Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: February 2023

4 ไอเท็มที่ครูอาจจำเป็นต้องมี ในห้องเรียนพหุวัฒนธรรม
Transformative learning
28 February 2023

4 ไอเท็มที่ครูอาจจำเป็นต้องมี ในห้องเรียนพหุวัฒนธรรม

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บัตรลดอคติ สิ่งของของฉัน สีของวัฒนธรรม และไพ่ความหลากหลาย คือ 4 ไอเทมจำเป็นที่ใช้จัดการเรียนรู้ในห้องเรียนพหุวัฒนธรรม โดยครูสามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตัวเองได้
  • ‘บัตรลดอคติ’ เป็นสื่อกลางเพื่อบอกว่าบางครั้งผู้สอนและผู้เรียนต่างก็มีอคติ เช่น เรามักจะเลือกคุยกับคนที่มีบางอย่างคล้ายกับเรา ซึ่งอาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้ฟังมุมมองที่ต่างไป
  • นักการศึกษาพหุวัฒนธรรมเห็นว่า บทเรียนและชั้นเรียนจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพาให้นักเรียนตั้งคำถามถึงความปกติ ความคุ้นชินที่ถูกส่งต่อมา ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นกำลังผลิตซ้ำสังคมแบบใด และเราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ย้อนกลับไปในภาคเรียนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสลงเรียนรายวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษา (Multicultural Education) สำหรับหลักสูตรปริญญาโท ความน่าสนใจของวิชานี้ คือนอกจากจะให้มุมมองสำคัญตามที่ผมเคยเขียนเล่าไปในบทความ ‘ทำไมครูควรมีมุมมองพหุวัฒนธรรมศึกษา’ ยังมีสิ่งเล็กๆ แต่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ‘ไอเท็ม’ จากอาจารย์ผู้สอน ซึ่งช่วยให้เห็นภาพชั้นเรียนที่วางอยู่บนแนวคิดพหุวัฒนธรรมศึกษาได้ชัดเจนขึ้น 

ห้องเรียนที่มีมุมมองเชิงพหุวัฒนธรรมนั้นมีหน้าตาแบบไหน วิธีการเรียนรู้เป็นอย่างไร ข้อเขียนนี้จึงเป็นภาคต่อที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ ผ่าน 4 ไอเท็มที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตัวเองได้

ไอเท็มที่ 1 ‘บัตรลดอคติ’

มนุษย์อย่างเราๆ มีอคติอยู่เสมอ หลายครั้งในชั้นเรียน ครูมักเชื่อว่าตัวเองให้ความสำคัญกับเด็กอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีความลำเอียง ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือเพ่งเล็งใครเป็นไปพิเศษ แต่งานศึกษาจำนวนหนึ่งกลับบอกกับเราว่าห้องเรียนนั้นมีอคติเกิดขึ้นเสมอ ทั้งในมิติเรื่องเพศ ชนชั้น และอื่นๆ (อ่านเพิ่มเติมใน ‘ทำไมครูควรมีมุมมอง พหุวัฒนธรรมศึกษา’) ที่อาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อคติเหล่านั้นอาจแสดงออกผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กกลุ่มเดิมๆ ที่มักถูกให้ความสำคัญ สนใจ หรือตอกย้ำ ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น เด็กที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมทางลบ เป็นต้น  

ตลอดการเรียนในวิชานี้ อาจารย์จะเน้นให้นักศึกษาได้พูดคุยแลกเปลี่ยน จับคู่ และแชร์ความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราได้พูดสิ่งที่คิดและรับรู้มุมมองของเพื่อนร่วมชั้น ผมจำได้ว่าในช่วงแรกของการเรียน การจับคู่พูดคุยจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ดูธรรมดา เช่น เลือกคนที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา เลือกคนที่เรายังไม่เคยคุยด้วย ฯลฯ แต่เมื่อเข้าสู่กลางเทอม อาจารย์เข้ามาพร้อมกับบัตรกระดาษ ซึ่งผมขอเรียกมันว่า ‘บัตรลดอคติ’ ที่กลายเป็นไอเท็มหลักของการจับคู่หรือจับกลุ่มพูดคุย 

บัตรแต่ละใบจะบอกสีของสติกเกอร์ และจำนวน (ดูตามภาพ) ซึ่งแต่ละคาบก็จะสับเปลี่ยนไป คนที่เราจะได้พูดคุยด้วยจึงวางอยู่บนเงื่อนไขระหว่างสีกับสี หรือ จำนวนกับจำนวน ตัวอย่างเช่น คนที่ได้สีแดงจับคู่กัน คนที่ได้จำนวนสามจับคู่กัน หรือในกลุ่มบัตรจำนวน 3 ขอให้คนได้สีเข้มที่สุดเป็นคนแชร์ข้อสรุปให้เพื่อนคู่อื่นฟัง 

บัตรลดอคติคือไอเท็มที่อาจารย์ใช้เป็นสื่อกลางเพื่อบอกกับทุกคนว่าบางครั้งผู้สอนและผู้เรียนต่างก็มีอคติ เช่น เรามักจะเลือกคุยกับคนที่มีบางอย่างคล้ายกับเรา คนที่ดูมีความสามารถ หรือคนที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ซึ่งอาจเป็นคนเดิมๆ ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้ฟังมุมมองที่ต่างไป 

วิธีนี้ช่วยให้การถูกเลือกปฏิบัติลดลง มากไปกว่านั้น สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือการหมุนเวียนให้แต่ละคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา ทำให้อำนาจในการพูดไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง

ไอเท็มที่ 2 ‘สิ่งของของฉัน’ 

เป็นธรรมเนียมของการเรียนในวิชานี้ ทุกครั้งก่อนเริ่มบทเรียน ใครคนใดคนหนึ่งของชั้นเรียนจะต้องออกมาเล่าเรื่องราวของตัวเองจาก ‘สิ่งของ’ ที่ตัวเองติดไว้บนแผนที่ขนาดใหญ่ที่ผนังห้อง โจทย์สำคัญคือการบอกเล่าว่าเรามาจากส่วนไหนของโลกใบนี้ และทำไมเราถึงเลือกนำสิ่งนั้นมาติดไว้ มันเกี่ยวข้องกับตัวตนของเรา หรือสัมพันธ์กับสังคมที่เราอยู่มาอย่างไร ผมได้สัมผัสเรื่องราวของเพื่อนๆ ที่ต่างกันออกไป บางคนเลือกหยิบภาพถ่ายมาบอกเล่าถึงความรู้สึกของการเติบโตท่ามกลางการเป็นคนส่วนน้อยในสังคม ขณะที่บางคนเลือกหนังสือที่เล่าถึงความสัมพันธ์ที่เขามีต่อครอบครัวหรือคนรัก รวมไปถึงเรื่องเล่าของความเจ็บปวดจากการดำรงอยู่อย่างไร้เสรีภาพ ก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสิ่งของและแผนที่บนผนังด้วยเช่นกัน

ใจความสำคัญของการบอกเล่าตัวตนผ่านสิ่งของในมุมมองของพหุวัฒนธรรรมศึกษา ผมมองว่าเป็นการศึกษา (pedagogy) แบบหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นว่าตัวตนของเราท่ามกลางคนอื่นๆ ถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร ภายใต้ระบบวัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจ และในขณะเดียวกันเราได้ให้ความหมาย ยอมรับ หรือท้าทายระบบและโครงสร้างเหล่านั้นอย่างไร  

ไอเท็มที่ 3 ‘สีของวัฒนธรรม’

ครั้งหนึ่ง อาจารย์สุ่มแจกสติกเกอร์สีให้ทุกคนติดบนหน้าผาก ซึ่งแต่ละสีจะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ใครได้รับสติกเกอร์สีอะไรก็จะต้องอ่านข้อมูลวัฒธรรมของสีนั้น ว่ามีข้อปฏิบัติ ข้อห้ามอย่างไรบ้าง รวมถึงมีทัศนคติต่อวัฒนธรรมสีอื่นๆ อย่างไร 

จากนั้นสมาชิกในชั้นเรียนก็เริ่มแสดงบทบาทสมมติด้วยการเดินไปหาเพื่อนคนอื่นในห้อง และปฏิสัมพันธ์กันโดยไม่มีการใช้เสียง ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมสีชมพู (Pink culture) จะสื่อสารด้วยการสัมผัสโดยใช้นิ้วทั้ง 4 ยกเว้นหัวแม่มือ และมองเห็นตัวเองด้อยกว่าคนในวัฒนธรรมสีดำ (Black culture) ขณะที่วัฒนธรรมสีน้ำเงิน (Blue culture) จะรู้สึกผิดต่อวัฒนธรรมสีชมพู โดยต้องพยายามแสดงออกให้ทุกคนในวัฒนธรรมอื่นเห็นว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร และมักจะทักทายด้วยการคล้องแขน แต่ห้ามใช้แขนหรือมือซ้าย

กิจกรรมนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเริ่มแรกที่ทำให้เราตระหนักถึงวัฒนธรรมของผู้คนที่แตกต่างไปจากเรา เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจ (ซึ่งเป็นมุมมองแบบพหุวัฒนธรรมสายเสรีนิยม) แต่หากมองให้ลึกลงไปผ่านมุมมองพหุวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์ เครื่องมือนี้กำลังชวนเราคิดไปมากกว่านั้น แท้จริงวัฒนธรรมต่างๆ กำลังดำรงอยู่ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจบางอย่างที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำไมคนในวัฒนธรรมหนึ่งถึงรู้สึกด้อยกว่าหรือมองเห็นตัวเองสูงกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง? วิธีคิดหรือความรู้สึกเช่นนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร? และมันทำงานอย่างไรต่อสังคม? วัฒนธรรมเหล่านั้นทำให้เกิดการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติหรือไม่?

ไอเท็มที่ 4 ไพ่ความหลากหลาย

หลังจบกิจกรรมหนึ่งที่ต้องใช้ไพ่เป็นสื่อกลาง อาจารย์ได้แชร์เรื่องราวของ Maayan เด็กหญิงซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับกติกาสากลของไพ่ได้อย่างน่าสนใจ “ทำไมไพ่คิงจึงมีค่ามากกว่าควีนเสมอ” “ทุกเพศเท่าเทียมกัน แล้วทำไมไพ่ควีนถึงมีค่าน้อยกว่า” คำถามเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอพยายามสร้างระบบไพ่แบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบการเล่นที่เธอมองว่ายุติธรรมกว่า เพราะเป็นไพ่ที่ทุกเพศเท่าเทียมกัน 

ที่ผ่านมาเรามักคุ้นเคยกันกันดีกับไพ่ที่ประกอบด้วยชายและหญิง โดยเฉพาะไพ่คิงที่ถูกนำเสนอเป็นภาพของผู้ชายและอยู่ในลำดับชั้นอำนาจสูงสุดจากการให้นัยยะแต้ม และกลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้คุ้นชินจนเราไม่ทันได้สังเกต 

นักการศึกษาพหุวัฒนธรรมจึงเห็นว่า บทเรียนและชั้นเรียนจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพาให้นักเรียนตั้งคำถามถึงความปกติ ความสามัญธรรมดา ความคุ้นชินที่ถูกส่งต่อมา ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นกำลังผลิตซ้ำสังคมแบบใด และเราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม 4 ไอเท็มข้างต้นจะไม่มีความหมายเลย หากเรามองมันเป็นเพียงเทคนิควิธีการเพื่อเพิ่มลูกเล่นและความน่าสนใจให้บทเรียน แต่มันจะมีความหมายอย่างยิ่งเมื่อเราใฝ่ฝันถึงสังคมที่เป็นธรรม และสร้างมันขึ้นมาจากบทเรียนของเรา

อ้างอิง

ทำไมครูควรมีมุมมอง พหุวัฒนธรรมศึกษา

https://thepotential.org/knowledge/multicultural-education/

Israeli teen revamps classic playing cards to represent gender equality

https://www.jpost.com/israel-news/israeli-girl-revamps-classic-playing-cards-to-represent-gender-equality-627520

Tags:

อคติการตั้งคำถามนักเรียนห้องเรียนพหุวัฒนธรรมศึกษา (Multicultural Education)ครูการเรียนรู้

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Social Issues
    ระบบการศึกษาที่ “อะไรอะไรก็ครู” ไว้ก่อน

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trend
    AI กับอนาคตการศึกษา: ตัวช่วยที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือตัวการขัดขวางการเรียนรู้ ทำลายอาชีพครู

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    Rethinking ‘คิดใหม่’ ในความ ‘เดิมๆ’ ของงานครู

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Everyone can be an Educator
    เรียนรู้นอกกรอบ กับอดีตครูนอกคอก: อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มลูกหว้า’ เยาวชนก่อการดีแห่งเมืองเพชร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ สิริเชษฐ์ พรมรอด

ปิราเนซิ: โลกแสนงดงามเมื่อถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่
Book
25 February 2023

ปิราเนซิ: โลกแสนงดงามเมื่อถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่

เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

  • ปิราเนซิ คือชื่อตัวเอกและผู้บรรยายของนิยายเล่มนี้ เป็นนิยายที่ได้รับรางวัล The Women’s Prize for Fiction ประจำปี 2021 เขียนโดย ซูซานน่า คลาร์ก ซึ่งว่ากันว่าเป็นนิยายที่ดีที่สุด แต่อ่านยากที่สุด 
  • เรื่องราวในปิราเนซินั้นถูกเล่าผ่านการเขียนบันทึกประจำวันของเขา เกี่ยวกับการสำรวจเขาวงกตที่เรียกว่า ‘บ้าน’ และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้มีจุดสิ้นสุด
  • เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องราวของความเปล่าเปลี่ยวในโลกอันไร้ที่สิ้นสุด แต่ในทางตรงกันข้าม ปิราเนซิเป็นบุคคลที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เขารู้สึกมีความสุขไปกับการเรียนรู้ใหม่ๆ ในทุกสิ่งเล็กๆ ที่บ้านมอบให้ แม้ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จะเป็นได้ไม่ถึงน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทรก็ตาม


เมื่อพูดถึงนิยายเรื่อง ปิราเนซิ ของ ซูซานน่า คลาร์ก มีหลายเรื่องที่ผมสามารถเขียน บรรยาย และสาธยายถึงได้ ผมอาจจะเกริ่นว่ามันเป็นนิยายที่ได้รับรางวัล The Women’s Prize for Fiction ประจำปี 2021 หรือผมอาจจะพยายามโน้มน้าวคุณให้ลองอ่านมันดูสักครั้ง โดยผมจะบอกคุณว่ามันเป็นหนึ่งในนิยายเล่มโปรดของผม และเป็นนิยายเล่มเดียวที่ผมซื้อซ้ำเมื่อฉบับแปลภาษาไทยถูกตีพิมพ์

หรือบางทีผมอาจจะเล่าถึงเนื้อหาของนิยายเล่มนี้ ซึ่งถึงแม้จะเรียบง่ายแต่ก็เขียนออกมาอย่างมีชั้นเชิงและเต็มไปด้วยรสนิยม ให้อารมณ์เหมือนกำลังแก้ปริศนาที่อีกแค่นิดเดียวก็จะค้นพบข้อสรุป ขาดไปแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ผู้อ่านต้องคอยพลิกหน้ากระดาษตามหา

บทแทรก : ปิราเนซิ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ว่ากันว่า ดีที่สุด แต่อ่านยากที่สุด (แม้กระทั่งจะจัดให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในหมวดหมู่ไหน ก็ยังยากเลย) นักวิจารณ์หลายคน กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า นี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับทุกคน คนส่วนใหญ่อาจเกลียดมัน แต่สำหรับบางคน พวกเขาหลงรักมันเลยล่ะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสัมผัสด้วยตัวเองถึงจะเป็นการดีที่สุด เช่นเดียวกับนิยายทุกๆ เรื่อง คุณจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเมื่ออ่านโดยไร้อคติและไม่จำเป็นต้องมีคนมาโน้มน้าวเพื่อให้คุณเข้าใจในสิ่งที่นิยายอยากจะสื่อ

เพราะฉะนั้นเนื้อหาที่ผมจะเขียนเกี่ยวกับ ปิราเนซิ จึงไม่ใช่รีวิวหรือบทสรุปแบบสั้นๆ ของเนื้อเรื่อง แต่จะเป็นการขบคิดถึงบางอย่างที่แทบไม่ถูกพูดถึงเมื่อผู้คนพูดถึงการอ่านนิยายเรื่องหนึ่ง

หนึ่งคือบ้าน เคหสถานที่เป็นที่พึ่งทางกายและใจของผู้คนเช่นผมและคุณ

อีกอย่างคือสิ่งที่ไร้ที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขต ไม่อาจเอื้อมถึง สิ่งที่เราเรียกกันว่าอนันต์

สองสิ่งที่ดูไร้ความเกี่ยวข้องอย่างสิ้นเชิงกลับถูกผนวกเข้าด้วยกันไม่เพียงแค่ในนิยายเล่มนี้ แต่ในเรื่องเล่าอันน่าพิศวงเรื่องอื่นๆ อีก คงจะไม่ใช่ความบังเอิญที่นักเขียน ศิลปิน และผู้คนมากมายจะหลงใหลและมองเห็นความลึกล้ำไม่มีที่สิ้นสุดในโถงทางเดินและผนังที่ทอดยาวของบ้านเรือนทั่วๆ ไป

ผมอยากเชิญให้คุณอ่านบทความนี้ต่อหากคุณสงสัยใคร่รู้ใน สถาปัตยกรรมรอบตัว สัญลักษณ์เลขแปดเอียงข้าง และวิธีที่วรรณกรรมนำสองสิ่งนี้มาแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ผู้คนอาจมีต่อความไพศาลเกินขอบเขตการรับรู้

นี่อาจเป็นการเกริ่นเนื้อหาที่แปลกไปสักนิด แต่การใช้อักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ให้ถูกนั้นเป็นพื้นฐานของการเขียนภาษาอังกฤษ

เรารู้กันดีว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะถูกเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก ส่วนตัวพิมพ์ใหญ่นั้นถูกใช้ในไม่กี่กรณี ได้แก่ คำแรกของประโยค นามเฉพาะ และตัว I ที่หมายถึงผู้เขียน

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเขียนจะแหกกฎเหล่านี้เพื่อสร้างชั้นเชิงที่น่าสนใจในงานเขียนของพวกเขา

ในเรื่องสั้น The Library of Babel คำว่า Library จะถูกเขียนด้วยพิมพ์ใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของประโยคหรือในบริบทใดๆ ส่วนในนิยายชวนปวดหัวอย่าง House of Leaves คำว่า House ก็ถูกเขียนด้วยพิมพ์ใหญ่อย่างไม่มีข้อยกเว้น

เช่นเดียวกัน ใน ปิราเนซิ คำว่า House ก็ถูกสะกดด้วยด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ด้วยเหตุผลที่จะกล่าวถึงในภายหลัง (เป็นเรื่องน่าสนใจที่งานเขียนทั้งสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้มีแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ที่ไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดหรือบ้าน)

ปิราเนซิ คือชื่อตัวเอกและผู้บรรยายของนิยายเล่มนี้ เขาอยู่ในสถานที่ที่ตัวเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ บ้านนั้นประกอบไปด้วยห้องโถงยาวเหยียดและสูงชัน ห้องมุขหลากหลายห้องที่เชื่อมถึงกันและกัน ขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่ขึ้นและลงไปยังชั้นอื่นๆ และรูปปั้นนับล้านที่เรียงรายอยู่ตามผนังของทุกๆ ห้อง ไม่มีรูปปั้นใดซ้ำกัน

ปิราเนซิเป็นนักสำรวจ จากบันทึกของเขา เราทราบได้ว่าปิราเนซิไปเยือนโถงทั้งหมดเจ็ดพันหกร้อยเจ็ดสิบแปดห้อง โถงแต่ละห้องมีความยาวและกว้างใกล้เคียงกับสนามฟุตบอลหนึ่งสนาม และไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้มีจุดสิ้นสุด

ทุกครั้งที่ปิราเนซิเดินทางไปไกลกว่าที่เคย เขาจะพบกับห้องใหม่ รูปปั้นที่ไม่คุ้นตา และภัยอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ในมุมมืด ความจริงแล้วมีเพียงปิราเนซิผู้เดียวที่เรียกสถานที่แห่งนั้นว่าบ้าน คำเรียกที่ผู้คนใช้กันมากกว่าคือ ‘เขาวงกต’

บทสนทนาส่วนหนึ่งในปิราเนซิ:

“ทำไมถึงบรรยายโลกใบนั้นว่าเป็นเขาวงกตล่ะครับ”

“ผมคิดว่าคงเป็นมโนภาพของความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาล สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ผสมกับความน่ากลัวของการมีตัวตน ไม่มีใครมีชีวิตรอดออกมาจากที่นั่นได้”

ความน่าหวาดกลัวของการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นอนันต์นั้นถูกกล่าวถึงในงานเขียนอีกสองเรื่องที่ผมได้ยกตัวอย่างมา

The Library of Babel เป็นเรื่องราวของห้องสมุดที่บรรจุหนังสือทุกเล่มที่เคยเขียนและจะถูกเขียนขึ้นในอนาคต ทุกความเป็นไปได้ของการร้อยเรียงตัวอักษร มันคือศูนย์รวมภูมิปัญญาทั้งหมดของมนุษย์ แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนน้อย ห้องสมุดนั้นอัดแน่นไปด้วยหนังสือที่ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เป็นเพียงตัวอักษรสีดำที่เรียงต่อกันไปเรื่อยๆ บนหน้ากระดาษ ระหว่างปกหนังสือ บนชั้นหนังสือ ในห้องสมุดที่แผ่ขยายต่อไปเรื่อยๆ 

ผู้คนที่หวาดกลัวความเป็นอนันต์ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้พากันฉีกทึ้งหน้ากระดาษและเผาหนังสือเหล่านั้นจนวอดวาย แต่นั่นก็เป็นแค่การหยิบเม็ดทรายออกทีละเม็ดจากทะเลทรายที่กว้างใหญ่

ใน House of Leaves ครอบครัวธรรมดาๆ ค้นพบว่าบ้านของพวกเขามีพื้นที่ขนาดหนึ่งส่วนสี่ฟุตที่ไม่ควรจะมีอยู่ การใช้เครื่องมือวัดอย่างถี่ถ้วนนำไปสู่ข้อสรุปว่าบ้านของพวกเขามีขนาดภายในและภายนอกไม่เท่ากัน การค้นพบหนึ่งนำไปสู่การค้นพบถัดๆ ไป พวกเขาค้นพบโถงทางเดินที่กว้างผิดปกติ ท้ายที่สุดผู้ที่สำรวจพื้นที่อันเป็นไปไม่ได้ก็ค่อยๆ ถูกความมืดมิดของมันกัดกินจิตใจ

…ถึงอย่างนั้นปิราเนซิก็ยังเรียกโถงนับพันของเขาว่าเป็นบ้าน

ความงดงามของบ้านไม่อาจหาที่เปรียบได้ และความอารีของบ้านไม่มีที่สิ้นสุด ปิราเนซิกล่าวในบทเปิดของนิยาย

หากเราลองสังเกตสถาปัตยกรรมที่อยู่รอบตัว จะสัมผัสได้ไม่ยากว่าการออกแบบ ทั้งขนาด สีสัน และรูปร่างของตึกรามบ้านช่องและห้องหับล้วนมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและจิตใจของมนุษย์

คงเป็นเพราะความสัมพันธ์ยาวนานหลายสหัสวรรษของมนุษย์และสิ่งก่อสร้าง เราให้ความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมแก่รูปแบบต่างๆ ของบ้านเรือน ทำให้ผนัง ประตู ส่วนโค้งเว้า และวัสดุต่างๆ มีความหมายพิเศษขึ้นมา

ไม่มีใครออกแบบบ้านเหมือนกับที่ออกแบบโบสถ์ กระจกหลากสีก็ไม่มีทางมาอยู่ในห้องนอนธรรมดาๆ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘ความขลัง’ ที่สัมผัสได้เวลาก้าวเข้าไปในวิหารสูงใหญ่หรือวัดที่เงียบสงบก็เป็นเพราะเราเชื่อมโยงความหมายและแนวคิดต่างๆ เข้ากับตัวอาคารบ้านเรือน และเหล่าสถาปนิกก็ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับบทความนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชายผู้เป็นที่มาของชื่อปิราเนซิ นั่นคือ โจวันนี แบ็ตทิสตา ปิราเนซิ (Giovanni Battista Piranesi) นักโบราณคดี สถาปนิก และศิลปินชาวอิตาลีแห่งศตวรรษที่สิบแปด

ภาพสลักของเขาอาจจะเป็นการนำเสนอความอ้างว้างและความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ทั้งเสาคอลัมน์ที่เรียงกันยืดยาวไปไกลสุดสายตาหรืองานประติมากรรมโรมันโบราณที่วางแน่นขนัดจนลายตา

          แต่ภาพของเขาก็ทำให้เกิดคำถามหนึ่งขึ้นมา โดยเฉพาะภาพที่มีอาคารที่ยิ่งใหญ่และไพศาลเกินกว่าที่มนุษย์จะสร้างขึ้นมาได้จริงๆ นั่นคือ ความหมาย สภาพอารมณ์ และแนวคิดที่เชื่อมโยงกับความเป็นอนันต์คืออะไรกัน?

อีกหนึ่งจุดร่วมของเรื่องเล่าแห่งอนันต์เหล่านี้คือความหมกมุ่นของเหล่าตัวเอกต่อสถานที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย ผู้บรรยายไร้ชื่อใน The Library of Babel คิดว่าการอ่านหนังสือในโลกให้มากเท่าที่เขาจะทำได้เป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เขาได้รับ ตัวเอกวิล เนวิดสันใน House of Leaves หมกมุ่นกับการสำรวจบ้านของเขาถึงขนาดยอมกระทบกระทั่งกับครอบครัวและเสี่ยงชีวิตของตัวเขาเอง

ปิราเนซิเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เขาอุทิศตนให้กับการสำรวจบ้านของเขา ทำรายการบัญชีของรูปปั้นทั้งหมดที่เขาพบเจอลงในสมุด คอยจดบันทึกปริมาณน้ำขึ้นน้ำลง และเขาสามารถจดจำเส้นทางและตำแหน่งของห้องโถงทุกห้องที่เขาเคยไปเยือน

แต่สิ่งที่ปิราเนซิมีมากกว่าตัวเอกจากอีกสองงานเขียนคือ ‘ความเคารพ’ และ ‘ความขอบคุณ’ ที่เขามีให้ต่อบ้าน (หรือโลกที่เขาอาศัยอยู่)

เรื่องราวในปิราเนซินั้นถูกเล่าผ่านการเขียนบันทึกประจำวันของปิราเนซิ หมายความว่าทุกอย่างที่ผู้อ่านเห็นบนหน้ากระดาษคือถ้อยคำของตัวเขาเอง การที่คำว่าบ้านถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ก็เป็นเพราะความสำคัญที่ปิราเนซิมอบให้แก่มัน

และความจริงแล้วคำที่เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ก็ไม่ได้มีแค่คำว่าบ้าน แต่รวมถึงคำศัพท์อื่นๆ ที่เราคงจะมองว่าเป็นสิ่งของธรรมดาๆ เช่น หน้าต่าง น้ำ ดวงดาว และก้อนเมฆ ในสายตาของเขา ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่มีตัวตนเป็นเอกเทศ สมบูรณ์ และงดงาม

สิ่งนี้เองคือข้อคิดและบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้รับหลังจากครุ่นคิดเกี่ยวกับนิยายเล่มนี้มาเป็นเวลาเกือบสองปี

แรกเริ่มเดิมที ผมนึกว่าปิราเนซิเป็นเรื่องราวของความเปล่าเปลี่ยวในโลกอันไร้ที่สิ้นสุด ทั้งๆ ที่ตัวเอกของเรื่องก็กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปิราเนซิเป็นบุคคลที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่างน้อยก็สำหรับผม เขาขอบคุณและมีความสุขไปกับทุกสิ่งเล็กๆ ที่บ้านมอบให้เขา และเขามีใจรักในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ท้ายที่สุดสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จะเป็นได้ไม่ถึงน้ำหนึ่งหยดในมหาสมุทรก็ตาม

บทแทรก : ในตอนท้ายของเรื่อง ปิราเนซิ ได้หวนคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริง เขาและผู้อ่าน ได้พบว่า หลายสิ่งหลายอย่าง (รวมถึงผู้คน) ที่อยู่ในบ้านที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลของปิราเนซิ ล้วนมีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่อยู่ในรูปลักษณ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ชายชราคนหนึ่งเดินผ่านผมไป เขาดูเศร้าสร้อยและเหนื่อยล้า… ผมก็ระลึกขึ้นได้ว่าผมรู้จักเขา… ผมรู้สึกอยากคว้าตัวเขาไว้และบอกกับเขาว่า  ในโลกอีกใบหนึ่ง คุณคือกษัตริย์ผู้สูงส่งและทรงธรรม”

ใช่หรือไม่ว่า ด้วยจิตสำนึกขอบคุณและความรักที่ปิราเนซิมีให้กับบ้าน ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในสถานที่นั้น เปลี่ยนรูปแปลงร่างเป็นสิ่งที่ดีงามและงดงาม?

แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตเหมือนปิราเนซิ แต่โลกของพวกเรานั้นกว้างใหญ่ยิ่งกว่านั้นมาก

จักรวาลขยายขอบเขตของมันอย่างทวีคูณในทุกๆ ช่วงวินาที และเช่นเดียวกับปิราเนซิที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านความหมายของรูปปั้นที่นับล้านเขาพบเจอ พวกเราก็เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านเรื่องราวของผู้คนบนโลกที่มีอยู่เป็นพันๆ ล้านคน

ผมคิดว่าปิราเนซิพูดถูกแล้วในตอนต้นเรื่อง

ความเป็นอนันต์นั้น อาจน่าหวาดหวั่น แต่เมื่อมองในทางกลับ มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ความยิ่งใหญ่ของมันทำให้เราแลดูเล็กจนแทบจะไม่มีตัวตน แต่ภายในความไพศาลนั้นก็ยังมีสิ่งเล็กๆ นับไม่ถ้วนที่สวยงาม เพียงแค่เราสังเกตและเห็นค่า

ลองสะกดสิ่งที่เรารักด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เช่นนั้น เราอาจจะเห็นความอารีไม่มีที่สิ้นสุด ในโลกที่มีความอ้างว้างเป็นอนันต์

Tags:

หนังสือความสุขตัวตนจิตใจนิยายปิราเนซิ

Author:

illustrator

ฌานันท์ อุรุวาทิน

ถึงจะเป็นสาวกมูราคามิ แต่ก็อ่านหนังสือได้หลากหลายแนว ตั้งแต่ปรัชญาตะวันตก ฟิสิกส์ควอนตัม จนถึงมังงะเลือดสาด และไลท์ โนเวล กุ๊กกิ๊ก

Related Posts

  • Book
    วางความคาดหวังของคนอื่นลง แล้วกลับมาฟังเสียงหัวใจตัวเอง: เธอก็ออกมาได้นะจากบึงโคลนแห่งความเศร้าและไม่เข้าใจตนเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    อ้าแขนรับความรู้สึกไม่สบายใจ ต้อนรับความรู้สึกที่จำเป็นต้องรู้สึก: หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ Ep2

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    ความสุขคืออะไร?  คำถามที่ทุกคนต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Book
    The Catcher in the Rye : ไม่ต้องมีใครโอบรับใคร ถ้าไม่มีผู้ใดร่วงหล่นจากท้องทุ่ง

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

Male Feminist ผู้นำเสนอความเท่าเทียมผ่านปลายปากกา: วิน นิมมานวรวุฒิ ‘โรแมนติกร้าย’
Life classroom
23 February 2023

Male Feminist ผู้นำเสนอความเท่าเทียมผ่านปลายปากกา: วิน นิมมานวรวุฒิ ‘โรแมนติกร้าย’

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • The Potential ชวนแลกเปลี่ยนประเด็นเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศกับ วิน นิมมานวรวุฒิ ศิลปิน นักเขียนและกวี นามปากกา ‘โรแมนติกร้าย’ ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ชายสีชมพู’ และ ‘Male Feminist’
  • ความตั้งใจของวินคือต้องการจะส่งต่อพลังบวกและสร้าง Self-Love ให้กับผู้อ่าน รวมถึงพยายามสอดแทรกประเด็นความเท่าเทียมทางเพศลงไปในผลงานของตัวเอง
  • เขาเชื่อในพลังของ Soft Power และการเมืองในเชิงวัฒนธรรมว่าสามารถเปลี่ยนสังคมและโลก ซึ่งสิ่งที่จะทำให้สารเหล่านี้ไปถึงตัวผู้คนได้ ก็คืองานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพลง บทกวี หรือหนังสือ

“เฟมินิสต์เป็นสิ่งที่ง่ายมาก แค่คุณเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนว่ามันเท่ากัน และอย่าเอากรอบไปครอบใคร”

ชวนแลกเปลี่ยนประเด็นเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศกับ วิน นิมมานวรวุฒิ ศิลปิน นักเขียนหนังสือและกวี นามปากกา ‘โรแมนติกร้าย’ ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ชายสีชมพู’ และ ‘Male Feminist’ 

ภายใต้รอยยิ้มหวานและอบอุ่นของวินนั้นเต็มไปด้วยความตั้งใจที่อยากจะส่งต่อพลังบวกและสร้าง Self-Love ให้กับผู้อ่านของเขา รวมถึงพยายามสอดแทรกประเด็นความเท่าเทียมทางเพศลงไปในผลงานของตัวเอง

จุดเริ่มต้นเส้นทางการเขียนเพื่อสร้างพลังของ ‘วิน’  เริ่มจากการที่เขาเติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยว และใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กในโรงเรียนชายล้วน ทำให้เห็นปัญหาปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่ในสังคม) ด้วยความอึดอัดคับข้องใจจึงทำให้เขาปลีกตัวออกมาใช้เวลากับการเขียนเยียวยาตัวเอง และส่งต่อพลังให้กับผู้อื่น

จาก ‘เด็กอ้วนหลังห้องคนหนึ่งที่คลั่งรักของหวาน’ คนนั้น กลายมาเป็น เจ้าของผลงานเขียนและผลงานเพลงที่สร้างพลังใจแก่ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็น เพลง ‘Little Wendy’ และ ‘Miss Lonely Heart ’ หรือ หนังสือ ‘Romantic!! (ร้าย)’ ‘รองเท้าสีชมพูกับโลกสีเอิร์ลเกรย์’ ‘โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ’ รวมถึง ผลงานล่าสุด หนังสือ ‘เธอจะไม่หลงทางบนถนนที่สร้างเอง’ และเพลง ‘Sweet Girl on Fire’

วินเชื่อว่า Soft Power นั้นมีพลังในการสื่อสารมากๆ เขาจึงอยากจะเป็นศิลปินที่ส่งต่อสารเหล่านี้ไปสู่สังคม เป็นคนๆ หนึ่งที่ช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ให้เบ่งบานในสังคม และคาดหวังว่าวันหนึ่งโลกของเราจะมี ‘ความเท่าเทียม’ จริงๆ เสียที

“เราอยากเป็นจุดเล็กๆ เพื่อประคองสิ่งนี้ และส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ต่อไป”

ทำไมวินถึงสนใจงานเขียน?

ย้อนกลับไปสมัยเรียน เราเรียนชายล้วนมาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย ซึ่งการเรียนชายล้วนก็ทำให้เราเห็นโครงสร้างที่น่าหดหู่ ทั้งอำนาจนิยม ชายเป็นใหญ่ เราเห็นเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ ถูกบูลลี่ทุกวัน พอเห็นความ Sexism (เหยียดเพศ) ในคลาส เลยรู้สึกว่าเราไม่เข้ากับตรงนี้ครับ

พอรู้สึกไม่เข้ากับคลาส ก็เลยกลายเป็นเด็กที่ใช้เวลากับตัวเอง เข้าห้องสมุด หรือไปเล่นดนตรี เพราะการอ่านหนังสือเหมือนทำให้เรามีเพื่อน แถมเราก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็ก outcast (ปลีกตัวจากสังคม) ในห้อง เลยไม่อยากอยู่ในห้องเรียน อยากหนีไปห้องสมุดหรือร้านหนังสือ

เราชอบอ่านหนังสือและเขียนไดอารี่มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการเขียนไดอารี่ก็เหมือนเป็นการ therapy (บำบัด) ตัวเองจากโรคซึมเศร้า ซึ่งพอมองย้อนกลับไป ก็คิดว่าเราซึมเศร้าเพราะสังคมด้วย ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร แต่มาเข้าใจหลังจากนั้นว่าเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยอำนาจนิยม ปิตาธิปไตย เห็นคนมองคนไม่เท่ากัน และเห็น LGBTQ+ ที่ถูกบูลลี่ ทำให้เรารู้สึกแย่มาก

ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเผยแพร่งานเขียน เราก็จะชอบเข้าตามบอร์ดต่างๆ แล้วเอางานที่เขียนไว้ไปเผยแพร่ในเว็บบอร์ด ก็ไม่ได้คิดถึงกระแสตอบรับอะไรขนาดนั้น แค่อยากแชร์เฉยๆ เพราะเราเขียนแล้วเราแฮปปี้ อยากให้คนได้อ่านบ้าง

แต่สมัยนั้นก็ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับ Social Issue (ปัญหาสังคม) สักเท่าไหร่ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุยกับตัวเอง และเกี่ยวกับ Mental Health (สุขภาพจิต) มากกว่า

รู้สึกว่าตัวเองเป็น Feminist ตั้งแต่ตอนไหน?

