อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้วเพิ่มขึ้น The Potential คุยกับ นพ.สุริยเดว ทริปาตี ผู้ออกแบบเครื่องมือฟังเสียงเด็ก หรือการสำรวจทุนชีวิต 15 ปี กับกว่า 1 แสนตัวอย่างของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ทุนชีวิตของเด็ก ซึ่งประกอบด้วย บ้าน โรงเรียน ชุมชน เพื่อน และตัวตน อ่อนแอลงในทุกๆ ด้าน “เสียงสะท้อนของเด็กคือ เขาไม่มีความสุข ไม่ได้มีความรู้สึกดีกับตัวเอง ไม่มีความรู้สึกดีต่อบ้าน ชุมชน โรงเรียนและเพื่อน” ซึ่งการที่ทุนชีวิตอ่อนแอและบกพร่องนี้คือสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ
“ไม่มีดอกไม้ดอกไหนไม่อยากผลิบาน” …เด็กๆ ก็เช่นเดียวกัน คงไม่มีเด็กคนไหนไม่อยากเปล่งประกาย หรือต้องกลายเป็นตัวร้ายในสายตาของคนอื่น
และไม่ว่าจะดอกไม้หรือเด็กคนหนึ่ง เมื่อมีรอยด่างพร้อยเกิดขึ้น สิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามมากกว่าเพ่งโทษ คือ เขาเติบโตจากดิน น้ำ และรากแบบไหน?
“สิ่งที่หมอค้นพบคือ ระบบนิเวศของเด็กป่วยซะยิ่งกว่าตัวเด็ก ระบบนิเวศของเด็กอาการหนักกว่าตัวเด็ก” รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวจากประสบการณ์ของกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์วัยรุ่น และผู้ดูแลงานวิจัยชุด ‘ทุนชีวิต’ ซึ่งเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้ระบบนิเวศที่แวดล้อมเด็ก 5 ด้านเป็นตัวชี้วัดได้แก่ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังชุมชน พลังเพื่อนและกิจกรรม
“ตอนนั้นมันไม่มีเครื่องมือในการฟังเสียงเด็ก หมอก็เลยพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาเป็นการฟังเสียงด้านบวก ว่าเขารู้สึกดีหรือไม่อย่างไร โดยหมอถอดหัสออกมาเป็น 5 พลังตามระบบนิเวศ คือ บ้าน ชุมชน โรงเรียน เพื่อน และสุดท้ายคือ พลังตัวตนของตัวเอง หมอใช้คำว่า ถ้ามีทุนชีวิตที่แข็งแรงมันจะมีพลังบวกสูงมาก”
15 ปี กับกว่า 1 แสนตัวอย่างของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน ข้อค้นพบที่น่าจะทำให้เห็นเค้าลางบางประการของปัญหาเด็กและเยาวชนกับความรุนแรง ก็คือ ทุนชีวิตของเด็ก อ่อนแอลงเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้าน
สำรวจทุนชีวิต เครื่องมือฟังเสียงเด็ก
“ทุนชีวิตในความหมายของหมอ คือ มิติทางสังคมล้วนๆ เลยนะครับ”
นพ.สุริยเดว เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบงานวิจัยชุดนี้ว่ามาจากการลงพื้นที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และเห็นความจำเป็นว่าประเทศไทยต้องสร้าง ‘เครื่องมือฟังเสียงเด็ก’
“คุณรู้ไหมเวลาที่ดูภาพตัดขวางของสมอง ก่อการดีหรือก่อการร้ายมันมาจากมิติคิดของสมองทั้งนั้นเลยนะ ซึ่งมันแบ่งออกมาเป็นสมองสามส่วน คือ สมองส่วนสัญชาตญาณ หรือชื่อเล่นๆ ทางการแพทย์เรียกว่า Reptilian Brain ความหมายก็คือสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน มนุษย์เรามีไว้ดำรงชีพ กิน นอน หายใจ สัญญาณชีพอยู่ตรงนี้ ซึ่งตัวเฮียก็มี
แต่มนุษย์เราเพิ่มขึ้นไปอีกคือ สมองส่วนที่สอง คือ สมองส่วนอารมณ์ ซึ่งส่วนนี้พลังมันเยอะ มันซ่อนอยู่ข้างใน เขาเรียก Limbic System คนจะเสพติดอะไรทั้งหลายมาจากฤทธิ์ของในสมองส่วนอารมณ์ล้วนๆ สร้างความพึงพอใจอะไรต่างๆ แล้วสมองส่วนนี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี ตัวเฮียไม่มี
แต่มนุษย์เราเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างคือ ‘เบรกเกอร์’ พลังทุนชีวิตคือทั้งกำปั้น (ตัวตน ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ชุมชน) ความหมายคืออีก 4 นิ้วนี้ช่วยเป็นตัวเบรกเกอร์ให้กับสมองส่วนอารมณ์ คลี่ 5 นิ้วนี้ออกมาจึงกลายเป็นทุนชีวิตคือตัวเอง ซึ่งพลังมันเยอะ แล้วมีบ้านชุมชนโรงเรียนและเพื่อนเป็นตัวเบรกเกอร์ ถ้าพลังทุนชีวิตดี กำปั้นนี้จะกลายเป็น ‘กำปั้นพลังบวก’
ถ้าพูดถึงเด็กก็จะกลายเป็นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งอันนี้หมอพัฒนาเป็นเครื่องมือฟังเสียง เวลาเราใช้คำว่าฟังเสียงเด็ก แสดงว่าคนสะท้อนเสียงนี้เป็นเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ ไม่ใช่หมอคิด”
สำหรับการออกแบบชุดคำถาม นพ.สุริยเดว บอกว่าใช้เวลาหลายปีในการวิเคราะห์ครอบครัวในบริบทแบบไทยๆ จนได้คำถามง่ายๆ ที่สามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเด็กได้
“ยกตัวอย่างเช่น การเป็นต้นแบบที่ดี เด็กสามารถสะท้อนได้เลยว่าฉันมีผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี เขาควรจะใช้ Positive Family Communication ขอโทษที่ใช้ภาษาอังกฤษ ความหมายคือเขาต้องมีปิยวาจาใช่ไหม แสดงว่ามันก็จะมีข้อคำถาม ถามว่า ‘ฉันมีผู้ปกครองที่ปรึกษาได้ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่’ ‘ฉันมีพ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้’ อย่างนี้ ‘ฉันรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่อเข้าบ้าน’ อันนี้เซฟตี้เลยว่าทุกครั้งที่ฉันเข้าบ้าน ฉันรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ฉันปรึกษาได้ ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ฉันพูดคุยกับพ่อแม่ได้แม้เรื่องสื่อ เพราะสื่อตอนนั้นก็มาแรง เอากรณีศึกษามาเหลาความคิดกับพ่อแม่ ฉันสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ อันนี้คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัว
ในชุมชนก็มีนะ ‘ฉันรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่ออยู่ในชุมชน’ ‘ฉันมีพี่ป้าน้าอาที่เป็นแบบอย่างที่ดี’ หรือ ‘ฉันเห็นชุมชนของฉันให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน’ ‘ฉันมีโอกาสในการแบ่งปันน้ำใจให้กับเพื่อนบ้าน’ อย่างนี้ ‘ฉันมีเพื่อนบ้านคอยให้กำลังใจกันและกัน’
แม้กระทั่งพลังตัวตน ‘ฉันพูดความจริงเสมอถึงแม้บางครั้งจะทำได้ยาก’ ‘ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า’ ‘ฉันมีเป้าหมายในชีวิต’ ‘ฉันเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันเอง’ ‘ฉันกล้าคิดกล้าพูดกล้าเสนอความคิดเห็นแม้ความคิดเห็นฉันจะต่างกับผู้อื่น’
ตัวชี้วัดในลักษณะนี้มันกลายเป็นเครื่องมือในการฟัง และทั้งหมดจะถูกถอดรหัสออกมาเป็น ‘ทุนชีวิต’ ซึ่งภาษาอังกฤษหมอใช้คำว่า ‘Life Assets’ เป็นเครื่องมือวัดพลังบวกผ่านระบบนิเวศ ไม่ใช่ Development Assets”
ส้มทั้งประเทศ เด็กไทยต้นทุนต่ำ
นับจากจุดตั้งต้นในการออกแบบเครื่องมือฟังเสียงเด็กในปี 2552 นพ.สุริยเดว บอกว่ามีการเก็บข้อมูลมาเป็นระยะ คือในปี 2554, 2556, 2560, 2562 และตั้งแต่ปี 2564-66 เก็บข้อมูลทุกปี โดยคำตอบของเด็กๆ จะถูกนำมาแบ่งเป็น 4 สี, สีเขียว คือดีมาก, สีเหลือง ถือว่าดี, สีส้ม เริ่มส่งสัญญาณเตือน, ส่วนสีแดง เข้าขั้นมีปัญหา ซึ่งตลอดระยะเวลา 15 ปี เมื่อนำสีต่างๆ มาพล็อตลงบนแผนที่ประเทศไทย ภาพที่ปรากฎ ต้องบอกว่าน่ากังวลใจทีเดียว
“ปีแรกที่หมอเก็บทั่วประเทศ ปี 2552 ไม่มีพื้นที่ไหนสีแดงครับ แต่ไม่มีพื้นที่ไหนสีเขียว เราก็เริ่มประหลาดใจ ทุกพลังไม่มีอันไหนสีเขียวเลย ทั้งบ้าน ชุมชนโรงเรียน เพื่อน และตัวเองด้วย ไม่มีขึ้นสีเขียว แต่มีสเกลได้เปรียบ ต้องใช้คำว่าฐานที่มั่นได้เปรียบ คือบ้านหรือครอบครัว พอปี 2554 หลายพลังมันเหมือนเดินบันไดลงมา หมอเริ่มเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี
ในปี 2562 ก่อนโควิด 19 ระบาด รู้ไหมทุนชีวิตมันสะท้อนเสียงสัญญาณแดงทั้งประเทศแล้วนะ มาจากอะไรรู้ไหม พลังชุมชนตกต่ำกว่า 60% แสดงว่าความรู้สึกเด็กที่มีต่อชุมชนมันห่างหายไป แสดงว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้น ชุมชนไม่เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง แล้วยิ่งพอมาดูช่วงที่โควิดระบาดและหลังโควิด โอ้โห ยิ่งตกลงไปอีก ประเด็นใหญ่คือพลังชุมชนอ่อนหมดเลยทั้งประเทศไทย
แต่พอเอาทุกพลังมารวมความกัน สีส้มทั้งประเทศเลยครับ ส่วนภาคกลางและกรุงเทพมหานครแดงทุกพลัง แปลว่าเสียงสะท้อนของเด็กคือ เขาไม่มีความสุข ไม่ได้มีความรู้สึกดีกับตัวเอง ไม่มีความรู้สึกดีต่อบ้าน ชุมชน โรงเรียนและเพื่อน”
ยิ่งเมื่อปรับโฟกัสเข้ามาที่ครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ใกล้ตัวเด็ก ยิ่งพบสัญญาณอันตราย
“ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะบูลลี่หรืออะไรทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ มันจะไปเป็นสีแดง อย่าลืมว่านี่คือเสียงของเด็กว่าเขารู้สึกปลอดภัยไหมในโรงเรียน เขามีครูเป็นแบบอย่างที่ดีไหม เขาอยากเรียนให้ได้ดีโดยไม่เอาเปรียบผู้อื่น อะไรเหล่านี้มันอยู่ในข้อคำถามที่เด็กเป็นคนตอบ”
เด็กมีปัญหา ระบบนิเวศมีปัญหากว่า
เมื่อเด็กคนหนึ่งตกอยู่ในวงจรของความรุนแรง ไม่ว่าจะในฐานะผู้กระทำหรือผู้ถูกระทำ สิ่งที่สังคมต้องขยายภาพให้ชัดคือ มือที่มองเห็นและมองไม่เห็น ที่ทั้งโอบอุ้มและผลักไสเด็กคนนั้น ซึ่งในนิยามของ นพ.สุริยเดว นั่นคือ ‘ทุนชีวิต’ หรือระบบนิเวศที่แวดล้อมตัวเด็ก
“วันนี้สิ่งที่หมอค้นพบคือ ระบบนิเวศของเด็กป่วยซะยิ่งกว่าตัวเด็ก ระบบนิเวศของเด็กอาการหนักกว่าตัวเด็ก หมอใช้งานวิจัยตอบทั้งนั้นไม่ใช่คิดเอาเอง รวมทั้งการที่หมอเป็นหมอเองด้วยแล้วมีโอกาสตรวจคนไข้วัยรุ่น
หมอจะเปรียบเทียบให้ฟังว่า 100 เคสที่มาพบหมอ เราพบว่าครึ่งหนึ่งนั้นหมอรักษาคนที่พามา คือพ่อแม่ และอีก 25% ตามไปซ่อมคนส่งมาก็คือครู แสดงว่า 75% ของเด็กที่ส่งมาว่าเป็น ‘เด็กมีปัญหา’ นั้น 75% คือบริวารของเด็กที่มีปัญหามากกว่าตัวเด็ก บางรายต้องส่งบริวารไปพบจิตแพทย์ผู้ใหญ่ มาด้วยเด็กแท้ๆ แต่คนได้ยากลับบ้านคือผู้ใหญ่ เพราะอาการหนักเกินเด็ก เหตุและปัจจัยที่มาจากตัวเด็กจริงๆ คือ 25% อันนี้เป็นข้อค้นพบที่หมอเห็น”
“เหตุที่กำลังเกิดขึ้นบนความรุนแรง ไม่ว่ากรณีกราดยิง หรือกรณีของป้าคนหนึ่งที่ถูกเยาวชนทำร้ายจนเสียชีวิตไปเมื่อเร็วๆ นี้ ย้อนกลับไปดูจะเห็นเลยว่าบ้านไม่เป็นบ้าน แต่นอกจากสมมติฐานของผู้ใหญ่ที่ชอบพูดกันว่า ถ้าบ้านอยู่ในสภาวะยากลำบาก บ้านเป็นครอบครัวหย่าร้าง พ่อแม่มีการศึกษาน้อย พวกนี้เลี้ยงลูกมีความเสี่ยง เสี่ยงยาเสพติด เสี่ยงอะไรสารพัด หมอล้มสมมติฐานนี้ด้วยงานวิจัยของหมอว่า มีข้อที่ 4 เพิ่มคือ ‘เลี้ยงลูกมีทุนชีวิตต่ำ’ เป็นบ้านที่มีการศึกษา พ่อแม่อยู่ด้วยกันไม่ได้หย่าร้าง แล้วก็ร่ำรวยคือมีฐานะ แต่เงื่อนไขคือเลี้ยงลูกให้มีทุนชีวิตต่ำ
คะแนนทุนชีวิตที่ต่ำนั้นพร้อมจะมีพฤติกรรมเสี่ยง อย่าว่าแต่ความรุนแรงเลย ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาพ่อแม่วัยใส ทุกปัญหาที่กำลังระดมเกิดขึ้นในประเทศไทยบนวาระแห่งสารพัดชาติที่กำลังเกิดขึ้นนี้ หมอบอกให้เลยว่ามันมาจากรากเหง้าของทุนชีวิตที่อ่อนแอหมดเลย
เพราะฉะนั้นเวลาหมอตอบคำถาม หมอจึงตอบได้ชัดเจนว่า ระบบนิเวศมันป่วยซะยิ่งกว่าตัวเด็ก ทีนี้พอระบบนิเวศป่วย ทุนชีวิตอ่อนแอ พลังบวกมันดรอปลงไปเนี่ยพฤติกรรมเสี่ยงมันจะออกมาทันทีเลย เด็กก็ก่อเหตุก่อการได้หมด เพราะฉะนั้นหมอแทบจะอธิบายได้เลยว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น มันเกิดขึ้นบนทุนชีวิตที่กำลังอ่อนแอและบกพร่องครับ”
ทุนชีวิตอ่อนแอ ความรุนแรงเพิ่มขึ้น
“หมอไม่ได้โทษจุดใดจุดหนึ่ง แต่หมอกำลังสะท้อนว่า ทุนชีวิตมันกำลังอ่อนแอ” ในขณะที่ปัจจัยยั่วยวนเพิ่มขึ้น คือจริงๆ ปัจจัยยั่วยวนมันก็มีมาอยู่เดิม แต่มันเพิ่มขึ้น มันมาแบบประเภท Exponential Curve เพราะมันมีโซเชียลมีเดีย มันมีโลกแห่งไซเบอร์” นพ.สุริยเดว ชี้ถึงปัจจัยที่ซ้ำเติมความรุนแรงในเด็กและเยาวชน
“สมัยก่อนเพื่อนแกล้งเพื่อนมีไหม มันก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่มันไม่ได้ลงยูทูบ ไม่มีทวิตเตอร์ (X) ก็อยู่เฉพาะในห้องนั้นใช่ไหม อย่างมากที่สุดอาจจะมีเพื่อนข้างห้องที่รู้แค่นั้น แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ ฉะนั้นปัจจัยยั่วยวนมันมีตัวคูณเข้าไป ในขณะที่ปัจจัยเกื้อหนุน หรือเบรกเกอร์ไว้เบรกอารมณ์ได้มันอ่อนแบบตกเหว
ยกตัวอย่างบ้านไม่เป็นบ้าน วันนี้พ่อแม่ไม่เหลือเวลา อย่ามาพูดเพียงแต่ว่าเพราะเรายากจน ‘โน’ ขนาดร่ำรวย บ้านอยู่ด้วยกันแท้ๆ ก็เป็นแค่หลังคาบ้านอาศัยอยู่ด้วยกัน พ่อแม่ลูกต่างคนก็ต่างก้มหน้าดูโซเชียลมีเดียของตัวเอง พ่ออยู่ที่ห้องทำงานแม่อยู่ที่ห้องครัวแล้วลูกก็อยู่ห้องส่วนตัว ต่างคนก็ต่างมีพื้นที่ของตัวเอง สื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดีย ปัจจัยเกื้อหนุนแย่ลงไปเยอะ
แถมไม่พอนะ ‘สื่อสารพร้อมบวก’ ไม่ใช่ ‘สื่อสารพลังบวก’ พร้อมบวกกันเลย ภายในบ้าน สังเกตได้จากอะไร อันที่ชัดมากที่สุดของโลกใบนี้เลย ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาประเทศไทยนะ เป็นปัญหาของโลก อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นตอนโควิด 19 อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ แล้วอัตราการหย่าร้างมันเกี่ยวอะไร ก็เพราะเริ่มเห็นสันดาน เริ่มเห็นธาตุแท้ของกันและกัน ชัดเลย
แต่ก่อนเขารักษาระยะห่าง ไปทำงานกลับมาเจอกันไม่กี่ชั่วโมงก็เข้านอนแล้ว สมมุติไม่ถูกคอ เคมีไม่ตรงกัน เช้าก็รีบๆ ต่างคนต่างออกไปทำมาหากิน ถูกไหม เสาร์-อาทิตย์ ถ้าเกิดพ่อบ้านเครียดมากนักก็ไปตีกอล์ฟ ไปทำกิจกรรม หายตัว อันนี้บังเอิญเขาให้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ คือมันไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนในโลกนะ ที่ล็อกทุกคนไว้อยู่ในกล่องเดียวกัน แล้วมาอยู่ร่วมกัน ทีนี้ธาตุแท้มันออกสิว่าเราจะพูดยังไง
นี่แหละเป็นเหตุผลที่ทำให้ ศูนย์คุณธรรมต้องออก ‘โครงการหนึ่งหัวใจ’ หนึ่งเรื่องเลยคือ ‘ครอบครัวพลังบวก’ ไม่ใช่พร้อมบวกนะ แล้วหนึ่งใน Hot Issue ที่เป็นประเด็นของประเทศคือ ‘วิธีการสื่อสารกันภายในบ้าน’ ไม่น่าเชื่อนะว่านี่ขนาดปัจจัยเกื้อหนุนให้อยู่ด้วยกันแท้ๆ แต่กลับพร้อมบวกกัน”
ปลดล็อกความรุนแรง เริ่มต้นที่บ้านและโรงเรียน
เมื่อเหตุปัจจัยคือเงามืดที่อยู่ข้างหลังเด็ก ทางออกของปัญหาก็น่าจะอยู่ที่การทำให้ทุกอย่างสว่างขึ้น ซึ่งในองค์ประกอบของทุนชีวิตทั้ง 5 นพ.สุริยเดวขอให้เร่งแก้ไข 2 ระบบนิเวศที่ใกล้ชิดตัวเด็กอย่าง ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
“สมมติว่าชุมชนไม่เป็นชุมชนแล้ว เราควบคุมชุมชนไม่ได้ ขอ 2 ระบบนิเวศได้ไหม บ้านกับโรงเรียน เมื่อลูกกลับมาบ้าน บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย แม้ชุมชนข้างนอก ออกรั้วบ้านไป โอ้โห…มันเละเทะ แต่บ้านมันเป็นที่ close เด็ก ที่พ่อแม่ก็เป็นต้นแบบที่ดี แล้วใช้ความรักความอบอุ่น และต้องไม่สำลักความรักด้วยนะ โปรดเข้าใจด้วยนะ เพราะการเลี้ยงลูกจนสำลักความรักก็มีปัญหา
พูดง่ายๆ คือร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน มีการเหลาความคิด มีการจัดการแบบคลุกวงใน เป็นครอบครัวหัวใจประชาธิปไตยที่สร้างการมีส่วนร่วม ฟังเสียงเด็ก ฟังเสียงซึ่งกันและกัน ทุกคนรักใคร่กลมเกลียว สามารถจัดการอารมณ์ได้ และพ่อแม่เองก็เป็นต้นแบบที่ดี เวลามีความเครียด โมโห ลูกก็เห็นอยู่ว่าพ่อเครียดเป็น พ่อโมโหเป็น แต่พ่อมีวิธีการจัดการความเครียด เป็นตัวอย่างให้เห็นภายในบ้าน แล้วประพฤติปฏิบัติดีภายในบ้าน พ่อกับแม่รักกันดี อย่างนี้หมอไม่ค่อยเห็นว่าจะทำให้ลูกไปก่อการอะไรข้างนอกนะ แถมมอนิเตอร์กำกับติดตามด้วย”
เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญของการทำให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย คุณหมอยกตัวอย่างข้อคำถามในงานวิจัยที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางได้ เช่น เวลาลูกเจอความเครียด ลูกก็มาคุยกับพ่อแม่ได้ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ หรือการมีผู้ใหญ่คนอื่นที่สามารถปรึกษาได้ (Non-parental Model) เพราะบางเรื่องเด็กอาจไม่อยากเล่าให้พ่อแม่ฟัง
“พวกนี้ถือเป็นพลังทุนชีวิตหมดเลย มันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวนะ แต่หมายถึงวิถีชีวิตที่กำลังดำเนินไปวันต่อวันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ซึ่งที่โรงเรียน โรงเรียนก็ต้องมีการจัดการ มีการบริหารความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ปกครองกับครู อย่างเรื่องการบูลลี่ ถ้าบ้านกับโรงเรียนทำงานกันดีๆ ป้องกันได้ มีระบบช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งระบบพวกนี้มีนะในประเทศไทย ไม่ใช่ไม่มี แต่มันไม่ถูกปัดฝุ่นออกมาใช้ให้มันเข้มแข็งและเอาจริงเอาจัง
แล้วแถมมีชมรมเพื่อน ในการเป็นพื้นที่ปล่อยของ ปล่อยของดีๆ นะ ไม่ใช่ปล่อยของเสีย สมัยหมอเด็กๆ เลิกเรียนยังไปเตะฟุตบอล ยังไป After School อะไรต่างๆ แล้วมีชมรมให้เพียบเลย เดี๋ยวนี้มันมีแค่ 2 ชอยส์ฮะ ตกลงไปเรียนแล้วไปกวดวิชา หรือเรียนแล้วไปนั่งเล่นเกม มันไม่เหลือแม้กระทั่งคำว่าชมรมกีฬาอะไรทั้งหลาย มันเหลือพื้นที่น้อยลงไปมาก
แต่ถ้าเราจัดการแค่ 2 ระบบนิเวศนี้ให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัย หมอว่ามันจะช่วยเด็กไปได้เกินครึ่ง ปัญหาทั้งหมดนี้จะเบาบางไปทันที”
ผนึกกำลังออกแบบระบบเฝ้าระวังการบูลลี่
นอกจากคืนทุนชีวิตแตะเบรกความรุนแรงในเด็กและเยาวชนแล้ว การช่วยเหลือเด็กๆ ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย อย่าง ‘การกลั่นแกล้งรังแก’หรือ บูลลี่ (Bully) ก็เป็นที่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ
“วิธีคิดคือมีใครบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคมในรั้วโงเรียน หนึ่ง มีเด็กเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องใช่ไหม สอง มีครูใช่ไหม สาม ก็คือมีผู้ปกครอง เราใช้ สามส่วนนี้ ผนึกกำลังแล้วออกแบบ และเมื่อสามส่วนนี้เป็นทรัพยากรมนุษย์ และที่สำคัญบูลลี่นี้ส่งผลกระทบไปที่ตัวเด็ก เสียงของเด็กจึงเป็นเสียงสวรรค์ เสียงที่สำคัญที่สุด
ทีนี้จะเริ่มต้นอย่างไรก็คือ ‘ฟังเสียงเด็ก’ และฟังอะไร ก็ฟังว่าเขากำลังเดือดร้อนกับการบูลลี่ใช่ไหม บูลลี่มีกี่แบบ บูลลี่ทางกาย ลงไม้ลงมือกันเลย บูลลี่ทางเพศ Sexual bully บูลลี่ทางไซเบอร์ก็มี Cyber bully แล้วก็ประเภท Social Sanction อย่างเช่นเพื่อนเทหมด อันนี้ส่งผลทางด้านจิตใจอารมณ์และสังคม
ถ้ามันมีหมวดใหญ่ๆ ในลักษณะนี้ เราตั้งคำถามถามเด็กได้ไหมว่า พฤติกรรมการกระทำหรือคำพูดอะไร เอาแค่ 3 ประเด็นก็ได้ ที่ลูกไม่อยากได้ยินเลยในรั้วโรงเรียน ไม่อยากเห็นเลย แล้วสำรวจทั้งโรงเรียนของเราผ่านเด็กทั้งหลาย แน่นอนเขาตอบแค่ 3 แต่สมมติสำรวจมา 3,000 จะรู้เลยว่าอะไรเป็นประเด็นร่วม อาจจะได้ 4-5 ประเด็น แล้วนำ 4-5 ประเด็นนี้มาทำบูลลี่โปรแกรมในรั้วโรงเรียน
ทีนี้พอจะทำบูลลี่โปรแกรม ใครจะเข้ามาเป็นกองกำลังในการช่วยกันบ้าง ก็ออกแบบโดยการให้เพื่อนในดวงใจ ครูในดวงใจ หรือผู้ปกครองที่เป็นจิตอาสา มาเป็นกองกำลังร่วม ครูที่อยู่ในดวงใจอาจไม่จำเป็นต้องเป็นครูแนะแนวหรือครูจิตวิทยาก็ได้ จะเป็นครูเคมีฟิสิกส์ชีวะคณิต แต่บังเอิญจริตให้ นึกออกไหม เป็นครูใจดีที่เด็กนึกถึงเวลามีปัญหา
ผอ.จะรู้ทันทีเลยว่า เรามีกองกำลังพลังบวกอยู่ในรั้วโรงเรียนสักประมาณไหน และมีประเด็นอะไรบ้างที่น่าห่วงใย แล้วดึงกองกำลังเหล่านี้มาออกแบบร่วมกัน จะสร้างพลังการมีส่วนร่วมขึ้นมาทันทีเลยครับ โดยไม่จำเป็นต้องรอกระทรวงสั่ง
ถ้าฟังเสียงจริงจากเด็กๆ นะ เขารู้ครับว่าในรั้วโรงเรียนมันเกิดอะไรขึ้น แล้วแต่ละโรงเรียนจะไม่เหมือนกันด้วย เพราะเราไม่รู้เลยว่าบริบทของโรงเรียนนี้กับเพื่อนที่แกล้งกันนี่มันคืออะไร แล้วกรุณาอย่าให้เขาเปิดเผยชื่อ ช่วยกันออกแบบให้เป็น ‘ระบบเฝ้าระวัง’ ใช้กลไกของโรงเรียน เช่น เพื่อนช่วยเพื่อน รุ่นพี่กับรุ่นน้องเป็นบัดดี้กัน ครูทั้งครูจิตวิทยาและมีครูที่อยู่ในดวงใจของเด็กๆ ช่วยดูแล
เรื่องบางเรื่องเอากรณีศึกษาเข้ามาถกกัน การป้องกันการบูลลี่ เช่น Cyber Bully แทนที่เราจะเอากรณีที่เกิดขึ้นกับเพื่อนของเรา เราล้างชื่อเพื่อนออก เราเอาแต่ประเด็นพฤติกรรมมาตั้งบนโต๊ะ แล้วลองระดมสมองกันสิ เราจะแก้ปัญหานี้ยังไง หรือถ้ายังคิดไม่ออกก็ไปเอากรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในบ้านในเมือง ในข่าวที่เกิดขึ้นแล้วมาลองวิเคราะห์กันสิ ว่าถ้าเป็นเรา เราจะแก้ปัญหากันยังไง
ถ้าสมมุติมันเกิดกระบวนการนี้ขึ้นมานะ เชื่อไหมครับมันจะเกิด Anti-Bully Program ทั้งบ้านทั้งเมืองเลย โดยไม่ต้องรอคำสั่งข้างบน โดยไม่ต้องรอโมเดล ซึ่งหมอบอกว่ามัน ‘ป่าช้า’ เกินไป หมอคิดว่ารอทำไม ทรัพยากรมีอยู่กับมือที่จะสามารถทำได้ดี นี่ยิ่งถ้าคณะกรรมการขาดตกบกพร่องอะไรนะ คณะกรรมการสถานศึกษามีไปทำไม แล้วยังมีนอกรั้วโรงเรียนที่มีชุมชนล้อมรอบ ถ้าเราทำเกราะกำบังดีๆ นะ ดีไม่ดีชุมชนล้อมรอบเองเขาจะมาเป็นระบบเฝ้าระวังให้เราอีก”
นพ.สุริยเดวย้ำว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ Anti-Bully Program ได้ผลก็คือ ‘การฟังเสียงเด็ก’ ทั้งเด็กผู้ถูกกระทำและเด็กที่ก่อความรุนแรง
“มันมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เราต้องเข้าใจว่า พอเขาเป็นผู้แพ้ แพ้ซ้ำซากและแถมโดนเพื่อนล้อซ้ำซาก Self มันพัง เวลาที่ Self มันพัง แล้วบวกกับทุนชีวิต บ้านไม่เป็นบ้าน โรงเรียนก็ไม่เป็นโรงเรียน เขาพร้อมจะก่อการได้ทุกอย่างเลยนะ เพราะ Self มันพังไปหมดแล้ว
ยิ่งถูก aroused (กระตุ้น) ขึ้นมา หรือถูกเพื่อนยั่วยุแทนที่จะห้าม ด้วยความที่ Self มันพังไปหมดแล้ว เขาก็ลุกขึ้นมาก่อการก่อเหตุอย่างที่เป็นข่าวได้
เวลา Self มันพังไปหมดแล้ว มันเหมือนชีวิตที่พังทลายลงแล้ว ถ้าจะปั้นมันขึ้นมาใหม่ ระบบนิเวศจะเป็นตัวที่สำคัญที่สุดที่จะตอบ ไม่ใช่กฎหมาย เพราะถ้าเอากฎหมายมา ไอ้เด็กแก๊งค์ซิ่งมอเตอร์ไซค์ไม่ใช่ไม่รู้กฎหมาย ไม่ใช่ไม่รู้ความเสี่ยง เอาเขามานั่งคุยตัวต่อตัว ไม่ใช่เขาไม่รู้หรอกว่าพฤติกรรมที่กำลังทำอยู่เสี่ยงชีวิต อาจจะตายได้คอขาดแขนขาดได้ ไม่ใช่ไม่รู้ครับ ทฤษฎีรู้แต่ทำไมยังทำ เพราะต้องการยอมรับในหมู่เพื่อน พอ Self มันพัง เขาต้องการการยอมรับในหมู่เพื่อน แล้วเราใช้ ‘พื้นที่ที่ดีให้เป็นการ Build Self’ ไม่ได้เหรอ ต้องรอให้มันเกิดเหตุอย่างนี้ไปอีกเท่าไหร่ หรือจะให้สร้าง Self บนสิ่งที่เป็นซากปรักหักพัง มันไม่ใช่”
แก้เหตุและปัจจัย กฎหมายแค่ปลายทาง
ทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงจากการกระทำของเด็กและเยาวชน สังคมมักชี้นิ้วไปที่ ‘กฎหมาย’ ว่าไม่สามารถป้องปรามการกระทำผิดของเด็กได้ เรื่องนี้ นพ.สุริยเดวเองก็ถูกถามความเห็นอยู่บ่อยครั้งว่าควรจะแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษหรือไม่
“จริงๆ ทุกอย่างมันมีเหตุและปัจจัยของมัน แต่เราไม่เคยไปแก้เหตุและปัจจัย เพราะเรามองแต่ว่าจะต้องลงโทษเด็ก เอากฎหมายมา กฎหมายเอาให้เข้ม ถ้าถามว่า “หมอจะแก้กฎหมายไหม” หมอบอก “แก้” เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กมีมาตั้งแต่ 2546 ประมาณ 20 ปีมาแล้ว ตอนนี้แค่นิยามคำว่า ‘เด็ก’ ใน พรบ.คุ้มครองเด็ก กับในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดี ศาลคดีเด็กเยาวชนและครอบครัวกลางนั้น นิยามคำว่าเด็กและเยาวชนสองอันนี้ไม่เหมือนกัน เอาแค่นิยามนะ แล้วมาดูนิยามทางจิตวิทยา ก็ไม่เหมือนกันกับในนั้นอีก ไปปรับจูนกันให้มันเข้าที่เข้าทางกันหน่อยได้ไหม
อันที่สอง กฎหมายจำเป็นจะต้องไปเข้มกับระบบนิเวศร่วมด้วย ระบบนิเวศในความหมายของหมอคืออะไร เช่น พ่อแม่ พ่อแม่ที่ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะเลย เข้าโรงเรียนพ่อแม่ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะ อันนี้ไม่มีปัญหา พ่อแม่ที่มีความรู้มีทักษะและขี้เกียจเลี้ยงลูก อันนี้กฎหมายจะเข้ามาเข้มไหม เช่น ลูกคุณออกไป 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม คุณไม่รู้เลยเหรอว่าเขาไปทำอะไร เอามอเตอร์ไซค์ไปซิ่งอย่างนี้ คุณไม่รู้เลยเหรอว่าเขาเอาไปไหน แล้วอย่างนี้พ่อแม่จะรับผิดชอบยังไง กฎหมายจะต้องไปเข้มไหมกับ Parenting Style แบบนี้
หรือกรณีพ่อแม่ที่รู้อยู่ว่าทารุณกรรมลูกตัวเอง วันๆ เมาเหล้าติดการพนัน โอ้โหมันมีเต็มเลย แล้วลูกอยู่กับครอบครัวในลักษณะนี้ได้ยังไง กระทรวงพ่อแม่จะทำงานไหม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดึงเด็กออกมา กฎหมายจำเป็นต้อง Revise (แก้ไขปรับปรุง) พวกนี้นะ ถ้าเราไม่ทำ ความรุนแรงจะบานเป็นดอกเห็ด เรายังจะมีพฤติกรรมเสี่ยงอีกเพียบ เพราะว่าบ้านไม่เป็นบ้าน โรงเรียนก็ไม่เป็นโรงเรียนที่ดี เพราะเราใช้ระบบแพ้คัดออก คัดเด็กจำนวนหนึ่ง แล้วภูมิใจอยู่แค่ Top of the Iceberg แค่กลุ่มที่เป็นเด็กเลี้ยงง่าย แล้วก็เข้าสู่สายพานได้ แล้วเราก็พอใจกับเด็กที่อยู่ในสายพาน แต่เด็กที่หลุดจากสายพาน เราไม่สน หมอว่านี่ไม่ใช่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการต้อง keep เด็กทั้งระบบ ไม่ได้ keep แค่เด็กกลุ่มเดียวครับ”
“ดังนั้น ยกเลิกระบบแพ้คัดออกในชั้นเด็กเล็กได้ไหม ประถมก็ไม่ต้องมีเกรด เอาสมรรถนะเข้า แล้วเรียนรู้บน Skills for your Life ไม่ใช่ Life Skills นะ Skills for your Life ความหมายคือ มี Life Skills, มี Living Skills, Literacy Skills, Career Skills อย่าลืมนะสมรรถนะหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น ทำให้เกิดขึ้น อยู่เป็น อยู่ร่วมกับสังคมได้”
ระบบแพ้คัดออก กร่อนเด็กให้เปราะบาง
“ระบบการศึกษาที่เป็นแบบแพ้คัดออก มันกำลังสร้างสังคมที่เปราะบาง บน BANI World เพราะมันเป็นระบบที่ต้องมีเด็กแพ้ซ้ำซาก แพ้แล้วแพ้อีก
แพ้ในการสอบเข้าโรงเรียนไม่พอ แพ้ในห้อง เพราะทุกอย่างว่ากันด้วยเกรด แพ้แล้วแพ้อีก แพ้ซ้ำซากจนเกิดความวิตกกังวล แล้วกลายไปเป็นภาวะซึมเศร้าจนคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งวัยรุ่นทุกวันนี้ของเราฆ่าตัวตาย 2 รายต่อวัน ขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่เหมือนกัน หมอว่าเราประมาทกับเรื่องนี้ไม่ได้”
เพื่อออกจากความเสี่ยงนี้ นพ.สุริยเดว ชวนย้อนกลับไปเติมอีกหนึ่งในทุนชีวิตของเด็กที่สำคัญ นั่นคือ ‘ตัวตน’ (Self)
“ จริงๆ ก็ทำได้ไม่ยาก แต่ทุกวันนี้ที่มันหลุดจากจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ไปเนี่ย เพราะครอบครัวมันไม่เป็นครอบครัว คือเวลาเราบอกว่าจะสร้าง Self ไปสร้างที่ไหน มันก็ต้องสร้างในระบบนิเวศที่ตัวเองอาศัยอยู่ สร้างในบ้าน พ่อแม่เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น พูดคุยกัน ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความก้าวร้าว คุยกันได้ พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี เปิดพื้นที่ให้ลูกได้มีโอกาสสร้าง Self ของตัวเอง
แต่มันยากตรงไหนรู้ไหม ทุกวันนี้ก็คือบ้านมันไม่เป็นบ้าน แล้วจิตสำนึกของผู้ใหญ่ไม่เปิด หมอใช้คำว่าเป็น Fixed Mindset แบบมันไม่เป็น Open คือแม้แต่ตัวพ่อแม่เองก็รับคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ว่าตกลงฉันไม่ดีตรงไหน เขาไม่ได้ก้มลงมองดูตัวเองนะ ผู้ใหญ่ทุกวันนี้ไม่ได้ก้มลงมองดูตัวเองเลยว่า ตัวเองนั้นกำลังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหรือไม่
ถามว่าการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เป็นองค์ประกอบในการสร้าง Self อย่างไร สมมุติว่าหมออยากจะให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ แน่นอนหมอก็ต้องมีอารมณ์ แต่ตอนที่หมอมีอารมณ์นั้น หมอมีวิธีการสะท้อนอารมณ์แล้วจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร และกลับมาคุยกับลูกตอนสติดีๆ อย่างไร ที่ทำให้ลูกสัมผัสได้ว่า บ้านมันไม่ได้ใช้ความรุนแรง เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้โดยไม่ต้องสอนเลยนะ เพราะเขาเห็นอยู่ว่าพ่อเขาทำยังไง
วิถีชีวิตต่างหากที่หมอคิดว่าสร้าง Self ได้หมด อันนี้หนึ่งแล้วนะคือ Open Mindset ผู้ใหญ่ก้มลงมองดูตัวเองสักหน่อย อันที่สอง เมื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองก็เปิดโอกาสให้ลูกด้วยสิ เปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาส มันไม่มีอะไรที่สำเร็จรูปตายตัวนะ ว่าถ้าเกิดคนพี่เก่งคณิตวิทย์แล้วลูกคนน้องจะต้องคณิตวิทย์ตาม ทำไมหมอถึงได้ออกมาพูดว่า ‘เด็กไม่ใช่ผ้าขาว’ เพราะหมอกำลังจะส่งสัญญาณให้กับพ่อแม่อยู่สองอย่าง หนึ่งคือ อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ เพราะถ้าท่านเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ งานนี้มีเจ็บแน่นอน สองก็คือ ยอมรับความสามารถของลูกที่หลากหลาย เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เขา เราเปิดตัวเรา เราเปิดใจเปิดพื้นที่ให้กับลูก เปิดโอกาสให้กับลูก หมอว่านี่คือวิธีการสร้าง Self แล้วนะ มันยากเหรอ
ถ้าเป็นในรั้วโรงเรียนก็ตัวครูตัวผู้บริหารก้มลงมองดูตัวเองหน่อยสิ เราเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่หรือไม่ ลูกศิษย์วิพากษ์เราได้ไหม สมมุติว่าลูกศิษย์วิพากษ์ปุ๊บ แปรงติดฝาผนังฝังดินเลย โอ้…อย่างนี้เราเองก็ Fixed Mindset ไม่เกิดครับ
อีกเรื่องหนึ่งคือ เราต้องไม่ตีตราเด็กว่าถ้าเป็นเด็กเรียนดีต้องอยู่หน้าห้อง ถ้าเป็นเด็กเรียนไม่ดีต้องไปอยู่หลังห้อง หรือเป็นเด็กนอกห้อง ถ้าเราไม่ตีตราเด็กแสดงว่าเรามีข้อที่สองแล้ว เราเปิดพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสแจ้งเกิดบนความสามารถที่หลากหลาย เราตัดเกรดทิ้ง เพราะเราจะไม่เปรียบเทียบเด็กต่อเด็กกัน เพราะมันจะได้ไม่บั่นทอนจิตใจเขา
นี่คือการสร้าง Self ของคนทั้งประเทศ มันยากตรงไหน หมอไม่เข้าใจ ไอ้ที่มันยากคือ หนึ่ง อัตตาสูง ฉันไม่ก้มลงมองดูตัวเอง แต่แกต้องทำ สอง ฉันจะไม่ฟังเสียงแก แล้วฉันไม่ให้เปิดโอกาส เพราะฉันมีชุดความคิดอยู่ว่า ทั้งหมดนี้จะต้องเรียนมาสไตล์นี้ ทั้งหมดนี้จะต้องทำงานสไตล์นี้ คือถ้าชุดความคิดมันฟิกซ์แบบนี้ และแม้กระทั่งการเปิดโอกาสก็ไม่มี Self พังครับ Self ไม่เหลือครับ เราจะมีภาวะซึมเศร้าภาวะความรุนแรง มีเด็กหลุดออกจากระบบอีกเพียบเลยครับ”
ระบบนิเวศที่ดีสำหรับเด็ก พันธกิจที่รัฐต้องจัดให้
หลังจากฉายภาพทั้งมือที่มองเห็นและมองไม่เห็นที่ผลักเด็กๆ สู่สารพัดปัญหา คำถามก็คือ แล้วเราจะออกจากวังวนที่ฉุดรั้งศักยภาพเด็กไทยไปได้อย่างไร นพ.สุริยเดว มองว่าทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาท เริ่มจากทุนแรกในชีวิตของเด็ก นั่นคือ ‘ครอบครัว’
“สำหรับครอบครัวกรณีที่ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะ ซึ่งสมัยนี้ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ตามไม่ทันจริงๆ มันมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างครอบครัวพลังบวก หมอไม่อยากใช้คำว่า ‘โรงเรียนพ่อแม่’ นะ เพราะเวลาเราพูดในลักษณะนี้จะกลายเป็นเอาพ่อแม่มาอบรมสั่งสอน ซึ่งมันผิดหลัก ไม่ใช่ แต่ความหมายของครอบครัวพลังบวกก็คือ หลายๆ ครอบครัวมาระดมสมอง มานั่งคุยกันและหา solution ที่ดี ที่ทำให้พ่อแม่ที่ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะ อัพสกิลตัวเองขึ้นมาได้ กับการเลี้ยงลูกว่าถ้าเป็นวัยรุ่นจะต้องพูดสไตล์ไหน ถ้าเป็นวัยเด็กปฐมวัยพูดสไตล์ไหน พอเกิดเหตุขึ้นมาเราจะมีวิธีแก้ยังไง มันเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน อันนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัด
สองก็คือ ถ้าพ่อแม่ขี้เกียจเลี้ยงลูก รัฐก็ต้องไป revise (ปรับปรุง)กฎหมาย เพื่อเข้มกับกรณีพ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยไม่เลี้ยงลูกตัวเอง ในต่างประเทศพ่อแม่ติดคุกเลยนะ เพราะว่าปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง แล้วลูกไปก่อการ ลูกมีปัญหาขึ้น ประเด็นที่สาม คือพ่อแม่ที่เสียโอกาส อันนี้รัฐต้องจัดสวัสดิการ มีตั้งแต่รัฐสวัสดิการไปจนถึงสังคมสวัสดิการ
ถามว่าตัวอย่างที่หมอทำในระดับสังคมสวัสดิการมีไหม มีครับ ตัวอย่างศูนย์คุณธรรมก็มีครับ คำว่า ‘สหกรณ์พ่อแม่’ หมอก็ไม่ได้พูดเล่น มันมีชุมชนที่เกิดขึ้นจริงๆ เกิดขึ้นจากพ่อแม่ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ ถ้าไม่ทำงานเสาร์-อาทิตย์จะไม่มีข้าวกิน อันนี้เสียโอกาสในการเลี้ยงลูก มีความตั้งใจนะแต่มันไม่สามารถ ถ้ากรณีอย่างนี้สังคมสวัสดิการเกิดสหกรณ์พ่อแม่ นอกจากจะดูแลลูกเราก็ดูแลลูกคนอื่นไปด้วย แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน อาจจะเข้าเวรเดือนละครั้งสองครั้ง เราอาจจะเสียรายได้ไป 2 วัน แต่การันตีได้ว่าเรามีเพื่อนบ้านช่วยกันดูแลลูก เราใส่ ‘ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน’ ที่มีทักษะ เช่น การเฝ้าระวัง การส่งต่อขอความช่วยเหลือ การพูดคุยกับลูกต่างวัยกัน พวกนี้หมอทำเป็นหนังสือที่ชาวบ้านอ่านได้รู้เรื่อง มีวิธีง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้ทันที กระบวนการแบบนี้เราก็ทำในสังคมสวัสดิการได้
พ่อแม่ประเภทที่สี่ คือประเภทที่ไม่สมควรเป็นพ่อแม่ กฎหมายจำเป็นจะต้องให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐ แล้วสร้าง ‘ระบบเฝ้าระวัง’ ถ้ามีการรายงานว่าพบเด็กถูกกระทำหรือมีความเสี่ยง ให้สหวิชาชีพลง แล้วถ้าเป็นจริงต้องกันลูกออกครับ เพราะว่าไม่อย่างนั้นลูกจะเสีย อยู่กับพ่อแม่ที่วันๆ เมาเหล้า เล่นการพนัน หรือข่มขืนทารุณกรรมลูก ไม่ไหวนะอย่างนี้
ถัดจากครอบครัว มาดูเรื่องโรงเรียน กล้าๆ หน่อยได้ไหมกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิก ‘ระบบแพ้คัดออก’ ในชั้นเรียนเด็กเล็กให้หมดทั้งประเทศไทย แล้วใช้ ‘หลักสูตรสมรรถนะ’ บนหลักการก็คือไม่ใช่เรียนรู้เพียงแค่ให้มีวิชาติดตัว แต่สามารถมีสัมมาชีพได้ในบริบทชุมชนท้องถิ่นซึ่งแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
โรงเรียนใส่ Bully Program ที่หมอพูดถึง เคารพให้เกียรติกันและกัน โดยใช้หลักการ Open Mindset ของตัวเราแล้วอย่าลืม Open Idea เปิดโอกาสรับฟัง เปิดโอกาสให้เขามีพื้นที่ มันก็ Build Self ของเขาขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าทำสองอันนี้ได้ ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงในเด็กหายไปครึ่งนึง เยอะแล้วนะ
เติมอีกสักนิดนึงคือ ชุมชน ‘สร้างระบบเฝ้าระวัง’ ไว้เลย มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นปุ๊บ กดปุ่มแตรสัญญาณเหมือนอัคคีภัย ให้มันรู้ไปเลยว่า ถ้าโจรเข้านี่มันจะยังจะอยู่รอดได้ยังไง เพราะมันเกิดโซเชียลแซงชั่นนึกออกไหม แล้วชุมชนก็ต้องมีพื้นที่ให้ปล่อยของ เด็กสามารถมาปล่อยของทำความดีกันได้ หมอว่าถ้านโยบายในลักษณะนี้ ระดับ Micro System ปัญหาอย่างน้อย 3 ใน 4 คงหายไป ดีขึ้นแน่นอน”
บทความที่เกี่ยวข้อง
โลกโกลาหล (BANI World) Ep1 Brittle: ในโลกที่เปราะบาง เด็กต้องไม่แตกหักด้วยทักษะความยืดหยุ่น
โลกโกลาหล (BANI World) Ep2 Anxious: ความวิตกกังวลที่หายขาดได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ
โลกโกลาหล (BANI World) Ep3 Nonlinear: ยิ่งพลิกแพลงได้ ยิ่งมั่นคง ในโลกที่ไร้เหตุผลและคาดเดาได้ยาก
โลกโกลาหล (BANI World) Ep4 Incomprehensible: คลายความไม่เข้าใจ ด้วยความโปร่งใสและสัญชาตญาณ