- ใจหนึ่งก็ต้องการความอบอุ่นจากความสัมพันธ์ แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวว่า ความสัมพันธ์จะจบลงด้วยความเจ็บปวด จึงได้แต่บอกตัวเองว่า “ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี”
- หนังสือเรื่อง ‘ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี’ เขียนโดย โทน เทลเลอเฆิน ใช้สัตว์เป็นตัวละครดำเนินเรื่อง เป็นตัวแทนของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ มีหลายแง่มุม ที่ชวนให้เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ‘เหงา’ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
- เม่นแคระ คือตัวแทนของคนขี้เหงาที่โหยหาความสัมพันธ์จากคนอื่น แต่ขณะเดียวกัน ก็หวาดกลัวว่า หนามแหลมบนตัวจะทิ่มแทงทำร้ายผู้อื่น
ความเหงา เป็นหนึ่งในอารมณ์ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน อาจจะตั้งแต่เมื่อที่เรายังไม่วิวัฒนาการแยกตัวเองออกจากสัตว์ที่เป็นบรรพบุรุษร่วมระหว่างคนกับลิง และอาจเป็นหนึ่งในความรู้สึก ที่ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของมนุษย์ ที่สัตว์อื่นไม่มี
แน่นอนว่า สัตว์หลายชนิดที่มีพฤติกรรมเป็นสัตว์สังคม หรืออยู่รวมกันเป็นฝูง ไม่ว่าจะเป็นสิงโต หมาป่า โลมา ช้าง ม้า วัว ควาย ล้วนมีอารมณ์ที่ใกล้เคียงกับความรู้สึก ‘เหงา’ เมื่อมันถูกจับแยกออกจากฝูง ซึ่งอารมณ์นั้นอาจเริ่มจากความรู้สึกเครียด กลายเป็นความรู้สึกซึมเศร้า และอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางกายได้ในที่สุด
ถึงกระนั้น มนุษย์น่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่มีความรู้สึก ‘เหงา’ ได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางมนุษย์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมสมัยใหม่ที่เราอยู่รวมกันอย่างแออัดในสังคมเมือง ที่มีผู้คนเบียดเสียดไหล่ชนไหล่นับแสนนับล้านคน แต่ถึงกระนั้น ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง และแสนโดดเดี่ยว ก็ยังเกิดขึ้นกับใครบางคนได้
แล้วอะไรที่ทำให้ใครบางคน ซึ่งอาจเป็นคุณ หรืออาจเป็นเขา หรือกระทั่งตัวผม เกิดความรู้สึกเหงา ทั้งที่รายล้อมด้วยผู้คนมากมาย บนรถไฟฟ้า ในห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ในบ้านของเราเอง
หนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีชื่อว่า ‘ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี’ อาจไม่ได้ให้คำตอบสำหรับคำถามนี้ แต่อย่างน้อย เรื่องราวที่เหมือนนิทานสำหรับเด็กเล่มนี้ ก็มีหลายแง่มุม ที่ชวนให้เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ‘เหงา’ ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
โทน เทลเลอเฆิน (Toon Tellegen) ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ เป็นทั้งกวี นักเขียน และแพทย์ชาวดัทช์ ผลงานส่วนใหญ่ของเขา มีรูปแบบเหมือนนิทานสำหรับเด็ก โดยใช้สัตว์เป็นตัวละครดำเนินเรื่อง หากแต่ว่า จริงๆ แล้ว ตัวละครสัตว์เหล่านั้น คือตัวแทนของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ขณะที่เรื่องราวที่ดูเรียบง่าย และแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน กลับแฝงความหมายเชิงปรัชญาและจิตวิทยาอย่างลึกซึ้ง