จริงๆ เราก็โตมากับ Single Mom เราก็จะเห็นการถูกกดขี่ของผู้หญิง เลยได้เรียนรู้คำว่า ‘Girl Power’ จากคุณแม่ที่เป็นผู้หญิงสายสตรองและเป็นไอดอลของเรา 

ก็เห็นว่าในสังคมการทำงานหรือการใช้ชีวิตเนี่ย ทำไมเขาถึงทรีตผู้หญิงแบบนี้ ทำไมผู้หญิงถึงเป็น second sex ที่ต้องเป็นรองตลอด หรือดีเทลยิบย่อย อย่างเช่น เวลาเราเขียนชื่อผู้หญิงกับผู้ชาย ทำไมชื่อผู้ชายต้องมาก่อนเสมอ

หรือแม้แต่การ Stereotype (เหมารวม) ที่อาชีพนี้ผู้หญิงเป็นไม่ได้ หรือต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นถึงจะทำได้ เช่น พยาบาลต้องเป็นผู้หญิง ผู้บริหารต้องเป็นผู้ชาย

แต่เรามีจุดเปลี่ยนตอนที่พอเรียนจบ ม.ปลาย และได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่นิวยอร์ก พอได้เห็นสังคมที่นั่น เห็นความกว้างขวาง ความสวยงามของวัฒนธรรม และผู้คน ก็รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับนิวยอร์กมากๆ

เราตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ทำไมอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในโรงเรียนชายล้วนทำให้เรารู้สึกแย่ขนาดนี้? แต่ในทางตรงกันข้าม พอไปอยู่ในนิวยอร์กกลับรู้สึกเป็นตัวเอง

พอเห็นความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ โลกของเรามีอะไรอีกมากเลย ยิ่งทำให้จุดประกายว่า คนทุกคนมีความหลากหลายและมีสิทธิ์แสดงออกมาในแบบที่ตัวเองเป็น 

เราไปเจอพวกร้านหนังสือที่ชั้นหนังสือเต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับเฟมินิสต์ ที่อลังการมากและมีทุกสิ่งที่เราต้องการ ไปค้นพบกวีและ Poet ของ Audre Lorde ที่เป็นนักเขียนตัวแม่ในเรื่องเฟมินิสต์ เรียกได้ว่าผลงานเขาเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของเราเลย เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเราถึงเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์

‘โรแมนติกร้าย’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถ้าชีวิตเราเป็นซีรีส์ ชื่อ ‘โรแมนติกร้าย’ จะมาในซีซั่นสอง เพราะซีซั่นแรกคือเรื่องราวของเด็กอ้วนที่เขียนเพื่อฮีลตัวเอง และพยายามจะส่งต่อพลังให้กับคนอื่น

แต่พอซีซั่นสอง หลังจากที่เราค้นพบไอดอลของเรา ไม่ว่าจะเป็น Audre Lorde หรือ Adichie (Chimamanda Ngozi Adichie) ที่เป็นคนเขียนหนังสือ ‘We Should All Be Feminists’ สองคนนี้มีส่วนทำให้เราเข้าใจคำว่าเฟมินิสต์มากขึ้น และกล้าที่จะนิยามตัวเองว่าเป็น Male Feminist นี่เลยเป็นจุดกำเนิดของ ‘โรแมนติกร้าย’ ครับ ซึ่งนี่ก็จะไม่ใช่แค่กวีที่มอบพลังอย่างเดียวแล้ว เพราะเราจะสอดแทรกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้าไปในกวีด้วย 

และที่เราเลือกใช้สีชมพูใน ‘โรแมนติกร้าย’ เพราะว่าเป็นเหตุผลในเชิง Activism เราคิดว่าเรื่องสีมัน Genderless (ไร้เพศ) ผู้ชายก็ชอบสีชมพูได้ และผู้หญิงไม่จำเป็นต้องอ่อนหวานเสมอไป ผู้ชายก็สามารถดูหนังโรแมนติกแล้วร้องไห้ได้เหมือนกัน มันไม่มีกรอบ

เลยเลือกที่จะนำเสนอ Visual (ภาพลักษณ์) ของบทกวีหรืองานศิลปะเราเป็นสีชมพู เพราะเราต้องการบอกกับสังคมว่า ผู้ชายก็ชอบสีชมพูได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในทาง emotion เราคิดว่าสีชมพูคือสีที่เห็นแล้วมีความสุขครับ

ทำไมถึงเลือกที่จะสื่อสารประเด็นเฟมินิสต์ผ่านบทกวีและศิลปะ?

หลายคนอาจจะบอกว่า ‘กวีตายแล้ว’ ‘เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอ่านบทกวีหรอก’ เราก็อยากจะท้าทายสังคมด้วยว่า จริงๆ แล้วกวีไม่ตายหรอก แต่มันสามารถอยู่ในทุกที่ได้ สามารถอยู่ในมีเดียได้ อยู่บนเสื้อ บนฟิล์มภาพถ่ายก็ได้ แล้วตัวเราเองก็เป็นคนที่เชื่อในพลังของ Soft Power มากๆ เพราะการเมืองอยู่ในทุกที่

จริงๆ แล้วการเมืองในเชิงวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้การเมืองในระบบด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้สารเหล่านี้ไปถึงตัวผู้คนได้ ก็คืองานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพลง บทกวี หรือหนังสือ 

เราคิดว่าอะไรที่มันทัชใจคน จะมีพลังและสามารถเปลี่ยนสังคมและโลกได้ เลยคิดว่า Soft Power มีผลรุนแรงมาก เพราะเราเป็นคนที่ได้รับอิทธิพลจาก Soft Power เยอะมากๆ คือหนังสือบางเล่มสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้เลย มันเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกและมนุษย์ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ โดยพยายามจะสอดแทรก Social Issue (ปัญหาสังคม) และ Gender Equality (ความเท่าเทียมทางเพศ) เข้าไปในงานของเรา

อยากจะสร้างความเข้าใจว่า ‘ผู้ชายก็เป็นเฟมินิสต์ได้’ อย่างไรบ้าง?

จริงๆ แล้วต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจก่อนว่า ความหมายของคำว่า Feminism (แนวคิดสตรีนิยม)  คืออะไร มันคือการสู้เพื่อทุกคน ทุกเพศ เราสู้เพื่อผู้หญิง เพื่อ LGBTQ+  และเพื่อผู้ชายด้วย มันไม่ใช่เพื่อการสู้เพื่อผู้หญิงอย่างเดียว ไม่ใช่การที่สร้างให้ผู้หญิงเหนือกว่าผู้ชาย ซึ่งอันนี้เป็นปัญหามากที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ 

เรามองว่าตอนนี้ Feminism มีปัญหาในการสร้างความเข้าใจในวงกว้าง แก่นหลักของมันเลยถูกบิดเบือนไป และบางคนก็อาจจะยังงงว่า ผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์แสดงว่าต้องเป็นเกย์หรือเปล่า ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย 

อย่างเคสการแอนตี้เฟมินิสต์ที่เกาหลีก็เห็นได้ชัดเลยว่าเฟมินิสต์นั้นมีปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจในวงกว้าง เลยมีคนต่อต้านกันเยอะ เพราะเขาเข้าใจผิดว่าเฟมินิสต์ต้องยกผู้หญิงให้สูงกว่าผู้ชาย อีกอย่างคือตัวคำว่าเฟมินิสต์ ที่ทำให้คนเข้าใจแบบนั้น คำนี้เลยกลายเป็นดาบสองคม ในมุมหนึ่งก็ช่วยสะท้อนปัญหาให้เห็น แต่ในมุมหนึ่งก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้

ในมุมมองของวิน มองว่าปัญหา ‘ปิตาธิปไตย’ ในสังคมไทยเป็นอย่างไร?

มองว่าเราต้องเดินและแก้กันอีกไกลเลยครับ พอพูดเรื่องปิตาธิปไตยในสังคมไทยก็ต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องโครงสร้างสังคม ห้องเรียน หรือแม้แต่ระบบการศึกษา เพราะเราจะเห็นชัดเลยว่าผู้ชายมักจะเป็นใหญ่เสมอ แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการใช้ชีวิตในกรุงเทพ เพราะเพื่อนผู้หญิงของเราบอกเสมอว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพนั้นเป็นเรื่องไม่เซฟ ผู้หญิงหลายคนแทบจะไม่กล้าเดินไปตามถนนคนเดียว ยิ่งตอนค่ำๆ ดึกๆ ยิ่งแล้วใหญ่ นี่เลยเป็นเหตุผลที่เรามองว่าทำไมประเทศไทยถึงยังต้องเดินอีกไกล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย

แล้วโดยส่วนตัวเคยถูกกดทับจากปิตาธิปไตยบ้างไหม?

สำหรับเราคือเรื่องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เพราะเราโตมากับคำว่า ‘ผู้ชายห้ามอ่อนไหว’ ‘ผู้ชายห้ามร้องไห้’ หรือ โดนตั้งคำถามว่าชอบสีชมพูแปลว่าเป็นตุ๊ดหรือเปล่า จะเป็นคำ Hate Speech ต่างๆ ที่โถมเข้ามาใส่ เลยรู้สึกว่าเราควรเริ่มที่ตัวเองด้วย 

อย่างคำว่าผู้ชายห้ามร้องไห้ ก็เป็นค่านิยมของสังคมที่ผู้ใหญ่พูดมาตลอด เป็นค่านิยมที่ใครก็ไม่รู้ตั้งขึ้นมา หรือ Pop Culture ที่บอกว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องตามผู้ชาย และหลายคนก็ยังอาจติดหล่มของ Male Previllege (อภิสิทธิ์ชาย) ทางแก้คือเราต้องช่วยกัน Educate คนเหล่านี้ 

แต่ถ้าให้พูดกับผู้ชายที่ยังติดอยู่ในกรอบ Toxic Masculinity (วัฒนธรรมความเป็นลูกผู้ชายที่เป็นพิษ) ก็อยากบอกว่า เป็นตัวเองเถอะครับ อย่าให้ใครมากำหนดว่าการเป็นผู้ชายที่ดีต้องเป็นแบบไหน ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็หมายถึงทุกเพศนะ คำว่าเฟมินิสต์ของเราคือการสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนทุกเพศ เพราะไม่ควรจะต้องมีใครถูกเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุผลทางเพศ

สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถจะเปลี่ยนในชั่วข้ามคืนได้ เราแค่พยายามเพาะเมล็ดพันธุ์ในสังคม เมื่อถึงเวลามันก็คงจะบานพร้อมกัน แล้วเราจะสามารถเปลี่ยนได้ เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา 

คิดเห็นอย่างไรกับภาพลักษณ์ของบ้านเราที่เหมือนเปิดกว้างในเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ?

เรามองว่าภาพลักษณ์มันเปิดกว้าง ดูเหมือนทุกคนยอมรับได้ เราเห็นการแต่งตัวที่หลากหลาย แต่ LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องของการไปเฉลิมฉลองตามงาน Pride แล้วจบกันไป เป็นเรื่องของข้อเรียกร้องทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียม และรัฐสวัสดิการที่ควรจะคุ้มครองทุกคนเท่าเทียมกัน อยากให้ตระหนักว่ามันมีเรื่องของข้อกฎหมายและความเป็นธรรมในสังคมด้วยที่เราต้องสู้กันต่อไป 

อย่าไปตัดสินใครจากภายนอกของเขา แต่ขอให้คุณเคารพความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน 

อย่าไปตัดสินว่าเพศนี้ หรือ LGBTQ+ ต้องเป็นแบบนี้ อย่าเอากรอบไปครอบใคร เพราะความเป็น LGBTQ+ มันหลากหลายมากนะ ไม่ได้แปลว่าคุณต้องแต่งตัวแซ่บทุกวัน หรือเป็นตัวแม่สายแฟ มันไม่ได้มีแค่นั้น

ส่วนเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ ก็ต้องไปกันต่อครับ ไม่ใช่แค่ในไทยด้วย แต่ทั่วโลกเลย เราต้องสู้กันไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็เขียนหนังสือ ‘โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ’ นี้ขึ้นมา เราเชื่อในคำว่า Pleasure Activism คือการขับเคลื่อนเกี่ยวกับ Social Issue ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย และตระหนักว่ามันสำคัญ

หนังสือ ‘โปรดอย่าใจร้ายกับหัวใจของเธอ’ จึงเป็นสิ่งที่อยากบอกกับคนอ่านว่า “อย่าใจร้ายกับตัวเองในทุกมิติเลยครับ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักหรือเรื่องอะไร เพราะไม่ว่าเราจะสมหวังในความรักหรือไม่ แต่ก็อย่าลืมความน่ารักและคุณค่าในตัวเอง อย่าให้ใครมาเปลี่ยนในสิ่งที่เราเป็น อย่างตัวเราเอง ก็จะเป็นสีชมพูในโลกที่เป็นสีดำต่อไป แล้วก็อย่าปล่อยให้สังคมใจร้ายกับเราด้วย

เพราะเราคิดว่า Pleasure Activism มันสำคัญนะ ถ้าเราพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศตรงๆ ก็อาจจะไม่ดึงดูดสำหรับบางคน แต่ถ้าเรานำเสนอออกมาในรูปแบบถึงเข้าถึงได้ง่ายจะทำให้ไปได้ไกลมาก เราเลยอยากเป็นคนคนนั้นที่ทำให้คนตระหนักว่า ทำไมเราต้องเป็นเฟมินิสต์

เพราะคนที่เขียนเรื่อง Feminism ที่ดีมีเยอะแล้ว แต่คนที่พูดว่า ‘ทำไมเราถึงต้องแคร์เรื่องนี้’ มันมีน้อยมาก เราเลยอยากเป็นคนๆ นั้น

สุดท้ายอยากจะฝากอะไรถึงคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเฟมินิสต์และความเท่าเทียม?

อยากบอกว่า เฟมินิสต์เป็นสิ่งที่ง่ายมาก แค่คุณเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนว่ามันเท่ากัน และอย่าเอากรอบไปครอบใคร

จริงๆ อยากให้ไปอยู่ในจุดที่ใช้คำว่า Humanism (มนุษยนิยม) ได้ด้วยซ้ำ เพราะถ้าวันหนึ่ง สังคมอยู่ถูกที่ถูกทางจริงๆ เราจะไม่ต้องการคำว่า Feminism แล้ว แต่ที่ตอนนี้เราต้องให้ความสำคัญกับเฟมินิสต์ เพราะเหมือนเป็นการขีดเส้นใต้ว่าปัญหาที่เราต้องไปต่อนั้นมีอะไรบ้าง 

ปัญหาตอนนี้คือปิตาธิปไตยไปกดทับในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ในกฎหมาย แต่อยู่ในทุกที่เลย กดทับแม้แต่ผู้ชายด้วยกันเอง เราเองก็ได้รับผลกระทบกับปิตาธิปไตย เผชิญกับ Toxic Masculinity มาตลอดชีวิต

และอยากให้ทุกคน Take action บางอย่าง อย่าไปคิดว่าเสียงเล็กๆ จะไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ เพราะทุกคนมีเสียงกันหมด และทุกคนเปลี่ยนสังคมได้ จะเล็กน้อยก็เปลี่ยนได้ ถ้าเพื่อนคุณไม่เข้าใจ เราก็แค่บอกเพื่อนให้เข้าใจ ในที่สุดวันหนึ่งเพื่อนคุณอาจจะกลายเป็นเฟมินิสต์และไปบอกคนอื่นต่อก็ได้ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องทำสิ่งพวกนี้ และทำยังไงก็ได้ให้คนรักษาหัวใจของมันไว้แล้วส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

สำหรับตัวเราเอง ก็ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าเราจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมเปลี่ยนได้ขนาดนั้น แต่เราอยากเป็นจุดเล็กๆ เพื่อประคองและส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ต่อไป เหมือนกับ Audre Lorde และ Adichie ที่คอยปลูกเมล็ดพันธุ์สำหรับคนเจนต่อไป 

เฟมินิสต์เป็นสิ่งที่ผู้ชายทุกคนต้องสนใจ เพราะถ้าคุณมี Self-Love ให้ตัวเอง มีผู้หญิงที่คุณรักในชีวิต แล้วทำไมคุณถึงไม่เป็นเฟมินิสต์ล่ะ ในเมื่อมันเป็นเรื่องของทุกคน

Tags:

เพศSoft powerปัญหาสังคมความเท่าเทียมทางเพศวิน นิมมานวรวุฒิFeminismโรแมนติกร้าย

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Social Issues
    ไม่ยุบ ไม่ควบรวม แต่ร่วมกันพัฒนา ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ของชุมชน เพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทย

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Movie
    Love, Simon: สักกี่บ้านที่ลูกรู้สึกไม่โดดเดี่ยว สักกี่ครอบครัวที่ไม่คาดหวังให้ลูกเป็นอะไรเลย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    โอบกอดลูกในวันที่เขาขอเลือก ‘เพศ’ เอง : คุยกับคุณแม่เจ้าของเพจ LGBTQ+’s Mother ‘อังสุมาลิน อากาศน่วม’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Dear ParentsMovie
    Never Have I Ever แม้ไม่ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของแม่ แต่ยังอยากได้ยิน ‘แม่ภูมิใจในตัวลูกนะ’

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

  • Family Psychology
    คุยเรื่องเพศไม่ต้องกระซิบ: สร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ให้ลูกกลัวถูกตำหนิ สบายใจที่จะแชร์

    เรื่องและภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เรื่องเล่าของคนนอนไม่หลับ
How to enjoy life
22 February 2023

เรื่องเล่าของคนนอนไม่หลับ

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • นอนไม่หลับ เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งสภาพของร่างกายก็ทำให้นอนไม่หลับอย่างความเจ็บป่วย หรือความเครียดและความวิตกกังวล
  • ปัญหาตัวร้ายของคนนอนไม่หลับเรื้อรังคือ การกังวลว่าจะนอนไม่หลับ กังวลว่าจะนอนไม่พอ คิดถึงผลเสียของการนอนน้อยว่าจะเกิดผลร้ายแรงเกินจริง และหมกมุ่นว่าตัวเองมีชั่วโมงที่นอนหลับน้อยเกินไป
  • ข้อแนะนำที่ลดความเครียดตอนนอนไม่หลับได้ดีคือ ‘ไม่หลับก็ไม่หลับ’ เราทำอะไรกับมันไม่ได้ ให้ร่างกายได้พักผ่อนแบบอื่นไป แม้สมองจะไม่ได้พักดีเท่านอนหลับ แต่จะพักได้ดีกว่าตอนเครียดแน่นอน

‘นอนไม่หลับ’ เป็นเรื่องที่ฟังดูธรรมดามากๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิดครับ คนที่ไม่เคยนอนไม่หลับหรือนานๆ ทีถึงจะเป็นอาจจะไม่เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ตรงไหน แต่การนอนไม่หลับนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับคนจำนวนมากทีเดียว และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

ในประเทศไทยเองกรมสุขภาพจิตเคยสำรวจไปใน พ.ศ. 2563 พบว่ามีผู้ใหญ่ที่เคยมีปัญหานอนไม่หลับถึงร้อยละ 40 ทีเดียว ผมเองก็เป็นคนหนึ่งในคนที่ทรมานกับเรื่องนี้จนวันหนึ่งทนไม่ไหวจนตัดสินใจไปปรึกษาจิตแพทย์ ตอนนี้แม้จะอาการจะดีขึ้นแต่ก็ยังพบปัญหานี้เป็นบางครั้ง จากที่ผมเองมีประสบการณ์ตรงในการพยายามแก้ไขปัญหานี้ ได้ความรู้จากการพบแพทย์และนักจิตวิทยา รวมถึงจากการอ่านงานวิจัยต่างๆ เลยคิดว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน วันนี้เลยมาขอชวนคุยเรื่องนอนไม่หลับกันครับ

นอนไม่หลับนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งสภาพของร่างกายก็ทำให้นอนไม่หลับอย่างความเจ็บป่วย โรคบางอย่างทำให้รู้สึกเจ็บปวดบางที่จนรบกวนการนอน หรือบางคนต้องกินยาบางประเภทที่มีผลข้างเคียงคือนอนไม่หลับ นอกจากนี้อีกสาเหตุสำคัญของการนอนไม่หลับคือภาวะของจิตใจ เราคงจะคุ้นเคยกันดีว่าความเครียดและความวิตกกังวลทำให้นอนไม่หลับได้ บางครั้งนอนไม่หลับก็เกิดขึ้นเองอย่างไม่มีสาเหตุ นานๆ เป็นที ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่มีอันตรายอะไร แต่หากการนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ่อยและเกิดเรื้อรังจนรบกวนชีวิต การทำงาน สุขภาพ นั่นอาจจะถือว่าเริ่มเป็น ‘โรค’ ตัวผมเองและคนใกล้ตัวหลายคนนั้นเป็นโรคนอนไม่หลับด้วยสาเหตุอย่างหลังคือเรื่องของความวิตกกังวล วันนี้ผมจึงขอเน้นประเด็นดังกล่าวในบทความนี้ครับ

