- ติดอินเตอร์เน็ต-กลัวตกข่าว–ควบคุมตนเองไม่ได้ 3 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนติดโทรศัพท์มือถือ
- ตามตำราสากลไม่พบคำว่า ‘สังคมก้มหน้า’ แต่ใช้คำว่า Phubbing (ฟับบิ้ง) ที่มาจากคำว่า phone + snubbing แปลว่าเพิกเฉยหรือดูแคลน ใช้เพิกเฉยต่อคู่สนทนาโดยการใช้โทรศัพท์มือถือ
- Phubbing ไปกระทบต่อความต้องการพื้นฐานของจิตใจ การอยากเป็นที่ต้องการของใครสักคน-อยากมีความมั่นใจ-อยากให้คนอื่นมองเห็น-และความต้องการควบคุมอะไรบางอย่าง
เรื่อง: อรสา ศรีดาวเรือง
ปีแรกๆ ของการเป็นจิตแพทย์ คุณหมอไฟแรงชวนเพื่อนๆ ที่แยกย้ายใช้ทุนคนละพื้นที่ไปเที่ยวทะเลต่างจังหวัด ความคิดแรกในใจของ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ตอนนั้น คือ “ทุกคนต้องแย่งกันคุย แย่งกันเล่า เมาท์กันข้ามคืนแน่ๆ”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือกันหมดเลย
“เกิดคำถามว่า เอ๊ะ เราหรือเพื่อนที่แปลกไป เราไม่เล่น (มือถือ) นี่เราผิดปกติหรือเปล่า” คุณหมอลองสังเกตอาการเพื่อนๆ ไปอีกหนึ่งวัน อาการยังเหมือนเดิม
“มันแย่ตรงที่เรามาเจอกันแล้วไม่ได้คุยกัน แต่เรากำลังไปคุยกับใครสักคนที่อยู่ไกลๆ ทั้งๆ ที่ เรานัดกันผ่านมือถือเพื่อให้ได้มาเจอหน้ากันนะ แต่พอมาเจอกันจริงๆ กลับไปคุยกับใครไม่รู้”
นพ.วรตม์ เก็บคำถามนี้ไว้ในใจ แล้วกลับไปเสิร์ชหาในอินเตอร์เน็ตต่อว่า (ไอ้) พฤติกรรมแบบนี้ที่เรียกกันว่า ‘สังคมก้มหน้า’ ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร
“ปรากฏว่าไม่มีคำนี้ครับ” คุณหมอใช้เวลาค้นหาอยู่ 6 เดือนและเจอคำว่า Phubbing (ฟับบิ้ง) ที่มาจากคำว่า phone + snubbing แปลว่าเพิกเฉยหรือดูแคลน
เรื่องตลกกว่ามีอยู่อีกว่า หลังจากค้นหางานวิจัยจากทั่วโลกด้วยการเสิร์ชคำว่า snubbing คุณหมอเจออยู่ทั้งหมด 1 ชิ้นถ้วน และเป็นผลงานนักศึกษาด้วย
“ผมก็เลยต้องไปเรียนต่อและไปทำวิจัยเรื่องนี้ให้ได้ครับ” นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก/วัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต เผย
จึงเป็นที่มาของงานวิจัยที่ชื่อ An Investigation of the antecedents and consequences of ‘Phubbing’: How being snubbed in favour of a mobile phone permeates and effects social life หรือ การศึกษาสาเหตุและผลลัพธ์ของพฤติกรรมฟับบิ้ง: การแทรกซึมและผลต่อชีวิตในสังคมของการเพิกเฉยคนรอบข้างผ่านโทรศัพท์มือถือ
จากความสงสัยนำไปสู่การเรียนต่อและงานวิจัยอย่างไร
ผมรู้สึกว่าวันหนึ่งมันจะเป็นอย่างไรนะถ้าทุกคนในโลกไม่คุยกัน ถ้าทุกคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ ผมเรียนจิตเวชมาผมรู้ว่าถ้าครอบครัวไหนพูดกันน้อยลง ความรุนแรงจะมากขึ้น ความบาดหมางจะมากขึ้น เมื่อความรุนแรงมากขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งจะมากขึ้น คดีต่างๆ ก็เกิดมากขึ้น
ความรุนแรงต่างๆ ในระดับสังคมเกิดจากความรุนแรงเล็กๆ ในครอบครัว แล้วอย่างนี้โลกมันจะไม่แตกหรือ มันจะไม่เกิดหายนะ จะไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สามหรือ? ถ้าปัจจุบันคนไม่เงยหน้าคุยกันแล้ว
ผมก็ไปบอกผู้ใหญ่ในกรมสุขภาพจิตว่าอยากไปเรียนต่อ ปรากฏว่า มีทุนเรียนเรื่องจิตวิทยาสังคมพอดี ก็เลยเขียนโครงร่างงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อส่งให้ไปให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เรื่องตลกก็คือ มหา’ลัยกว่า 10 แห่งที่ผมส่งไป ไม่มีใครรับเลย เขาบอกว่าเรื่องที่คุณทำมันประหลาด
เพราะประเทศอื่นไม่ Phubbing?
คนไทยใช้โทรศัพท์เยอะ ฝรั่งใช้โทรศัพท์น้อยกว่า เขาเรียนรู้ที่จะไม่ใช้โทรศัพท์ต่อหน้าคนอื่น ฝรั่งจึงบอกว่า เฮ้ย คุณทำวิจัยเรื่องอะไร? เขาไม่เห็นว่ามันสำคัญเลย มันคือเรื่องอะไรไม่รู้ จนไปเจอศาสตราจารย์คนหนึ่งเขาทำเรื่อง ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory)…
ดูเป็นเรื่องไม่เกี่ยวเลย?
ใช่ ปรากฏว่าเขาตอบมาอย่างน่าสนใจมากๆ ว่า “ที่บ้านเขาก็เป็น” คืออังกฤษ เขาก็เลยชวนมาทำวิจัยด้วยกัน ผมเลยได้ใบรับรองจากมหา’ลัยขอทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ 4 ปี ทำวิจัยเรื่องนี้อย่างเดียวเลย
ศึกษาและวิจัยอะไรบ้าง
ทำวิจัยรวมกัน 11 ชิ้น ตั้งแต่หาสาเหตุของ Phubbing มีอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ แล้ว Phubbing ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร พูดง่ายๆ คือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบรรทัดฐาน เป็น social norm อย่างไร นี่คืองานวิจัยชิ้นแรก และงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้คนอังกฤษตื่นเต้นมากๆ
การ Phubbing ในคนไทยไม่ได้เป็นปัญหาความรุนแรงและยังไม่เห็นผลชัดเจน เพียงแต่มันเริ่มซึมไปแล้ว ถามว่ามันเป็นปัญหาไหม ใช่ มันเป็นปัญหาแน่นอน ผมว่าปัญหาความรุนแรงในสังคมส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะคนเราคุยกันน้อยลง สมัยก่อนผมบอกให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เดี๋ยวนี้ต้องพูดเพิ่มไปอีกว่าการใช้เวลาร่วมกันไม่ใช่แค่การก้มหน้าเล่นมือถือ
เพราะตอนนี้กลับบ้านไป ลูกเล่นอยู่ทาง พ่อแม่เล่นอยู่อีกทาง บางทีนั่งรวมกันอยู่ในห้องแต่ไม่ได้คุยอะไรกันเลย แต่ละคนเชื่อมไปแต่เรื่องส่วนตัว แต่ไม่ได้เชื่อมโยงคนในครอบครัว
เรื่องนี้เป็นปัญหา และผมพบสาเหตุของมันจากการวิจัย
สาเหตุของการก้มหน้ามีอะไรบ้าง
Phubbing มาจากคำว่า phone + snubbing แปลว่า การเพิกเฉยคู่สนทนาโดยการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ social exclusion หรือการกีดกันทางสังคมรูปแบบหนึ่ง
เกิดจากปัจจัยสำคัญอย่างเดียวเลยคือการติดโทรศัพท์มือถือ ถ้าคนไม่ติดโทรศัพท์มือถือ ไม่มีมือถือ ก็จะไม่ Phubbing
แค่ไหนถึงจะเรียกว่าติด
คำนิยามของการติดมือถือมีเยอะมาก เพราะมันไม่เป็นโรค แต่สำหรับผมการติดโทรศัพท์มือถือ จะต้องทำให้เสียฟังก์ชั่นบางอย่าง เช่น การติดมือถือทำให้ทำงานได้น้อยลง ทำให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนแย่ลง อย่างนี้ผมใช้คำว่าติด พอเกิดลักษณะแบบนี้ส่วนมากจะตามมาด้วยอาการหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถหักห้ามใจที่จะไม่ใช้ได้ แล้วก็เริ่มใช้นานและถี่มากขึ้น เมื่อคนมีอาการแบบนี้ก็จะมีโอกาส Phubbing ใส่คนอื่นมากขึ้น เพราะว่าตัวเองติด ก็จะหยิบขึ้นมาใช้
ทีนี้ผมก็ไปหาต่อว่า แล้วอะไรทำให้คนติดขนาดนั้น ก็พบว่ามี 3 ปัจจัย
ปัจจัยแรก คนต้องติดอินเตอร์เน็ตก่อน ต้องติดการเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ติดในการใช้โซเชียลมีเดียทางอินเตอร์เน็ต ติดการเล่นเกมทางอินเตอร์เน็ต คือต้องมีการติดคอนเทนต์ของโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่ติดโทรศัพท์มือถือ
ปัจจัยที่สอง Fomo ย่อมาจาก fear of missing out คือการกลัวที่จะหลุดข้อมูลข่าวสาร กลัวตกข่าว กลัวไม่รู้ว่าเพื่อนไปไหนกัน ดาราทำอะไรกันอยู่ การกลัวแบบนี้เป็นปัจจัยให้หยิบมือถือขึ้นมา อัพเดทหน่อยซิ และเป็นการหยิบขึ้นมาผิดจังหวะ ต่อหน้าเพื่อน เลยกลายเป็นการ Phubbing เพื่อนไปโดยปริยาย
ปัจจัยสุดท้ายคือ Self-control ไม่ดี หรือการควบคุมตนเองไม่ดี ต่อให้มี fear of missing out หรือว่าติดอินเตอร์เน็ตแต่ว่าคอนโทรลตัวเองได้ ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะก็จะไม่เกิดการ Phubbing
ผมเลยศึกษาต่อว่า แล้ว Phubbing เนี่ย มันมีผลต่อสังคมปัจจุบันยังไงบ้าง ก็ไปเจอว่าคนที่ Phubbing มากขึ้น เช่น ผมหยิบโทรศัพท์มา Phubbing ใส่เพื่อน สุดท้ายแล้วผมจะถูก Phubbing กลับมากขึ้นเช่นกัน
ในจังหวะที่เราเพิกเฉยต่อเขา เราจะกลายเป็นผู้ถูกเพิกเฉยเช่นกัน ยิ่งเราทำมากเท่าไร เราจะยิ่งถูกโต้ตอบกลับมามากขึ้นเท่านั้น
คนที่ Phubbing มากขึ้น ก็ถูก Phubbing กลับมากขึ้นเช่นกัน คนสองประเภทนี้จะทำให้สิ่งที่เรียกว่า การรับรู้บรรทัดฐานทางสังคม (social norm) เปลี่ยนแปลงไป ผมจะเริ่มรู้สึกว่ามันปกติมากขึ้น ทั้งเวลาที่ผมทำและเวลาที่ผมถูกทำมากขึ้น ทั้งสองอย่างนี้จะทำให้ผมรู้สึกว่า ไอ้เนี่ยมันปกติว่ะ แล้วก็จะวนเป็นวัฏจักร
ถ้าวงจรนี้กลายเป็นเรื่องปกติ สังคมจะเป็นอย่างไร
พอมันเป็นเรื่องปกติ ทุกคนก็จะทำกัน วงจรนี้ก็จะไปติดต่อคนอื่นเรื่อยๆ จึงมีความเป็นไปได้สองอย่าง
หนึ่ง คือทุกคนเจอผลกระทบเหมือนๆ กัน สอง คือเริ่มจะไม่มีผลกระทบเพราะว่าทุกคนชินเหมือนเป็นเรื่องปกติ
ผลกระทบระยะสั้นเนี่ย จากการทำและถูกทำซ้ำๆ บ่อยๆ เรื่อยๆ จนตลอดไป อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น หรือบางทีพฤติกรรมแบบนี้มันกลายเป็นปกติสังคม ทุกคนทำหมดก็อาจจะไม่มีผลกระทบระยะสั้นก็ได้ เหลือแต่ผลกระทบระยะยาวอย่างเดียว
งานวิจัยชิ้นที่สองผมอยากรู้ผลมันจะเป็นอย่างไร ผมพบอยู่สองอย่างที่ชัดเจนมากๆ หนึ่งคือ คุณภาพการสนทนาแย่ลงเมื่อมีการ Phubbing มากขึ้น สองคือคุณภาพความสัมพันธ์ ความพึงพอใจในความสัมพันธ์แย่ลง สองอย่างนี้คือเป็นจุดสูงสุดในการสนทนา ถ้าไม่มีสองอย่างนี้ ทั้งคุณภาพและความสัมพันธ์ในการสนทนามันล้มเหลว
ยังไม่พอ เราก็ไปหาว่า เอ๊ะ ทำไมมันเป็นปัญหา จนไปเจอกลไกจริงๆ ว่าการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมามันเป็นรูปแบบหนึ่งของการ social exclusion หรือการกีดกันทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ถ้าเกิดการใช้มือถือรูปแบบนี้ถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางสังคมมันจะเกิดผลทางจิตวิทยาบางอย่าง ซึ่งสุดท้ายจะไปส่งผลทำให้คุณภาพการสนทนาแย่ลง
ก่อนจะไปถึง “คุณภาพของการสนทนาและความสัมพันธ์ที่แย่ลง” ระหว่างทางมันจะเกิดกลไกทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Basic psychological needs หรือ ความต้องการพื้นฐานของจิตใจ มนุษย์เราทุกคนมีความต้องการพื้นฐานทางด้านจิตใจ 4 อย่าง
- เราต้องการเป็นของของใครซักคน หรือ belonging ฟังดูมันโรแมนติกมากเลยนะครับ แต่จริงๆ ความหมายของมันคือการได้เป็นพวกเดียวกัน อันนี้คือสิ่งที่มนุษย์ต้องการ
- มนุษย์ต้องการมี self-esteem ทุกคนไม่อยากอยู่แบบ low self อยากมีความมั่นใจ พอใจตัวเองในการดำรงอยู่ ไม่อย่างนั้น เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้
- Meaningful existence คือการอยู่อย่างมีตัวตน มนุษย์เราจะใช้ชีวิตต่อไปได้ต้องรู้สึกว่าตนเองมีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร ในสังคม ในวงเพื่อน ถ้าเราคบเพื่อน 9 คนแล้วเรารู้สึกไม่มีตัวตนเลย วันหนึ่งเราจะเดินออกไปเอง
- เราต้องการ control ไม่ได้หมายถึงตัวเอง แต่เราต้องการคอนโทรลสถานการณ์บางอย่างได้ เช่น เพื่อนสี่คนไปกินข้าวด้วยกัน ทำไมฉันไม่เคยมีปากเสียงเลยว่าจะไปกินอะไรได้บ้าง ทุกคนอยากมีตัวตนในวงสังคมโดยที่สามารถคอนโทรลอะไรได้บ้าง
ปรากฏว่า Phubbing ไปกระแทกทั้งสี่ปัจจัยเลย
การ Phubbing ไปทำให้ทั้งสี่อย่างพื้นฐานทางด้านจิตใจของคนที่ถูก Phubbing ใส่เกิดปัญหา ทำให้เขาเสียความรู้สึก belonging ต่อการสนทนาในวงนี้ไป เขาเสีย self-esteem เขารู้สึกไม่ดึงดูดพอ ไม่มีตัวตน สุดท้ายเขารู้สึกว่าเขาคอนโทรลอะไรไม่ได้เลย ทั้งสี่อย่างนี้ทำให้คุณภาพการสนทนาแย่ลง ความสัมพันธ์กับคู่สนทนาแย่ลง
พองานวิจัยเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ สื่อต่างๆ ทั้ง BCC CNN สนใจมากเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่พบว่า Phubbing มีผลจริงๆ โดยผ่านกลไกทางจิตวิทยาบางอย่าง
แต่ที่น่าสนใจมากๆ เป็นผลจากงานวิจัยชิ้นสุดท้ายของผมที่พบว่า ถ้าคู่สนทนาที่เรา Phubbing ใส่เป็นคนที่เราเกลียด มันจะให้ผลแบบเดียวกันไหม ผมก็ไปวิจัย ปรากฏว่าคำตอบคือ ‘เหมือนกัน’ พฤติกรรมนี้มันรุนแรงขนาดที่ว่า ไม่ว่าเพื่อนจะทำหรือว่าศัตรูทำ ความรุนแรงเท่ากัน
เพราะอะไร
เพราะว่าความรุนแรงมันอยู่ที่ตัวพฤติกรรม ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล มันเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงมากจนเกินขนาดที่เราจะมาพิจารณาที่ตัวบุคคล
พฤติกรรมความรุนแรงหลายอย่างจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตัวแปรที่มาเปลี่ยนแปลงผลของมัน (moderator) เช่น บางทีรถมันแรงมากเลย ไม่ว่าฝนจะตก ไม่ว่าดินจะถล่ม แต่ความแรงเท่าเดิม เพราะรถมันแรง เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมนี้ที่รุนแรงขนาดที่ว่า คู่สนทนาจะเป็นใครก็ตาม ไม่สามารถปรับผลกระทบจากมันได้เลย
แสดงว่าสี่ปัจจัยที่คุณหมอว่า คือ การเป็นของใครสักคน, ความมั่นใจ, การอยู่อย่างมีตัวตน และ ความสามารถในการควบคุม คือปัจจัยสี่ของหัวใจ?
ใช่ครับ เป็นปัจจัยสี่ทางด้านจิตใจที่ทุกคนต้องการ
อะไรก็ตามที่มากระทบปัจจัยสี่ มันรุนแรงหมด?
ใช่ครับ เพราะมันไม่ใช่กระทบแค่เปลือกเรา มันกระทบตัวตนของเรา มันกระทบความดำรงอยู่ ความมีอยู่ของเรา ความ belonging ของเรา
ลองคิดดูถ้าเราอยู่ในสภาพสังคมที่เราไม่ belong เลย เราไม่มีความหมายในการมีอยู่ พรุ่งนี้เราจะหายใจไปทำไม
กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือเราเป็น ‘อากาศ’ สำหรับทุกคน
ใช่ครับ นั่งอยู่ในวงแล้วเราเริ่มจางไปเรื่อยๆ เนื่องจากบางทีมันเคยชินแล้วเราไม่ได้สนใจมากกว่าว่ามันมีผลกระทบอะไร แต่จริงๆ ถ้ามองดูดีๆ ลองหยิบมือถือมาวางแล้วมองดูเพื่อนก้มหน้าเล่นมือถือ เราจะรู้สึกว่าตัวตนเราจางไปเรื่อยๆ นะ คือ เราไม่มีตัวตน ต้องลองหยุดเล่นแล้วทุกคนกลับมาคุยกันใหม่ ตัวตนเราจะเริ่มเข้มขึ้นเรื่อยๆ วิญญาณเริ่มกลับมาเข้าร่าง
อย่างที่คุณหมอบอกว่าการไม่คุยกันมันเป็นจุดบาดหมางเล็กๆ ที่จะลุกลามไปเรื่อยๆ อยากให้ยกตัวอย่างว่า สถานการณ์ที่ว่านี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ลูกหนีออกมาจากบ้าน (ตอบทันที) เคสบางเคสเกิดจากเรื่องง่ายๆ คือลูกมีแฟนแล้วอยากเล่าให้ที่บ้านฟัง แต่หาจังหวะเล่าไม่ได้เพราะว่าพ่ออยู่หน้าคอม แม่เล่นมือถืออยู่ พอจะบอกปุ๊บ แม่บอกว่าเดี๋ยวค่อยคุย ติดธุระอยู่ คนไข้ผมเนี่ย พอเจอแบบนี้ก็เสียใจ โทรคุยกับแฟน ทำยังไงดีวะๆ พอกลับมาอีกทีหนึ่งก็บอกแม่ หนูจะปรึกษาเรื่องแฟน แม่ก็ว่า อะไรกันมีแฟน ฉันไม่อยากคุยกับแก ฉันไม่ได้สอนให้แกมีแฟน สุดท้ายก็หนีออกจากบ้านไปอยู่กับแฟนดีกว่า จนมีปัญหาครอบครัว ต้องมาเจอจิตแพทย์
ตัวอย่างแบบนี้มีบ่อยมากๆ เกิดจากการไม่คุยกัน หรือว่าเข้าใจผิดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่คุยกัน คือบางทีอย่างเช่นกลับบ้านดึก เพราะว่างานเยอะ หรือเรื่องไม่ทำกับข้าว กลับบ้านมาแล้วหวังว่าแฟนจะทำกับข้าวให้ แต่กลับบ้านมาไม่มีข้าวกิน โวยวายก่อนเลย สรุปแฟนป่วยนอนอยู่ในห้อง แค่นี้ครับ เพราะว่าไม่ได้คุยกัน ทั้งแฟนที่อาจจะโทรไปบอกว่าวันนี้ฉันป่วยนะ หรืออีกฝั่งหนึ่งที่กลับมาบ้านก็แทนที่จะเดินไปคุยว่าทำไมไม่ทำกับข้าว เกิดอะไรขึ้น แต่มันไม่เกิดการคุยกัน ปัญหามันก็เกิดขึ้น
มันมีปัจจัยอื่นๆ แวดล้อมด้วยหรือเปล่าที่ทำให้คนคุยกันน้อยลง
ผมคิดว่าการ ‘คุยกัน’ มันยากมากขึ้น เมื่อเราเรียนรู้การใช้แอพพลิเคชั่นที่เป็น instant messaging ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนในปัจจุบันใช้ ตั้งแต่ส่งอีเมล SMS สมัยก่อนก็เพิร์ซ 98 ICQ MSN
การคิดก่อนแล้วพิมพ์ มันทำให้สิ่งที่เราพิมพ์ไป มันง่าย อย่างเราคุยกันต้องคิดไปด้วย ต้องประมวลอยู่ตลอดเวลามันยาก ต้องมองหน้ามองตากัน ผมจะต้องทำหน้าทำตาให้สอดคล้องกับเรื่องที่ผมพูด ผมจะต้องสื่อภาษากายให้ตรงกับเรื่องที่พูดไปด้วย มันเหนื่อยและยากนะครับบางที การเข้ามาของ instant messaging ทำให้ skill ในการสนทนาของคนมันเปลี่ยนแปลงไป
ยิ่งในปัจจุบัน Line หรือว่า Facebook เองมันมีฟังก์ชั่นหนึ่งที่ทำให้เราแย่ลงไปอีก คือการลบได้ พูดแล้วลบได้ ลบหรือแก้ไขโพสต์ก็ได้ โอเคมันอาจจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์เรา แต่มันทำให้ skill เราแย่ลงไป เพราะว่าในชีวิตจริงเราแก้ไม่ได้ เราไม่สามารถกดหยุดส่งได้
ผลที่ชัดจากเรื่องนี้ทำให้เด็กติดเกมมากขึ้น หลายคนติดเกมเพราะว่ามันสนุกแต่อีกหลายคนติดเกมเพราะว่า ติดเพื่อนในโลกออนไลน์ เพราะมันไม่ต้องเห็นตัวตน ไม่ต้องใช้อวัจนะภาษา คุณพิมพ์อะไรถ้ารู้สึกว่ามันไม่ดี คุณลบมันไปได้ นั่นแหละครับ คุณไม่ต้องพึ่งพาจิตใต้สำนึกคุณมาก คุณพึ่งแต่จิตสำนึกแล้วพิมพ์ออกไป แล้วค่อยกดส่ง ภาพลักษณ์ออกมาดูดีแต่ความเป็นจริงมันทำให้เราคุยกันยากมากขึ้น บางครอบครัวจะเรียกลูกที่อยู่ชั้นบนด้วยการส่งไลน์ จะส่งทำไม? ทำไมไม่เดินไปเรียกล่ะ? เพราะว่ามันยากไงครับ เพราะกลัวเรียกไปจะโดนโวยวายกลับมา ลูกทำอะไรอยู่ไม่รู้ ส่งไลน์ดีกว่า
การส่ง Line ส่งข้อความ instant ต่างๆ มันเหมือนกับว่าพอเราส่งไปได้มันจบหน้าที่เรา แต่เรากำลังผลักข้อความหรือภาระของเราไปให้คนอื่น
ใช่ครับ คือเราจะหยุดการสนทนาเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วหลายๆ อย่าง เราสามารถปรับโทนการสนทนาได้โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาก เช่นผมกำลังคุยกับคุณ แล้วผมรู้สึกโกรธขึ้นเรื่อยๆ บทสนทนาร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดูมีอารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ผมจะต้องใช้ความสามารถในการที่จะค่อยๆ ทำให้บทสนทนามันเบาโทนลง
แต่ใน Line ผมสามารถส่งสติกเกอร์หัวใจไปอันเดียวแล้วก็ปรับโทนขำก็ได้ เปลี่ยนประโยคจากที่ผมด่าๆ อยู่เนี่ย แค่ส่งสติกเกอร์ไปเพิ่มอีกตัวนึงก็กลายเป็นเรื่องโจ๊กได้ กลายเป็นว่าเราสามารถปรับโทนได้เลย มันง่ายครับ แต่มันทำให้ skill ของจริงเราน้อยลง
จะมีวิธีหรือกระบวนการอะไร ช่วยดึงคนที่อยู่ในภาวะของการติดมือถือให้ตระหนักรู้และคอนโทรลตัวเองได้บ้าง
สติ คือคนเราจะติดสิ่งที่สนุก มันให้ reward กับเรา ถ้าพูดเชิงวิทยาศาสตร์เลยคือ dopamine เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่อยู่ในสมอง ติดยาเสพติด การพนัน ทุกอย่างนี้มันไปกระตุ้นวงจร dopamine system ซึ่งมันจะหลั่งทำให้เกิดความติด เช่นกันครับ มีงานวิจัยบอกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง dopamine มาก แล้วมันให้ reward เราตลอดเวลา เช่น เพื่อนคอมเมนท์ เพื่อนกดไลค์ กดแชร์ นั่นคือเขาให้รางวัลเรา เราก็อยากจะเขียนบทความต่อไป วนอย่างนี้เป็นวงจร
แต่สติจะดึงเราออกมาได้ เตือนเราว่ากำลังทำมันมากเกินไป มันกำลังรบกวนชีวิตเรา พอเรามีสติรู้ว่าเรากำลังพึ่งพิงมันมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น เราก็สามารถหยุดมันได้
อีกอันหนึ่งคือ ไปทำอะไรที่เราสนใจมากกว่า เช่นช่วงปิดเล่มผมต้องไปทำธีสิส ผมก็จะเงียบหายไปจากเฟซบุ๊ค เพราะผมไปสนใจเรื่องอื่นมากกว่า มีเรื่องอื่นที่ทำแล้วมันมีประโยชน์มากกว่า คือ งานเสร็จ เรียนนจบ สบายใจ นั่นก็เป็น reward อีกอย่างนึง ให้ผลมากกว่าด้วย
แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือคนยังติดมือถือ แสดงว่าคนก็ยังหาสิ่งอื่นที่มี reward ไม่เจอ?
เราให้คุณค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในออนไลน์ ให้คุณค่ากับการตอบสนองของเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าการที่เราให้คุณค่ากับการสนทนากับตัวจริงๆ เพราะถ้าเราสนทนาแบบเจอตัวจริงเราจะเห็นว่า การสนทนาแบบนี้มันให้ reward เรานะ เราได้ความรู้มากขึ้น ได้ความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น เราก็จะเลือกมาสนทนากับโลกความเป็นจริงมากกว่า มันคือการให้คุณค่า
ต่างประเทศเขาไม่ได้ให้ค่ากับการสนทนาในออนไลน์มากเท่าคนไทย เราให้ค่ามันเท่าๆ กับการสนทนาแบบปกติเลยด้วยซ้ำ แต่ฝรั่ง งานสำคัญต้องนัดคุยกัน ไม่มีทางที่จะมาพิมพ์ข้อความแล้วบอกเป็นตัวอักษร
นอกจากเราจะคุยกันน้อยลง เราจะทนกับ ‘ความเงียบ’ ได้น้อยลงด้วย?
เป็น silent anxiety คือจริงๆ ในการพิมพ์ text หากันมันมีช่องว่างนะครับ มันมี silent เช่น ยังไม่อ่าน อ่านแล้วยังไม่ตอบ เราก็จะรู้สึกกังวล ว่าเป็นอะไรวะ คิดอะไรอยู่ แต่ silent ระหว่างคุยกันเนี่ย … (เงียบ) … เห็นไหมครับ น่ากังวลไหมครับ นี่คือ silent ตอนที่ผมหยุดนิ่งไปสามวินาที ‘หมอเป็นอะไรวะ ทำไมหมอหยุดพูด’ ความกังวลเต็มไปหมดเพราะเรามองหน้ากันอยู่ silent มันน่ากลัวครับ หรือ read แล้วไม่ตอบ ยังไม่น่ากลัวมากเพราะเราไม่เห็นหน้า
แต่ถ้าเจอหน้ากันอย่างนี้ พูดออกไปแล้ว คนฟัง ฟังหรือ read แล้ว แต่ไม่ตอบ เงียบ นี่คืออีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้การสนทนายากมากขึ้น
หมายความว่าสาเหตุที่เราทนกับความเงียบได้น้อยลง เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียโดยตรงเลยไหม
(พยักหน้า) ผมว่าเป็นปัจจัยเกือบจะหลักเลยด้วยซ้ำ กับอีกอย่างหนึ่งคือ สังคมที่มันเร่งรีบมากขึ้น ทุกคนมีเวลาน้อยลง คนจะทนกับการที่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไรได้น้อยลง เวลามันน้อยอะครับต้องรีบคุยๆ ให้จบ จะให้มานั่งเงียบๆ เนี่ยทำได้ยาก ยิ่งมีความกังวลเรื่องความเงียบ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะหยิบมือถือเข้ามาเล่นมากขึ้น
ทำไมการใช้โซเชียลมีเดียทำให้เรากลัวที่จะเงียบ
เพราะว่าความเงียบมันไปกระทบพื้นฐานทางด้านจิตใจ เรื่องการมีตัวตนของเรา เรารู้สึกว่าพอเราเงียบ ตัวตนหายละ เริ่มรู้สึกด้อยค่า บางทีผมไปจีบผู้หญิงคนหนึ่งแล้วผมส่งข้อความไป อ่านไปครึ่ง ชม. ไม่ตอบ แสดงว่าผู้หญิงคนนั้นต้องคุยกับผู้ชายอีกคนหล่อกว่า รวยกว่าแน่ๆ เลย เรารู้สึกคอนโทรลคู่สนทนาไม่ได้เพราะเขาเงียบ
ความว่างเปล่าคือพื้นที่ในการจินตนาการ คนเรากลัวความมืดเพราะว่าเราจินตนาการว่ามันอาจจะมีผี มีสัตว์ร้ายอยู่ ความเงียบก็เช่นกัน
ถ้าเรากลัวความเงียบ เราจำเป็นต้องมีอะไรทำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราจะมีสมาธิหรือโฟกัสกับอะไรซักอย่างมันน้อยลงด้วยหรือเปล่าคะ เพราะทุกอย่างดูเร่งเร็วตลอดเวลา
เป็นไปได้ครับ ปัจจุบันคนพูดถึง multitasking เยอะ มันมีแง่ดีนะครับเพราะคนเราควรมีความสามารถ multitasking แต่ถ้า multitasking มากเกินไป ทำแล้วไม่รอผลของมันก่อน แล้วไปทำอย่างอื่นต่อ ไปๆ มาๆ สรุปคือไม่สำเร็จอะไรซักอย่างเพราะคุณไม่มีการรอคอย โอเคส่วนหนึ่งเป็นความเงียบ แต่อีกส่วนเขาเรียกว่า delay gratification คือการรอเพื่อให้เกิดผลบางอย่างที่ดีกว่า แต่เราไม่สามารถรอได้ อย่างที่บอก สมาธิสั้น ไม่ใช่โรคนะ แต่เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สั้นลง เพราะเราอยากทำนู่นทำนั่นทำนี่ทั้งที่ยังไม่รอให้เกิดผลที่ดีเลยด้วยซ้ำ
อาการที่หมอบอกว่าเราติด content ในโซเชียลมีเดียมันสามารถพัฒนาเป็นโรคได้ไหม
ปัจจุบันเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตระกูลนี้มีแค่โรคเดียวคือ internet gaming disorder: โรคติดเกม อนาคตไม่รู้ ถ้ามีการวิจัยที่มากขึ้น เขาก็อาจจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไปเป็นโรคตามเกณฑ์วินิจฉัยได้ แต่สิ่งที่ไม่เป็นโรคไม่ใช่ว่าไม่เกิดปัญหา ถ้าเกิดปัญหาก็ต้องแก้แม้ว่ามันจะไม่เป็นโรคก็ตาม ตอนนี้ถามว่ามีปัญหาไหม มีแน่นอน เพราะไม่ว่าจะประเทศอะไรก็ตามเริ่มมี guideline ออกมาแล้ว อย่างเช่นเด็กเล็กๆ ควรใช้โทรศัพท์หน้าจอขนาดเท่าไร ไม่ควรใช้ตั้งแต่อายุเท่าไรถึงเท่าไร
ฉะนั้นทุกคนเห็นปัญหา แต่ว่าจะทำหรือไม่ทำก็ต้องพิจารณาผ่านงานวิจัยว่า มันมีงานวิจัยเพียงพอไหมที่จะออกแนวทางในการทำงานต่างๆ
ทุกวันนี้คนไข้มาขอคำปรึกษาคุณหมอด้วยเรื่องอะไรบ้าง
ร้อยสาเหตุเลยครับ เรียนตก ติดเกม ติดยาเสพติด การพนัน ความรุนแรงในโรงเรียน เป็นเหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนก็มี ถูก bully ลากลงไปเจอปัญหาเรื่องพ่อแม่ลูกไม่คุยกันเกือบทั้งหมด ทั้งคนที่ทำและคนที่เป็นเหยื่อ คนที่เป็นเหยื่อเองก็ไม่ได้คุยเพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร คนที่ไปทำก็เกิดจากที่ไม่ได้รับแบบอย่างที่ดี ไม่ได้ผ่านการถูกสอนว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ไม่เคยได้รับคำชม เขาก็ไปหาแรงเสริมในทางลบ ไปหา reward ทางอื่นเช่นเป็นหัวหน้าแก๊ง เพื่อนชื่นชม
ถามว่าสิ่งดีๆ เคยเกิดขึ้นในครอบครัวไหม มี ทุกคนเคยมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในครอบครัว แต่ไม่มีเวลาพอที่จะมาจับข้อถูกตรงนั้นแล้วยกมาพูดคุยชมเชยกัน
พอสาวปัญหาไป ทั้งหมดเกิดจากการไม่ได้คุยกัน ในฐานะจิตแพทย์ มีวิธีแนะนำหรือเริ่มให้กลับมาคุยกันอย่างไร
การเริ่มมันยากจริงๆ ถ้าถามว่าเริ่มตรงไหน ต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ก่อนว่าสิ่งนี้จำเป็นจริงๆ เกินกว่าครึ่งเท่าที่ผมเคยคุยกับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้ตระหนักว่าเวลาของครอบครัวนั้นสำคัญ ต้องทำให้ตระหนักก่อนว่าครอบครัวดีจะแบ่งเบาภาระไปได้มหาศาลขนาดไหน
สิ่งต่อมาคือสร้าง เหมือนการลดความอ้วนครับ ชอบมีคนบอกว่าถ้าคุณไม่มีเวลาออกกำลังกายคุณต้องสร้างมันขึ้นมา คุณต้องเห็นก่อนว่าตัวเองสุขภาพไม่ดีละ คุณต้องสร้างเวลา เช่น ครึ่ง ชม. – 1 ชม. จะอยู่กับลูก ไม่ทำอย่างอื่น ให้เวลาลูก ถ้าเกิดเวลาเยอะหน่อยก็ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ว่ายน้ำ เดินเล่นสวนสาธารณะเย็นๆ เดินห้างก็ได้ถ้าขี้เกียจมาก ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน พ่อกวาด ลูกถู กิจกรรมครอบครัวเกิดขึ้นได้ทุกที เรื่องง่ายๆ แค่นี้เราสามารถทำได้ อยู่ที่คุณรู้หรือเปล่าว่าครอบครัวของคุณต้องการมัน
หลายบ้านรู้ว่ามันสำคัญ แต่ไม่ทำหรือทำไม่ได้?
เพราะเขาไม่เห็นผลปลายทาง ไม่มีใครโชว์ให้เขาเห็นว่า เด็กแว้น เด็กเดินยา ทุกคนเกิดจากปัญหาตอนเป็นเด็กเล็กทั้งนั้น ไม่เคยมีใครหรืออะไรเกิดจากปัญหาใหญ่ๆ เกิดจากปัญหาเล็กๆ คือ การไม่พูดคุยกันในบ้านทั้งนั้น