- หลักสูตรในปัจจุบันมีรากฐานมาจากแนวคิดแบบสมัยใหม่ (Modernism) ที่มองการจัดการหลักสูตรทางการศึกษาแบบอุตสาหกรรม เสมือนโรงงานผลิตสินค้าให้ได้ผลลัพธ์ตามมาตรฐานปลายทางที่กำหนดไว้
- หรือแท้จริงหลักสูตรแฝงไปด้วยความรู้ของผู้กดขี่ที่พยายามจะแสร้งว่า ความรู้ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นความรู้ที่เป็นกลาง แต่แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยชุดความรู้บางอย่างที่ถูกเลือกอย่างจงใจทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหล่อเลี้ยงมายาคติ อำนาจ และโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมเอาไว้
- ชวนกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักสูตรและการศึกษาของไทยในประเด็นต่างๆ ว่าจริงๆ แล้วหลักสูตร (Curriculum) คืออะไรกันแน่? เรากำลังมองหลักสูตรจากมุมมองแบบใด?
ที่ผ่านมา สังคมของเราต่างพูดคุยถกเถียงถึงการปฏิรูปหลักสูตรในหลากหลายประเด็น อาทิ เนื้อหาความรู้ ทักษะที่ควรสอน วิธีการสอนและการจัดการเรียนรู้ที่ควรจะเป็น การตัด ลด เพิ่มวิชาให้เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็มีประเด็นและข้อเสนอที่ต่างกันออกไป แต่จริงๆ แล้วหลักสูตร (Curriculum) คืออะไรกันแน่? เรากำลังมองหลักสูตรจากมุมมองแบบใด? ในข้อเขียนนี้จึงอยากชวนกลับมาสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรผ่านมุมมองต่างๆ
หลักสูตร คือ ‘สายพานการผลิต’
ในหนังสืออย่าง Curriculum : foundations , Principles, and Issues Ornstein และ Hunkins ได้ฉายให้เห็นภาพการถกเถียงเรื่องหลักสูตรที่รวมไปถึงการสอนและการศึกษา โดยเขาชี้ให้เห็นว่า หลักสูตรในปัจจุบันมีรากฐานมาจากแนวคิดแบบสมัยใหม่ (Modernism) ที่มองการจัดการหลักสูตรทางการศึกษาแบบอุตสาหกรรม การศึกษาเป็นเสมือนโรงงานผลิตสินค้าให้ได้ผลลัพธ์ตามมาตรฐานปลายทางที่กำหนดไว้ ดังนั้น หลักสูตรจึงต้องกำหนดค่าเป้าหมายมาตรฐานการผลิต มีกระบวนการผลิต (เลือกคัดสรรความรู้ วิธีการ) และมีการวัดผลเพื่อเช็คคุณภาพสินค้า (ผลลัพธ์การเรียนรู้) ที่ซึ่งการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องนำไปสู่การวัดผลเชิงพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจน
วิธีคิดแบบอุตสาหกรรมเช่นนี้ส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรและการสอน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า แผนการสอน (lesson plan) จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (behavioral objective) หลักสูตรอิงมาตรฐาน (standard based curriculum) และ best practice ที่ครูจะเป็นเสมือนเจ้าของโรงงาน ในการคิดค้นและสร้างระเบียบขั้นตอนของแบบแผนในการผลิตนักเรียนอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นนักเทคนิคในการค้นหา เทคนิคหรือโมเดล เพื่อทำให้แผนการสอนที่วางไว้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น หากเทคนิควิธีการที่นำมาใช้ไม่เกิดผลตามที่คาดหวังไว้ ครูก็ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงแผนต่างๆ ให้ดีขึ้น
หลักสูตรบนฐานคิดแบบสมัยใหม่นี้จึงมีมุมมองว่า การสอนและหลักสูตรต้องมีรูปแบบ (Model) มีขั้นตอนที่ชัดเจน และต้องมีการวัดผลที่เที่ยงตรงแม่นยำ เพื่อให้บรรลุตามผลลัพธ์ที่คาดการณ์และวางไว้ล่วงหน้า ซึ่งดูเหมือนว่าวิธีคิดเช่นนี้จะเข้ากันได้ดีกับปรัชญาการศึกษาบนแนวคิดแบบจารีต ที่เห็นว่าการพัฒนาให้มนุษย์เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เชี่ยวชาญ มีเหตุผลนั้น หลักสูตรต้องคัดเลือก สรรหาความรู้ คุณค่าสำคัญ ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ และนำมาถ่ายทอด ส่งต่อ ฝึกฝนอย่างเข้มงวด เพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนา โดยครูมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลให้นักเรียนอยู่ในลู่ทาง เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักเรียนจะได้รับความรู้เต็มที่ ไม่ตกหล่น ดังนั้น การจะลำเลียงความรู้จากผู้เชี่ยวชาญไปสู่ตัวนักเรียนจึงต้องอาศัยการจัดการที่เป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยจุดประสงค์ วิธีการ และการวัดประเมินผล
หลักสูตรคือ ‘อำนาจ’
อย่างไรก็ตาม Paulo Freire นักการศึกษาสายวิพากษ์ชาวบราซิล กลับเห็นว่าการที่หลักสูตรวางอยู่บนฐานคิดเช่นนั้น ไม่ต่างจากการเป็น ‘การศึกษาแบบฝากธนาคาร’ (Banking Education) ที่หลักสูตรกลายเป็นพื้นที่ของการส่งต่อความรู้จากครูไปสู่นักเรียนให้มากที่สุด นักเรียนจึงเป็นเหมือนวัตถุว่างเปล่าที่ถูกบงการให้รอรับความรู้ที่ครูมอบให้ผ่านสายพานการผลิต คล้ายกับการฝากเงินในธนาคาร ที่เมื่อถึงเวลา ครูก็เพียงทำหน้าตรวจสอบดูว่าความรู้ที่ถูกฝากไว้นั้น นักเรียนจดจำมันได้มากน้อยเพียงใด
ยิ่งไปกว่านั้น “ความรู้ที่ถูกส่งผ่านหลักสูตรเป็นความรู้ของใครกัน?” เป็นคำถามสำคัญของ Freire และนักการศึกษาสายวิพากษ์หลายคน นักการศึกษาเหล่านี้มองว่า แท้จริงหลักสูตรไม่ได้มีความเป็นกลาง และแฝงไปด้วยความรู้ของผู้กดขี่ที่พยายามจะแสร้งว่า ความรู้ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นความรู้ที่เป็นกลาง แต่แท้จริงแล้วหลักสูตรเต็มไปด้วยชุดความรู้บางอย่างที่ถูกเลือกอย่างจงใจทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหล่อเลี้ยงมายาคติ อำนาจ และโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมเอาไว้
ในแง่นี้ นักการศึกษาเชิงวิพากษ์ จึงเสนอว่า หลักสูตรควรเป็นพื้นที่ที่จะให้นักเรียนได้เปล่งเสียง (Voice) ถึงสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่เขาดำรงอยู่ ผ่านการนำเอาประสบการณ์ เรื่องราว มาสร้างบทสนทนา (Dialogue) เพื่อทำความเข้าใจอำนาจที่กดทับ แล้วหาทางเปลี่ยนแปลงสังคม
ในทำนองคล้ายกัน William Pinar ได้เสนอว่า หลักสูตรควรเป็นบทสนทนาที่นำพาให้ผู้เรียนได้เข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ ได้สะท้อนคิดกับตัวเองที่เกี่ยวพันถึงอำนาจ การเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเป็น ‘Independent thinker’ ที่สามารถตีความและให้ความหมายถึงอนาคตที่จะเชื่อมมาสู่ปัจจุบันของตัวเอง
หลักสูตร คือ ‘ความไม่แน่นอน’
ไม่เพียงแค่นักการศึกษาสายวิพากษ์ ที่วิพากษ์ถึงหลักสูตรบนฐานคิดแบบสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการคัดเลือกความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ มีแบบแผนที่ตรวจสอบความรู้ที่ส่งไปให้เด็กอย่างเป็นระบบ ซึ่งละเลยการมองหลักสูตรในฐานะอำนาจทางการเมือง และมองข้ามเสียงประสบการณ์ของผู้เรียน แต่นักการศึกษาหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ยังได้วิพากษ์ว่าการเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนและยุ่งเหยิง มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมองการเรียนรู้เป็นเส้นตรงแบบสายพานและวัดการเรียนรู้ที่แท้จริงตามแบบมุมมองสมัยใหม่
หลักสูตร จึงหมายถึงตัวเราท่ามกลางบริบททางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ที่เราแต่ละคนจะก่อร่างสร้างความหมายของการเรียนรู้และประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมา ผ่านการตีความ (interpretation) ที่ไม่มีวันสิ้นสุด การเรียนรู้จึงมีการเปลี่ยนแปลงและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (uncertainty) ซึ่งต่างไปจากวิธีคิดแบบสมัยใหม่ที่ต้องการกำกับ ควบคุม และวัดผลให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น
William Doll นักการศึกษาในสายนี้จึงเห็นว่า บทบาทของครูคือการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้นักเรียนสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เป็นของตัวเองขึ้นมา เพื่อเผชิญกับความท้าทายในโลกที่เขากำลังดำรงอยู่
นอกจากนี้ Gert Biesta ได้วิพากษ์ การศึกษาบนฐานแนวคิดสมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการคาดการณ์ (calculate) ที่พยายามกำจัดความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามผลลัพธ์ออกไป พร้อมกับคอยกำกับว่าเด็กแต่ละช่วงวัยควรจะทำอะไรได้ จะเป็นอะไร และจะได้รับอะไร สำหรับเขา แท้จริงแล้วการศึกษาคือ ‘ความเสี่ยง (risk)’ เสมอๆ มันเป็นการเสี่ยงในการเรียนในสิ่งที่เราไม่ต้องการที่จะเรียน เสี่ยงที่เราจะเรียนในสิ่งที่เราไม่สามารถจิตนาการได้ว่าเราจะได้เรียนรู้ รวมไปถึงความเสี่ยงที่เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่คิดมาก่อนว่าเราต้องการจะรู้ ซึ่ง Biesta เห็นว่า ความเสี่ยงจะทำให้เราเห็นโลกในมุมที่ต่างออกไป (ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าควรเห็นอะไร) ผ่านการปั่นป่วน รบกวน ด้วยคำถามที่ไม่ง่าย ไม่คุ้นเคย ไม่ปลอดภัย คำถามที่จะรบกวนสำนึกทั่วไปของการรับรู้ในชีวิต และนำไปสู่คำถามต่อตัวเราที่สัมพันธ์กับคนอื่นและสังคม
หลักสูตรคืออะไร? ทั้งหมดนี้เป็นข้อเขียนสั้นๆ ที่พยายามตอบคำถามผ่าน 3 แนวคิด ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้กลับมาตั้งคำถามว่า ข้อถกเถียงหรือข้อเสนอที่ผ่านมาเกี่ยวกับหลักสูตรและการศึกษาของไทยในประเด็นต่างๆ นั้นกำลังวางอยู่บนมุมมองแบบใด พร้อมๆ กับเป็นคำตอบจากคำถามปลายเปิดที่อยากชวนคิดต่อว่า สำหรับตัวเราแล้ว เราอยากเห็นหลักสูตรเป็นอย่างไร? และเป็นไปเพื่ออะไร?
อ้างอิง
Biesta, G. J. (2006). Beyond Learning Democratic Education for a Human Future. New York: Routledge.
Kincheloe, J. L. (2004). Critical Pedagogy Primer Second Edition. Peter Lang Inc.
Ornstein, A.C., & Hunkins, F. P. (2004). Curriculum: Foundations, Principles, and Issues. Toronto: Pearson.