เมื่อคนเราอยู่ในภาวะวิตกกังวล ไม่ใช่เพียงแค่จิตใจจะฟุ้งซ่าน และรู้สึกกระสับกระส่าย แต่อวัยวะในร่างกายจะตอบสนองให้ร่างกายจะตื่นตัว หัวใจจะเต้นแรง และไวต่อการรบกวนต่างๆ สร้างภาวะที่หลับได้ยากขึ้นอีกด้วย 

หากมองในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว อารมณ์ทางลบคือการรับรู้อันตราย ทำให้คนต้องระวัง และการหลับไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีตอนเราอยู่ในภาวะอันตราย แต่อารมณ์ของมนุษย์นั้นก็ซับซ้อนมากขึ้นไปตามสังคม เราเครียดและกังวลกับสิ่งที่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายก็ได้ เรามีเรื่องกังวลเยอะไปหมด นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่การนอนไม่หลับนั้นกลายเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคม 

หากเจ้าตัวรู้ว่ากำลังกังวลเรื่องอะไร เช่น เรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว เมื่อคลี่คลายปัญหานั้นได้ การนอนไม่หลับอาจจะดีขึ้น เพราะความกังวลก็จะลดลงไป แต่ปัญหาตัวร้ายของคนนอนไม่หลับเรื้อรังคือ การกังวลว่าจะนอนไม่หลับ กังวลว่าจะนอนไม่พอ กังวลเพราะรู้ว่านอนไม่หลับแล้วร่างกายจะแย่ จะรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงเกินไปในวันพรุ่งนี้ ความกังวลแบบนี้อาจจะกำเริบได้ง่าย ๆ เช่น นอนไม่หลับหากวันต่อไปต้องตื่นเช้ากว่าปกติ เหตุผลหนึ่งที่การนอนกลายเป็นหัวข้อกังวลเสียเองเพราะการนอนไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้สมบูรณ์ เราสั่งให้ตัวเองหลับไม่ได้ทุกครั้ง (ถึงคนที่นอนหลับง่ายๆ อาจจะทำได้ก็ตาม) อยากจะหลับเพราะเหนื่อย พรุ่งนี้ก็ต้องตื่นแต่เช้า แต่ทำยังไงมันก็ไม่ยอมหลับ การควบคุมไม่ได้ตรงนี้จึงสร้างความวิตกกังวลจนถึงความกลัว 

พอนอนไม่หลับบ่อยๆ จะทำให้รู้สึกกังวลทุกครั้งที่เข้านอน ความกังวลก็จะยิ่งกระตุ้นร่างกายให้หลับยาก และส่งผลให้นอนไม่หลับจริงๆ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยิ่งทำให้คนนั้นกังวลเรื่องการนอนขึ้นไปอีก และกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง

งานวิจัยพบว่าคนที่นอนไม่หลับส่วนหนึ่งเพราะคิดถึงผลเสียของการนอนน้อยว่าจะเกิดผลร้ายแรงเกินจริง และหมกมุ่นว่าตัวเองมีชั่วโมงที่นอนหลับน้อยเกินไป ตระหนกเกินไปเมื่ออยู่ๆ ก็นอนไม่หลับ ว่าจะเป็นอะไรร้ายแรงหรือเปล่า พอนอนไม่หลับก็กังวลว่าร่างกายจะพัง จะทรุดโทรม พรุ่งนี้จะง่วงจนทำอะไรไม่ได้ไปต่างๆ นานา จริงอยู่ครับว่าการนอนน้อยไปเกิดผลเสียคือเรื่องจริง แต่การกดดันตัวเองที่นอนน้อยเพราะนอนไม่หลับมีผลเสียกว่า เพราะกลายเป็นสร้างความเครียดให้กับร่างกายเพิ่ม แถมคนที่หมกมุ่นกับผลเสียของนอนไม่หลับยิ่งทำให้นอนไม่หลับ

หากจะคิดง่ายๆ ว่า ก็เลิกกังวลเสีย ปัญหานอนไม่หลับก็จะดีขึ้นเอง นั่นก็เป็นคำตอบที่ถูกนะครับ แต่มันเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยากมาก เพราะหลายๆ คนคงรู้ดีว่าการห้ามอะไรห้ามได้ แต่ห้ามไม่ให้กังวลนั้นมันยากเหลือเกิน แล้วเราจะทำอย่างไรกับการนอนไม่หลับเพราะความวิตกกังวลได้บ้าง

หากอาการนอนไม่หลับยังไม่หนักหนามากนัก และยังคิดว่ายังอยากแก้ไขด้วยตนเองก่อน ก็มีคำแนะนำมากมายที่สื่อสุขภาพและแพทย์หลาย ๆ ท่านนิยมแนะนำ เช่น อย่าทำอย่างอื่นในห้องนอนนอกจากใช้นอน อย่านอนกลางวัน นอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ออกกำลังกายให้ร่างกายเหนื่อยจะได้หลับง่าย ทำสมาธิเพื่อให้ไม่ฟุ้งซ่าน ปรับอุณหภูมิของห้องนอนให้ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป หรือถ้านอนไม่หลับให้ลุกมาทำสิ่งอื่นแทน อย่าทนนอนไม่หลับบนเตียงนานๆ ให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่นจนกว่าจะง่วงแล้วค่อยกลับไปนอน อย่าใช้อุปกรณ์ที่มีแสงสีฟ้าอย่างคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือก่อนนอนหนึ่งชั่วโมง อย่าดูหรืออ่านอะไรที่ทำให้ตื่นเต้นเกินไป 

วิธีพวกนี้ลองดูก็ไม่เสียหายนะครับ เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่าส่งผลต่อการนอนจริงๆ หากทำแล้วแก้ปัญหาได้ก็ถือว่าดีไป อย่างไรก็ตามหากทำข้อไหนไม่ได้ก็ไม่ควรฝืนทำ เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ข้อจำกัดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างบางคนที่อยู่ห้องเช่าหรือคอนโดอาจจะต้องใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางคนด้วยงานทำให้ต้องนอนไม่เป็นเวลา และอย่าคิดว่าถ้าทำสิ่งดังกล่าวไม่ได้จะนอนไม่หลับแน่ๆ อย่าให้ ‘ทางที่อาจช่วย’ กลายเป็น ‘เรื่องทำให้เครียด’ หรือ ‘เรื่องที่กดดันให้ทำ’ หรือถ้าทำตามทุกอย่างแล้วยังไม่หลับก็ไม่ต้องวิตก ยังไม่มีวิธีไหนทำให้นอนหลับร้อยเปอร์เซ็นต์ และวิธีที่ทำให้นอนหลับของบางคนอาจจะทำให้อีกคนไม่หลับ ส่วนตัวผมเองการลุกออกจากเตียงไปทำสิ่งอื่นนั้นไม่ใช่วิธีที่ได้ผลเลย เพราะพอลุกจากเตียงยิ่งไม่ง่วงและไม่อยากกลับไปนอนเข้าไปใหญ่ แต่กลับคนอื่นอาจจะได้ผลก็ได้

หากลองแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้วยังไม่ได้ผล ทางเลือกหนึ่งที่แนะนำคือการปรึกษาจิตแพทย์ หลายๆ ท่านไม่อยากไปหาจิตแพทย์เพราะไม่อยากใช้ยาแก้ไขปัญหานี้ มองว่ายาควรกินเมื่อจำเป็นเท่านั้น กลัวว่ายาจิตเวชจะมีผลข้างเคียง กลัวว่าจะกินยาเยอะเกินไป แต่ผมอยากบอกว่าหากท่านยังมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังอยู่ ผมคิดว่าจำเป็นแล้วที่จะต้องลองพึ่งยาดูบ้าง 

ส่วนใหญ่แล้ว การใช้ยารักษาอาการนอนไม่หลับเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะยาว แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการรักษา ยาอาจทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะถ้าเรา ‘ถูกกับยา’ ตัวนั้นด้วยจะหลับได้ง่ายจนน่าทึ่ง เมื่อใช้สักระยะจนผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งจะไปช่วยลดความกลัวและความกังวลว่าจะนอนไม่หลับ การลดความกังวลตรงนี้จะช่วยตัดวงจรอุบาทว์ที่ทำให้นอนไม่หลับเรื้อรังที่เราได้พูดถึงกันไปแล้ว และเมื่อตัดวงจรได้ ก็ทำให้หลับง่ายขึ้นแม้ไม่ต้องใช้ยา

ท่านไม่ต้องกังวลว่ายาจิตเวชที่แพทย์สั่งจะอันตรายหรือเกิดผลข้างเคียงที่น่ากลัว จริงๆ แล้วยาที่เราใช้กันแบบสนิทใจอย่างยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ (ที่เรานิยมเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ) ยาแก้ไอ ทุกอย่างนี้ล้วนแต่มีผลข้างเคียงทั้งนั้น แต่ผลข้างเคียงรุนแรงของยาทุกประเภทที่ใช้กันมักจะมีโอกาสเกิดน้อยมากหากใช้อย่างเหมาะสม (เราเลยไม่กลัวกันเวลาใช้ยาที่เราคุ้นชิน) ยาจิตเวชส่วนใหญ่ก็เช่นกัน และถ้าเกิดบังเอิญเกิดผลข้างเคียง ก็แค่เปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น เช่นเดียวกับหากเริ่มกินยาแล้วไม่ได้ผล ยังไม่หลับเหมือนเดิม ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะยาจิตเวชมีหลากหลายประเภทมากที่ช่วยในกลไกที่ต่างกันไปด้านการนอน 

หลายๆ คนนอนไม่หลับเพราะโรคทางจิตและประสาทอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล คือมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลในชีวิตมากเกินไป และไปกระทบให้ร่างกายตื่นตัวตอนที่จะนอนเลยนอนไม่หลับ การได้รับยาลดวิตกกังวลจะช่วยทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น 

บางคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรควิตกกังวล รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข แต่พอไปหาจิตแพทย์เพราะว่านอนไม่หลับ ก็ทำให้พบว่าที่นอนไม่หลับก็เพราะโรควิตกกังวลนี่เอง 

ซึ่งการรักษาในส่วนนี้นอกจากจะทำให้นอนหลับง่ายขึ้นแล้วยังพัฒนาชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย

ยาทางจิตเวชที่เกี่ยวกับการนอนหลับนั้นหาซื้อนอกโรงพยาบาลไม่ได้ครับ และถึงบังเอิญหาได้ก็อย่าซื้อใช้เองจะดีกว่า เพราะขนาดของยาที่เหมาะสมและประเภทของยาที่เหมาะกับอาการยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่ให้แพทย์เป็นคนพิจารณาจะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากกว่า

นอกจากยาแล้ว หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องการกินอาหารเสริมอย่างเมลาโทนินเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับ และตอนนี้เมลาโทนินยังมีในรูปแบบของยาที่งานวิจัยแนะนำว่าได้ผลที่ดีกว่าในรูปแบบอาหารเสริมในการบำบัดอาการนอนไม่หลับ เมลาโทนินนั้นหาซื้อได้ไม่ยากนัก แต่เท่าที่ผมถามคนรอบตัวแล้ว มีทั้งคนที่กินแล้วได้ผล และคนที่กินแล้วไม่ได้ผล และถึงแม้ว่าเมลาโทนินไม่น่าจะมีอันตรายอะไร แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้หากไม่แน่ใจ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว

การปรึกษากับนักจิตวิทยาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทางจิตและการนอนไม่หลับ โดยวิธีการช่วยเหลือหรือบำบัดนั้นจะไม่ได้ใช้ยาแต่จะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมและความคิดให้เหมาะสมกับการนอนมากขึ้น หลายๆ ข้อนั้นก็จะตรงหรือใกล้เคียงกับคำแนะนำที่ผมเล่าไว้ด้านบน แต่นักจิตวิทยา (หรือจิตแพทย์บางท่าน) อาจมีเทคนิคในการที่ทำให้เรานำข้อแนะนำเหล่านั้นไปใช้ได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น 

หลายๆ คนนั้นเป็นเหมือนกันคือรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ค่อยอยากทำเอง ต้องรอให้ใครสักคนหรือหมอมาสั่งเสียก่อน หากท่านอย่ากลองวิธีที่ไม่ใช้ยาก่อน อาจจะไปพบนักจิตวิทยาก่อนก็ได้ถ้าสะดวกใจกว่า และถ้าเกิดนักจิตวิทยาคิดแล้วว่าท่านอาจจะต้องใช้ยาเพิ่ม เขาจะแนะนำให้ท่านพบกับจิตแพทย์ต่อเองครับ

สิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่ข่าวดีแต่ขอให้ท่านรู้ไว้ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหนทางใดๆ รักษาอาการนอนไม่หลับได้ 100% แต่ส่วนใหญ่แล้วเข้ารับการบำบัดจะช่วยให้อาการดีขึ้น ไม่มากก็น้อย บางคนหายไว แต่บางคนก็ใช้เวลานาน ขอให้ท่านอย่าคาดหวังว่าไปหาหมอหรือนักจิตวิทยาแล้วจะหายทันที และยิ่งหากท่านนอนไม่หลับเรื้อรังมานานก็ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดีกว่าทนกับปัญหานี้ต่อไป อาจจะไม่ได้ดีขึ้นทันตาเห็นแต่ก็ดีกว่าไม่ยอมรักษาเลย

หลายๆ คนอาจได้รับคำแนะนำมากมายจากคนรู้จักว่าทำแบบนั้นแบบนี้แล้วช่วย ความจริงแล้ววิธีพื้นๆ ต่างๆ ที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะช่วยเท่าไรนัก เช่น ดื่มอะไรอุ่นๆ ก่อนนอน ดื่มชาสมุนไพร (สมุนไพรที่ไม่มีคาเฟอีนเช่น คาโมไมล์) ฟังเพลงเบาๆ อ่านหนังสือยากๆ ก่อนนอน จินตนาการถึงความมืดตอนนอน พวกนี้ก็ทำได้นะครับถ้าทำแล้วสบายใจ และพิจารณาแล้วว่าไม่ได้เกิดผลเสียอะไร จากประสบการณ์ของผม คำพูดที่ว่า ‘ลางเนื้อขอบลางยา’ หรือแต่ละคนก็ถูกกับวิธีรักษาที่แตกต่างกันไปเป็นเรื่องจริงอย่างมากในเรื่องการรักษาการนอนไม่หลับ ท่านอาจจะได้พบวิธีส่วนตัวง่ายๆ ที่ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นก็ได้

ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ให้เมาแล้วหลับอาจจะได้ผลกับบางท่าน แต่จากผลการวิจัยแล้วแอลกอฮอล์มักจะส่งผลเสียต่อผู้ให้นอนหลับยากขึ้นแทนในระยะยาว และยาจิตเวชทุกชนิดห้ามกินร่วมกับแอลกอฮอล์ และช่วงที่บำบัดด้วยยาก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจทำให้ผลของยาได้ผลไม่เต็มที่ ดังนั้นขอให้ชั่งใจและระวังผลเสียตรงนี้ให้ดี ส่วนท่านที่ติดชาหรือกาแฟก็ระวังเรื่องการดื่มที่อย่าให้ใกล้ช่วงเย็นจนเกินไป คนเราไวต่อคาเฟอีนต่างกัน บางคนคาเฟอีนก็อยู่ในร่างกายนาน ขนาดดื่มตอนเที่ยงวันก็ทำให้นอนไม่หลับถึงเที่ยงคืนได้ ถ้ารู้สึกว่าตัวเราเป็นแบบนั้นก็เลี่ยงๆ ไว้อย่าไปเสี่ยงดีกว่า หรือถ้าดื่มแล้วไม่หายง่วงก็ไม่ต้องดื่มก็ได้นะครับ ลดโอกาสที่รับคาเฟอีนที่ทำให้นอนหลับยากไว้ย่อมดีกว่า ส่วนท่านที่ดื่มชาหรือกาแฟแล้วกลับหลับสบาย ถ้าดื่มจำนวนแก้วไม่มากไปก็ดื่มเถอะครับ เพราะ ‘ลางเนื้อขอบลางยา’ แต่ถ้าดื่มทั้งวันอันนี้ไม่แนะนำครับเพราะแม้จะเป็นฤทธิ์ที่อ่อน แต่คาเฟอีนก็เป็นยาเสพติดประเภทหนึ่งที่ส่งผลร้ายหากใช้มากๆ ในระยะยาว

ไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ก็ตามที่รักษาเรื่องนอนหลับ อย่าทำด้วยความคาดหวังในระดับที่ตั้งหน้าตั้งตารอว่าทำแล้วจะหลับได้ในกี่นาทีหรือชั่วโมง เพราะนั่นยิ่งทำให้หมกมุ่นกับการนอนและทำให้ยิ่งไม่หลับ นอกจากนี้คนที่มีปัญหานอนไม่หลับ อย่าพยายามใส่ใจสื่อที่รณรงค์ให้คนนอนให้เพียงพอซึ่งขยันกรอกหูเราว่านอนน้อยนั้นส่งผลเสียอย่างไรบ้าง สื่อเหล่านั้นไม่ได้กำลังบอกคนที่นอนไม่หลับครับ แต่พวกเขาเน้นเรื่องนี้กับคนที่ไม่นอนด้วยความตั้งใจของตัวเองมากกว่า ส่วนคนที่นอนน้อยเพราะนอนไม่หลับอย่างเรานั้น การเสพสื่อพวกนี้มีแต่จะเพิ่มความกังวลว่าจะนอนไม่หลับและส่งผลเสียตามที่เขากล่าวแทน 

ช่วงที่นอนไม่หลับบ่อยๆ นั้น การจัดการกับชีวิตในวันถัดไปก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ขอให้ฮึดสู้กับความง่วงและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำเป็นปกติให้รอดผ่านวันไปให้เท่าที่จำเป็น สิ่งนี้จะช่วยให้เราสบายใจขึ้น ความเชื่อที่ผิดๆ หนึ่งอย่างของการนอนไม่หลับคือคิดว่าพอไม่หลับแล้วพรุ่งนี้จะ ‘พินาศ’ ทำอะไรก็รวนไปหมด ไม่มีความสุขแน่ๆ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ต่อให้นอนไม่หลับพรุ่งนี้ก็ไม่ตาย เรายังใช้ชีวิตได้บ้างตามปกติ แม้ตะกุกตะกักไปบ้างก็ตาม 

การทำใจยอมรับได้ว่าในชีวิตจะมีบางวันที่รู้สึกไม่ดีที่นอนไม่หลับ เหมือนเรื่องอื่นที่คงไม่ได้ดั่งใจไปทั้งหมดก็เป็นอีกวิธีคิดที่ดี เพื่อให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่ทุกครั้งเวลานอนไม่หลับ คิดเสียเหมือนตอนที่เราเป็นหวัดหรือท้องเสียอย่างช่วยไม่ได้ เรายังไม่เครียดอะไรมากมายเลย

ผมเคยได้รับคำแนะนำของอาจารย์จิตวิทยาการปรึกษาท่านหนึ่ง และผมคิดว่ามีคำแนะนำท่อนหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดตอนนอนไม่หลับได้ดีคือ ‘ไม่หลับก็ไม่หลับ’ มันฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่มันคือความจริงครับ เพราะการนอนหลับไม่ได้จากมาการพยายาม เราจะเครียดไปทำไมถ้าทำอะไรกับมันไม่ได้ ดังนั้นสู้ให้ร่างกายได้พักผ่อนแบบอื่นไป การนอนไม่หลับแต่ไม่เครียดอย่างน้อยมันก็ได้พักกาย และสมองเองถึงจะไม่ได้พักดีเท่านอนหลับ แต่จะพักได้ดีกว่าตอนเครียดแน่นอน ลองปล่อยวาง ให้มันผ่านคืนนี้ไปแล้วค่อยว่ากันใหม่พรุ่งนี้ พรุ่งนี้จะโทรมเป็นศพไปอีกวันก็ช่างปะไร ที่แน่ๆ เราจะไม่ตายเพราะนอนไม่หลับ เพราะถ้าถึงจุดหนึ่งร่างกายมันสุดทน จะเหมือนฟิวส์ขาดจนเราหลับแบบสลบไปเองครับ และคนทั่วไปมักจะไม่ค่อยถึงจุดนั้นกันหรอก ยกเว้นว่าจงใจหรือถูกบังคับให้ไม่นอน

ยาจิตเวชเองก็พัฒนาขึ้นทุกวัน ๆ ในอนาคตก็อาจจะมียาหรือหนทางรักษาอื่นๆ ที่ได้ผลกว่านี้ และทำให้รักษาง่ายกว่านี้ก็ได้ ขอให้มิตรรักชาวนอนไม่หลับทั่วโลกหลายพันล้านคนมีความหวังเข้าไว้ เพราะความหวังนั้นเป็นสิ่งสำคัญเหลือเกินกับการรักษาอาการทางใจทุกอย่างครับ

เอกสารอ้างอิง

Harvey, A. G., & Tang, N. K. (2012). (Mis) perception of sleep in insomnia: A puzzle and a resolution. Psychological bulletin, 138(1), 77.

Morin, C. M., Stone, J., Trinkle, D., Mercer, J., & Remsberg, S. (1993). Dysfunctional beliefs and attitudes about sleep among older adults with and without insomnia complaints. Psychology and aging, 8(3), 463

Trauer, J. M., Qian, M. Y., Doyle, J. S., Rajaratnam, S. M., & Cunnington, D. (2015). Cognitive behavioral therapy for chronic insomnia: a systematic review and meta-analysis. Annals of internal medicine, 163(3), 191-204.

https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30519

Tags:

ความเครียดนอนไม่หลับinsomniaความวิตกกังวลโรควิตกกังวลจิตเวช

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Dr.Yongyud-1
    How to enjoy life
    จิตวิทยาสติ (Modern Mindfulness) ทางเลือกในการดูแลจิตใจและรับมือกับความเครียด: นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • brain-rot-nologo
    Adolescent Brain
    Brain Rot: ‘มีมตลก&คอนเทนต์โง่ๆ’ การเสพติดความสนุกชั่วคราวในโลกออนไลน์ที่เป็นภัยต่อสมองเด็ก

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    นิสัยเสียที่ฝังในยีน

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenager
    ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.1 ‘I feel hopeless.’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Social Issues
    ในวันที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสังคมไม่โอเค : คุยกับสมภพ แจ่มจันทร์ Knowing Mind

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู
Transformative learning
21 February 2023

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู

เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ’ ตอนที่ 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช
  • สาระในบันทึกนี้เสนอแนะการดำเนินการเพื่อเอื้อให้เกิดความเป็นผู้ก่อการของครู รวมทั้งเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาของตัวระบบการศึกษาเองด้วย (ในด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และขีดความสามารถ) โดยเสนอแนะการดำเนินการใน ๓ ระดับคือ ระดับนโยบายภาพใหญ่ของหลักสูตร ระดับการจัดการการดำเนินการหลักสูตร และระดับการประยุกต์ใช้หลักสูตร
  • การดำเนินการระดับมหภาคในการกำหนดนโยบายของหลักสูตร ควรกำหนดกว้างๆ ในลักษณะกรอบแนวทาง (guiding framework) เปิดโอกาสให้ครูร่วมกันใช้วิจารณญาณ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ทั้งผลงานที่สอดคล้องตามบริบทความเป็นจริง และครูได้พัฒนาความเป็นผู้ก่อการ 

บันทึกชุด เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ นี้ ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Teacher Agency: An Ecological Approach (2015) เพื่อหนุนการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะของไทย ให้เป็นหลักสูตรที่มีครูเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” (co-creator) โดยขอย้ำว่า ผมเขียนบันทึกชุดนี้แบบตีความสุดๆ ในหลายส่วนได้เสนอมุมมองของตนเองลงไปด้วย ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อย่าเชื่อโดยง่าย

บันทึกที่ ๙ นี้ ตีความจาก Conclusions: Fostering Teacher Agency    

โปรดสังเกตว่า ความเป็นผู้ก่อการของครูเป็นเครื่องมือ (means) หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง (journey) ไม่ใช่เป้าหมายของการเดินทาง โดยที่เป้าหมาย (end/goal) คือระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง เป็นระบบที่ฉลาดหรือเรียนรู้ นำสู่เป้าหมายสุดท้ายคือการสร้างพลเมืองในอนาคตที่เป็นคนเต็มคน พัฒนาเต็มศักยภาพ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ เป็นผู้สร้างสรรค์สังคม ไม่ใช่เรียนเพียงเพื่อสอบผ่าน หรือเพื่อเป็นบันไดสู่การศึกษาขั้นสูงขึ้น

หากไม่ระวัง ระบบการศึกษาหลงทางได้ง่าย เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อนและเป็นพลวัต การจัดการระบบการศึกษาจึงหลงไปจับหรือเน้นที่ผลลัพธ์ที่มองเห็นง่าย ซึ่งมักจะเป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของเป้าหมายที่แท้จริง หรือเป้าหมายที่ทรงคุณค่า ที่พอจะส่งมอบผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และแนวทางนั้น คือแนวทางของลัทธิบูชาผลงาน และระบบควบคุมติดตามผลงานแบบตายตัว ที่ตัวของมันเองมีส่วนปิดกั้นหรือลดทอนความเป็นผู้ก่อการของครู เพราะมันสร้างระบบนิเวศของการทำงานที่ปิดกั้นความเป็นตัวของตัวเองของครู ปิดกั้นทางเลือกในการปฏิบัติงานของครู ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ความเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ฉลาดหรือไม่มีการเรียนรู้ เพราะขาดปัจจัยสำคัญคือครูผู้ก่อการ ที่ทำงานเชิงสร้างสรรค์จากหน้างาน ส่งสัญญาณขึ้นมายังระบบภาพใหญ่ให้เป็นระบบที่ฉลาดหรือเรียนรู้ ขาดบทบาทครูผู้ก่อการเสียแล้ว ระบบการศึกษาไม่มีทางเป็นระบบที่ฉลาดและเรียนรู้ได้ และไม่มีทางบรรลุเป้าหมายสูงส่งของการศึกษาได้

สาระในบันทึกนี้เสนอแนะการดำเนินการเพื่อเอื้อให้เกิดความเป็นผู้ก่อการของครู รวมทั้งเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาของตัวระบบการศึกษาเองด้วย (ในด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และขีดความสามารถ) โดยเสนอแนะการดำเนินการใน ๓ ระดับคือ ระดับนโยบายภาพใหญ่ของหลักสูตร ระดับการจัดการการดำเนินการหลักสูตร และระดับการประยุกต์ใช้หลักสูตร

การดำเนินการระดับมหภาค (Macro level) ในการกำหนดนโยบายของหลักสูตร

ผู้เขียนหนังสือ Teacher Agency เริ่มด้วยคำถามว่า หน้าที่ของนโยบายระดับสูงของหลักสูตรคืออะไร คำตอบคือที่ผ่านมา มักทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดยิบ ตั้งแต่เป้าหมาย เนื้อหา และวิธีการ จนถึงกับมีคำพูดเสียดสีว่าเป็นหลักสูตร “กันครูเข้าไปเกี่ยวข้อง” (teacher-proof curriculum) คือไม่เปิดโอกาสให้ครูได้คิด ใคร่ครวญสะท้อนคิด และใช้วิจารณญาณของตนเพื่อเลือกเป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสม ในการบรรลุเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของการศึกษา เขาบอกว่าในบางกรณีฝ่ายนโยบายไม่พอใจด้วยซ้ำ หากครูแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งที่จริงเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนความเป็นผู้ก่อการของครู

การดำเนินการระดับมหภาคในการกำหนดนโยบายของหลักสูตร ควรกำหนดกว้างๆ ในลักษณะกรอบแนวทาง (guiding framework) เปิดโอกาสให้ครูร่วมกันใช้วิจารณญาณ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ทั้งผลงานที่สอดคล้องตามบริบทความเป็นจริง และครูได้พัฒนาความเป็นผู้ก่อการ 

วาทกรรมทางการศึกษาระดับโลกที่เริ่มมานานและดำรงอยู่จนปัจจุบัน คือ “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (learning outcome) และหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based curriculum) ที่หากไม่ใช้อย่างสมดุล ก็ก่อผลเสียได้ คือเน้นเฉพาะผลลัพธ์ส่วนที่ชัดเจนและวัดได้ จนละเลยผลลัพธ์ส่วนอื่นๆ และกำหนดวิธีวัดลงรายละเอียด และมีกลไกตรวจสอบเข้มงวด ก็ตกหลุมลัทธิบูชาผลงาน (performativity) 

หนังสือจึงแนะนำให้กำหนด “ผลลัพธ์กว้างๆ” (generic outcome) เพื่อบอกทิศทาง (direction) และเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) อย่างชัดเจน รวมทั้งระบุเกี่ยวกับสาระ (content) แนวทางจัดการเรียนรู้ (pedagogy) และแนวทางวัดผล (assessment) อย่างกว้างๆ ไม่ลงรายละเอียด โดยขอย้ำว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษาต้องครบ ๓ มิติอย่างมีดุลยภาพ ดังระบุไว้ในบันทึกที่แล้ว ที่ขอนำมาย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งคือ (๑) ด้านคุณวุฒิ (qualification) (๒) ด้านพัฒนาการเชิงสังคมและอารมณ์ และ (๓) ด้านความเป็นมนุษย์ ที่มีความคิดอิสระ มีวิจารณญาณและพฤติกรรมที่เปี่ยมศีลธรรม ต้องอย่าหลงดำเนินการแบบมุ่งมิติที่ ๑ เท่านั้น 

ถึงยุคนี้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency-based curriculum) กำลังเข้าไปแทนที่หลักสูตรเน้นผลลัพธ์ และไทยเราก็กำลังยกร่างและทดลองใช้หลักสูตรนี้ เราจึงควรรับฟังข้อเสนอแนะในย่อหน้าบน เพื่อเปิดช่องให้ความเป็นผู้ก่อการของครูได้มีพื้นที่กระทำการ ซึ่งจะเป็นวงจรป้อนกลับไปช่วยเอื้อการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู เกิดวงจรเสริมพลังแบบต่อเนื่องไม่รู้จบ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา 

การดำเนินการระดับกลาง (Meso level) ของการพัฒนาหลักสูตร

นี่คือหน้าที่ของหน่วยงานระดับตีความหลักสูตรออกให้คำแนะนำแก่ครูและโรงเรียน และทำหน้าที่กำกับการใช้หลักสูตรและติดตามประเมินผล มีทั้งหน่วยงานส่วนกลางของประเทศ และเขตพื้นที่การศึกษา ที่มักตกหลุมพรางสองหลุมคือ หลุมกำหนดปัจจัยนำเข้า (input regulation) กับหลุมกำหนดปัจจัยขาออกหรือผลลัพธ์ (output regulation) ที่กำหนดลงรายละเอียดยิบในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดกลไกการตรวจสอบติดตามผลอย่างเข้มงวดจริงจัง แทนที่จะมุ่งทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน

หนังสือแนะนำวิธีทำงานของกลไกระดับกลางที่ก่อผลดีในภาพรวม ของคุณภาพการศึกษาตามเป้าหมายของหลักสูตร และมีผลส่งเสริม หรือเอื้อต่อการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครูด้วย (ซึ่งจะมีผลป้อนกลับมาส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาในระยะยาว ดังได้กล่าวมาแล้วตลอดบันทึกชุดนี้) จึงขอนำมาเล่า เพื่อสนับสนุนการทำงานพัฒนาและทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศไทย เขาแนะนำว่า

  • อย่ามุ่งตีความหลักสูตรอย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุมแทนครู อย่าแนะนำวิธีดำเนินการอย่างละเอียด จนไม่เหลืออะไรไว้ให้ครูตีความเองเลย หากทำเช่นนี้ครูก็จะไม่มีทางเลือกให้ร่วมกันคิดและตัดสินใจในการลงมือทำ และตรวจสอบผลเพื่อการเรียนรู้ของครู จงเปิดช่องให้ครูได้คิด ตัดสินใจ และตรวจสอบผล เพื่อให้ครูได้ทำหน้าที่โดยมีวงจรเรียนรู้สองชั้น (Double-loop learning)   
  • ให้มุ่งส่งเสริมให้ครูได้ตีความหาความหมายจากหลักสูตรด้วยตนเอง หรือร่วมกันกับเพื่อนครู โดยทำความเข้าใจหลักการสำคัญ (core principles) และเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) ของหลักสูตร ในหลักสูตร Curriculum for Excellence ของสก็อตแลนด์ มีหลักการสำคัญเชิงเป้าหมายต่อผู้เรียน ๔ ข้อคือ (๑) เป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จ (successful learner) (๒) เป็นบุคคลที่มั่นใจตนเอง (confident individual) (๓) เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (responsible citizen) และ (๔) เป็นผู้ทำประโยชน์แก่สังคม (effective contributor) ต้องหาทางส่งเสริมให้ครูตีความหลักการสำคัญเหล่านั้นออกเป็นสิ่งที่ครูพึงปฏิบัติ (หรือไม่ปฏิบัติ) สอดแทรกอยู่ในการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับศิษย์
  • หน่วยงานระดับกลางเองก็ต้องมีกลไกตรวจสอบตนเอง ว่าในการตีความหลักสูตรโยงเข้าสู่บริบทต่างๆ นั้น มีส่วนที่เผลอหรือหลงตีความเพี้ยนไปจากความหมายเดิมหรือไม่ หากพบให้รีบแก้โดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดความสับสน หนังสือบอกว่า เรื่องแบบนี้ได้เกิดขึ้นในสก็อตแลนด์ ในการประยุกต์ใช้หลักสูตร Curriculum for Excellence 
  • ให้ระวังอย่างที่สุด ไม่ให้การดำเนินการในระดับนี้ ทำให้หลักสูตรใหม่ กลายเป็น “หลักสูตรที่ขับเคลื่อนโดยการประเมิน” (assessment-driven curriculum)
  • พึงหลีกเลี่ยงการใช้สถิติเชิงเปรียบเทียบ หรือจัดอันดับโรงเรียน เพราะจะมีผลก่อความบิดเบี้ยวขึ้นในพฤติกรรมของโรงเรียนและของครู 
  • ระบุให้ชัดเจนว่า เขตพื้นที่การศึกษามีหน้าที่หลักด้านการสนับสนุนส่งเสริม ไม่ใช่ควบคุมบังคับบัญชา โดยหน่วยเหนือต้องตรวจสอบปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเหนือกับเขตพื้นที่การศึกษาเสียใหม่ด้วย 
  • เปลี่ยนทีมนิเทศโรงเรียน ให้มีครูที่คุ้นเคยกับบริบทของโรงเรียนนั้นๆ และเข้าใจหลักสูตรใหม่อย่างดีในระดับปฏิบัติเข้าอยู่ในทีมนิเทศ คือเน้นใช้การประเมินโดยเพื่อนครู (peer evaluation) และการประเมินตนเอง (self-evaluation) เน้นการนิเทศแบบต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แทนที่การประเมินเฉพาะคราวอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งให้การนิเทศนั้นมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู
  • ส่งเสริมให้ครูได้มีส่วนร่วมดำเนินการวิจัย เพื่อขยายโลกทัศน์ และพัฒนามุมมองเชิงลึกด้านการศึกษา ผ่านการตั้งคำถามเชิงวิชาชีพ (professional inquiry) เรื่องนี้หนังสือ Teacher Agency อ้างรายงานการวิจัยที่ใช้คำตำหนิวงการศึกษารุนแรงมาก ด้วยคำว่า anti-intellectualism – ต่อต้านกระบวนการทางปัญญา ด้วยการเน้นประเมินคุณภาพ และผลลัพธ์ โดยละเลยมิติด้านเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) และกระบวนการ (process) ผมขอย้ำว่า การส่งเสริมให้ครูตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา และร่วมกันสานเสวนา (dialogue) ทำความเข้าใจสมุฏฐานของสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในส่วนใกล้ตัว ที่กลุ่มตนอยู่ในฐานะที่จะแก้ไขปรับปรุงได้ แล้วดำเนินการโดยมีการเก็บข้อมูลและใช้ในการป้อนกลับเพื่อปรับปรุงวิธีดำเนินการ ก็จะเกิดวงจรเรียนรู้หนึ่งชั้น (single-loop learning) หากพบแนวทางที่จะขยายเป้าหมายของการดำเนินการ ก็เท่ากับเกิดการเรียนรู้สองชั้น (double-loop learning) จะส่งผลพัฒนาความเป็นครูผู้ก่อการได้สูงมาก โดยควรมีที่ปรึกษาที่คอยให้สติว่า ให้ดำเนินการอย่างสุภาพไม่ก้าวร้าว ไม่มุ่งตำหนิติเตียนใครหรือวงการหรือหน่วยงานใดทั้งสิ้น หากมีที่ปรึกษาช่วยแนะนำการเหลาโจทย์ให้คมชัด ใช้วิธีวิทยา และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำน่าเชื่อถือ ก็จะเป็นผลงานวิจัยที่นำไปเผยแพร่ได้ ยิ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ครู

สรุปว่า กลไกระดับกลาง มุ่งเอื้อหรือส่งเสริมให้ครูได้ตีความหลักสูตรใหม่เข้ากับบริบทของตนเอง เพื่อให้ครูสามารถสร้างผลงานพัฒนาศิษย์ได้ตรงตามเป้าหมายสูงส่งของหลักสูตร ซึ่งจะมีผลช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครูด้วย

การดำเนินการระดับจุลภาค (Micro level) การประยุกต์ใช้หลักสูตร

เขาบอกว่า หลักสูตรที่บอกรายละเอียดให้ครูทำ และติดตามประเมินผลตามนั้น ส่งผลให้ครูคิดเองไม่เป็น และไม่กล้าคิด เขาคัดลอกวลีของครู “ขอให้บอกชัดๆ ว่าจะให้ทำอะไรบ้าง” มาลงไว้ นี่คือคำพูดของครูที่ไม่มีความเป็นผู้ก่อการ

การดำเนินการประยุกต์ใช้หลักสูตรในระดับโรงเรียนต้องประยุกต์แบบ “ทำไปเรียนรู้ไป” และ “เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (interactive learning through action) โดยหน่วยเหนือต้องเปิดช่อง และสนับสนุนให้โรงเรียนและครูมีโอกาสตีความและทดลองดำเนินการหลักสูตรตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับบริบทของตน ซึ่งที่จริงระบบโรงเรียนก็มีเครื่องมือ PLC – Professional Learning Community อยู่แล้ว โดยเขาแนะนำวิธีส่งเสริมให้ PLC มีพลังดังต่อไปนี้

  • ผู้นำต้องนำด้วยเป้าหมายที่ทรงคุณค่า เป้าหมายระยะยาว และด้วยท่าทีปกป้องการลงมือทดลองดำเนินการในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จ 
  • มีการทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมหรือปิดกั้นการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมกับการทำงานร่วมกัน ทำอย่างไรจึงจะเกิดโครงสร้างและวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ
  • ร่วมกันทำความชัดเจนเรื่องเป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) และกระบวนการปฏิบัติงาน (process) สำหรับเป็นประทีปนำทางสู่การสร้างระบบความเชื่อของครู วาทกรรมของครู และความรู้เชิงวิชาชีพของครู ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในวิชาชีพ และในการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู

อย่าลืมว่าปฏิสัมพันธ์เชิงวิชาชีพในแนวราบ (collegial relationship) ที่ก่อความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างครู และระหว่างครูกับผู้บริหาร เป็นพลังสำคัญยิ่งต่อกิจกรรม PLC และต่อการพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของครู

เพื่อความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ไม่เฉพาะครูเท่านั้นที่ต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้ก่อการ เราต้องการพฤติกรรมนี้ในผู้ปฏิบัติงานในระบบการศึกษาทุกระดับ

สรุป

การเกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการ มีหลักการสำคัญคือ หลีกเลี่ยงการคิดแทนครู ให้เปิดช่องให้ครูคิดเองมากที่สุด ซึ่งหมายความว่า เปิดช่องให้ครูมีทางเลือกดำเนินการ เพื่อให้ครูได้มีโอกาสร่วมกันตัดสินใจและทดลองดำเนินการ ตามด้วยการเก็บข้อมูลนำมาร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิดว่าได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนตรงตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงหรือไม่ ผลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางของเป้าหมายที่ทรงคุณค่าตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือไม่ และร่วมกันหาทางปรับปรุงวิธีการดำเนินการในรอบใหม่ เท่ากับครูได้ร่วมกันหมุนวงจรการเรียนรู้หนึ่งชั้น (single-loop learning) แต่หากบังเอิญพบว่าเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สูงส่งกว่าที่คิดไว้ ก็นำเอาผลลัพธ์ที่ค้นพบเป็นเป้าหมายใหม่ และร่วมกันคิดวิธีดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่นั้นในการดำเนินการรอบใหม่ เท่ากับครูได้ร่วมกันหมุนวงจรเรียนรู้สองชั้น (double-loop learning) การเปิดช่องให้ครูมีโอกาสกำกับตนเองได้เช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการของครู

การกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรในลักษณะ เป้าหมายที่ทรงคุณค่า (purpose) และกำหนดกระบวนการ (process) ของการดำเนินการของหลักสูตรไว้อย่างกว้างๆ จะเป็นการเอื้อให้ครูพัฒนาความเป็นผู้ก่อการของตนเอง

พึงเปลี่ยนเป้าหมายของการประเมินติดตามผล จากเพื่อควบคุม ไปเป็นประเมินเพื่อส่งเสริมสนับสนุน และเพื่อการเรียนรู้

สามารถอ่านบทความ เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ ตอนที่ 1 – 8 ได้ที่นี่ 

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 1.ปณิธานสู่ระบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ของไทย – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 3. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์ – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 7. ลัทธิบูชาผลงาน – The Potential

เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 8. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง – The Potential

Tags:

ครูหนังสือเอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการTeacher AgencyTeacher Agency : An Ecological ApproachAgentic Teacherครูผู้ก่อการครูผู้กระทำการPriestleyหนังสือ-วิจารณ์

Author:

illustrator

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานและมูลนิธิหลายแห่ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 5. คลังคำและวาทกรรมของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 4. ความเชื่อและปณิธานความมุ่งมั่นของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 3. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

‘อนุญาตให้ตัวเองผิดหวังได้แต่อย่านาน’ ไดอารี่ชีวิตสาวน้อยคิดบวก ธันย์- ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์
Life classroom
20 February 2023

‘อนุญาตให้ตัวเองผิดหวังได้แต่อย่านาน’ ไดอารี่ชีวิตสาวน้อยคิดบวก ธันย์- ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ธันย์คือเด็กสาววัย 14 ปีที่ตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก หลังไปเรียนซัมเมอร์ที่สิงคโปร์และประสบอุบัติเหตุตกลงไปในราง MRT ก่อนถูกรถไฟฟ้าทับจนสูญเสียขาทั้งสองข้าง
  • หลังการพักฟื้นที่ยาวนาน ธันย์กลับมาเมืองไทยพร้อมให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยทัศนคติเชิงบวกที่เปี่ยมด้วยความหวังและพลังในการใช้ชีวิต จนใครต่อใครต่างเรียกขานเธอว่า ‘สาวน้อยคิดบวก’
  • ปัจจุบัน ธันย์มองว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นคือไดอารี่แสนรักที่เธอภูมิใจ เพราะนอกจากจะเป็นหลักสูตรเร่งรัดที่ทำให้เธอตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต บทเรียนของเธอยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย

“แกร่งดังเช่นภูผา ใหญ่และสูงเสียดฟ้า หนึ่งชีวิตคือธรรมดา กี่รอยแผลยินดีรับมา ในคราที่โลกโหดร้าย ไม่หลีกหนีไปไหน ไม่เคยคิดหวั่นไหว ตระหง่านไว้ให้ใครได้ชื่นชม หนึ่งชีวิตท่ามกลางคลื่นลม มีปะปนดีร้าย”

(เพลง ‘ดัม-มะ-ชา-ติ’ – Bodyslam)

ในวันที่รู้สึกท้อแท้กับปัญหาต่างๆ ในชีวิต เชื่อว่าหลายคนคงจะหาเพลงความหมายดีๆ สักเพลง หนังสือดีๆ สักเล่ม หรือไม่ก็ใครสักคนที่คอยปลอบประโลมความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ในใจ ชวนให้เรามองโลกอย่างมีความหวัง แม้โจทย์ชีวิตจะยากเกินรับไหว

The Potential ชวนคุยกับ ‘ธันย์’ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ นางเอก MV เพลง ดัม-มะ-ชา-ติ ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก จากกรณีเด็กหญิงชาวไทยอายุ 14 ปีประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ทับจนสูญเสียขาทั้งสองข้าง ทว่าด้วยมุมมองทัศนคติที่ดีทำให้เธอสามารถเปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ให้กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต กระทั่งสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดหลายอย่าง สู่การเป็น ‘สาวน้อยคิดบวก’ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน 

ชีวิตวัยเด็กของธันย์เป็นยังไง?

บ้านเกิดของธันย์อยู่ที่จังหวัดตรัง ครอบครัวฐานะปานกลาง พ่อแม่ทำงานค้าขาย ไม่มีพี่เลี้ยงดูแล เพราะฉะนั้นครอบครัวจะเน้นให้ช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก ใครพอทำอะไรได้ก็ทำ ไม่เป็นภาระซึ่งกันและกัน เราก็จะถูกสอนให้หาข้าวกินเอง ไปโรงเรียนเอง รับผิดชอบชีวิตตัวเอง ซึ่งจะเป็นแบบนั้นทั้งตัวธันย์และพี่สาว เพราะฉะนั้นชีวิตจึงเป็นเหมือนเด็กที่แก่นๆ หน่อยเอาตัวรอดได้ เพราะการอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีสภาวะที่ต้องดิ้นรนเยอะ ทุกเช้าต้องตื่นเองและรีบวิ่งขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนให้ทัน 

ตอนเด็กๆ ธันย์เรียนกลางๆ ค่อนไปทางแย่นิดหน่อย โชคดีที่ที่บ้านไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมว่าจะต้องเรียนได้ที่เท่านั้นเท่านี้ ยิ่งที่บ้านมีพี่น้องสองคน ซึ่งพี่สาวธันย์ได้สร้างความประทับใจให้พ่อแม่ไปหมดแล้ว ทั้งกีฬาเด่น การเรียนเริ่ด ความประพฤติดี มีชื่อติดหน้าโรงเรียน ทุกคนจำชื่อพี่ได้ คือเวลาเข้าไปในโรงเรียนทุกคนก็จะจำว่า อ้อ! นี่น้องสาวของคนนี้ พี่เป็นยังไงบ้าง ตอนเด็กเป็นแบบนั้น เราก็รู้สึกว่าเราเรียนไม่เก่งมากก็ไม่เป็นไรเพราะพ่อแม่ได้รับคำชมเรื่องพี่ไปมากแล้ว 

ฟังดูเหมือนว่าชีวิตก็มีความสุขดี แต่แน่นอนว่าธันย์ก็ต้องมีเรื่องทุกข์ใจบ้าง?

ถึงครอบครัวไม่ได้มีค่านิยมเรื่องผลการเรียน แต่เราก็รู้สึกว่าพอมาถึงจุดหนึ่ง ชีวิตก็เกิดจุดเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนไปสิงคโปร์ คือเรื่องการบูลลี่กันในโรงเรียนสมัยป.6 แม้จะไม่ใช่การบูลลี่หนักๆ แบบเป็นกลุ่มเป็นแก๊ง แต่มันเป็นการบูลลี่จากเพื่อนที่นั่งข้างเรา เพราะเราเรียนไม่เก่ง แล้วเขาก็เอาศักยภาพเรามาล้อเลียน

ตอนนั้นเราเลยรู้สึกว่าไม่ชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เพราะเหมือนเขากดดันเราเพื่อให้ตัวเองเหนือกว่า รู้สึกแย่ สภาพจิตใจไม่แฮปปี้ จากปกติเรียนได้ที่เท่าไหร่ครอบครัวก็ไม่ได้ว่า มันเลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการศึกษาของธันย์ จากที่เรียนได้ที่โหล่ๆ ก็ค่อยๆ กลับมาหาจุดที่ท้าทายหรือแก้สิ่งนั้นให้เราเรียนเก่งขึ้น หลังจากนั้นก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อย้ายโรงเรียน ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว ซึ่งโรงเรียนอื่นในต่างจังหวัดก็มีไม่กี่โรงเรียนที่จะอัพเลเวลจากที่ที่เป็นอยู่ ช่วงนั้นเลยตั้งใจเรียน เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จากเมื่อก่อนกลับมาบ้านสิ่งแรกที่ทำคือการเล่นเกมสร้างสวนสัตว์ กลายเป็นวิ่งกลับบ้านมาอ่านหนังสือสอบ ตื่นเช้าก็อ่านต่ออีก มันเหมือนหาจุดของตัวเองได้ว่าจริงๆ แล้วเราก็มีความเก่งนะ จนกระทั่งธันย์สอบติดโรงเรียนประจำจังหวัดที่แข่งขันสูงอย่างจุฬาภรณราชวิทยาลัย

ตอนนั้นมีความฝันหรือวางอนาคตไว้ไหมว่าอยากเป็นอะไร?

ตอนนั้นธันย์มีความฝันตามค่านิยม อย่างสมัยนั้นเขาฮิตอยากเข้าวงการบันเทิง เด็กหลายคนน่าจะอยากเป็นนักร้องดารา ธันย์เลยรู้สึกว่าตัวเองก็อยากเป็น หรือบางทีก็อยากเป็นแอร์โฮสเตส หรือทำอาชีพที่ได้เงินเยอะๆ มีการยอมรับทางสังคม ตอนนั้นเวลาคุณครูถามแต่ละปีก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีอาชีพที่เราอยากเป็นจริงๆ พอโตขึ้นมาหน่อย เราก็รู้แค่ว่าภาพใหญ่ๆ ของทุกอาชีพที่เราอยากเป็น คือเราอยากทำอะไรก็ได้ที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เช่น หมอหรืออาชีพอื่นที่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนอื่นดีขึ้น

ช่วงมัธยมก็เริ่มเลือกสายการเรียน ตอนนั้นรู้สึกอยากช่วยเหลือคน ธันย์เลยคิดว่าแผนการเรียนที่ซัพพอร์ตที่สุดคือวิทย์-คณิต เพราะเราไม่รู้ว่าจะเป็นแพทย์หรือเปล่าหรือจะเป็นจิตแพทย์หรืออาจจะเป็นพยาบาล ตอนนั้นเลยเลือกสายวิทย์เพราะเป็นสายที่ค่อนข้างกว้าง  

แล้วทำไมถึงได้ไปเรียนที่สิงคโปร์?

พอเรารู้สึกว่ารู้จักชีวิตที่บ้านเกิดหมดแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้ เลยอยากออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง เริ่มมีความคิดอยากไปที่ที่เราไม่เคยไป ที่ที่ไม่มีใครรู้จักเรามาก่อน และไม่รู้จะช่วยเหลือเรายังไง มันเหมือนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้ ตอนนั้นเลยตัดสินใจสอบชิงทุนพวก AFS ปรากฏว่าธันย์ได้ที่แคนาดา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปเพราะว่าระยะเวลาที่ไปกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียมันไม่คุ้ม ธันย์ก็เลยตัดสินใจลองหาวิธีการใหม่ ก็ไปรู้จักคุณลุงคนหนึ่งที่เคยไปเรียนที่สิงคโปร์มาก่อน เขาช่วยติดต่อผู้ปกครองที่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ให้ รวมถึงช่วยจัดการเรื่องต่างๆ ธันย์ก็เลย Backpack ไปตอนปิดเทอมใหญ่ม.2 ไม่ได้ขึ้นเครื่องบิน พ่อขับรถจากตรังไปส่งหาดใหญ่ เพื่อซื้อตั๋วรถทัวร์นั่งผ่านมาเลเซียไปที่สิงคโปร์ จากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ที่สิงคโปร์ 1 เดือน

แล้วอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นระหว่างนั้น?

ตอนนั้นธันย์อายุ 14 ปี (พ.ศ.2554) จริงๆ เหตุการณ์ทุกอย่างในวันนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก คือธันย์เรียนซัมเมอร์ที่สิงคโปร์ระยะเวลา 1 เดือน ไปใช้ชีวิตทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนได้ไปเรียน Manage ชีวิตตัวเองอย่างเต็มตัว วันนั้นจำได้ว่าอยู่มา 3 สัปดาห์แล้ว เดินทางก็คล่องแล้ว สัปดาห์สุดท้ายก่อนกลับเลยนัดเพื่อนจะไปเที่ยวกันวันอาทิตย์ ธันย์ก็ไปยืนรอรถไฟฟ้าเหมือนปกติทุกวัน แต่วันนั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันคือเรายืนรอหลังเส้นเหลืองคนแรก หลังจากนั้นคนก็เริ่มมาต่อแถวหลังเราเยอะขึ้น เพราะเป็นเวลาที่คล้าย Prime Time ที่นั่น กระทั่งได้ยินเสียงว่ารถกำลังเข้ามา คนก็เริ่มดันกัน หลังจากนั้นธันย์ก็ถูกเบียดและตกลงไปเลย 

ตอนนั้นทั้งตกใจทั้งสับสน มันมีหลายอารมณ์มาก มันไม่ได้เหมือนหนังที่เจอเหตุการณ์แล้วร้องกรี๊ดเสียสติ แต่ธันย์มีความรู้สึกแบบ…มันเกิดอะไรขึ้น พยายามเรียบเรียงอยู่ คือทุกอย่างมันเหมือนรวมๆ กัน พอธันย์ตกลงไป สิ่งแรกที่ธันย์จำได้ก็คือธันย์จับหน้าตัวเองแบบในหนัง

ธันย์ไม่แน่ใจว่ามันคือเรื่องจริงหรือมันคือความฝัน แต่ทุกอย่างมันเหมือนจริงมาก มีทั้งความร้อนทั้งบรรยากาศทั้งซาวด์ทั้งเอฟเฟกต์ พอเราควบคุมสติได้แล้ว ก็บอกตัวเองว่ามันคือเรื่องจริงนะ 

วันนั้นธันย์จำได้ว่าธันย์ใส่กางเกงยีนส์ขาเดฟ  แล้วธันย์ใส่มือถือในกระเป๋ากางเกง พวกเพื่อนที่รู้ว่าเราเป็นคนตรงต่อเวลาก็โทรมาตามด้วยความเป็นห่วง แบบเฮ้ย!เป็นอะไร ไม่ตื่นหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้น ธันย์จำได้ว่าพออยู่ใต้ท้องรถก่อนที่เจ้าหน้าที่จะลงมาช่วยเราก็รับสายแล้วบอกเพื่อนว่า เราเกิดอุบัติเหตุ ช่วยติดต่อใครก็ได้ เพื่อนก็ช่วยสื่อสารติดต่อเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือ

จากนั้นธันย์คิดว่าทำยังไงก็ได้ให้คนรู้ว่าเราอยู่ตรงนั้น พยายามใช้เสียงเรียกให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามเงยหน้าขึ้นไปมองตรงช่องแคบๆ ที่เห็นเวลาเราจะก้าวข้ามรถ เราก็เห็นว่ามีคนอยู่ข้างบนที่เห็นเราแล้วตื่นตระหนกกัน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีรปภ.คนหนึ่งเดินมา เขาก็นั่งก้มมองมาที่ช่องแคบตรงนั้น เราก็บอกเขาว่า “Help Me Please” ใช้ภาษาง่ายสุดเลย เขาก็แบบ “Ok Ok Don’t Move” ธันย์ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องรออยู่ใต้ท้องรถ 

ด้วยบรรยากาศตอนนั้น ธันย์พยายามที่จะลุกออกมา พยายามที่จะขยับ คือด้วยความที่ธันย์เป็นเด็กมากทำให้ธันย์ไม่แน่ใจว่ารถไฟมันจะเคลื่อนอีกไหม หรือว่ามันจะต้องทำยังไงคืออยากเอาตัวเองออกไปจากตรงนั้น สุดท้ายพอรอไปสักพัก ก็มีเจ้าหน้าที่เอาอุปกรณ์ลงมาทีละคน เหมือนเขาต้องคลานเข้ามาใต้ท้องรถ แล้วเอาเปลมารับธันย์ ค่อยๆ ลากธันย์ออกไป เพราะรถไฟก็เคลื่อนที่ไม่ได้ จะให้ยกรถไฟขึ้นก็ไม่ได้ ทำได้วิธีการเดียวคือต้องเอาธันย์ออกมาจากใต้ท้องรถ ตอนนั้นจำได้ว่าเขามาช่วยเราแล้ว เขาก็พยายามอุ้มเราเข้าไปตรงเปล 

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อธันย์รับรู้ว่าตนเองต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง สภาพจิตใจเป็นอย่างไร?

