Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: July 2021

เงินทองต้องคิดส์ (5) : สอนลูกชั่งใจก่อนใช้เงิน (ฉบับวัยรุ่น)
How to get along with teenager
30 July 2021

เงินทองต้องคิดส์ (5) : สอนลูกชั่งใจก่อนใช้เงิน (ฉบับวัยรุ่น)

เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • กลุ่มวัยรุ่นเป็นผู้บริโภคที่นักการตลาดโปรดปราน อย่างไรก็ดี พ่อแม่ไม่ควรสร้างความตึงเครียดด้วยการบอกห้ามใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง แต่ควรสอนให้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการใช้เงินโดยไม่ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณา และสุดท้ายคือการแสวงหาความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยอย่างเหมาะสม
  • ในช่วงวัยมัธยม หากลูกเห็นของในห้างสรรพสินค้าแล้วต้องการซื้อแบบทันควัน พ่อแม่อาจใช้กฎ 24 ชั่วโมงเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนควักเงินซื้อให้ โดยเฉพาะสินค้าราคาสูง เด็กๆ ควรจะต้องศึกษาหาข้อมูลและอ่านรีวิวสินค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ
  • เมื่อเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงาน สิ่งสำคัญ คือ การสอนให้มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นๆ ที่มีสถานะทางสังคมและเงื่อนไขในชีวิตต่างจากเรา พ่อแม่ควรแนะนำเรื่องการใช้เงินอยู่อย่างห่างๆ ในวันที่ลูกผิดพลาดกลับมาขอความช่วยเหลือก็อย่าซ้ำเติม แต่ควรใช้เป็นโอกาสในการสอนบทเรียนทางการเงิน

วัยรุ่นคือช่วงเวลาที่ลูกเริ่มมองหาตัวตน เป็นอิสระจากพ่อแม่ และที่สำคัญคือกำลังซื้อในกระเป๋าค่อนข้างสูงแถมส่วนใหญ่ยังไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบในการหาเงินเองและไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต เพราะความมั่นคงทางการเงินถูกฝากฝังไว้อยู่บนบ่าของพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงไม่น่าแปลกใจหากนักการตลาดจำนวนไม่น้อยจะจ้อง ‘หากิน’ กับคนในช่วงวัยนี้ที่ซื้อง่ายจ่ายคล่องรวมทั้งยังไม่มีวุฒิภาวะในการจับจ่ายใช้สอยมากนัก

นี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางอารมณ์และสังคม พ่อแม่ไม่ควรสร้างความตึงเครียดด้วยการบอกห้ามใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการสอนให้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการใช้เงินโดยไม่ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาด และสุดท้ายคือการแสวงหาความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยอย่างเหมาะสม

วัยมัธยม ใช้จ่ายเงินอย่างรู้เท่าทัน

1. อยากได้ก็ให้จ่ายเงินเอง

ความอยากเป็นสิ่งที่ห้ามกันยาก หลายครั้งที่เราเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าแล้วสายตาไปเจอกับ ‘ของมันต้องมี’ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาซื้อ อาจจะเป็นเสื้อยืดลายโดนใจ กระเป๋าที่เห็นแล้วอยากใช้ หรือชานมไข่มุกรสใหม่ที่อยากลิ้มลอง เมื่อถูกรบเร้า พ่อแม่อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธนะครับ แต่แทนที่จะควักกระเป๋าให้แบบไม่มีเงื่อนไข เราก็บอกว่าลูกต้องใช้คืนเมื่อถึงบ้านด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบด้วยตัวเอง (ถ้าบุตรหลานของคุณยังไม่มีเงินเก็บ ลองย้อนกลับไปอ่านบทความนี้ครับ)

เชื่อไหมครับว่าถ้าต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง เหล่าสินค้า ‘ของมันต้องมี’ ก็อาจไม่ได้จำเป็นขนาดที่จะต้องซื้อมาใช้ เพราะสิ่งของเหล่านี้มันก็แค่ความอยากชั่วครั้งชั่วคราวที่ผ่านมาก็ผ่านไป

บางบ้านอาจมีกฎช่วยชะลอการใช้จ่ายเงินซื้อแบบหุนหันพลันแล่น คือ กฎ 24 ชั่วโมง รอให้เวลาผ่านไปหนึ่งวันเต็มเสียก่อนแล้วให้ลูกตอบตัวเองอีกครั้งว่ายังอยากได้ของชิ้นนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้ายังอยากได้ก็ให้พากลับไปซื้อใหม่ แต่เชื่อไหมครับว่าส่วนใหญ่ความอยากจะมอดดับลงไปเอง 

นอกจากนี้ในระหว่างที่รอ เจ้าตัวแสบก็จะมีเวลาเทียบเคียงราคาและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมบนอินเทอร์เน็ตในระหว่างที่ต้องรอตามกฎซึ่งอาจเป็นการช่วยพ่อแม่ประหยัดเงินได้อีกนิดเพราะบางทีผลิตภัณฑ์ที่อยากได้อาจจำหน่ายลดราคาอยู่ที่อื่น และเป็นพื้นฐานของการใช้เงินอย่างชาญฉลาด

2. ศึกษาก่อนซื้อ

แน่นอนครับว่าลูกๆ คงไม่ต้องเสียเวลาศึกษาทุกอย่างก่อนที่จะควักสตางค์จ่ายซื้อ แต่วันไหนที่เจ้าตัวเล็กกำลังชั่งใจจะซื้อของชิ้นใหญ่ที่ราคาหลักพันบาทขึ้นไป เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรี หรือเครื่องเสียงระบบไร้สาย พ่อแม่ควรพูดคุยจนแน่ใจว่าลูกใช้เวลาศึกษาอย่างดีเพียงพอ

นี่คือช่วงเวลาที่ผู้ปกครองสามารถสอนให้ลูกแยกแยะระหว่างสรรพคุณที่บอกเล่าผ่านโฆษณากับการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระจากลูกค้าทั่วไป เราอาจยกตัวอย่างเว็บไซต์ต่างๆ ที่หยิบสินค้ามารีวิวโดยผู้เชี่ยวชาญ สอนวิธีสังเกตว่าบทความชิ้นที่กำลังอ่านเป็นโฆษณาที่ถูกจ้างให้ทำหรือเป็นความเห็นที่ไม่มีอคติ พร้อมทั้งบอกวิธีเลือกร้านค้าตามแพลตฟอร์มออนไลน์ การสังเกตรีวิวโดยผู้ซื้อทั้งเนื้อหาและคะแนนที่ให้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ 

หากรู้เทคนิคเหล่านี้ รับรองว่าลูกของคุณจะเก่งกว่าคุณในเวลาไม่นาน แถมบางคนอาจย้อนกลับมาให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าบางอย่างให้พ่อแม่ด้วยซ้ำ!

3. โปรดระวังโฆษณาแฝง

ในยุคที่โฆษณาถูกนำเสนอแบบเนียนๆ เป็นเนื้อเดียวกับรายการตามสื่อต่างๆ หรือโพสต์ของดาราบนโซเชียลมีเดีย อย่าว่าแต่เด็กเลยครับเพราะผู้ใหญ่บางคนก็ตกเป็นเหยื่อการตลาดจากการที่มีคนดังหรือนักกีฬาที่ชื่นชอบออกมาสาธยายสรรพคุณความดีงามของสินค้าหรือบริการที่เขาหรือเธอเลือกใช้ จนเรารู้สึกอยากได้อยากมีจนต้องยอมควักเงินจ่ายเพราะ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่บอกเล่า

สิ่งสำคัญที่เราต้องย้ำให้เด็กๆ ในบ้านรับทราบ คือ ดาราคนดังเหล่านี้สร้างรายได้ปีละเป็นล้านๆ จากการโพสต์ภาพสินค้าบนอินสตาแกรมแบบชิลล์ๆ หรือบอกเล่าประสบการณ์การใช้บริการแบบดีเกินจริง วัยรุ่นส่วนใหญ่จะรู้เท่าทันการกลเม็ดการโฆษณาเช่นนี้ แต่หลายคนก็ยอมประกาศตัวเป็นสาวกของเหล่าสินค้าแบรนด์เนมราวกับว่าเป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์แบบไม่เป็นทางการ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ห้ามยาก แต่เราในฐานะพ่อแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกเพื่อสร้างความรู้เท่าทัน ส่วนเด็กๆ จะตัดสินใจอย่างไรก็ควรเคารพการซึ่งกันและกัน

4. ตอบให้ได้ว่า ‘จ่ายแพง’ เพราะอะไร

การซื้อของแพงไม่ใช่เรื่องผิด แต่ที่สำคัญกว่าคือเราจ่ายแพงด้วยเหตุผลอะไร

มีการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการทดลองในผู้ใหญ่โดยให้ชิมไวน์ที่ติดป้ายราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐและ 90 ดอลลาร์สหรัฐแล้วสอบถามว่าไวน์ขวดไหนรสชาติดีกว่า ผู้อ่านคงเดาได้นะครับว่าผู้ร่วมการทดลองให้คำตอบว่าไวน์ที่ติดราคา 90 ดอลลาร์สหรัฐอร่อยกว่า แต่เชื่อไหมครับว่าไวน์ทั้งสองขวดคือไวน์แดงชนิดเดียวกันที่ต่างกันแค่ราคาหน้าขวด นี่คือผลทางจิตวิทยาที่สินค้าราคาแพงจะสร้างความรู้สึก ‘ดีกว่า’ แบบปลอมๆ ขึ้นมา

พ่อแม่ผู้ปกครองอาจออกแบบการทดลองลักษณะนี้กับลูกๆ โดยเลือกสินค้า เช่น แชมพู คุกกี้ หรือขนมอะไรก็ได้สองชนิดที่ราคาใกล้เคียงกันแต่นำมาแปะป้ายราคาที่แตกต่างกัน แล้วให้ลูกเปรียบเทียบว่าชอบอันไหนมากกว่า พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าป้ายราคาส่งผลให้เรามีอคติในการตัดสินใจอย่างไร

การซื้อของที่ราคาแพงว่าท้องตลาดจึงต้องมีเหตุผลสนับสนุนทุกครั้ง เราย่อมจ่ายแพงเพื่อซื้อไข่อินทรีย์เพราะดีต่อสิ่งแวดล้อม รสชาติดี และไม่มีสารเคมีปนเปื้อน หรือซื้อชุดมีดที่ราคาจะสูงลิ่วแต่สามารถใช้ได้อย่างน้อยๆ ก็ 10 ปีซึ่งจะคุ้มค่ากว่าในระยะยาว 

เราจึงควรชวนลูกๆ ให้มาฟังวิธีการชั่งใจของพ่อแม่ที่จะเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่ต้องจ่ายกับประโยชน์ที่ได้ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อ

วัยมหาวิทยาลัย-เริ่มทำงาน เงินกับความสุขในชีวิต

1. หลากวิธีใช้เงินซื้อความสุข

ในฐานะนักการเงินผมขอเถียงหัวชนฝาถ้ามีใครมาบอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ เพราะเราต่างอยู่ในระบอบทุนนิยมซึ่งการมีเงินย่อมดีกว่าไม่มี แต่ที่สำคัญคือการมีเงินและต้องใช้เพื่อหาความสุขอย่างชาญฉลาด

อลิซาเบธ ดันน์ (Elizabeth Dunn) และไมเคิล นอร์ตัน (Michael Norton) สองนักวิชาการผู้หลงใหลกับคำถามที่ว่าเงินจะซื้อหาความสุขได้อย่างไร ทั้งสองนำเสนอหลักการเพื่อใช้เงินสร้างสุขในชีวิตซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และนับเป็นข้อสังเกตสำคัญที่เราทุกคนควรทราบเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

จากการศึกษาพบว่า การใช้เงินซื้อประสบการณ์จะสร้างความสุขได้มากกว่าจ่ายเงินซื้อสิ่งของ นอกจากนี้เงินที่มีในกระเป๋าก็ควรหยิบมาใช้เพื่อซื้อเวลาว่าง อย่าเห็นแก่ส่วนลดเล็กน้อยแล้วยอมเสียเวลาเพื่อจะได้ซื้อสินค้าในราคาประหยัดโดยไม่คิดว่ากำลังสูญเสียเวลาสบายๆ ที่ควรจะได้ใช้ทำงานอดิเรกหรืออยู่กับครอบครัว

ที่สำคัญ เราไม่ควรใช้เงินมากเกินไปแม้ว่าจะมีเงินในบัญชีอยู่เหลือเฟือก็ตาม เพราะการใช้เงินปรนเปรอตัวเองจนล้นเกินจะทำให้เราหาความสุขไม่เจอ เพราะมีทุกอย่างที่ต้องการจนรู้สึกว่าใช้เงินอีกมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึก ‘อิ่มเอม’ สักที 

สำหรับคนที่มีเงินเหลือแล้วไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร งานวิจัยพบว่า ‘การให้’ โดยเฉพาะการลงทุนสร้างอนาคตแก่ญาติมิตรแม้จะเป็นจำนวนไม่มากแต่ก็จะนำพามาซึ่งความอิ่มเอมใจแก่ผู้ให้

2. การเรียนรู้มีราคาที่ต้องจ่าย

ไม่ว่าลูกจะยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงาน พ่อแม่ก็ควรให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ พร้อมแสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจใช้เงินของลูกเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเขาหาเงินเองได้และต้องการทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ในอุดมคติทำกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขุดสูทราคาแพง บ้านหลังใหญ่ หรือรถยนต์ยุโรป

วันดีคืนดี ถ้าลูกตัดสินใจจะเริ่มผ่อนคอนโดสามห้องนอนสองห้องน้ำใจกลางเมืองโดยใช้เงินก้อนที่เก็บมาทั้งชีวิต เราอาจถามในบางประเด็นที่ลูกอาจคิดไม่รอบคอบ เช่น แน่ใจหรือว่าจะทำงานอยู่ที่นี่จนกว่าจะผ่อนคอนโดหมด? การงานมั่นคงขนาดไหน? หลังจากหักเงินผ่อนแล้วมีเงินใช้จ่ายพอหรือเปล่า? เราจะลงหลักปักฐานที่นี่จริงๆ ใช่ไหม? ฯลฯ

หลังจากถามพอประมาณและลูกยังยืนกรานว่าจะซื้อให้ได้ เราก็ไม่ควรขัดขวางโดยปล่อยให้เขาลิ้มรสการตัดสินใจของตัวเอง วันหนึ่งหากเขาดูแลค่าใช้จ่ายไม่ไหวพ่อแม่ก็ไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรใช้โอกาสบอกกล่าวว่านี่คือ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายเพื่อเรียนรู้เรื่องการใช้เงินอย่างรอบคอบ

3. เตรียมพร้อมรับมือโลกเหลื่อมล้ำ

ในรั้วมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน คือ สถานที่ที่เราจะได้พบปะและใกล้ชิดกับเพื่อนที่อาจมีสถานะทางการเงินที่แตกต่างจากเราอย่างมาก บางคนอาจร่ำรวยล้นฟ้าขับรถป้ายแดงมามหาวิทยาลัย ในขณะที่บางคนอาจต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอม เราจึงควรเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนไปเจอความเหลื่อมล้ำในโลกแห่งความเป็นจริง

พ่อแม่ควรแนะนำลูกๆ ว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดที่ลูกหรือเพื่อนสนิทจะไม่มีเงินออกไปสังสรรค์เฮฮาราคาแพงทุกคืนเพราะจ่ายไม่ไหว และเราสามารถหาความสุขได้จากทางเลือกอื่นที่ราคาประหยัดกว่า เช่น การทำอาหารกินกันเองกับเพื่อนๆ ในทางกลับกันก็อย่าคิดว่าพ่อแม่ฐานะดีแล้วทำตัวหน้าใหญ่จ่ายเงินเลี้ยงเพื่อนทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะนั่นอาจทำให้เพื่อนมองลูกไม่ต่างจากตู้เอทีเอ็ม

ลูกๆ ที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวควรจะทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตและอำนาจในการใช้จ่ายไม่เท่ากัน โดยสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือความเข้าอกเข้าใจและอย่าดูถูกคนอื่นเพียงเพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะทางการเงินไม่มั่นคง

Tags:

เงินทองต้องคิดส์วัยรุ่นการเงิน

Author:

illustrator

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

คุณพ่อลูกอ่อน นักการเงินทาสหมา ที่ใช้เวลาว่างหลังลูกนอน (ซึ่งไม่ค่อยจะมี) ในการอ่าน เขียน และเรียนคอร์สออนไลน์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • How to get along with teenager
    เงินทองต้องคิดส์ (7) : เรียนเรื่องลงทุนแบบไม่ยุ่งยาก (ฉบับวัยรุ่น)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    เงินทองต้องคิดส์ (6) : เรียนเรื่องลงทุนแบบไม่ยุ่งยาก (ฉบับเด็กเล็ก)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    เงินทองต้องคิดส์ (4): สอนลูกชั่งใจก่อนใช้เงิน (ฉบับเด็กเล็ก)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenager
    เงินทองต้องคิดส์ (3) : ออมเงินเรื่องง่าย (ฉบับเด็กโต)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    เงินทองต้องคิดส์ (2) : ออมเงินเรื่องง่าย (ฉบับเด็กเล็ก)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ไม่โสดก็เหงาเป็น
RelationshipHow to enjoy life
28 July 2021

ไม่โสดก็เหงาเป็น

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เรื่องน่าแปลกคือในผู้หญิงนั้นงานวิจัยกลับพบว่านอกจากการแต่งงานไม่ค่อยจะช่วยเรื่องความเหงาแล้ว ซ้ำร้ายบางคนอาจจะเหงาหนักกว่าเดิมเสียอีก
  • ปัญหาความเหงาของคนไม่โสดหรือแต่งงานแล้วมี 2 แบบ คือ เหงาเพราะคนรักไม่ใช่แบบที่เราคิด ตอนคบกันหวังให้เขาเป็นคนรักที่ดี แสดงความอบอุ่นใกล้ชิดกับเรา แต่พอเขาไม่เป็นแบบนั้น เลยรู้สึกว่าไม่พอ ความเหงาจึงเข้ามาโจมตี กับอีกแบบหนึ่งพอมีแฟนแล้วก็ห่างหายจากเพื่อน เพราะคนรักสำคัญที่สุด หากใครมีแฟนที่ทั้งรับฟังและเปิดใจ ทดแทนความสัมพันธ์ที่ห่างหายของเพื่อนๆ ได้ก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ค่อยแสดงออกถึงความเข้าใจเหมือนกับเพื่อนสนิท ความรู้สึกไม่พอตรงนี้ก็ทำให้เกิดความเหงาทางอารมณ์ได้
  • การมีคนรักหรือการแต่งงานนั้น สรุปแล้วมันช่วยแก้เหงาได้จริงหรือ ถ้าได้ แล้วทำไมบางคนแต่งงานหรือแฟนแล้วกลับเหงากว่าเดิม

เวลามีคนมาบ่นกับเราว่า เหงา ต้องทำอย่างไรดี เราจะนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกครับ หลายคนอาจจะตอบว่าก็ไปหาเพื่อนสิ แต่แน่นอนว่าถ้าเป็นการปรึกษากันในกลุ่มหนุ่มๆ สาวๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่บางคนอาจจะได้รับคำตอบที่ไม่น่าแปลกใจว่า “ก็หาแฟนสักคนสิ” การมีแฟนนั้นเป็นเหมือนคำตอบสุดท้ายในใจของใครหลายคนว่า ถ้าฉันมีแฟนเมื่อไร ก็คงไม่ต้องทนเหงาอีกต่อไป และยิ่งถ้าได้แต่งงานแล้ว ความเหงาคงหายไปจากชีวิตเลย แต่นั่นมันเป็นความจริงไหมหรือเปล่านะ… 

บางท่านอาจจะรู้สึกแปลกใจเวลาเพื่อนหรือคนใกล้ตัวที่มีแฟนแล้วแต่ยัง (กล้า) มาบ่นกับท่านว่า “เหงาว่ะ” ยิ่งหากคนฟังยังโสดอาจจะตอบกลับไปอย่างไวว่า “มีแฟนแล้วจะเหงาอะไรอีก” แม้จะฟังดูแปลกแต่หากเราค้นคำว่า “แต่งงาน” กับ “เหงา” พร้อมกันใน google เราจะพบว่ามีบล็อก บทความ หรือกระทู้ในเว็บบอร์ดจำนวนมากที่มีทั้งคนระบายว่าชีวิตหลังแต่งงานของตนในตอนนี้ “เหงาจะตายอยู่แล้ว” หากท่านไหนยังไม่เห็นภาพลองดูตัวอย่างจากลิงก์ในด้านล่างก็ได้ครับ หรือหลายๆ ท่านอาจไม่ต้องไปหา เพราะตัวเองกำลังเจอกับปัญหานี้อยู่และรู้ซึ้งดีว่า ใครว่ามีแฟนหรือแต่งงานแล้วจะไม่เหงามันไม่จริงเลย วันนี้เราจะมาดูกันว่าการมีคนรักหรือการแต่งงานนั้น สรุปแล้วมันช่วยแก้เหงาได้จริงหรือ ถ้าได้ แล้วทำไมบางคนแต่งงานหรือแฟนแล้วกลับเหงากว่าเดิม

หากลองคิดดูแล้วการมีคนรักก็เหมือนมีคนที่สนิทมากๆ หนึ่งคนมาอยู่ใกล้ตัว และนั่นจะน่าจะช่วยลดความเหงาได้ เรื่องนี้ก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการมีแฟนและการแต่งงานช่วยลดความเหงาได้ครับโดยเฉพาะในผู้ชาย เหตุผลก็เพราะว่าผู้ชายหลายๆ คนไม่ค่อยนิยมที่จะคุยเรื่องส่วนตัวหรือแชร์ความรู้สึกของตัวเองเท่าไรนัก เพราะค่านิยมของผู้ชายมาตรฐานในแทบจะทุกสังคมคือต้องทำตัวให้ดูเข้มแข็งเข้าไว้ พูดน้อยต่อยหนัก แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างคือ ผู้ชายมักจะปรึกษาปัญหาหรือความรู้สึกในใจกับคนรักมากเป็นพิเศษครับ ดังนั้นแฟนเลยเป็นเหมือนมาอุดความรู้สึกอ้างว้างจากการไม่มีใครมาคอยให้ปรึกษา ให้พูดคุยเรื่องส่วนตัวของผู้ชายได้ 

เรื่องน่าแปลกคือในผู้หญิงนั้นงานวิจัยกลับพบว่านอกจากการแต่งงานไม่ค่อยจะช่วยเรื่องความเหงาแล้ว ซ้ำร้ายบางคนอาจจะเหงาหนักกว่าเดิมเสียอีก 

