- การที่ครูสร้างบรรยากาศแห่งความหวังและการมองโลกแง่ดีในห้องเรียน จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นว่า ตัวเองสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงได้ โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวขาดแคลนมักไม่กล้าตั้งความหวังสูง ไม่มั่นใจว่าจะทำสำเร็จ
- บทความนี้จะชวนคุณครูสร้างความมั่นใจให้นักเรียนผ่านเครื่องมือ 5 ชิ้น คือ 1.เกมเปลี่ยนบทบาท 2.แสดงหลักฐานความสำเร็จของนักเรียนรุ่นก่อนๆ 3.เปลี่ยนเกม 4.มุ่งเป้าที่ mastery และ 5.สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ
อ่านบันทึกตอนที่ 1 Rich classroom climate mindset: ชวนสร้างบรรยากาศเชิงบวกในห้องเรียน ให้นักเรียนรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับนับถือจากครูและเพื่อน และตอนที่ 2 ชวนครูสร้างพื้นที่ปลอดภัย ช่วยให้นักเรียนกล้าเสี่ยงที่ผิดพลาด แล้วเขาจะเติบโต
สาระหลักในบันทึกนี้ คือ ครูสามารถสร้างบรรยากาศแห่งความหวังและการมองโลกแง่ดีในชั้นเรียน ให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นว่า ตัวเองสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงได้ มองอีกมุมหนึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจนั่นเอง
มีผลงานวิจัยบอกว่า การมีความหวังต่อความสำเร็จ มี effect size ต่อผลการเรียนสูงถึง 1.44 โดยเฉพาะนักเรียนที่มาจากครอบครัวขาดแคลนมักไม่กล้าตั้งความหวังไว้สูง หรือไม่มั่นใจว่าตนจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงได้ ครูจึงต้องมีเครื่องมือสำหรับใช้เปลี่ยนใจนักเรียนให้มีความมั่นใจ โดยในหนังสือเสนอเครื่องมือ 5 ชิ้น คือ 1.เกมเปลี่ยนบทบาท 2.แสดงหลักฐานความสำเร็จของนักเรียนรุ่นก่อนๆ 3.เปลี่ยนเกม 4.มุ่งเป้าที่ mastery และ 5.สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ
เกมเปลี่ยนบทบาท
เป็นเกมเปลี่ยนความคิดซึ่งมี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ให้นักเรียนแต่ละคนตอบคำถามว่า เมื่อโตขึ้นต้องการเป็นอะไร หรือประกอบอาชีพอะไร เป็นการชวนคิดถึงอนาคตการทำงานของตน และความฝันของตนว่าอยากทำอะไร เป็นอะไร ส่วนขั้นตอนที่ 2 ให้ตอบคำถามว่าบุคคลผู้นั้น (ที่ประกอบอาชีพอย่างที่นักเรียนอยากเป็น) เขาเรียนอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร แสดงบทบาทในชั้นเรียนอย่างไร
เป็นการช่วยให้นักเรียนหลุดพ้นออกจากความคิด หรือความเคยชินเดิมๆ โดยการสวมบทบาทใหม่ แล้วย้อนกลับมาบอกตัวเองให้เปลี่ยนพฤติกรรมในขณะนั้น
แสดงหลักฐานความสำเร็จของนักเรียนรุ่นก่อนๆ
เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าความสำเร็จเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ครูลองจัดให้นักเรียนไปสัมภาษณ์ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ จัดทำเป็นวิดีทัศน์สั้นๆ นำเอาเรื่องราวมาฉายในห้องเรียน หรือนำมาทำเป็นละครแสดงสด เพื่อยืนยันว่าความฝันในทำนองเดียวกัน หรือยิ่งกว่าที่นักเรียนฝัน เคยมีนักเรียนที่ยากจนข้นแค้นกว่าทำสำเร็จมาแล้ว
ครูอาจสั่งสมนิทรรศการความสำเร็จของนักเรียนรุ่นก่อนๆ นำมาจัดแสดงในวันแรกๆ ของชั้นเรียน หลังจากนั้นอาจนำมาตั้งแสดงไว้ทีละคน คนละ 1 สัปดาห์ อาจนำเรื่องราวของนักเรียนที่อื่นที่มีความยากลำบากในครอบครัว แต่มีความฝันสูง มีความมานะพยายามและบรรลุความสาเร็จได้ในที่สุด
เปลี่ยนเกม
ที่จริงตัวของกิจกรรมเองเป็นเกมเพื่อเปลี่ยนความคิดของนักเรียนในเรื่องความเชื่อว่าตนเป็นใคร ใช้ในสถานการณ์ที่แรงบันดาลใจของนักเรียนถดถอย หรือนักเรียนแสดงท่าทีท้อแท้ เช่น ครูอาจแสดงให้นักเรียนเห็นว่า เยาวชนสามารถใช้ข้อเขียนของตนเปลี่ยนโลกได้ โดยให้อ่านหนังสือที่เขียนด้วยท่าทีมีความหวังหรือมองโลกแง่ดี เช่น บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ หรือ Invisible Man ที่เขียนขึ้นโดย Ralph Ellison แล้วให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่อง ‘ฉันจะเปลี่ยนโลก’ แล้วให้นักเรียนผลัดกันนั่งที่หน้าชั้นที่สมมติเป็น ‘เก้าอี้นักเขียน’ อ่านข้อเขียนของตนให้เพื่อนฟัง
มุ่งเป้าที่ mastery
ความหมายของ mastery ตามในหนังสือคือ กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิต เช่น อิทธิบาท 4 (perseverance) ที่ทำให้นักเรียนพอใจที่จะเรียนสิ่งที่ซับซ้อน และท้าทาย เขาบอกว่า mastery ไม่ใช่แค่มานะพยายาม แต่เป็นเรื่องของฉันทะส่วนตัว เขาบอกว่า mastery มี effect size สูงถึง 0.96 สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถต่ำโปรดสังเกตว่า ความหมายของ mastery ในที่นี้ไม่เหมือนความหมายในหนังสือ How Learning Works ที่ผมตีความแล้วพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร และยังมีบันทึกของผมตอนที่ว่าด้วยเรื่อง นักเรียนพัฒนาการเรียนรู้ให้รู้จริง (mastery learning) ได้อย่างไร อ่านได้ที่นี่
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้ความหมายตามในหนังสือเล่มนี้ หรือความหมายจากหนังสือ How Learning Works การมุ่งเป้าไปที่ mastery เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งสิ้น
เพื่อบรรลุ mastery ต้องตั้งเป้าการเรียนรู้ในระดับท้าทาย กำหนดเป้าหมายรายทาง แล้วค่อยๆ ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายรายทางทีละขั้น
สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ
‘ความเป็นเจ้าของ’ ในที่นี้ หมายถึงเป็นเจ้าของชั้นเรียนและเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ เป็นความรู้สึกที่ครูต้องหาทางให้ก่อตัวขึ้นในศิษย์โดยมีวิธีการหลากหลาย ที่ยกตัวอย่างข้างล่างเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ครูสามารถคิดริเริ่มหาวิธีการได้มากมาย
วิธีการหนึ่งเป็นเรื่องวินัย หากนักเรียนทำผิดวินัยบ่อยๆ เจนเซนใช้วิธีแก้แบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้แก้ปัญหาวินัย และได้สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของชั้นเรียนขึ้นในตัวนักเรียนด้วย กลยุทธ์ที่ใช้คือ สร้างวินัยโดยการฟื้นสภาพ (restorative discipline) ไม่ใช่โดยการลงโทษ (punitive discipline)
การสร้างวินัยโดยการฟื้นสภาพ เน้นที่การฟื้นปฏิสัมพันธ์ เช่น เมื่อมีนักเรียนคนหนึ่งทำผิด จะได้รับโอกาสให้ออกไปที่หน้าชั้นและทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรืออาจจัดให้ผู้ทำผิดนั่งเป็นวงร่วมกับเพื่อนและครู มีผู้ดำเนินกระบวนการเรียกว่า mediator ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ดังตัวอย่าง ‘เกิดอะไรขึ้น’ ‘เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร’ ‘เราจะช่วยกันทำให้เรื่องนี้ให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องได้อย่างไร’ เป้าหมายคือหาทางให้นักเรียนและครูอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข นักเรียนได้เรียนรู้แบบเข้ม mastery ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ได้ผลดียิ่งอย่างหนึ่ง คือ ให้ทำงาน ได้มีโอกาสรับผิดชอบ ได้พัฒนาอัตลักษณ์ของตนในนักเรียนระดับอนุบาลถึง ป.5 อาจสร้างการเป็นเจ้าของชั้นเรียนโดยจัด cooperative learning และจัดหน้าที่ในชั้นเรียน ตั้งชื่อแต่ละหน้าที่ให้เก๋ไก๋ ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม ผลัดเวรกันทำครัว ปรุงอาหารกลางวันให้เพื่อนทั้งชั้นรับประทาน มีเวรดูแลความสะอาดชั้นเรียนและบริเวณโรงเรียน
ในระดับ ป.6 ถึง ม.6 ครูอาจร่วมกับกรรมการนักเรียนจัดทำรายการตำแหน่งงานในชั้นเรียน พร้อมทั้งบอกคุณสมบัติหรือสมรรถนะของผู้มีสิทธิ์สมัคร ให้ผู้สมัครส่งประวัติความสามารถ (resume) ของตน พร้อมทั้งเข้ารับการสัมภาษณ์ นักเรียนทำหน้าที่ในแต่ละตำแหน่งเป็นเวลา 5 – 6 สัปดาห์ และได้รับการบันทึกไว้ในประวัติการเรียน
- เปลี่ยนวาทกรรม เปลี่ยนพฤติกรรม
เพื่อสร้างชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้มให้แก่ศิษย์ ครูต้องเปลี่ยนวาทกรรมของตนเอง จาก ‘ฉันมีหน้าที่สอนเนื้อหาวิชาความรู้ หากคุณต้องการให้นักเรียนเรียนได้ดี จงบอกให้เขาตื่นและตั้งใจเรียน ห้องเรียนไม่ใช่สถานบันเทิง ไปสู่วาทกรรม’ เปลี่ยนเป็น ‘ฉันโฟกัสที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และเชื่อมโยงสู่กระบวนการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของทุกวัน’
- ใคร่ครวญสะท้อนคิด และตัดสินใจ
หน้าที่หลักของครู คือ สร้างสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้สูงสุด เน้นที่ตัวนักเรียน เหนือสิ่งอื่นใดคือ ต้องใช้ช่วงแรกของเวลาเรียนปลุกพลังในตัวนักเรียน สร้างสภาพบรรยากาศที่ในขณะนั้นนักเรียนมีความตื่นตัวเพื่อการเรียนรู้สูงสุด บุคคลหมายเลข 1 ที่มีความสำคัญที่สุดในการสร้างบรรยากาศนี้คือ ครู
ผมเคยไปเห็นวิธีที่ครูใช้ปลุกพลังนักเรียนวัยรุ่นชั้น ม.2 ตอนเริ่มชั้นเรียน ที่โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ โดยครูให้นักเรียนเต้นแอโรบิก 15 นาทีก่อนเรียนช่วงบ่ายเพื่อปลุกสมอง ทั้งครูและนักเรียนยืนยันว่าทำให้ผลการเรียนดีขึ้น เสียดายที่ค้นบันทึกที่ลงไว้ไม่พบ
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ เป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้บันทึกนี้เป็นบันทึกที่สุดท้ายใน 3 บันทึก (อ่านบันทึกที่ 1 และบันทึกที่ 2) ภายใต้ชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม (rich classroom climate mindset) ตีความจาก Chapter 12 : Foster Academic Optimism เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู |