Skip to content
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Transformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent Brain
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
21st Century skills
21 November 2018

ในห้องเรียน ‘ความคิดสร้างสรรค์’ วัดกันได้ และไม่ต้องใช้คะแนนหรือเกรดเฉลี่ย

เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • การวัดประเมินความคิดสร้างสรรค์ Creativity Assessment คือการประเมินความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในเชิงพัฒนาปรับปรุง ระหว่างการเรียนรู้ของครู
  • ก่อนเริ่มคลาสสร้างสรรค์ ครูกับนักเรียนต้องเข้าใจกันก่อนว่า การประเมินจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์บ่งชี้ระดับและลักษณะความคิดสร้างสรรค์บ้าง เช่น ไอเดียต้องแตกต่างไม่ซ้ำใคร แปลกใหม่ นี่คือจุดสตาร์ทที่ครูต้องยื่นเข็มทิศให้นักเรียน เพื่อค้นหาเป้าหมายและเดินไปให้ถึง
  • การ feedback ผลงานหรือไอเดียที่นักเรียนนำเสนอ ถือเป็นเรื่องที่ครูต้องทำ เพราะนักเรียนต้องรู้และเข้าใจด้วยว่าตนเองมีจุดแข็งตรงไหน และควรปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม

เมื่อทักษะการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนกลายเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งที่ครูผู้สอนต้องสร้างขึ้นในห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ประเด็นคำถามที่ตามมาคือ การวัดประเมิน (assessment) ทักษะที่เป็น soft skill นี้ควรทำอย่างไร

เมื่อเราอยู่ในระบบการศึกษาที่ต้องมีตัวชี้วัดค่าศักยภาพของนักเรียนออกมาเป็นรูปคะแนนและเกรดเฉลี่ย แน่นอนว่าระดับความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันคุณภาพของตัวนักเรียน ไปจนถึงคุณภาพของระบบการศึกษาที่ครอบพวกเขาอยู่ ซึ่งล้วนส่งผลไปยังข้อได้เปรียบในการแข่งขันเชิงพัฒนาระดับชาติต่อไปได้ในอนาคต แต่คำถามที่อาจผุดในใจใครหลายคน คือ

“ความคิดสร้างสรรค์มันวัดกันได้ด้วยหรือ”

“วัดความคิดสร้างสรรค์ไปเพื่ออะไร? (ในเมื่อยังไงก็ต้องสอบเหมือนเดิมอยู่ดี)”

“จะใช้เกณฑ์อะไรมาวัดความคิดสร้างสรรค์?”

ความคิดสร้างสรรค์วัดได้?

ในบริบทการศึกษา เราจะเห็นคำว่า assessment และ evaluation บ่อยมาก ซึ่งทั้ง 2 คำมีความหมายใกล้เคียงกันเชิงการประเมินคุณภาพ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความแตกต่างของ 2 คำนี้ก่อนว่า

assessment คือ การวัดประเมินเพื่อหาจุดเด่น-จุดด้อย เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นระหว่างการเรียนรู้ (มักเป็นไปในรูปแบบของความหมายว่า formative assessment คือการประเมินพัฒนาการ)

evaluation คือ การตัดสินคุณภาพว่าดี-ไม่ดี ผ่านเกณฑ์-ไม่ผ่านเกณฑ์ (หรือใช้คำว่า summative assessment ก็ได้)

การวัดประเมินความคิดสร้างสรรค์ creativity assessment หมายความว่า เราประเมินความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในเชิงพัฒนาปรับปรุง ‘ระหว่าง’ การเรียนรู้

สิ่งที่จะใช้วัดประเมินทักษะนี้ไม่ควรออกมาในรูปของการให้เกรด เพราะการคิดสร้างสรรค์คือกระบวนการคิดนอกกรอบ หลากหลายและไร้ขอบเขต ซึ่งอยู่คนละฝั่งกับการเลือกคำตอบถูกผิดเพียงข้อใดข้อหนึ่งโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น เป้าหมายของการวัดประเมินทักษะด้านนี้ จึงควรเป็นไปเพื่อให้ครูและนักเรียนทราบจุดอ่อนจุดแข็งของกระบวนคิดหรือผลงาน เพื่อครูจะได้ feedback ให้คำแนะนำ ว่านักเรียนควรทำอย่างไรจึงจะพัฒนาทักษะได้ดีขึ้น โดยจัดวางการประเมินทักษะด้านนี้ไว้คนละส่วนจากการสอบวัดประเมินความเข้าใจตัวบทเรียนแบบให้คะแนน

เข็มทิศความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียน

การสร้างห้องเรียนสร้างสรรค์ ครูผู้สอนต้องชี้ให้นักเรียนเห็นคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์เสมอ และเพื่อวัดประเมินพัฒนาการทักษะได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจความหมายของความคิดสร้างสรรค์ให้ชัดเจนตรงกันเสียก่อน

แอนดริว มิลเลอร์ (Andrew Miller) ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเรียนรู้แห่ง The Buck Institute for Education และ ASCD กล่าวไว้ในบทความ Assessing Creativity in the Classroom: It Needs to Happen! ว่า “ประเด็นที่ว่าโรงเรียนจะวัดความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนให้ออกมาเป็นเกรดหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่สำคัญอยู่ที่พวกเขาต้องเข้าใจความหมายของ creativity เสียก่อนว่าคืออะไร จะได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตนเองได้”

ครูกับนักเรียนต้องตกลงกันให้เข้าใจเสียก่อนว่า การประเมินจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์บ่งชี้ระดับและลักษณะความคิดสร้างสรรค์บ้าง เช่น ไอเดียต้องแตกต่างไม่ซ้ำใคร แปลกใหม่ หรือพิเศษในบริบทนั้นอย่างไร นักเรียนจะสร้างทักษะนี้ได้อย่างไร นี่คือจุดสตาร์ทที่ครูต้องยื่นเข็มทิศให้นักเรียนรู้ว่าตนเองต้องตั้งเป้าหมายตรงไหนและเดินไปตามทิศทางที่วางไว้ถูก

เช่นเดียวกับแอนดริว ในบทความ Assessing Creativity ของ ซูซาน เอ็ม. บรูคาร์ท (Susan M. Brookhart) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ชื่อดังแห่ง The Center for Advancing the Study of Teaching and Learning at Duquesne University เผยแพร่ใน ASCD เว็บไซต์แหล่งข้อมูลทางการศึกษาว่า การที่ครูต้องอธิบายคุณสมบัติของ creativity ให้นักเรียนเข้าใจก่อนวัดประเมินเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะ creativity เป็นคอนเซ็ปต์ที่กว้างเกินไป สำหรับเธอ creativity ที่นักเรียนต้องมีคือ ความเป็นตัวเองที่แตกต่างไม่เหมือนใคร (originality) คุณภาพดี (high quality) ความหลากหลาย (variety) และ ความแปลกใหม่ (novelty) ด้วย

เพื่อให้นักเรียนเข้าใจได้โดยง่าย ซูซานลิสต์ลักษณะของนักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้

  1. สนใจศึกษาเนื้อหาเชิงลึกและค้นคว้าเพิ่มเติม
  2. เปิดรับความคิดใหม่และขวนขวายหาเพิ่มเติม
  3. หาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเช่น สื่อต่างๆ สอบถามจากบุคคลหรือไปร่วมกิจกรรม
  4. คิดได้หลากหลายแนวหรือเอาแนวทางมาผสมกันได้ และสรุปได้ว่าสิ่งนั้นน่าสนใจ แปลกใหม่ มีประโยชน์
  5. กล้าลองผิดลองถูก และมองความผิดพลาดล้มเหลวเป็นโอกาสเรียนรู้

จากลักษณะข้างต้นนี้ นำไปสู่เกณฑ์การวัดประเมิน (rubric) ที่เธอสร้างขึ้นเองเพื่อวัดประเมินความคิดสร้างสรรค์ผ่านการบ้านของนักเรียนเกรด 5 คุณครูอาจลองดูแนวทางนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทเนื้อหาและช่วงวัยของนักเรียนต่อไปได้

มีความคิดสร้างสรรค์ดีมากมีความคิดสร้างสรรค์ธรรมดาไม่มีความคิดสร้างสรรค์
ความคิดหลากหลายความคิดสะท้อนประเด็นสำคัญของหลายเนื้อหาวิชา จากบริบทหลากหลาย และให้ข้อสรุปที่น่าตื่นตะลึงความคิดสะท้อนประเด็นสำคัญของหลายเนื้อหาวิชา จากบริบทหลากหลายไอเดียได้จากประเด็นสำคัญของเนื้อหาวิชาเดียวกันหรือคล้ายกันความคิดไม่ได้สะท้อนใจความสำคัญ
แหล่งข้อมูลหลากหลายผลงานความรู้ได้จากแหล่งข้อมูลหลากหลายและครอบคลุมหลายหัวข้อจากตำรา สื่อ บุคคลหรือประสบการณ์ผลงานความรู้ได้จากแหล่งข้อมูลหลากหลายจากตำรา สื่อ บุคคลหรือประสบการณ์ผลงานความรู้ได้จากแหล่งข้อมูลจากทางตำรา สื่อผลงานความรู้ได้จากแหล่งข้อมูลชิ้นเดียวและไม่น่าเชื่อถือ
เชื่อมไอเดียได้แปลกใหม่ความคิดในการแก้ปัญหา การมองปัญหาผสมทั้งสิ่งที่มีอยู่เดิมกับเรื่องแปลกใหม่ หรือสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เคยมีมาก่อนความคิดในการแก้ปัญหา การมองปัญหาโดยพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิมขึ้นมา หรือสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เคยมีมาก่อนความคิดได้มาจากการนำความคิดของผู้อื่น (เช่น ตัวอย่างที่ยกมาให้ในชั้นเรียน) มาผสมกันนำความคิดของผู้อื่นมากล่าวซ้ำ
วิธีสื่อสารหรือนำเสนอแปลกใหม่ผลงานแปลกใหม่น่าสนใจ หรือมีประโยชน์ เปิดมุมมองหรือมองปัญหาหรือประเด็นที่ยังไม่เคยมีใครพูดถึงผลงานแปลกใหม่น่าสนใจ หรือมีประโยชน์ เสนอมุมมองหรือแก้ไขปัญหาได้ตามที่วางไว้ผลงานที่ได้ตรงตามเป้าหมาย (เช่น แก้ปัญหาหรือเสนอมุมมองที่ตั้งใจสำเร็จ)ผลงานที่ได้ไม่ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เลย (เช่น แก้ปัญหา หรือเสนอมุมมอง)
ที่มา: จาก How to Create and Use Rubrics for Formative Assessment and Grading (p. 54), โดย Susan M. Brookhart, 2013, Alexandria, VA: ASCD. Copyright 2013 by ASCD. Adapted with permission.

จุดประกายผลงานสร้างสรรค์

ในเมื่อปลายทาง นักเรียนต้องสอบวัดผลคะแนนเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว คำตอบของคำถามที่ว่าครูควรออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์อย่างไรจึงจะคู่ขนานไปกับความเป็นจริงนั้น เป็นเรื่องไม่ตายตัว อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริงคือ การให้นักเรียนได้ลงมือทำ!

นิโคลัส โปรเวนซาโน (Nicholas Provenzano) เจ้าของเว็บไซต์ The Nerdy Teacher และผู้อำนวยการฝ่ายพื้นที่สร้างสรรค์แห่งโรงเรียนมัธยม University Liggett School ซึ่งอยู่ในบริบทการสอนแบบ PBL (Project Based Learning) แชร์แนวทางที่เขาใช้ในการสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน PBL แห่งนี้

นิโคลัสเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมใน ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ หรือ MakerSpace ซึ่งเป็นห้องแยกส่วนออกมาจากห้องเรียนที่มีอุปกรณ์ทั้งไฮเทคอย่าง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครื่องปรินท์เลเซอร์ หรือโลว์เทคอย่าง เลโก้ ลูกโป่ง ดินน้ำมัน ไม้อัด เชือก กาว กระดาษแข็ง ดินสอสี ไวท์บอร์ด เอาไว้ให้นักเรียนใช้เป็นพื้นที่สร้างผลงานที่ ‘เชื่อมโยง’ ความคิดหรือมุมมองของพวกเขากับเนื้อหาที่เรียนในชั้นเรียน (เขาเสริมว่า MakerSpace ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องก็ได้ อาจใช้เป็นตู้ใส่อุปกรณ์ที่มีล้อเลื่อนให้สามารถเข็นไประหว่างห้องเรียนได้ก็พอ)

ในการสอนวิชาวรรณกรรมนักเรียนเกรด 7 นิโคลัสให้นักเรียนอ่านเรื่องสั้นแนวโกธิคชื่อดังเรื่อง The Yellow Wallpaper ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 1900 ภรรยาที่มีภาวะวิตกจริตรุนแรงด้วยการถูกสามีกดขี่และบังคับตามค่านิยมชายเป็นใหญ่ เธอต้องทำตามคำสั่งของสามีที่ให้นอนอยู่แค่บนเตียงในห้องที่ติดวอลเปเปอร์สีเหลือง ห้ามออกไปไหนและทำอะไรทั้งสิ้น ผ่านวันคืนซึมเศร้าในห้องวอลเปเปอร์สีเหลือง เธอเริ่มมองเห็นว่าภายใต้วอลเปเปอร์สีเหลืองนั้น มีผู้หญิงหลายคนที่ถูกขังอยู่เช่นเดียวกับเธอ และเธอควรลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยให้พวกเขาเป็นอิสระ