และก็ใช่ว่าผู้ชายที่พบความเหงาหลังแต่งงานจะไม่มีเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่การมีคนรักน่าจะทำให้เราหายเหงา ยิ่งแต่งงานก็ยิ่งเหมือนมีคู่ชีวิตที่ใกล้ชิดเราที่สุดแล้ว แล้วทำไมหลายคนแต่งงานแล้วกลับพบว่ายิ่งเหงา นิยามของความเหงาจะมาตอบคำถามนี้ครับ 

ความเหงาคืออะไร เราอาจจะพอนึกออกว่าเป็นความรู้สึกแย่ เศร้า หมองหม่น เหมือนมันขาดอะไรบางอย่างไป แต่ถ้าจะให้พูดกันให้ชัด ๆ ว่าแล้วมันขาดอะไร นักจิตวิทยาชื่อ Robert Weiss ได้วิจัยเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่สมัยปี 1973 นานมากแล้วครับ แต่ถึงจะเก่าแต่นิยามความเหงาของเขานั้นเป็นที่นิยมในแวดวงวิชาการจิตวิทยาจนถึงตอนนี้เลย โดย Weiss แบ่งความเหงาออกเป็น 2 ประเภท 

ความเหงาแบบแรกเรียกว่า ‘ความเหงาทางอารมณ์’ หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด รู้สึกว่ากำลังขาดคนสนิทสนม คนเข้าอกเข้าใจ การจะแก้ความเหงาทางอารมณ์นั้นไม่ได้เน้นว่าเราต้องไปเจอคนจำนวนมาก ต้องไปอยู่ในที่ที่มีคนรู้จักเยอะๆ แต่ขอแค่คนไม่กี่คนหรือแม้แต่คนเดียวที่เข้าใจเราจริงๆ แค่นั้นก็ทำให้หายเหงาได้แล้ว 

ความเหงาแบบที่สองเรียกว่า ‘ความเหงาทางสังคม’ หมายถึง ความเหงาที่ขาดคนที่คอยแชร์ความสนใจ ขาดกิจกรรมทางสังคมไว้เฮฮาปาร์ตี้ ไม่ต้องสนิทมากแต่เรียกได้ว่ามีคนให้เราได้คุยถูกคอ หรือได้มีกลุ่มคนทำกิจกรรมอะไรต่างๆ แก้เบื่อ การจะแก้ความเหงาทางสังคมจึงเน้นไปที่การได้เข้ากลุ่มสังคมที่มีความสนใจตรงกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ได้เจอคนเยอะๆ 

ความเหงาทางอารมณ์และความเหงาทางสังคมเหมือนใช้กลไกในจิตใจของเราคนละแบบ คนที่เหงาอาจจะเพราะเหงาทางอารมณ์แต่อาจจะไม่เหงาทางสังคม หรือกลับกันคือเหงาทางสังคมอย่างเดียวแต่ไม่เหงาทางอารมณ์ หรือจะเหงาทั้งอารมณ์และสังคมเลยก็ได้ ขอย้อนกลับมาที่คนที่เหงาแม้ว่าจะมีคนรักหรือแต่งงานแล้ว คนเหล่านี้เขาเหงาแบบไหนกัน คำตอบคือได้ทั้งสองแบบเลยครับ ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาเกิดจากอะไร แต่ปัญหาความเหงาของคนไม่โสดมักจะมีด้วยกัน 2 แบบหลักๆ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

แบบแรกคือ เหงาเพราะคนรักไม่ใช่แบบที่เราคิด ผมเคยได้ยินคนพูดมาว่า คนเรานั้น ก่อนคบกันก็แบบหนึ่ง ตอนคบกันก็เปลี่ยนเป็นอีกแบบ และหลังแต่งงานก็เปลี่ยนไปอีก คู่ใครเปลี่ยนไปในทางดีขึ้นหรือถูกใจเราขึ้นก็ถือว่าโชคดีไป แต่บางคู่ยิ่งคบยิ่งผิดกับที่คาด ซ้ำร้ายหลังแต่งงานแทนที่จะปรับตัวหากันได้มากขึ้น กลับเป็นยิ่งคุยยากกว่าเดิมก็มี แต่ที่เลวร้ายกว่าคุยไม่ถูกคอคือไม่คุย 

จริงอยู่ที่คนเรามีนิสัยแตกต่างกันไป หลายคนนั้นก็เปิดใจให้กับคนรักมากๆ แต่หลายคนต่อให้คบกันแล้วก็กลับไม่ค่อยพูดอยู่ดีว่าคิดอะไรอยู่ รู้สึกอย่างไร มีปัญหาอะไรหรือเปล่า พอใจหรือไม่พอใจตรงไหน คบกันมาหลายปียังขรึม แต่งงานจนมีลูกแล้วก็ยังเงียบ คนที่มีคู่แบบนี้จะพบปัญหากับความเหงาทางอารมณ์ได้ครับ เพราะคนเรามักจะคาดหวังว่าคนรักต้องเป็นคนที่สนิทชิดใกล้กับเราที่สุด เรามีปัญหาอะไรก็อยากให้คู่รักเป็นที่ระบาย เป็นที่ปรึกษา และในทางกลับกันหากเขามีปัญหาอะไรก็อยากให้เปิดใจกับเราบ้าง แต่ถ้าเกิดคนรักกลับเปิดใจน้อยกว่าที่เราคาดหวัง เรารู้สึกว่าคนรักห่างเหินเราเหลือเกิน มันเลยรู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้นไม่เพียงพอ

มีงานวิจัยที่น่าสนใจคือพบว่า คู่รักที่ระหองระแหงกันนั้น ยิ่งอยู่ด้วยกันกลับยิ่งสร้างความรู้สึกเหงาให้ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งคู่ และความเหงานั้นบางทีมากกว่าในคู่ที่เลิกกันไปแล้วเสียอีก แปลกไหมครับ ถ้าความสัมพันธ์มันไม่พอแล้วเหงา ทำไมยิ่งเจอหน้ากันมันยิ่งเหงา จะร้องเพลงบอกว่า “คนไม่รักใกล้กันช้ำใจยิ่งกว่า” มันก็อาจไม่เห็นภาพ แต่ปัญหามันอยู่ที่ความคาดหวังครับ คนเราตอนคบกัน เราหวังให้เขาเป็นคนรักที่ดี แสดงความอบอุ่นใกล้ชิดกับเรา แต่พอเขาไม่เป็นแบบนั้น มันเลยรู้สึกว่าไม่พอ ความเหงามันก็เลยเข้ามาโจมตี แต่พอตัดสินใจเลิกไปแล้ว ความคาดหวังต่อคนคนนั้นมันหายไปแล้วไงครับ ความรู้สึกไม่พอก็เลยไม่เกิด

ปัญหาความเหงาของคนไม่โสดอีกแบบคือ พอมีแฟนแล้วก็ห่างหายจากเพื่อน คนรักนั้นถือว่าเป็นคนสำคัญ และชีวิตรักก็คือเรื่องสำคัญ และบางคนคิดว่าทั้งสองสิ่งสำคัญมากที่สุดในชีวิตเลยด้วยซ้ำ พอมีแฟนกับเขาทั้งทีก็เลยต้องทุ่มเทเวลาให้เขาก่อนใคร บางคนก็ติดแฟนจนลืมพ่อแม่ไปเลยก็มี ส่วนเพื่อนนั้นรอไปก่อนแล้วกัน “คนที่ไม่ใช่แฟนทำแทนทุกเรื่องไม่ได้” แต่แฟนก็ทำแทนเพื่อนทุกเรื่องไม่ได้เหมือนกันนะครับ 

ปัญหาความเหงาที่เกิดจากการขาดเพื่อนหลังมีแฟนจะเกิดกับผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงนั้นมักจะสนิทกับกลุ่มเพื่อนเหนียวแน่นมากๆ มีเรื่องอะไรก็เล่าให้ฟังกันทุกเรื่อง เรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องเม้าชาวบ้าน เรื่องคนรักของตัวเองหรือของชาวบ้าน เปิดใจกันทุกอย่าง แต่พอมีแฟนเมื่อไหร่ เวลาที่จะได้อยู่กับเพื่อนก็ต้องแบ่งไปอยู่กับแฟนเสียเยอะ คนไหนติดแฟนมากหรือแฟนติดตัวเองมากๆ ก็แทบจะหายไปจากเพื่อนเลยก็มี หรือหลังแต่งงานแล้ว ชีวิตก็มักจะมีภาระและหน้าที่ของคนที่มีครอบครัวให้ยิ่งมีโอกาสเจอเพื่อนฝูงน้อยลงไปอีก หากใครมีแฟนที่ทั้งรับฟังและเปิดใจ ทดแทนความสัมพันธ์ที่ห่างหายของเพื่อนๆ ได้ก็ดีไป แต่ถ้าแฟนเป็นผู้ชายปากหนัก ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเล่า พอเราเล่าเขาก็อาจจะรับฟัง แต่การตอบสนองมันไม่แสดงออกถึงความเข้าใจเหมือนกับเพื่อนสนิท ความรู้สึกไม่พอตรงนี้ก็ทำให้เกิดความเหงาทางอารมณ์ได้ครับ

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่แฟนทำแทนเพื่อนไม่ได้ในหลายๆ คู่คือ ความสนใจที่แตกต่างกัน กลุ่มเพื่อนนั้นเรามักจะสนิทกันเพราะมีความสนใจดึงให้เราอยู่ด้วยกัน เพื่อนมักจะชอบอะไรเหมือนๆ กัน เพราะถ้าไม่เหมือนก็คงไม่สนิทและห่างหายกันไปแล้ว เช่น ชอบเล่นฟุตบอลเหมือนกัน ชอบเดินชอปปิงซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอาง ชอบดาราเกาหลี ชอบดูหนังผี ชอบอ่านนิยายวาย ชอบเล่นดนตรี ชอบกินเหล้า หากใครชอบเหมือนคนรักก็ดีไปครับ แต่หลายๆ ครั้งคนรักมักจะมีกิจกรรมไม่ตรงกัน แม้ว่าตอนนี้สังคมจะเน้นความเสมอภาคของชายหญิงมากขึ้น และกิจกรรมต่างๆ นั้นไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นเพศไหนอีกต่อไป แต่จะอย่างไรผู้ชายที่ชอบเดินชอปปิงเสื้อผ้าเครื่องสำอางมันก็หายากหน่อย ผู้หญิงที่จะเตะบอลด้วยมันก็ไม่เยอะ เลยไม่แปลกที่จะเกิดปัญหานี้ ตอนรักกันใหม่ๆ แค่เจอหน้าสวีตกันมันก็ให้ความรู้สึกดีจนไม่ต้องไปง้องานอดิเรก แต่พอคบกันไปนานๆ มันแกร่วครับ จะชวนแฟนไปชอปปิง แฟนก็ทำหน้าเนือยๆ ช่วยเลือกก็ไม่เป็น สู้ไปชอปกับเพื่อนไม่ได้ ชวนไปเล่นกีฬา แฟนก็ไม่ชอบ ได้แต่นั่งคอยแกร่วๆ ขอบสนาม กิจกรรมบางอย่างมันสนุกเฮฮาตอนทำกับเพื่อน แต่พอชวนแฟนไปทำมันกลับรู้สึกไม่พอ ไม่สนุก ความรู้สึกขาดตรงนี้ก็สร้างความเหงาทางสังคมขึ้นได้

แล้วถ้าเราไม่โสดแต่เรากำลังเหงาอยู่ เราควรจะทำอย่างไรดี แรกสุดคือตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเหงาแบบไหน เราเหงาทางอารมณ์ หรือเหงาทางสังคม ที่ต้องตอบให้ได้เพราะความเหงาแต่ละแบบมันเกิดจากที่มาต่างกัน และวิธีแก้มันก็ต่างกันครับ

หากเราเหงาทางอารมณ์ ปัญหาของเรานั้นจริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพอมีแฟนเวลาที่เราจะได้ไปนั่งคุยกับเพื่อนสนิทที่เข้าอกเข้าใจเราอย่างดีมันก็น้อยลงไป แต่ปัญหาหลักนั้นมันมักจะอยู่ที่ คู่รักให้ความอบอุ่นใกล้ชิดไม่เท่ากับที่คุณคาดหวังไว้ ผมว่าตรงนี้ควรจะต้องแก้ก่อนที่จะหนีไปหาเพื่อนแล้วปล่อยความสัมพันธ์กับคนรักห่างเหินกันเหมือนเดิม เพราะคนรักเป็นคนที่ต้องมีเวลาอยู่กับเรามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในชีวิตเราแล้ว ความใกล้ชิดอบอุ่นจากคนรักหากแก้ได้ก่อนจึงควรแก้ 

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความสัมพันธ์แทบจะทุกแบบ มันแก้ไขฝ่ายเดียวไม่ได้ครับ ทั้งคู่ต้องช่วยกัน หากรู้สึกว่าคนรักใกล้ชิดไม่พอ มันก็อาจจะเกิดที่คนรักใกล้ชิดไม่พอจริงๆ หรือเพราะมีฝ่ายที่คาดหวังมากไป แต่ชีวิตจริงการจะตัดสินว่าอะไรมากไปหรือน้อยไปมันก็ไม่มีขีดบอกเราเสียด้วย ดังนั้นผมเลยแนะนำว่าคุยกันก่อนดีกว่าว่าใครจะพอเปลี่ยนอะไรได้บ้าง และหาทางเจอกันครึ่งทางก็ได้ หรืออาจจะไม่ครึ่งทางพอดีก็ได้ แต่ผมว่าถ้าทั้งสองฝ่ายพยายามปรับตัวมันคงดีขึ้นบ้าง งานวิจัยพบว่าแค่การที่ต่างฝ่ายต่างรับรู้ว่าอีกฝ่ายพยายามจะปรับตัว แค่นั้นก็ทำให้ทั้งคู่รู้สึกดีขึ้นแล้วครับ

คนที่ห่างเหินไปก็ต้องพยายามเปิดใจกันบ้าง ไม่ต้องขรึมไม่ต้องหนักแน่นกับแฟนตัวเองก็ได้ ถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เริ่มที่เล่าความรู้สึกตนเองก่อนครับ อย่าคิดว่ามันไม่สำคัญที่จะต้องพูดกันทุกเรื่อง เพราะความสนิทนั้นมันเกิดขึ้นได้จากการแบ่งปันเรื่องส่วนตัวของตนเองนี่แหละครับ ส่วนฝ่ายที่คาดหวังมากไปก็อาจจะต้องมาดูก่อนว่าคนรักของตัวเองนั้นขรึม เงียบ ไม่เล่า ไม่แชร์ แบบนี้กับทุกคนไหม หากใช่อาจจะต้องทำใจนิดนึงว่าคงเป็นบุคลิกของที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่เขาเกิด ไม่ใช่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ แต่หากเขาสนิทกับคนอื่นมากกว่าเราที่เป็นแฟนเฉยเลย (ยกเว้นพ่อแม่พี่น้อง หรือเพื่อนที่รู้จักกันมานานมาก ๆ) อาจจะต้องเคลียร์กันหน่อยแล้วล่ะครับ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นทำไมถึงไม่อยากเปิดใจใกล้ชิดกับเรา อาจจะต้องเอาให้ชัดว่า “เราจะคบกันแบบไหน” จริงอยู่ว่าความรักสมัยใหม่ไม่ต้องทำตามค่านิยมเก่าๆ คู่รักบางคู่อาจจะพอใจที่จะขรึมๆ ใส่กัน ไม่เล่าเรื่องส่วนตัวของกันและกันก็อาจเป็นได้ แต่มันต้องอยู่บนฐานว่าทั้งคู่พอใจนะครับ ถ้ามีฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ มันจะไม่ใช่รักแบบอินดี้ที่แค่เข้าใจกันสองคนก็พอ แต่มันจะกลายเป็นแม้แต่คนรักก็ไม่เข้าใจอีกฝ่ายว่าตกลงแล้วรักกันอยู่หรือเปล่า

ส่วนใครที่คิดว่าในเมื่อแฟนคนนี้ยังเติมเต็มความเหงาฉันไม่ได้ ก็หาอีกสักคนแล้วกัน อันนี้อย่าแม้แต่จะคิดนะครับ ไหนๆ รักกันแล้วก็มาปรับตัวกันดีกว่า แฟนไม่ใช่ข้าวของเครื่องใช้พอไม่ได้ดั่งใจก็เปลี่ยนง่ายๆ แต่ถ้าปรับตัวกันแล้วมันยังไม่รอดก็ค่อยว่ากันอีกทีว่าจะยังคบกันต่อไปไหม ส่วนคู่ไหนแฟนใจกว้าง จะมีอีกคนเขาก็ไม่ว่าอันนี้คงแล้วแต่คู่จริงๆ ว่ามันจะได้ผลดีหรือเสีย 

ถึงสังคมสมัยใหม่เปิดกว้างในคอนเซปต์รักที่หลากหลายก็จริง แต่คู่รักที่มีมากกว่าสองคน มันลำบากเหลือเกินที่จะเลี่ยงปัญหายุ่งยากตามมา ปัญหาจากเหงามันจะกลายเป็นปัญหาความหึงหวง การทะเลาะกัน แบบไม่รู้จักจบสิ้น แล้วไหนจะเรื่องกฎหมายอีก ซึ่งน่าปวดหัวกว่าด้วยซ้ำ

หากเราเหงาทางสังคม อาจจะต้องมาดูกันว่าพอจะแบ่งเวลาจากคนรัก และครอบครัวไปหาเพื่อนๆ หรือเข้าสังคมที่ทำกิจกรรมที่เราชอบได้บ้างไหม เรื่องนี้กับคู่รักถ้าตัวติดกันเกินไป อาจจะต้องมาคุยกันว่าขอเวลาไปทำสิ่งอื่นบ้าง เพราะชีวิตคนเรามันไม่ได้มีแค่เรื่องความรักอย่างเดียวจริงไหมครับ เรื่องนี้คงต้องปรับตัวอีกเช่นกัน แต่ก็ต้องแบ่งเวลาดีๆ อย่าเข้าสังคมเพลินจนลืมใส่ใจคนรัก ส่วนคนที่แต่งงานแล้วปัญหานี้อาจจะยากขึ้น เพราะพอมีครอบครัวแล้วเวลาว่างมันก็มักจะหายไปเป็นปกติ โดยเฉพาะคนที่มีลูกที่นอกจากจะต้องให้เวลาดูแลลูกแล้ว ยังต้องทำงานหนักขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ใครมีญาติผู้ใหญ่ช่วยเลี้ยงยังพอปลีกตัวไปเข้าสังคมได้นานๆ ที แต่ใครอยู่กันแค่พ่อแม่ลูกอาจจะยากหน่อย อาจจะต้องสลับเวรกันดูแลลูกเพื่อที่อีกฝ่ายจะได้มีเวลาไปทำอะไรที่ตัวเองชอบบ้าง นานๆ ครั้งก็ยังดี ฟังดูยากแต่นั่นคือความสำคัญของการวางแผนครอบครัว คำว่ามีลูกเมื่อพร้อมจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองรอบด้าน

 บางคู่อาจจะหันมาสนใจกิจกรรมหรืองานอดิเรกของอีกฝ่าย สนุกในสิ่งที่อีกฝ่ายชอบ แบบนี้ก็ถือว่าโชคดีที่คนรักมาช่วยแก้ไขปัญหาความเหงาทางสังคมได้บางส่วนด้วย และการมีเรื่องที่ชอบคุยกันก็ยิ่งทำให้คู่รักสนิทกันได้มากขึ้นไปลดความเหงาทางอารมณ์ได้อีก แต่ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็ไม่ต้องฝืนก็ได้ครับ แค่ยอมรับก็พอว่าแต่ละคนต่างต้องมีช่วงเวลาได้ไปสังสรรค์กับคนอื่นๆ แก้เบื่อบ้าง 

ประเด็นสำคัญคือคนไม่โสดทุกท่านที่กำลังรู้สึกเหงานั้น หากมันเริ่มเรื้อรังมานานจนชีวิตเริ่มแย่ ก็ต้องหาทางแก้นะครับ อย่าคิดว่าจะมีแฟนสักคน จะแต่งงานทั้งที แค่นี้มันต้องทนได้ มันก็จริงในบางเรื่องแต่อาจจะไม่ได้ผลดีเสมอไป เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่า คู่รักที่มีปัญหาความเหงาโดยเฉพาะความเหงาทางอารมณ์นั้นจะมีความสัมพันธ์ในชีวิตคู่แย่ลง และยิ่งความสัมพันธ์แย่ลง ความเหงาทางอารมณ์มันก็จะยังเป็นหนักขึ้นไปอีกกลายเป็นวงจรที่ทำให้แย่ลงเรื่อยๆ

ใครที่กำลังเหงาแล้วคิดว่าถ้ามีแฟนหรือแต่งงานแล้วจะหายก็อยากให้รู้ว่าบางครั้งคนรักมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกเรื่อง หากเหงาทางอารมณ์ก็อาจจะต้องหาใครสักคนที่สนิทใกล้ชิดด้วย คนที่เราเปิดใจได้และเปิดใจกับเรา มาเติมเต็ม อาจจะเป็นเพื่อน หรือคนในครอบครัวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนเสมอไป ส่วนใครเหงาทางสังคมมีแฟนแล้วอาจจะยิ่งมีเวลาให้การเข้าสังคมน้อยไปอีก ผมว่าการเร่งหาแฟนโดยที่เรายังไม่ได้ถูกใจหรือรักใครเป็นพิเศษมันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี เพราะอย่างที่บอกว่าพอคบกันแล้วหรือแต่งกันแล้วบางทีมันไม่ใช่อย่างที่เราคาดหวัง ยิ่งคาดหวังมาก พอไม่ได้ดั่งใจก็ยิ่งแย่ และยิ่งตอนไม่โสดแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่มันแก้ไขคนเดียวไม่ได้ มันต้องดึงอีกฝ่ายมาร่วมแก้ และบางครั้งมันจะยุ่งยากกว่าคนโสดเสียอีกเพราะมันต้องปรับตัวกันทั้งคู่ เขาถึงว่า มีคู่โบราณว่าไว้คนมีคู่แสนสนุกแต่ไม่สบาย

เอกสารอ้างอิง

Dykstra, P. A., & Fokkema, T. (2007). Social and emotional loneliness among divorced and married men and women: Comparing the deficit and cognitive perspectives. Basic and applied social psychology, 29(1), 1-12.

Gleason, M. E., Iida, M., Bolger, N., & Shrout, P. E. (2003). Daily supportive equity in close relationships. Personality and Social Psychology Bulletin, 29(8), 1036-1045.

Knoke, J., Burau, J., & Roehrle, B. (2010). Attachment styles, loneliness, quality, and stability of marital relationships. Journal of Divorce & Remarriage, 51(5), 310-325.

Sadava, S. W., & Matejcic, C. (1987). Generalized and specific loneliness in early marriage. Canadian Journal of Behavioral Science, 19(1), 56-66.

Weiss, R. S. (1973). Loneliness: The experience of emotional and social isolation.

ตัวอย่างบล็อกระบายประสบการณ์ชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความเหงา

https://drgailsaltz.wordpress.com/2009/11/22/are-you-lonely-in-your-marriage/

http://www.elle.com/life-love/sex-relationships/news/a33891/nobody-ever-tells-you-marriage-can-be-lonely/

http://www.todayschristianwoman.com/articles/2009/november/marriedbutlonely.html

http://www.telegraph.co.uk/women/womens-life/11886089/Lonely-Why-are-we-all-feeling-so-lonesome-even-when-surrounded.html

http://www.noellerhodes.com/articles/i-have-no-friends-the-loneliness-of-being-a-newlywed

Tags:

ความสัมพันธ์การแต่งงานความเหงา

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • loneliness-nologo
    How to enjoy life
    ‘ภัยเงียบของความเหงา’ เมื่อคนมากมายไม่อาจเติมช่องว่างทางความรู้สึก

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • lonely-cover (1)
    Book
    คุณไม่จำเป็นต้องสูญเสียความเป็นตัวเองเพื่อใคร: ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Relationship
    ‘หึง’ ก็เพราะรัก? ‘หวง’ ก็เพราะห่วง? เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์หึงหวงก่อนทำลายความสัมพันธ์

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    รักดีๆ อยู่ที่ไหน : ฟ้าลิขิตหรือความพยายาม?

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

เด็กผู้ชายชอบสีชมพู นักเรียนติครู ความปกติในห้องเรียนอนุบาลของ ‘ครูนกยูง’ ปานตา ปัสสา
Unique Teacher
27 July 2021

เด็กผู้ชายชอบสีชมพู นักเรียนติครู ความปกติในห้องเรียนอนุบาลของ ‘ครูนกยูง’ ปานตา ปัสสา

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • “เราอยากทำให้เป็นห้องเรียนที่อึกทึก อยากให้เด็กพูดว่า หนูตอบๆ! ผมตอบๆ! เราจะตั้งธีมสอนแต่ละสัปดาห์ เป็นหน่วยการเรียนรู้ ดูจากเด็กสนใจเรื่องอะไร ตัวเราอยากสอนอะไร หาจุดที่เราอยากสอนและเด็กอยากเรียนสมมติสัปดาห์นี้เป็นธีมเรื่องไฟไหม้ เราก็คิดคีย์เวิร์ดที่อยากให้เด็กรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น รู้สาเหตุที่ทำเกิดไฟไหม้ สัญญาณการเกิดไฟไหม้ วิธีดับไฟ อุปกรณ์ที่ใช้ดับ ขั้นตอนอพยพ ทำเป็น Mind Map ออกแบบว่าแต่ละวันจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง”
  • นอกจากเรื่องที่อยากสอน ครูนกยูงมีลิสต์เรื่องที่ไม่อยากสอนเด็กด้วย เช่น ไม่สอนว่าสีฟ้าของเด็กผู้ชาย สีชมพูของเด็กผู้หญิง ใครชอบสีไหนหยิบเลย รวมถึงไม่สอนว่าโลกนี้มีคนแค่สองเพศ ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงแบบนี้ จะนิยามว่าตัวเองเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้รักตัวเองในทุกเวอร์ชันที่เป็น
  • ถอดสูตรวิธีสร้างห้องเรียนอนุบาลฉบับครูนกยูง ทำให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ความหลากหลายคือความปกติ เด็กผู้ชายจะชอบสีชมพูหรือเล่นตุ๊กตาเป็นเรื่องธรรมดา เด็กๆ ยกมือแย่งกันตอบหรือติการสอนของครูได้ 

เสื้อสีครีมปักลายตัวการ์ตูนสิงโต สวมผ้าคาดผมแบบถักไหมพรม พร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แผ่รังสีความสดใสที่เรายังสัมผัสได้ แม้จะเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอคอลของเรากับ ปานตา ปัสสา หรือ ครูนกยูง 

ห้องเรียนอนุบาลประจำโรงเรียนบ้านดอนทับช้าง จังหวัดอุบลราชธานี คือ พื้นที่การทำงานของครูนกยูง โดยมีสมาชิกตัวน้อยประจำห้อง 7 คน ใช่…คุณอ่านไม่ผิดหรอก จำนวนนักเรียนชั้นอนุบาลของโรงเรียนมีทั้งหมด 7 คน รวมเข้ากับจำนวนนักเรียนชั้นอื่นๆ ประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ทำให้ที่นี่มีนักเรียนทั้งหมด 52 คน (เราแอบถามสาเหตุที่มีนักเรียนน้อย ครูนกยูงอธิบายว่าเพราะโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนประจำอำเภอ ผู้ปกครองนิยมส่งลูกไปเรียนที่นั้นแทน)

ความน่าสนใจในห้องเรียนครูนกยูงอีกหนึ่งอย่าง คือ นักเรียนในห้องเป็นนักเรียนอนุบาลศึกษาปีที่ 2 และ 3 ทำให้เด็กๆ ต้องใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนเดิม 2 ปี ถึงจะเปลี่ยนห้องขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 

ห้องเรียนครูนกยูงนอกจากสร้างกระบวนการเรียนให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ รวมถึงความสนุกที่จะทำให้เด็กที่ต้องใช้เวลาอยู่ในห้องนี้ 2 ปีไม่เบื่อไปซะก่อน 

บทสนทนาต่อไปนี้ คือ การถอดสูตรวิธีสร้างห้องเรียนอนุบาลฉบับครูนกยูง ทำให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ความหลากหลายคือความปกติ เด็กผู้ชายจะชอบสีชมพูหรือเล่นตุ๊กตาเป็นเรื่องธรรมดา เด็กๆ ยกมือแย่งกันตอบหรือติการสอนของครูได้ 

สเตตัส ‘ครูนกยูง’ ได้มาอย่างไร?

ตั้งแต่เด็กเราพยายามบอกทุกคนว่าจะไม่เป็นครูเด็ดขาด ไม่เอาๆ พยายามวิ่งหนี เพราะที่บ้านเป็นครูหมดเลย คุณตาคุณยายก็เป็นครู ปะป๊า-หม่าม้าก็เป็นครู คุณตาเป็นตำรวจตะเวนแถวชายแดนแต่ก็ได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของตชด.ด้วย หรือแม้แต่คุณน้าที่เป็นหมอ สุดท้ายก็มาเป็นอาจารย์หมอ รวมญาติทีหนึ่งเหมือนงานคืนสู่เหย้าโรงเรียนเลย 

ทุกคนชอบพูดกับเราว่า ‘เดี๋ยวก็เป็นครูเหมือนพ่อแม่’ ตัวเราไม่ได้ไม่อยากเป็นครูนะ แต่ไม่ชอบให้ใครมายัดเยียด เลยปฏิเสธตลอด 

ตอนแอดมิชชั่นตัดสินใจจะเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่ชอบ แต่พอมาสังเกตดีๆ ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ชอบมันพอที่จะดำดิ่งลงลึกเรื่องนั้นไปซะทีเดียว เลยลองลดอคติแล้วนั่งคิดกับตัวเองดีๆ ว่าอยากเรียนอะไร ไปอ่านเฟรนชิปเพื่อนส่วนใหญ่เขียนว่า ขอบคุณนะที่ช่วยสอนการบ้าน ขอบคุณนะที่อธิบายเรื่องนี้ให้เราเข้าใจ ขอบคุณนะๆๆ เออ..เราก็ชอบสอนคนอื่นนิ (หัวเราะ) อะ…เรียนครูก็ได้ว่ะ (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) กลืนน้ำลายตัวเอง 

การเลือกเป็นครูปฐมวัย

ส่วนตัวเราไม่ได้มีวิชาไหนที่ชอบที่สุด หรืออยากสอนที่สุด เพราะเราชอบทุกวิชา วิชานี้ก็อยากสอน วิชานั้นก็อยากสอน บวกกับชอบเด็กเล็กๆ ด้วย ก็อะ…เรียนครูปฐมวัยละกันน่าจะสนุกดี

สมัยเรียนเราจะเป็นคนที่…ถ้าอาจารย์ถามคำถามเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียน เราจะตอบได้คนเดียว รู้ลึกรู้จริง เพราะอยู่กับครูมาทั้งชีวิต ตอนเด็กๆ ต้องไปช่วยแม่ทำงานที่โรงเรียนตลอด อาจารย์ส่วนใหญ่สอนระดับมหาวิทยาลัย ไม่เคยเป็นครูในโรงเรียน ก็จะไม่เข้าใจบริบทบางอย่าง เราก็จะพูดตลอดว่า “อาจารย์ แบบนี้เขาไม่ทำกันนะที่โรงเรียน” (หัวเราะ)

เช่น?

ตอนนั้นเรียนวิชาเกี่ยวกับการทำหลักสูตร อาจารย์ก็สอนว่าหลักสูตรต้องทำแบบนี้ๆ ตั้งปรัชญาโรงเรียนแบบนี้ เราเคยเห็นหม่าม้าทำ เขาจะมีต้นฉบับหนึ่งอัน ก็ก๊อบๆๆ ต่อกันมา (หัวเราะ) จะได้ทำง่าย คนตรวจไม่ต้องเหนื่อย เราก็บอกอาจารย์ไปว่า ที่โรงเรียนเวลาทำจริงๆ เขาไม่ได้คิดเยอะแบบนี้นะคะ (หัวเราะ) หรือเรื่องสิทธิของเด็กในห้องเรียน จะมีระเบียบว่าครูไม่ควรปล่อยเด็กในห้องไว้ตามลำพัง เราก็พูดว่า แต่ถ้าผู้อำนวยการฯ สั่งงานครู ครูก็ต้องรีบไปทำนะคะ (หัวเราะ)

จากสถานะนักศึกษา เลื่อนขั้นมาเป็นครูนกยูง วันแรกของการมาที่โรงเรียนนี้เป็นอย่างไร

วันแรกมีคุณครูพาเราไปดูห้องเรียน เขาเป็นครูที่สอนชั้นอนุบาลเป็นครูที่เกษียณแล้วแต่กลับมาสอนในโรงเรียนอีก เราก็มองๆ ในห้อง ประโยคแรกที่พูดคือทำไมมีแค่นี้ละ แล้วก็ชี้ว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ไม่ได้ ครูเขาก็คงรู้สึกว่า ยัยนี้เป็นใคร ทำไมขี้บ่นจัง (หัวเราะ) 

มันเป็นห้องที่โล่งมากๆ เราชินกับห้องเรียนที่เต็มไปด้วยของ ตัวเราเป็นคนชอบไปโรงเรียนมาก (เน้นเสียง) ความทรงจำที่เรามีกับห้องเรียน คือ มีของเล่น มีสิ่งที่เราชอบ มีอะไรให้ทำเยอะแยะ 

ลองถามครูว่า มีของเล่นไหม? เขาก็หยิบกล่องพลาสติกมา 1 กล่อง ขนาดเท่านี้ (ยกมือกางระหว่างหน้าอก) ความรู้สึกเราคือมีของเล่นแค่นี้เองเหรอ ของเล่นบ้านหนูยังเยอะกว่านี้อีก (หัวเราะ) เดินไปดูชั้นหนังสือ จะมีชั้นที่เป็นหนังสือนิทาน เปิดมาเล่มหนึ่งไม่มีไส้มีแต่ปก หรือเอาหนังสือเรียนมาวางแทน

เจอแบบนี้แล้วเราทำไงต่อ?

ก็วางแผนทำนู่นทำนี่ ช่วงฝึกสอนเราทำสื่อไว้ใช้เยอะก็เลยพอจะมีเหลือ แล้วเหลือเวลาประมาณ 2 อาทิตย์จะเปิดเทอม ตอนนั้นเราเข้ามาช่วงเปิดเทอม 2 เลยตัดสินใจไม่กลับบ้าน นั่งรีโนเวทห้องเรียนใหม่ 

ครูอนุบาลคนเก่าเขาเป็นครูที่เคยสอนเด็กประถม เกษียณแล้วเลยมาช่วยสอนเด็กอนุบาล เขาจะไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยนี้ว่าต้องเล่นนะ เลยสอนด้วยการทำใบงาน ให้คัดไทย เคยถามว่าที่โรงเรียนซื้อสื่ออะไรมาสอนเด็กบ้าง เขาบอก อ้อ ซื้อกระดาษมา 1 รีม เราก็คิดว่าซื้อมาทำไม (เสียงสูง) เอามาให้เด็กทำใบงาน (หัวเราะ) การสอนที่นี่เหมือน 20 ปีที่แล้ว เป็น passive learning สื่อสารทางเดียว ครูสั่งอย่างเดียว ส่วนเด็กไม่รู้รับไหม แต่ก็มีแอบ active เล็กๆ ให้เด็กทำกิจกรรมบ้าง 

ความรู้สึกของนักเรียนที่เปิดเทอมสองมาห้องเรียนวันแรก เจอห้องเรียนเปลี่ยนไป รวมถึงครู

ว้าวมาก เขาชอบนะ ยิ่งเด็กรุ่นแรกจะรักษาของเล่นดีมาก เพราะเขาไม่เคยมี เวลาเราบอกให้เก็บของ เขาก็จะเก็บเรียบร้อยเลย พอเด็กรุ่นนี้ขึ้นป.1 กลับมาเห็นน้องเล่นแรงๆ ก็บอกว่า รู้ไหมกว่าจะได้ของเล่นมามันยากนะ หรือเราทำของเล่นเพิ่ม เขากลับมาเห็นก็ถามว่า ทำไมตอนเขาไม่มีบ้าง (หัวเราะ) ทำไมครูไม่มาให้เร็วกว่านี้เขาจะได้มีของเล่นเร็วๆ 

โรงเรียนปล่อยให้เราออกแบบห้องเรียนได้ฟรี ไม่มีใครกล้ายุ่งกับเรา เพราะเราเป็นคนเปรี้ยวมาก (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งด้วยความหวังดีของครูที่โรงเรียน เขาปรินท์ใบงานแบบฝึกหัดมาให้เรา ด้วยความเป็นคนไม่ดี พอเขายื่นมาเรารับปุ๊บ ถังขยะอยู่ข้างๆ โยนลงเลย (หัวเราะ) ที่ทำแบบนี้เพราะเราเคยพูดดีๆ แล้วนะ แต่เขาไม่พยายามทำความเข้าใจเราเลย หรือเขาถามว่าทำไมไม่สอนเรื่องนี้ ทำไมไม่สอนเด็กท่อนกอไก่ เราก็บอกครูประถมสอนสิ เลยไม่มีใครกล้ายุ่ง เป็นที่น่าหมั่นไส้ของครูทุกคน (หัวเราะ)

ห้องเรียนครูนกยูงหน้าตาเป็นยังไง

เราอยากทำให้เป็นห้องเรียนที่อึกทึก อยากให้เด็กพูดว่า หนูตอบๆ! ผมตอบๆ! เราจะตั้งธีมสอนแต่ละสัปดาห์ เป็นหน่วยการเรียนรู้ ดูจากเด็กสนใจเรื่องอะไร ตัวเราอยากสอนอะไร หาจุดที่เราอยากสอนและเด็กอยากเรียนสมมติสัปดาห์นี้เป็นธีมเรื่องไฟไหม้ เราก็คิดคีย์เวิร์ดที่อยากให้เด็กรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น รู้สาเหตุที่ทำเกิดไฟไหม้ สัญญาณการเกิดไฟไหม้ วิธีดับไฟ อุปกรณ์ที่ใช้ดับ ขั้นตอนอพยพ ทำเป็น Mind Map ออกแบบว่าแต่ละวันจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง

หรือเคยทำธีมอาชีพ ถามในห้องว่าอยากเป็นอะไร ได้คำตอบว่าอยากเป็นนักดับเพลิง เราก็ไปหามาว่าจะพาใครมาเล่าประสบการณ์ให้เด็กๆ ฟังได้บ้าง 

คล้ายกับการทำ Problem based Learning หรือ Project Based Learning ไหม  

แล้วแต่เรื่องที่สอน บางทีทำกิจกรรมไประหว่างทางเจอปัญหา ก็พักกิจกรรม ชวนเด็กมาคุยว่าเอาไงต่อ มีครั้งหนึ่งเราพาเด็กปลูกแตงโม แต่ปลูกแล้วมีแต่ใบขึ้น ไม่มีดอกหรือออกผล ก็ชวนเด็กหาสาเหตุว่าเพราะอะไร วิธีแก้ อันนี้ก็เป็น Problem based Learning ได้นะ มีเด็กแชร์ว่าต้องใส่ปุ๋ยเร่งดอก เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาเอามาให้ พอใส่ปรากฎว่าดอกขึ้น หรือเจอปัญหาแมลงมากิน เด็กก็แชร์ว่า เห็นยายเอาเปลือกไข่มาใส่กันแมลง ก็ลองเอามาใส่ได้ผล บางครั้งความคิดดีๆ ก็มาจากเด็กได้เหมือนกัน

เห็นเฟซบุ๊กของครูนกยูงลงโพสต์การสอนบ่อยๆ โพสต์ล่าสุดจะเป็นการสอนเรื่องดับไฟ อยากรู้ว่าที่มามาจากอะไร 

เราเห็นข่าวไฟไหม้โรงงาน และไปเห็นโพสต์ของเพจอินสคูล (InsKru) ชวนครูมาแชร์ว่า จากเหตุการณ์นี้ครูจะสอนอะไรเด็กได้บ้าง เลยนั่งวางแผนทำ Mind Map ใช้เวลา 1 คืน โล๊ะหน่วยปัจจุบันที่สอนทิ้งไป ตอนนั้นกำลังทำเรื่องข้าวเพราะช่วงนี้เป็นช่วงทำนา 

วันแรกวางว่าจะสอนเด็กเรื่อง Sign สัญญาณของการเกิดไฟไหม้มีอะไรบ้าง เช่น กลิ่น ควัน แล้วจะหนียังไง ต้องไปประตูสีเขียวที่มีรูปคนวิ่ง ออกมาจากที่เกิดเหตุได้ต้องโทรแจ้งใคร ส่วนวันที่สองก็จำลองสถานการณ์จริง จุดไฟในกะละมังในห้องเรียน ให้เด็กได้ลองลงมือดับไฟ เราใช้น้ำมันจุดไฟต้องใช้ทรายดับ ใช้น้ำดับไม่ได้ แต่เสียดายว่าเกิดสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนต้องหยุดเรียน เลยพักกิจกรรมวันสุดท้ายไป

รีแอคชันของนักเรียนจากกิจกรรมนี้

ตอนที่ดับไฟได้มีเด็กพูดว่า ‘ดับไฟได้แล้ว ไม่ตายแล้ว’ (หัวเราะ) สถานการณ์ตอนนั้นน่ากลัวจริง ไฟไหม้สูง ควันเยอะ ยืนคุยกับเด็กหน้าห้องว่าจะเข้าไปดีไหม เด็กบอกว่าคงต้องเข้าแหละ ถ้าไม่เข้าไปไฟจะไหม้ลาม (หัวเราะ) แต่เด็กก็ชอบกันนะ เขาได้เรียนรู้จากของจริง ไฟจริง ทุกอย่างจริง เอาไปเล่าให้พ่อแม่ที่บ้านฟังได้

ในโพสต์ครูนกยูงบอกว่ากิจกรรมนี้เป็นการเรียนแบบ Phenomenon Based Learning (การเรียนโดยใช้ปรากฎการณ์เป็นฐาน) เป็นนวัตกรรมการเรียนที่มาใหม่ตอนนี้ อยากให้ครูนกยูงช่วยอธิบายได้ไหมว่ามันคืออะไร วิธีออกแบบการเรียนรู้

สำหรับเรา Phenomenon เป็นอะไรที่เกิดขึ้นฉับพลัน ทันด่วน เป็นการช่วงชิงช่วงเวลาที่เกิดปรากฎการณ์นั้น อาจจะเป็นปรากฎการณ์เล็กๆ ก็ได้ เช่นอันนี้ที่เราคิดว่าเป็น Phenomenon ตรงมีช่วงหนึ่งเด็กในห้องชอบไดโนเสาร์มาก ท่องชื่อไดโนเสาร์กันใหญ่ เราเลยหยิบเรื่องนี้เข้าไปในหน่วยการเรียนรู้ ทำให้เด็กอยากเรียน ไม่จำเป็นต้องเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ๆ อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วก็เป็น Phenomenon แบบหนึ่ง

แต่ข้อเสียของการเรียนแบบนี้ คือ บางปรากฎการร์มันเกิดช่วงสั้นมากๆ ครูต้องแอคทีฟมาก ค่อนข้างเหนื่อย เหมือนเป็นการเล่นกับกระแส อยู่ที่ว่าเราจะจับทันไหม หรือถ้ากระแสแรกเราจับมาสอนไม่ทัน สักพักเกิดกระแสที่สองเราดึงมาสอนและย้อนไปกระแสแรกก็ได้

ส่วนข้อดี คือ เด็กได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ในบางครั้งอาจจะดูไกลตัวเขา ถ้าเรายกเรื่องนี้มาเป็นธีมในการเรียน เขาก็จะรู้สึกว่ามันใกล้ตัวกว่าที่คิด เรียนรู้จากมันได้ หรือต่อให้เป็นเรื่องไกลตัวจริงๆ เป็นปรากฎการณ์ระดับโลก อย่างดาวหาง เราก็รู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับเด็กไม่มากก็น้อย อยู่ที่การหยิบของครูว่าจะหยิบมุมไหนมาเล่น ถ้าเป็นในระดับเด็กโตเราว่า นี่ก็เป็นวิธีสตาร์ทบทสนทนาที่ดี เช่น หยิบกระแสแฮชแท็กในทวิตเตอร์มาคุยกับเด็ก เราว่าน่าสนุกนะ เด็กจะรู้สึกว่าครูกับเขาใกล้กัน (touching) ครูก็เล่นทวิตเตอร์หรือสนใจเรื่องเดียวกันกับเขา เกิดการคอนเนคบางอย่าง

การเลือกเรื่องมาสอนหรือคุยกับเด็กปฐมวัย ครูนกยูงมีวิธีเลือกอย่างไร

เราว่าเลือกได้ทุกเรื่อง อยู่ที่ว่าคนสอนจะหยิบแง่ไหนขึ้นมา อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ เราอยากชวนคุยเรื่องปัญหาผังเมือง แต่เผอิญเด็กเราเป็นเด็กเล็ก ยังไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ในระดับความเข้าใจเขา คือ ถ้าบ้านเขาอยู่ใกล้โรงงานแบบนี้ต้องระวังตัว ซ้อมอพยพ รู้เบอร์ฉุกเฉิน คุยได้ในระดับหนึ่ง 

ประเด็นการเมืองละ เราชวนเด็กคุยได้ไหม?

