูลจากคนไทยอายุระหว่าง 14-46 ปี จำนวน 224 คน มีหนึ่งในข้อค้นพบว่า
“ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจซื้อในทางบวกมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม”
โดย ‘ความตั้งใจซื้อ’ ในที่นี้ หมายถึงความตั้งใจหรือความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าในอนาคต
สรุปได้ว่า ความรักความสนิทสนมในอินฟลูเอนเซอร์แบบ Parasocial Relationship ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าที่อินฟลูเอนเซอร์คนนั้นนำเสนอหรือแนะนำ จึงไม่แปลกใจหากคนที่หมกมุ่นในความสัมพันธ์ลักษณะนี้จะประสบกับปัญหาทางการเงินได้
หากความสัมพันธ์นี้ก่อให้เกิดปัญหา เราควรทำอย่างไร?
เนื่องจาก Parasocial Relationship ไม่มีข้อผูกพันหรือภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เราจึงสามารถถอนตัวออกมาจากความสัมพันธ์นี้ได้ทุกเมื่อ โดย Dr. Borland แนะนำว่าควรเริ่มด้วยการยอมรับในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับในความรู้สึกที่เกิดขึ้น การยอมรับอาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญ
เมื่อยอมรับแล้วควรปฏิบัติตามต่อไปนี้ เพื่อมูฟออนจากความสัมพันธ์นี้
- พักการใช้โซเชียลมีเดีย – หากไม่สามารถพักได้ก็ให้บล็อกหรือเลิกติดตามดาราคนนั้น รวมถึงกลุ่มแฟนคลับและข่าวที่เกี่ยวกับดาราคนนั้น
- โฟกัสความสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง – ออกไปหาเพื่อนหรือครอบครัวเพื่อใช้เวลาร่วมกัน หรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องนึกถึงดาราคนนั้น
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ – ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักบำบัด เพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของเรา บางทีเราอาจเคยประสบกับการกระทบกระเทือนทางจิตใจที่ร้ายแรงจนกลายเป็นปมให้เราต้องโหยหาความสัมพันธ์ในลักษณะนี้
อ.ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2566) อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เตือนถึง Parasocial Relationship ไว้ว่า “พยายามที่จะลดการไปสร้างความสัมพันธ์แบบ Parasocial เพราะว่ามันไม่จีรังยั่งยืน มันเป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจ…ขึ้นอยู่กับโซเชียลมีเดียและอัลกอริทึม มันไม่จริงแท้เลย แล้วมันเป็นแต่เราที่ให้ความสัมพันธ์ทางเดียวไปกับเขา”
สุดท้ายนี้ ความรักความชื่นชอบและความสนิทสนมแบบข้างเดียวต่อดาราไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป หากมันทำให้เรามีกำลังใจและกลายเป็นคนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้เท่าทันและตระหนักไว้ว่าความสัมพันธ์ลักษณะนี้มีไว้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ
เราควรแบ่งเวลาให้กับโลกโซเชียลและโลกความจริงอย่างเท่าเทียม เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ในชีวิตของเราเอาไว้
อ้างอิง
ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share. (2566). ชัวร์ก่อนแชร์ Keyword : PARASOCIAL ? — ความสัมพันธ์ที่อาจเกิดกับเหล่าแฟนคลับ.
ภูรินทร์ จุนประทีปทอง. (2565). อิทธิพลของการโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์บนแอปพลิเคชันติ๊กต็อกต่อความตั้งใจซื้อสินค้า.
Cleveland Clinic. (2023). Friend or Faux: Are Parasocial Relationships Healthy?
Duszynski-Goodman, L. (2023). What Are Parasocial Relationships—And Are They Healthy?
PPTV Online. (2565). “ภาวะหลงผิดคิดว่ารัก” มโนว่าเขามีใจจนถึงขั้นคุกคามจนอีกฝ่ายหวาดกลัว.
TODAY. (2564). ‘เซฮุน EXO’ ถูกซาแซงแฟนคุกคามหนักโทรหา 100 สายต่อวัน.
Vinney, C. What Is a Parasocial Relationship?
Zuraikat, L. (2020). The Parasocial Nature of the Podcast. In Hendricks, J.A. (Ed.), Radio’s Second Century: Past, Present, and Future Perspectives (pp. 39-52). Rutgers University Press.