Skip to content
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Transformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent Brain
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
Early childhoodFamily Psychology
14 September 2022

เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.8 ‘Perfectionism’ เมื่อลูกคาดหวังว่าตัวเองต้องสมบูรณ์แบบ

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • โรคสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) บุคคลจะมีแนวโน้มรักสะอาด จัดของเป็นระเบียบ กลัวการตัดสินใจและความผิดพลาด ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น บางคนอาจจะมีอาการย้ำคิดย้ำทำ หรือ ซึมเศร้าได้ เพราะตัวเองไม่สามารถทำได้ตามที่ตัวเองหวังไว้
  • แม้ว่าระเบียบวินัย กฎกติกา และความสะอาด ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย แต่ ‘อะไรที่มากเกินไป หรือ น้อยเกินไป สามารถส่งผลเสียได้’ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นในบางสถานการณ์ เพราะแก่นสารของวัยเยาว์ คือ ‘การเรียนรู้เพื่อเติบโต ไม่ใช่เพื่อทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ’
  • กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ระหว่างทางเขาต้องผ่านอะไรมามากมาย ทั้งทำผิด ทำพลาด ทั้งล้ม แล้วต้องลุก แต่ทุกๆ ก้าวคือการเรียนรู้  ดังนั้น ‘อย่าให้ความสมบูรณ์แบบสำคัญกว่าการเรียนรู้เพื่อเติบโต’

โรคสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) บุคคลจะมีแนวโน้มรักสะอาด จัดของเป็นระเบียบ กลัวการตัดสินใจ โลเล กลัวความผิดพลาด ไม่ยืดหยุ่น ไม่ประนีประนอม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น บางคนอาจจะมีอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder: OCD) หรือ ซึมเศร้า (Depression)  ได้ เพราะตัวเองไม่สามารถทำได้ตามที่ตัวเองหวังไว้ 

ตัวอย่างเคส: ‘เด็กหญิงผู้คาดหวังความสมบูรณ์’

เด็กหญิงวัย 5 ขวบบรรจงระบายสีในกรอบอย่างตั้งใจ ใครๆ ที่มองเธออยู่ต่างก็รู้ดีว่าเด็กหญิงทำสุดความสามารถของเธอ 

“ไม่นะมันเลอะออกนอกเส้น” เด็กหญิงหวีดสุดเสียง 

“ไม่เป็นไรหรอกลูก นิดๆ หน่อยๆ เอง หนูระบายสวยมากแล้ว” คุณแม่พยายามปลอบใจ 

“ไม่เอา หนูไม่ชอบภาพนี้แล้ว” เมื่อพูดจบประโยคดังกล่าว เด็กหญิงก็ขยำกระดาษทิ้งลงถังขยะทันที 

ย้อนมาดูเบื้องหลัง ก่อนจะเป็นเด็กหญิงในวันนี้ พ่อแม่ของเธอรักความสะอาด ชอบให้ทุกอย่างอยู่ถูกที่ถูกทาง เป็นระเบียบอยู่เสมอ เด็กหญิงเติบโตมาท่ามกลางสายตาไม้บรรทัดของพ่อแม่ เธอถูกคาดหวังให้เป็นเด็ก เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ 

เวลาเธอไปเล่นในสนามเด็กเล่น เพียงไม่กี่นาทีคุณแม่จะเรียกให้เธอมาเช็ดมือด้วย กระดาษเปียกฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ เธอถูกสั่งห้ามเดินเท้าเปล่าออกนอกบ้านโดยเด็ดขาด ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเธอทำเลอะเทอะ พ่อแม่จะรีบกรูเข้ามาทำความสะอาดตัวเธอทันที 

เด็กหญิงเรียนรู้มาโดยตลอดว่าเธอต้องเป็นระเบียบ ทุกอย่างต้องเรียบร้อย สะอาด และดูดีเสมอ นานวันเข้าจากแค่เรื่องความสะอาด และความเป็นระเบียบของข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเธอ ตอนนี้ได้ลามมาถึงชิ้นงานทุกชิ้นที่เธอทำ 

เมื่อเด็กหญิงทำผิดพลาด หรือ ทำชิ้นงานไม่ได้เป๊ะอย่างที่ใจเธอคิด เธอจะทำลายชิ้นงานนั้นทันที และอาจจะไม่กลับไปทำใหม่อีกแล้ว 

เด็กหญิงให้คุณค่ากับภายนอกที่ตาเห็นมากกว่าภายในที่ใจรู้สึก ความตั้งใจและความพยายามของเธอจะหมดค่าทันที เมื่อผลงานออกมาไม่เป็นดังหวัง

ในวัยของเด็กหญิงที่ควรจะวิ่งเล่น เล่นดิน เล่นทราย อย่างสบายใจ ระบายสีเลอะเทอะ ตามแต่จินตนาการจะนำพา ทุกวันนี้เธอกังวลว่า เสื้อผ้าของเธอจะเลอะเทอะ เท้าของเธอจะเปรอะเปื้อน มากกว่าความสนุกที่เธอควรจะได้รับ และเธอกังวลทุกครั้งที่ทำชิ้นงานศิลปะ เพราะเมื่อใดที่ระบายออกนอกกรอบ เมื่อนั้นคือการเริ่มทำแผ่นใหม่ทันที ไม่มีการ อ่อนข้อให้กับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนั้น 

เพื่อนๆ รอบตัวเด็กหญิงเริ่มถอยห่าง เพราะเธอไม่ยอมประนีประนอมกับใคร เพื่อนทำผิดเธอจะวิ่งรี่ไปฟ้องคุณครูทันที ไม่ยืดหยุ่นกับวิธีการเล่น เพราะเธอเชื่อว่า กฎก็คือกฎ 

ในช่วงแรกพ่อแม่ของเธอภูมิใจมากที่ลูกเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ และดูแลความสะอาดข้าว ของของเธอได้ดีมาก 

ยิ่งเด็กหญิงเข้าใกล้การเป็นเด็กที่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ รอยยิ้มความสดใสของวัยเยาว์ค่อยๆเลือนหายไปเท่านั้น จุดเปลี่ยนสำคัญที่พ่อแม่เริ่มตระหนักว่า ‘ลูกกำลังจะไม่เป็น เด็กอีกต่อไปแล้ว’

พ่อกับแม่เล่าว่า พาเด็กหญิงไปซื้อของเล่นเป็นของขวัญที่เธอเรียนดี พ่อแม่ให้เด็กหญิง เข้าไปเลือกของเล่นที่เธอถูกใจ แต่สิ่งที่เด็กหญิงทำคือ เธอเดินไปรอบๆ แล้วกลับมาหาพ่อกับแม่พร้อมบอกพวกเขาว่า 

“หนูไม่อยากได้ของเล่น เพราะเล่นแล้วก็ต้องมาเก็บ หนูไม่อยากเล่นด้วย ไม่รู้ของเล่นสนุกยังไง” 

เด็กหญิงไม่มีความสุขกับวัยเยาว์ของเธอ เพราะตอนนี้เธอใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับ ‘มนุษย์ ไม้บรรทัด’ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบจึงจะดีพอ แต่โลกของเราไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบหรอก ทุกอย่างมีส่วนบิดเบี้ยว ดีบ้าง แย่บ้าง ปะปนกันไป ไม่มีใครทำทุกอย่างได้ดีพร้อมตลอดเวลา 

‘ระเบียบวินัย’ เป็นโครงสร้างสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างสง่างาม กฎกติกาก็หล่อหลอมให้เด็กเคารพผู้อื่นในสังคม ความสะอาดก็มีส่วนช่วยให้เด็กๆ ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ 

อย่างไรก็ตาม ‘อะไรที่มากเกินไป หรือ น้อยเกินไป สามารถส่งผลเสียได้’ 

บางครั้งเราต้องเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นในบางสถานการณ์ เพราะบางสถานการณ์ บางสิ่งก็สำคัญกว่าผลงานที่สมบูรณ์แบบ บางสิ่งที่กล่าวถึงก็คือการได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้มนุษย์เราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้น 

เด็กก็เช่นกัน เราควรให้เขาได้เล่นเลอะเทอะบ้าง วาดภาพตามจินตนาการบ้าง ไม่ต้องระบายสีในกรอบ ไม่ต้องเขียนตัวอักษรได้ตรงเป๊ะทุกบรรทัด และไม่ต้องสมบูรณ์แบบทุกวัน เพราะแก่นสารของวัยเยาว์ คือ ‘การเรียนรู้ เพื่อเติบโต ไม่ใช่เพื่อทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ’

แนวทางลดการคาดหวังให้สมบูรณ์แบบ แต่เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเด็กๆ 

1) ให้เด็กได้ลงมือทำ

แม้จะผิดพลาดก็ไม่เป็นไร เพราะความผิดพลาดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ สอน เขาให้ยอมรับและปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อพัฒนาเติบโตต่อไป 

2) ให้เด็กได้เรียนรู้และยอมรับความแตกต่าง 

ใครที่ไม่เหมือนเขาไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี ทุกคนไม่ต้องเหมือนกันเสมอไปเพื่อจะดีพอ ทุกคนมีดีในตัว มีคุณค่าในแบบฉบับของตนเอง ทั้งนี้ตัวเขาก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครเพื่อจะดีพอ 

3) ให้ชื่นชมในความพยายามเป็นสำคัญ 

แม้ผลลัพธ์จะไม่ได้ดีเลิศเลอ แต่เมื่อชื่นชมที่ความตั้งใจและความพยายาม เด็กจะมีกำลังใจในการพัฒนาต่อไป 

4) ให้ตำหนิที่การกระทำไม่ใช่ตัวตน 

เพราะพฤติกรรมหรือการกระทำเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่ตัวตนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก 

5) ไม่ซ้ำเติมเมื่อลูกทำผิดพลาด 

เพราะคงไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรอกถ้าเลือกได้ ดังนั้นเมื่อลูกทำผิดพลาด ให้สอนเขาและเคียงข้างจนเขาแก้ปัญหานั้นได้ 

กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ระหว่างทางเขาต้องผ่านอะไรมามากมาย 

ทั้งทำผิด ทำพลาด ทั้งล้ม แล้วต้องลุก แต่ทุกๆ ก้าวคือการเรียนรู้ 

ดังนั้น ‘อย่าให้ความสมบูรณ์แบบสำคัญกว่าการเรียนรู้เพื่อเติบโต’

อ้างอิง 

Sussex Publishers. (n.d.). Perfectionism. Psychology Today.

Retrieved  August 18, 2022, from https://www.psychologytoday.com/us/basics/ perfectionism

Tags:

การเลี้ยงดูเข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไปโรคย้ำคิดย้ำทำPerfectionismความสมบูรณ์แบบสุขภาพจิตพ่อแม่ซึมเศร้า

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.9 บาดแผลของการทำผิดพลาดแล้วถูกประจานให้อับอาย

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Dear ParentsBook
    Toxic Parents: ยังไม่ต้องให้อภัยพ่อแม่ก็ได้ เผชิญหน้ากับความรู้สึกตัวเองก่อน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.2 ‘6 วิธี เปลี่ยนวิกฤตวัยทอง 2 ขวบ (Terrible 2) ให้เป็นช่วงเวลาทองแห่งการเติบโตของพ่อแม่ลูก’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Dear Parents
    ผู้ใหญ่เครียด เด็กก็เครียด: ภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ สิ่งที่คุณพ่อ-คุณแม่และเด็กๆ ควรมีในปี 2020

    เรื่อง ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ภาพ ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

  • Healing the trauma
    ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ บัว คำดี

  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel