- เมื่อเด็กๆ ขึ้นชั้นมัธยม พ่อแม่สามารถเริ่มระบุขอบเขตการใช้เงิน โดยให้เงินรายวันหรือรายสัปดาห์ในอัตราที่สมเหตุสมผลเพื่อเปิดทางให้เด็กๆ จัดสรรปันส่วนเงินที่ได้มาอย่างอิสระ โดยที่ผู้ปกครองอาจคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญ คือ อย่านำเรื่องเงินค่าขนมมาผูกกับการทำงานบ้าน เพราะงานบ้านคือความรับผิดชอบของทุกคน
- ช่วงที่ลูกเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงาน ผู้ปกครองสามารถให้คำแนะนำทางการเงินพวกเขาได้แบบห่างๆ เช่น เตือนว่าอย่าใช้เงินจนเกลี้ยงบัญชี ให้มีเงินออมสำหรับกรณีฉุกเฉินบ้างอย่างน้อย 1 เดือนก็ยังดี หรืออย่าเพิ่งรีบซื้อของชิ้นใหญ่โดยการใช้เครดิตจากแหล่งต่างๆ เพราะอาจนำไปสู่ความยุ่งยากในอนาคตหากใช้จ่ายเกินตัว
- การออมที่ดีที่สุด คือ การออมแบบอัตโนมัติ เพราะนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า การเห็นเงินถูกหักจากบัญชีเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด และทางที่ดีก็ควรใช้ระบบหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อเป็นการบังคับตัวเอง
ผมเชื่อเสมอว่าการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินไม่มีคำว่าสาย หากเป็นไปได้ก็ควรเรียนรู้ให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะจัดการการเงินของตนเองในวันนี้ ก็ยังดีกว่ารู้จักจัดการเงินในวันพรุ่งนี้
แม้ว่าพ่อแม่หลายบ้านจะเลี้ยงดูลูกๆ ราวเจ้าชายหรือเจ้าหญิงตัวน้อยในบ้านที่ได้ทุกอย่างเมื่อชี้นิ้วแสดงความต้องการ ยังไม่สายเกินไปที่จะตั้งหลักกันใหม่เมื่อเด็กๆ ขึ้นชั้นมัธยมซึ่งเป็นวัยที่เข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากการ ‘จำกัด’ ทรัพยากรที่เคยได้รับอย่างไร้ขอบเขตเป็นการให้เงินรายวันหรือรายสัปดาห์ในอัตราที่สมเหตุสมผลเพื่อเปิดทางให้เด็กๆ จัดสรรปันส่วนเงินที่ได้มาโดยที่เราคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และสามารถเก็บออมในอนาคต
วัยมัธยม เริ่มจัดการเงินด้วยตนเอง
- เรื่องเงินต้องชัดเจนและคงเส้นคงวา
เมื่อตัดสินใจจะให้เงินรายวันหรือรายสัปดาห์แก่เด็กๆ พ่อแม่จะต้องว่าเงินที่เจ้าตัวเล็กได้สำหรับไปโรงเรียนแต่ละวันหรือสัปดาห์ครอบคลุมค่าอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหารกลางวัน การเดินทาง ค่าขนมขบเคี้ยว หรือเวลาที่ลูกจะซื้อของขวัญให้เพื่อนก็ต้องควักกระเป๋าเงินของตัวเอง ขณะที่พ่อแม่ยังดูแลค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน และค่าใช้จ่ายเวลาไปเที่ยวด้วยกันวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนของบางอย่าง เช่น ของเล่นราคาแพงที่ลูกอยากได้มากๆ ก็อาจต้องให้ลูกมีส่วนร่วมจ่าย
การขีดเส้นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันจะง่ายขึ้นมากถ้าพ่อแม่คุยกับลูกอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มให้เงินเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน แต่ละบ้านสามารถกำหนดขอบเขตการใช้จ่ายขึ้นมาเองได้ไม่มีแบบไหนที่ถูกหรือผิด สิ่งสำคัญคือความคงเส้นคงวา ทั้งเรื่องความสม่ำเสมอในการให้เงินค่าขนม ยอดเงินในแต่ละวัน รวมถึงเส้นแบ่งที่ไม่ควรยืดหยุ่นมากเกินไปจนลูกๆ ไม่ได้เรียนรู้บริหารจัดการเงิน
- งานบ้านก็คืองานบ้าน ไม่เกี่ยวกับการให้เงินค่าขนม
ผู้อ่านหลายคนคงเคยผ่านตางานวิจัยว่า การช่วยทำงานบ้านจะเป็นการสอนให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบและเรียนรู้ที่จะช่วยเหลืองานของส่วนรวม พ่อแม่จำนวนไม่น้อยจึงตัดสินใจผูกการทำงานบ้านกับการให้เงินค่าขนม วันดีคืนดีที่เจ้าตัวเล็กขี้เกียจกวาดบ้านถูบ้าน เอาขยะไปทิ้ง หรือรดน้ำต้นไม้ ก็จะต้องเจอกับคำขู่ว่าจะไม่ให้เงินค่าขนม
นี่คือสิ่งที่ผมไม่แนะนำให้ทำ เว้นแต่ว่าคุณอยากต่อรองเรื่องเงินๆ ทองๆ ทุกครั้งที่เรียกลูกสาวลูกชายให้ช่วยล้างจาน
งานบ้านเป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนต้องทำซึ่งไม่ควรเอาไปปะปนกับการทำงานเพื่อหารายได้ การผูกเรื่องเงินค่าขนมกับงานบ้านหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์อาจส่งผลที่ไม่คาดฝัน เพราะบางครั้งเด็กๆ อาจยอมเสียเงินค่าขนมไปหนึ่งวันเพื่อแลกกับการนอนขี้เกียจไม่ต้องทำงานบ้าน หรือเถลไถลกลับบ้านดึกกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ทางที่ดีพ่อแม่ควรหามาตรการอื่นมากำกับดูแลพฤติกรรมลูกโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน
- ให้อำนาจตัดสินใจ
เมื่อพ่อแม่วางระบบที่ชัดเจนและให้เงินค่าขนมอย่างสม่ำเสมอก็ควรให้อิสระในการบริหารจัดการแก่ลูกๆ ด้วย โดยเราอาจมีข้อห้ามพื้นฐานบางอย่าง เช่น ห้ามซื้อปืนของเล่น ลิปสติก เกมส์หรือภาพยนตร์ที่ยังไม่ถึงวัยอันเหมาะควร นอกจากนี้เราก็ให้คำแนะนำได้บ้าง แต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเด็กๆ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กเรียนรู้ว่าควรบริหารจัดการเงินอย่างไร อีกทั้งลิ้มรสความทุกข์ใจเมื่อเจอของที่อยากได้มากๆ แต่ไม่มีเงินในกระเป๋า
อย่างเดียวที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้ควบคุมการใช้จ่ายของลูกได้ คือ ยอดเงินค่าขนมที่จะให้ในแต่ละวัน ซึ่งพ่อแม่อาจถามจากเพื่อนๆ ผู้ปกครองว่าสมัยนี้ควรให้วันละเท่าไหร่ พิจารณาประกอบกับงบประมาณที่มีในกระเป๋าตัวเอง และพูดคุยกับลูกอย่างใกล้ชิดว่าเงินที่ให้แต่ละวันเพียงพอหรือเปล่าเพื่อปรับตามความเหมาะสม
- เก็บออมเพื่ออนาคต
เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษา พ่อแม่ควรบอกกับลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าเขาโตพอที่จะเก็บออมเงินและช่วยค่าใช้จ่ายบางส่วนหากต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัย แม้จะไม่มากก็ยังดีโดยมีการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าหากเด็กๆ มีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเล่าเรียน ค่าหอพัก หรือค่าอุปกรณ์การเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็อาจเพราะเด็กๆ รู้สึกว่าตนต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่าย ทำให้ต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเงินที่เสียไปให้ได้มากที่สุด
นอกจากการเก็บออมเพื่อการศึกษา เด็กในวัยนี้ก็ย่อมมีสิ่งของฟุ่มเฟือยที่อยากได้เป็นธรรมดา อาจเป็นเครื่องดนตรีราคาแพง เป็นรองเท้ากีฬายี่ห้อโปรด หรือเสื้อผ้าชุดสวยสำหรับใส่ไปงานโรงเรียน แน่นอนว่าพ่อแม่ไม่ควรห้ามลูกๆ ซื้อของตามความฝัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องบอกอย่างชัดเจนว่าเด็กๆ ต้องเก็บออมและร่วมจ่าย โดยพ่อแม่จะช่วยสนับสนุนให้บางส่วนเท่านั้น
วัยมหาวิทยาลัย – เริ่มทำงาน ถึงเวลาเผชิญโลกความเป็นจริง
- อย่าใช้เงินจนเกลี้ยงบัญชี ควรมีไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินบ้าง
เตือนลูกๆ ของคุณเสมอว่าวันไหนที่เงินไม่เหลือในบัญชี ความไม่สะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกลายเป็นหายนะทางการเงิน ดังนั้นควรเก็บออมเงินบางส่วนเอาไว้บ้างเผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างน้อยให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสัก 6 เดือน หรือถ้ามันยากเกินไปก็อาจเริ่มแค่สัก 1 เดือนก็ยังดี
แน่นอนครับว่าคุณลูกๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานหาเงินอาจออกอาการกระฟัดกระเฟียดที่พ่อแม่มาเร่งรัดให้ออมเงินก้อนใหญ่ ทั้งที่เงินเดือนก็น้อย งานก็หนัก ค่าเช่าห้องก็แพง ค่าอาหารก็ต้องจ่าย จนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเหลือเงินเก็บ แต่จังหวะนี้แหละครับที่เราต้องอธิบายว่าเงินออมนั้นสำคัญแค่ไหน ลูกอาจเริ่มด้วยเดือนละ 500 บาท 1,000 บาท เก็บหอมรอมริบไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นเงินก้อนสำหรับเหตุฉุกเฉิน พร้อมสำทับว่าวันนี้ลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว อย่าหวังพึ่งพาแต่พ่อแม่ในวันที่มีปัญหาทางการเงิน