ได้นะ ในแง่เรื่องที่มีผลกระทบกับเขา เช่น พระราชบัญญัติการศึกษา เรื่องนี้คุยได้เลย เพราะมันเกี่ยวกับเขาเต็มๆ เรื่องทรงผม หรือคำขวัญวันเด็ก เคยชวนเด็กคุยเรื่องนี้ ปฏิกริยาเขาทำเราเซอร์ไพรส์อยู่นะ แต่อาจจะมาจากการตีความเราด้วยส่วนหนึ่ง คือ เด็กบอกว่าเขาได้ยินคำพวกนี้ (คำที่ใช้ในคำขวัญ) มาตั้งนานละ แต่ผู้ใหญ่บางคนยังทำไม่ได้เลย

เราเคยสอนเรื่องกฎจราจร นั่งมอเตอร์ไซค์ห้ามซ้อนสาม ตอนเย็นมีคุณยายมารับเด็กกับพี่ ถ้าเขาขึ้นมันจะกลายเป็นซ้อนสาม เขาก็ขัดแย้งกับตัวเองว่าควรขึ้นรถกับยายไหม หรือเดินกลับ เราก็ใช้คำพูดปลายเปิดให้เขาคิดเองว่า สิ่งที่ทำอยู่ผิดหรือไม่ แต่กฎหมายบอกแบบนี้ สุดท้ายเขาก็ต้องขึ้นนะ แต่เรารู้สึกว่าได้หย่อนเมล็ดพันธุ์บางอย่างไว้ 

ฝากบอกครูปฐมวัยคนอื่นๆ ว่าอย่าไปคาดหวังผลลัพธ์เด็กให้ปัจจุบันทันด่วน บางอย่างคือการรอ รอให้เด็กเข้าใจบางอย่าง สะสมประสบการณ์ชีวิต เป็นเชื้อเพลิงสนับสนุนเขา ไม่ต้องคาดหวังว่าเด็กต้องทำได้ ร้อยพ่อพันธุ์แม่ ประสบการณ์ที่เจอคนละแบบ 

นอกจากเรื่องที่อยากสอน ครูนกยูงมีลิสต์ไหมว่าเรื่องไหนที่ไม่อยากสอนเด็ก

อันดับแรก เราจะไม่สอนทำแผนผังครอบครัวเลย ไม่ไปยัดค่านิยมครอบครัวที่ดีเป็นแบบไหน เพราะครอบครัวทุกคนเป็นครอบครัวที่ดีหมด จะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ การไปสอนค่านิยมครอบครัวที่ดีเป็นแบบนี้แค่แบบเดียว ทำให้เด็กที่ครอบครัวไม่ fit it กับค่านิยมนั้น อาจรู้สึกเป็นปมด้อยที่กดตัวเองไว้ เราเลยตั้งใจที่จะไม่ส่งต่อเรื่องพวกนี้

ไม่สอนว่าสีฟ้าของเด็กผู้ชาย สีชมพูของเด็กผู้หญิง ใครชอบสีไหนหยิบเลย เราเกลียดมากเวลาครูห้องอื่นทักเด็กเราว่า เป็นเด็กผู้ชายทำไมหยิบสีชมพู? ก็เพราะมันสวยไง หรือเราเคยไปอยู่เวรเป็นครูห้องสหกรณ์ มีเด็กผู้ชายมาซื้อตุ๊กตาบาร์บี้ มีครูไปทักเด็กว่าเบี่ยงเบนเหรอ เราก็แบบ…ซื้อตุ๊กตาบาร์บี้! (เสียงสูง) เบี่ยงเบนอะไร? ตุ๊กตาไม่ใช่ของจำกัดไว้สำหรับเด็กผู้หญิง อยากเล่นก็เล่นเลย บางทีเด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตาก็เอามาเป็นสายลับ หรือซื้อตุ๊กตาบาร์บี้มาตัดผมสั้นเป็นสายลับทหาร หรือผู้ชายต้องผมสั้น ผู้หญิงต้องผมยาว จะทรงผมอะไรก็แล้วแต่เธอ รวมถึงไม่สอนว่าโลกนี้มีคนแค่สองเพศ ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงแบบนี้ จะนิยามว่าตัวเองเป็นอะไรก็เชิญเลยแล้วค่อยมาบอกเรา ไม่บอกก็ได้แต่ขอให้รักตัวเองในทุกเวอร์ชันที่เป็น

ไม่สอนว่าเป็นอะไรก็ได้ขอแค่เป็นคนดี เพราะทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว ที่เหลือจะเป็นอะไรก็เป็นเลย หรือเวลาเด็กร้องไห้ เราจะไม่บอกว่า หยุด! อย่าร้อง ร้องได้เลย ออกไปร้องไห้ให้พอ พร้อมแล้วค่อยกลับเข้ามาเรียนกันต่อ เพราะเวลาคนอยากร้องไห้ใครจะไปห้ามได้ จริงไหม? ขนาดผู้ใหญ่เองยังห้ามไม่ได้เลย

ฟีดแบคของผู้ปกครองต่อห้องเรียนครูนกยูง

แปลก…ผู้ปกครองบางคนไม่ค่อยชอบเพราะว่าลูกอ่านหนังสือไม่ออก เขาชอบแบบอ่านหนังสือออก ให้มีการบ้านเยอะๆ แต่มีบางคนที่มาขอบคุณเราเพราะว่าลูกเขาไม่ร้องไห้เวลามาเรียน เขารู้สึกไม่ยากกับการขุดลูกไปเรียน ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ มีผู้ปกครองไม่กี่คนหรอกที่คาดหวังให้ลูกอ่านหนังสือได้ เพราะพอเขาเห็นลูกทำอะไรได้บ้าง ก็โอเค ลดความคาดหวังลง บางคนก็พาลูกไปเสริมข้างนอกเอา หรือสอนเอง

ถามว่าเด็กวัยนี้รู้จักตัวอักษรไหม รู้นะ แต่คงไม่ใช่แบบนั่งสะกดกอ – อา – กา เขาจะรู้รูปนี้ คือ กอไก่ ถ้ามีสระอาอยู่ด้วยกันอ่านว่า กา แต่ยังไม่ถึงขั้นแจกคำได้ อ่านคำที่มีภาพกำกับได้ เวลามีเล่นเกมจับคู่คำเขาจะทำได้ เราจะอธิบายให้ผู้ปกครองฟังว่า มันยังไม่ถึงเวลา ถ้าเราไปบังคับเด็กกดดัน ครูก็กดดัน เขาก็ไม่อยากมาโรงเรียน แบบนั้นผู้ปกครองอยากได้ไหม เราทำให้ได้นะ ผู้ปกครองก็ไม่เอา เราก็สอนแต่สอนในแบบของเรา อาจไม่เหมือนที่ผู้ปกครองเจอ แต่ปลายทางเด็กรู้หนังสือเหมือนกัน 

เคยเจอผู้ปกครองบอกลูกว่า อย่าไปฟังที่ครูสอนเยอะ เหมือนเขาจะขัดแย้งกับลูกเพราะเรื่องสวมหมวกกันน็อคที่เราสอน ผู้ปกครองอาจจะกลัวสูญเสียอำนาจปกครองมั้ง เลยตัดบทบอกว่าอย่าไปฟังที่โรงเรียนสอน เราก็บอกเด็กว่าเดี๋ยวโตขึ้นจะเข้าใจ เพราะถ้าเสี่ยงให้เด็กวัยนี้ไปถกเถียงกับพ่อแม่ ก็อาจเสี่ยงเจอความรุนแรง เราไม่อยากให้เดินไปถึงจุดนั้น ประนีประนอมไปก่อน กลัวพ่อตีลูก (หัวเราะ) 

เท่าที่ฟังครูนกยูง รู้สึกว่าเป็นคนมั่นใจในตัวเอง กล้าที่จะพูด หรือทำสิ่งที่คิดว่าดี คาแรกเตอร์แบบนี้ได้มายังไง 

เรามาจากครอบครัวที่ไม่เคยบังคับเรา ใช้เหตุผลคุยกันตลอด ตั้งแต่เด็กปะป๊าหม่าม้าไม่เคยใช้วิธีขู่เรา ‘อย่าดื้อนะ เดี๋ยวผีมาจับ’ ใช้เหตุผลคุยกันตลอด ไม่กดดันเราจนเกินไป ยอมรับเราในทุกๆ จุด ส่งเราไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่กักขังในกรอบเดิมๆ มันก็เลยหล่อหลอมเป็นตัวเรา อีกอย่าง คือ เพื่อน รุ่นพี่ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นเราตลอด

เคยคุยกับครูคนหนึ่ง เขาพาลูกมาโรงเรียน พูดกับลูกว่าถ้าซื้อขนมอีกตำรวจจะจับ เราก็บอกว่าตำรวจไม่จับใครเพราะซื้อขนมหรอก อย่าไปหลอกลูกแบบนั้นเลย ก็มีครูอีกคนพูดขึ้นมาว่า พี่โตมากับคำขู่ของพ่อแม่แบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เราก็นั่งคิดว่า…ถ้าโตมาแล้วเป็นคนแบบเธอไม่เอาด้วยหรอก (หัวเราะ) 

เรารู้สึกว่า การคุยกับเด็กมันสามารถใช้เหตุผลได้ เคยมีเด็กคนหนึ่งชอบแกล้งเพื่อน ความเป็นเด็กอะนะไม่มีเหตุผลในการแกล้ง อยากแกล้งเลยดึงผมเพื่อน เราก็ถามว่าถ้าเขาโดนแบบนี้บ้างละ ถ้าครูทำบ้างจะชอบไหม แล้วทำท่าจะดึงผมเขา เขาก็ตอบไม่ชอบ โอเค ไม่ทำละ เรารู้สึกว่าการคุยกับเด็กมันใช้เหตุผลได้ ไม่ใช่ไปขู่ๆ เพราะสุดท้ายเด็กก็รู้อยู่ดี

ครูเปรี้ยว มั่นใจในตัวเองขนาดนี้ เด็กๆ ได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธนี้ด้วยไหม

เด็กก็เป็นนะ แต่เสียใจว่าพอเขาเลื่อนชั้นไปเจอครูคนอื่น เหมือนเด็กเราไปฟีดแบคการสอนกับครูป.1 แล้วครูมาบอกว่าเด็กพูดกับเขาแย่มาก เด็กพูดว่า ‘ทำไมให้เขียนอีกแล้ว’ ‘ทำไมให้ทำแต่แบบนี้’ ครูพูดประมาณว่า เด็กทำไมกล้าเถียงเขา นี่ผู้เรียนกำลังฟีดแบคทำไมครูไม่ฟัง ถ้าสอนเด็กแล้วเขาไม่รู้เรื่องก็ควรปรับปรุงการสอนไหม?

ถ้าเด็กเดินมาบอกเราว่าไม่อยากทำ เราก็จะแบบ อะ..งั้นไปทำอย่างอื่นกัน เพราะเด็กไม่อยากทำ หรือไม่ก็มาคุยกันว่าทำไมไม่อยากทำ แล้วอยากทำอะไรแทน

ครูนกยูงโตมากับครูหลายแบบ ทั้งแบบครูรุ่นคุณตาคุณยาย ครูรุ่นพ่อแม่ แล้วก็ครูแบบครูนกยูง มันมีความขัดแย้งหรือความแตกต่างเกิดขึ้นไหม

แม่เราเป็นครูที่เขาเรียกว่าครูปกครอง ‘เอาเสื้อใส่ในกางเกง!’ ‘ผูกเชือกรองเท้า!’ ถ้าแม่มารับที่โรงเรียนห้ามเอาเสื้ออกนอกกระโปรงเลย ต้องติดกระดุมถึงคอกลัวโดนแม่ด่า (หัวเราะ) แต่ปัจจุบันเขาตามข่าวก็ปรับตัวได้ เราก็คิดว่าถ้าแม่เราปรับตัวได้ คนอื่นก็คงปรับได้ แต่ก็ยังไม่เห็นคนอื่นเขาปรับเลย (หัวเราะ) 

เรามีความรู้สึกว่า พ่อแม่ก็อยากเป็นครูแบบเราแต่ทำไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่าบริบทสังคม ณ เวลานั้นไม่เหมือนวันนี้ ตอนนี้เด็กลุกขึ้นมาไม่ยอมถูกกดขี่แล้ว แต่เด็กสมัยนั้นยังกลัวอยู่เลย ครูใหม่ๆ ก็กลัว แม่เรายิ่งโดนหนักเพราะบรรจุในโรงเรียนที่คุณยายเป็นครูอาวุโสอยู่ น้องชายคุณยายคือคุณตาก็เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้แม่เราที่เป็นครูบรรจุใหม่ยิ่งขยับตัวไม่ได้ เพราะทุกคนจับตามอง ส่วนคุณพ่อก็เป็นครูที่…ไปสร้างโลกของตัวเองในโรงช่าง ไม่ออกมาเจอใคร ทุกคนจะได้เจออีกทีตอนกลับบ้าน มีความสุขในนั้น

ครูรุ่นใหม่หลายคนที่มาพร้อมกับพลังอยากเปลี่ยนระบบ แต่สุดท้ายก็อาจถูกระบบกลืน เรากลัวตัวเองเจอแบบนั้นไหม?

กลัวตัวเองเบื่อจนไม่ทำอะไรเลย กลัวว่าวันหนึ่งเราจะเหนื่อยจนขี้เกียจพูดอะไรแล้ว ส่วนหนึ่งของคนที่โดนระบบกลืนเพราะเหนื่อยจะพูดแล้ว ก็พยายามอ่านเฟซบุ๊กของครูทิว (ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล)ไม่ก็อ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว เพื่อนครูคนอื่นๆ จุดไฟไม่ให้ตัวเองเบื่อ (หัวเราะ) 

ชีวิตครูนกยูงตอนนี้ถ้าเปรียบกับหนังสือคิดว่าอยู่บทไหน

เราสอนปีนี้เป็นปีที่ 3 คงเป็นหน้าหนึ่ง หรือสารบัญ อะ…บทนำก็ได้ละมั้ง! (หัวเราะ) เราคิดว่ายังต้องเจออะไรอีกเยอะ ดูจากพ่อแม่ตัวเองและถ้ายังไม่ชิงลาออกไปก่อนด้วยนะ 

ตอนแรกเรามาเป็นครูด้วยอีโก้ที่เยอะมาก (เน้นเสียง) แต่เพิ่งมาตกตะกอนได้ว่าแบกไปก็หนัก อะ…วางก็ได้ว่ะ ตัวเราตกตะกอนอะไรได้ในแต่ละวัน แล้วที่สอนยังไม่ได้ดีมาก ยังต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ อยากเป็นหนังสือที่เริ่มอ่านใหม่ได้เรื่อยๆ แล้วได้มุมใหม่ๆ จากการอ่าน

Tags:

ปานตา ปัสสาปฐมวัยเทคนิคการสอนเพศunique teacherPhenomenon Based Learning (PhBL)

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • Unique Teacher
    วิชาประวัติศาสตร์ที่ต้องคิด และไม่ใช้ปัจจุบันตัดสินความผิดถูก ของครูโจ้ – ศรัณยพงศ์ จันทะศรี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Unique Teacher
    “ไม่ได้ชี้นำแต่ถามให้คิด” ห้องที่เรียนจากคำถาม เกม และสิ่งที่ผู้เรียนสงสัย

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Unique Teacher
    ห้องเรียนประวัติศาสตร์และพุทธศาสนาที่ชวนตั้งคำถามถึงความดี ความรู้ และความจริง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Learning Theory
    SEX EDUCATION ควรรู้ของเด็กวัย 5-8 ปี

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Learning Theory
    6 วิธีสร้างบรรยากาศ ‘วอลดอร์ฟ’ ง่ายๆ ให้โรงเรียน

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

Positivity Mindset : เปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ สร้างความคิดเชิงบวกให้นักเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ PBL
Learning Theory
26 July 2021

Positivity Mindset : เปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ สร้างความคิดเชิงบวกให้นักเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ PBL

เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • พฤติกรรมในห้องเรียนที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ คือ การเรียนรู้ และการฝึกควบคุมตัวเอง ความสามารถเผชิญสถานการณ์ขึ้นอยู่กับทั้งอารมณ์และการรับรู้ (cognition) มีผลการวิจัยบอกว่า ความสามารถเผชิญสถานการณ์ได้ดีช่วยลดปฏิกิริยาต่อความเครียดในโรงเรียน นําไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้น
  • ครูสามารถช่วยเหลือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนได้โดยเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ของนักเรียนให้เอียงไปทางบวกมากขึ้น นําไปสู่การตัดในใจที่ถูกต้อง และยกระดับพื้นฐานทางอารมณ์ เกิดเป็นวงจรบวกในชีวิตของนักเรียน 
  • เพื่อสร้างชุดความคิดบวกให้แก่ศิษย์ ครูต้องทําตนเป็นตัวอย่าง โดยเปลี่ยนวาทกรรมในสมองจาก “ฉันได้พยายาม มองโลกแง่บวกแล้ว แต่ในความเป็นจริงมีสารพัดอุปสรรค มองโลกแง่บวกเป็นเรื่องหลอกๆ แต่ฉันจริงใจต่อนักเรียน ฉันบอกความจริงตามที่เป็น” ไปเป็น “ฉันเป็นพันธมิตรที่มองโลกแง่บวกต่อเด็ก และจะช่วยให้ศิษย์สร้างความฝันสู่อนาคต”

อารมณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ฝึกได้ คนเราเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ของตนเองได้ การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ในสายตาของผมเป็นการเรียนรู้ทักษะชีวิต คนบางคนพื้นฐานทางอารมณ์ คือ ความไม่พอใจ หรือโกรธ แต่บางคนมีพื้นฐานเป็นความสงบเย็นและพึงพอใจ ข้อมูลหลักฐานหรือทฤษฎีว่าด้วยพื้นฐานทางอารมณ์ นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา มักอยู่ภายใต้สภาพจิตใจที่มีความเครียดเรื้อรัง ซึ่งสมองจะปรับตัวโดยอัตโนมัติ โดยเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ (emotional set-point) ให้ไปในทางลบมากขึ้น เช่น ก้าวร้าวมากขึ้น ตอบสนองน้อยลง 

อารมณ์กับสมอง 

พฤติกรรมของคนเราขึ้นกับการเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วนกํากับอารมณ์ (amygdala) กับสมองส่วนกํากับความคิดและพฤติกรรม (prefrontal cortex) พฤติกรรมในห้องเรียนที่เชื่อมโยงกับอารมณ์ คือ การเรียนรู้ และการฝึกควบคุมตัวเอง ความสามารถเผชิญสถานการณ์ขึ้นอยู่กับทั้งอารมณ์และการรับรู้ (cognition) มีผลการวิจัยบอกว่า ความสามารถเผชิญสถานการณ์ได้ดีช่วยลดปฏิกิริยาต่อความเครียดในโรงเรียน นําไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้น

การวิจัยอธิบายว่า การที่จะเปลี่ยนพื้นฐานอารมณ์ของคนได้สําเร็จต้องการการดําเนินการต่อเนื่องสมํ่าเสมอไม่ใช่ ดําเนินการแบบเป็นครั้งคราว สัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง ซึ่งหมายความว่าในเรื่องนี้สภาพแวดล้อมมีความสําคัญกว่าพันธุกรรม ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ได้แก่  

  • ความคิดแบบใหม่
  • พฤติกรรมที่ดีกว่าเดิม
  • ร่างกายแข็งแรง 
  • มีเพื่อนดี
  • มีเป้าหมายสูงส่ง
  • สุขภาพดี

นักเรียนจากครอบครัวที่มีปัญหา อาจตกอยู่ใต้วงจรที่หมุนลงหรือหมุนสู่ความเสื่อม คือ พื้นฐานทางอารมณ์เป็นลบ นําไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ยิ่งทําให้พื้นฐานทางอารมณ์แย่ลง เป็นวงจรลบที่อาจดํารงอยู่ตลอดชีวิตพวกเขา

ครูสามารถช่วยเหลือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนได้โดยเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ของนักเรียนให้เอียงไปทางบวกมากขึ้น นําไปสู่การตัดในใจที่ถูกต้อง และยกระดับพื้นฐานทางอารมณ์ เกิดเป็นวงจรบวกในชีวิตของนักเรียน 

ความสุข 3 แบบ

เพื่อให้ครูและศิษย์สามารถพัฒนาพื้นฐานทางอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจ ‘ความสุข’ ก่อน ในหนังสือเราสามารถแบบความสุขออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

  • ความสุขชั่วแล่น (spontaneous happiness) เช่น ได้กินไอศกรีม ได้กลิ่นหอม ได้เห็นดอกไม้สวยงาม ได้ฟังครูเล่าเรื่องตลก เป็นความสุขที่เกิดแบบไม่คาดฝัน สารเคมีที่หลั่งออกมาจากสมอง คือ โดปามีน
  • ความสุขจากการที่ความอยากได้รับการตอบสนอง (hedonic happiness) เป็นความสุขที่เกิดขึ้น เมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง เช่น เมื่อคนที่เสพติดบางสิ่งได้รับสิ่งที่ต้องการ อาจเรียกว่า สุขเมื่อกิเลสได้รับการตอบสนอง มีลักษณะพิเศษ คือ 1.มีความอยากหรือความต้องการล่วงหน้า และ 2.บุคคลนั้นแสวงหาสิ่งที่ตนต้องการ สารที่หลั่งออกมาจากสมอง คือ โดปามีน แต่เมื่อความอยากและการตอบสนองเกิดซ้ำๆ หลายครั้งเข้าการหลั่งโดปามีนจะลดลง ต้องการการตอบสนองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลไกของการเสพติด โดยนัยนี้คําชมของครูอาจก่อผลร้ายต่อศิษย์ กลายเป็นการสร้างการเสพติดคําชม อาจเรียกความสุขชนิดนี้ว่า ความสุขที่ได้จากการเสพ
  • ความสุขจากการได้ธำรงเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (eudaimonic happiness อ่านว่า ยูเดโมนิก) เป็นความอิ่มเอิบเบิกบานใจที่เกิดขึ้นจากการได้ทําสิ่งที่ทรงคุณค่ามายาวนาน อาจเรียกว่าเป็นความสุขจากฉันทะ หรือเกิดจากการได้สร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าที่อยู่เหนือผลประโยชน์ของตนเอง 

ความรู้เกี่ยวกับความสุข 3 แบบ มีความหมายต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะมีหลักฐานว่าสมองตอบสนองต่อ ความสุข 3 แบบ แตกต่างกัน เฉพาะความสุขแบบที่ 3 คือ ความสุขที่เกิดจากการสร้างสรรค์เท่านั้นที่มีผลสร้างสมอง มีหลักฐานจากงานวิจัยว่า ทําให้สมองส่วนสีเทา (gray matter) และส่วนสีขาว (white matter) เพิ่มขึ้น ทําให้สมองทํางานได้เพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้นยังมีผลงานวิจัยบอกว่า คนที่มีความสุขแบบที่ 3 มีการทํางานของยีนก่อการอักเสบลดลง และมีการทํางานของยีนสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส และยีนสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น มีผลให้อัตรามาโรงเรียนของนักเรียนมัธยมเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มของสุขภาพดีขึ้น หลีกเลี่ยงยาเสพติด และมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีขึ้น 

วิธีเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ของนักเรียน 

วิธีที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์ของนักเรียน มีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.ใช้มาตรการที่เข้มข้น เช่น สร้างบาดแผลทางใจอย่างรุนแรง เป็นวิธีที่ไม่แนะนํา กับ 2.ใช้เวลายาวนานทําสิ่งที่เหมาะสม นี่คือการเปลี่ยนพื้นฐานทางอารมณ์จากการทําสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย และทําต่อเนื่องยาวนาน โดยได้รับการสนับสนุนให้ตีความคุณค่า เกิดสัมพันธภาพที่ดี และนําไปสู่การเติบโตส่วนบุคคล ใช้เครื่องมือ 4 ชิ้นด้วยกัน 

  • ใช้โครงงานที่มีความหมาย 

มีหลักฐานจากงานวิจัยว่า เด็ก ป.6 ถึง ม.6 ที่ทําโครงงานระยะเวลา 1 เทอมถึงหนึ่งปี มีอุบัติการของโรคซึมเศร้า ลดลง คําแนะนําต่อครู คือ ลองมอบหมายให้นักเรียนเรียนแบบ project-based learning หรือ service learning หรือให้ทํางานเป็นทีมในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน 

  • มุ่งที่ผลลัพธ์สุดท้าย 

ในการมอบหมายงานให้นักเรียนทําเพื่อการเรียนรู้ ครูควรเน้นที่เป้าหมายสุดท้าย อธิบายคุณค่าของการบรรลุเป้าหมายนั้น และคุณค่าของการใช้ความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมาย อาจให้นักเรียนวาดภาพความรู้สึกที่ตนคาดหมายเมื่อบรรลุเป้าหมาย และนํามาแชร์กับเพื่อน หรือนําเอารูปของนักเรียนรุ่นก่อนที่ร่วมกันฉลองความสําเร็จมาติดไว้ในห้อง หลังจากนั้นครูลองพิจารณากระบวนการทํางานของนักเรียนที่จะนําไปสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง หาทางให้นักเรียนเกิด ความสุขความพึงพอใจจากการได้ใช้กระบวนการทํางานที่ดี มีผลงานคุณภาพสูงให้ดูเป็นตัวอย่าง นักเรียนต้องการเรียนรู้ว่าผลงานที่ดีเป็นอย่างไร และต้องการให้ครูแสดงความใส่ใจในคุณภาพของผลงาน ไม่ใช่ส่ง งานได้เร็วแค่ไหน ครูจึงต้องหาผลงานคุณภาพสูงมาให้นักเรียนดู และวางไว้เป็นตัวอย่างในชั้นเรียน หรือโพสต์ไว้ในอินเทอเน็ตของชั้นเรียน เพื่อสร้างความประทับใจของนักเรียนเข้ากับเหตุการณ์ และผลงานคุณภาพสูง

  • ตอกย้ำวิธีการที่ใช้ได้ผล

ตอกย้ำวิธีการที่ใช้ได้ผลด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น ยิ้ม กล่าวคํายืนยัน เขียนคําชม ชมกันเองภายในทีม อธิบายความมีคุณภาพสูงของผลงาน เป็นต้น

สร้างอารมณ์ความรู้สึกมีความสุขจากการได้สร้างสรรค์ให้เป็นอารมณ์พื้นฐานในชั้นเรียนหรือในโรงเรียน จะช่วยให้ นักเรียนมีความสุขและอยากมาโรงเรียนมากขึ้น มีความมานะพยายามมากขึ้น และประสบความสําเร็จมากขึ้น พลังบวกที่เกิดขึ้นจะมีผลสะท้อนกลับมายังครู ครูจะมีความมั่นใจมากขึ้นและรู้สึกเสมือนได้รับรางวัล นี่คือผลที่ยืนยันจากงานวิจัย 

  • เปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม 

เพื่อสร้างชุดความคิดบวกให้แก่ศิษย์ ครูต้องทําตนเป็นตัวอย่าง โดยเปลี่ยนวาทกรรมในสมองจาก “ฉันได้พยายาม มองโลกแง่บวกแล้ว แต่ในความเป็นจริงมีสารพัดอุปสรรค มองโลกแง่บวกเป็นเรื่องหลอกๆ แต่ฉันจริงใจต่อนักเรียน ฉันบอกความจริงตามที่เป็น” ไปเป็น “ฉันเป็นพันธมิตรที่มองโลกแง่บวกต่อเด็ก และจะช่วยให้ศิษย์สร้างความฝันสู่อนาคต”

  • ใคร่ครวญสะท้อนคิด และตัดสินใจ

การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและยั่งยืน เริ่มจาก “กระจก” ซึ่งหมายถึงการสะท้อนภาพของตนเองออกมา โดยมีพื้นฐานความคิดที่สําคัญ คือ “ฉันมีทางเลือก” เสมอ ฉันจะเลือกใช้ชีวิตในวิชาชีพครูอย่างไร 

เพื่อพัฒนาชุดความคิดบวกในครูและนักเรียน มีขั้นตอนสําคัญ 3 ขั้นคือ 

1.สร้างวาทกรรมใหม่ เกี่ยวกับตนเอง และนักเรียน 

2.เลือกกลยุทธเชิงบวกในการสร้างความรู้สึกเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง 

3.สร้างกระบวนการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการดําเนินการสู่ความสําเร็จ กระบวนการสนันสนุนอาจเป็นการพูดคัยกับเพื่อนครู การเขียนบันทึกส่งให้ตนเอง การยกร่างแผนการสอนตามกลยุทธใหม่ และตามวาทกรรมใหม่

Tags:

positivity mindsetการมองโลกในแง่ดีproject-based learning (PBL)เทคนิคการสอนการจัดการอารมณ์สอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน

Author:

illustrator

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานและมูลนิธิหลายแห่ง

illustrator

ครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Learning Theory
    Positivity Mindset : สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้กระตุ้นความหวังและการมองโลกในแง่ดีกับนักเรียน

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    ชวนครูสร้างพื้นที่ปลอดภัย ช่วยให้นักเรียนกล้าเสี่ยงที่ผิดพลาด แล้วเขาจะเติบโต

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    Relational mindset: ‘ครูแสดงความเอาใจใส่ต่อศิษย์’ เทคนิคที่จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้น

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Learning Theory
    วิจารณ์ พานิช: เตรียมนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย เข้าสู่อาชีพที่ชอบ ใช่ และเหมาะกับตัวเอง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

  • BookLearning Theory
    วิจารณ์ พานิช: เป้าหมายของการเรียนรู้คือเปลี่ยนแปลงสมอง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

กี่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน กวีกานต์ยังยืนยงดำรงอยู่… ‘รพินทรนาถ ฐากูร’ กับบทกวีที่ไม่มีวันตาย
Book
23 July 2021

กี่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน กวีกานต์ยังยืนยงดำรงอยู่… ‘รพินทรนาถ ฐากูร’ กับบทกวีที่ไม่มีวันตาย

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • รพินทรนาถ ฐากูร กวีชาวอินเดีย ผู้มีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพสง่างามเหมือนฤาษี และมีเวทย์มนต์เสกให้ตัวอักษรเรียงร้อยร่ายรำได้อย่างอ่อนหวาน เศร้าสร้อย งดงาม และลึกซึ้งกินใจที่สุด
  • การเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม คงเป็นสิ่งยืนยันความเป็นกวี – ปรัชญาเมธี ของมหาบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
  • งานกวีนิพนธ์ของฐากูร มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่โดดเด่นจนผู้เขียนขอหยิบมาเขียนถึง อาจแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ บทกวีบูชาพระผู้เป็นเจ้า บทกวีรักโรแมนติก และบทกวีสำหรับเด็ก คงทำให้ผู้อ่านพอเห็นการมองโลกของฐากูรผ่านปลายปากกาเขา

นอกเหนือจากการเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแล้ว สมัญญานามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อมดแห่งถ้อยคำ, กาลิทาสแห่งปัจจุบันยุค, เกอเธ่แห่งอินเดีย หรือเช็คสเปียร์แห่งโลกตะวันออก ล้วนเป็นสิ่งยืนยันความเป็นกวี-ปรัชญาเมธี ของมหาบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึง รพินทรนาถ ฐากูร กวีชาวอินเดีย ผู้มีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพสง่างามเหมือนฤาษี และมีเวทย์มนต์เสกให้ตัวอักษรเรียงร้อยร่ายรำได้อย่างอ่อนหวาน เศร้าสร้อย งดงาม และลึกซึ้งกินใจที่สุด

นับตั้งแต่บทกวีของฐากูร ปรากฎสู่สายตาชาวโลก งานศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากการเรียงร้อยถ้อยคำตัวอักษร ยังคงประทับในจิตใจของนักอ่านตราบจนทุกวันนี้ และที่น่าทึ่งอย่างยิ่งก็คือ งานกวีนิพนธ์ของฐากูร มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่โดดเด่นจนต้องหยิบมาเขียนถึง อาจแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ บทกวีบูชาพระผู้เป็นเจ้า บทกวีรักโรแมนติก และบทกวีสำหรับเด็ก

บทที่ 1 – บทกวีแห่งจิตวิญญาณ

“กี่ยุคสมัย..เปลี่ยนผ่าน 

กวีกานต์ยังยืนยงดำรงอยู่

น้อมนำสาสน์ผู้สร้าง-ผู้หยั่งรู้

หากศรัทธายังคงอยู่คู่เคียงคน”

รพินทรนาถ ฐากูร เกิดในตระกูลอันมั่งคั่งแห่งนครกัลกัตตา ซึ่งนอกจากจะจัดอยู่ในวรรณะพราหมณ์แล้ว ยังเป็นตระกูลที่มีความเกี่ยวพันกับศิลปะวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด และภูมิหลังตรงนี้เอง ทำให้ฐากูรดื่มด่ำและซึมซับในงานศิลปะหลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวรรณศิลป์

กวีนิพนธ์รางวัลโนเบล ‘คีตาญชลี’ ถือเป็นงานชิ้นแรกที่ทำให้โลกได้รู้จักฐากูร ถูกจัดเป็นงานเขียนประเภท Lyrics หรืองานเขียนประเภทกาพย์ หรือคำร้องสั้นๆ ที่ใช้ประกอบเสียงดนตรี (คีตาญชลี เป็นภาษาสันสกฤติ แปลว่า การบูชาด้วยเสียงเพลง) เพื่ออุทิศให้แก่ ‘พระผู้เป็นเจ้า’

แม้ว่าตระกูลฐากูรจะนับถือศาสนาฮินดู นิกายไวษณพ ซึ่งนับถือพระวิษณุ (หรือพระนารายณ์) เป็นเทพสูงสุด ทว่าพระผู้เป็นเจ้าในความหมายของฐากูร แตกต่างจากความเข้าใจของชาวฮินดูทั่วไปอย่างสิ้นเชิง

จงเลิกเสียเถิด การท่องมนต์บ่นภาวนา!

จงเลิกเสียเถิด การนับลูกประคำ!

เจ้ากำลังกราบไหว้บูชาใครอยู่คนเดียวในมุมมืดของวิหาร ที่ประตูหน้าต่างปิดเสียหมดเช่นนี้

จงลืมตาขึ้นเถิด จงดูเกิดว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทับอยู่ที่นี่ดอก!

พระองค์ทรงอยู่กับชาวนาที่กำลังไถคราดอยู่บนพื้นดินอันแตกระแหง…

(หมายเหตุ – จากหนังสือ คีตาญชลี : รพินทรนาถ ฐากูร รจนา, กรุณา-เรืองอุไร กุศลาลัย แปล)

อาจกล่าวได้ว่า พระผู้เป็นเจ้าในความหมายของฐากูร คือ มนุษย์ปุถุชนคนเดินดินธรรมดานี่เอง เหมือนดังเช่นที่ สพุชโกลี เซน ผู้สอนวิชาปรัชญาและศาสนา ที่วิศวภารติ ศานตินิเกตัน กล่าวไว้ว่า “พันธกิจของรพินทรนาถ คือ  ทำมนุษย์ให้เป็นพระเจ้า และทำพระเจ้าให้เป็นมนุษย์“

หากพระผู้เป็นเจ้า คือ มนุษย์ปุถุชน สิ่งสักการะสูงสุดที่พระองค์ทรงวาดหวังจากมนุษย์ ย่อมไม่ใช่ธูปเทียนเครื่องบัดพลีบวงสรวง หรือการฆ่าสัตว์บูชายัญ หากแต่เป็น ‘ความรัก’

ขณะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรอ

ให้พระวิหารของพระองค์ถูกสร้างขึ้นด้วยรัก

มนุษย์ก็ขนศิลามา

(หมายเหตุ – จากหนังสือ หิ่งห้อย : รพินทรนาถ ฐากูร ถอดความเป็นภาษาไทยโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา, ระวี ภาวิไล)

ด้วยความรักและศรัทธาในมนุษย์ ฐากูรจึงไม่เห็นด้วยกับการสละโลกียสุข เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นส่วนตัว แต่เชื่อมั่นในการอุทิศตนทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านการศึกษา ซึ่งฐากูรได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิศวภารติ ที่มีคำขวัญประจำสถาบันว่า ‘สถานอันเป็นที่พำนักพักพิงของสากลโลก’

อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาที่ฐากูรนับถืออย่างแท้จริง คือ ศาสนาแห่งมนุษย์ ที่มีความเป็นสากล โดยปราศจากการแบ่งแยกวรรณะ เพศ หรือแม้กระทั่งเชื้อชาติ

บทที่ 2 – บทกวีแห่งความรัก

“กี่ยุคสมัย..เปลี่ยนผ่าน

กวีกานต์ยังยืนยงดำรงอยู่

แทนคำหวานปลอบประโลมโฉมพธู

ให้ยอดชู้สู่นิทราสุขารมย์”

บทกวีหลายชิ้นของฐากูร สะท้อนถึงความรักที่อ่อนหวาน หากแต่เศร้าสร้อยและอ้อยอิ่ง ซึ่งนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า กวีนิพนธ์ที่แสนหวานเหล่านี้ อุทิศให้แก่พระผู้เป็นเจ้า (ซึ่งบางครั้งฐากูรก็ใช้คำว่า ที่รัก เรียกแทนพระผู้เป็นเจ้า) แต่ก็มีอีกหลายคนที่เชื่อว่า เบื้องหลังบทกวีที่แสนรันทดและงดงามเหล่านี้ มีเรื่องรักเร้นลับซุกซ่อนอยู่

อย่าเก็บความลับแห่งหัวใจของเธอไว้แต่เพียงลำพังเลย

บอกฉันสิ บอกฉันคนเดียวเท่านั้น ไม่มีใครได้ยินหรอก

เธอผู้มียิ้มอ่อนโยนเอย

กระซิบมาเบาๆ ก็ได้นะ ไม่ใช่หูของฉันหรอกที่จะได้ยิน

แต่เป็นหัวใจของฉันต่างหาก…

(หมายเหตุ – จากหนังสือ คนสวน : รพินทรนาถ ฐากูร นิพันธ์, แดนอรัญ แสงทอง แปล)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชีวิตรักของฐากูร มีคู่สมรสเพียงคนเดียว คือ มฤณาลินี เทวี ซึ่งครองคู่ด้วยกันนาน 19 ปี ก่อนที่เธอจะถึงแก่กรรมไป ซึ่งมรณกรรมของคู่ชีวิตสร้างความโศกเศร้าให้แก่ฐากูรเป็นอย่างยิ่ง โดยในหนังสือ ‘สมรณะ’ ที่เป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงภรรยาผู้ล่วงลับ ฐากูรได้เขียนไว้ว่า

“ก่อนที่จะจากไป เธอไม่มีโอกาสได้พูดจากับฉันแม้แต่คำเดียว 

และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฉันได้เที่ยวตระเวณหาเธออย่างปราศจากความสมหวัง 

แต่วันนี้ ฉันตระหนักดีแล้วว่า

ในห้วงลึกแห่งหัวใจ เราทั้งสองได้พบกันแล้ว”

(หมายเหตุ – จากบทความ สังเขปชีวิตและงานของรพินทรนาถ ฐากูร โดยเรืองอุไร กุศลาสัย)

ถึงกระนั้น มฤณาลินี เทวี ไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียวในชีวิตของฐากูร และไม่ใช่สตรีคนเดียวที่เป็นแรงบันดาลใจให้ก่อเกิดกวีนิพนธ์แสนหวาน

กาดัมบารี เทวี สมรสกับชโยติรินทรนาถ ฐากูร พี่ชายของรพินทรนาถ ฐากูร ตั้งแต่เมื่อเธออายุเพียง 9 ขวบ หลังจากที่เข้าเป็นสะใภ้ในตระกูลฐากูรแล้ว ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกัน ทำให้เธอและเด็กชายรพินทรนาถ ฐากูร ซึ่งขณะนั้นอายุ 7 ขวบ กลายเป็นเพื่อนเล่นและเพื่อนรัก

การเขียนบทกวี คือ สิ่งดึงดูดฐากูรและกาดัมบารี เทวี เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งฐากูร ยอมรับว่า บทกวีที่แสนอ่อนหวานหลายชิ้นของท่าน ได้รับแรงบันดาลใจจากหญิงสาวผู้เป็นมิ่งมิตรและกัลยาณมิตรผู้นี้

ฉันอยากจะนั่งเงียบๆ อยู่ใกล้เธอ แต่ฉันไม่กล้า

ด้วยเกรงว่า..

หัวใจของฉัน จะกล่าวความรู้สึกที่ฉันมีต่อเธอ ผ่านริมฝีปากออกมา

(จากหนังสือ คนสวน : รพินทรนาถ ฐากูร นิพนธ์, แดนอรัญ แสงทอง แปล)

หลังจากฐากูร เข้าพิธีวิวาห์กับมฤณาลินีได้เพียง 4 เดือน กาดัมบารี เทวี พี่สะใภ้วัย 25 ปีของฐากูร ฆ่าตัวตาย ขณะที่คนในตระกูลฐากูร ไม่มีใครปริปากพูดถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายครั้งนี้ มีเพียงกวีหนุ่มฐากูร ที่ยังอุทิศบทกวีหลายชิ้นให้กับเธอผู้ล่วงลับ

แม้จะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า กวีนิพนธ์บทไหนที่ฐากูรเขียนให้กาดัมบารี เทวี แต่สิ่งหนึ่งที่นักอ่านทุกคนรู้สึกได้ ก็คือ บทกวีที่เกี่ยวข้องกับความรักทุกชิ้นของฐากูร ล้วนมีความรู้สึกรวดร้าวซุกซ่อนอยู่ในนั้น

บทที่ 3 – บทกวีแห่งความไร้เดียงสา

“กี่ยุคสมัย..เปลี่ยนผ่าน

กวีกานต์ยังยืนยงดำรงมั่น

เพื่อเด็กน้อย และรอยยิ้มนั้น

เพื่อความฝัน ความเศร้าที่เราลืม”

แม้จะประสบพบเจอเรื่องราวที่แสนรวดร้าวและหนักหน่วง แต่ความเป็นเด็กในตัวฐากูร ยังคงอยู่เสมอมา และเห็นได้ชัดผ่านบทกวีหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเด็ก

พระจันทร์เสี้ยว คือ อีกหนึ่งผลงานของฐากูร ที่เป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายคน หัวใจสำคัญของบทกวีในหนังสือเล่มนี้ คือ ความรักระหว่างแม่และลูก ซึ่งอบอวลไปด้วยความรัก ความไร้เดียงสา และความฝันในวัยเยาว์

รอยยิ้มที่พรายอยู่บนริมฝีปากของทารกขณะกำลังหลับสนิทอยู่นั้นเล่า

มีใครรู้บ้างว่ามาจากแห่งหนใด

มีเสียงร่ำลือว่า..

ครั้งหนึ่ง แสงสีจางจากเสี้ยงของดวงจันทร์ในคืนข้างขึ้นอ่อนๆ ได้ทอผ่านขอบเมฆในฤดูใบไม้ร่วงลงมา

และจากที่นี้เอง ได้เป็นจุดเริ่มต้นของรอยยิ้ม…

(หมายเหตุ – จากหนังสือ พระจันทร์เสี้ยว : รพิทรนาถ ฐากูร แต่ง, วิทุร แสงสิงแก้ว ถอดความ)

รพินทรนาถ ฐากูร เกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2404 ณ คฤหาสถ์โชราสังโก ในนครกัลกัตตา เป็นบุตรคนที่ 14 ในจำนวน 15 คน ของมหาฤาษี เทเวนทรนาถ ฐากูร และศรทา เทวี ผู้เป็นแม่ แต่ดูเหมือนว่าแม่ในชีวิตจริงกับแม่ในบทกวีของฐากูร ไม่ใช่คนๆ เดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตวัยเด็กของฐากูร ห่างเหินจากแม่และพ่ออย่างสิ้นเชิง เด็กน้อยฐากูร ถูกเลี้ยงดูโดยคนรับใช้ในคฤหาสถ์เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้เป็นพ่อ ใช้เวลาส่วนใหญ่จาริกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ส่วนผู้เป็นแม่ มักจะเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง

แม่จ๋า ถ้าลูกกลายเป็นลูกหมาตัวเล็กๆ แทนที่จะเป็นลูกของแม่

แม่จะพูดว่า “อย่านะ” กับลูกไหม

ถ้าลูกพยายามจะเลียอาหารที่อยู่ในจานของแม่ แม่จะขับไล่ลูกด้วยคำว่า “ออกไปไกลๆ นะ เจ้าลูกหมาน้อยซุกซน” ไหม

ถ้าแม่ทำเช่นนั้นละก็ ลูกจะหนีไปให้ไกลๆ

ไม่ยอมมาหาในเวลาที่แม่เรียก และไม่ยอมให้แม่ป้อนข้าวลูกอีกเลย

(หมายเหตุ – จากหนังสือ พระจันทร์เสี้ยว : รพินทรนาถ ฐากูร แต่ง, วิทุร แสงสิงแก้ว ถอดความ)

ราวกับว่า ความรักความผูกพันอันแนบแน่นที่คนอ่านรับรู้ได้ผ่านบทกวีของฐากูร คือ สิ่งที่เด็กน้อยฐากูรโหยหามาตลอด แต่ไม่เคยได้รับ

ศรทา เทวี ถึงแก่กรรมไปตอนที่ฐากูรอายุได้ 13 ปี และแม้ว่าจะไม่มีการอุทิศกวีนิพนธ์บทไหนให้แก่แม่ผู้ล่วงลับ แต่ฐากูรเคยเขียนบทกวีบทหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นบทเดียว ที่มีการกล่าวถึงแม่ในชีวิตจริงของเขา

ฉันจำแม่ของฉันไม่ได้เลย

เว้นเสียแต่ บางครั้งขณะกำลังเล่นเพลินอยู่

หูพลันแว่วสำเนียงสุ้มเสียงหนึ่ง

เสียงเพลงที่แม่เคยร้อง..กล่อมฉันนอนเปล

(หมายเหตุจากผู้เขียน – ตัวเอนทั้งหมดในบทความชิ้นนี้ คัดลอกจากหนังสือตามรายชื่อที่เขียนไว้ใต้บทกวี ยกเว้นบทกวีบทสุดท้าย ที่ยังไม่เคยพบว่ามีการแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน)

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน กวีกานต์ยังยืนยังดำรงอยู่…อีกหรือ?

