- สำรวจเส้นทางการไล่ล่าความฝันของ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ กองกลางทีมชาติไทย ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นดาวรุ่งฟุตซอลก่อนชีวิตจะพลิกผันเข้าสู่โลกของกีฬาฟุตบอล
- เบื้องหลังความสำเร็จของวีระเทพ คือการมีครอบครัวเป็นแรงผลักดัน ไม่ใช่แรงกดดัน ทำให้เขาสามารถมุ่งมั่นกับความฝันได้อย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่าไม่มีสิ่งไหนอยู่เหนือความพยายามและตั้งใจจริง
- วีระเทพ ถือเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และปรับตัว มีทักษะการจัดการตนเองและมีวินัย ให้ความสำคัญกับทีมเวิร์ก ทำให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
“คุณพ่อไม่เคยโหดครับ ไม่เคยด่า ไม่เคยตี และตามใจผมทุกอย่าง อยากทำอะไรพ่อก็จะพาไปหมด ตั้งแต่เด็กพ่อจะบอกตลอดว่า ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ครั้งหน้าค่อยพยายามใหม่ สิ่งนี้ทำให้ผมไม่เคยรู้สึกกดดันตัวเอง และสามารถโฟกัสกับเกมในสนามได้อย่างเต็มที่”
น้ำเสียงเปี่ยมสุขของ ‘จารย์เตอร์’ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ มิดฟิลด์ทีมชาติไทยจากสโมสรทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ทำให้ผมอดยิ้มตามไม่ได้ เพราะหลายครั้งที่ได้ฟังเรื่องราวของนักกีฬาที่ผมชื่นชอบ เบื้องหลังมักเต็มไปด้วยแรงกดดันจากความคาดหวังของครอบครัวที่บีบคั้นให้เด็กคนหนึ่งต้องพยายามอย่างหนักเพื่อไล่ตามเป้าหมายที่พ่อแม่วางไว้
ต่างกับดาวเตะจากนนทบุรีที่เล่าว่าพ่อแม่ไม่เคยบังคับหรือคาดหวังให้เขาต้องเป็นอะไร เขาจึงเติบโตขึ้นมาเหมือนเด็กทั่วไปที่ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างเต็มที่ ทั้งการเล่นน้ำในแม่น้ำ ตกปลา พายเรือ วิ่งเล่นในทุ่งนา เล่นว่าว รวมถึง ‘ฟุตซอล’ ที่เป็นกีฬายอดนิยมของเด็กผู้ชายหลายคน
“ผมเล่นฟุตซอลมาตั้งแต่อนุบาล ตอนนั้นก็ยังเล่นตามประสาเด็กๆ แต่ช่วงเย็นพวกผู้ใหญ่ในชุมชนจะมารวมตัวกันที่สนามบอลหมู่บ้านเพื่อเล่นบอล ส่วนผมที่ยังเด็กก็นั่งดูไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ซึมซับจนวันหนึ่งก็รู้ตัวว่าชอบไปโดยปริยาย”
ระหว่างที่เด็กชายวีระเทพเล่นฟุตซอลอย่างสนุกสนาน พ่อของเขาไม่เพียงเห็นถึงความสุข แต่ยังค้นพบศักยภาพบางอย่างของลูก จึงตัดสินใจพาเขาไปเรียนฟุตซอลที่อคาเดมี เพื่อสนับสนุนให้วีระเทพได้ใช้เวลาว่างไปกับสิ่งที่เขารักอย่างเต็มที่
“คุณพ่อไม่เคยดุ ไม่เคยด่า ไม่เคยตี และตามใจผมทุกอย่าง อยากทำอะไรก็พ่อก็จะพาไปหมด ถ้าเป็นเรื่องฟุตซอล ตอนเด็กๆ พ่อจะส่งผมไปเรียนตามอคาเดมีแบบเสียเงิน และคอยตามไปดูตามไปเฝ้าตลอด ส่วนคุณแม่ก็คอยสนับสนุนและให้กำลังใจผมเหมือนกับคุณพ่อ
ตั้งแต่เด็กๆ พ่อบอกเสมอว่าถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ครั้งหน้าค่อยพยายามใหม่ สิ่งนี้ทำให้ผมไม่รู้สึกกดดันตัวเอง และสามารถโฟกัสกับเกมในสนามได้อย่างเต็มที่”
ไม่นาน เด็กชายก็กลายเป็นวัยรุ่น และได้รับโอกาสเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนศรีบุณยานนท์ ซึ่งเปิดประตูให้เขาเข้าสู่โลกของฟุตซอลอย่างจริงจัง
“ที่โรงเรียนจะมีชมรมฟุตซอล เขาก็ค้นหานักกีฬาฝีเท้าดีเพื่อส่งทีมไปแข่งกับโรงเรียนอื่น ผมได้ลงเล่นมาตลอด จนกระทั่งตอนม.3 ได้เล่นในรายการสพฐ.ฟุตซอลลีก ซึ่งพอผ่านเข้าไปเล่นในรอบระดับประเทศ เราก็เจอทีมฟุตซอลชั้นนำของโรงเรียนต่างๆ อย่างปทุมคงคา ราชวินิตบางเขน สุรศักดิ์มนตรี ฯลฯ ทำให้อาจารย์สมชาติ พิทักษ์วงศ์ โค้ชของปทุมคงคาเห็นฝีเท้าของผม และลองชักชวนให้ไปเรียนต่อมัธยมปลายที่นั่น ผมก็ปรึกษาคุณพ่อและอาจารย์ที่ศรีบุณยานนท์ ทุกคนก็บอกตรงกันว่า ‘ไปสิ’ ”
เมื่อย้ายมาอยู่ที่ปทุมคงคา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของวงการลูกหนังขาสั้น วีระเทพยังคงมุ่งมั่นกับฟุตซอลอย่างต่อเนื่อง พร้อมตอบแทนความไว้วางใจด้วยการคว้าถ้วยรางวัลต่างๆ จนแมวมองของสโมสรฟุตซอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทยอย่าง ‘ชลบุรี บลูเวฟ’ มองเห็นศักยภาพและพยายามดึงตัวเขาเข้าถิ่นฉลาม
“ตอนม.5 ทีมฟุตซอลของเราคว้าแชมป์ในการแข่งฟุตซอลนักเรียนแทบทุกรายการ ไม่นับฟุตซอลเดินสายที่ผมแอบไปแข่งกับพวกผู้ใหญ่ ซึ่งทางชลบุรี บลูเวฟ ก็คงเห็นฝีเท้าเลยติดต่อเข้ามา ตอนนั้นต้องบอกก่อนว่าผมแอบหนีทางโรงเรียนไปซ้อมกับทีมประมาณ 1-2 เดือน คือเรียนเสร็จก็รีบหนีออกไปซ้อมเลยครับ”
แม้จะตื่นเต้นดีใจกับโอกาสที่ได้รับจากชลบุรี บลูเวฟ แต่วีระเทพยังลังเลที่จะเซ็นสัญญา เพราะเขามีแผนที่จะเข้าศึกษาต่อที่จุฬาฯ ตามรอยรุ่นพี่ปทุมคงคาหลายคน ที่สุดแล้วนักฟุตซอลฉายา ‘ซ้ายผ่านตลอด’ จึงตัดสินใจเข้าไปปรึกษาคุณพ่อ เพื่อช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับแผนอนาคตของตัวเอง
“คุณพ่อบอกว่าเงื่อนไขของจุฬาฯ คือถ้าเราอยากเข้าเรียน เราต้องไม่มีสโมสร เพราะเขากลัวว่าถ้าเราไปเล่นกับสโมสร เราจะไม่มีเวลามาเข้าเรียน รวมถึงฝึกซ้อมกับทีมของจุฬาฯ อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เราเรียนไม่จบตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อปรึกษากับคุณพ่อ ผมก็ตัดสินใจว่าเราเลือกเรียนก่อนดีกว่า เพราะคุณพ่อมองว่าถ้าเราเรียนก่อน อย่างน้อยถ้าวันหนึ่งเราเล่นฟุตซอลไม่ได้ เราก็ยังมีวุฒิจากจุฬาฯ ที่จะกลับไปใช้ทำอาชีพอื่นได้ ผมคิดว่าสิ่งที่พ่อพูดมันสมเหตุสมผล เพราะถ้าเรียนจบตอนอายุ 22 ผมก็ยังมีเวลาอีกมากมายในการกลับไปทำตามความฝันของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่อดีตวันเดอร์คิดแห่งวงการฟุตซอลเลือกนั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่คุยกับพ่อ หลังจากปฏิเสธสัญญากับสโมสรดัง และสอบเข้าจุฬาฯ ด้วยโควตานักกีฬาฟุตซอล ทว่าในท้ายที่สุดเขากลับสอบไม่ติด ทั้งยังเป็นเหตุให้ประตูแห่งโลกฟุตซอลปิดลงอย่างถาวร
“ผมเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนเลยครับ คะแนนของผมไม่ผ่านเกณฑ์โควตานักฟุตซอลของจุฬาฯ แต่ก็ยังมีโครงการฟุตบอลของจุฬาฯ ที่มาเสนอให้ผมลองสอบ หลังจากสอบได้ ผมก็เข้าร่วมโครงการฟุตบอลและได้เรียนในคณะครุศาสตร์ และหลังจากนั้นผมก็ไม่ได้เล่นฟุตซอลอีกเลย เพราะว่าจุฬาฯ แยกโครงการฟุตบอลกับฟุตซอลออกจากกันอย่างชัดเจน ต่างจากตอนอยู่ที่โรงเรียนปทุมคงคา มีช่วงหนึ่งผมเคยถูกดึงตัวจากชมรมฟุตซอลไปช่วยทีมฟุตบอลปทุมคงคาในรายการ 7 สี (การแข่งขันฟุตบอลที่ใช้ผู้เล่น 7 คน และลดขนาดสนาม) ซึ่งก็ไม่ต่างจากฟุตซอลเท่าไหร่ แล้วพอผลงานดี ผมก็ได้โอกาสเล่นต่อในถ้วยก. ที่เป็นฟุตบอล 11 คนในสนามใหญ่ ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกว่าฟุตบอลมันก็สนุกดีนะ
คุณพ่อดีใจครับ ท่านคอยแนะนำว่าฟุตบอลมันเปิดกว้างและเป็นที่นิยมมากกว่าฟุตซอล เพราะก่อนที่ผมจะเข้าจุฬาฯ ลีกฟุตซอลยังไม่มีตารางการแข่งขันที่แน่นอน บางปีแข่งได้ 4 เดือนแล้วหยุดไปเกือบปี ต่างจากลีกฟุตบอลที่มีการแข่งขันที่ต่อเนื่องและมีสัญญาอาชีพที่มั่นคงกว่า”
ปรับตัว เรียนรู้ และอดทน เคล็ด(ไม่)ลับสู่นักกีฬาอาชีพ
แม้วีระเทพจะเป็นดาวรุ่งแห่งวงการฟุตซอลและเคยมีโอกาสชิมลางกีฬาฟุตบอลมาบ้างแล้ว แต่เมื่อเข้ามาในรั้วจุฬาฯ เขาต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเล่นฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ
“ผมต้องปรับตัวเยอะมากครับ ช่วงแรกที่ลงเล่นฟุตบอล ผมยังติดในลักษณะที่เล่นฟุตซอลอยู่ แต่ผมก็พยายามเรียนรู้จากโค้ชและเพื่อนร่วมทีมอยู่ตลอด ทำให้ค่อยๆ ซึมซับวิธีการใหม่ๆ เริ่มจากขนาดสนามที่เราต้องมีการโยนยาว-ส่งไกล การจับบอลเพราะลูกฟุตบอลมีน้ำหนักและขนาดไม่เท่ากับลูกฟุตซอล พื้นสนามก็มีทั้งหญ้าเทียมและหญ้าจริงซึ่งทำให้จังหวะการเด้งและการควบคุมบอลต่างกันออกไป แต่ปีแรก ผมกลับเกิดอุบัติเหตุขาหักกระดูกร้าวข้างซ้ายระหว่างการแข่งขัน ทำให้เวลาที่เหลือตอนปี1 คือการพักรักษาตัว ตอนนั้นก็อดทนไม่ได้ท้อแท้ครับ แต่รู้สึกเสียดายเวลาและพยายามฟื้นฟูร่างกาย
พอขึ้นปี 2 ผมกลับมาเล่นและมีชื่อในการแข่งขันไทยลีก3 ซึ่งเป็นลีกอาชีพกับจามจุรี ยูไนเต็ด(จุฬาฯ) ตอนนั้นผมยังไม่ค่อยได้ลงเล่นเท่าไหร่ กระทั่งมีโอกาสลงไปโชว์ผลงานและทำได้ดี เมื่อถึงเทอม2 ผมก็ได้เล่นต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นตัวหลักของทีม”
นอกจากการปรับตัวด้านกีฬาแล้ว วีระเทพยังสะท้อนมุมมองการใช้ชีวิตอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเผชิญกับสิ่งเร้าต่างๆ นอกสนาม ซึ่งทักษะสำคัญที่ทำให้เขาสามารถรักษาความมุ่งมั่นในฟุตบอลได้คือ ‘การจัดการตนเอง’
“ผมเองก็เป็นคนกินคนเที่ยวเหมือนกันครับ แต่ผมแค่จัดการกับตัวเองและบริหารเวลาได้ดี รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร
ถ้าเป็นวันหยุดหรือเข้าสังคมกับเพื่อน ผมก็สามารถดื่มได้อย่างรู้ลิมิต หรือถ้ารู้ว่าจะแข่งขันวันไหน ผมจะวางแผนล่วงหน้าว่าวันไหนควรทำอะไร เพราะผมสามารถจัดการกับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเรื่องเวลา การใช้เงิน หรือการทำงาน ผมจะเป็นคนจัดแจงทุกอย่างได้อย่างชัดเจนเพื่อให้ชีวิตมีระเบียบ”
จากผลงานลงเล่น 64 นัด ยิง 3 ประตู และแอสซิสต์อีก 13 ครั้ง พร้อมกับลีลาในสนามที่นำเทคนิคฟุตซอลมาปรับใช้อย่างชาญฉลาด ทำให้สโมสรยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เมืองทอง ยูไนเต็ด’ ที่ส่งแมวมองมาซุ่มดูฟอร์มของเขาเป็นเวลานาน ตัดสินใจเซ็นสัญญาคว้าตัวเขาไปร่วมทีมในช่วงที่เขากำลังฝึกงานในฐานะครูฝึกสอน ซึ่งวีระเทพยอมรับว่ารู้สึกดีใจและเครียดในเวลาเดียวกัน
“ที่ครุศาสตร์ จุฬาฯ จะเรียน 4 ปี และฝึกสอนอีก 1 ปี ในช่วงแรกที่ไปเมืองทองค่อนข้างลำบากครับ เพราะตรงกับช่วงที่ผมต้องไปฝึกสอนที่โรงเรียน ผมเลยต้องคุยกับทางโรงเรียนว่าขอสอนเฉพาะช่วงเช้าได้ไหม เพราะบ่ายต้องเดินทางไปซ้อมกับทีมเมืองทอง
ทุกเช้าผมต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ขับรถจากบางใหญ่ไปโรงเรียนหอวัง เพื่อเริ่มสอนตอน 8.30 พอถึงบ่าย 2 โมงก็ต้องรีบไปสนามเมืองทอง ซ้อมเสร็จกลับถึงบ้านประมาณ 3 ทุ่ม แล้วก็นั่งทำพาวเวอร์พอยต์และแผนการสอนต่างๆ เพื่อเอาไปสอนนักเรียน บางทีผมทำถึงตี 1 เลยครับ แล้วก็ตื่นตี 5 ทุกวัน รูทีนจะวนอยู่แค่นี้ครับ”
นอกจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายแล้ว วีระเทพยังยอมรับถึงความเครียดที่มาจากการเล่นฟุตบอล เนื่องจากช่วงนั้นเขายังไม่ค่อยได้รับโอกาสลงเล่นมากนัก
“ผมเครียดเรื่องการเล่นฟุตบอลที่ผมยังไม่มีโอกาสมากเท่าไหร่ เพราะเมืองทองในตอนนั้นมีแต่กองกลางทีมชาติและผู้เล่นต่างชาติ แต่ผมก็พยายามบอกตัวเองว่ามันอาจจะเหนื่อยนะ แต่ถ้าเราอดทนผ่านปีนี้ไปให้ได้ เราก็จะสามารถโฟกัสกับฟุตบอลได้ 100% และทำหน้าที่ในฐานะนักฟุตบอลได้ดีกว่าตอนนี้
ผมมองว่าโอกาสที่นักฟุตบอลจากไทยลีก3 จะสามารถก้าวขึ้นมาสู่ทีมใหญ่ในไทยลีกมันน้อยมาก และไม่อยากปล่อยโอกาสทิ้งไป ผมจะอดทนไม่ยอมแพ้แค่นี้ แม้จะเหนื่อย นอนน้อย หรือรู้สึกเพลียตอนซ้อมฟุตบอลบ้าง แต่ผมเชื่อว่าถ้าอดทนอีกแค่ปีเดียว ผมจะกลับมาเล่นฟุตบอลได้อย่างเต็มที่และดีขึ้นแน่นอน
ส่วนเรื่องฝึกสอน ผมมองว่าการเป็นครูในปัจจุบัน มันไม่สามารถสอนแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ได้อีกแล้วครับ มีหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่สอนหรือเรื่องรอบตัว อย่างผมสอนวิชาสุขศึกษาที่มีความใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียน ดังนั้นนอกจากจะสอนในส่วนวิชา ผมจะพยายามเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดของนักเรียนด้วย แต่ผมจะเป็นครูที่เหมือนโค้ชเหมือนพี่มากกว่าครับ เพราะผมเองก็พยายามเรียนรู้จากนักเรียนด้วย โดยรับฟัง Feedback จากนักเรียนว่าครูสอนเป็นยังไงบ้าง อยากให้ปรับแก้ไขตรงไหนก็สามารถพูดคุยกันได้ เพื่อพัฒนาการสอนในคาบต่อๆ ไป
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเคารพซึ่งกันและกันครับ ไม่ใช่แค่นักเรียนที่เคารพผม ผมเองก็ให้ความเคารพนักเรียนด้วยเช่นกัน”
เล่นเพื่อทีม มีวินัย ใช้โอกาสที่ได้รับให้ดีที่สุด
หลังจากผ่านช่วงเวลาฝึกสอน จารย์เตอร์ก็สามารถโฟกัสกับฟุตบอลได้เต็มที่ในฐานะกองกลางตัวรุก ก่อนสามารถเบียดแย่งตำแหน่งตัวจริงได้สำเร็จ แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เพราะโค้ชมาริโอ ยูรอฟสกี ซึ่งย้ายมาคุมเมืองทอง ยูไนเต็ด ในช่วงปี 2020-2023 ตัดสินใจเปลี่ยนตำแหน่งที่เขาเล่นมาตลอดอาชีพการค้าแข้งให้กลายเป็นกองกลางตัวรับประจำทีม
“ผมชอบและถนัดการเล่นกลางรุก เพราะเกมรุกมันสนุกอยู่แล้ว แต่พอโค้ชดรอปผมมาเล่นกลางรับ ผมก็ได้มุมมองใหม่อีกแบบนึง คือผมอาจจะเลี้ยงกินตัวเหมือนกลางรุกได้ แต่มันก็อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรเสี่ยง ถ้าเราเสียบอลไป คู่แข่งก็จะเข้าไปถึงกองหลังทันทีซึ่งอันตรายมาก ผมจึงต้องปรับสไตล์ ต้องไม่เสียบอลง่ายและพยายามออกบอลให้เพื่อนเล่นง่าย ถ้ามีโอกาสผมก็จะแทงช่อง Killer Pass ให้เพื่อนหลุดไปทำประตู