- อย่าใจร้อนซื้อของชิ้นใหญ่
ผมยังจำได้ดีสมัยที่เริ่มทำงานใหม่ๆ รสชาติของเงินเดือนก้อนแรกที่โอนเข้าบัญชีทำให้รู้สึกเป็นอิสระ มองไปทางไหนก็มีแต่ของน่าใช้น่าซื้อไปเสียหมด เด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อยหลงระเริงกับอำนาจในมือและตกเป็นเหยื่อบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ติดอยู่ในวังวนหนี้กว่าจะล้มลุกคลุกคลานออกมาได้ก็ใช้เวลานาน กระทั่งเครดิตบูโรของไทยเองยังเตือนถึงระดับการก่อหนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ของคนรุ่นใหม่
แม้จะดูล้าสมัยไปเสียหน่อย แต่ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่พ่อแม่จะเตือนลูกๆ ว่าอย่าเพิ่งใจร้อนซื้อของชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊คสุดลื่นสุดแรง โทรทัศน์ใหญ่ยักษ์ กระเป๋าแบรนด์แนม โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเรือธงที่เพิ่งเปิดตัว หรือควักกระเป๋าไปดาวน์ซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไว้ขับขี่ ทางที่ดีควรออมเงินไว้สักก้อนหนึ่งก่อนแล้วค่อยซื้อเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ปวดหัวกับสารพัดหนี้สินในภายหลัง
- ออมแบบอัตโนมัติ
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมรู้ดีว่าการมองเงินถูกหักออกจากบัญชีเพื่อนำไปเก็บออมเป็นเรื่องเจ็บปวดเพียงใด จึงไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์ปุถุชนมักขอผัดผ่อนกับตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ‘เดือนหน้าค่อยเริ่มออม’ แต่เดือนที่ว่าก็ไม่เคยเดินทางมาถึงสักที เพราะเวลามีเงินในบัญชี เราก็จะมีเรื่องให้ใช้จ่ายเงินอย่างสม่ำเสมอ (ไม่รู้ทำไม!)
คำแนะนำที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนการออมให้เป็นเรื่องอัตโนมัติ หากลูกของคุณทำบริษัทขนาดใหญ่ก็จะมีทางเลือกให้หักเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบอัตโนมัติ พ่อแม่ควรแนะนำให้หักมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเงินดังกล่าวจะตรงดิ่งไปยังบัญชีเงินออมโดยไม่ต้องเห็นตัวเลขติดลบให้เจ็บปวดใจ
นอกจากนี้ เราสามารถแนะนำบริการหักบัญชีอัตโนมัติสำหรับออมเงิน เช่น เงินฝากปลอดภาษีที่นอกจากจะได้รับดอกเบี้ยสูงเป็นพิเศษแบบไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว เงินฝากประเภทนี้จะบังคับให้เราออมเงินทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน ส่วนใครมองว่าเงินฝากผลตอบแทนต่ำไป การลงทุนในสารพัดกองทุนก็มีบริการหักเงินอัตโนมัติรายเดือนเช่นกัน บางแห่งยังมีจัดพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติโดยสามารถระบุระดับความเสี่ยงที่ต้องการได้อีกด้วย การออมเงินอัตโนมัติแบบรายเดือนนี้ หลายแห่งเริ่มต้นเพียงเดือนละ 500 บาทเท่านั้นซึ่งคงไม่เกินกำลังแม้ว่าลูกๆ ของคุณจะเพิ่งเริ่มทำงาน
จะเห็นว่าการคุยเรื่องการออมเงินระหว่างเด็กโตกับเด็กเล็กต่างกันพอสมควร ในช่วงวัยเรียนรู้ เราต้องเน้นปลูกฝังอุปนิสัยให้ประหยัดอดออมและหนุนเสริมให้พวกเขาอดทนรอเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่เมื่อลูกโตพอที่จะจัดการเงินด้วยตนเอง พ่อแม่ก็ควรเริ่มพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา อะไรบ้างที่เด็กๆ จะต้องอดออมเพื่อซื้อเอง อะไรบ้างที่พ่อแม่จะช่วยจ่าย เพื่อเตรียมพร้อมให้เขาจัดการเงินเองได้เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ไม่ต้องมาขอให้พ่อแม่ช่วยแก้ปัญหาทุกครั้งที่เจออุปสรรคทางการเงิน