- การมีลูกหนึ่งคนต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ เวลา และยังนับเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วง แต่ถ้าเป็นไปได้ พ่อแม่เองก็ต้องหาเวลาสงบสติอารมณ์ จัดการวางแผนเรื่องเงินๆ ทองๆ ในบ้านให้เรียบร้อย เพราะการบริหารที่ผิดพลาดหรือการปล่อยปละละเลยอาจส่งผลต่ออนาคตของเจ้าตัวเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- บทความสุดท้ายของซีรีส์ ‘เงินทองต้องคิดส์’ ขอฝากคำแนะนำทางการเงิน 7 ข้อสำหรับพ่อแม่ทุกคน เริ่มจากการซื้อประกัน วางแผนภาษี จัดการหนี้สิน คัดสรรทางเลือกการลงทุน แบ่งเงินก้อนไว้ในกรณีฉุกเฉิน ตรวจเครดิตบูโร และเริ่มวางแผนทางการเงินเพื่อการศึกษาของเจ้าตัวเล็ก
ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนแนะนำสารพัดวิธีสำหรับพ่อแม่ในการสื่อสารเรื่องการเงินกับเจ้าตัวเล็ก แต่สำหรับบทความชิ้นนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักไม่ใช่เด็กๆ ในบ้าน แต่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านที่อาจยังไม่ได้จัดระเบียบชีวิตทางการเงินของตัวเอง
ผมเข้าใจครับว่าการมีลูกหนึ่งคนต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ เวลา และยังนับเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วง แต่ถ้าเป็นไปได้ พ่อแม่เองก็ต้องหาเวลาสงบสติอารมณ์ จัดการวางแผนเรื่องเงินๆ ทองๆ ในบ้านให้เรียบร้อย เพราะการบริหารที่ผิดพลาดหรือการปล่อยปละละเลยอาจส่งผลต่ออนาคตของเจ้าตัวเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในบทความชิ้นสุดท้ายของซีรีส์ ‘เงินทองต้องคิดส์’ ผมขอฝาก 7 คำแนะนำเรื่องการเงินพร้อมกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนครับ
1. ป้องกันความเสี่ยงด้วยการซื้อประกัน
‘ประกัน’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกประหลาดเพราะคนซื้อไม่อยากใช้ หลายคนจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีนักต่อการซื้อประกันโดยมองว่าเงินที่จ่ายแต่ละปีนั้น ‘เสียเปล่า’ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับถ่ายโอนความเสี่ยง และช่วยบรรเทาความร้ายแรงเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ในวันที่พ่อแม่เป็นเสาหลักที่ลูกๆ ต้องพึ่งพิง ผลิตภัณฑ์ประกันเปรียบเสมือนฟูกรองรับในวันที่เราล้ม เช่น ประสบอุบัติเหตุหรือเกิดเจ็บป่วยแบบไม่คาดฝันจนทำให้รายได้หดหายหรือค่าใช้จ่ายพอกพูน สำหรับคนไทย เราโชคดีที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้อาจไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากนัก ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะมีประกันชีวิตอย่างน้อยสักหนึ่งกรมธรรม์
แน่นอนครับว่าเงินก้อนใหญ่ที่ได้จากประกันในกรณีที่เกิดเหตุร้ายคงไม่อาจทดแทนชีวิตหรือสุขภาพของคนเป็นพ่อแม่ได้ แต่อย่างน้อยเงินก้อนดังกล่าวก็จะช่วยให้ช่วงเวลาระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตหลังวิกฤติไม่ยากลำบากเกินไปนัก
2. วางแผนภาษี
สำหรับพ่อแม่หลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน เวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีจะพบว่ายอดที่ต้องชำระเพิ่มเติมไม่ได้มากมายอะไร บางครั้งอาจได้รับเครดิตภาษีคืนเสียด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมนะครับว่าที่เราต้องจ่ายภาษีน้อยก็เพราะบริษัททำการหักภาษีจากเงินเดือนของเราทุกเดือนตามกฎหมายเพื่อส่งกรมสรรพากร แม้ตอนยื่นแบบอาจไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ความเป็นจริงเราอาจเสียภาษีหลักหมื่นหรือหลักแสนทุกปีโดยไม่รู้ตัว
การวางแผนภาษีเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อนอาจต้องทุ่มเทศึกษาข้อมูลสารพัดค่าลดหย่อน สิทธิและเงื่อนไขต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถบริหารภาษีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กว่าจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็อาจต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่สองสามปี
แต่เชื่อผมเถอะครับว่าการวางแผนภาษีเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อย่าลืมว่าเราต้องเสียภาษีกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นเริ่มต้นทำความเข้าใจก่อน รับรองว่าดีกว่าในระยะยาวอย่างแน่นอนครับ
3. จัดการหนี้สิ้น
คำถามที่หลายคนคาใจแต่อาจไม่กล้าถามใครคือหากได้เงินมาหนึ่งก้อน เราควรเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนหรือใช้หนี้เสียก่อน สำหรับคำตอบในมุมมองนักการเงินคือ ‘ใช้หนี้ก่อน’ โดยเฉพาะหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต
ส่วนเหตุผลก็แสนจะเรียบง่ายเพราะดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นสูงถึงราว 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นี่คือค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ส่วนการลงทุนเช่นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 7 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขดังกล่าวมีความผันผวนสูงลิ่วขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละปี ดังนั้นการใช้หนี้จึงถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่เรียกได้ว่าคุ้มเกินคุ้ม
ก้าวแรกในการเริ่มต้นจัดการหนี้สินคือการรู้สถานะของตัวเอง ไล่เรียงหนี้สินทั้งหมดที่มีโดยจัดอันดับตามอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย แล้วจึงพยายามลดหนี้สินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงโดยอาจเร่งชำระหนี้หรือการรีไฟแนนซ์โดยหาเงินกู้จากแหล่งอื่นที่ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาชำระก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย
การมีหนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่การปล่อยปละละเลยไม่บริหารจัดการหนี้อาจทำให้มีปัญหาในอนาคตครับ
4. ลงทุนแบบคนขี้เกียจ
เราอาจได้ยินได้ฟังเหล่านักลงทุนมือทองที่ร่ำรวยจากตลาดหุ้นหรือตลาดคริปโตฯ ผมไม่ปฏิเสธว่าคนที่กลายเป็นเศรษฐีจากการลงทุนนั้นมีอยู่จริง แต่อาจคิดเป็นจำนวนเพียงหยิบมือหากเทียบกับนักลงทุนทั้งหมด สาเหตุที่เรามักจะได้ยินแต่เรื่องราวของเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนก็เพราะคนส่วนมากที่ขาดทุนมักจะไม่ได้ออกสื่อหรือไม่อยากจะพูดถึงมันสักเท่าไหร่
หากจะลงทุนให้ได้กำไรจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาในการศึกษาตลาดและกำหนดกลยุทธ์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเสมอไป หากใครมาถามผมว่าควรจะลงทุนอย่างไรดี คำตอบที่ได้คือให้ลงทุนแบบคนขี้เกียจ ฝากฝังให้มืออาชีพเป็นคนดูแล ปล่อยให้เงินทำงานและอย่าไปคาดหวังว่าเงินก้อนดังกล่าวจะโตวันโตคืน เพราะการขาดทุนคือเรื่องสามัญธรรมดาของการลงทุน
สำหรับใครที่รู้สึกว่าชีวิตยุ่งมากพอแล้ว ลองมองหากองทุนรวมที่ผลตอบแทนพอใช้ได้แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเหล่ามืออาชีพในการบริหารจัดการ แทนที่จะต้องหัวหมุนและแบกรับความเครียดเมื่อต้องพยายามลงทุนด้วยตัวเอง
5. กันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน
เมื่อเริ่มมองหาช่องทางการลงทุน คนจำนวนไม่น้อยอาจมองว่าการทิ้งเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือสินทรัพย์สภาพคล่องสูงผลตอบแทนต่ำดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่ฉลาดนัก แต่ความเป็นจริงแล้วเราควรมีเงินสักก้อนหนึ่งในบัญชีดังกล่าวเพื่อเก็บไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน
ส่วนควรจะกันเงินเอาไว้มากน้อยแค่ไหน นักวางแผนทางการเงินแนะนำว่าเงินก้อนสำหรับกรณีฉุกเฉินควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายประมาณ 6 เดือน ตัวอย่างเช่น ผมและครอบครัวมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 20,000 บาท เงินก้อนที่ควรแบ่งไว้ในสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วก็ควรจะอยู่ที่ 120,000 บาทนั่นเอง
เห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะปาดเหงื่อเพราะทุกวันนี้แค่มีเงินเก็บออมบ้างก็ถือว่าเป็นเรื่องยากเย็น ไม่เป็นไรครับ เราอาจเริ่มตั้งต้นเงินในบัญชีฉุกเฉินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายแค่ 1 เดือนก่อน แล้วค่อยๆ สะสมให้เพิ่มพูนไปในอนาคต
6. ตรวจเครดิตบูโรทุกปี
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลหนี้ในระบบแทบทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เราคุ้นหูว่าเครดิตบูโร ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องตรวจเครดิตบูโรและคะแนนเครดิตของเราอย่างสม่ำเสมอ เพราะวันหนึ่งในอนาคต เครดิตของเราอาจมีความจำเป็นสำหรับค้ำประกันเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือวันที่ลูกๆ จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่แต่เครดิตยังไม่ดีพอที่จะขอสินเชื่อด้วยตัวเอง
ปัจจุบันการตรวจเครดิตบูโรและคะแนนเครดิตนั้นไม่ยุ่งยาก ถ้าเราอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็สามารถติดต่อขอรับบริการที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร หรือจะใช้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ โดยมีค่าบริหารเพียง 100 ถึง 150 บาท ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าทุกคนควรตรวจเครดิตบูโรอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีหนี้ก้อนไหนที่เราผิดนัดชำระ และไม่มีใครนำชื่อเราไปแอบอ้างขอสินเชื่อ
7. เริ่มออมเงินเพื่อการศึกษาลูก
พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ได้เรียนในสิ่งที่รัก และทุ่มเทในสิ่งที่ชอบ แต่ข้อจำกัดทางการเงินอาจกลายเป็นอุปสรรคที่หลายคนคาดไม่ถึงเมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตการศึกษาของลูกๆ
‘ออมก่อนรวยกว่า’ คำนี้ไม่ได้มีไว้พูดให้ฟังดูดี แต่คือข้อเท็จจริงจากพลังของดอกเบี้ยทบต้น สำหรับใครที่ลูกยังไม่เข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาล ผมขอบอกว่าไม่เร็วเกินไปหรอกครับที่จะเริ่มวางแผนการเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษา เพราะช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยคือค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า หากชะล่าใจอาจไม่ทันการ
ดังนั้น พ่อแม่ควรวางแผนค่าเล่าเรียนลูกๆ ตั้งแต่วันนี้ จัดสรรเงินบางส่วนเก็บออมไว้ในช่องทางการลงทุนระยะยาวที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน หรือเงินฝากประจำ แม้ว่าผลตอบแทนอาจจะต่ำ แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงในระดับที่พอรับได้ เพราะเราคงไม่อยากแขวนอนาคตทางการศึกษาของลูกไว้สภาพเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
นี่คือ 7 เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่าน และขอให้มีความสุขกับการวางแผนจัดการเงินเพื่อคนที่คุณรักที่สุดในโลกนะครับ 🙂