- การสอนของครูไม่ได้แยกจากความเชื่อที่ครูมี ในหนังสือ ‘ทุกการสอนเป็นไปได้’ โดย ชลิพา ดุลยากร เล่าถึง 30 เรื่องราวจากเหล่าครู ว่าทำอะไรบ้างในชั้นเรียน แบบไหน อย่างไร เพื่อเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนจากกรอบเดิม รวมถึงความเชื่อและชุดคุณค่าที่ครูยึดถือลงไปในระหว่างบรรทัดด้วย
- ในชั้นเรียนเรื่อง ‘สัญญาลูกผู้ชาย’ ครูหาวให้เด็กเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการทำสัญญาแบบ challenge กับครู แทนการลงโทษที่ทำให้เด็กกลัว ให้นักเรียนได้ทบทวนตัวเองและคิดหาทางแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของตัวเอง
- การสอนมาพร้อมกับการมองเห็นแบบหนึ่งในตัวมันเอง เราไม่ได้มองเพียงแค่เห็นว่าสิ่งๆ นั้นคืออะไรเท่านั้น แต่เราเห็นมันเป็นอย่างไรเสียมากกว่า และมันจะแสดงออกมาผ่านการสอนของเรา
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้กลับไปอ่านหนังสือ ‘ทุกการสอนเป็นไปได้’ ที่เขียนโดย ชลิพา ดุลยากร หรือนะโม ผู้ก่อตั้ง Inskru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนอีกครั้ง หนังสือเล่มนี้ใช้ภาษาที่อ่านง่าย สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และสั้นกระชับ ผมจึงใช้เวลาอ่านเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็จบ ความประทับใจแรกก็คงเหมือนกับใครหลายคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คือได้รับรู้ถึง 30 เรื่องราวจากเหล่าครูที่พยายามเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนของพวกเขาให้ออกไปจากกรอบเดิมๆ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ทำให้ใจฟูมากๆ
แต่เมื่อได้กลับมาอ่านซ้ำ หนังสือเล่มนี้ก็ค่อยๆ พาให้ผมได้กลับมาคิดเกี่ยวกับการสอนของครูมากขึ้น อันที่จริง ครูแต่ละคนต่างมีความเชื่อหรือชุดคุณค่าที่ยึดถือแตกต่างกันไป แน่นอนว่าชุดคุณค่าเหล่านั้นย่อมส่งผลต่อการสอนและการเป็นครูในแต่ละวันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ พูดอีกแบบ การสอนของครูไม่ได้แยกจากความเชื่อที่ครูมี หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้นำเสนอแค่ว่า ครูเหล่านี้ทำอะไรบ้างในชั้นเรียน แบบไหน อย่างไร แต่มันยังได้บรรจุความเชื่อและชุดคุณค่าที่ครูยึดถือลงไปในระหว่างบรรทัดด้วย
ในชั้นเรียนเรื่อง ‘สัญญาลูกผู้ชาย’ ครูหาวได้เลือกใช้วิธีปรับพฤติกรรมโดยให้เด็กเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการทำสัญญาแบบ challenge กับครู มากกว่าจะเป็นการลงโทษที่ทำให้เด็กกลัว ให้นักเรียนได้ทบทวนตัวเองและคิดหาทางแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของตัวเอง ครูหาวคือครูที่เคยเชื่อว่าความกลัวเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาพฤติกรรมของเด็กได้ ครูกำกับควบคุมและลงโทษเพื่อให้เขาเงียบ ฟัง และอยู่ในร่องในรอยให้ได้มากที่สุด แต่ความเปลี่ยนแปลงมาจากการสังเกตตัวเองและนักเรียนที่ต่างคนต่างไม่มีความสุขในชั้นเรียน บรรยากาศในห้องเรียนที่แสนอึดอัด เต็มไปด้วยการควบคุมและระมัดระวัง มากกว่าการเปิดใจเข้าหากัน นับตั้งแต่ครูเห็นข้อสังเกตเหล่านั้น และตามมาด้วยการปรับวิธีการ ความกลัวก็ถูกแทนที่ด้วยความเชื่อใจ
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘การบ้านที่มีความหมาย’ ครูโบว์เล่าว่า บ่อยครั้งการบ้านเป็นเพียงงานที่ต้องทำตามสั่งเพื่อให้ได้คะแนน ทำแล้วก็ส่งๆ กันไป แต่เธอเปลี่ยนการบ้านให้มีคุณค่าด้วยโปรเจกต์วิชาวิทยาศาสตร์ เธอให้เด็กแต่ละคนสวมบทบาทเป็นบริษัทก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ต้องวิเคราะห์ว่าประเทศที่จะไปลงทุนสร้างนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะอะไร? โดยให้ระยะเวลาเด็กได้สืบค้นเพื่อมาถกเถียงกัน เด็กในชั้นเรียนของครูโบว์จริงจังและสนุกไปกับสิ่งนี้ เพราะการบ้านชิ้นนี้มีความคิดเห็นของเด็กอยู่ในนั้นอย่างเต็มเปี่ยม เป็นงานที่ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง หลังจบโปรเจกต์ เด็กหญิงกลุ่มหนึ่งบอกกับครูโบว์ว่า “หนูว่าพวกหนูบ้ามากค่ะครู หาข้อมูลมาถกเถียงได้เป็นวันๆ จนลืมไปว่ามีการบ้านวิชาอื่น” เช่นเดียวกับเด็กชายคนหนึ่งที่พูดในทำนองเช่นเดียวกัน “ครูครับ ยิ่งค้นยิ่งสนุก” ประโยคจากเด็กๆ ทั้งสอง สำหรับเธอมันยังเป็นความภูมิใจที่เธอทำให้เด็กอยากจะเรียนรู้
เรา ‘เห็น’ ‘เป็น’ อย่างไร
สำหรับผมแล้ว นอกจากการสอนจะไม่ได้แยกจากคุณค่าแบบใดแบบหนึ่งที่ครูถือไว้ อย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องราวครูหาวและครูโบว์ และในอีก 28 เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น แต่คุณค่าแบบใดแบบหนึ่งยังนำมาซึ่งสายตาที่ครูจะ ‘มองเห็น’ นักเรียน ห้องเรียน โรงเรียน และสังคมที่แตกต่างกันด้วย แม้เราจะเป็นครูเหมือนกัน เข้าไปสอนในชั้นเรียนเดียวกัน แต่เมื่อคุณค่าที่เรายึดถือแตกต่างกัน นั่นก็หมายถึงการมองเห็นบางสิ่งบางอย่างก็ต่างออกไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
หากลองกลับไปที่การสอนของครูหาว การมองเห็นนักเรียนของเขามาจากมุมของความเชื่อใจและให้โอกาส นี่คือสายตาที่กำลังเห็นว่านักเรียนไม่ใช่เป็นปีศาจร้ายที่ต้องกำราบ แต่นักเรียนถูกมองเห็นผ่านสายตาของครูในฐานะคนที่เรียนรู้จากความผิดพลาดได้
นัยยะหนึ่งจึงเป็นคำถามกลับมาด้วยเช่นกันว่า เราเห็นนักเรียนของเราจากมุมมองแบบไหน (หรือจากสายตาแบบไหน? ทำไมเป็นเช่นนั้น) เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของครูโบว์ เธอเห็นการบ้านเป็นอีกความหมายซึ่งต่างไปจากสิ่งที่หลายคนคุ้นเคย บ่อยครั้งการบ้านถูกมองเห็นเป็นเสมือนตั๋วแลกคะแนน แต่ครูโบว์กลับสวมสายตาอีกแบบและมองเห็นการบ้านเป็นช่วงเวลาของการสร้างความภูมิใจและเป็นเจ้าของร่วมให้กับเด็กได้
การสอนจึงมาพร้อมกับการมองเห็นแบบหนึ่งในตัวมันเอง เราไม่ได้มองเพียงแค่เห็นว่าสิ่งๆ นั้นคืออะไรเท่านั้น แต่เราเห็นมันเป็นอย่างไรเสียมากกว่า และมันจะแสดงออกมาผ่านการสอนของเรา เช่น การที่ครูให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรมศึกษา (multicultural education) ระยะการมองเห็นของครูต่อนักเรียนที่อยู่ตรงหน้าก็อาจไม่ใช่แค่ว่าเขาชื่ออะไร เกรดเท่าไหร่ แต่รวมไปถึงเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น ร่วมด้วย (อ่านต่อได้ที่ ห้องเรียนที่ ‘เห็น’ นักเรียนตรงหน้ามากกว่าชื่อที่ปักบนอกเสื้อ) ที่นำมาซึ่งคำถามต่อการสอนของครูว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรให้เป็นธรรม
ในหนังสือ ‘สังคมศึกษาทะลุกะลา’ เรื่องราวของครูทิวต่อชั้นเรียนของเขาได้วางอยู่บนการมองเห็นที่มีระยะไปไกลกว่าเพียงชั้นเรียน แต่คือการมองเห็นเพื่อนร่วมสังคมที่ไม่ใช่เพียงผู้คนเดินผ่านไปมา แต่คือการสวมเลนส์ของอยุติธรรมลงไป และพาให้ครูทิวเห็นว่าใครบางคนกำลังถูกกีดกันและกดขี่ การมองเห็นของครูทิวได้นับรวมเอาสิ่งที่ถูกมองข้ามหรือถูกเห็นอย่างเลือนลางเข้ามาสู่บทเรียน ผ่านการสอน ‘สังคมศึกษาเพื่อความเป็นธรรม’
ในอีกทางหนึ่ง ยังมีนัยยะให้เราตั้งคำถามว่า ในการสอน เรามองเห็นใครบ้างในสังคมนี้ เขาและเธอถูกมองเห็นอย่างไร และเรามองเห็นเขาและเธอแบบไหน เรารู้สึกอย่างไร มันจะแปรเปลี่ยนมาสู่ชั้นเรียนหรือการเป็นครูของเราอย่างไร เช่นเดียวกันกับบท ‘สังคมศึกษาเพื่อจินตนาการใหม่’ ในเล่มเดียวกัน ครูแนนได้มองเห็นสังคมที่เป็นอยู่ไม่ต่างจากดิสโทเปีย แต่ถึงกระนั้นเธอก็นิยามห้องเรียนด้วยความหมายอีกแบบ เธอเห็นมันเป็นแหล่งบ่มเพาะความหวังและความกล้าจินตนาการถึงสังคมที่ต่างไปจากเดิม สายตาเหล่านี้จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ห้องเรียนของครูเหล่านี้แตกต่างจากห้องเรียนของครูหลายคน ที่ถูกมองเห็นเป็นเพียงสถานที่ของการชั่งตวงวัด ว่าใครเก่งหรือฉลาดกว่าใคร
การสอนคือการเลือกมองเห็น
ผมชอบประโยคหนึ่งในรีวิวของครูกุ๊กกั๊ก ร่มเกล้า ที่เขียนไว้ตอนต้นของหนังสือ ‘ทุกการสอนเป็นไปได้’ ว่า “มันปั่นป่วนอยู่ในหัวว่า เออ..ยังไม่ได้ลองทำอะไรแบบนี้เลย” นัยยะของคำถามนี้กำลังบอกกับเราว่า ครูทำงานบนความเชื่อคุณค่าบางอย่าง แต่กระนั้นความเชื่อหรือคุณค่าแบบหนึ่งๆ ก็นำมาซึ่งสายตาที่เราจะมองเห็นบางสิ่งและไม่เห็นบางสิ่งในเวลาเดียวกันด้วย
นั่นก็เพราะบ่อยครั้งเรายืนอยู่บนคุณค่าแบบหนึ่งเป็นเวลานานจนรู้สึกเป็นเรื่องปกติ และอาจหลงลืมโดยไม่ได้ตั้งใจว่า เรายังเห็นมันจากสายตาอีกแบบได้ เราเห็นมันในความหมายอื่นได้เช่นกัน
ดังนั้น การทำให้เกิดอาการ ‘ปั่นป่วน’ ผ่านการได้พบเจอเรื่องราวของครูจากชั้นเรียนที่หลากหลายจึงมีความสำคัญ ในฐานะกระจกสะท้อนให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเห็นอะไรในชั้นเรียนของเรา เราเห็นมันเป็นอย่างไร เราเห็นอะไรบ้าง และอะไรที่เรามองไม่เห็น อย่างที่สอง ผมนึกถึงสิ่งที่ Ivan Goodson* เรียกว่า ‘something new in the other’ หรือ ‘สิ่งใหม่ในคนอื่น’ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต่างได้เรียนรู้เรื่องราวจากคนอื่น มันไม่ใช่แค่รู้ว่าเขาเป็นใคร เป็นครูแบบไหน แต่อีกทางหนึ่ง มันค่อยๆ ขยายการมองเห็นของเราและเปิดทางให้กับการรับรู้และเรียนรู้ที่จะมองเห็นในแบบอื่น (จากคนอื่น) ซึ่งเป็น ‘สิ่งใหม่’ เป็นความหมายที่เราอาจไม่คุ้นชิน และหลอมหลวมเป็น ‘something of living value’ บางสิ่งที่มีคุณค่าของชีวิต นั่นคือการมีขอบฟ้าของการมองเห็นที่ต่างไปจากเดิม หรือเห็นพื้นที่เดิมด้วยสายตาที่คมชัดขึ้น เพื่อให้เราใช้มองกลับไปยังนักเรียนของเรา ห้องเรียนของเรา โรงเรียน และสังคมเรา หรือแม้กระทั่งตัวเราเองในวันรุ่งขึ้นของการสอน พร้อมกับคำตอบใหม่ๆ ของคำถามที่ว่า
เรามองเห็นอะไร?
เรามองเห็นมันเป็นอย่างไร?
ทำไมเรามองเห็นมันเป็นแบบนั้น?
มันจะนำเราไปสู่การสอนแบบไหน?
หมายเหตุ *อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ เขียนไว้ในหนังสือ Narrative Pedagogy: Life History and Learning |