กวีนิพนธ์ เป็นงานเขียนประเภทหนึ่ง โดยถือเป็นการสร้างงานศิลปะผ่านทางการใช้ถ้อยคำ ไม่ว่าจะเป็นบทกวีที่มีฉันทลักษณ์กำกับอย่างเคร่งครัด หรือบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ ไร้รูปแบบ อิสระ และเปิดกว้าง

งานเขียนประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นิยาย นิยายวิทยาศาสตร์ อาจมีจุดกำเนิดที่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ค่อนข้างชัดเจน แต่บทกวี ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า กวีนิพนธ์บทแรกถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ และใครเป็นคนเขียน แต่เชื่อกันว่า น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเขียนตำนานเรื่องเล่าขนาดยาว ที่เรียกกันว่า มหากาพย์ โดยนักประวัติศาสตร์ถือกันว่า มหากาพย์กิลกาเมซ เป็นงานเขียนในรูปแบบกวีนิพนธ์ชิ้นแรกของโลก เมื่อราว 1800 ปี ก่อนคริสตกาล

ส่วนในประเทศไทย กวีนิพนธ์ชิ้นแรก น่าจะถือกำเนิดในยุคสุโขทัย ซึ่งถือเป็นยุคที่เก่าแก่ที่สุด ที่มีการค้นพบหลักฐานวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักศิลาจารึก หรือหนังสือไตรภูมิพระร่วง โดยปรากฎร่องรอยของรูปแบบฉันทลักษณ์ เช่น การใช้คำคล้องจองของเสียง

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้กวีนิพนธ์เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในบริบทของยุคปัจจุบัน ที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว กวีนิพนธ์ขนาดยาว ที่มีฉันทลักษณ์กำกับอย่างเคร่งครัด เริ่มเลือนหายไปจากความนิยมของนักอ่าน (หรือนักฟัง) ขณะที่บทกวีขนาดสั้น หรือกลอนเปล่า ที่ใช้เวลาในการเสพน้อยกว่า ยังคงได้รับความนิยมและปรากฎให้เห็นเป็นรูปเล่มในร้านหนังสือ

นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เพลงแร็พ ซึ่งมีการด้นเนื้อเพลงสด เพื่อปลุกเร้าอารมณ์คนฟัง ผ่านถ้อยคำที่พ่นระรัว แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ อีกรูปแบบหนึ่งของการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ในยุคปัจจุบัน

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน หัวใจสำคัญของกวีนิพนธ์ คือ การใช้ถ้อยคำ เพื่อปลุกเร้าอารมณ์ เขย่าหัวใจให้สั่นไหวรุนแรง และตระหนักรับรู้ความหมายภายใต้ถ้อยคำที่ต้องการสื่อ

และนั่นทำให้บทกวี จักยังคงดำรงอยู่ แม้ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน 

อ้างอิง
คีตาญชลี : รพินทรนาถ ฐากูร รจนา, กรุณา-เรืองอุไร กุศลาลัย แปล
หิ่งห้อย : รพินทรนาถ ฐากูร ถอดความเป็นภาษาไทยโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา, ระวี ภาวิไล
คนสวน : รพินทรนาถ ฐากูร นิพนธ์, แดนอรัญ แสงทอง แปล
พระจันทร์เสี้ยว : รพินทรนาถ ฐากูร แต่ง, วิทุร แสงสิงแก้ว ถอดความ ชีวิต รพินทรนาถ ฐากูร ในวาระ 150 ปี ชาตกาล

Tags:

หนังสือรพินทรนาถ ฐากูรบทกลอน

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    Olive Kitteridge : อาจใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะยอมรับ เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอารมณ์ร้ายๆ ของแม่

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Family PsychologyBook
    การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกในครอบครัวคือขุมพลังชีวิตของลูก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย
Myth/Life/Crisis
23 July 2021

กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ตัวอิจฉาในนิทานทั้งหลายล้วนแล้วแต่สามารถส่องสะท้อนอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ในตัวเราทุกคน จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่าเราก็มีการฉายภาพ (psychological projection) ไปที่คนอื่น ทำให้บางทีแม้มนุษย์เราอิจฉาคนอื่น แต่เรากลับสรุปว่าคนอื่นอิจฉาเราเสียอย่างนั้น!และก็เป็นไปได้เช่นกันว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็อิจฉากันและกัน หากตระหนักรู้ได้อย่างซื่อตรงว่าเราอิจฉาคนอื่น อย่างน้อยเราก็อาจเพ่งโทษคนอื่นน้อยลงได้
  • ในระดับที่ใหญ่กว่าปัจเจก หากคนจำนวนมากมายในสังคมต้องดำเนินชีวิตไปกับความอิจฉาเป็นอาจิณแล้ว เรากำลังอยู่ในสังคมลักษณะไหน? และที่สำคัญเราเองมีส่วนมากน้อยเพียงใดและอย่างไรในการสร้างและคงไว้ซึ่งสังคมเช่นนี้?

1.

โสนน้อยเรือนงาม เป็นพระธิดาของเจ้าผู้ครองนครโรมวิสัย โดยพระนามมีที่มาจากเรือนไม้โสนซึ่งติดมากับนางในยามถือกำเนิดขึ้น อันเป็นของซึ่งเทวดามอบให้นางไว้เพื่อคุ้มภัย โสนน้อยนั้นไม่เพียงงามสง่าดุจบุปผาสวรรค์ แต่ยังชอบช่วยเหลือผู้อื่นและไม่ค่อยถือโทษโกรธใครอีกด้วย อย่างไรก็ตามผลกรรมเก่าทำให้นางมีอันต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเมื่ออายุเพียงสิบห้าตามคำแนะนำของโหร นางจำต้องเดินทางเข้าป่าโดยลำพัง ทว่าพระอินทร์ก็ได้แปลงกายลงมาช่วยเหลือและมอบยาที่สามารถชุบชีวิตคนตายให้แก่นางอีกด้วย

แต่ในระหว่างเดินทางต่อนั้นเอง โสนน้อยได้ใช้ยาวิเศษดังกล่าวช่วยหญิงชาวป่าคนหนึ่งซึ่งถูกงูกัดตายให้ฟื้นคืนชีพ หญิงทุรลักษณ์คนนี้ชื่อว่านาง กุลา ด้วยเพราะได้รับการชุบชีวิตจึงขอเป็นทาสเดินทางติดตามโสนน้อยไปด้วย ครั้นเมื่อทั้งสองไปถึงเขตนครแก้วนพรัตน์ ก็ได้ทราบข่าวว่า พระวิจิตรจินดา (ต่อไปจะขอย่อว่า พระวิจิตร) พระโอรสของเจ้าเมืองสิ้นพระชนม์ลงเพราะพิษพญานาคเข้า หญิงโสนจึงอาสาเข้ารักษาพระโอรสในวังแต่ก็ขอให้กั้นม่านเพื่อไม่ให้ใครเห็นในระหว่างรักษาด้วย ครั้นนางทายาให้พระวิจิตรแล้ว พิษร้อนของนาคก็ถูกขับออกมาปะทะร่างตน นางจึงออกไปลูบน้ำลดอุณหภูมิ

ส่วนกุลานั้นเมื่อได้เห็นพระวิจิตรรูปงามก็เกิดอยากได้ จึงนำเอาเครื่องทรงโสนน้อยมาใส่ได้จังหวะกับที่พระวิจิตรฟื้นขึ้นมาพอดี หญิงใจหยาบแอบอ้างสลับบทว่าตัวเป็นเจ้าหญิงที่ช่วยชีวิตพระวิจิตรไว้ เจ้าผู้ครองนครโรมวิสัยจึงจำต้องเตรียมการสมรสให้เจ้าหญิงกำมะลอกับพระวิจิตรเพื่อตอบแทนคุณทั้งที่ยังสงสัย เหตุการณ์สับสนอลหม่านดำเนินต่อไปอีกพักซึ่งในระหว่างนั้นกุลาก็กลั่นแกล้งโสนน้อยสารพัด แต่ในที่สุดพระวิจิตรก็ได้ทราบความจริง พระองค์คิดจะประหารกุลา แต่โสนน้อยก็ให้อภัยและขอชีวิตนางไว้

โสนน้อยได้เสกสมรสกับพระวิจิตร แต่กุลาก็ยังคิดแผนใส่ร้ายทำให้พระวิจิตรคิดว่าโสนน้อยจะฆ่าตน โสนน้อยซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในเวลานั้นจึงต้องระเห็จออกจากเมืองพร้อมกับกุลา และเมื่อเดินทางมาพบกับฤาษี จึงได้ขอที่พักเหนื่อยในถ้ำที่ท่านอาศัยอยู่

…ในถ้ำนั้น กุลาพบบ่อน้ำสองบ่อ เมื่อจุ่มนิ้วลงไปในบ่อสีดำนิ้วก็กลายเป็นแผลพุพอง แต่เมื่อจุ่มนิ้วลงไปในบ่อสีเหลืองทองแผลก็หายทั้งยังดูสวยงามขึ้นด้วย นางจึงคิดแผนอีก…

กุลาชุบตัวในบ่อสีเหลืองจนได้ร่างใหม่สวยสดงดงาม จากนั้นก็ล่อโสนน้อยให้มาดูบ่อน้ำดำแล้วผลักลงไปทำให้โสนน้อยหน้าตาตะปุ่มตะป่ำมีรอยแผลทั้งตัว ทั้งสองเดินทางต่อโดยกุลาพลิกบทให้โสนน้อยเป็นสาวใช้อีกครั้ง ครั้นโสนน้อยคลอดลูก กุลาก็ให้คนเอาเด็กไปทิ้งให้จมน้ำตาย แต่เด็กกลับลอยไปหาฤาษี ซึ่งก็ได้เลี้ยงดูและถ่ายทอดสรรพวิชาให้จนเติบใหญ่ สุดท้ายพระวิจิตรก็ได้พบลูกของตนเองอีกทั้งได้สืบหาโสนน้อยจนพบ พระองค์พาโสนน้อยไปหาฤาษี ซึ่งก็ได้สนับสนุนให้โสนน้อยบำเพ็ญภาวนาและช่วยชุบนางในบ่อกระทั่งกลับมางามหยาดฟ้าดั่งเดิม

2.

กุลาเป็นภาพแทนของคนในห้วงอิจฉา ที่ไม่มีความสุขเมื่อคนอื่นมีสิ่งที่ตัวเองอยากได้ (แต่ไม่ได้หรือได้น้อยกว่า) เขามักเปรียบเทียบให้ตัวเองรู้สึกขาดและต้องดิ้นรนเติมรูโหว่ในใจที่เต็มยาก 

ความอิจฉาสามารถเกิดมาจากความรู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอและการไม่นับถือตัวเอง ซึ่งอาจปะปนไปกับความรู้สึกนึกคิดอีกหลายอย่างในอดีตอันไกลกระทั่งจำไม่ได้แล้วว่ารากคืออะไร

ความอิจฉาอ่อนๆ สามารถสร้างประโยชน์ในแง่ที่ทำให้คนที่รู้สึกอิจฉาพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยใช้คนที่ตนอิจฉาเป็นจุดอ้างอิงหนึ่ง ทว่าบ้างก็ร้อนรนจนต้องโจมตีอีกฝ่ายทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรให้ตัว ซึ่งอาจแค่แซะเบาๆ ไปจนถึงการด้อยค่าอีกฝ่าย และลงมือช่วงชิงสิ่งที่อีกฝ่ายมีอย่างจริงจังด้วยวิธีอะไรก็ตามเหมือนที่กุลาทำ ซึ่งเมื่อกระทำบางอย่างด้วยเจตนาร้ายต่อเขาแล้ว บ้างก็ใช้เหตุผลบิดเบี้ยวสร้างความชอบธรรมให้รู้สึกว่าคนที่ตนอิจฉาสมควรได้รับสิ่งเลวร้ายในชีวิตเสียบ้าง และบางทียิ่งฝ่ายที่ตนอิจฉาทำดีกับตนมากเท่าไหร่ก็กลับไปขับเน้นความรู้สึกด้อยให้ชัดขึ้น ไม่แปลกใจที่นางอิจฉาในนิทานมักมีความคิดในทำนอง “หน็อยแน่ ต้องเอามันลงให้ได้!” 

ไฟสุมทรวงที่ผลักให้ต้องเอาชนะอีกฝ่ายสามารถเกิดพร้อมกับความต้องการการยอมรับด้วย ดังนั้น คนที่อิจฉาอาจพยายามด้อยค่าหรือทำลายฝ่ายที่ตัวเองอิจฉาในขณะเดียวกันกับที่พยายามจะลอกเลียนคุณสมบัติต่างๆ แม้แต่ท่วงท่า ฯลฯ ของฝ่ายนั้นไปด้วย (หากทำแค่ลอกแบบจริงๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร) เฉกเช่นที่กุลาพยายามจะเป็นเหมือนโสนอยู่ตลอด ในขณะเดียวกับที่ต้องการทำลาย อีกทั้งตัดรอนความสุขและโอกาสดีๆ ในชีวิตของอีกฝ่ายโดยทุกวิถีทาง 

เมื่อสามารถทำให้โสนน้อยกลายบ่าวอัปลักษณ์ที่ต้องมารับใช้คุณนายกุลาแสนงามแทน กุลาถึงค่อยรู้สึกดีกับตัวเองได้เสียที มิน่าล่ะ นางถึงสาแก่ใจในทุกขเวทนาของโสนน้อย ซึ่งในภาษาต่างๆ ก็มีคำที่แสดงสภาพจิตใจในทิศทางนี้ อย่างในภาษาจีนมีสำนวน ซิ่งจายเล่อฮั่ว (幸灾乐祸) และในภาษาเยอรมันก็มี ชาเด็นฟรอยเดอ (Schadenfreude) ที่ล้วนสะท้อนความรู้สึกในทำนองยินดีที่ผู้อื่นประสบเคราะห์กรรมความฉิบหายต่างๆ ส่วนในภาษาญี่ปุ่นก็มีคำว่า ฮิโตะโน๊ะฟูโคะวะ มิทสึโน๊ะอาจิ (人の不幸は蜜の味) ซึ่งแปลว่า เคราะห์ร้ายของผู้อื่นมีรสชาติดั่งน้ำผึ้ง

ตัวอย่างซึ่งเห็นได้ในชีวิตประจำวันแต่ไม่หนักเท่าที่กุลาทำก็เช่น การมโนถึงข้อเสียของคนที่มีคุณสมบัติที่ตัวเองอิจฉาเพื่อชดเชยให้ตัวเองรู้สึกไม่แย่จนเกินไปหรือรู้สึกเหนือกว่า เช่น “คนที่แวดล้อมด้วยความรักพวกนั้นคงจะทำอะไรไม่เป็นหรอก นิสัยรึก็คงทำอะไรตามอำเภอใจเพราะมีคนคอยพะเน้าพะนอ” (ทั้งที่เขาอาจมีความสามารถและจิตใจเกื้อกูลมากกว่าตัวคนค่อนแคะ ที่แสดงออกอย่างย้อนแย้งว่าอยากได้อยากเป็นเหมือนเขาอย่างชัดเจน) 

นอกจากนี้ก็เช่น การที่ผู้คนชอบเสพข่าวอัปยศอดสูของคนที่ตัวเองคิดว่ามีอะไรเหนือกว่า และรวมหมู่ซุบซิบหรือโพสความเห็นลดคุณค่าคนเหล่านั้น อย่างกรณีที่ (1) ไม่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และ (2) เขาไม่เคยทำร้ายคนคอมเมนท์มาก่อนไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม คำถล่มที่ส่งกลิ่นความชังคละคลุ้งนั้นมีความอิจฉาปะปนอยู่ด้วยหรือไม่? กระนั้น ในระดับที่ใหญ่กว่าปัจเจก หากคนจำนวนมากมายในสังคมต้องดำเนินชีวิตไปกับความอิจฉาเป็นอาจิณแล้ว เรากำลังอยู่ในสังคมลักษณะไหน? และที่สำคัญ เราเอง มีส่วนมากน้อยเพียงใดและอย่างไรในการสร้างและคงไว้ซึ่งสังคมเช่นนี้?

3.

มนุษย์เราเป็นได้ทั้งคนที่ถูกคนอื่นอิจฉาและคนที่อิจฉา แล้วเราจะรับมือได้อย่างไรบ้างนะ?

พยายามทำให้คนที่อิจฉาเราเห็นสิ่งดีๆ ของตัวเขาเอง แต่อย่าลดค่าตัวเองเพื่อให้คนอื่นสบายใจ เพราะถ้าเขาจะอิจฉาเขาก็จะอิจฉาอยู่ดี 

ว่ากันว่าความอิจฉาคือศิลปะแห่งการนับสิ่งดีๆ ที่คนอื่นได้รับ แทนที่จะนับของตัวเอง การทำให้คนอิจฉาเห็นสิ่งดีๆ ที่ตัวเองมี จึงอาจช่วยเจือจางความอิจฉาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม บางคนที่เป็นเป้าความอิจฉาบ่อยครั้งอาจรู้สึกผิดโดยไม่จำเป็น และดันรับมือด้วยการพยายามหรี่แสงตัวเองให้หม่นหมอง พูดเรื่องตัวเองให้น้อยฟังให้มากจนเหมือนตัวเองไม่ได้นั่งอยู่ตรงนั้น บ้างก็นำเสนอตัวเองในทางที่มีปัญหาบกพร่องและพูดชื่นชมคนอื่นอย่างเดียวทั้งที่ตัวเองก็ต้องการอาหารใจเหมือนกัน 

กระนั้นคำถามคือ เราจำเป็นต้องคอยซ่อนสิ่งดีๆ ในชีวิตไว้ตลอดเพราะกลัวว่าจะกระทบใจคนอื่นหรือจะถูกผู้ที่อิจฉาทำร้ายหรือเปล่า?

ตรวจสอบตัวเอง: หาว่าคนอื่นอิจฉาทั้งที่ตัวเองอิจฉาหรือไม่? หรือเราก็ใช้คนอื่นมาเติมช่องโหว่ในใจเหมือนกัน? 

เราควรตรวจสอบตัวเองอย่างมาก หากเราคิดว่าตัวเองมีความสัมพันธ์ที่คอยเป็นฝ่ายเกื้อกูลอีกฝ่ายที่มักอิจฉาเรา ในลักษณะคล้ายโสนน้อยที่คอยช่วยเหลือทั้งยังให้อภัยกุลาได้เสมอ นั่นเพราะเรา “ได้ประโยชน์” บางอย่างหรือเปล่า? เราคงความสัมพันธ์บางลักษณะไว้ ทั้งที่ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะพยายามออกห่างแต่แรกแล้ว เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณธรรม มีประโยชน์ ฯลฯ หรือเปล่า? ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็เข้าข่ายการใช้อีกฝ่ายเป็นเครื่องมือเติมความพร่องบางอย่างในใจตัวเองได้เหมือนกัน บางแง่มุม โสนน้อยก็อาจจะไม่ได้ดีเด่อะไรไปกว่ากุลา

นอกจากนี้ ตัวอิจฉาในนิทานทั้งหลายล้วนแล้วแต่สามารถส่องสะท้อนอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ในตัวเราทุกคน จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่าเราก็มีการฉายภาพ (psychological projection) ไปที่คนอื่น ทำให้บางทีแม้มนุษย์เราอิจฉาคนอื่น แต่เรากลับสรุปว่าคนอื่นอิจฉาเราเสียอย่างนั้น! และก็เป็นไปได้เช่นกันว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็อิจฉากันและกัน หากพบว่าเราอิจฉาคนอื่นมันก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไรตราบใดที่เรายังไม่ได้ลงมือทำบางอย่างด้วยเจตนาทำร้ายเขา เมื่อสามารถตระหนักความรู้สึกตัวเองอย่างซื่อตรง อย่างน้อยเราก็อาจเพ่งโทษคนอื่นน้อยลงได้

ฉะนั้น เรือนไม้โสนที่เทวดาให้โสนน้อยมาคุ้มภัยสามารถหมายถึงการอภัย อะ-ภะ-ยะ นั้นแปลว่า ไม่กลัว ซึ่งไม่ควรแปลว่าเราต้องเอาตัวไปอยู่ใกล้เกินไปกับสิ่งที่สามารถสร้างอันตรายแก่เราหรือการไม่รู้จักป้องกันตัวเองอย่างไร้เดียงสา แต่อาจหมายความถึงการไม่กลัวที่จะยอมรับว่าจิตใจเราก็มีลักษณะของกุลาได้พอกันกับมีลักษณะของโสนน้อย (และเลิกโยนมลทินว่าคนอื่นเท่านั้นที่เป็นกุลา) อีกทั้งไม่ได้เป็นอะไรอย่างเดียวตลอดไป เพราะใจนั้นเปลี่ยนแปรไปได้เรื่อยๆ

ส่วนการที่ฤาษีคอยช่วยเหลือโสนน้อยอย่างวางใจเป็นกลาง ไม่สร้างอารมณ์ลบซ้อนอารมณ์ลบ เปิดทางให้อารมณ์ด้านบวกมีกำลังมากพอที่จะเบี่ยงออกจะกระแสดำมืด และดึงดูดสิ่งที่มีความสงบสันติกว่าเข้ามาในชีวิต

อ้างอิง
นิทานพื้นบ้าน โสนน้อยเรือนงาม ซึ่งเล่าต่อๆ กันมา และ โสนน้อยเรือนงาม  ฉบับละครโทรทัศน์ โดยบริษัท สามเศียร จำกัด และบริษัทดาราวีดีโอ จำกัด ออกอากาศในปีพ.ศ. 2536 นำแสดงโดย พงษ์นภา ดัสกร และปริญญา ปุ่นสกุล
Envy Attacks: What Are They, And How To Survive Them
5 Telltale Signs That You’re the Target of Envy
The secret joys of schadenfreude

Tags:

ความอิจฉาจิตวิทยาปม(trauma)การจัดการอารมณ์Myth Life Crisisตำนาน

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    แดรกคิวล่า : เรียนรู้จากผีดิบ และอาการป่วยไข้ที่รุกล้ำอาณาเขตของเรา

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    วังวนของซิซีฟัสผู้ถูกลงทัณฑ์ให้กลิ้งหินตราบชั่วนิรันดร์ และทางออกจากอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    เจ้าหญิงกับเม็ดถั่ว: คนอ่อนไหว จะหาสมดุลอย่างไรในโลกอันท่วมท้น

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • How to enjoy lifeAdolescent Brain
    11 ชุดคำถาม ชวนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปคุยกับอดีตเพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trend
    ถึงเวลาเอาคะแนน ‘ยกมือตอบในห้อง’ ออกได้หรือยัง?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

การเรียนออนไลน์ : สมองของเด็กที่ชำรุดและสุขภาพจิตที่แปรปรวนของพ่อแม่
Social Issues
22 July 2021

การเรียนออนไลน์ : สมองของเด็กที่ชำรุดและสุขภาพจิตที่แปรปรวนของพ่อแม่

เรื่อง The Potential

  • ในช่วงเวลาปกติ การจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมและกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นด้านความคิดและอารมณ์ การเรียนปนเล่น เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและเป้าหมายสำคัญในแวดวงการศึกษายุคใหม่ แต่โควิด-19 ทำให้รูปแบบการเรียนต้องเปลี่ยนไป เกิดการตั้งคำถามประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ผลกระทบที่ร้ายแรงจากโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกไม่ใช่แค่การติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรค แต่เป็นความไม่เท่าเทียมและการเสียโอกาสทางการศึกษา เพราะเด็กหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบพื้นฐานที่สนับสนุนการเรียนวิถีใหม่ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์
  • นอกจากนี้ภาวะความเครียดในเด็กและผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์โรคระบาด และความกดดันจากการเรียนออนไลน์ เด็กๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและห้องเรียนออนไลน์บอกว่า พวกเขาไม่สามารถจัดการตัวเอง และไม่สามารถทำการบ้านจำนวนมากจากทุกสาระวิชาส่งได้ทันเวลา โดยเฉพาะเมื่อไม่มีครูให้ถามหากมีข้อสงสัย และไม่มีผู้ปกครองอยู่ใกล้คอยให้คำแนะนำ

วิกฤติโควิด-19 เป็นช่วงเวลายากลำบากที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียน หรือสถานศึกษาตามปกติได้ องค์การยูนิเซฟระบุว่า การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก และแม้การเรียนออนไลน์จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ เสียงสะท้อนจากหลายๆ บ้านกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ด้านหนึ่งมันกำลังสร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับคนในครอบครัว ขณะที่อีกด้านกลับตอกลิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมการศึกษามากขึ้นไปอีก 

ทว่า อีกประเด็นหนึ่งที่นักการศึกษากำลังให้ความสนใจ และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องในอนาคตก็คือ การเรียนออนไลน์กับการพัฒนาสมองของเด็ก ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่ทุกคนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กลดลง

การเรียนออนไลน์กับการพัฒนาสมองของเด็ก 

ในช่วงเวลาปกติการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมและช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย ทั้งด้านความคิดและอารมณ์ การเรียนปนเล่น การเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ การสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและเป้าหมายสำคัญในแวดวงการศึกษายุคใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในยุค new normal เมื่อเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย บอกว่า 

“ประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กลดลงอย่างมาก!”