ผมมองว่านี่คือการทำเพื่อทีมมากกว่า แม้ผมจะชอบเล่นกลางรุกจริงๆ แต่ถ้าทีมขาดกลางรับ ผมจะรู้สึกว่าเรายอมมาเล่นกลางรับดีกว่าเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับทีม เพราะทุกครั้งที่ผมเลือก ผมจะเลือกสิ่งที่มันสมเหตุสมผลมากกว่าแค่ความชอบส่วนตัว ถ้าผมทำแต่สิ่งที่ผมชอบและได้ประโยชน์อยู่คนเดียว แต่สุดท้ายมันส่งผลเสียกับทีม ผมก็จะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับคนอื่น เพราะว่าฟุตบอลมันไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว มันต้องไปด้วยกันทั้ง 11 คน”
ปัจจุบัน วีระเทพได้ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกของ ‘ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด’ พร้อมพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพ 2023/24 เป็นครั้งแรก เขายังคงกระหายในการไล่ล่าความสำเร็จให้กับต้นสังกัดและทีมชาติไทย โดยเน้นย้ำว่าทุกวันนี้ยังคงฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
“ทุกครั้งที่ลงสนาม ผมจะบอกตัวเองว่า “วันนี้ผมจะทำให้ทำเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด” ผมจะพยายามรักษาฟอร์มของตัวเอง วิ่งช่วยทีมให้มากที่สุด เสียบอลให้น้อยที่สุด และพยายามทำให้ทีมชนะ สิ่งสำคัญคือผมกับเพื่อนจะเชื่อมั่นในกันและกันเสมอ เพราะฟุตบอลเล่นกัน 11 คน เราต้องเข้าใจว่าสไตล์ของเพื่อนร่วมทีมเป็นยังไง คอยบอกคอยฟังเพื่อนๆ ว่าควรขยับไปตรงไหน เพื่อช่วยทำให้เกมเดินต่อตามแทคติกที่โค้ชวางไว้
นักฟุตบอลเวลาลงสนามต่างก็อยากชนะ ไม่มีใครอยากแพ้ แต่บางทีอะไรก็เกิดขึ้นได้ในเกมฟุตบอล บางครั้งเราอาจเล่นดีสุดๆ แต่บางครั้งก็อาจเล่นไม่ดีทำให้ทีมเสียสมดุล ผมจึงฝึกซ้อมให้หนักกว่าเดิม พยายามเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ เรียนรู้จากชัยชนะ เรียนรู้จากทีมตัวเอง และเรียนรู้จากทุกทีมที่เราเจอ เพราะฟุตบอลสมัยนี้ทุกทีมมีแทคติกที่จะมาแก้ไขกัน ดังนั้นการลดข้อผิดพลาดจึงสำคัญ ถ้าใครผิดพลาดน้อยสุด ก็มีโอกาสได้รับชัยชนะมากที่สุด ผมมองว่าถ้าเราไม่กลับมาแก้ไขและพัฒนาตัวเอง โค้ชก็อาจไปเลือกนักเตะที่พร้อมกว่า และเราก็อาจจะไม่มีโอกาสลงเล่นอีกเลยก็ได้
ทุกวันนี้ ผมพยายามเรียนรู้กับคนเก่งๆ เพราะผมรู้สึกว่าเวลาที่ผมอยู่กับคนเก่งๆ มันจะกระตุ้นให้ผมอยากเก่งขึ้นเหมือนเขา แล้ววันนึงที่ผมเก่งเหมือนเขา ผมก็จะไปเรียนรู้กับคนที่เก่งกว่าเขา เพื่อยกระดับตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ”
เมื่อถูกถามถึงเสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทีมพ่ายแพ้ วีระเทพบอกว่าเขาเข้าใจความรู้สึกของแฟนบอล และพยายามนำคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์มาพัฒนาตัวเอง
“เวลาทีมแพ้ ผมรู้ว่าแฟนบอลหลายคนไม่พอใจในผลงานของเรา แต่ผมก็เป็นแฟนบอลท่านหนึ่งเหมือนกัน ผมก็มีทีมที่เชียร์คือ ‘ลิเวอร์พูล’ ซึ่งฟอร์มช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีนัก แต่ด้วยความที่ผมเป็นนักฟุตบอล ผมรู้ว่าผู้เล่นต้องการกำลังใจ ดังนั้นคำวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ผมจะนำมาแก้ไข แต่ถ้าบางเรื่องเป็นคำด่าที่มันเกินไป ผมก็แค่ปล่อยผ่าน และไม่เคยรู้สึกว่าเราจะต้องไปด่าตอบโต้แฟนบอล”
ช่วงเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงที่ผมได้คุยกับวีระเทพ ผมสัมผัสได้ถึงคาแรกเตอร์ที่มีส่วนหล่อหลอมให้เขาเติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็น การมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และปรับตัว ความมุ่งมั่นที่มาพร้อมกับความพยายามและอดทน การบริหารจัดการเวลาและความรับผิดชอบต่อตัวเอง และที่สำคัญสำหรับการเป็นนักกีฬาคือ การเห็นความสำคัญของทีมเวิร์ก ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ว่าเขาจะเลือกเส้นทางไหน เขาก็น่าจะไปถึงเป้าหมายของตัวเองได้
ถึงวันนี้ ในวัย 28 ปี ที่หลายคนเรียกว่าเป็นจุดพีคของอาชีพ วีระเทพยังคงมุ่งมั่นเต็มร้อยกับเส้นทางลูกหนัง พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยข้อคิดสำหรับเยาวชนที่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
“สิ่งสำคัญที่นักฟุตบอลต้องมีคือเรื่องวินัย ตอนเด็กๆ เราอาจจะเล่นฟุตบอลเพื่อความสนุกหรือความชอบส่วนตัว แต่เมื่อโตขึ้นแล้วเข้าสู่ฟุตบอลอาชีพ มันไม่ใช่แค่ความสนุก ต้องมีวินัยและความอดทน โดยเฉพาะการอดทนต่อสิ่งเร้าภายนอกสนาม ก็จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเติบโตเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ได้ทำในสิ่งที่รักพร้อมกับดูแลตัวเองและครอบครัวได้
มีหลายอย่างที่ผมชอบนอกจากการเล่นฟุตบอล แต่ใจจริงๆ คืออยากทำธุรกิจส่วนตัวในอนาคตครับ แต่ตอนนี้ผมยังไม่อยากโฟกัสเรื่องอื่นๆ และขอเต็มร้อยกับอาชีพที่ผมใฝ่ฝัน ผมขอบคุณทุกคนที่คอยซัปพอร์ตผม คอยฉุดรั้งผมจากสิ่งเร้าทั้งหลาย รวมถึงให้กำลังใจผม ผมจะไม่มีวันลืมทุกคน แล้วก็จะไม่มีวันลืมฟุตบอลแน่นอนครับ”