เมื่ออ่านเรื่องสั้นจบ นิโคลัสเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น หารือ และสังเกตสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่ในเรื่องตามกรอบดั้งเดิมของวิชาวรรณกรรมนั้นก่อน จากนั้น แทนที่จะประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียนด้วยการสอบ นิโคลัสให้พวกเขาใช้อุปกรณ์จากพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นหนึ่ง เพื่อสะท้อนความคิดที่พวกเขาได้จากเรื่องนี้มานำเสนอในชั้นเรียน

การสร้างสรรค์ชิ้นงานจากเนื้อหาวิชาในห้องเรียน ไม่เพียงนักเรียนได้คิดเชื่อมโยงไอเดีย นักเรียนยังรู้สึกสนุกกับการใช้จินตนาการและทักษะที่เป็นประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น บางคนทำเตียงจำลองจากไม้อัดและเย็บฟูกที่นอน เพื่อสื่อถึงเตียงในห้องที่ภรรยาต้องนอนตลอดเวลา บ้างสร้างบ้านไม้อัดที่มีหน้าต่างสีดำไร้ชีวิตชีวา หรือภาพวาดตัดปะจากกระดาษแข็งทรงสี่เหลี่ยมสื่อถึงหน้าต่างติดลูกกรงและสีเหลืองที่กักขังภรรยาไว้

ปลุก (แล้วค่อย) ปั้นด้วย Feedback

นอกจากสาระสำคัญที่ ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือถ่ายทอดไอเดียจากความเข้าใจให้ออกมาเป็นผลงาน การ feedback ผลงานหรือไอเดียที่นักเรียนนำเสนอ เป็นเรื่องที่ครูจำเป็นต้องทำเช่นกัน นักเรียนต้องรู้และเข้าใจด้วยว่าตนเองมีจุดแข็งตรงไหน และควรปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม

การ feedback ควรทำทันที และต้องอยู่บนเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ร่วมกันตั้งแต่ต้น โดยครูต้องชี้หรืออธิบายให้นักเรียนเห็นว่าผลงานชิ้นนั้นสร้างสรรค์ด้านใด และพัฒนาด้านไหนเพิ่มได้อีก

ซูซานยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เธอให้นักเรียนเกรด 5 แต่ง acrostic poem (โคลงที่อักษรตัวแรกของแต่ละบรรทัด เรียงออกมาเป็นคำสมบูรณ์) บนกระดาษโปสเตอร์ ผลงานของนักเรียนหญิงในชั้นคนหนึ่ง ใช้พยัญชนะต้นของบรรทัดเรียงเป็นชื่อโรงเรียน และแทนพยัญชนะเหล่านั้นด้วยคำที่มีความหมายบวกเช่น s คือ super, n คือ nice นอกจากนั้นเธอยังวาดสัญลักษณ์ของโรงเรียนไว้บนผลงานด้วย ส่วนเด็กชายอีกคนในชั้น ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละบรรทัดเรียงออกมาเป็นชื่อของเขาเอง และบรรยายตามหลังพยัญชนะเหล่านั้นด้วยลักษณะนิสัยของเขาเอง a คือ aggressive (เด็กสะกดผิด), n คือ nutty

ด้วยเกณฑ์การประเมินที่ทำความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่ต้นแล้ว ครูควรประเมินผลงานนี้ด้วยแง่มุมนั้น เช่น ก่อนอื่นดูความถูกต้องของไวยากรณ์ ตัวสะกด (quality) ที่เป็นพื้นฐานเริ่มต้นของการเขียน จากนั้นค่อยพิจารณามิติด้านความคิดสร้างสรรค์ว่า งานชิ้นนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองไม่เหมือนใคร (originality) แปลกใหม่ (novelty) และหลากหลาย (arviety) หรือไม่

จากข้างต้น ซูซานเห็นว่า งานของนักเรียนหญิงในแง่ของความถูกต้องไวยากรณ์นั้น (quality) ดี กลอนของเธอเป็นงานที่ดีในแง่การเชื่อมโยงระหว่างชื่อโรงเรียนและคำเชิงบวกอยู่ การวาดรูปก็เป็นการแสดงทักษะทางศิลปะด้วย แต่ในแง่ความคิดสร้างสรรค์งานนี้ยังมีส่วนที่เป็น originality หรือมีเอกลักษณ์แตกต่างน้อยเกินไป กลอนของเธอมีคุณภาพ แต่ก็พบเห็นได้ทั่วไป เมื่ออ่านแล้วไม่กระตุ้นความรู้สึกใดๆ ตรงนี้สามารถ feedback ให้นักเรียนคนนี้ลองแต่งกลอนให้แตกต่างแปลกใหม่กว่านี้ได้ อาจเลือกคำที่ให้ความรู้สึกอื่นหรือลองเลือกหัวเรื่องที่น่าตื่นเต้นดูบ้าง

ส่วนผลงานของนักเรียนชาย ในแง่ของไวยากรณ์คือจุดที่ต้องปรับปรุง ส่วนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นับว่างานของเขามี originality สูง คนที่อ่านกลอนของเด็กชายคนนี้จะรู้ถึงนิสัยที่เป็นตัวของเขาได้ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว เมื่อครูและโรงเรียนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่จะปลุกปั้นเด็กให้คิดเป็นสร้างสรรค์ได้ออกไปพัฒนาสังคม พัฒนาโลก สิ่งที่จำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับการสร้างห้องเรียนสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น คือการวัดประเมินทักษะด้านนี้ด้วย

นอกจากกิจกรรมเปิดสวิตช์ด้านการคิดในห้องเรียน เช่น การถาม หรืออภิปราย การให้พวกเขาผลิตชิ้นงานออกมา ก็เป็นภาคปฏิบัติ ที่จะช่วยเชื่อมไอเดียความรู้จากห้องเรียนนั้นเข้ากับกระบวนการค้นคว้า สอบถาม หรือทดลอง และระหว่างกระบวนการนี้เองก็ได้พัฒนาทักษะจำเป็นด้านอื่นๆ ไปด้วย

ท้ายที่สุด feedback ที่ครูมีต่อผลงานเหล่านั้นร่วมกับเกณฑ์วัดประเมินที่ออกแบบให้เหมาะสมกับเป้าหมายรายวิชาและระดับชั้นของนักเรียน ก็จะเป็นเครื่องสะท้อนระดับทักษะและมิติความรู้ให้นักเรียนมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาการเรียนรู้ที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์แข็งแรง ก็ทำให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นพร้อมจะเติบโตไปในศตวรรษที่ 21 อย่างแข็งแกร่งและสดใส

อ้างอิง:
Assessing Creativity in the Classroom: It Needs to Happen!
The Nerdy Teacher
Assessing Creativity

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)เทคนิคการสอน21st Century skills4Csความคิดสร้างสรรค์(Creativity)ครู

Author:

illustrator

บุญชนก ธรรมวงศา

จบภาษาและการสื่อสาร เคยผ่านงานบริษัทออแกไนซ์ เปิดคลินิก ไปจนเป็นเลขาซีอีโอ หลังค้นพบและติดใจโลกนอกระบบตอกบัตร จึงแปลงร่างเป็นนักเขียน นักแปลและนักพยากรณ์ไพ่ ขี้โวยวายเป็นนิสัยที่อยากแก้ไขแต่ทำยังไงก็ไม่หาย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ Midlife Crisis และหวังจะข้ามผ่านได้ด้วยวิถี “ช่างแม่ง”

Related Posts

  • Character building
    ENTREPRENEURSHIP: ไม่ใช่พ่อรวยสอนลูก แต่คือหลักสูตรผู้ประกอบการที่สอนให้ทำได้ ทำเป็น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    เห็น-ฟัง-รู้สึก-ลงลึกกับสถานการณ์จริง 4 เคล็ดลับสร้าง TEAMWORK ในห้องเรียน

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    4 คำถามเปลี่ยนทีมไม่เวิร์ค ให้กลายเป็นทีมเวิร์ค

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • 21st Century skills
    3 ห้องเรียนฝึกความคิดสร้างสรรค์ ที่ครูไม่ต้องอ่านตำราและเขียนกระดานหน้าห้อง

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skillsEducation trend
    MEDIA LITERACY: หยุดแชร์ข่าวปลอม ด้วยวิชา ‘เท่าทันสื่อ’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel