- สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักเรียนม.6 ที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ลำพังต้องเลือกเส้นทางชีวิตว่ายากแล้ว แต่ความรุนแรงของสถานการณ์และการรับมือของรัฐบาลยิ่งสร้างความกังวลใจให้พวกเขาไม่น้อย
- ชวนฟังเสียงตัวแทนนักเรียนกลุ่มนี้มาบอกเล่าความรู้สึก ปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่งให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงจากพวกเขา
แม้ปีนี้จะเปลี่ยนเป็นปี 2021 แต่บรรยากาศยังคงเหมือนเดิม รวมถึงโควิด-19 ที่ยังคงไม่หายไปไหน ส่งผลกระทบกับชีวิตพวกเราเหมือนเดิม โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องกลับมาเรียนแบบออนไลน์อีกครั้ง และดูท่าว่าการเรียนครั้งนี้จะเป็นการเรียนระยะยาว
ท่ามกลางความสับสนว่าทิศทางระบบการศึกษาจะเป็นเช่นไรต่อ นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ กลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังต้องเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเรียนระดับมหาวิทยาลัย แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งการเรียนปัจจุบันที่ต้องเปลี่ยน ระบบการสอบเข้าที่ไม่แน่นอนว่าจะเหมือนเดิมหรือไม่ รวมถึงอนาคตการเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอย่างไร
The Potential ชวนตัวแทนนักเรียนกลุ่มนี้มาบอกเล่าความรู้สึก ปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่งให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงจากพวกเขา
สิ่งเดียวที่รู้สึก คือ ความไม่แน่นอน
ไข่มุก – วชิรกานต์ ทิสารัมย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี เล่าว่า เธอรู้สึกกังวลอย่างมากกับสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ทั้งการเรียนปัจจุบันที่เปลี่ยนเป็นเรียนออนไลน์ ทำให้ภาระงานมากขึ้น และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่จะมีแผนรับมืออย่างไรบ้าง
“หนูวางแผนว่าจะเข้ามหาลัยรอบแรกที่ยื่นพอร์ตฟอลิโอ แต่พอมีโควิด-19เรื่องมันก็ยากขึ้น เพราะหนูต้องติดต่อผอ. ติดต่อครูเพื่อขอเอกสาร หนูกับเพื่อนบางคนเลยตัดสินใจยื่นรอบ 3 คือ รอบแอดมินชั่นซึ่งต้องใช้คะแนนสอบ แต่ปรากฎว่าที่เรียนพิเศษก็ปิด ไปเรียนไม่ได้ บางที่ก็ไม่มีให้เรียนออนไลน์ บางที่ก็เปิดอีกทีวันที่ 31 มกราคม ซึ่งช่วงสอบเข้ามหาลัยมันก็เดือนมีนาคมแล้ว เตรียมตัวไม่ทันแน่นอน บางคนทุ่มทั้งเงินและเวลาให้ช่วงนี้มาก แต่สุดท้ายก็เรียนไม่ได้ เสียทั้งเงิน เวลา และโอกาสต่างๆ ของม.6
“อย่างหนูจะไปสอบ TOEFL หรือ IELTS สมมติจองไว้ว่าจะไปสอบวันนี้ แต่พอผ่านไป 2 วันระบบบอกสอบไม่ได้เพราะจำนวนคนเกิน ด้วยความที่โควิดต้องเว้นรักษาระยะห่าง ทำให้ที่สอบน้อยลง พอไม่ได้สอบก็ไม่มีคะแนนไปยื่น เพราะเขาไม่เลื่อนรอบพอร์ตด้วย แล้วตอนนี้เรียนแบบออนไลน์ คุณครูคงรู้สึกว่าถ้าเด็กเรียนอยู่บ้านคงมีเวลาเยอะขึ้น ก็เลยสั่งงานเยอะกว่าเดิม แต่จริงๆ พวกหนูใช้เวลาเรียนเท่าเดิม แค่ลดเวลาเดินทางไป-กลับโรงเรียน สุดท้ายงานก็เยอะขึ้น แล้วต้องทำพอร์ตฟอลิโอ อ่านหนังสือเตรียมสอบเองอีกเพราะที่เรียนพิเศษไม่เปิด
“ความรู้สึกตอนนี้คือ กังวลมากๆ หนูยังคิดอยู่เลยว่าสถานการณ์มันไม่น่าจบในเร็วๆ นี้ เพราะจำนวนยอดคนติดเชื้อยังไม่ลด หนูก็ยังไม่เข้าใจว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้แล้วเราจะสอบกันยังไง เช่น สอบแกทแพท แล้วที่ชลบุรีสถานการณ์มันไม่ใช่แค่เว้นระยะห่างแล้วจะปลอดภัย ซึ่งถ้าไปสอบตอนนี้หนูก็ไม่รู้ว่าจะสอบเหมือนเดิมไหม ถ้าสอบแล้วต้องเว้นระยะห่างสถานที่จะพอไหม? หรือพวกหนูจะได้สอบหรือเปล่า หนูว่าตอนนี้มันค่อนข้างลอยๆ หน่อย ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่จะมีแผนหรือปรับเปลี่ยนยังไง แล้วเราที่เป็นนักเรียนต้องปฎิบัติยังไง”
ปอนด์ – พิชญาภา เอี่ยมทอง นักเรียนจากโรงเรียนเดียวกันกับไข่มุก เล่าว่า สถานการณ์ ณ ตอนนี้ทำให้เธอไม่สามารถมั่นใจอะไรได้เลย ยิ่งถ้าภาครัฐไม่เลื่อนการสอบด้วยแล้วก็ยิ่งมองไม่เห็นอนาคต ไม่รู้ว่าถ้าสถานการณ์แย่ลงจะต้องทำอย่างไร
“นโยบายที่ออกมาตอนนี้มีแค่เลื่อนสอบโอเน็ตของป.6 และม.3 แต่ของม.6 ยังไม่มีนโยบายอะไรสักอย่าง หนูก็งงว่าทำไมแทนที่นักเรียนม.6 จะได้รับความสนใจมากกว่านี้แต่กลับไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเหมือนเดิม ส่วนตัวเราก็รู้สึกว่าทำไมเขาไม่เลื่อนให้หน่อย เพราะเพื่อนหลายๆ คนก็ไปเรียนพิเศษไม่ได้ บางสถาบันปิดด้วยมาตรการป้องกันโควิด บางที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้
“อยากให้เขา (ภาครัฐ) สนใจเด็กที่จะสอบเข้าช่วงนี้มากๆ เลยค่ะ เอาจริงๆ ก็น่าจะต้องสนใจเด็กนักเรียนทุกคนที่ประสบปัญหานี้ หันมาฟังความคิดเห็นของเด็กนักเรียนบ้างว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่คิดกันเอง แล้วเด็กก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอนโยบายจากผู้ใหญ่อย่างเดียว รอผู้ใหญ่ตัดสิน รอเขาทำทุกอย่าง”
ในมุมนี้ไข่มุกเสนอว่า อยากให้ภาครัฐออกมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาด “มีบางคนเสนอว่า เราควรชัตดาวน์การศึกษาไปเลยปีหนึ่งดีไหม เพราะม.6 หรือเด็กทุกรุ่นที่เรียนปีนี้ จริงๆ ก็ไม่ได้เรียนเยอะ ก่อนหน้านี้ที่ระบาดรอบแรกเราก็เรียนแบบวันเว้นวัน ทำให้ไม่ค่อยได้อะไร หรือถ้าไม่ชัตดาวน์ก็เรียนแบบออนไลน์ไปเลยเต็มรูปแบบ ไม่ใช่มาเปิดๆ ปิดๆ ทุกอย่างมันควรมีแผนรองรับที่ชัดเจน
“เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญอนาคตเด็กม.6 แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีแผนรองรับ แล้วแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น วันนี้เหตุการณ์มันร้ายแรงก็สั่งปิดโรงเรียนวันนี้ไปก่อนละกัน ทั้งๆ ที่เราสามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตสถานการณ์มันคงร้ายแรงขึ้น อีกอย่างปีที่แล้วช่วงเข้ามหาวิทยาลัยโควิดก็ระบาดแบบนี้ คือ เราก็ผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว ปีนี้มันก็น่าจะมีแผนรองรับมากกว่านี้หรือเปล่า
“ส่วนเรื่องเข้ามหาวิทยาลัย หนูก็ยังไม่รู้เลยว่าเข้าไปแล้วจะเรียนยังไงต่อ ปัญหาเศรษฐกิจอีก เราก็ไม่เห็นว่ารัฐจะมาเยียวยาหรือช่วยอะไรสักเท่าไร มีแต่บอกให้เราดูแลตัวเอง หนูก็งงว่าถ้าให้เราดูแลตัวเองได้ขนาดนั้นแล้วเขาทำอะไร หน้าที่เขาคืออะไร? เพราะเขาไม่ได้ทำสิ่งที่เราโหวตให้เขาทำด้วยซ้ำ ตัวเราเองเราสามารถรับผิดชอบให้ปลอดภัยได้ แต่ปัจจัยภายนอกทำให้เราไม่รู้สึกปลอดภัยทางเรื่องการเงิน หรืออนาคตเลย” ไข่มุกทิ้งท้าย
สถานการณ์โควิด-19 ในวงการศึกษาไทย
หลังจากประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรก สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยก็เริ่มเข้าขั้นวิกฤต มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อลดจำนวนคนออกมาข้างนอก ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบประชาชนหลายภาคส่วน ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ต้องปิดหน้าร้านและเปลี่ยนเป็นขายออนไลน์แทน หรือสถานที่ทำงานหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนเป็น Work from home หรือถึงขึ้นปิดกิจการไปเลย
ในส่วนของภาคการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการตัดสินใจสั่งปิดสถานศึกษาทั้งหมดที่อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เพื่อความปลอดภัยของเยาวชน ทำให้หลายโรงเรียนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรูปแบบออนไลน์ (อ่านบทความ เลื่อนเปิดเทอม: โจทย์ วิธีรับมือ ของ 4 ครูไทยในพื้นที่และบริบทที่แตกต่าง)
กลุ่มคนที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก คงหนีไม่พ้นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีเดียวกัน ต้องเจอทั้งรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เลื่อนวันและปรับไปใช้ระบบออนไลน์ให้มากที่สุด
แม้ปลายปี 2563 สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในไทยจะเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจนแทบไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่การทำงานที่หละหลวมของราชการที่ปล่อยให้คนลักลอบเข้ามาทางชายแดน และการทำงานแบบสองมาตรฐานทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ที่รอบนี้ดูจะหนักกว่าครั้งแรก.. การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ทำให้พบจำนวนผู้ติดเชื้อหลักร้อยจนถึงหลักพัน และสะท้อนให้เห็นการขาดมาตรการรองรับและหลงลืมประชากรบางกลุ่ม ทำให้ปัญหาถูกซ่อนไว้ใต้พรม และตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อพรมนั้นถูกเปิด
เช่นกันกับเรื่องการศึกษา การปรับตัวไปเรียนออนไลน์เป็นทางแก้ปัญหาที่ทำให้การศึกษาดูเหมือนจะเดินต่อได้ในสถานการณ์นี้ แต่เราทิ้งเด็กไว้กลางทางหรือเปล่า แนวทางที่มีช่วยแก้ปัญหาของเด็กได้จริงไหม
#เด็ก64 คือกลุ่มเด็กม.6 ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการก้าวข้ามจากรั้วมัธยมสู่รั้วมหาวิทยาลัย พวกเขาต้องแขวนอนาคตไว้กับความไม่แน่นอน ต้องปรับตัวและโดนซ้ำเติมอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ที่ส่งผลต่อการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย อีกครั้ง… นโยบายการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยที่ออกมาตอนนี้ คือ มีการปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย TCAS* ยุบรอบ 3 และ 4 เข้าด้วยกัน, การสละสิทธิ์ลดให้เหลือเพียง 2 ช่วง คือ รอบพอร์ตฟอลิโอและโควตา จากเดิมที่มี 4 ช่วง,
อนุญาตให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ รับสมัครสอบพอร์ตฟอลิโอและโควตาได้อย่างอิสระ และปรับข้อสอบ โดยมอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ออกข้อสอบ 7 รายวิชา
แม้จะมีเสียงจากเด็ก 64 หลายคนอยากให้เลื่อนการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยออกไปก่อน เพราะสถานการณ์ที่แย่ลง ส่งผลให้พวกเขาเตรียมตัวไม่ทัน แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนใดๆ นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ให้สัมภาษณ์กับมติชนว่า ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายเลื่อนสอบใดๆ เพราะมองว่ารัฐบาลสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ตอนนี้ได้ หากมีการเลื่อนสอบอาจส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน เช่น การเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย การจบการศึกษา เป็นต้น อีกทั้งกำหนดการเดิมที่จะเปิดรับสมัครนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม ตนมองว่าก่อนจะถึงช่วงนั้นสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น
ปัจจุบันการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในไทยใช้ระบบ TCAS หรือ Thai University Admission System ระบบกลางในการรับสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทยรูปแบบใหม่ จากเดิมที่เป็นระบบ Admission โดยจะแบ่งรอบการรับสมัคร 5 รอบ 1.รอบยื่นพอร์ตฟอลิโอ (แฟ้มสะสมผลงาน) 2.รอบโควตา 3.รอบรับตรงรวม 4.รอบแอดมินชั่น 5.รับตรงอิสระ |