องค์การยูนิเซฟ กล่าวถึง การศึกษาในช่วงโควิด-19 ว่า ทุกฝ่ายต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดได้อย่างต่อเนื่อง หรือจัดให้เป็นสถานที่ที่เปิดได้ในลำดับต้นๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าการปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก โดยนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้ คาดการณ์ว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอาจเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านคน 

ผลกระทบที่ร้ายแรงจากโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกจึงไม่ใช่แค่การติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรค แต่เป็นความไม่เท่าเทียมและการเสียโอกาสทางการศึกษา เพราะเด็กหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบพื้นฐานที่สนับสนุนการเรียนวิถีใหม่ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์

แม้มีความพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการห้องเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธปัญหาที่พบจากการเรียนออนไลน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ไม่พร้อม บางบ้านมีลูกหลานเรียนอยู่หลายคน แต่มีอุปกรณ์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว หรือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีสัญญาณแต่ไม่เสถียร เรียนไม่รู้เรื่อง บางบ้านจำเป็นต้องติดตั้งสัญญาณ จนกลายเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับครอบครัว  

ความเครียดของเด็กและสุขภาพจิตของพ่อแม่

เด็กและผู้ปกครองหลายบ้านกำลังตกอยู่ใน ภาวะเครียดระดับสูง สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ทำการสำรวจผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2020 เกี่ยวกับความเครียดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ระดับความเครียดโดยเฉลี่ยที่รายงานออกมา ไม่เพียงสูงกว่าปี 2019 อย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น แต่เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเกิดมาตรฐานอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2007

อย่างไรก็ตาม การสำรวจระดับความวิตกกังวลของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในสหราชอาณาจักร พบผลลัพธ์แตกต่างออกไป เด็กทั่วไปมีความเครียดน้อยลง แต่ กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะวิตกกังวลหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้วได้รับผลกระทบอย่างมาก ข้อมูลจากโรงพยาบาลเด็กแท็กซัส สหรัฐฯ รายงานว่า ผู้ป่วยเด็กมีปัญหาเรื่องการนอนหลับและมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการแยกตัวทางสังคม

เมื่อเด็กๆ เรียนอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองต้องรับหน้าที่หลักดูแลลูก มีลูกหลานแต่ละวัย อุปสรรคที่พบก็แตกต่างกันไป บางคนลูกเล็กจำเป็นต้องอยู่กับลูกที่บ้านและเรียนไปพร้อมลูก แต่พ่อแม่บางคนต้องทำงานไม่สามารถจัดสรรเวลาส่วนนี้ได้ คนที่มีลูกโตขึ้นมาหน่อยก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา พ่อแม่บางคนเล่าว่าไม่สามารถควบคุมเวลาบนหน้าจอของลูกได้ ไม่รู้ว่าลูกเรียนอยู่จริงๆ หรือทำอย่างอื่น หลายครั้งลูกบ่นว่าการบ้านเยอะ หรือเด็กโตในวัยมหาวิทยาลัยก็โหยหาการได้รวมกลุ่มกับเพื่อนฝูง

อีกด้านหนึ่ง เด็กๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและห้องเรียนออนไลน์บอกว่า พวกเขาไม่สามารถจัดการตัวเอง และไม่สามารถทำการบ้านจำนวนมากจากทุกสาระวิชาส่งได้ทันเวลา โดยเฉพาะเมื่อไม่มีครูให้ถามหากมีข้อสงสัย และไม่มีผู้ปกครองอยู่ใกล้คอยให้คำแนะนำ

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก สารคดีสั้นเรื่อง ข้อจำกัดการเรียนรู้ – เด็กในวิกฤติ (The limits of learning – kids in crisis) โดย Deutsche Welle (DW) สถานีโทรทัศน์ประเทศเยอรมันนี ได้นำเสนอกรณีศึกษาจากห้องเรียนเสมือนจริงในภาวะวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

เลอันโดร บูร์กดอร์ฟ (Leandro Burgdorff) วัย 14 ปี เรียนอยู่เกรด 8 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2) บอกว่า การเรียนออนไลน์ที่บ้านทำให้เขารู้สึกกดดัน ในหัวเต็มไปด้วยเดดไลน์กำหนดส่งงาน ซึ่งเขารู้ดีว่าไม่มีทางทำได้ทันเวลา เขาต้องตัดสินใจ (บนภาวะความเครียด) ว่า ควรเลือกทำการบ้านวิชาไหนก่อน เขาส่งงานชิ้นหนึ่งได้ตรงเวลา ส่วนอีกชิ้นก็ต้องเลทไปอย่างไม่มีทางเลือก ผลที่ออกมาทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง

ขณะที่อีกครอบครัว แคทรีนา เดอ กราห์ล (Catharina de Grahl) วัย 13 ปี กำลังศึกษาอยู่เกรด 8 เช่นเดียวกัน บอกว่า เธอรู้สึกกดดันที่ต้องอยู่บ้านกับน้องชายวัย 10 ขวบ เกรด 5 (ประถมศึกษาปีที่ 5) ตามลำพัง ขณะที่แม่เป็นหมอต้องออกไปทำงานทุกวัน เธอต้องรับผิดชอบการเรียนของตัวเอง และช่วยแนะนำการบ้านให้น้องชาย บางครั้งเธอคิดถึงแม่มาก เพราะคิดว่าแม่คงช่วยแนะนำหลายๆ อย่างให้เธอและน้องชายได้ 

แม่ของแคทรีนา กล่าวว่า เธอรู้สึกผิดกับการทิ้งลูกๆ ไว้ที่บ้านตลอดทั้งวัน พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ และต้องเรียนด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการจัดสรรเวลาในบทบาทงานที่ทำ บทบาทแม่และต้องมารับบทบาทเป็นครูด้วย ไม่ใช่เรื่องง่าย

ความเครียดขัดขวางการพัฒนาทักษะการคิด และ EF 

งานวิจัยด้านประสาทวิทยา (neuroscience) ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความเครียดและบาดแผลทางใจ (trauma) (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง) ส่งผลต่อสมองและการพัฒนาด้านสติปัญญา ทั้งสองอย่างนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วกับ เด็กท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทั้งจากการใช้ชีวิตที่ต้องแยกตัวจากสังคม บางคนต้องเจอกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่บางคนเกิดความกลัวหรือต้องยอมรับความจริง เมื่อคนในครอบครัว คนที่รักป่วย หรือเสียชีวิตจากโควิด-19 หากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไม่เริ่มบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลที่เด็กๆ กำลังเผชิญอยู่ สุขภาพกายและจิตใจของเด็ก รวมถึงผู้ปกครองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

นอกจากนี้ ความเครียดยังขัดขวางการพัฒนาทักษะการคิด (cognitive skills) และการพัฒนา EF (executive function) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองส่วนหน้า เช่น ความสามารถของสมองด้านบริหารจัดการ การคิดเชิงบริหาร การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความคิดยืดหยุ่นและความจำ

คุณลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จในการเรียน อาชีพ และสุขภาพทั้งกายและใจ หากพัฒนาการทางสมองส่วนหน้าของเด็กหยุดชะงัก ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ 

  • มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติด
  • มีความเสี่ยงต่อการพาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม
  • มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง จากการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
  • อาจต้องต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย 

จากเอกสารงานวิจัยนำเสนอผลกระทบทางประสาทวิทยาต่อเด็กกับการเรียนรู้ออนไลน์ – “The neuropsychological impact of E-learning on children” ระบุว่า ผลการศึกษาหลายชิ้นเจอข้อค้นพบไปในทิศทางเดียวกันว่า การใช้เวลาบนหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารส่งผลกระทบต่อสมอง ยกตัวอย่างเช่น ทำให้สมองส่วน ‘คอร์เทกซ์ (cortex)’ ซึ่งทำหน้าที่คิด สูญเสียศักยภาพในการทำงาน ทั้งเรื่องการโฟกัสอย่างต่อเนื่อง การประมวลผล ความสามารถในการรับรู้ทางสังคม และความฉลาดทางวาจาของแต่ละบุคคล นอกจากนี้การค้นหาข้อมูล การอ่าน และการใช้เครื่องมือออนไลน์ ยังลดการทำงานเชื่อมต่อของสมองที่รับผิดชอบหน่วยความจำระยะยาว และการเชื่อมโยงการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม และส่งผลเสียต่อระบบการมองเห็น

งานวิจัยเรื่อง สมองออนไลน์ : อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนการรู้คิดของเราได้อย่างไร (The ‘online brain’: how the internet may be changing our cognition) โดย เฟิร์ท เจ. (Firth J.) และทีมงาน กล่าวว่า แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ทำให้สมองทำงานหลายโหมดและต้องสลับการทำงานไปมาอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสิ่งเร้าทางสายตา ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง วิดีโอ ภาพกราฟิก บนโลกออนไลน์ ที่หลายครั้งเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้ร่างกายทำงานหนัก ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายต้องทำงานอย่างเต็มที่ และดึงเวลาไปจากกิจวัตรประจำวันในแต่ละวัน ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดความจำเสื่อม เนื่องจากหน่วยความจำในสมองทำงานเกินขีดจำกัด ขัดขวางศักยภาพและความสามารถในการจดจำ การประมวลผลข้อมูลอย่างถูกต้อง รวมถึงความเข้าใจต่อเรื่องราวต่างๆ รอบตัว หลายคนไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ 

ยิ่งเมื่อเด็กไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคมรอบข้าง เด็กจะขาดทักษะทางสังคม เช่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนฝูง

วิธีการเร่งด่วนที่พอช่วยได้ในทันที คือ การจำกัดชั่วโมงการใช้งานบนโลกออนไลน์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองอยู่ดี 

งานวิจัยฉบับนี้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า วิกฤตโรคซาร์ (SARS) ราวปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ช (e-commerce) ก้าวหน้า แต่เราคงไม่สามารถนำอนาคตของเด็กมาเทียบกับวิธีการจัดการกับสินค้าในยุคนั้นได้ การศึกษาจึงไม่ควรนำไปเชื่อมโยงกับการตลาด

ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการ ให้สมองได้พัฒนาจากการใช้ประสบการณ์ชีวิต

แน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้มีเฉพาะข้อเสีย เพราะเด็กๆ หลายคนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองท่ามกลางวิกฤตนี้ได้อย่างดีเยี่ยม แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายคนกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เวลานี้วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในตำราเรียน คงไม่สู้การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ซารา เลอวีน เอลเลน (Sarah Levin Allen) นักประสาทวิทยาเด็กและผู้อำนวยการบริหารเบรน บีเฮฟวิเออร์ บริดจ์ (Brain Behaviour Bridge) กล่าวไว้ในบทความ การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ (Learning isn’t just academic.) ว่า เราไม่ได้มีสมองส่วนการอ่านหรือคณิตศาสตร์ เรามีทักษะและความสามารถที่นำไปประยุกต์เข้ากับวิชาการอ่านและคณิตศาสตร์ 

ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้พ่อแม่ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการ แต่ให้หันมาโฟกัสที่การช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาคุณลักษณะและทักษะชีวิตของตัวเอง

เอลเลนได้เสนอแนะวิธีการปรับความคิด และสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับผู้ปกครองไว้ ดังนี้

การเผชิญกับปัญหาและการปรับตัวเป็นเรื่องที่ต้องสอน 

เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีจัดการกับ ‘สิ่งเลวร้าย’ หรือ ‘เรื่องยากๆ’ ในชีวิตที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ พวกเขาต้องเรียนรู้วิธีการปรับกรอบความคิดและการสร้างแรงผลักดันให้ตัวเอง ในส่วนนี้มีเรื่องของการจัดการอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

พ่อแม่สามารถสื่อสารถึงอารมณ์ของตัวเองกับลูก (อย่างมีสติ) เหมือนเป็นการเล่าสู่กันฟัง แล้วให้ลูกสะท้อนความรู้สึกของตัวเอง วิธีการนี้ช่วยให้เด็กพัฒนาความเข้าใจทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

สอน ‘วิธีการ’ ให้ลูก รวมถึง ‘วิธีการคิดและการวางความรู้สึก’ ต่อเรื่องที่พบเห็น ผ่านการกลั่นกรองและตั้งคำถาม 

เด็กๆ ควรเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังอ่าน ค้นคว้า หรือศึกษา เรียนรู้วิธีคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบมุมมองความคิด และตัดสินใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น ยกตัวอย่าง การเปรียบเทียบข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยข่าวปลอมและข่าวลือ 

เด็กๆ ต้องสามารถระบุแหล่งที่มาของข่าว เปรียบเทียบข้อมูลที่อ่านหรือได้ยิน ผู้ปกครองสามารถนำสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาชวนคิดวิเคราะห์ ส่วนหนึ่งทำให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยลดความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวล อีกส่วนหนึ่งเพื่อชวนคิดต่อถึงวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะการคิดของตัวเอง

วิธีการที่ว่ามานี้ นอกจากช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็ก ไม่ให้ถูกกลืนเข้าไปในโลกดิจิทัลแล้ว ยังเป็นการให้เวลาผู้ปกครองทบทวนตัวเอง ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถให้เวลากับลูกได้อย่างเต็มที่ สามารถใช้เวลานี้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้อีกด้วย

The Potential ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครอง และส่งกำลังใจให้กับเด็กๆ ทุกคน

บทความที่เกี่ยวข้อง
ADVERSE CHILDHOOD EXPERIENCES: บาดแผลรุนแรงทางใจในวัยเด็กมีผลต่อโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่
อ้างอิง
The Limits of learning – kids in crisis | DW Documentary
Children’s Brain Development in the Time of COVID-19
The neuropsychological impact of E – learning on children
Advantages, Limitations and Recommendations for online learning during COVID-19 pandemic era
The middle ground: supporting children’s brain development during the pandemic
Pandemic babies: how COVID-19 has affected child development
The COVID-19 pandemic has changed education forever. This is how
The Pros And Cons Of Distance Education

Tags:

เรียนออนไลน์ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)การศึกษา21st Century skills

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Social Issues
    โรคระบาด ความเครียด การฆ่าตัวตาย และสถานการณ์ที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังแบกรับ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Education trend
    การศึกษาจะไปทางไหนและปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบลงง่ายๆ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Voice of New Gen
    ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า: 1 ใน 4 แนวทางพัฒนาการศึกษายุคใหม่

    เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • Social Issues
    หากโควิดบังคับให้ครูเปลี่ยน จะสอนออนไลน์ยังไงให้ป็อปและยังมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์อยู่?

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Learning TheorySocial Issues
    โอกาสใน COVID-19: เปลี่ยนจากเรียนแบบเหมาโหล สู่บทเรียนส่วนตัวแบบเลือกได้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

เข้าไม่ถึงการศึกษาและปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่คนวัยเรียนต้องเจอ คุยกับ เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ
Voice of New GenSocial Issues
21 July 2021

เข้าไม่ถึงการศึกษาและปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่คนวัยเรียนต้องเจอ คุยกับ เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • ปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะจนเฉียบพลัน ผู้ปกครองตกงานไม่มีรายได้ หรือโดนลดเงินเดือน หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น เป็นตัวเร่งให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น จากข้อมูลของกสศ. รายงานว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 อาจมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบประมาณ 65,000 คน
  • ‘การศึกษา’ ที่ควรเป็นสิ่งเข้าถึงง่าย เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า การศึกษากำลังกลายเป็นสิ่งของที่เราต้องมีเงินมากพอหรือไม่ ถึงจะคว้าได้ หรือไม่ทำให้ตัวเองตกจากขบวนรถไฟแห่งนี้
  • The Potential ชวน เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่ม Spring movement พูดคุยในประเด็นดังกล่าว

836,535 เป็นตัวเลขจำนวนนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษจากจำนวนนักเรียนในการศึกษาภาคบังคับกว่า 7 ล้านคน (ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือกสศ. ในปี 2562) ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อให้ยังอยู่ในระบบต่อไปได้ 

แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะจนเฉียบพลัน ผู้ปกครองตกงานไม่มีรายได้ หรือโดนลดเงินเดือน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น จากรายงานของธนาคารโลก อัตราความยากจนของประเทศไทยระหว่างปี 2558 – 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 6,700,000 คน 

ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น จากข้อมูลของกสศ. รายงานว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 อาจมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบประมาณ 65,000 คน

‘การศึกษา’ ที่ควรเป็นสิ่งเข้าถึงง่าย เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า การศึกษากำลังกลายเป็นสิ่งของที่เราต้องมีเงินมากพอหรือไม่ ถึงจะคว้าได้หรือไม่ทำให้ตัวเองตกจากขบวนรถไฟนี้

The Potential ชวน เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่ม Spring movement พูดคุยในประเด็นดังกล่าว

เมื่อการศึกษาเรียกร้องให้เด็กมีมากกว่าความสามารถในการเรียน

ปัญหาในกลุ่มวัยเรียน ณ วันนี้มีอะไรบ้าง เฟลอแชร์ว่า ปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์ สภาวะการเรียนในตอนนี้เรียกร้องให้นักเรียน – นักศึกษาต้องมีอุปกรณ์หลายอย่าง หน้าจอหลายเครื่อง ทั้งๆ ที่สำหรับบางคนการมีหน้าจอเดียวยังยาก 

“การมีอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่มีอย่างเดียว แต่ต้องดีด้วย เพื่อใช้ในการเปิดกล้องเวลาเรียน หรือวิดีโอคอลทำงาน อุปกรณ์การเรียนที่ต้องมีสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แล้วมีในหลายกรณีที่มันแย่มากๆ คือ เด็กต้องมีอุปกรณ์มากกว่า 1 เครื่อง เช่น มีแล็ปท็อปไว้เรียน มีไอแพดไว้จดเลกเชอร์ ซึ่งไม่ใช่สำหรับทุกคนที่จะทำแบบนั้นได้ บางคนจอเดียวยังยากเลย

“คณะเฟลอมีมาตรการช่วยนิสิต เช่น ซับพอร์ตด้านอินเทอร์เน็ต ให้นิสิตแจ้งความต้องการแล้วเขาจะให้ซิมไปใช้ หรือให้ยืมอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งก็โอเคในระดับหนึ่ง ส่วนฝั่งโรงเรียนเฟลอไม่แน่ใจว่ามาตรการแต่ละที่เป็นอย่างไร แต่เท่าที่ตามอ่านข่าวก็เจอเยอะมากว่า มีเด็กต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีอุปกรณ์”

ปัญหาอีกอย่างที่เฟลอมองว่าสำคัญมาก คือ ปัญหาสุขภาพจิตในวัยเรียน ความเครียด ความกดดันในการเรียนจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ยิ่งเกิดโรคระบาดทำให้ต้องเรียนอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปเจอเพื่อน สังคม ความเครียดเพิ่มขึ้น (อ่านบทความ โรคระบาด ความเครียด การฆ่าตัวตาย และสถานการณ์ที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังแบกรับ) ยิ่งในเด็กปฐมวัยที่การเจอเพื่อนถือเป็นหนึ่งปัจจัยในการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม การตัดขาดเช่นนี้อาจส่งผลกระทบได้ เฟลอมองว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญมาดูแลตรงนี้

“เด็กที่โตแล้วระดับม.ปลายหรือมหาวิทยาลัย เขาพอมีสังคมระดับหนึ่งที่จะ keep in touch ได้ อยู่คนเดียวได้ แต่เด็กเล็กอยู่ในช่วงพัฒนาทักษะเข้าสังคม เขาต้องได้เล่นกับเพื่อนเพื่อพัฒนาส่วนนี้”

สำหรับการรับมือของภาครัฐ เฟลอมองว่า ควรมีการจัดสรรงบเพื่อดูแลนักเรียน – นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ กระจายให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแล ไม่ใช่เปิดรับบริจาคเป็นรายคนเช่นที่เราเห็นในโซเซียลขณะนี้

“อยากให้ออกนโยบายให้แต่ละพื้นที่เขาจัดการตัวเองได้ ไม่ใช่ต้องพึ่งส่วนกลางรัฐ หรือระดับปัจเจกในการบริจาค ให้แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจ อาจจะกระจายงบประมาณไปแต่ละที่ และให้โรงเรียนในท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณตรงนี้จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนให้นักเรียน 

“สิ่งที่อยากให้มีอีกอย่าง คือ สนับสนุนให้ครูประจำชั้นติดตามนักเรียนแบบจริงๆ เพราะแค่สอนตอนนี้คงไม่พอ ครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นต้องติดตามนักเรียนว่า มีปัญหาการเรียนไหม เข้าถึงได้หรือเปล่า ปัญหาสุขภาพจิตด้วย”

ทักษะการคิดวิเคราะห์ สิ่งที่ยังขาดในระบบการศึกษาไทย

ปัญหาในภาคการศึกษา ณ เวลานี้อาจไม่ได้มาจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่มีอย่างยาวนาน สำหรับเฟลอมองว่า ปัญหาในระบบการศึกษาในไทยมีจำนวนมากและเป็นมายาวนาน ปัญหาแรก คือ การเข้าถึงการศึกษา มีเด็กไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริงเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่ทุกคนควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ฝั่งภาครัฐอาจจะมีนโยบายแก้ปัญหาส่วนนี้ เช่น เรียนฟรี แต่ว่าก็ยังคงมีคนที่ไม่ได้เรียน เพราะการเข้าถึงไม่ใช่แค่มีเงินเรียน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ 

สุดท้ายคนที่ไม่มีส่วนนี้ซับพอร์ตก็ต้องหลุดจากระบบการศึกษา หรือคนชายขอบ คนที่มีความบกพร่องทางการเรียน ก็ไม่สามารถ fit in (ปรับตัวให้เข้า) การเรียนปกติได้ ควรมีมาตรการที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ จะเรียนแบบไหนก็ได้ โรงเรียนทั่วไป หรือโฮมสคูล แต่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา

ปัญหาที่สอง คือ หลักสูตรที่ค่อนข้างจำกัด อย่างเช่น ในระดับมัธยมตอนปลายมีสายเรียนให้เลือกไม่มาก โรงเรียนบางแห่งมีแค่ 2 ตัวเลือก สายวิทย์ – สายศิลป์ จำกัดทางเลือกเด็กว่าต้องเลือกสายเรียนตั้งแต่ม.3 ต้องวางแผนว่าจะเรียนอะไรต่อในอนาคต เนื้อหาในหลักสูตรเองก็ขาดการให้เด็กฝึกวิเคราะห์ เพราะเน้นการท่องจำ เนื้อหาหลายๆ อย่างก็ค่อนข้างเป็น propaganda เช่น หน้าที่พลเมือง 

“ระบบการศึกษาบ้านเราทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นการแข่งขัน เราถูกปลูกฝังว่าต้องแข่งขันตลอดเวลา ต้องเป็นที่หนึ่งของห้อง ต้องสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง เข้าคณะดีๆ ถึงจะได้รับการยอมรับ เด็กอยู่แต่กับการแข่งขัน โฟกัสที่การเรียน ความสามารถในการเรียน ถ้าเขามีความสามารถด้านอื่น เช่น ดนตรี วาดรูป ก็ไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับด้านวิชาการ”

และปัญหาสุดท้ายที่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาหรือเกี่ยวข้องกับการเรียน คือ กฎในโรงเรียน

“ไม่ว่าจะกฎกระทรวงหรือกฎของโรงเรียนเอง เฟลอรู้สึกว่ามันค่อนข้างจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน เช่น การกำหนดทรงผมนักเรียน กฎห้ามแต่งหน้า ห้ามทาเล็บ ฯลฯ เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องจำกัดไม่ให้เราแสดงความเป็นตัวเองออกมา ทำไมต้องพยายามทำให้เราทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน ทำผมเหมือนกัน ให้คิดเหมือนกัน เป็นเซตเดียวกัน บางคนโดยเฉพาะผู้ใหญ่จะมองว่า ‘ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องเรียนเลย จะมาเรียกร้องทำไม’ แต่สำหรับเฟลอคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญ

“ต้องย้อนถามผู้ออกกฎว่า กฎที่ออกมามันเกี่ยวข้องกับการเรียนยังไง การตัดผมเกี่ยวกับการเรียนไหม? ไม่เกี่ยว แต่เป็นการคอนโทรลเด็กให้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่เกี่ยวกับการศึกษาเลย เป็นเรื่องที่เราควรต้องพูดต้องคุย เพราะว่าเด็กควรเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพตั้งแต่ตอนนี้ เขาต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง ถ้าเขาทำตามกฎแบบนี้มาตลอด โตไปเขาจะไปเป็นยังไง”

แนวโน้มระบบการศึกษาไทย

สถานการณ์ ณ ตอนนี้ คงทำให้เราบางคนตั้งคำถามว่า ในอนาคตการศึกษาไทยจะมีแนวโน้มเช่นไร เราต้องมีเงินเพื่อให้เข้าถึงได้ ต้องทำตัวให้ fit it กับระบบการศึกษาเพื่อให้อยู่รอด ความหมายของ ‘การศึกษา’ ในเวลานี้คืออะไร?

“การศึกษาสำหรับเฟลอ มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กได้โตมาเป็นคนที่ตัวเองอยากเป็น ได้พัฒนาสิ่งที่ชอบ เรียนรู้อะไรที่เป็นทักษะพื้นฐาน ความถนัดของเด็กควรได้รับการสนับสนุน เป็นระบบการศึกษาที่เด็กโตมาแล้วรู้ว่าฉันชอบอะไร อยากทำอะไรในอนาคต ความหลงใหล (Passion) เขาอยู่ตรงไหน 

“แต่เฟลอก็เห็นเหมือนกันว่า การศึกษากำลังถูกทำให้เป็นของเข้าถึงยาก ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะการศึกษาด้านไหนก็ตาม ทุกคนควรเข้าถึงได้ เมื่อไหร่ที่การศึกษาเริ่มกลายเป็นของสำหรับคนมีเงิน มันยิ่งทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น เราจะกำจัดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเท่าเทียมอะไรไม่ได้เลย ในขณะที่ยังมีคนตกหล่นจากระบบการศึกษา 

“ถ้าในประเทศที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ มันก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร พอเป็นที่ไทยต้องใช้เงินในการเข้าถึง แถมต้องสามารถ fit in กับในโรงเรียนให้ได้ แค่การมีการศึกษาก็นับเป็น privilege (สิทธิพิเศษ) แล้ว” เฟลอทิ้งท้าย

อ้างอิง
dashboard.eef.or.th
workpointtoday.com

Tags:

ระบบการศึกษาไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ความเหลื่อมล้ำประเด็นทางสังคมสิรินทร์ มุ่งเจริญ

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • Education trend
    เรื่องเล่าระบบการศึกษา ‘ไต้หวัน’ ฉบับชานมไข่มุก

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learningSocial Issues
    ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก : พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง : เคลื่อนมุมคิดจากโรงเรียนเป็นฐาน สู่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ (Child Base Learning)

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Voice of New Gen
    ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า: 1 ใน 4 แนวทางพัฒนาการศึกษายุคใหม่

    เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • Social Issues
    ปิดโรงเรียนแล้วอย่างไรต่อ? มาตรการรับมือ ‘หลัง’ ปิดโรงเรียน จากรัฐบาลทั่วโลก

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน? พันธุกรรม อุปนิสัย หรือการฝึกฝน
21st Century skills
21 July 2021

ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน? พันธุกรรม อุปนิสัย หรือการฝึกฝน

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ อัคคเดช ดลสุข

  • คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวโน้มจำนวนตัวรับฮอร์โมนโดพามีน ในสมองส่วนไฮโปธาลามัสน้อยกว่าคนทั่วไป ทำให้สมองเปิดรับข้อมูลได้มากกว่า สร้างความเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์ประสาทมากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงมักคิดเลยเถิดต่อยอดออกไปได้ แม้แต่ในแบบที่คนอื่นคิดไม่ถึง  
  • อุปนิสัยหนึ่งที่พบมากในคนมีความคิดสร้างสรรค์ มักเป็นคน “เปิดตัวเอง” ต่อสิ่งใหม่ๆ เป็นพวกชอบลองของ อยากรู้อยากเห็น ช่างคิดช่างฝัน และฉลาดเฉลียวอยู่เองตามธรรมชาติ รวมถึงคลั่งไคล้ในอะไรสักอย่างเป็นพิเศษ และจะใช้เวลากับมันมากกว่าคนอื่น
  • เคล็ดลับคือ ต้องลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้

ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่แปลกประหลาดที่สุดแบบหนึ่งของคนเรานะครับ เพราะดูเหมือนบางคนก็มีมากมายอย่างล้นเหลือ ขณะที่บางคนก็ช่างมีน้อยนิด เหมือนธรรมชาติสร้างให้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ความเชื่อแบบนี้เป็นความจริงหรือไม่? 

ในบทความพิเศษชุดเรื่อง “เราเรียนรู้อย่างไร (How We Learn)” ในนิตยสาร Discover ฉบับเดือนกรกฎมคม/สิงหาคม 2016 มีบทความย่อยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ที่เขียนโดย เลซี่ ชเลย์ (Lacy Schley) ซึ่งมีเนื้อหาหลายจุดน่าสนใจอยู่ ก็เลยจะขอยกมาขยายความเพิ่มเติมดังนี้

เวลาเราพูดว่าความคิดแบบไหน “สร้างสรรค์ (creative)” เราดูจากอะไร?

น่าจะดูได้จาก (1) ความเป็นต้นฉบับ (original) คิดใหม่ขึ้นเองไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ลอกใคร (2) สร้างความประหลาดใจได้ ถ้าไม่รู้สึกว่าน่าทึ่ง ก็น่าจะยังไม่สร้างสรรค์พอ ธอมัส ฮักซ์ลีย์ นักชีววิทยาผู้ได้รับฉายา “(หมา) บูลด็อกของดาร์วิน” เคยกล่าวด้วยความประหลาดใจอย่างสุดซึ้งหลังจากเข้าใจทฤษฎีวิวัฒนาการว่า น่าเจ็บใจเสียเหลือเกินที่ทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่และงดงาม แถมเรียบง่ายเช่นนี้ ทำไมเขาจึงไม่เคยคิดถึงมาก่อน!  

สุดท้าย หลายคนอาจจะบอกว่าเราดูว่ามันสร้างสรรค์จริงหรือเปล่าจากว่ามันมีประโยชน์หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด แต่นี่เป็นแค่แนวคิดแบบหนึ่ง อาจมีคนคิดต่างออกไปได้–ไม่แปลกเลย 

เราอาจจะศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์จาก “ลักษณะ” ของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้หรือไม่? 

นี่เป็นข้อสงสัยที่น่าสนใจนะครับ เป็นไปได้ไหมว่ามีบางคนที่เกิดมาพร้อมกับ “พรสวรรค์” ที่ทำให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่น?  

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกัน คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีแนวโน้มจะมีจำนวนตัวรับฮอร์โมนโดพามีน (dopamine receptor) ในสมองส่วนไฮโปธาลามัสน้อยกว่าคนทั่วไป การมี “ตัวรับ” น้อยทำให้สมอง “กรอง” ข้อมูลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องน้อยลง 

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมองของคนพวกนี้เปิดรับข้อมูลได้มากกว่า ส่งผลต่อเนื่องทำให้มีข้อมูลที่นำไปสร้างความเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์ประสาทมากขึ้น พวกคนกลุ่มนี้เลยอาจจะดูไม่โฟกัสกับงานตรงหน้าแค่นั้น แต่อาจดูว่าอยู่ไม่สุข คิดเลยเถิดต่อยอดออกไปได้ แม้แต่ในแบบที่คนอื่นคิดไม่ถึง

นั่นคือลักษณะความคิดสร้างสรรค์สูงส่วนหนึ่งอาจจะขึ้นกับกรรมพันธุ์

อุปนิสัยหนึ่งที่พบมากในคนมีความคิดสร้างสรรค์คือ มักเป็นคน “เปิดตัวเอง” ต่อสิ่งใหม่ๆ เป็นพวกชอบลองของ อยากรู้อยากเห็น ช่างคิดช่างฝัน และฉลาดเฉลียวอยู่เองตามธรรมชาติ 

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2013 ในวารสาร The Journal of Creative Behavior ที่ชี้ว่า สำหรับเรื่องความคิดสร้างสรรค์แล้ว “ประสบการณ์สำคัญกว่าไอคิว” ซึ่งหากข้อสรุปนี้เป็นจริง ก็แสดงว่ามีโอกาสมากขึ้นสำหรับคุณทุกคนที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ หากทำตัวเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายดายมากขึ้น 

อีกอุปนิสัยหนึ่งที่พบบ่อยครั้งในคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็คือ คนพวกนี้มักลุ่มหลงคลั่งไคล้ในอะไรสักอย่างเป็นพิเศษ ผลจากแบบสำรวจความคิดสร้างสรรค์ชี้ว่า หากเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน 

แต่แค่หลงใหลได้ปลื้มกับอะไรสักอย่างยังไม่พอนะครับ มักจะต้องขลุกอยู่กับมัน และลงมือทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมันอย่างจริงจัง 

นิสัยอีกอย่างทราบจากการสำรวจเป็นระยะๆ ยาวนานต่อเนื่องว่า ผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมักทำตัวอย่างไรกันแน่ สิ่งที่พบก็คือคนเหล่านี้มักจะใช้เวลา “มากกว่าคนอื่น” ในการคิดและมองหาคำตอบสำหรับจัดการกับปัญหาตรงหน้าที่ “แตกต่าง” ออกไปจากที่คนอื่นคิด 

โดยพบว่าคนที่ทำเช่นนี้เป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ มักประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง 

ข้อเท็จจริงอีกอย่างที่พบบ่อยคือ แม้แต่พวกที่ถือกันว่าเป็นอัจฉริยะนั้น ก็มีความคิดสร้างสรรค์ส่วนน้อยที่เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ ฉะนั้นคนพวกนี้จะลองไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับคิดเพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อยๆ

เคล็ดลับข้อนี้จึงเป็นว่า ต้องลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้ 

ข้อสุดท้ายนี้จะคล้ายกับข้อที่แล้วและเชื่อมโยงกันอยู่ กล่าวคือพบว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง มักจะเป็นพวกที่มองโลกบวกและเป็นคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิกง่ายๆ 

จากทั้งหมดที่ว่ามา นอกจากข้อแรกที่เลือกไม่ได้แล้ว ข้อที่เหลือเรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นะครับ ทั้งกับตัวเองหรือจะเอาไปปลูกฝังในตัวลูกหลานให้ทำจนเป็นนิสัยก็ได้นะครับ 

นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกสองสามวิธีการที่จะว่าไปก็ไม่ยากนัก น่าจะทำกันได้แทบทุกคน นั่นก็คือมีการค้นพบว่า การเดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่โล่งกว้างใหญ่หรือในป่า ช่วยให้สมองแล่นและแก้ปัญาได้ดี โดยการเดินทำให้ลดระดับความเครียดได้ ทำให้อารมณ์แจ่มใส และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผ่านทางการสร้างความเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท จนทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ 

การนั่งสมาธิก็มีความสำคัญและมีประโยชน์มาก แต่ในบทความตีกรอบไว้ว่า ควรจะเป็นการนั่งสมาธิแบบที่ “ต้องไม่หยุดคิดอย่างสมบูรณ์” ยังคงคิดได้อยู่ แต่ตระหนักในการโจนไปมาของความคิดนั้น ก่อนจะดึงกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ 

มีรายงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ลงในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience ค.ศ. 2014 ระบุว่า การนั่งสมาธิมีส่วนกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนึกคิด ทำให้ดึงข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ได้ดีขึ้น (พูดง่ายๆ คือ ความจำดีขึ้น) และยังช่วยให้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขึ้นอีกด้วย  

สุดท้ายที่จะแนะนำก็คือ การแก้โจทย์ปัญหาอาจต้องมีการแบ่งเวลาให้ตัวเองและกลุ่มอย่างเหมาะสม โดยพบว่าคำตอบที่ดูว่าสร้างสรรค์มักเกิดจากการแยกไปคิดแบบต่างคนต่างคิดก่อน เสมือนเป็นการติดกองไฟกองเล็กๆ ให้ได้ก่อน เมื่อได้ความคิดตั้งต้นที่แยกกันคิดแล้ว จึงนำมาคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม อภิปรายถกเถียงกัน ก็จะทำให้ความคิดแตกยอดเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้นไปอีกได้ เหมือนเอากองไฟเล็กๆ มารวมกันแล้วช่วยกันโหมทำให้ไฟติดเป็นกองใหญ่  

ตรงกันข้ามกับการรวมกลุ่มกันแต่แรกที่กลับจะทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ผมเคยอ่านงานวิจัยเรื่องการระดมสมอง (brainstorming) ที่ต้องทำกันอย่างถูกวิธี และส่วนใหญ่แล้วที่ทำกันอยู่มักจะผิดวิธีและล้มเหลว 

สุดท้ายจะให้แบบฝึกหัดง่ายๆ เป็นตัวอย่างในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์นะครับ

แบบฝึกหัดแรกให้หาคำมาชุดหนึ่งรวม 3 คำ แล้วลองดูว่าจะสามารถคิดหรือสร้างความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงของคำเหล่านี้ได้หรือไม่ เช่น ลิฟต์/แผ่นการ์ด/หน้ากาก หรือ พ่อ/ไม้เท้า/ต้นมะม่วง ฯลฯ 

แบบฝึกหัดที่สอง ให้ลองตั้งต้นจากการลากเส้นง่ายๆ เช่น เครื่องหมายยกกำลัง (^) แล้วลองวาดต่อออกไปจากขีดเครื่องหมายดังกล่าวนี้ให้กลายเป็นรูปอื่นต่อไป 

แบบฝึกหัดที่สาม ลองหาวิธีการแก้ปัญหาจากโจทย์แปลกๆ เช่น สมมุติว่าเรามีเทียนไขอยู่ 1 เล่ม มีหมุดติดกระดาษ (อันกลมๆ มีเข็มแหลมยื่นออกมา) อยู่ 1 กล่อง และไม้ขีดไฟอีก 1 กล่อง หากเราจำเป็นต้องตรึงเทียนไขไว้กับกำแพง โดยไม่ให้น้ำตาเทียนหยดใส่โต๊ะที่อยู่ข้างล่าง จะมีวิธีการอย่างไรได้บ้าง 

อีกวิธีหนึ่งที่คุณเลซี่ไม่ได้กล่าวถึงไว้ แต่เป็นอันที่คนในวงการไซไฟ (นิยายวิทยาศาสตร์) คุ้นเคยกันดีก็คือ การตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้นถ้า (what if)?” ก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดีเช่นกัน เช่น ถ้าเราต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ เราต้องทำอะไรก่อนหลังหรือพร้อมๆ กันอย่างไรบ้าง 

มาถึงตรงนี้คงพอสรุปได้นะครับว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็น “พรสวรรค์” ด้วยส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่คนทั่วไปที่อยากมี ก็สามารถฝึกฝนและกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

Tags:

21st Century skillsความคิดสร้างสรรค์(Creativity)

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

อัคคเดช ดลสุข

Related Posts

  • Adolescent Brain
    เอาชนะอัลกอริทึม (1) : Me, We และ Why ติดทักษะการจัดการตัวเอง เตรียมพร้อมเด็กสำหรับโลกที่เปลี่ยนไป

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Unique Teacher
    จุฑา พิชิตลำเค็ญ อาจารย์ที่ตั้งหลักว่า “You Teach Who You Are” จัดการตัวเองก่อน จากนั้นค่อยไปสอนคนอื่น

    เรื่อง คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • 21st Century skills
    INITIATIVE: ริเริ่มสร้างสรรค์โดยไม่มีใครร้องขอ แก้ปัญหาไม่ต้องรอคนจ้ำจี้จ้ำไช

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Character building
    11 วิธี ฝึกเด็กๆ พร้อมเป็นผู้นำ

    เรื่อง The Potential ภาพ antizeptic

  • 21st Century skills
    ในห้องเรียน ‘ความคิดสร้างสรรค์’ วัดกันได้ และไม่ต้องใช้คะแนนหรือเกรดเฉลี่ย

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)
Family Psychology
20 July 2021

ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)

เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

“การแบกความภูมิใจของพ่อแม่ไว้บนบ่า เพดานความคาดหวังที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

‘ความสมบูรณ์’ แรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เผลอตั้งความคาดหวังไว้ที่ลูก เพราะอยากให้ลูกเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกๆ คนจะเกิดมาเพื่อทำทุกอย่างได้ดีเลิศ เราทุกคนย่อมมีด้านที่ไม่ถนัดด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะไม่ถนัดด้านใด และไม่ถนัดมากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

ทุกครั้งที่พ่อแม่ผิดหวังในตัวลูก ไม่มีลูกคนไหนที่จะรักพ่อแม่ของเขาน้อยลง จะมีก็เพียงแต่ลูกที่รักและมองเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง

ลูกทุกคนแค่ต้องการให้พ่อแม่รักและอย่าหมดหวังในตัวเขา พลังแห่งความเชื่อมั่นที่พ่อแม่มีให้กับลูกสามารถแปรเปลี่ยนเป็นแรงใจที่มากมายมหาศาลให้กับเขา ทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อได้อีกมากมาย

การ์ตูนจาก KHAE ถอดความจากบทความหนึ่งในคอลัมน์ the untold stories คุณเม เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ที่จะมาแนะนำ 5 บทเรียนที่อยากให้ผู้ปกครอง พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน พวกเขาต่างต้องการโตมาเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่พวกเขาต้องการ

อ่านบทความต้นฉบับ https://thepotential.org/family/the-untold-stories-2-ep3/

Tags:

พ่อแม่The Untold Storiesความคาดหวังแบบแผนความสัมพันธ์

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

KHAE

นักวาดลายเส้นนิสัยดี(ย้ำว่าลายเส้น)ผู้ชอบปลูกต้นไม้และหลงไหลไก่ทอดเกาหลี

Related Posts

  • Online Parenting Theory-nologo (2)
    Family Psychology
    สารพัดทฤษฎีเลี้ยงลูกออนไลน์ พ่อแม่ควรทำอย่างไรท่ามกลางข้อมูลที่ท่วมท้น

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Extended family-no logo
    Family Psychology
    ‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • dragon-parents-nologo
    Family Psychology
    ‘Dragon Parents’ พ่อแม่ผู้ยอมรับอนาคตที่ไม่แน่นอน ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Family Psychology
    ก้าวข้ามมายาคติ ‘ครอบครัวอบอุ่นแสนดี’ แห่งยุคโซเชียล:  หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา

    เรื่อง ลลิตา ไวสินิทธ์ธรรม

  • Family Psychology
    ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel