- ความคิดความเชื่อของเรานั้น ถูกหล่อหลอมจากสังคมที่เป็นอยู่ ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เรายอมรับสภาพที่เป็นอยู่ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความปกติ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วย
- การจะมองให้เห็นระเบียบสังคมอยุติธรรมที่ถูกอำพรางไว้ได้นั้น การศึกษาต้องเข้ามาท้าทายความคิดหรือวัฒนธรรมที่กำลังครอบงำเราอยู่ ว่าเรากำลังอยู่ภายใต้ระเบียบโลกแบบไหน มันส่งผลกับเราอย่างไร และใครได้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นอยู่
- บทบาทครูจึงทำหน้าที่เชื่อมช่องว่างระหว่างโรงเรียนกับสังคมเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น เชื่อมระหว่างสังคมที่เป็นอยู่กับความปรารถนาที่จะมีสังคมใหม่
หากจะหยิบหนังสือการศึกษาสักเล่มมาเขียนเล่า ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังบิดเบี้ยวและเต็มไปด้วยความอยุติธรรมเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นหนังสือสุดคลาสิกอย่าง Dare the school build a new social order? ของ George S. Counts ผู้ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนเล่มนี้เป็นการรวมรวบสุนทรพจน์ของเขาที่เผยแพร่ในช่วงปี 1932 (พ.ศ 2475) ท่ามกล่างบริบทหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่หลายประเทศต่างเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่
หนังสือเล่มนี้มีอายุกว่า 90 ปี พอๆ กับเส้นทางประชาธิปไตยของไทยที่เริ่มต้นขึ้นในปีเดียวกัน แม้บริบททางสังคมจะมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย แต่ใจกลางความคิดของ Counts ได้เสนอหมุดหมายทางความคิดที่สำคัญให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ในฐานะครู นักการศึกษา นักเคลื่อนไหว หรือใครก็ตามที่มองเห็นว่าการศึกษาและสังคมการเมืองนั้นเป็นเรื่องเดียวกันและไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ อิทธิพลทางความคิดของเขาได้กลายเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดสายธารความคิดอย่าง การศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Education) และเป็นแรงบันดาลใจให้นักการศึกษารุ่นหลังอย่าง Michael Apple ได้เขียนหนังสือ Can education can change Society? ขึ้นด้วย
สังคมแบบไหนกัน ที่เราปรารถนา?
อาจพูดได้ว่านี่เป็นคำถามสำคัญที่ Counts ทิ้งไว้ในสุนทรพจน์ของเขา แม้ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ในฐานะผู้อ่าน สัมผัสได้ว่าเขามีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมอเมริกันต่างไปจากที่เป็นอยู่ คำถามคือว่าเขาใฝ่ฝันถึงสังคมแบบไหน คำตอบคือ ‘สังคมที่ยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียมกัน’ บริบทในช่วงเวลานั้นทำให้เขาได้สัมผัสถึงชีวิตของเพื่อนร่วมสังคม โรงงานถูกปิด คนตกงาน ค่าแรงที่น้อยนิดจนไม่สามารถซื้ออาหารประทังชีวิตได้ ผู้คนอดอยาก เด็กนักเรียนไม่มีอาหารเช้ากินเมื่อไปโรงเรียน Counts ยังเห็นว่า ระเบียบสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้นทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ใจกลางของมันคือระบบทุนนิยมที่เอื้อให้คนบางกลุ่มมีอภิสิทธิ์และอำนาจเหนือกว่าคนอื่น พวกเขาสามารถตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างง่ายได้ ในขณะที่ตัวระบบเองก็โฆษณาป่าวประกาศว่านี่เป็นเสรีภาพที่ทุกคนเลือกได้ ทางเลือกในการเป็นขอทาน เป็นขโมย หรืออดอาหารตายไปอย่างนั้นหรือ?
สำหรับเขา เสรีภาพไม่อาจแยกขาดจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจในชีวิตของผู้คน ทรัพยากรควรถูกจัดสรรให้แต่ละชีวิตอย่างเสมอหน้า โลกที่ทุกคนลืมตาอ้าปากได้โดยไม่ต้องดิ้นรนอย่างเอาเป็นเอาตาย กลัวอดตาย หรือถูกล่ามด้วยโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจที่บีบบังคับให้ใครหลายคนมีทางเลือกในชีวิตที่แคบลง นี่คือความฝันแสนเรียบง่ายที่ Counts ปรารถนาอยากจะเห็น
ถ้าเช่นนั้น โรงเรียนต้องกล้าสร้างระเบียบสังคมใหม่!
ประวัติศาสตร์บอกเราว่ามีการขยายตัวของการศึกษาในวงกว้างอยู่เสมอ แต่ปัญหาทางสังคมก็ยังดำรงอยู่ และทวีคูณเรื่อยๆ Counts ไม่ลังเลที่จะวิพากษ์การศึกษาแบบอนุรักษ์นิยมที่เป็นอยู่ ว่ามันได้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงค้ำจุนโครงสร้างเดิมอย่างไร ขณะเดียวกัน เขาก็วิพากษ์แนวความคิดแบบ Progressive Education ที่เสนอคำตอบว่า การศึกษาควรมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centered) ว่ามักมุ่งตอบสนองความต้องการในสิ่งที่เด็กอยากเรียนรู้มากกว่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาทางสังคม และอาจเป็นแค่เครื่องมือของการรักษาโครงสร้างของระบบชนชั้นในสังคมในที่สุด พร้อมทั้งวิพากษ์แนวคิดที่ว่า การศึกษาควรเป็นไปเพื่อเตรียมนักเรียนให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คล้ายๆ กับคนตัดไม้ที่ขี่แพท่อนซุงผ่านกระแสน้ำเชี่ยวกราก ที่ต้องเรียนรู้การกระโดดจากฐานรากที่ไม่มั่นคงแห่งหนึ่งไปยังอีกฐานหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ว่าเป็นการศึกษาที่ทำได้เพียงก้มกราบต่อระเบียบสังคมที่เป็นอยู่ มากกว่าจะตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำเช่นนั้น?
สำหรับเขา มนุษย์อย่างเราๆ ไม่ได้ตัดขาดจากวัฒนธรรม เด็กไม่ได้แยกจากโลกที่เขาอยู่ แต่ละคนล้วนถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจที่เขาเกิดและเติบโตมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดอีกแบบ ความคิดความเชื่อของเรานั้น ถูกหล่อหลอมจากสังคมที่เป็นอยู่ ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เรายอมรับสภาพที่เป็นอยู่ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความปกติ และเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วย
การจะมองให้เห็นระเบียบสังคมอยุติธรรมที่ถูกอำพรางไว้ได้นั้น การศึกษาต้องเข้ามาท้าทายความคิดหรือวัฒนธรรมที่กำลังครอบงำเราอยู่ ว่าเรากำลังอยู่ภายใต้ระเบียบโลกแบบไหน มันส่งผลกับเราอย่างไร และใครได้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นอยู่
เราไม่อาจแสร้งทำเสมือนว่าการศึกษานั้นเป็นกลาง เพราะนั่นคือการเพิกเฉยต่อระบบโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรม นี่คือ ‘การศึกษาแบบรื้อสร้างสังคมใหม่’ (Social reconstruction)
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ บทบาทครูในสายตาของ Counts จึงไม่ใช่ผู้วางตัวเป็นกลาง แต่คือคนที่เผชิญหน้ากับปัญหาสังคมอย่างตรงไปตรงมาและกล้าหาญ ใช้อำนาจผ่านพื้นที่โรงเรียนในการพานักเรียนเรียนรู้ คิดวิพากษ์ สืบเสาะถึงสภาพความเป็นจริงทางสังคมหรือระเบียบทางสังคมที่เป็นอยู่ มากไปกว่านั้น คือการส่งเสริมความกล้าที่จะจินตนาการออกไปนอกระเบียบที่เป็นอยู่ เพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม บทบาทครูจึงทำหน้าที่เชื่อมช่องว่างระหว่างโรงเรียนกับสังคมเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น เชื่อมระหว่างสังคมที่เป็นอยู่กับความปรารถนาที่จะมีสังคมใหม่
นี่คือใจความสำคัญในคำกล่าวของ Counts ในอดีต ที่ยังคงเป็นหลักทางความคิดให้คนทำงานทางการศึกษาและคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสังคมที่บิดเบี้ยว สังคมที่ชนชั้นนำและผู้ปกครองไม่เคยยอมให้สังคมใหม่เกิดขึ้นได้โดยสมัครใจ
เราจึงต้องลุกขึ้นสู้ และการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นที่เคียงข้างการต่อสู้ของเราเพื่อให้ได้มันมา