- น้ำหนักของความรักอาจเป็นเรื่องยากที่จะชั่งตวงวัด ความรู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันจึงเป็นปัญหาของหลายๆ บ้าน แต่สิ่งที่กรีดทับลงไปบนความรู้สึกของเด็กคือการแสดงออกของพ่อแม่ และที่ร้ายกว่านั้นคือ คำพูดเชือดเฉือน ซึ่งได้สร้างบาดแผลในใจให้กับลูกอย่างที่สุด
ผมมีความรู้สึกมาทั้งชีวิตว่าในจำนวนลูกทั้งสามคน พ่อรักผมน้อยที่สุด
แน่นอนว่าผมเคยระบายความทุกข์นี้กับใครหลายคน และเกือบทั้งหมดให้คำอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า “เพราะเธอคือลูกคนกลางไง”
แม้ว่าคำตอบนี้จะไม่ผิดจากที่คาดไว้ เพราะตัวผมเองก็พอรู้ว่าลูกคนกลางมีแนวโน้มที่จะเป็น ‘ลูกชัง’ ประจำบ้าน (มากกว่าพี่หรือน้อง) แต่ผมก็ไม่อาจสามารถปรับใจให้ยอมรับกับความอยุติธรรมนี้ได้สักครั้ง
ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ เวลาอยากได้อะไร พ่อก็ซื้อให้ผมเทียบเท่ากับพี่น้อง แต่สิ่งที่ผมไม่เคยเข้าใจเลยคือทำไมผมต้องได้สิทธิเป็นคนเลือกคนสุดท้ายหรือทำไมผมต้องยอมพี่ยอมน้องก่อนเสมอ เพราะถ้าวันนั้นไม่ใช่วันเกิด ไม่มีเลยสักครั้งที่ผมจะมีโอกาสได้เลือกของขวัญเป็นคนแรก
ยกตัวอย่างเช่น ตอนพ่อแม่ซื้อดินสอกดเพื่อเอาไปใช้เขียนหนังสือที่โรงเรียน สมัยนั้นพวกเราจะชอบอวดเครื่องเขียนต่างๆ กับเพื่อนๆ แต่ผมแทบไม่มีช่วงเวลานั้นเลย แถมยังโดนหัวเราะเอาด้วย เพราะผมได้ดินสอกดพาวเวอร์เรนเจอร์สีชมพูหวานแหววเพียงแท่งเดียว ต่างกับพี่ชายที่ได้สีแดงกับสีเขียว
ส่วนน้องสาว ผมจำได้ดีไม่ลืมว่าพ่อของผมมักสอนให้ผมใจดีเมตตาน้อง ซึ่งผมก็ยินดีเสมอ แต่ผมไม่เข้าใจว่าของเล่นบางชิ้นที่ผมรักมากๆ อย่างดาบจากการ์ตูนเรื่องธันเดอร์แคทที่ผมมักนำมากวัดแกว่งคนเดียวเพื่อต่อสู้กับปีศาจในจินตนาการ ก็ถูกพ่อยึดและไม่เคยได้คืนอีก หลังจากน้องมาขอแต่ผมไม่ให้ ซึ่งผมผิดตรงที่อาจไปผลักน้องจนร้องไห้ แต่ผมก็ไม่เข้าใจพ่ออยู่ดี แม้ว่าวันนี้ผมเองก็อยู่ในวัยที่พร้อมเป็นพ่อคนได้แล้ว
นี่เป็นเพียงเหตุการณ์เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะถึงจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ผมมักเป็นคนที่พ่อบอกหรือแจ้งเรื่องอะไรช้าที่สุดอย่างเคย ไม่ว่าจะไปเที่ยว ทำธุระสำคัญ หรือแม้แต่สอบถามสารทุกข์สุขดิบ เรียกได้ว่าผมน้อยใจสุดๆ ที่โดนกระทำราวกับเป็นคนที่ไม่สลักสำคัญอะไร
ส่วนเหตุการณ์นอกบ้าน ผมก็มักถูกมองข้ามความสำคัญเสมอ โดยเฉพาะการที่ผมต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการบูลลี่ตั้งแต่ป.5 จนถึงม.6 ในโรงเรียนเดิมกับปัญหาเดิมๆ ที่พ่อมองว่าเป็นเพราะผมเกเรบ้าง (ทั้งที่ผมติ๋มสุดๆ แต่พ่อมักมองว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งคือเด็กเกเร) หรือการกลั่นแกล้งรังแกกันเป็นเรื่องธรรมดาของทุกโรงเรียนที่ผมต้องผ่านไปให้ได้ เพราะปัญหาของผู้ใหญ่หนักหนาสาหัสกว่านี้เยอะ ซึ่งจนวันนี้ผมก็ยังไม่รู้สึกว่าปัญหาของผู้ใหญ่ที่ว่าหนักนั้นคืออะไร แล้วคำว่าหนักของพ่อกับผมมันวัดกันได้จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นปัญหาที่น้องสาวของผมโดนบูลลี่ พ่อกับแม่ไม่เคยนิ่งเฉยและมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการโทรศัพท์บอกครูประจำชั้นให้แก้ไขปัญหาให้น้อง ซึ่งใจหนึ่งผมก็ยินดีกับน้อง แต่อีกใจผมก็แหลกสลายเช่นกัน
อันที่จริงนอกจากคำพูดจากคนรอบข้างที่บอกว่า “เพราะเธอเป็นลูกคนกลางไง” อีกสิ่งที่ผมได้ยินจากเพื่อนที่รู้ใจที่สุดคือคำว่า “ที่เราเป็นทุกข์นั่นเพราะเราชอบเปรียบเทียบกับพี่น้องไง”
ที่จริงผมก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่พ่อจะใจร้ายกับผมไปทั้งหมด แต่มาตรฐานการเลี้ยงดูที่พ่อมีให้ผมมันต่ำกว่าที่พ่อมอบให้กับพี่น้องของผมจริงๆ และถึงวันนี้ผมก็ยังรู้สึกเจ็บปวดเสมอ เพราะพ่อยังคงเสมอต้นเสมอปลาย เลือกที่รักมักที่ชัง และต่อให้ผมเปิดใจจนทะลุถึงตาตุ่ม พ่อกับแม่ผมก็ชี้ว่าผมกำลังเล่นใหญ่บ้าง หรือใช้วลีอมตะที่ว่า “นิ้วยังไม่เท่ากันจะให้กูรักพวกมึงเท่ากันได้ยังไง”
ผมอยากใช้ความเจ็บปวดของผมบอกกับพ่อแม่ทุกคนว่า ไม่จำเป็นต้องรักลูกเท่ากันก็ได้ แต่ในบทบาทของการเป็นพ่อแม่ ผมอยากให้พ่อแม่เอาใจลูกมาใส่ใจเราให้มากๆ
เพราะสำหรับเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่ไม่ต่างอะไรกับพระเจ้าที่มีชีวิต ดังนั้นคำพูดและการกระทำทุกอย่างของพ่อแม่จึงเปรียบได้กับพรหรือคำสาปที่อาจส่งผลกระทบอันมหาศาลต่อลูกไปตลอดชีวิต
และอย่าลืมว่าต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัว