- อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง คือภาพยนตร์จากประเทศไทยที่ได้ไปเปิดตัวในเทศกาล Locarno Film Festival ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ ของกลุ่มนักเรียนเลว
- ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวความรุนแรงในโรงเรียนที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงระเบียบวินัยที่ไม่เข้ากับยุคสมัยและการที่ธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ซึ่งล้วนแล้วแต่ฉุดรั้งให้ระบบการศึกษาไทยไปไม่ถึงไหนสักที
“ใส่กระโปรงสั้นแบบนี้จะไปยั่วผู้ชายเหรอไง”
นี่คือประโยคที่ผมฟังแล้วถึงกับสบถ หลังจากแม่เล่าให้ฟังในเช้าวันหนึ่งว่า สมัยเป็นแค่เด็กประถมเคยถูกครูฝ่ายปกครองเรียกออกมาประจานหน้าเสาธง ซึ่งเรื่องนี้ยังคงฝังใจแม่มาตลอด
แม่เล่าถึงสาเหตุที่กระโปรงสั้นกว่าระเบียบอย่างอัดอั้นว่า แม่เกิดในครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนัก ทำให้ไม่สามารถซื้อกระโปรงได้บ่อยๆ ซึ่งในวันที่ยายซื้อกระโปรงใหม่ให้แม่ดีใจมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานด้วยความที่แม่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยายจึงต้องเลาะชายกระโปรงให้ยาวขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระโปรงตัวนั้นไม่สามารถเลาะได้อีกต่อไป
แม้จะอายบ้างเวลาที่ถูกเพื่อนล้อเลียนเรื่องชายกระโปรงที่สีเข้มกว่าปกติ รวมถึงรอยเลาะที่ทั้งน่าเกลียดและมีรอยขาวๆ จากการใช้เตารีด แต่แม่บอกว่าสิ่งเหล่านี้เล็กน้อยและเทียบไม่ได้เลยกับการที่แม่ถูก ‘คุณครูฝ่ายปกครอง’ เรียกออกมายืนนอกแถว ‘ทุกเช้า’ พร้อมกับพูดดังๆ ให้แม่อับอายต่อหน้าเพื่อนเป็นประจำในทำนองว่า “ใส่กระโปรงสั้นแบบนี้จะไปยั่วผู้ชายเหรอไง” ทั้งที่แม่ของผมยังไม่ถึงวัยที่มีประจำเดือนด้วยซ้ำ
ที่สำคัญคือต่อให้แม่จะพยายามอธิบายถึงฐานะหรือขอให้ครูพิจารณารอยเลาะสุดน่าเกลียดนั้นยังไง ครูฝ่ายปกครองก็ไม่เคยรับฟังสักครั้ง แถมไม่ลดละที่จะดึงแม่ออกจากแถวมาประจานข้างเสาธงทุกวัน
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์]
อย่าอ้างระเบียบวินัยจนสร้างแผลในใจ ทำลายตัวตนของเด็ก
หลังจากได้ฟังเรื่องของแม่ ผมได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง ‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ ซึ่งกำกับโดย สรยศ ประภาพันธ์ บอกเล่าเรื่องราวของอานน นักเรียนชั้นม.6 ที่ได้รับรางวัลทางวิชาการระดับนานาชาติ จนโรงเรียนยกย่องให้เป็นนักเรียนตัวอย่าง และกลายเป็นแต้มต่อที่ทำให้เขาได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ต่างกับเด็กนักเรียนคนอื่นที่ล้วนอยู่ภายใต้กฎระเบียบอันเคร่งครัด โดยมี ‘ครูวาณี’ ครูฝ่ายปกครองที่จ้องลงโทษนักเรียนที่ทำผิดกฎในแต่ละวัน
ประเด็นที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ฉากแรกๆ ก็คือ การเข้าแถวกลางแดดหน้าเสาธง และการลงโทษเด็กที่ทำผิดกฏระเบียบของโรงเรียน (อย่างเกินกว่าเหตุ) เช่น ฉากที่ครูวาณีนำกรรไกรไปตัดผมนักเรียนชายจนแหว่งทำให้ผมนึกถึงตัวเองสมัยม.ต้น ที่ทุกวันจันทร์ต้นเดือนจะมีการตรวจผม แต่บังเอิญว่าตอนนั้นพ่อแม่ของผมมีธุระช่วงปลายเดือน ทำให้ผมต้องไปตัดผมทรงขาวสามด้านก่อนวันตรวจหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งทั้งครูและเพื่อนๆ ต่างก็รับรู้ แต่พอวันตรวจผมมาถึง ผมกลับโดนเรียกไปหวดโดยไม่ฟังเหตุผล เพราะเส้นผมที่สั้นเกรียนเริ่มงอกออกมาเล็กน้อย ย้ำว่า ‘เล็กน้อย’ คล้ายกับคนที่ให้ช่างใช้หวีรองเวลาไถปัตตาเลี่ยน
แม้เรื่องของผมอาจไม่ได้กระทบกระเทือนจิตใจมากนักเมื่อเทียบกับเรื่องของแม่ แต่พอนึกถึงทีไรก็พลอยทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้ง และอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ‘เสื้อผ้าหน้าผม’ เกี่ยวข้องอะไรกับผลการเรียน ทำไมยังมีครูที่ยังคงหมกมุ่นกับระเบียบวินัยและพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับนักเรียน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและความแตกต่างหลากหลาย ทั้งที่เด็กแต่ละคนต่างก็มีสภาพครอบครัว มีตัวตน มีศักยภาพ มีความหวังความฝันที่แตกต่างกัน
อำนาจนิยมในโรงเรียน ความเคยชินที่(แทบ)ไม่เคยเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ผมเชื่อเสมอว่ามนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้จะต้องมีกฎและกติกา เช่นเดียวกับกฎระเบียบของโรงเรียน แต่ประเด็นชวนคิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือการตั้งคำถามถึงระเบียบวินัยบางอย่างที่ดูจะไม่เข้ายุคสมัย เช่น การบังคับให้ทุกคนต้องมาเข้าแถวเคารพธงชาติกลางแดด นักเรียนที่ดีต้องตัดผมสั้นเกรียน หรือการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงที่แม้ปัจจุบันจะมีกฎห้ามครูใช้กำลังกับเด็ก แต่ครูจำนวนไม่น้อยกลับไม่แคร์และกลายเป็นผู้คุมกฎที่แหกกฎเสียเอง
ฉากที่น่าสนใจคือฉากที่โรงเรียนต้องรับการตรวจสอบมาตรฐาน ทำให้ผู้อำนวยการเรียกประชุมครูเพื่อระดมความเห็นว่าจะจัดชั้นเรียนตัวอย่างแบบไหนเพื่อนำเสนอความสามารถของนักเรียน ครูรุ่นใหม่คนหนึ่งบอกว่าโรงเรียนน่าจะจัดกิจกรรมให้เด็กได้แสดง ‘ทักษะความคิดสร้างสรรค์’ ซึ่งจำเป็นต่อโลกยุคปัจจุบัน ขณะที่ครูวาณีเสนอให้จัดกิจกรรมที่เน้นเรื่อง ‘หน้าที่พลเมือง’ เพื่อเอาใจคณะกรรมการ น่าเสียดายที่ผู้อำนวยการตัดสินใจเลือกกิจกรรมสาธิตการไหว้ของครูวาณี
ฉากนี้ทำให้ผมเห็นภาพว่า ในแต่ละโรงเรียนก็คงจะมีแรงกระเพื่อมเล็กๆ จากครูรุ่นใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจต้านทานความคิดของครูหัวโบราณได้
และเมื่อวันที่คณะกรรมการตรวจสอบมาถึงโรงเรียน ครูวาณีได้เชิญมายังห้องประชุมที่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ตระเตรียมไว้ จากนั้นเปิดวิดีทัศน์สอนการทำความเคารพผู้ใหญ่ด้วยการกราบไหว้ ซึ่งสิ่งที่คาใจคือคำพูดทิ้งท้ายของครูวาณีในลักษณะว่า “หากนักเรียนรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวต่อผู้ใหญ่ย่อมมีอนาคตที่สดใส” ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเด็กในวันนี้เติบโตไปเป็นคนที่เจียมเนื้อเจียมตัวกันหมด พวกเขาจะสร้างสังคม(ไทย)แบบไหนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือทุกครั้งที่มีปัญหากับนักเรียน ครูวาณีจะคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ โดยเธอมองว่าการใช้กำลังหรือการด่าทอเด็กนั้นเป็นวิธีในการอบรมสั่งสอนเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองดีในอนาคต
ผมมองว่าครูแบบครูวาณียังมีอยู่มากในปัจจุบัน เพียงแต่ครูวาณีในหลายๆ โรงเรียนอาจมีการอัพเกรดตัวเองให้ดูแนบเนียนยิ่งขึ้นในมาดของครูที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นก็ได้แต่ภาวนาว่าสักวันกระทรวงศึกษาธิการจะมีระบบตรวจสอบและลงโทษคุณครูที่ใช้อำนาจในทางที่มิชอบมากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้เด็กเป็นฝ่ายเปิดโปงครูด้วยคลิปวิดีโอหลักฐานอย่างที่เป็นข่าว
ถึงที่สุดผมเชื่อว่ากุญแจสำคัญที่ครูคนหนึ่งจะไขเข้าไปในใจของเด็กได้ไม่ใช่กุญแจแห่งความกลัว แต่เป็นความรักความเข้าใจ เพราะในขณะที่ครูอยากได้นักเรียนที่เคารพเชื่อฟัง นักเรียนเองก็อยากได้ครูที่เข้าใจและรับฟังเขาเช่นกัน
เมื่อการศึกษากลายเป็นขุมทรัพย์ของผู้ใหญ่มากกว่าผลประโยชน์ของเด็ก
กลับมาที่อานน ซึ่งเป็นตัวแทนความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน การให้ค่ากับเด็กเรียนเก่ง เพราะคาดหวังว่าความสำเร็จของเด็กจะนำชื่อเสียงมาให้โรงเรียน นำมาสู่เงินทุนสนับสนุนรวมถึงแป๊ะเจี๊ยะจากผู้ปกครอง ดังนั้นไม่ว่าอานนจะกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือขาดเรียนยังไง ผู้อำนวยการก็จะมีข้อยกเว้นให้อานนเสมอ
ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็สะท้อนความจริงว่าแม้อานนจะไม่เห็นด้วยที่ครูวาณีใช้ความรุนแรงกับเพื่อน แต่พอถูกเพื่อนๆ ชวนให้รวมตัวกันประท้วงครูวาณี อานนกลับปฏิเสธเพราะเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นอยู่
ด้านผู้อำนวยการพอเห็นว่าอานนไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติ ก็ฉวยโอกาสนำความสำเร็จของอานนและนักเรียนเรียนเก่งมาอารัมภบทกับผู้ปกครองที่อยากนำบุตรหลานมาฝากเข้าโรงเรียน เพื่อเรียกเงินใต้โต๊ะเข้ากระเป๋าของตัวเอง ขณะที่อานนเองก็ใช้ความฉลาดของตัวเองหาเงินจากธุรกิจการศึกษาสีเทาๆ
ผมชอบที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำประเด็นธุรกิจการศึกษามาตีแผ่ เพราะไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ผู้ปกครองต่างอยากให้ลูกหลานเรียนเก่งเพื่อโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ดังนั้นนอกจากการส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนดังหรือสถาบันกวดวิชาที่ได้รับความนิยมแล้ว คุณครูในโรงเรียนบางคนก็เห็นโอกาสในการหา ‘รายได้เสริม’ นำมาสู่การรับจ้างสอนพิเศษนอกเวลา โดยมีจุดขายคือการนำข้อสอบมาบอกล่วงหน้า เรียกว่าเป็นการวิน-วิน สำหรับครูผู้หิวเงินกับนักเรียนที่อยากได้คะแนนดี จึงไม่น่าแปลกใจที่โรงเรียนแทบจะไม่แยแสเมื่อมีเด็กที่ครอบครัวประสบปัญหาด้านการเงินมาขอความเห็นใจ
สำหรับผม มันเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างแท้จริงที่ต้องยอมรับว่ารากฐานในการพัฒนาคนอย่างการศึกษากลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ที่ขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