- Freedom Writers บอกเล่าเรื่องราวของ อีริน กรูเวล ครูใหม่ไฟแรงที่ต้องมาเป็นครูประจำชั้นให้กับเหล่านักเรียนชายขอบที่ครูในโรงเรียนต่างเอือมระอา
- สิ่งสำคัญที่ทำให้ครูอีรินเอาชนะใจนักเรียนได้คือการไม่ตัดสินว่าเด็กๆ ของเธอเป็นพวกเหลือขอ และจัดการเรียนการสอนโดยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้น ผ่านเครื่องมือสำคัญนั่นคือ การเขียนบันทึก
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง The Freedom Writers Diary กำกับโดย ริชาร์ด ลาเกรเวเนเซ และได้ ฮิลารี สแวงค์ นักแสดงอเมริกันเจ้าของสองรางวัลออสการ์มารับบทครูอีริน
“อย่าท้อนะ ใช้เวลานิดหน่อยเดี๋ยวก็ดีเอง สอนไปเพลินๆ ก็พอ…สุดท้ายพวกนี้ก็เลิกเรียนไปเอง”
“ก่อนพวกนี้เข้ามา ที่นี่เคยเป็นโรงเรียนดีเด่น แต่ดูตอนนี้สิ มันยุติธรรมไหมที่ให้เด็กดีได้รับกรรม เพราะที่นี่ต้องกลายเป็นโรงเรียนดัดสันดาน เพราะเราถูกบังคับให้รับเด็กพวกนี้มาไว้ที่นี่”
“เธอทำให้เด็กๆ ใฝ่เรียนไม่ได้หรอก เต็มที่ก็คงแค่ทำให้มีวินัยกว่าเดิม แค่นั้นก็ยกนิ้วให้แล้ว”
คำพูดต่างๆ ของครูในโรงเรียนมัธยมวิลสันที่บอกกับ ‘ครูอีริน’ ตัวละครหลักจาก Freedom Writers ภาพยนตร์อเมริกันที่สร้างจากเรื่องจริงในยุค 90 ทำให้ผมถอนหายใจ เพราะมันสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ครูหลงใหลได้ปลื้มไปกับชื่อเสียงของโรงเรียนจนขาดความเมตตา เข้าอกเข้าใจ และกลายเป็นผู้ทำลายคุณค่าในตัวเด็กที่ผิดไปจากความคาดหวังของตัวเอง
เรื่องราวของครูอีริน เริ่มต้นด้วยการเป็นครูประจำชั้นห้อง 203 ห้องที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวม ‘เด็กเหลือขอ’ ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรงและการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ (ผิวขาว เอเชีย แอฟริกัน และละติน) แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพที่ต่างกัน เพียงแต่ขาดกระบวนการบางอย่างที่จะกระตุ้นศักยภาพภายในของเขาให้เบ่งบานออกมา ครูอีรินจึงเลือกทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับคำแนะนำของครูคนอื่นๆ ที่บอกให้ทิ้งเด็กเหล่านี้ไว้ข้างหลัง โดยความมุ่งมั่นนี้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านคำพูดตั้งแต่วันที่เธอมาสอบสัมภาษณ์
“อันที่จริง ฉันเลือกสอนที่นี่ก็เพราะเด็กพวกนี้ล่ะค่ะ ฉันว่ามันน่าสนุกออก ว่ามั้ยคะ…มาช่วยเด็กๆ ให้มีสิทธิมีชีวิตดีๆ บ้าง…ฉันรู้ว่าต้องเรียนรู้อีกมาก แต่ฉันก็เรียนรู้เร็ว และอยากสอนที่นี่จริงๆ”
ด้วยความที่นักเรียนหลายคนมักขัดจังหวะการสอนด้วยการทะเลาะกันเป็นประจำ โดยมีสาเหตุจากการบูลลี่ด้วยอคติทางชาติพันธุ์ แทนที่ครูอีรินจะเลือกด่าทอหรือใช้กำลังกำราบ เธอกลับหาวิธีปรับทัศนคติและพฤติกรรมของพวกเขาด้วยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว รวมถึงออกเงินพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวความโหดร้ายของนาซี ทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าแม้จะมีเชื้อชาติหรือสีผิวที่ต่างกัน แต่ทุกคนต่างก็เป็นเพียงมนุษย์ที่รักตัวเองและพวกพ้องเหมือนกัน
ยิ่งกว่านั้น ครูอีรินยังเชิญเหยื่อที่รอดจากเหตุการณ์นั้นมาดินเนอร์ร่วมกับนักเรียน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ความโหดร้ายและผลกระทบของสงคราม ทำให้เด็กๆ ได้เปิดใจและซาบซึ้งกับสิ่งที่ครูทำให้พวกเขา
อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การที่ครูอีรินไม่เชื่อว่านักเรียนของเธอเป็นพวกเหลือขอที่พัฒนาไม่ได้ เมื่อเธอตระหนักว่าเด็กๆ มีปัญหาเรื่องทักษะการอ่านเขียน ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้ เธอจึงพยายามขอร้องครูใหญ่ให้จัดหาวรรณกรรมดีๆ มาไว้ในห้องสมุด แต่ก็ถูกปฏิเสธ เธอจึงไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลเรื่องการศึกษาในท้องถิ่น
“ฉันแค่พยายามจะทำงานของฉัน โครงการโรงเรียนแลกเปลี่ยนจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเด็กโตยังอ่านหนังสือของเด็กเล็กไม่แตก…โครงการนี้ทำให้เด็กขาดแรงจูงใจที่จะเรียน แล้วเด็กๆ จะมาเสียเวลาเรียนทำไม ถ้ารู้ว่าครูไม่อยากเสียเวลามาสอนพวกเขา
เราบอกเด็กๆ ว่า “ไปโรงเรียนนะ ตั้งใจเรียนนะ” แต่กลับบอกกันเองว่า “พวกนี้เรียนไม่ได้หรอก เปลืองงบเปล่าๆ””
แม้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องงบประมาณ แต่อย่างน้อยครูอีรินก็ได้รับการอนุมัติให้จัดการเรียนการสอนในแบบที่เธอต้องการ เธอจึงเริ่มซื้อหนังสือดีๆ รวมถึง ‘สมุดบันทึก’ มาแจกให้กับนักเรียนทุกคน เพราะเธอเชื่อว่าการเขียนบันทึกทุกวันจะช่วยพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ ทั้งยังช่วยให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ในการระบายความรู้สึกและนำเหตุการณ์ต่างๆ กลับมาสะท้อนคิดอย่างมีสติ รวมถึงตัวเธอเองก็จะได้ทำความรู้จักนักเรียนมากขึ้นเช่นกัน
“สิ่งที่เราจะทำคือเขียนบันทึกอะไรก็ได้ที่อยากเขียนทุกวัน อดีต ปัจจุบัน อนาคต จะทำเหมือนไดอารี่ก็ได้ หรือเธออาจเขียนเพลง กลอน เรื่องดี เรื่องร้าย อะไรก็ได้ แต่ต้องเขียนทุกวัน หนีบปากกาไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้เขียนตอนอยาก…ครูจะไม่เปิดอ่านถ้าเธอไม่อนุญาต ครูอยากเห็นพวกเธอเข้ามา แล้วครูจะคอยโฉบไปดูเธอเขียน แล้วถ้าอยากให้ครูอ่าน ครูมีตู้อยู่ตรงนี้”
แน่นอนว่าการที่ครูอีรินทุ่มเทเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ทำให้นักเรียนเปิดใจ พวกเขาตั้งใจเขียนเรื่องที่ตัวเองอยากเล่าลงในสมุดบันทึกและส่งเข้าตู้ให้ครูอีรินอ่านทุกวัน ราวกับว่าข้อความทุกบรรทัดคือสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อมั่นว่าครูคนนี้เข้าใจและรับฟังเขาจริงๆ
ด้านครูอีรินเองก็พบว่าเบื้องหลังของนักเรียนแต่ละคนล้วนเต็มไปด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดจากสารพัด ไม่ว่าจะมาจากปัญหาครอบครัวแตกสลาย ความรุนแรงในชุมชน ความยากจน การสูญเสีย ยาเสพติด ความกลัว ความเครียด การถูกสังคมทอดทิ้ง และแม้หลายคนจะสารภาพว่ารู้สึกผิดที่ใช้ความรุนแรงและรู้ตัวว่าใช้ชีวิตเหลวแหลก แต่พวกเขากลับเลิกทำไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ามีวิธีหรือทางออกไหนที่ดีกว่านี้
ไม่เพียงเท่านั้น ครูอีรินยังซื้อวรรณกรรมเยาวชนที่น่าสนใจมาให้เด็กๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ‘บันทึกของแอนน์ แฟรงค์’ ที่มีอายุเท่ากับนักเรียนของเธอ เพราะเธอเชื่อว่าการอ่านหนังสือดีๆ จะช่วยจุดประกายความคิด จนเกิดเป็นแรงปรารถนาภายในที่จะผลักดันและพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต
“จากนี้ไป ทุกเสียงที่บอกว่า “เธอทำไม่ได้” เธอจะไม่ได้ยิน ทุกเหตุผลที่บอกว่าเธอเปลี่ยนไม่ได้จะหายไป และคนที่เธอเคยเป็นก่อนหน้านี้ หมดเวลาของเขาแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาของเธอ”
หลังฟังประโยคนี้ ผมรู้สึกซาบซึ้งที่เรื่องของครูอีรินเป็นเรื่องจริง ขอบคุณที่ครูอีรินเป็นตัวอย่างของครูที่เป็น ‘ผู้ให้โอกาส’ ท่ามกลางครูจำนวนมากที่ ‘ตัดตอนความฝันของเด็กๆ’ เพราะถูกครอบงำด้วยมายาคติทางการศึกษา ใช้บุคลิกภายนอกและการสอบหรือ ‘เกรด’ เป็นตัวตัดสินคุณค่าของเด็ก โดยลืมไปว่าหน้าที่ของครูคือคนที่ควรดึงมือเขาขึ้นมาจากความดำมืด ไม่ใช่ผลักไสเขาออกไปเพื่อให้ชีวิตของตนเองง่ายขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ผมอดคิดไม่ได้ว่าครูอีรินมีสิ่งที่ครูหลายคนไม่มี นั่นคือ จิตวิญญาณความเป็นครู เพราะตลอดทั้งเรื่องเธอแสดงให้เห็นถึงความเมตตา อดทนอดกลั้น และเอาใจใส่นักเรียนโดยไม่เลือกว่าเขาเป็นเด็กดี เด็กเก่ง เด็กรวย สีผิวอะไร หรือมาจากครอบครัวแบบไหน เพราะสุดท้ายแล้วมากกว่าความรู้ในห้องเรียน สิ่งที่เด็กๆ ต้องการคือใครสักคนที่รับฟังและเชื่อมั่นในตัวเขาอย่างจริงใจ ซึ่งแม้การทุ่มเทเช่นนี้จะเป็นภาระที่หนักหน่วง แต่ภารกิจสูงสุดของครูก็คือการพาลูกศิษย์ไปสู่ประตูแห่งโอกาสและเป็นแรงผลักดันให้เขาก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม (มิใช่หรือ)
ในบทสรุปของเรื่อง ภาพยนตร์แสดงให้เห็นพัฒนาการของนักเรียนห้อง 203 ที่ได้คะแนนการอ่านเขียนดีขึ้นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันบรรยากาศการเรียนการสอนที่เคยติดขัดในช่วงต้นเรื่องก็กลับเต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่นั่นไม่เท่ากับการที่พวกเขาค้นพบคุณค่าในตัวเองและมั่นใจว่าจะสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
ซึ่งในท้ายที่สุดครูอีรินได้ชวนลูกศิษย์ห้อง 203 มาเขียนหนังสือร่วมกันโดยนำบันทึกของทุกคนมาตีพิมพ์โดยใช้ชื่อว่า The Freedom Writers Diary (1999) ก่อนที่หนังสือจะขายดีจนติดชาร์จอันดับ 1 ของ New York Times Best Seller และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักการศึกษาในหลายๆ ประเทศ
“ผมเคยกลัวการเข้าเรียนและอายที่ต้องเป็นเด็กโง่ในโรงเรียน แต่ไม่อีกแล้ว ผมกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่ผมจะเลือกหนีไปไหนก็ได้ แต่ผมเลือกที่จะอยู่ตรงนี้” นักเรียนคนหนึ่งของห้อง 203 กล่าว