- “การให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันสำคัญมาก เพราะจะเป็นการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้สังคมเราเจริญก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง การพัฒนาก็เกิดมาจากคนล้วนๆ คนสร้างสิ่งสร้างสรรค์ เราก็ควรสร้างคนให้มีคุณภาพ”
- คุยกับ เด็กชายช่างสงสัยผู้ไม่กลัวความล้มเหลว นิธิยุทธ วงศ์พุทธา หรือ ไมกี้ นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ วัย 14 ปี เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศอย่าง ‘หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด’ และเหรียญทองบนเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว อย่าง ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ เพื่อผู้สูงอายุ
- การได้ลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความช่างสงสัย ช่างสังเกตของตัวเองนั้น นอกจากจะทำให้เขาได้เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความสุขที่ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้
“มีเด็กที่เก่งในด้านต่างๆ มากมาย เด็กทุกคนเกิดมาด้วยความอยากรู้อยากเรียน การให้โอกาสเด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เพราะว่าการพัฒนาล้วนแล้วเกิดมาจากคน และการสร้างคนให้มีคุณภาพ ก็จะทำให้เขาไปสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้สังคมยั่งยืนไปอย่างต่อเนื่อง”
นิธิยุทธ วงศ์พุทธา หรือ ไมกี้ นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ วัย 14 ปี เด็กชายช่างสงสัยผู้ไม่กลัวความล้มเหลว เขาเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศอย่าง ‘หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด’ และเหรียญทองบนเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว อย่าง ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ เพื่อผู้สูงอายุ
ไมกี้เป็นหนึ่งในเยาวชนคนเก่ง โครงการ ‘Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด’ โครงการสนับสนุนเยาวชนไทยเพื่อสานฝันให้เป็นจริง โดย Central Retail ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เป็นการนำเรื่องราวของเด็กๆ ที่มีทักษะความสามารถมาถ่ายทอดในมุมของคนที่ได้รับโอกาส เพื่อจุดประกายเด็กที่มีความสามารถให้กระตุ้นศักยภาพของตัวเอง และมอบโอกาสให้กับเด็กที่ขาดโอกาส
นอกจากไมกี้แล้ว Gift to Gifted ยังมีเด็กเก่งอีก 3 คน คือ ศิรินันท์ ตันติเวส (น้องลิ้งค์) นักไวโอลินตัวน้อย วัย 13 ปี หนึ่งในสมาชิกของวงดุริยางค์เยาวชนไทย (Thai Youth Orchestra : TYO) ผู้มอบความสุขให้กับผู้ชมผ่านเสียงดนตรีบนเวทีการแสดง, ธนาธรณ์ นุกิจ (น้องแมนยู) จิตรกรวัยจิ๋ว อายุเพียง 11 ปี ที่ค้นพบพรสวรรค์ทางด้านการวาดภาพศิลปะตั้งแต่ 7 ขวบ เรียนรู้ด้วยตนเองจนพัฒนาฝีมือในระดับสูงขึ้น พร้อมมีความฝันในการได้โชว์ภาพวาดฝีมือของตนเองในงานนิทรรศการศิลปะ และ บาริสต้าตัวน้อย จิราพันธ์ กำเนิดมงคล (น้องวีวี่) เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง อายุ 10 ปี ที่เติบโตพร้อมกับสวนกาแฟตั้งแต่ยังเล็ก ซึมซับและเรียนรู้ทุกกรรมวิธีการผลิตมาจากครอบครัว มีความรักและใฝ่ฝันที่จะสร้างสรรค์กาแฟรสละมุนที่ชงจากฝีมือของตนเองให้กับทุกคนได้ลิ้มลอง
ความช่างสงสัยและเฝ้าสังเกต คุณสมบัติเบื้องต้นของนักประดิษฐ์
ความช่างสงสัย ช่างถาม ช่างพูดของเด็กๆ ที่บางครั้งผู้ใหญ่อาจรู้สึกว่า…ช่างเจื้อยแจ้วซะเหลือเกิน สงสัยเก่ง ถามเก่งอะไรปานนั้น เด็กบางคนก็พลังล้นเหลือในการหาคำตอบที่ตัวเองสงสัยเสียด้วย ซึ่งความสงสัยนี้เอง จะนำไปสู่ความอยากเรียนรู้ในที่สุด เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของไมกี้ ที่เกิดจากความสงสัยใคร่รู้ของตัวเอง
“ผมเริ่มคิดอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์ตอนที่ผมอยู่ประถมศึกษาปีที่ 5 ตอนนั้นผมเดินกลับจากโรงเรียน แล้วผมเห็นคนตาบอดข้ามถนน เขาขายลอตเตอรี่ ผมคิดว่าผมสร้างสิ่งประดิษฐ์เพราะความช่างสงสัย ช่างสังเกต เพราะผมสังเกตเห็นแผลบนหัวเขา แล้วผมก็สงสัย เอ๊ะ…เขาเป็นแผลอย่างนั้นได้ยังไง ผมก็เดินเข้าไปถามเขา เขาก็บอกว่าหัวเขาไปชนกับป้ายที่แขวนอยู่ตามทาง เนื่องจากว่าตัวที่เขาใช้ในการช่วยเดินมันไม่สามารถตรวจจับสิ่งที่อยู่ด้านบนได้
ผมก็เลยคิด เอ๊ะ…จะช่วยคนนี้ได้ยังไง อ๋อ…นึกออกละ พ่อเคยพาผมไปบ้านหม้อ ไปดูพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พวกเซ็นเซอร์โรลเลอร์ ผมเคยเห็นเซ็นเซอร์ตัวที่จะตรวจจับสิ่งกีดขวางได้ ผมก็เลยได้สร้างสิ่งประดิษฐ์แรกของผม
เมื่อผมเอาหมวกให้คนตาบอดคนนั้น แล้วเขาบอกว่าเขามีความสุขมากเลย ไม่เดินชนป้ายแล้ว ผมมีความรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งที่ผมทำให้เขามีความสุข” ไมกี้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นนักประดิษฐ์ ที่ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อไมกี้เกิดความสงสัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาแล้ว ซึ่งในที่นี้หมายถึงการที่เขาสังเกตเห็นแผลบนหัวของคนตาบอดคนหนึ่ง แล้วสงสัยว่า “เอ๊ะ…เขาเป็นแผลอย่างนั้นได้ยังไง” สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการต่อยอดความสงสัยนั้นให้นำไปสู่การเรียนรู้จนได้คำตอบ จุดนี้ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งรีบดับไฟหรือปัดตกความสงสัยของเด็กๆ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียเจ๋งๆ ที่คาดไม่ถึงก็ได้ อย่างที่ไมกี้ได้รับการซัพพอร์ตจากพ่อแม่ของเขา
“พอผมสงสัยแล้วผมก็จะไปปรึกษากับคุณแม่และคุณพ่อของผม ถามว่า เอ๊ะ…ผมมีปัญหาอย่างนี้ผมจะแก้ยังไง”
คุณพ่อคุณแม่แนะนำว่า ให้ลองเข้าไปคุยกับคนตาบอดคนนั้นเลย เพราะการจะแก้ปัญหาเรื่องใดก็ต้องสอบถามเจ้าตัวที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาอย่างทุกจุด แล้วต่อยอดไอเดียนั้นด้วยการหาความรู้พื้นฐานว่าอะไรบ้างที่จะสามารถนำมาประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหลักการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะใช้ก่อน เพื่อจะนำมาต่อยอดไอเดียนั้น
จึงกลายมาเป็นผลงานชิ้นแรกของไมกี้นั่นก็คือ ‘หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด’ หรือ I-See Cap for the Blind เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินได้โดยไม่ชนป้ายหรือสิ่งกีดขวางที่อยู่ในระดับศีรษะหรือในระดับสายตาอีกต่อไป เพราะมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับให้ ซึ่งเป็นผลงานที่ไมกี้ภาคภูมิใจมากที่สุด
“หมวกช่วยคนตาบอด เป็นสิ่งประดิษฐ์แรกของผมเลย ถ้าไม่มีมันนะ ผมก็คงไม่ได้สร้างสิ่งประดิษฐ์เพิ่มต่อไปเรื่อยๆ สิ่งประดิษฐ์ I-See Cap คือสิ่งที่ทำให้ผมอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์ อยากช่วยเหลือคนต่อไปอีกเรื่อยๆ มันคือสิ่งที่เริ่มความสงสัย ความอยากรู้ของผม”
“นอกจากหมวกแล้ว ก็มีตัวจับคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้หลักการไฟฟ้าเคมีในการจับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วแยกมันออกมา และมีพัดลมที่เอาไว้ต่อกับที่ที่เขาจะปล่อยอากาศเหลือที่เราไม่ใช้อยู่แล้ว ไปแปลงเป็นพลังงานได้ แล้วก็ชิ้นล่าสุดก็คือ เก้าอี้ช่วยยืน ครับ”
จากหมวกคนตาบอด สู่เก้าอี้ช่วยยืน
สำหรับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นล่าสุดที่ไปคว้ารางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติ ในรายการ The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo ประเทศจีน นั่นก็คือ ‘เก้าอี้ช่วยยืน’
“ชื่อภาษาอังกฤษมันคือ The smart chair แต่ชื่อภาษาไทยมันคือ เก้าอี้ช่วยยืน แรงบันดาลใจก็คือจากความช่างสงสัย ช่างสังเกตของผมครับ ผมเห็นคุณย่าผมเขาพยายามลุกขึ้นยืน แต่เขาลุกขึ้นยืนไม่ได้เอง เพราะว่าเขาเป็นโรคกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ต้องมีคนคอยพยุงขึ้น และเนื่องจากว่าผิวของเขาอ่อนมันทำให้เขาเป็นรอยแผลช้ำ ผมก็เลยคิดว่าทำยังไงดีให้เขาได้ลุกขึ้นแบบไม่ต้องเป็นรอยแผล ไม่ต้องมีคนพยุง ผมก็เลยคิดค้นสมาร์ทแชร์ เก้าอี้ช่วยยืนขึ้นมา ช่วยให้ค่อยๆ สามารถลุกได้ทั้งที่ก้นยังอยู่ติดกับเก้าอี้ เพราะเก้าอี้มันจะค่อยดันก้นขึ้นมา สามารถลุกขึ้นได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย”
ไมกี้เล่าว่า การได้ลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความช่างสงสัย ช่างสังเกตของตัวเองนั้น นอกจากจะทำให้เขาได้เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการได้รับรู้ถึงความสุขในการช่วยเหลือคนอื่น และความสุขที่ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้
และเมื่อถามถึงกระบวนการในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ว่ามีจุดที่เราล้มเหลวหรือท้อบ้างหรือไหม? ไมกี้ตอบทันทีด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ไม่ครับ เพราะว่าทุกครั้งที่ผมล้มเหลว ผมก็มองว่าเป็นการที่ผมสามารถใกล้ถึงกับความสำเร็จมากขึ้น”
“คุณพ่อคุณแม่ผมสอนมาว่า ทุกความล้มเหลวเป็นการใกล้ถึงความสำเร็จมากขึ้น และทุกความสำเร็จก็มาจากความล้มเหลวก่อนทั้งนั้น”
ไมกี้จึงมีคุณพ่อคุณแม่เป็นไอดอล “เพราะพวกเขาเป็นคนที่สอนผมว่าควรที่จะทำยังไง สอนให้ผมเห็นใจคนอื่น เขาจะเป็นคนที่สอนให้ผมรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วผมก็อยากเป็นเหมือนเขา”
แม้ภาพตอนนี้ไมกี้จะกลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์’ และนั่นก็เป็นความสุขในการได้ช่วยเหลือคนในแบบที่ไมกี้บอกเสมอว่าชอบและอยากทำมันต่อไป แต่ลึกๆ แล้วเขามีอีกหนึ่งความฝันนั่นก็คือ การเป็นนักแสดงละครเพลง
“ผมอยากเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็กๆ ละ ตั้งแต่ 4 ขวบผมก็อยากจะเป็นนักแสดง แต่แม่บอกว่าเป็นไปได้ยาก เขาไม่จ้างผมหรอก ผมก็เลยผิดหวังไป แล้วก็เข้าไปเจอการสร้างสิ่งประดิษฐ์ แต่ยังไงก็ตามยังอยากจะเป็นนักแสดงอยู่ ส่วนเรื่องละครเพลงมันเกิดขึ้นเพราะว่าผมก็ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว”
“ในอนาคตผมจะไปทดลองเรียนในโรงเรียนที่เขาสอนเกี่ยวกับละครเพลง จะลองร้องเพลง เอาจริงๆ ผมไม่ได้ร้องดี ก็เลยอยากฝึกร้องให้ได้ดี ผมก็จะได้เป็นนักแสดงละครเพลง แล้วผมก็ยังจะคงประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ของผมต่อไป เพราะว่ามันทำให้ผมมีความสุข การได้ประดิษฐ์ของมาช่วยคนมันทำให้ผมมีความสุขมากเลยครับ”
โอกาส…ที่เด็กๆ ควรได้รับ
พูดถึงโอกาสแล้ว ไมกี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่ฉายภาพได้ชัดในการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี ได้รับการสนันสนุนจากคนในครอบครัว และได้พื้นที่ในการแสดงศักยภาพ
“การให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันสำคัญมาก เพราะจะเป็นการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้สังคมเราเจริญก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง การพัฒนาก็เกิดมาจากคนล้วนๆ คนสร้างสิ่งสร้างสรรค์ เราก็ควรสร้างคนให้มีคุณภาพ”
และในฐานะที่เป็นหนึ่งในตัวแทนเยาวชนคนเก่ง โครงการ ‘Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด’ ที่ให้ทั้งพื้นที่ในการแสดงศักยภาพหรือลงมือทำในสิ่งที่อยากทำอย่างสร้างสรรค์ และให้ทุนสนับสนุนด้วย ไมกี้ มองว่า “โครงการนี้มันให้โอกาสผมได้ไปโชว์พรสวรรค์ให้คนทั้งโลกเห็น ซึ่งทำให้ผมมีความสุขมากๆ และก็ให้ทุนด้วย ในการพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ”
“บนโลกนี้มีเด็กเก่งมากมายเลยครับ มีเด็กคนนึงเก่งไวโอลิน คนนึงเก่งวาดรูป คนนึงเก่งทำกาแฟ เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ไม่เหมือนกัน แล้วผมเชื่อนะว่าเด็กทุกคนในโลกใบนี้ต่างมีสิ่งนึงที่เขาเก่ง เราก็ควรจะให้โอกาสเด็กเหล่านี้ได้แสดงตัว ไม่ว่าจะเป็นเวทีใดๆ หรือว่าจะเป็นเหมือนงาน Give to gifted ของเซ็นทรัลรีเทลอย่างนี้ หรือว่าเป็นงานประกวด ผมคิดว่าเด็กทุกคนควรจะได้รับโอกาสพวกนี้ในการแสดงตัว ในการพัฒนาความเก่ง หรือ พรสวรรค์ของตัวเอง”
“เพราะมีเด็กที่เก่งในด้านต่างๆ มากมาย เด็กทุกคนเกิดมาด้วยความอยากรู้อยากเรียน แล้วก็การให้โอกาสเด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เพราะว่าการพัฒนาล้วนแล้วเกิดมาจากคน และการสร้างคนให้มีคุณภาพ ก็จะทำให้เขาไปสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้สังคมยั่งยืนไปอย่างต่อเนื่อง”
สุดท้ายแล้ว สำหรับเด็กที่กำลังมีความฝันหรือแม้จะไม่มีความฝันใดๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ขอแค่มีความสุขในการทำสิ่งๆ หนึ่ง ค่อยๆ เรียนรู้กันไป
“ให้พยายามและไม่ยอมแพ้ ความสำเร็จก็เกิดมาจากความล้มเหลวก่อนหน้าทั้งนั้น ให้พยายามไปเรื่อยๆ จนสามารถถึงสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ อย่าใหัใครบอกว่า…ให้ยอมแพ้ พยายามต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็หาวิธีที่จะให้โลกเห็นพรสวรรค์ของคุณ” นี่คือความคิดของเด็กชายช่างสงสัยผู้ไม่กลัวความล้มเหลว ไมกี้ – นิธิยุทธ วงศ์พุทธา