- อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ อดีตคุณครูผู้หันหลังให้กับระบบการศึกษา เพื่อมาออกแบบการเรียนรู้นอกกรอบ ปรับผู้เรียนเปลี่ยนผู้สอนในนาม ‘กลุ่มลูกหว้า’
- การเรียนในระบบนั้นยังไม่ตอบโจทย์ทั้งกับตัวอาจารย์และเด็กๆ เท่าที่ควร จึงริเริ่มเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เน้นการปฏิบัติจริงแล้วนำไปเผยแพร่ต่อ โดยใช้ศิลปะและงานช่างท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้
- ความรู้นั้นมีอยู่ในตัวของทุกคนและช่วยกันแบ่งปันออกไป ถ้าเราสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ได้ ความรู้ก็จะถูกกระจายออกมาเอง
“สำหรับเราหัวใจหลักของการเรียนรู้คือ ทำยังไงก็ได้ให้ได้ปฏิบัติ ให้เข้าถึงง่าย จะเป็นอะไรก็ได้ เรียนรู้อะไรก็ได้ เพราะมันจะกลายเป็นการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้อีกที”
The Potential ชวนคุยกับ อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ อดีตคุณครูผู้หันหลังให้กับระบบการศึกษา เพื่อมาออกแบบการเรียนรู้นอกกรอบ ปรับผู้เรียนเปลี่ยนผู้สอนในนาม ‘กลุ่มลูกหว้า’ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี เพิ่มพูนทักษะชีวิตและแบ่งปันความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ
ย้อนไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน อาจารย์จำลองเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดเพชรบุรี และอยู่ในบทบาทของครูในระบบเรื่อยมากว่า 20 ปี จนกระทั่งได้มาสอนที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ โรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมืองเพชรบุรีเป็นโรงเรียนสุดท้าย ก่อนผันตัวออกมาทำกิจกรรมกับ ‘กลุ่มลูกหว้า’ อย่างเต็มรูปแบบ
“ก่อนหน้านี้ครูบางคนไม่ได้เรียกเราว่า ‘ครูนอกกรอบ’ นะ เขาเรียกเราว่า ‘ครูนอกคอก’ เราก็บอกเขาว่าเราไม่ชอบอยู่ในคอก เราชอบให้ปล่อยสบายๆ”
ด้วยความที่เป็นคนไม่เคร่งครัดขึงตึงกับกฎระเบียบ และค่อนข้างเข้าใจเด็กที่ต้องการทำอะไรนอกกฎ ครูนอกคอกในวันนั้นจึงกลายเป็นพื้นที่สบายใจให้กับนักเรียนหลายๆ คน
“มันไม่มีหรอกกฎระเบียบน่ะ มันมีแต่ ‘ความพอดี’ อะไรที่มันพอดีได้มันจะอยู่ได้ ถ้ามันไม่พอดีมันก็ไม่โอเค เพราะเราเชื่อว่าอะไรที่มันพอดีก็จะอยู่ได้นาน อะไรที่ไม่พอดีก็จะอยู่ไม่ได้”
จากประสบการณ์การเป็นครูหลายสิบปีทำให้อาจารย์จำลองตกผลึกว่าอะไรคือการเรียนรู้ที่แท้จริง และพบว่าการเรียนในระบบนั้นยังไม่ตอบโจทย์ทั้งกับตัวเองและเด็กๆ เท่าที่ควร จึงริเริ่มสร้าง ‘กลุ่มลูกหว้า’ เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เน้นการปฏิบัติจริงแล้วนำไปเผยแพร่ต่อ โดยใช้ศิลปะและงานช่างท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้
อดีตครูในระบบ ก่อนค้นพบแนวทางการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต
อาจารย์จำลองเล่าว่า จากประสบการณ์การสอนที่ผ่านมานั้น แต่ละโรงเรียนก็มีศักยภาพที่แตกต่างกันไป แต่การได้มาสอนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนค่อนข้างมาก ก็ยิ่งทำให้อาจารย์ได้เห็นความหลากหลายของนักเรียนมากขึ้น และทำให้ได้ทบทวนตัวเองว่า จริงๆ แล้วโรงเรียนในระบบนั้นยังไม่ตอบโจทย์อะไรหลายๆ อย่างมากกว่าที่คิด
“หลายอย่างในโรงเรียนมันยังไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่ใช่แค่นักเรียน แต่รวมถึงครูด้วย ก็เลยมีความรู้สึกว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งช่วงที่มีเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาไทยรอบที่ 1 ช่วงนั้นเรามีความหวังนะ
แต่หลังจากมีการปฏิรูปสำเร็จ มันกลับกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงขององค์กร กรมสามัญศึกษาและประถมศึกษาแห่งชาติ รวมกันเป็นสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า มันเกิดการแบ่งเขตพื้นที่ใหม่ มีผู้บริหารเกิดใหม่ แต่ในเสียดายที่ในห้องเรียนยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่”
“อีกทั้งตลอดชีวิตการเป็นครูของเราและครูหลายท่านก็ได้รับการอบรมไม่จบสิ้น คือถึงแม้ว่าการอบรมครูจะเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือเรายังไม่ทันนำวิธีการที่อบรมมาใช้กับนักเรียนให้เห็นผลเลย ก็ถูกเปลี่ยนแผนอีกแล้ว สิ่งนี้เลยทำให้เรารู้สึกว่าการศึกษาของโรงเรียนในระบบนั้นยังไม่ค่อยใช่”
นอกเหนือจากความรู้สึกเสียดายที่หลังการปฏิรูปการศึกษา การเรียนในห้องเรียนไม่ถูกเปลี่ยนไปมากเท่าที่ควร เรื่องวิสัยทัศน์ทางการศึกษาในสมัยนั้นก็เป็นอีกประเด็นที่อาจารย์จำลองรู้สึกว่าการเรียนรู้แบบเดิมๆ แค่ในห้องเรียนนั้นคงไม่เพียงพอและไม่เท่าทันกับยุคสมัย
“ช่วงประมาณปี 2537-2538 ตอนนั้นคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทย และเป็นของใหม่มาก แต่มันก็แย่หน่อยตรงที่ว่า คนจะเรียนรู้คอมพิวเตอร์ได้ก็จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ ทำให้รู้สึกว่าอุปสรรคค่อนข้างเยอะ และตอนนั้นความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนไทยก็ไม่ได้ดีมากขนาดนั้น
ในอดีตเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่พอมีเรื่องระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาก็ทำให้เห็นได้ชัดมากขึ้นว่าภาษาอังกฤษนั้นมีความจำเป็นแค่ไหน
ดังนั้นเหตุการณ์นี้เลยยิ่งทำให้เราเห็นว่าการเรียนอยู่แค่ในห้องเรียน หรือการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ คงจะไม่พอแน่ๆ ก็เหมือนกับภาษาอังกฤษ ที่คนส่วนใหญ่ก็ท่องแกรมมาร์กันได้นะ แต่พอจะเอาไปใช้จริงก็ทำไม่ได้”
สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและมีคุณค่า
แรงบันดาลใจในการหยิบจับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้และการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมนั้น มาจากเมื่อครั้งที่อาจารย์จำลองได้ฟัง ‘แม่กิมไล้’ เจ้าของร้านขนมและของฝากชื่อดังของเพชรบุรี เล่าถึงที่มาของร้านแม่กิมไล้ ในวงสนทนาเวทีปฏิรูปการศึกษา
“เราได้ยินแม่กิมไล้พูด ก็รู้สึกว่าเขาพูดได้ถูกใจเรามากเลย เขาบอกว่าความเป็นมาของการที่มีชื่อเสียงและทำขนมคือตอนที่มีลูกคนแรก เพราะที่เพชรบุรี เวลาที่มีคนคลอดลูกเขาจะนิยมเอากล้วยมาเยี่ยม ที่บ้านแม่กิมไล้เช่นกัน
แล้วทีนี้กล้วยมันสุกแล้วก็มีเยอะ เลยตัดสินใจเอาไปขายได้หวีละ 50 สตางค์ ก็คิดว่าน่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านี้ แม่กิมไล้เลยเอากล้วยมาผ่าซีกแล้วห่อข้าวเหนียว มัดละ 50 สตางค์ จากกล้วยที่ขายกันหวีละ 50 สตางค์ ก็กลายมาเป็นข้าวเหนียวห่อ ห่อละ 50 สตางค์ ขายได้ทีเป็น 20 มัด ซึ่งนี่ก็เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า
ทำให้เราคิดได้ว่า การเรียนการสอนในโรงเรียนน่าจะนำไปสู่สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้เรียนสามารถมีกระบวนการคิดแบบนี้ได้ แต่พอเอาเข้าจริงที่ปฏิรูปมาแล้วก็กลายเป็นการแบ่งเขตการศึกษาใหม่ จัดระบบบริหารใหม่ไปเสียแทน”
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อาจารย์รู้สึกว่าภูมิปัญญาของเมืองเพชร ควรได้รับการเรียนรู้และสานต่อ คือในตอนที่พานักเรียนต่างชาติออกไปทัศนศึกษาในเพชรบุรี โดยให้นักเรียนจับคู่บัดดี้ไปด้วยกันเพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาของจังหวัด แต่นักเรียนคนไทยที่เป็นคนเพชรกลับไม่รู้จักภูมิปัญญาท้องถิ่น
“พอถึงสถานที่จริงนักเรียนไทยเองกลับไม่รู้จักสิ่งที่จะพาไปเรียนรู้ พาไปบ้านขนม เด็กๆ ก็ไม่รู้ว่าขนมท้องถิ่นของจังหวัดมีอะไรบ้าง ทั้งๆ ที่เด็กของเรามีความรู้ทางภาษาที่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่ในส่วนของความรู้ท้องถิ่นและชุมชนเขากลับไม่รู้เสียอย่างนั้น”
เมื่อไม่รู้ก็ไม่รักและไม่คิดที่จะเรียนรู้ อาจารย์จำลองมองว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งคือการเรียนการสอนในระบบมุ่งไปที่การสอบและเป้าหมายด้านอาชีพมากกว่า การเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบนต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง
“เรามองว่าในเพชรบุรีมีองค์ความรู้อยู่ในตัวคนเยอะมาก ไม่ได้จำกัดว่าต้องอยู่แต่ในหนังสือ ผู้คนที่เราเดินสวนเดินผ่านนั้นล้วนแต่เป็นผู้รู้เรื่องสักเรื่องแน่นอน แต่เขาไม่มีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้และตัวเด็กก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้จากคนเหล่านั้น แล้วมันก็ฝังมาเรื่อยๆ
พออยู่ๆ มาก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องเหมือนในโรงเรียนก็ได้ ขอแค่วันเสาร์สักวันที่เราเป็นคนออกแบบการเรียนรู้เอง”
ประกอบกับในช่วงนั้นมีปัญหา ‘เด็กติดเกม’ ค่อนข้างมาก ในเมืองมีแต่ร้านเกมเต็มไปหมด อาจารย์เลยอยากหาพื้นที่หนึ่งเพื่อชวนเด็กๆ ออกมาทำกิจกรรม แทนที่จะไปอยู่ในร้านเกม จึงหยิบ ‘งานช่างเมืองเพชร’ มาเป็นตัวชูโรงในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลายไม่น่าเบื่อ
“สถานการณ์ของงานช่างตอนนั้นก็กำลังแย่เหมือนกัน เรียกได้ว่างานช่างบางประเภทเหมือนอยู่ในห้อง ICU ได้เลย บางประเภทก็ลงหลุมไปแล้ว
ส่วนเด็กๆ ก็ถูกมองว่าติดเกมมากไป หรือมั่วสุม เราก็ต้องมาคิดว่าถ้าไม่ให้เด็กเล่นเกม แล้วจะให้เขาทำอะไร จะให้เขาไปรวมกันที่ไหนดี เราก็ต้องหาพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก
แต่จริงๆ เราแค่คิดง่ายๆ ว่าเด็กเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวมันไม่พอแล้วก็น่าเบื่อ แต่ถ้าเด็กเบื่อโรงเรียนจะให้เขาไปไหน เพราะถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ แต่ถ้าเด็กไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ เขาก็ไม่มา คราวนี้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และชวนให้เด็กๆ ออกมา”
‘กลุ่มลูกหว้า’ โมเดลการเรียนรู้ที่เด็กเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอน
ก่อนกลายเป็น ‘กลุ่มลูกหว้า’ อาจารย์จำลองได้ไปพบกับ ‘กลุ่มดินสอสี’ ที่มาจัดกิจกรรม ‘บ้านในฝันสัญจร’ ที่เพชรบุรี เป็นกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัว และอาจารย์ก็ประทับใจการออกแบบกิจกรรมของกลุ่มดินสอสีเป็นอย่างมาก
“ตอนที่เขามาจัดงานอีกรอบ เราก็ทักเขาไป เขาเลยเล่าให้ฟังว่าเขามาชวนเด็กๆ ทำกิจกรรม ซึ่งก่อนจะจัดกิจกรรม เราก็ต้องไปเรียนทักษะงานช่างก่อน เลยชวนเด็กนักเรียนของเราไปเรียนรู้งานช่างฉลุลายกระดาษกัน
พอได้ลองจัดกิจกรรมแล้วก็อยากทำอีก ก็ชวนเด็กกลุ่มนั้นให้มาทำกันต่อ เวลาเขามีงานเราก็ไปเข้าร่วมด้วย ระหว่างเวลานั้นเด็กๆ เขาก็เรียนไปด้วยตามปกติ เพราะงานนานๆ จะมีที
ซึ่งตอนที่ไปทำกับกลุ่มดินสอสีก็ยังไม่ได้เป็นกลุ่มลูกหว้านะ ยังเป็นแค่นักเรียนโรงเรียนเบญจมฯ อย่างเดียว เด็กๆ เขาก็ชวนเพื่อนๆ มา เพราะพอเขาไปทำมาแล้วรู้สึกสนุก ก็จะเอามาบอกเพื่อนๆ ต่อ”
แต่หลังทำกิจกรรมมาราวๆ 2-3 เดือน ทุกคนก็เริ่มคิดว่าอยากจะตั้งชื่อให้คนเรียกกันได้ง่าย และเพื่อสร้างตัวตนให้กับกลุ่ม จนได้ชื่อเป็น ‘กลุ่มลูกหว้า’ ที่มาจากต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี
ตลอดเวลาที่ทำงานนี้ อาจารย์มองว่าการจัดกิจกรรมตามงานต่างๆ เป็นการทำงานเชิงรับอย่างเดียว เลยอยากพลิกมาทำเชิงรุกดูบ้าง จึงมาที่ ‘เขาวัง Cable Car’ เพื่อขอใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมกับเด็กๆ โดยเริ่มต้นด้วยการทำพวงมโหตร ซึ่งเป็นงานต่อกระดาษที่ค่อนข้างทำง่ายและได้ผลงานจริง
“เราทำอยู่หลายปีก็เลยเกิดการถอดบทเรียน ซึ่งนี่คือการปฏิรูปในฝันของเรา ที่ ‘ปรับผู้เรียนเปลี่ยนเป็นผู้สอน’
จากเรียนเพื่อทำงานส่งครู เป็นเรียนเพื่อเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นๆ การถ่ายทอดครั้งที่ 1 อาจไม่ดีมากนัก แต่ครั้งที่ 2-3 ต้องดีแน่นอน เพราะถ้ามันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็จะกลายเป็นความชำนาญของคนๆ นั้นไป”
โดยตอนนี้ โรงเรียนลูกหว้าเปิดพื้นที่หลักๆ 2 แห่ง คือที่ ‘เขาวัง Cable Car’ หรือที่เรียกว่า ‘สถานีดีจัง’ มีกิจกรรมให้เรียนรู้หลายอย่าง เช่น เวิร์กช็อปทำพวงมโหตร เซรามิก วาดรูปเพื่อเอาไปพิมพ์ลงวัสดุต่างๆ และอีกแห่งคือ ‘หอศิลป์สุวรรณาราม’ ณ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
“เราขอใช้พื้นที่ของวัดคือกุฏิเรือนไทยหมู่ 7 หลัง ทำกิจกรรมเรื่องฉลุลาย ที่นั่นจะเน้นงานสกุลช่างเมืองเพชร แต่ที่เขาวัง Cable Car จะเน้นศิลปะเชิงประยุกต์ที่อิงกับงานช่างมากกว่า โดยจะอิงกับงานจิตรกรรม ภาพเขียน หรืองานปั้น งานตัดกระดาษ
ที่หอศิลป์สุวรรณารามเราทำงานช่างฉลุลาย เพราะงานช่างฉลุลายของเพชรบุรีก็มีทั้งฉลุกระดาษ ฉลุหยวกกล้วย ฉลุไม้ ฉลุหนัง เนื่องจากวัดใหญ่สุวรรณารามนั้นมีงานปิดทองลายฉลุอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ก็เลยอาศัยให้คนไปเรียนรู้การฉลุลาย เพื่อมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ถุงผ้าพิมพ์ลายฉลุ ที่นอกจากสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อขายแล้ว เรายังชวนคนมาเรียนเรื่องนี้อีกด้วย”
การสืบสานที่ทุกคนงอกงามจากการแบ่งปันและลงมือทำ
แม้กิจกรรมการเรียนรู้นี้จะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ลูกหว้าสืบสานสกุลช่าง’ แต่อาจารย์จำลองย้ำว่า เป้าหมายไม่ใช่การปั้นเด็กให้เป็นช่าง แต่เป็นการออกแบบการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจและสามารถนำทักษะที่ได้ไปปรับใช้กับชีวิตของตนเอง
โดยคำว่า ‘สืบสาน’ ในความหมายนี้มีหลากหลายวิธีและหลากหลายเครื่องมือ ซึ่งการสื่อสารหรือเผยแพร่ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
“ก่อนหน้านี้เราไปเห็นงานพระนครคีรีที่มีงานช่างจัดแสดงทุกวัน ทั้งงานฉลุลายกระดาษ งานลงรักปิดทอง งานปั้นปูน ปั้นด้วยกระดาษ งานเขียนลายรดน้ำ งานเขียนหัวโขน เป็นต้น แต่มันไม่ค่อยมีคนเข้าไปดูเลย เราเลยเข้าไปคุย แล้วเห็นว่านี่แหละคือความรู้ แต่เสียดายที่ไม่มีคนเรียนรู้
เราเลยให้เด็กเหล่านี้เข้าไปเรียนรู้ โดยใช้ชื่อว่า ‘ลูกหว้าสืบสานสกุลช่าง’ แต่การเรียนรู้ของเราคือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Active Learning)
จากงานที่ทำมาทำให้เรารู้ว่ามันไม่ได้เกิดการเรียนรู้ต่อตัวเด็กอย่างเดียว แต่ยังเกิดกับเราที่เป็นครูด้วย เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ว่าเราไปสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่ได้มีความรู้มากพอ เราก็ต้องเรียนรู้ๆ ไปพร้อมกันกับเด็ก”
อาจารย์จำลองเล่าว่า เด็กในกลุ่มลูกหว้าส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว และมีวิธีการเรียนรู้ที่น่าทึ่ง ซึ่งปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากการได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง ซึ่งการที่จะทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้นั้นต้องมีเครื่องมือ 1 ต่อ 1
“ทุกวันนี้เราใช้เครื่องมือ หรือครูในอัตรา 1 ต่อ 40 กันอยู่ มันก็ไม่มีทางที่ครูใช้ประโยคเดียวกัน แล้วนักเรียนทั้ง 40 คน จะเข้าใจตรงกันทั้งหมด เด็กก็ไม่ได้มีโอกาสปฏิบัติ ซึ่งครูก็ควรเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กด้วย เพราะถ้าเราเป็นฝ่ายสอนแค่อย่างเดียว นั่นก็ไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง”
อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่อาจารย์จำลองมองว่าเกิดขึ้นมาโดยตลอดในห้องเรียนคือ ‘เสียงออดหมดเวลา’ เพราะแม้ครูจะรู้ว่านักเรียนยังเรียนไม่เข้าใจ แต่พอเสียงออดดังขึ้น สมาธิทุกคนก็แตกกระจาย ซึ่งการที่เป็นแบบนี้ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่ต่อเนื่อง
“แต่กลับกันถ้าเราเปลี่ยนการเรียนรู้แบบในห้องเรียนมาเป็นการปฏิบัติจริงมันแตกต่างกันเลย เพราะถึงแม้เราจะหยุดพักไว้เราก็มาต่อได้ง่าย เหมือนศิลปินวาดรูปที่วาดค้างทิ้งไว้นานก็สามารถมาวาดต่อได้ เรามองว่าการเรียนรู้ควรเป็นการปฏิบัติจริงมากกว่า
เพราะที่เราบอกว่าเราปฏิรูปการเรียนรู้จากผู้เรียนเป็นผู้สอน เรียนไปไม่ได้เพื่อทำงานส่งครู แต่เรียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น ใช้การคิดแบบกลับหัวกลับหาง”
สารจากครูนอกกรอบ ‘ทุกคนเป็นนักจัดการเรียนรู้ได้’
อาจารย์จำลองทิ้งท้ายถึงการจัดการการเรียนรู้ว่า ไม่ควรจำกัดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ แต่ควรมองให้กว้างขึ้น เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้หลากหลายและเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัด เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง
“ทุกพื้นที่นั้นสามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้หมด การกำหนดว่าที่นั่นที่นี่คือที่เรียนรู้นั้นเป็นการจำกัดการเรียนรู้ อย่างเช่นเราเจอป้ายแหล่งเรียนรู้เพาะเห็ด แต่มองไปเป็นอาคารร้างๆ แล้วมีบ้านข้างๆ แหล่งเรียนรู้นั้นที่ไม่มีป้ายแปะไว้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ แต่เขาเพาะเห็ดขาย แบบนี้บ้านข้างๆ นั้นไม่ใช่แหล่งเรียนรู้หรืออย่างไร เพราะทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าถ้าอยากรู้เรื่องเพาะเห็ดต้องไปที่แหล่งเรียนรู้เท่านั้น มันเป็นการปักป้ายบอกเลยไม่เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ทุกคนสามารถเป็นนักจัดการเรียนรู้ได้ ตราบใดที่เรามีความรู้อยู่ หรือบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีศักยภาพ เราต้องทำให้คนที่เป็นเจ้าของความรู้มั่นใจและอธิบายเกี่ยวกับ ‘ความรู้’ ว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นทฤษฎีหรือในตำราอย่างเดียว
เพราะความรู้มีอยู่ในตัวของทุกคนและช่วยกันแบ่งปันออกไป ถ้าเราสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ได้ ความรู้ก็จะถูกกระจายออกมาเอง”