- หากหญ้าทะเลหายไป บ้านของสัตว์หน้าดินก็หาย สัตว์ทะเลก็จะลดน้อยลง ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงชนิดที่เป็นอาหารของมนุษย์ด้วย…นี่น่าจะเป็นแก่นสารสำคัญที่นักนิเวศวิทยาทางทะเลพยายามส่งต่อ ‘ความรู้’ และ ‘ความตระหนักรู้’ ไปสู่สังคม
- เปิดห้องทำงานที่มีฟ้ากว้างๆ แทนหลังคา มีชายหาดและท้องทะเลเป็นโต๊ะทำงาน และมีปลาปูตัวเล็กตัวน้อยเป็นเพื่อนแก้เหงา ของ ดร.กริ่งผกา วังกุลางกูร นักนิเวศวิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุยกันถึงภารกิจการสำรวจและวิจัยระบบนิเวศ ‘หอสี่หลัง’ อุทยานธรณีโลกสตูล
- บทบาทของนักนิเวศวิทยาทางทะเลไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างองค์ความรู้ แต่ยังขยายไปถึงการส่งต่อความรู้สู่ชุมชน-สังคม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
เรือเล็กฝ่าคลื่นลมจากฝั่งมาจนถึงสถานที่ที่รู้จักกันในชื่อ ‘หอสี่หลัง’ หาดทรายผืนใหญ่กลางทะเลอันดามันที่เก็บซ่อนสิ่งชีวิตเล็กๆ อันน่าทึ่งไว้ท่ามกลางความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็น หญ้าใบพาย หญ้าทะเลเล็กจิ๋วที่สุดในประเทศไทย. ปูทหาร กองพลสุดคิวท์ผู้ไม่เคยรุกรานใคร หรือ ปูก้ามดาบ ที่ชอบเบ่งกล้ามอวดสาวเป็นงานอดิเรก
ทันทีที่เรือเทียบชายหาด ‘หอสี่หลัง’ อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun Geopark) ท่ามกลางแสงแดดจ้าในวันฟ้าใสที่ใครต่อใครพากันหาร่มเงาหลบร้อน หญิงสาวท่าทางทะมัดทะแมงคนหนึ่งกำลังก้มๆ เงยๆ เหมือนสำรวจอะไรบางอย่าง ก่อนจะชี้ชวนให้คนอื่นๆ ได้ร่วมเรียนรู้กับการค้นพบของเธอในฐานะ นักนิเวศวิทยาทางทะเล (Marine Ecologist)
“เท่าที่ทีมสำรวจมา หญ้าใบพายเจอได้หลายที่ แต่ที่นี่มีขนาดเล็กมาก น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไปว่าทำไมที่นี่ถึงมีขนาดเล็กอย่างนี้” ผศ.ดร.กริ่งผกา วังกุลางกูร อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พูดถึง ‘หญ้าใบพาย’ หญ้าทะเลขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทยที่มีสถานภาพเป็นชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ก่อนจะเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร
“พวกหญ้าทะเลจะเป็นผู้ผลิตเบื้องต้นของห่วงโซ่อาหาร เวลาเขาอยู่ด้วยกันแน่นๆ พวกตะกอนก็จะมาอัดแน่นอยู่ทำให้เกิดสันทรายปนโคลน สิ่งมีชีวิตก็จะอยู่อาศัยได้ แล้วในโคลนเหล่านี้ก็จะมีสารอินทรีย์ ไส้เดือนทะเล หอย กุ้ง สัตว์หน้าดินต่างๆ เขาก็จะมาอาศัยอยู่ เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยที่จำเพาะในแนวหญ้าทะเล ซึ่งพวกปลา ปู กุ้ง ที่เราใช้ประโยชน์ทางการประมง ก็อาศัยสิ่งมีชีวิตพื้นทะเลเหล่านี้แหละเป็นอาหารของเขา”
กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ หากหญ้าทะเลหายไป บ้านของสัตว์หน้าดินก็หาย สัตว์ทะเลก็จะลดน้อยลง ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงชนิดที่เป็นอาหารของมนุษย์ด้วย …และนี่น่าจะเป็นแก่นสารสำคัญที่นักนิเวศวิทยาทางทะเลพยายามส่งต่อ ‘ความรู้’ และ ‘ความตระหนักรู้’ ไปสู่สังคม
Marine Ecologist คือใคร?
ก่อนจะไปถึงคำอธิบายว่า Marine Ecologist คือใคร? อยากชวนทุกคนให้จินตนาการถึงห้องทำงานที่มีฟ้ากว้างๆ แทนหลังคา มีชายหาดและท้องทะเลเป็นโต๊ะทำงาน และมีเพื่อนใหม่อย่างน้องปู น้องปลา มาทักทายเป็นครั้งคราว
ดร.กริ่งผกา ให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการของ Marine Ecologist หรือ นักนิเวศวิทยาทางทะเล ว่าหมายถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต และปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
“ถ้ากล่าวในเชิงวิชาการ เราทำงานวิจัยเพื่อตอบคำถามหลักๆ ที่ว่า ในทะเลนั้นมีสิ่งมีชีวิตอะไร อยู่ที่ไหน อะไรคือปัจจัยที่ทำให้มีสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อยู่หรือไม่อยู่อาศัย ณ ที่หนึ่งๆ
ความรู้เหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์หลักๆ คือ การอนุรักษ์เพื่อการใช้ทรัพยากรชีวภาพในทะเลอย่างยั่งยืน เช่น การที่เราอนุรักษ์พะยูน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เราก็ต้องทราบว่าพะยูนกินหญ้าทะเล และมีที่อยู่อาศัยหลักๆ คือบริเวณแหล่งหญ้าทะเล เราต้องอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลก่อนจึงจะอนุรักษ์พะยูนได้
หรือ การทำประมง เราศึกษาว่าควรจับปลาขนาดไหน เพื่อให้ปลาได้มีโอกาสสืบพันธุ์สร้างลูกหลานก่อนที่จะถูกจับ ความรู้เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาทางทะเลทั้งสิ้น การทำงานเป็นนักนิเวศวิทยาทางทะเล สามารถเรียนจบมาได้จากหลากหลายสาขา เช่น ชีววิทยา นิเวศวิทยา การจัดการสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือประมง”
ทำไมต้องศึกษาระบบนิเวศ ‘หอสี่หลัง’
ในบทบาทของนักนิเวศวิทยาทางทะเล และอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นอกจากภารกิจการเรียนการสอนแล้ว งานวิจัยคือการเติมความรู้ให้กับตนเองและวิชาการด้านนี้ โดยมีเป้าหมายปลายทางคือการคืนความรู้สู่สังคมชุมชน
“เมื่ออุทยานธรณีสตูลได้รับการแต่งตั้งเป็นอุทยานธรณีระดับโลกโดยยูเนสโก ทางผู้บริหารอุทยานธรณีโลกสตูลได้ประสานความร่วมมือกับ สวทช. ที่จะให้มีการทำวิจัยในพื้นที่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ขณะนั้นพื้นที่หอสี่หลังเป็นจุดท่องเที่ยวแหล่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม จึงได้กำหนดให้หอสี่หลังเป็นพื้นที่ศึกษาหนึ่งในโครงการด้วย ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็เน้นแนวชายฝั่ง เช่น บ่อเจ็ดลูก แหลมสน บุโบย และเกาะต่างๆ ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูล เช่น เกาะลิดี เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี”
ดร.กริ่งผกา กล่าวถึงที่มาของโครงการ ‘การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน’ โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งประกอบด้วยทีมวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ส่วนงานวิจัยด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการโดยนักวิจัยจากวิทยาลัยชุมชนสตูล
สำหรับวัตถุประสงค์ของการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ก็เพื่อสร้างฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ สร้างองค์ความรู้ให้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้นำไปใช้เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว และเพื่อสร้างแนวทางการจัดการทรัพยากรชีวภาพของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ในอุทยานธรณีโลกสตูล
“เราพบสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 566 สปีชีส์ แบ่งออกเป็นสาหร่ายทะเล 25 ชนิด พืชมีท่อลำเลียง (หญ้าทะเล และพืชบก) 11 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอย กุ้ง ปู ไส้เดือนทะเล 301 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลา นก โลมา พะยูน 229 ชนิด”
และที่ต้องขีดเส้นใต้หนาๆ คือ นักวิจัยพบ หญ้าใบพาย Halophila beccarii หญ้าทะเลขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทยที่มีสถานภาพเป็นชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable Species) ตามบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Redlist) โดยพบเป็นผืนใหญ่ที่หอสี่หลัง
“หญ้าชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เนื่องจากมักเจริญเติบโตขึ้นในพื้นที่น้ำกร่อยซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ ในแนวชายฝั่งทะเล จึงอ่อนไหวต่อการถูกรบกวนโดยกิจกรรมของมนุษย์
นอกจากนี้หญ้าใบพายที่หอสี่หลังยังมีขนาดเล็กมากจึงถูกทับถมด้วยตะกอนได้ง่าย กิจกรรมใดๆ ที่เป็นการรบกวนตะกอน เช่น การทำประมง อวนลาก อวนรุน การก่อสร้างริมชายฝั่ง จึงส่งผลเสียต่อหญ้าใบพาย หรือการปลูกต้นไม้ชายเลน จะทำให้เกิดการบดบังแสงและหญ้าใบพายจะขึ้นอยู่ในบริเวณนั้นไม่ได้” ดร.กริ่งผกา แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่โยงใยในห่วงโซ่อาหาร
“เราพบว่าการมีหญ้าใบพายอยู่ในพื้นที่หอสี่หลัง ทำให้เกิดการสะสมของตะกอน บริเวณพื้นทะเลมีความแน่นขึ้น และเกิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพื้นทะเลหลายชนิด ที่เป็นอาหารของทั้งมนุษย์ เช่น หอยหวาน หรือ หอยตลับ และเป็นอาหารของสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลา ชนิดต่างๆ หญ้าทะเลยังเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด เช่น พะยูน เต่าทะเล อีกด้วย”
คืนความรู้สู่ชุมชน ผ่านแพลตฟอร์ม ‘นวนุรักษ์’
ภายใต้ระบบนิเวศคือปฏิสัมพันธ์และความเชื่อมโยง ดังคำกล่าวที่ว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ บทบาทของนักนิเวศวิทยาทางทะเลจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างองค์ความรู้ แต่ยังขยายไปถึงการส่งต่อความรู้สู่ชุมชน-สังคม เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
“โครงการนี้ สวทช. ให้ทุนสนับสนุนตั้งแต่การสำรวจในภาคสนามเพื่อจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ และการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน โดยเน้นที่มัคคุเทศก์ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถนำเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และการอนุรักษ์ไปถ่ายทอดต่อแก่นักท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและให้การศึกษาถ่ายทอดความรู้แก่คนทั่วไปด้วย”
ดร. กริ่งผกา เล่าถึงการนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ว่า นอกจากจะดำเนินการผ่านการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนแล้ว ยังมีการผลิตเนื้อหาเพื่อนำเสนอบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘นวนุรักษ์’ ซึ่งนักวิจัยจะนำเข้ารายการสิ่งมีชีวิตที่พบได้ในระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล พฤติกรรมสัตว์ หรือเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจต่างๆ
ปัจจุบันมีการนำเข้าข้อมูลในนวนุรักษ์แล้วกว่า 1,030 รายการ เนื้อหาเหล่านี้ผู้ที่สนใจ มัคคุเทศก์ หรือผู้บริหารจัดการอุทยานธรณีโลกสตูล สามารถเข้าถึงได้ในเว็บไซต์ (https://navanurak.in.th/) หรือแอปพลิเคชันของนวนุรักษ์
“การทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ทำให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพทางทะเลในอุทยานธรณีโลกสตูล เช่น การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลที่หอสี่หลัง โดยการระมัดระวังไม่ให้กิจกรรมของมนุษย์รบกวนแนวหญ้าทะเล การท่องเที่ยวชมนกเหยี่ยวแดงที่ถูกต้อง โดยการไม่ให้อาหารล่อ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมเหยี่ยวส่งผลเสียระยะยาวต่อประชากรเหยี่ยวแดง”
ความคาดหวังของ Marine Ecologist
เพราะมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวในระบบนิเวศอันซับซ้อนและเกื้อกูลกันได้ การศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาทางทะเลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้เราเข้าใจธรรมชาติและมีแนวทางที่เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
“เราคาดหวังว่างานวิจัยด้านนี้จะได้รับความสนใจและรัฐให้ความสำคัญ” ดร. กริ่งผกา ชี้ชัด ก่อนจะชวนคนรุ่นใหม่ให้ปรับโฟกัสมาที่งานด้านให้มากขึ้น
“ในประเทศไทยยังมีช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาทางทะเลอยู่อีกมาก หลายคำถามยังไม่ได้รับคำตอบ อยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่มาทำงานด้านนี้ให้มากขึ้น”
สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ นักนิเวศวิทยาคนนี้ไม่ขออะไรมากมาย …แค่ไม่ทำร้าย-ทำลายธรรมชาติก็พอ
“วิธีการที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้ระบบนิเวศนั้นเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามธรรมชาติโดยเราไม่ไปรบกวน
เพราะหลายๆ ครั้งเราพบว่าการเข้าไปจัดการโดยขาดความรู้นั้นส่งผลเสียมากกว่า แต่ถ้าอยากมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ เราอาจทำได้โดยการนำ ‘ส่วนเกิน’ ออกจากระบบนิเวศ เช่น การเก็บขยะริมทะเล หรือการเข้าพื้นที่ไปหาความรู้โดยพยายามไม่ทิ้งอะไรไว้ข้างหลัง”