ก่อนอื่น ต้องสารภาพตรงๆ ว่า ตอนที่ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นจากชั้นวางในร้านหนังสือ เพียงเพราะสะดุดตากับหน้าปกที่เป็นรูปตัวเฮดจ์ฮอก (hedgehog) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีหนามบนหลังคล้ายเม่น แต่อยู่คนละอันดับ และคนไทยเรียกในชื่อว่า ‘เม่นแคระ’
ในช่วงวัยเด็ก เม่น รวมถึงเม่นแคระ เป็นหนึ่งในสัตว์ตัวโปรดของผม ด้วยความที่มีหนามแหลมอยู่บนตัว ทำให้สามารถป้องกันตัวเองจากสัตว์ดุร้ายที่มีขนาดใหญ่กว่าได้
ผมชอบคิดเอาเองว่า เม่น เป็นตัวแทนของคนใจดี ไม่ชอบเกะกะระรานใคร แต่ถ้ามีใครมารุกรานล่วงเกิน ก็จะโดนหนามทิ่มแทงไปเอง
ทว่า ในแง่มุมทางจิตวิทยา ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าเคยอ่านเจอมาจากที่ไหน บอกไว้ว่า เม่น คือตัวแทนของคนประเภทหนึ่ง คนที่มีโลกส่วนตัวสูง แม้ว่าอาจจะเปิดรับความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ แต่ก็จะมีระดับ หรือเส้นแบ่งกั้นไม่ให้ความสัมพันธ์นั้น ลึกซึ้งหรือแน่นแฟ้นเกินไป
ไม่ต่างอะไรจากหนามแหลมบนตัว ที่อาจทิ่มแทง แม้กระทั่งคนที่อ้าแขนกว้างเพื่อโอบกอด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ผมอดคิดไม่ได้ว่า เม่นแคระที่ตัวเอกของเรื่อง ‘ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี’ ของ โทน เทลเลอเฆิน คือตัวแทนของคนประเภทนั้น คนขี้เหงาที่โหยหาความสัมพันธ์จากคนอื่น แต่ขณะเดียวกัน ก็หวาดกลัวว่า หนามแหลมบนตัวจะทิ่มแทงทำร้ายผู้อื่น
ใจหนึ่งก็ต้องการความอบอุ่นจากความสัมพันธ์ แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวว่า ความสัมพันธ์จะจบลงด้วยความเจ็บปวด จึงได้แต่บอกตัวเองว่า “ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี”
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นหนังสือขายดิบขายดีในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมที่ได้ชื่อว่า เต็มไปด้วยผู้คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนในเมืองใหญ่ เมืองที่ผู้คนแออัดยัดเยียดเป็นปลากระป๋องบนรถไฟฟ้า ทว่า ต่างคนต่างรู้สึกอ้างว้างจนเหน็บหนาวในหัวใจ
“การอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ฉันอยากกอด ทั้งเม่นแคระ กอดใครสักคน และกอดตัวเอง ฉันค้นพบแล้วว่า ความเหงานั้นช่างอบอุ่นยิ่งนัก”
หน้าปกรูปเม่นแคระ ทำให้ผมตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แต่ข้อความของโยโกะ ฮารุมัตสึ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ที่อยู่บนหลังปกหนังสือเล่มนี้ คือ สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้ เริ่มต้นเรื่องด้วยถ้อยคำง่ายๆ ว่า
“วันหนึ่งในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง เม่นแคระนั่งอยู่ที่หน้าต่าง และจ้องมองออกไปข้างนอก เขาอยู่เพียงลำพัง ไม่เคยมีใครมาเยี่ยมเขาเลย…”
เม่นแคระ นึกขึ้นได้ว่า การที่ยังไม่มีสัตว์ตัวไหนมาเยี่ยมเขาเลย อาจเป็นเพราะเขาเองต่างหาก ที่ไม่เคยเอ่ยปากชักชวนให้ใครมาเยี่ยม เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว เม่นแคระจึงเขียนจดหมายเชิญสัตว์ทุกตัวให้มาเยี่ยมเยียน
ทว่า หลังจากเขียนเสร็จแล้ว เม่นแคระตัดสินใจว่า ยังไม่ใช่เวลาอันควรที่จะส่งจดหมายฉบับนี้ ว่าแล้ว ก็นั่งครุ่นคิดจินตนาการถึงสถานการณ์อันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น หากสัตว์แต่ละชนิดมาเยี่ยมบ้านของมัน
ไม่ว่าจะเป็น แรด ที่พุ่งชนทุกสิ่งทุกอย่าง ทำลายข้าวของทุกชิ้นในบ้านของเม่นแคระ ก่อนจะจากไปอย่างอารมณ์ดี หรือเจ้าหมีจอมตะกละ ที่เข้ามาเพียงเพื่อกินทุกอย่างในบ้านของเม่นแคระ เมื่อไม่เหลืออะไรให้กินอีกแล้ว เจ้าหมีจึงจากไปเพื่อไปเยี่ยมเยียนสัตว์ตัวอื่นต่อ
นอกจากนี้ ยังมีอีกาปากร้ายที่มาพร้อมถ้อยคำเสียดสี ประชดประชัน ปั่นหัว จนเจ้าของบ้านอย่างเม่นแคระต้องเป็นฝ่ายรู้สึกผิด ไหนจะกุ้งก้ามกราม จอมอันธพาล ที่ชอบทำร้ายร่างกายคนอื่น โดยไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น นอกเสียจากว่า แค่พอใจอยากจะทำ
เราจะเห็นได้ว่า สัตว์ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวแทนของคนประเภทต่างๆ ที่ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงานที่เห็นแก่ตัว ลุงป้าข้างบ้าน ที่ชอบพูดจาว่าร้าย อันธพาลในโรงเรียนตอนวัยเด็ก ที่ชอบแกล้งทำร้ายคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล หรือแม้แต่คนที่เราไม่รู้จักในโลกโซเชียล ที่พร้อมจะเข้ามาปั่นหัวให้เรารู้สึกเฟล ด้วยคอมเมนต์แย่ๆ
ไม่แปลกที่เม่นแคระ จะเริ่มลังเลว่า จริงๆ แล้ว มันควรจะส่งจดหมายเชิญเพื่อนๆ สัตว์เหล่านี้ให้มาเยี่ยมบ้าน หรือจริงๆ แล้ว มันควรจะอยู่ลำพังคนเดียวอย่างสบายใจ แม้ว่าจะรู้สึกเหงาบ้างก็ตาม
และไม่แปลกที่ผู้คนจำนวนมาก จะรู้สึกลังเลว่า จริงๆ แล้ว เขาหรือเธอควรเปิดใจโอบรับความสัมพันธ์กับผู้คน ที่จะเข้ามาในรูปแบบต่างๆ หรือจริงๆ แล้ว เขาหรือเธอควรปิดตัวเองอยู่ลำพังคนเดียวอย่างสบายใจ แม้ว่าจะรู้สึกอ้างว้างบ้างก็ตาม
เรื่องราวของเม่นแคระชวนให้เรานึกถึงคนประเภทอินโทรเวิร์ต (Introvert) ซึ่งเป็นลักษณะบุคลิกภาพของคนที่มีโลกส่วนตัวสูง พอใจกับการอยู่ลำพังคนเดียว และให้ความสำคัญกับอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง มากกว่าการออกไปพบเจอผู้คนในโลกภายนอก
ตรงกันข้ามกับคนประเภทเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) ซึ่งเป็นลักษณะบุคลิกภาพของคนที่ไม่ชอบอยู่คนเดียว สนุกสนานกับการออกไปพบเจอผู้คน ได้ทำลองทำอะไรใหม่ๆ และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า คนที่มีบุคลิกแบบอินโทรเวิร์ต จะต้องเป็นคนเงียบๆ ขี้อาย ไม่ค่อยพูดค่อยจากับคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้ว อินโทรเวิร์ตหลายคน เป็นคนร่าเริง พูดคุยกับคนอื่นได้อย่างสนุกสนาน หากเพียงแต่เขาหรือเธอ เลือกที่จะสนุกสนานกับเพื่อนแค่บางคน ไม่ใช่กับทุกๆ คน
นอกจากนี้แล้ว อินโทรเวิร์ต ยังสามารถออกไปเฮฮากับเพื่อนกลุ่มที่ตัวเองสนิท เพียงแต่ว่า เขาหรือเธอจะรู้สึกว่าต้องใช้พลังไปมากในการทำเช่นนั้น ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ใช่มนุษย์สายปาร์ตี้ ที่พร้อมจะไปเฮฮาได้ทุกสุดสัปดาห์
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมหลายๆ อย่างของเม่นแคระ อาจชวนให้สงสัยว่า มันอาจไม่ได้เป็นแค่อินโทรเวิร์ต หากแต่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหวาดกลัวสังคม ซึ่งในทางการแพทย์ใช้คำว่า SAD ที่ย่อมาจาก Social Anxiet Disorder
ผู้ป่วยที่มีอาการ SAD จะรู้สึกประหม่า ไม่สบายใจ อึดอัด เป็นกังวล จนถึงขั้นเครียดมาก เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกจ้องมองโดยผู้คนจำนวนมาก เช่น การพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก การนำเสนอผลงานในที่ประชุม หรือการพูดคุยกับคนแปลกหน้า
แน่นอน อาการประหม่า พูดจาตะกุกตะกัก มือไม้สั่น เวลาต้องอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก เป็นเรื่องปกติธรรมที่ใครๆ ก็เป็นกันได้ และก็จะหายไปหากได้มีการซักซ้อมจนเกิดความมั่นใจ ตรงข้ามกับคนที่เข้าข่ายผู้ป่วย SAD จะมีอาการเหล่านี้ทุกครั้ง และส่งผลกระทบอย่างยิ่งทางจิตใจ จนกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือ กลายเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem)
อย่างไรก็ดี โรคหวาดกลัวสังคม เป็นสิ่งที่สามารถรักษาได้ ด้วยการปรับทัศนคติ รวมถึงการได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างที่เข้าอกเข้าใจ
ในตอนท้ายๆ ของเรื่อง เม่นแคระ ซึ่งคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเอง รวมถึงหนามแหลมของตัวเอง คือ สิ่งที่น่ารังเกียจ และเป็นสาเหตุทำให้ไม่มีสัตว์ตัวไหนอยากมาเยี่ยม จึงเตรียมเขียนจดหมายอีกฉบับ เพื่อบอกกับสัตว์ทุกตัวว่า
“ฉันไม่น่าคบ ฉันมีหนาม ฉันไม่เคยรู้ว่าจะคุยเรื่องอะไร… ตัวฉันไม่มีอะไรดีเลย ฉันไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง เพราะฉะนั้น อย่ามาเลย”
แน่นอนว่า หนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักอ่าน ทั้งวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่เล่มนี้ ไม่ได้จบแบบหดหู่และสิ้นหวัง สุดท้าย เม่นแคระได้พบกับกระรอก ที่แวะมาเยี่ยมถึงในบ้าน และเป็นการเยี่ยมเยียนที่น่าประทับใจ แม้ว่าทั้งคู่จะแทบไม่ได้คุยกันเลย แต่ต่างฝ่ายต่างก็พึงใจกับการอยู่เงียบๆ เคียงข้างกันในบ้านหลังเล็กของเม่นแคระ
และท้ายสุด นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า…
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือเป็นคนแบบไหน เป็นเม่นแคระ เป็นอินโทรเวิร์ต หรือแม้กระทั่งคนที่หวาดกลัวสังคม จงยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น คุณไม่จำเป็นต้องสูญเสียความเป็นตัวเองเพื่อใคร
คุณไม่จำเป็นต้องถอดหนามของตัวเองทิ้งไป เพียงเพื่อจะได้ความใกล้ชิดจากคนอื่น เพราะในป่าแห่งนี้ ยังมีคนแบบกระรอก ที่สามารถทำให้หัวใจคุณอบอุ่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามากอด