- เรากำลังใช้เอไอในชีวิตประจำวันเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจหากจะมีการนำเอไอมาใช้ในด้านการศึกษาบ้าง เช่น Sal Khan ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Khan Academy องค์การการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร กำลังพัฒนาเอไอเพื่อเป็นติวเตอร์ส่วนตัวและผู้ช่วยครู
- เมื่อเรามีการวางรั้วป้องกันที่ดี เอไอจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยวงการการศึกษาให้พัฒนาไปได้ดียิ่งขึ้นผ่านการสร้างประโยชน์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งติวเตอร์ส่วนตัวและผู้ช่วยครู เอไอไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาทำลายวงการการศึกษาอย่างที่สื่อหลายๆ เจ้าพาดหัวกันอึกทึกครึกโครม
- การใช้เอไอทำให้นักเรียนได้ลงมือ ‘สืบสวนสอบสวน’ ข้อมูลด้วยตัวเอง นักเรียนได้ค้นหาข้อมูลในมุมมองต่างๆ เกิดการตั้งคำถามปลายเปิด พร้อมทั้งไตร่ตรองว่าข้อมูลเหล่านั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์
การเปิดตัว ChatGPT เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนให้ความสนใจกับคำว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence) หรือ ‘เอไอ’ (AI) มากขึ้น เพราะ ChatGPT ถือว่าเป็นแชตบอตเอไอที่สามารถใช้ภาษาโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และยังสามารถทำงานได้หลายอย่าง เช่น ให้ข้อมูล แก้โจทย์คณิตศาสตร์ เขียนโค้ด เขียนเรียงความ จัดทริป ฯลฯ
การเข้ามาของ ‘เอไอ’ ในลักษณะนี้ทำให้เกิดความกังวลว่า เอไอจะเข้ามาดิสรัปต์หรือปั่นป่วนหลายๆ วงการ จนกระทั่งไปถึงแย่งงานเลยก็เป็นไปได้ ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษาที่มีความกังวลว่าเอไอจะเข้ามาแย่งงานครูและเปิดช่องให้นักเรียนโกงได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตอบคำถามว่าไอเอจะสามารถทำถึงขนาดนั้นได้หรือไม่ เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าเอไอคืออะไร แล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จากเอไอได้อย่างไร
ตัวอย่างการพูดคุยกับ ChatGPT‘
เอไอคืออะไร
‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘เอไอ’ เป็นการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานทั่วๆ ไปที่สิ่งมีชีวิตซึ่งมีสติปัญญาสามารถทำได้ โดยคำว่า ‘สติปัญญา’ (Intelligence) ในมุมของการพัฒนาเอไอมุ่งให้ความสนใจไปที่ความสามารถในการเรียนรู้ การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การรับรู้ และการใช้ภาษา
แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปอย่างมาก คอมพิวเตอร์มีความเร็วมากขึ้นและมีหน่วยความจำเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มีเอไอตัวไหนเลยที่มีสามารถเหมือนกับมนุษย์ในทุกๆ ด้าน เพราะเอไอในปัจจุบันมุ่งพัฒนาเพื่อการใช้งานอย่างเฉพาะเจาะจงในด้านหนึ่งๆ
เอไออยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด
หลายๆ คนอาจเพิ่งมาคุ้นเคยกับคำว่า ‘เอไอ’ หลังจากการเปิดตัว ChatGPT แต่จริงๆ แล้วเรากำลังใช้เอไออยู่ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ก่อนที่จะมี ChatGPT เสียอีก เช่น
- โปรแกรมค้นหา (Search Engine) อย่าง Google Search ก็มีเอไอ เพราะโปรแกรมค้นหาไม่สามารถสแกนทุกอย่างได้บนอินเทอร์เน็ต ต้องมีเอไอเข้ามาช่วยเพื่อให้ได้คำตอบตรงกับที่เราต้องการ
- การสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกโทรศัพท์ก็มีการใช้เอไอสำหรับจดจำและระบุใบหน้า (Face Recognition)
- โซเชียลมีเดียที่เราใช้กันก็มีเอไอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อจัดแสดงหน้าฟีดให้เหมาะสมกับความชอบของเรา แนะนำเพื่อนใหม่ๆ และยังระบุข่าวปลอมได้ในเบื้องต้น
- แอปพลิเคชันสำหรับค้นหาและนำทางอย่าง Google Map ก็มีเอไอสำหรับติดตามสภาพการจราจรตามเวลาจริงเพื่อแนะนำเส้นทางที่ดีที่สุด
เรากำลังใช้เอไอในชีวิตประจำวันเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ตัว จึงรู้สึกว่าไอเอเป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ไม่ดี ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น สังเกตจากการใช้เอไอในชีวิตประจำวันของเราผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เมื่อมีเอไอเข้ามา การใช้งานของเราก็สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจ หากจะมีการนำเอไอมาใช้ในด้านการศึกษาบ้าง เช่น Sal Khan ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Khan Academy องค์การการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไร ได้กล่าวใน TED (2023) ว่า “ผมเชื่อว่าเรามาถึงจุดสูงสุดของการใช้เอไอสำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่วงการการศึกษาเคยมีมา วิธีที่เราจะทำก็คือให้นักเรียนทุกคนบนโลกได้มีติวเตอร์ส่วนตัวที่แม้ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์แต่ก็น่าทึ่งมากเช่นกัน และเราก็จะให้ครูทุกคนบนโลกได้มีครูผู้ช่วยที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สุดยอด”
เอไอในฐานะติวเตอร์ส่วนตัว
‘การเรียนแบบตัวต่อตัว’ ดีกว่า ‘การเรียนแบบกลุ่ม’ อย่างไร
Khan เสนอว่าการสอนเด็กแบบตัวต่อตัวดีกว่าการสอนแบบกลุ่มด้วยการยกผลการศึกษาเปรียบเทียบการสอนทั้ง 2 แบบจากงาน ‘2 Sigma Problem’ ของนักจิตวิทยาการศึกษา Benjamin S. Bloom (1984) โดยเป็นกราฟที่แสดงการแจกแจงความสำเร็จของนักเรียนภายใต้การเรียนการสอนแบบดั้งเดิม (ครู 1 – นักเรียน 30), การเรียนรู้แบบรู้จริง (ครู 1 – นักเรียน 30) และแบบกลุ่มย่อย (ครู 1 – นักเรียน 1) อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอของ Khan ไม่ได้กล่าวถึงการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery Learning)
เห็นได้ว่าการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม (Conventional) กราฟจะเป็นรูประฆังคว่ำมาตรฐาน คือ มีนักเรียนจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ที่คะแนนปานกลาง และมีนักเรียนเพียง 20% ที่ได้คะแนนสูง แต่ในขณะที่การเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย (Tutorial) มีนักเรียนมากถึง 90% ที่ได้คะแนนสูง และมีนักเรียนจำนวนน้อยมากที่ได้คะแนนปานกลาง
ดังนั้นการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อยที่มีครู 1 คน ต่อ นักเรียน 1 คน ทำให้นักเรียนส่วนทำคะแนนได้ดีมาก เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ถึงแม้ว่าการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อยหรือแบบตัวต่อตัวเช่นนี้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถทำได้จริงในเชิงปฏิบัติ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดหาครูจำนวนมาก ทำให้งานวิจัยของ Bloom มุ่งเน้นไปที่การหาวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวมากที่สุด
อย่างไรก็ดี Khan มองว่าในปัจจุบันการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวสามารถทำได้โดยตรงด้วยการใช้เอไอ เพียงแค่มีเอไอตัวเดียวก็สามารถเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ Khan Academy กำลังพัฒนาเอไอที่ชื่อว่า ‘Khanmigo’ เพื่อเป็นติวเตอร์ส่วนตัวให้กับนักเรียน ซึ่งยังอยู่ในขั้นการทดลองโดยผู้ใช้ (Beta) และมีหลากหลายวิชาตั้งแต่คณิตศาสตร์ระดับประถม ประวัติศาสตร์อเมริกันระดับมัธยมต้น หน้าที่พลเมืองระดับมัธยมปลาย ไปจนถึงเคมีอินทรีย์ระดับมหาวิทยาลัย
หน้าตาของ Khanmigo
Khanmigo เป็นแชตบอตเอไอที่คล้ายคลึงกับ ChatGPT โดยสามารถใช้ภาษาโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อนักเรียนไม่เข้าใจหรือต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมก็สามารถถาม Khanmigo ได้ตลอดเวลา และเมื่อนักเรียนตอบผิด Khanmigo จะไม่เฉลยคำตอบทันที แต่จะถามเหตุผลว่าทำไมถึงตอบแบบนั้น เพื่อที่จะได้รู้หรือคาดการณ์ว่านักเรียนเข้าใจผิดในประเด็นใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูมักมองข้ามเพราะกลัวจะเสียเวลา แต่เอไอไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาและสามารถตอบนักเรียนได้เรื่อยๆ เท่าที่ต้องการ
นอกจากนี้ ในเรื่องของการอ่านเอาความ (Reading Comprehension) เมื่อนักเรียนอ่านบทความหนึ่งๆ เสร็จ เจ้า Khanmigo ก็สามารถสร้างแบบทดสอบให้นักเรียนทดสอบความรู้ความเข้าใจของตัวเองได้ทันที พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ถามคำศัพท์ที่ไม่เข้าใจ หรือจะให้ Khanmigo สวมบทบาทเป็นผู้เขียนบทความเพื่อให้นักเรียนถามความรู้สึกและจุดประสงค์ของผู้เขียนก็ได้
Khan เรียกเอไอในลักษณะนี้ว่าเป็น ‘ซูเปอร์ติวเตอร์’ เพราะสามารถให้ฟีดแบ็กและอธิบายเพิ่มเติมเป็นขั้นเป็นตอนได้ทันที ทั้งยังตอบคำถามโลกแตกอย่าง ‘เรียนไปเพื่ออะไร’ ได้ด้วย เช่น เมื่อเรียนเรื่องเซลล์ นักเรียนอาจสงสัยว่าเรียนแล้วได้อะไร เจ้า Khanmigo ก็จะถามกลับไปว่า “แล้วอยากเป็นอะไรล่ะ?” ถ้านักเรียนบอกว่าอยากเป็นนักกีฬา เจ้า Khanmigo จะตอบนักเรียนว่า “การเรียนรู้เกี่ยวกับขนาดของเซลล์ สามารถเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการและการทำงานของร่างกายได้นะ”
เดี๋ยวเด็กก็ใช้เอไอทำงานให้ แบบนี้ดีจริงหรือ
Khan นำเสนอพาดหัวข่าวเอไอจากสื่อต่างๆ
หลังจากการเปิดตัว ChatGPT ไม่นาน มีข่าวมากมายออกมาว่ามีนักเรียนใช้เอไอทำการบ้านและมากถึงขั้นใช้โกงข้อสอบก็มี ทำให้สังคมตั้งแง่กับเอไอว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย เพราะจะทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้และจะทำให้วงการการศึกษาเสียหาย
Khan โต้เรื่องนี้ว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้เมื่อเราวาง ‘รั้วป้องกัน’ (Guardrails) ที่เหมาะสม ถ้าเด็กมาถามคำตอบจากเอไอ เราต้องทำให้เอไอไม่ตอบคำถามเด็กโดยตรง แต่เปลี่ยนเป็นการให้คำแนะนำหรือถามความเห็นแทน เช่น ในกรณีของ Khanmigo ถ้ามีนักเรียนมาถามคำตอบก็ให้ตอบกลับไปว่า “ฉันเป็นติวเตอร์ของคุณ คุณคิดว่าขั้นตอนต่อไปในการแก้ปัญหาคืออะไร?”
ตัวอย่างการตอบเมื่อนักเรียนถามคำตอบจาก Khanmigo
ถ้าเด็กมาขอให้เอไอเขียนงานให้ เอไอต้องไม่เขียนงานให้เด็ก แต่เปลี่ยนเป็นการแนะนำแทน เช่น เด็กบอกว่าอยากเขียนเรื่องสยองขวัญ เจ้า Khanmigo ก็จะตอบว่า “อู้ว เรื่องสยองขวัญ ช่างเป็นเรื่องที่เสียวสันหลังและน่าระทึกขวัญ มาดำดิ่งสู่โลกแห่งเงาที่น่าขนลุกและความลึกลับที่น่ากลัวกันเถอะ” เพื่อสร้างบรรยากาศให้เข้าใจถึงความสยองขวัญ จากนั้นก็ให้เด็กลองแต่งเรื่องแล้วส่งให้เอไอฟีดแบ็กเพื่อเด็กจะได้ปรับแก้ไขต่อไป
Khan เชื่อว่าการวางรั้วป้องกันที่เหมาะสมไม่เพียงจะป้องกันเด็กใช้เอไอทำงานให้ แต่ยังทำให้เด็กพัฒนาการเขียนได้ดียิ่งขึ้น เพราะเอไอจะกลายเป็นโค้ชสอนเขียนที่ดีที่คอยแนะนำแนวทางให้เด็กว่าต้องปรับปรุงตรงไหนหรือว่าตรงไหนดีแล้ว การให้ฟีดแบ็กตลอดจะทำให้เด็กเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด
AI ในฐานะผู้ช่วยครู
นอกจากเอไอจะช่วยนักเรียนได้แล้ว เอไอยังสามารถช่วยครูได้ด้วย อย่างที่ Khan กล่าวว่า “สิ่งนี้สามารถมีความทรงพลังพอๆ กันสำหรับครู เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalized Education) ให้มากขึ้น และพูดตรงๆ ก็คือ ช่วยประหยัดเวลาและพลังงานให้กับครูและนักเรียน”
เมื่อนำเอไอมาใช้จะทำให้ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียนคนหนึ่งๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า ‘การศึกษาเฉพาะบุคคล’ โดยใช้เอไอวิเคราะห์ว่านักเรียนคนนั้นเหมาะกับแนวทางการเรียนรู้แบบไหน เพราะเด็กแต่ละคนมีศักยภาพและแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การเรียนการสอนในรูปแบบเดียวเหมือนกันหมดจะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ การใช้เอไอจะทำให้ครูประหยัดเวลาและพลังงานที่เสียไปกับการค้นหาข้อมูลได้ แม้ว่า Khanmigo จะไม่ให้คำตอบกับนักเรียนโดยตรง แต่ถ้าเปลี่ยนโหมดเป็นสำหรับครู เจ้า Khanmigo ก็พร้อมที่จะให้คำตอบกับครูได้ทันที พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าจะสอนให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้อย่างไร และทำอย่างไรให้เนื้อหาน่าสนใจขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น Khanmigo ยังสามารถช่วยเตรียมสื่อการสอน ช่วยสร้างแผนการสอน และแม้แต่ช่วยทำรายงานความคืบหน้า จนกระทั่งไปถึงช่วยออกเกรดเลยก็เป็นไปได้ตามความคาดหวังของ Khan เพราะเขาเชื่อว่า “ครูใช้เวลาประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมดไปกับงานอย่างการวางแผนการสอน พลังงานที่สามารถประหยัดไปได้กับงานเหล่านี้จะทำให้ครูมีพลังมากขึ้น หรือมีพลังมากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนจริงๆ”
Khanmigo เฉลยคำตอบและช่วยคิดวิธีการสอนให้น่าสนใจ
แล้วเอไอจะแย่งงานครูไหม
เอไอไม่ได้เข้ามาเพื่อแย่งงาน แต่เข้ามาเป็นผู้ช่วยเพื่อทำให้ชีวิตของเราสะดวกมากขึ้น จุดประสงค์ของการพัฒนาเอไอคือเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ช่วยลดเวลาที่มนุษย์เสียไปกับการทำงานที่ต้องใช้เวลาและพลังงานมาก เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก การทำงานเอกสาร ฯลฯ
Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ซึ่งลงทุนกับบริษัทที่พัฒนา ChatGPT ไปมากถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กล่าวถึงอนาคตของเอไอกับสำนักข่าว MSNBC (2023) ไว้ว่า “พวกเรากำลังเปลี่ยนจากยุคนักบินอัตโนมัติ (Autopilot) แห่งเอไอ ไปสู่ยุคผู้ช่วยนักบิน (Co-pilot) แห่งเอไอ”
กล่าวคือ ในยุคแรกของการพัฒนาเอไอ เราต่างมุ่งสร้างให้เอไอทำงานและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองอัตโนมัติโดยไม่มีมนุษย์เข้าไปแทรกแซง เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ การจำแนกรูปภาพ การพยากรณ์ เป็นต้น แต่ในยุคปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมุ่งพัฒนาให้เอไอเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ ช่วยมนุษย์ทำงาน ช่วยมนุษย์ตัดสินใจด้วยการประมวลข้อมูลจำนวนมากในเวลาอันน้อยนิด เช่น โปรแกรมแปลภาษา ระบบสั่งงานด้วยเสียง การวินิจฉัยโรค เป็นต้น
เอไอในปัจจุบันและในอนาคตจะมุ่งให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ ทำให้เรามีชีวิตที่สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เข้ามาแทนที่มนุษย์
เมื่อเอไอไม่ได้มุ่งเข้ามาแทนที่มนุษย์และก็มีหลายๆ อย่างที่เอไอไม่สามารถทำได้ ครูจึงยังมีบทบาทสำคัญในการศึกษา เช่น การมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ถึงแม้ว่าเด็กจะสามารถคุยกับเอไอได้ แต่การคุยกับเอไอก็ไม่เหมือนกับการคุยกับคนจริงๆ เพราะเอไอนั้นขาดอารมณ์ความรู้สึกหรือการสนับสนุนทางอารมณ์ (Emotional Support) และไม่เข้าใจในบริบทสังคม การสนับสนุนทางอารมณ์ หมายถึง การให้กำลังใจ การให้ความมั่นใจ และการแสดงความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งรวมไปถึงการใช้น้ำเสียงที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจและการใช้ท่าทางที่สื่อถึงความรักอันอ่อนโยน
เอไออาจวิเคราะห์ได้ว่าเด็กต้องการอะไร เหมาะสมกับอะไร แต่เอไอไม่สามารถเข้าใจและช่วยจัดการกับอารมณ์ของเด็กได้ การมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ช่วยทำให้ครูได้แสดงออกถึงการสนับสนุนทางอารมณ์ เพื่อช่วยเด็กให้ได้ผ่านพ้นอารมณ์ร้ายๆ ไปได้
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ความรู้สามารถหาได้ทั่วไปจากอินเทอร์เน็ตและเอไอ บทบาทของครูในฐานะ ‘ผู้ให้ความรู้’ กำลังเปลี่ยนไปสู่ครูในฐานะ ‘โค้ช’ หรือ ‘ผู้เอื้ออำนวย’ (Facilitator) การที่เด็กสามารถหาความรู้ได้เองก็เปรียบเสมือนกับการวิ่งเล่นอย่างอิสระในสนามเด็กเล่น แต่การวิ่งเล่นนี้เองก็ต้องมีครูคอยสอดส่องดูแล เพื่อให้เด็กเล่นไปในแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง อำนวยความสะดวกให้เด็กเล่นอย่างเต็มศักยภาพ และทำให้เด็กตระหนักถึงเรื่องจริยธรรมที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในสังคม
Khan เชื่ออย่างถึงที่สุดว่า เมื่อเรามีการวางรั้วป้องกันที่ดี เอไอจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยวงการการศึกษาให้พัฒนาไปได้ดียิ่งขึ้นผ่านการสร้างประโยชน์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งติวเตอร์ส่วนตัวและผู้ช่วยครู เอไอไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาทำลายวงการการศึกษาอย่างที่สื่อหลายๆ เจ้าพาดหัวกันอึกทึกครึกโครม
การใช้ AI ในการศึกษาจะทำให้เด็กขาดทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในสังคมหรือไม่
อย่างที่กล่าวไปว่าเอไอไม่สามารถแทนที่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ได้ เพราะเอไอนั้นขาดการสนับสนุนทางอารมณ์และไม่เข้าใจในบริบทสังคม เอไออาจไม่สามารถสอนให้เด็กใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่เอไอสามารถ ‘จำลองสังคม’ ให้เด็กได้ เช่น การเรียนภาษาต่างประเทศ เราสามารถนำเอไอมาสวมบทบาทเป็นเพื่อนชาวต่างชาติและจำลองสถานการณ์การสนทนาต่างๆ ได้
Muthmainnah และคณะ (2022) ทดลองให้นักศึกษาที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่จำนวน 453 คน จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียได้ลองใช้แอปพลิเคชัน ‘Replika: My AI Friend’ เพื่อพูดคุยกับเพื่อนเอไอเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงให้ตอบแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็น
ตัวอย่างการใช้แอป Replika: My AI Friend จาก Google Play
ผลการทดลองคือ นักศึกษาส่วนใหญ่มีความสุขในการพูดคุยกับเพื่อนเอไอ มีแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอังกฤษ และยังช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ในการใช้ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษารายงานว่าการใช้เอไอฝึกฝนภาษาอังกฤษในลักษณะนี้ช่วยพัฒนา ‘ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์’ (Critical Thinking) เพราะว่าตัวเองได้เรียนรู้ในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และประเมินข้อมูล
Muthmainnah และคณะ (2022) กล่าวว่า “ครูที่สอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ (English as a Foreign Language) ควรนำการเรียนรู้แบบสืบสอบ (Inquiry-based Learning) มาใช้ผ่านเอไอในห้องเรียน เพื่อช่วยนักเรียนพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์”
กล่าวคือ การใช้เอไอทำให้นักเรียนได้ลงมือ ‘สืบสวนสอบสวน’ ข้อมูลด้วยตัวเอง นักเรียนได้ค้นหาข้อมูลในมุมมองต่างๆ เกิดการตั้งคำถามปลายเปิด พร้อมทั้งไตร่ตรองว่าข้อมูลเหล่านั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์
ในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เกิดการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกมาเป็นจำนวนมาก ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งข้อมูลที่เป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้าง ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวิเคราะห์ว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อถือ เพราะการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอาจส่งผลเสียต่อตัวเราและคนอื่นได้เช่นกัน
อ้างอิง
ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล. (2562). ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเรียนรู้.
ถนัดกิจ จันกิเสน. (2566). การลงทุนมูลค่า 4.4 แสนล้านบาทของ Microsoft ใน OpenAI เจ้าของ ChatGPT มาพร้อมโอกาสมหาศาลและความไม่แน่นอนอีกมากมาย.
ไทยรัฐ. (2566). ChatGPT คืออะไร รู้จักวิธีใช้งานและค่าบริการของ AI แชตบอทอัจฉริยะ.
Bloom, B.S. (1984). The 2 Sigma Problem: The Search for Methods of Group Instruction as Effective as One-to-One Tutoring.
Copeland, B.J. (2023). Artificial intelligence.
Devlin, H. (2023). AI likely to spell end of traditional school classroom, leading expert says.
Marr, B. (2019). The 10 Best Examples Of How AI Is Already Used In Our Everyday Life.
Marr, B. (2022). 13 Easy Steps To Improve Your Critical Thinking Skills.
MSNBC. (2023). Microsoft CEO says we’re moving to the ‘co-pilot era’ of AI.
Muthmainnah, Seraj, P.M.I, & Oteir, I. (2022). Playing with AI to Investigate Human-Computer Interaction Technology and Improving Critical Thinking Skills to Pursue 21st Century Age.
Raypole, C. (2021). How to Be Emotionally Supportive.
Singer, N. (2023). New A.I. Chatbot Tutors Could Upend Student Learning.
TED. (2023). How AI Could Save (Not Destroy) Education | Sal Khan | TED.YEC. (2023). AI In The Classroom: Pros, Cons And The Role Of EdTech Companies.