หลังถูกส่งมาโรงพยาบาลตอนนั้นยังมีสติอยู่ก็เหมือนรู้เหตุการณ์จนกระทั่งไปอยู่ห้องผ่าตัด แล้วธันย์ได้คุยกับคุณหมอ ได้เห็นเหตุการณ์สุดท้ายของตัวเองก่อนดมยาสลบ คุณหมอบอกธันย์ว่าจะ “Cut Your Legs” แล้ว ซึ่งธันย์เองก็เตรียมใจไว้แต่แรกประมาณ 50% เพราะตอนอยู่ใต้ท้องรถ ไม่ใช่ว่าเราไม่พยายามช่วยเหลือตัวเอง เราพยายามจะคลานออกมา แต่มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่มีความรู้สึกแล้ว มันไม่เหมือนกับเวลาเรากระดิกนิ้ว ตอนนั้นเหมือนจะยกตัวขึ้นมาแล้วมันก็ล้มลงไปเลยแบบไม่มีความรู้สึก ตอนนั้นธันย์เตรียมใจส่วนหนึ่งว่ามันน่าจะต้องโดน แล้วพออยู่ห้องผ่าตัดจริงๆ รู้ว่าต้องโดนจริงๆ ก็เข้าใจว่าคงทำอะไรไม่ได้ 

ความรู้สึกตอนนั้นก็คืออยากให้คุณหมอทำยังไงก็ได้ อยากรักษาให้หาย จะเป็นยังไงก็ได้เหมือนยอมรับทุกการตัดสินใจ แต่แค่รับฟังว่าเหตุการณ์ลำดับมันเป็นแบบไหนยังไงแล้ว 

หลังจากสลบไปแล้วตื่นขึ้นมา ธันย์ก็รู้เลยว่ามันไม่ใช่ความฝัน มันคือความรู้สึกที่เออ…เกิดขึ้นจริงๆ นะ แต่มันแปลกมากตรงที่เราร้องไห้ออกมา แต่ไม่ได้ฟูมฟาย เรามองไปที่ผ้าห่มบางๆ แล้วเห็นว่าตั้งแต่ช่วงเข่าลงไปมันเรียบไปกับเตียง ซึ่งตอนนั้นมันเป็นความรู้สึกแบบ Blank Blank ว่างเปล่ามาก 

อีกอย่างการรักษามันเจ็บมันปวดมาก เราเลยโฟกัสอยู่แค่การรักษา ความรู้สึกธันย์คือไม่สนใจอะไรแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องโรงเรียนหรืออะไรก็ตาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในช่วงอุบัติเหตุ มันจะมีความคิดฟุ้งซ่านขึ้นมาเยอะมากว่า อ้าว…แล้วจะกลับไปเรียนยังไง เหลือแค่อาทิตย์เดียวแล้วนะ จะใช้ชีวิตยังไง มันเหมือนมีความแพนิกต่อเหตุการณ์ในอนาคตที่เป็นแผนที่เราเตรียมไว้ แล้วเรากลัวว่าจะทำมันไม่ได้ แต่พอเกิดอุบัติเหตุแล้วเราอยู่บนเตียงคนไข้จริงๆ วินาทีนั้นมันเหมือนสภาพแวดล้อมควบคุมทำให้เราตระหนักได้เองว่าเราคงทำไม่ได้แล้ว มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าโอเค เราหยุดความคิดตรงนี้แล้วมาโฟกัสกับปัจจุบันที่อยู่กับการรักษา ธันย์ก็ทิ้งไปเลย ไม่เป็นห่วงการเรียน หยุดไปเลย โฟกัสแค่จะรักษายังไงต่อไป จะอยู่อย่างนี้ยังไง จะกลับมาเดินได้แบบไหน จะใช้ชีวิตในอนาคตยังไง 

ธันย์คิดถึงประโยคหนึ่งคือ “การทิ้งสิ่งที่มี แล้วอยู่กับสิ่งที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และค่อยๆ สร้างมันขึ้นมาใหม่” ประโยคนี้เป็นความรู้สึกที่โอเค เรายอมทิ้งสิ่งที่เราเคยทำ ทิ้งทุกอย่าง พักมันไว้ก่อน อาจจะไม่ได้ถึงกับเทมันไปเลย แต่ว่าพักมันไปก่อน เพราะว่าทำอะไรกับมันไม่ได้ มาอยู่ที่การรักษา หยุดทุกอย่าง ค่อยๆ เคลียร์ทีละอย่าง มันก็รู้สึกว่าสภาพจิตใจกลับมาดีขึ้น 

ดังนั้น เวลาเจอเหตุการณ์แล้วมันทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งฟุ้งซ่าน เครียด วิตกจริต หรืออะไรก็ตาม ธันย์ว่ามันเกิดจากการคาดหวังต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น กลัวมันจะไม่เป็นไปตามแผนที่เราตั้งไว้ 

มันจะมีสองอย่างคือเสียดายต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดที่เรามีโอกาสจะได้ทำ กับอันที่สองคือเสียดายว่าโอกาสนั้นเราจะไม่ได้ทำมันอีก ธันย์เลยมองว่าการที่ทำสิ่งอื่นแทนมันช่วยได้จริงๆ คือบางคนอาจแนะนำให้ลองใช้เวลาเปลี่ยนไปอยู่สถานที่อื่น เปลี่ยนสังคมเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อให้สภาพจิตใจดีขึ้น จริงๆ ของธันย์คล้ายคลึงกับวิธีการแบบนั้นแหละ แต่แค่ธันย์หันมาโฟกัสอย่างอื่นที่เหมือนสร้างกำลังใจเล็กๆ ให้เรา ซึ่งมันมีค่ามากเลยนะ เพราะตอนนั้นพอธันย์หยุดความคิดเรื่องการเรียน พักไว้ก่อน แล้วมาโฟกัสกับการกายภาพ การรักษา มันทำให้เราเห็นกำลังใจเล็กๆ ที่เราทำ แล้วเรารู้สึกว่ามันทำให้เห็นศักยภาพของตัวเอง 

อย่างช่วงที่รักษา ธันย์จะมีสายอุปกรณ์ต่างๆ เต็มตัวไปหมด แถมต้องอาบน้ำ ทานข้าว ทำอะไรทุกอย่างบนเตียงเป็นเวลาเกือบสองเดือน จนไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเอง กระทั่งวันแรกที่หมออนุญาตให้ธันย์ลุกจากเตียงคนไข้มานั่งวีลแชร์ ธันย์เลยได้ลองเข็นวีลแชร์เข้าห้องน้ำด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเรียกพยาบาล ธันย์เข้าไปในห้องน้ำเล็กๆ พอเข้าไปวีลแชร์มันก็พอหมุนได้นิดหน่อย แต่เรารู้สึกมีความสุขมากที่สามารถหมุนไปเรื่อยๆ จนสามารถปิดประตูได้ ทีนี้ธันย์อยากจะหยิบของสักอย่างหนึ่ง น่าจะเป็นกล่องทิชชู่ซึ่งอยู่สูงมาก จากเมื่อก่อนคือเดินเข้าห้องน้ำแล้วก็หยิบหรือไม่ก็เขย่งก็หยิบได้แล้ว  แต่วันนั้นมันเป็นความรู้สึกที่เขย่งไม่ได้แล้ว หยิบไม่ได้แล้ว แต่มันแปลกมากตรงที่เราเห็นไม้อันหนึ่งตั้งอยู่ในห้องน้ำ เราก็หยิบไม้อันนั้นมาเขี่ยมันลงมา มันเป็นความรู้สึกที่ เฮ้ย! ก็ทำได้นี่หว่า มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นเลย 

ทุกวันนี้ธันย์ยังจำได้อยู่เลย มันเป็นความสุขในห้องน้ำที่เรารู้สึกว่าเป็นโมเมนต์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน มันเลยทำให้ธันย์ย้อนกลับมาว่าการที่เราอยู่กับปัจจุบันแล้วมีความสุขกับปัจจุบันที่มีอยู่ และพัฒนามันไปเรื่อยๆ พอเห็นพัฒนาการของตัวเอง มันก็สร้างความสุขได้ จนถึงปัจจุบันธันย์ก็ยังเป็นแบบนั้น

แน่นอนว่าระหว่างพักฟื้น ธันย์ต้องรับมือกับสื่อที่เข้ามาหาข่าว ตรงนี้ รู้สึกว่ามันหนักหนาหรือกระทบต่อความรู้สึกมากน้อยแค่ไหนในวัย 14 ปี?

ในมุมธันย์คือกระทบช่วงแรกๆ เพราะคดีตอนนั้นเป็นข่าวใหญ่ เหมือนทอล์คออฟเดอะทาวน์ของสิงคโปร์เลย เพราะที่นั่นไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ แล้วธันย์เป็นชาวต่างชาติด้วย 

ผลกระทบจริงๆ น่าจะเป็นความรู้สึกช่วงแรกมากกว่า ตอนนั้นธันย์ลืมตาขึ้นมาอยู่ในห้อง ICU ที่มีสี่เตียง แล้วยังงดเยี่ยม มีการจำกัดคนเยี่ยมก็เลยทำให้สื่อยังไม่สามารถเข้าหาเราได้ ธันย์เลยมีเวลาช่วงหนึ่งที่ได้อยู่กับตัวเองประมาณ1-2 อาทิตย์ ทีนี้พอหลังจากออกจากห้องนั้น เขาก็จะย้ายเราไปห้องเดี่ยว ซึ่งระหว่างรอย้ายธันย์ต้องไปอยู่ในห้องรวมก่อน ก็คือไปนอนรอปกติ ปรากฏว่าตอนนั้นแหละที่ทุกคนแห่กันขึ้นมาเยอะเลย 

ภาพแรกที่ธันย์ตื่นขึ้นมาเห็นคือทุกคนยืนรุมล้อมรอบเตียงเพื่อจะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไปเขียนในข่าว แล้วมีกล้องใหญ่ๆ เต็มไปหมด ธันย์เองตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาที่จะพูดได้ขนาดนั้น แล้วทุกคนรัวถามภาษาอังกฤษซึ่งไม่รู้จะตอบยังไง ยิ่งตอนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนมีกระแสเกิดขึ้นด้วย เลยยิ่งทำให้เด็กอายุ14 อย่างธันย์รู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่ใหญ่มากและธันย์ก็ไม่รู้ว่าการคุยภาษาอังกฤษโต้ตอบกลับไปจะมีผลต่อรูปคดีหรืออะไรหรือเปล่า มันเลยทำให้ธันย์รู้สึกไม่อยากคุยกับใครเลย รู้สึกว่าไม่ตอบดีกว่า แบบทำนิ่งๆ แล้วก็หลับไปบนเตียง เพราะตอนนั้นเราก็มีสายระโยงระยางเต็มไปหมด ก็ทำสะลึมสะลือเรียกพยาบาลมาให้ยาแล้วก็หลับไป จำได้ว่านอนบ่อยมาก ซึ่งการนอนจะมีสองเหตุผลหลัก คือหนึ่ง ไม่อยากเจอนักข่าวเพราะไม่รู้เขาจะเขียนอะไร สองคือบาดแผลมันค่อนข้างเจ็บมาก เลยรู้สึกว่าการหลับเป็นสิ่งที่ลดความเจ็บปวดได้ในตอนนั้น  

ดังนั้นสื่อคือจุดที่ทำให้ธันย์อยากรีบออกจากโรงพยาบาล เหมือนเราไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากให้เขามาหาเรา อยากรีบหาย อยากรีบออกไป มันรู้สึกแบบนั้นจริงๆ อยากกลับบ้านกลับประเทศไทยแล้ว เพราะมันรู้สึกปลอดภัยกว่า เพราะตอนอยู่สิงคโปร์ ธันย์รู้สึกถึงสายตาที่จับจ้องเราตลอดเวลาไม่ว่าเราจะทำอะไร โดยเฉพาะสื่อที่บางทีก็มีการบิดเบือนกันไปจนรู้สึกว่ามันสร้างผลกระทบกับเราในการออกไปใช้ชีวิต 

ดูเหมือนว่าธันย์จะไม่ได้มานั่งอาลัยอาวรณ์กับขาที่สูญเสียไป แต่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คือมุมอย่างนี้ใครๆ ก็อาจจะพูดได้ แต่คนที่คิดได้ทำได้จริงๆ น้อยมาก โดยเฉพาะกับเด็กอายุแค่ 14 ?

ธันย์เริ่มจากเห็นความสำคัญของตัวเองก่อน ประโยคนี้เป็นประโยคที่สร้างจุดเริ่มต้นเลยนะ ธันย์ไม่ใช่คนที่เกิดอุบัติเหตุแล้วตื่นขึ้นมาแฮปปี้มีความสุขหรือเห็นคุณค่าในตัวเองเลย เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคือมันเซอร์ไพรส์เกินไป ธันย์มองว่าตัวธันย์เองก็เคยเศร้าเสียใจกับขาที่สูญเสียไป แต่มีวันหนึ่งจำได้ว่าตื่นขึ้นมา ได้สติแล้ว เหมือนกับว่าเคยร้องไห้นะ แบบเออ! ทำไมเหตุการณ์ถึงเกิดขึ้นกับเรา ทำไมเราต้องเจอเรื่องใหญ่โต ทำไมต้องขึ้นศาลตั้งแต่อายุ14  คือทุกอย่างประดังประเดเข้ามา แต่พอเราร้องไห้เสร็จแล้ว มันมีความรู้สึกแวบหนึ่งเข้ามาว่าแล้วมันจะไปยังไงต่อ จะร้องไห้แบบนี้อีกสิบปียี่สิบปี จะอยู่บนเตียงแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน คือมันมีความคิดหนึ่งว่าอยากออกไปจากสภาพแวดล้อมที่เรารู้สึกแย่ มันก็เลยทำให้เราค่อยๆ พัฒนาสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราพอจะทำได้และออกจากสภาพแวดล้อมแบบนั้น 

ทราบมาว่าธันย์เคยบอกคุณพ่อว่าชีวิตเลยความตายมาแล้ว อยากให้ช่วยขยายความประโยคนี้เพิ่มเติม?

ตอนเกิดอุบัติเหตุ มันมีหลายความรู้สึกหลายความคิดเหมือนพัดลมที่เข้ามาแล้วหมุนๆๆ อยู่ในสมองของเรา ซึ่งตอนนั้นความคิดหนึ่งที่ธันย์มีเลยก็คือจะกลับไปเรียนยังไง กลับไปใช้ชีวิตแบบไหน เพื่อนจะยอมรับได้ไหม แล้วจะบอกพ่อแม่ยังไง จะทำอะไรก่อน จะตายไหม มันมีหลายคำถามเกิดขึ้นในสมอง และมีหลายเหตุการณ์มากที่อยู่ดีๆ มันตีกลับเข้ามา มันเป็นเหตุการณ์ที่เราเคยพูดว่าเดี๋ยวค่อยทำดีกว่า แบบเฮ้ย! ยังไม่ถึงเวลาหรอก แล้วก็มีประโยคว่ามันยังไม่ใช่โอกาสของเรา รอโตขึ้นอีกนิด รอวันพรุ่งนี้ หรือรออีกสักสิบปีเดี๋ยวค่อยทำ คือมันมีคำเหล่านี้ผุดขึ้นมาในตอนเกิดอุบัติเหตุ จนตอนนั้นเรารู้สึก เฮ้ย! ถ้าเราตายวันนี้คือโคตรเสียดายชีวิตเลย เสียดายที่ยังไม่ได้ทำ ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าจะทำยังไงก็ได้ให้มีชีวิตรอดกลับมา

พอมีชีวิตรอดกลับมาก็เลยเป็นเหมือนธงหลักให้ธันย์รู้สึกว่าเราจะทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นปกติที่สุด และเราจะทำในสิ่งที่เราอยากทำเลย 

ทุกคนจะเห็นว่าทำไมธันย์ไปทำอันนั้นอันนี้ ทั้งการเรียน กิจกรรมต่างๆ มันเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนเราเป็นหนึ่งคนที่เคยผลัดไปเรื่อยๆ คิดว่าโอกาสมันมาบ่อยๆ แต่พอเกิดอุบัติเหตุมันเป็นหนึ่งเรื่องที่สอนตัวเองว่าโอกาสมันไม่ได้มีบ่อยๆ ถ้ามีโอกาสทำในสิ่งที่อยากทำ แล้วเราสามารถสลับสับเปลี่ยนเวลาได้ เราก็ควรจะทำมันเลย เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะได้ทำมันไหม หรืออีกสิบปีโครงการนั้นจะยังอยู่หรือเปล่า แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คือทุกวันนี้ผ่านมาสิบปี ธันย์เจอหลายสิบกิจกรรมที่ถ้าเมื่อก่อนธันย์คิดว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ ก็คือน่าจะไม่ได้ทำเลยสักโครงการเพราะว่าโครงการนั้นส่วนใหญ่ได้ทุนมาทำปีนี้ ปีหน้าก็คือไม่มีแล้ว แต่ที่ไหนได้ ปีที่เราตัดสินใจไปทำปีนั้นมันดันต่อยอดงานอื่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่สอนเราจนถึงปัจจุบันเหมือนกัน

อุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้ธันย์ต้องเปลี่ยนแผนต่างๆ ในชีวิตมากแค่ไหน อย่างเช่นเรื่องการเรียน?

ใช่ค่ะ ตอนนั้นธันย์เรียนสายวิทย์คณิต เมนหลักของธันย์น่าจะมุ่งสายการแพทย์เป็นหลัก ก่อนเกิดอุบัติเหตุมีความตั้งใจว่าอยากเรียนไม่ทันตแพทย์ก็แพทย์หรือจิตแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือคน ซึ่งอาจจะเป็นด้วยกระแสก็ได้เลยมีธงแบบนี้ กระทั่งพอเกิดอุบัติเหตุ สิ่งแรกที่มาดูเลยคือข้อจำกัดเรื่องขา เราไม่สามารถใช้อุปกรณ์บางอย่าง ยกคนไข้ หรือไปช่วยซัพพอร์ตคนอื่นๆ ได้ ประกอบกับคุณสมบัติของแพทย์ในประเทศไทยจะมีกำหนดอยู่แล้วว่าคุณสมบัติแบบนี้มันไม่ได้ ก็เลยย้อนกลับมาว่าแล้วอยากจะทำอะไร 

ตอนนั้นก็เลยมองว่าอยากเป็นนักจิตวิทยา เพราะเราเจอ Inspiration คือนักจิตวิทยาที่เขามาคุยกับเราช่วงแรกๆ หลังเกิดอุบัติเหตุ คือเขาไม่ได้มาคุยแบบจริงจัง หรือมาถามปัญหาสุขภาพจิต แต่เหมือนเป็นนโยบายของโรงพยาบาลอยู่แล้วที่ต้องเข้ามาประเมินผู้ที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง แล้วยิ่งตอนนั้นธันย์ก็เป็นผู้เยาว์ ธันย์ก็คุยกับเขาแล้วเขาก็ติ๊กๆๆ  จนผ่านเกณฑ์การประเมินของเขา จากนั้นก็มีโอกาสได้เจอกันนอกรอบบ้าง เลยรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคน ได้เข้าใจคน เหมือนมันย้อนกลับมาว่าเราก็สนใจวิธีคิดของเราเหมือนกันว่าทำไมเราถึงคิดแบบนี้ได้ มันเริ่มต้นจากอะไร ธันย์รู้สึกว่ามันมีความสำคัญที่ว่าพอเราคิดแบบนี้เราก็เห็นว่า เออ…ชีวิตมันก็เดินหน้าต่อไปได้และช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้ ก็เลยเปลี่ยนธงมาเป็นด้านนี้ 

ทีนี้โชคชะตาก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ  ธันย์ว่าเด็กทุกคนก็เป็นเหมือนกันจะมีธงอย่างหนึ่ง แล้วสุดท้ายก็ดูจังหวะชีวิตด้วย สุดท้ายธันย์ก็ตัดสินใจย้ายมาเรียนที่กรุงเทพ ด้วยความที่แพทย์และกายอุปกรณ์อยู่ที่นี่หมด ธันย์เรียนต่อที่มาแตร์เดอีวิทยาลัย พอจบม.6 ก็ไปสมัครสอบตรงติดที่วารสารฯ ธรรมศาสตร์ เพราะตอนนั้นธันย์เริ่มเข้ามาในวงการสื่อ เลยรู้สึกว่าการสื่อสารค่อนข้างสำคัญ พอดีว่าคอร์สเอาท์ไลน์ของธรรมศาสตร์ เขามีเรียนวิชาโทเป็นจิตวิทยาด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเรา นอกจากนี้ธรรมศาสตร์ค่อนข้างเปิดโอกาสให้คนพิการ เลยทำให้รู้สึกอยากเปลี่ยนพาร์ทจากสังคมมาแตร์ที่เป็นอีกฟีลหนึ่ง มาลองใช้ชีวิตที่สามารถเดินไปจ่ายตังค์ขึ้นรถตู้นั่งไปรังสิตหรืออยู่หอ ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่น แต่ก็ยังไม่ทิ้งความฝัน เพราะสุดท้ายก็มาต่อปริญญาโทที่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

พอได้เรียนจิตวิทยาจริงๆ แล้ว เราวิเคราะห์ตัวเองในการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร?

มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าทุกอย่างมีสเต็ปของมัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนๆ นี้จะคิดบวกเลย มันเหมือนเป็นการสะสมภูมิในชีวิต เพราะฉะนั้นมันเลยย้อนกลับมาว่าเป็นเพราะเราเริ่มสะสมภูมิตั้งแต่วันแรกที่อยู่โรงพยาบาลเลยหรือเปล่า ที่ครอบครัวหรือสภาพแวดล้อมไม่ได้ทำให้เราดูเป็นคนไร้ความสามารถ หมายถึงว่าเขาอยู่ซัพพอร์ตเรา แต่ในทางกลับกัน เขาไม่ได้อยู่ซัพพอร์ตเพื่อให้เราดูเหมือนภาระเขา เพราะไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนหรือคนหลายๆ คนที่มาเยี่ยมเรา คือเขาก็ร้องไห้ก็สงสารเรา แต่เขาไม่ได้ทำให้ธันย์รู้สึกว่าธันย์จะทำอะไรไม่ได้อีกแล้วในชีวิตนี้ 

ยกตัวอย่างเช่น เขาจะถามว่ากินข้าวไหม ธันย์ก็บอกว่ากินข้าว เขาก็โอเค ลงไปด้วยกันไหมเดี๋ยวไปกินกัน หรือหิวน้ำไหม ตั้งน้ำไว้ตรงนี้นะ โดยที่เขาไม่ได้บอกว่าเอาน้ำไหมเดี๋ยวเราหยิบให้แล้วรีบเอามาวางไว้ที่ตัก คือธันย์สังเกตว่าหลายๆ เคสส่วนใหญ่เขาจะดูแลทุกอย่างให้รู้สึกประทับใจที่สุด แต่คนรอบข้างเขาไม่ดูแลเราแบบนั้น คือถามว่าเขาพร้อมช่วยไหม…ใช่เขาพร้อมช่วยเรา แต่ในทางกลับกันเขาจะไม่ยัดเยียดการช่วยเหลือให้เรา มันเลยทำให้เรารู้สึกดีมากตรงที่เราได้เข็นวีลแชร์ย้ายตัวไปหยิบน้ำเอง ได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้มีสิทธิเลือกตัดสินใจว่าจะกินไม่กิน จะอะไรยังไง เลยเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราเห็นศักยภาพตัวเองและพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ 

ขยายความอีกนิดได้ไหมว่าความคิดบวกของธันย์ หลักๆ มาจากอะไรบ้าง?

ธันย์ว่าทุกอย่างเกิดจากการเรียนรู้ ธันย์มองว่าความคิดบวกหรือความคิดเชิงพัฒนามันเกิดจากอย่างแรกคือสิ่งแวดล้อม สองคือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง คนทุกคนสามารถพัฒนาความคิดได้ 

เราจะเห็นว่าบางคนที่ล้มเหลวมากๆ แล้วภายหลังประสบความสำเร็จ หรือกลับมาใช้ชีวิตได้ก็ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเขาไม่มีความทุกข์นะ เขาก็มีความทุกข์ แต่อดีตมันสอนให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขหรือเปลี่ยนวิธีคิดเขาได้เร็ว 

คุณอาจจะไม่เคยเห็นมุมร้องไห้ของเขาก็ได้เพราะเขาลุกขึ้นมาได้ไว เรื่องทุกข์คือเป็นเรื่องปกติของทุกคนที่มีความรักโลภโกรธหลงหรือความรู้สึกไม่พอใจบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งธันย์เองก็เคยรู้สึกช็อตฟีล ร้องไห้ แต่อาจใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวันแล้วก็กลับไปเที่ยวกับเพื่อนได้ คุยกับคนที่เราทะเลาะด้วยได้ หรือกลับมาทำงานต่อได้แล้ว ซึ่งทุกอย่างสามารถพัฒนาต่อไปได้ และมันอาศัยระยะเวลา พวกนี้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในวันเดียว หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมคนคิดบวกแล้วคิดบวกได้เลย คือทุกอย่างมันต้องค่อยๆ พัฒนา ตัวธันย์เองเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วก็ไม่ได้มองโลกขนาดนี้ มันค่อยๆ เรียนรู้กับชีวิตไปเรื่อยๆ ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ พอคนเห็นในจุดที่ผ่านมา 10 กว่าปี คนก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมยังสม่ำเสมอ ยังแฮปปี้อยู่ คือจริงๆ มันมากขึ้นกว่าเดิมนะ เพราะเราต้องเจอสังคมที่ค่อนข้างแตกต่างไปเรื่อยๆ ยิ่งโตยิ่งต้องเจอสกิลที่ยากขึ้น

หลังข่าวอุบัติเหตุในครั้งนั้น เมื่อหลายปีก่อนธันย์กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งในบทบาทผู้สำรวจความสุขคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง?

ตอนนั้นเป็นโปรเจกต์ที่โรงพยาบาลทำกึ่ง CSR ขึ้นมา ธันย์เรียนอยู่ปีสองก็มีความสนใจเพราะมันอิงกับสิ่งที่เราอยากเป็น ได้ไปพูดคุยกับคนไข้ เหมือนเราในอดีตที่มีคนมาคุยกับเรา และเราก็คุ้นเคยกับการอยู่ในโรงพยาบาล ก็เลยตัดสินใจลองสมัครดูเพื่อหาประสบการณ์ด้วย ซึ่งย้อนกลับมาตรงที่ธันย์บอกไปว่าธันย์ไม่อยากพลาดโอกาส คือมันมาแล้วก็ไม่รู้จะมีในปีถัดไปอีกหรือเปล่า แล้วคุณสมบัติในตอนนั้นมันได้ พอสมัครไปเสร็จ ธันย์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสำเร็จเสมอไป แค่ได้สมัครได้เข้าร่วมโครงการ แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว ผลลัพธ์จะได้ไม่ได้ยังไงก็ไม่ได้สร้างความเครียดให้กับเรา แต่สุดท้ายเราก็ได้มาทำ 6 เดือนตามสัญญา 

คนอาจจะเข้าใจว่างานนี้เป็นเหมือนจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่ ตำแหน่งธันย์คือการไปเป็นผู้ฟังมากกว่า ซึ่งถือเป็นทักษะหลักของอาชีพนี้ เราต้องฟังให้เยอะ คุยให้น้อย มีความเข้าใจเขามากกว่าการใช้ความคิดตัวเองในการตัดสิน 

ธันย์มองว่าอาชีพนี้จะดูเหมือนง่ายก็ง่าย เหมือนยากก็ยาก แต่มันเป็นทักษะที่น้อยคนจะใช้ เพราะคนส่วนใหญ่จะมีความคิดเป็นของตัวเองและมีความคิดในสมองแล้วว่าถ้าฉันเป็นเธอฉันจะทำแบบนี้ แบบนั้นฉันไม่ทำหรอก แต่อาชีพนี้ไม่ได้ ต้องทำทุกอย่างให้ว่างและเข้าไปพร้อมรับฟัง เขาคุยอะไรมาเราก็แค่โต้ตอบเพื่อให้เขาพูดในประโยคหรือเรื่องถัดไป หลังจากนั้นก็อาจซัพพอร์ตส่วนอื่นๆ ที่เขาต้องการ ณ ตอนนั้น เช่น การเข้ารับบริการด้านอื่นๆ 

จากการได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ธันย์คิดว่าการที่คนเราจมอยู่กับความทุกข์แล้วออกมาไม่ได้ คิดบวกไม่ได้ สาเหตุส่วนใหญ่มันคืออะไร?

จริงๆ การคิดบวกไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากหรือจับต้องไม่ได้ ธันย์ว่าทุกคนสามารถคิดบวกได้ เมื่อก่อนธันย์ก็มองว่าการคิดบวกเป็นเหมือนการมองทุกอย่างให้ดีเยี่ยม ชื่นชมตัวเอง ซึ่งเราอาจจะถูกปลูกฝังจากไลฟ์โค้ชหรือใครที่ให้ชื่นชมตัวเอง บอกรักตัวเอง 

แต่การคิดบวกสำหรับธันย์หมายถึงการถอยออกมานิดหนึ่ง มันไม่ใช่การเข้าข้างตัวเองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น แต่มันเป็นการมองภาพความจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าแล้วอยู่กับปัจจุบันให้เป็น 

สำหรับการมองโลกของธันย์ มันจะแบ่งออกเป็น 3 Sequence เหมือนมีโลกสวย – คิดบวกจะอยู่ตรงกลาง – และธรรมะ คือธันย์จะไม่มองทุกอย่างเป็นขาวแบบผุดผ่องให้อภัย กับอีกอันหนึ่งมันจะไม่ใช่ฟีลแบบโห! ทุกอย่างสวยงามเป็นสิ่งที่เราวาดฝันไว้ แต่การคิดบวกสำหรับธันย์คืออยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้ คืออยู่กับโลกปัจจุบันของตัวเอง ใช้ในสิ่งที่มี อยู่กับสิ่งที่เป็น ทำสิ่งที่มีให้ต่อเติมออกไปพัฒนาต่อไป เพราะฉะนั้นการคิดบวกของธันย์มันก็เลยเหมือนอยู่ในสถานการณ์ไหนธันย์ก็คิดบวกได้ เป็นความรู้สึกที่เรามองอีกมุมมากกว่า 

ความคิดบวกสำหรับธันย์มันทำให้เราเป็นคนไม่โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่กลับมามองตัวเองว่าเราได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่เรามองข้ามไปหรือเปล่า คือมันเกิดการคิดบวกสำหรับธันย์บ่อยมากเลย เช่น หลายคนอาจมองว่าธันย์ประสบความสำเร็จเยอะ แต่จริงๆ ธันย์ก็พลาดโอกาสไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งโอกาสที่พลาดไปเคยเป็นทุกข์นะ ร้องไห้เสียใจแต่มันฟื้นกลับมาได้เร็ว เพราะเรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ได้กลับมาบ้านได้มาทำอย่างอื่นที่เราอยากทำ หรือได้มีเวลาทำกิจกรรมมากกว่าคนอื่น มันคือการอยู่กับหลักความจริง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หลอกตัวเอง เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ปัจจุบัน 

ตอนนี้ธันย์ทำงานอะไรบ้าง?

ตอนนี้ธันย์ยังทำงานกับโรงพยาบาลอยู่ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสำรวจความสุขคนไข้ ได้เซ็นสัญญาต่อในแผนกสื่อสารองค์กรตามที่เราเรียนจบมา ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ตามประสบการณ์และไอเดียที่เรามี 

อีกส่วนหนึ่ง คือทำงานด้านการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจริงๆ เป็นพาร์ทที่มาแบบงงๆ เหมือนกัน จุดเริ่มต้นคือตอนธันย์อายุ 15 ปี กลับมาประเทศไทยและได้รับเชิญไปออกรายการเพราะตอนนั้นข่าวเราเป็นกระแสสังคม ซึ่งตอนแรกคิดว่าเราจะไปออกดีไหม เพราะด้วยความที่ไม่เคยอยู่ในสายสื่อ เราไม่รู้ว่าภาพนี้จะติดไปอีกนานไหม แต่ตัดสินใจไปออกเพราะธันย์มีประโยคเดียวในสมองเลยว่า ธันย์ไม่อยากตอบคำถามซ้ำๆ ไม่ใช่ว่ากลัวหรือตอกย้ำว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมต้องนั่งวีลแชร์ แต่ธันย์มองว่าแค่อยากพูดทีเดียวให้คนเข้าใจจะได้ไม่ต้องมาถามอีก 

อย่างแรกตอนกลับมาไทย ธันย์คิดว่าคนพิการหลายคนอาจเคยเจอว่าพอสภาพร่างกายเราเปลี่ยนแปลงแล้วกลับไปใช้ชีวิตในสังคม สิ่งแรกที่ทุกคนต้องรู้สึกคือเพื่อนคนนี้ที่เราเคยสนิทมากๆ เขาจะชินกับการที่เรานั่งวีลแชร์ไหม เขาจะชินกับการที่เราขึ้นบันไดแบบนี้ จากเมื่อก่อนที่ขึ้นฟึ้บๆ ๆ ตอนนั้นเลยอยากออกรายการเพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่าฉันมาในลุคใหม่ที่มันเป็นแบบนี้นะ จำได้ว่าตอนรายการแรกยังไม่มีขาเลยนั่งวีลแชร์ไป พอไปออกรายการนั้นเลยรู้สึกพอใจว่าเรากลับมาใช้ชีวิตโดยที่ได้ปลดล็อกตัวเอง 

หลังจากจบรายการก็มีโทรศัพท์จากบริษัทและองค์กรต่างๆ เชิญไปบรรยายให้กับพนักงานค่ะ ซึ่งที่แรกที่ธันย์ไปคือสยามพารากอน ก็พูดบรรยายให้ทีมพนักงานฟัง พอจบก็โอเค เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำแล้ว แต่พอจบจากงานนั้น มันก็มีงานเข้ามาอีกเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ธันย์เลยรู้สึกว่ามันเหมือนงานอดิเรกที่เราทำ ว่างเราก็ไป มันก็เหมือนการพัฒนาสกิลไปเรื่อยๆ จากงานแรกนั่งสัมภาษณ์ งานต่อมาคือนั่งสัมภาษณ์ในระยะที่ยาวขึ้น จนงานต่อไปคืองานที่พูดคนเดียวในระยะเวลา 15 นาที อาชีพนี้เลยเหมือนโตมาพร้อมกับสกิลการพูดของธันย์เรื่อยๆ จนตอนนี้ทำงานมา 11 ปีแล้วค่ะ

ตอนแรกธันย์คิดว่า 5 ปี ก็คงหยุดแล้วแหละ ไม่พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ แต่ทุกวันนี้ 11 ปีก็ยังพูดเรื่องเดิม(หัวเราะ) เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยมันก็เป็นหนึ่งสิ่งที่สอนเราเหมือนกัน อีกหนึ่งอย่างคือธันย์มองว่าพอเราก้าวข้ามมาถึงจุดที่ยอมรับตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ทุกวันนี้ธันย์ก็ยังโดนคนถามนะว่า “ถามได้ไหมคะว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ยังไง จะกระทบกระเทือนจิตใจไหมคะ” ธันย์บอกถามได้เลยค่ะ เหมือนทำให้ธันย์รู้ว่าจริงๆ แล้วการพูดซ้ำๆ ไม่ได้เป็นการตอกย้ำนะ มันเหมือนพอเราเลยช่วงเวลาหนึ่งไปสักพัก แล้วเราคุยมันไปเรื่อยๆ 

ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าการที่ธันย์ไปบรรยายมันเหมือนสะท้อนกลับมาให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง มันกลายเป็นเหมือนไดอารี่เรื่องหนึ่งที่เรารัก ทุกวันนี้ธันย์ก็ยังรักเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันคือไดอารี่หนึ่งที่เราได้เห็นว่ามันสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมาย มันทำให้คนได้เรียนรู้อะไรจากชีวิตเรา 

มันเหมือนหลักสูตรเร่งรัดในชีวิต ถ้าเป็นคนอื่นอาจเรียนรู้สิ่งนี้ทั้งชีวิต แต่ธันย์ได้เจอโจทย์ที่เข้ามาท้าทายตั้งแต่เด็กและแก้โจทย์นี้ได้สำเร็จ?

ใช่ๆ ทุกครั้งเวลาเจอกลุ่มคนที่เพิ่งพิการใหม่ๆ เขาก็จะถามว่าออกมาใช้ชีวิตยังไงให้มีกำลังใจ เขายังติดกับการอยู่ที่บ้าน สิ่งที่ธันย์บอกเขาคือก็ลองออกมาใช้ชีวิตเลย เพราะถ้าไม่ลองออกมาใช้ชีวิตเราก็เหมือนไม่ผ่านบททดสอบขั้นที่หนึ่งสองสามไปจนถึงขั้นแอดวานซ์ เราจะไม่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตแบบไหน เราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแค่เข็นวีลแชร์บนทางสโลปเราเข็นไหวไหม มันตอบไม่ได้หรอกว่ามันต้องใช้ระยะเวลาแค่ไหนเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตัวธันย์เองมีรุ่นพี่ที่ใช้ระยะเวลา 10-20 ปีมันดูนานนะ แต่ตัวธันย์เองออกจากบ้านทุกวันก็ร่นระยะเวลาเหลือแค่ 5-6 ปี

ดังนั้น การพาตัวเองไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ เราก็จะเจอกับโอกาสใหม่ๆ และสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เราพัฒนาความคิดไปเรื่อยๆ จากที่เมื่อก่อนเราคิดว่าเราทำได้แค่นี้อยู่แค่บ้าน แต่ถ้าคุณออกมาคุณก็จะเห็นว่าศักยภาพแค่ขึ้นทางลาดคุณก็จะรู้สึกภูมิใจ เหมือนที่ธันย์นั่งวิลแชร์เข้าห้องน้ำครั้งแรกธันย์ก็รู้สึกว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำได้

ระหว่างทัศนคติของคนในสังคมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อะไรเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตของเรามากกว่ากัน?

เมื่อก่อนธันย์คิดว่าทั้งสองอย่าง แต่พอใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ มันเกิดประโยคขึ้นมาในสมองว่า “สุดท้ายแล้วเราก็เปลี่ยนทั้งสองสิ่งไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์” แล้วมันก็มีประโยคหนึ่งกลับมาอีกว่า “มันคือปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา (หัวเราะ)” เพราะสุดท้ายมันคือประโยคนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพแวดล้อมหรือว่าจะเป็นปัญหากับบุคคล 

เรื่องสภาพแวดล้อม ปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของเรา มันหมายถึงว่าสุดท้ายแล้วเราต้องใช้ชีวิตให้ได้อยู่ดี ไม่ว่าจะหงุดหงิดที่ไม่มีทางลาด บันไดมันก็ไม่หายไปอยู่ดี หรือไม่ว่าเราจะเป็นทุกข์ร้องไห้ เจ้าของร้านเขาก็ไม่ทำทางลาดให้เราอยู่ดี มันก็เลยเป็นความรู้สึกแบบนั้นขึ้นมา

สำหรับบุคคลภายนอก ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทั้งคนที่เข้าใจทั้งคนที่แสดง Reaction หรืออะไรต่างๆ สุดท้ายแล้วมันก็ย้อนกลับมาว่ามันคือปัญหาของเขาไม่ใช่ปัญหาของเราจริงๆ สุดท้ายเราก็ยังใช้ชีวิตของเราต่อไปได้ ต่อให้เขาจะรู้สึกไม่โอเคกับเรา หรือทำให้เรารู้สึกแย่ สุดท้ายมันก็ต้องดูสิ่งที่เป็นปัญหาเรามากกว่า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ มันเลยทำให้ธันย์หันกลับมามองตัวเองมากกว่ามองคนอื่น หันมามองว่าเราขาดศักยภาพอะไร ขาดตกบกพร่องอะไร เราไม่ดีตรงไหน แล้วต้องพัฒนายังไง 

เช่น ทางขึ้นมีสเต็ปใช่ไหมเราก็ไปฝึกขึ้นบันได หรือมีทางลาดเราก็ลองไปเข็นวีลแชร์ให้มันขึ้นได้ หรือถ้าเราขาดสกิลไหนก็แค่ไปฝึก หรือทุกวันนี้บางครั้งธันย์ไม่ได้ใส่ขาเทียม แต่ก็ยังกระโดดลงสระ ว่ายน้ำหรือไปทุกที่เราอยากจะไปได้ หรือการเข้าสังคม ธันย์ก็อยู่กับหลายๆ สังคมได้ 

คนอาจมองว่าธันย์เฟรนด์ลี่ แต่จริงๆ คือเราไม่ได้มองว่าคนรู้สึกยังไง เราแค่ทำให้โมเมนต์ ณ ตอนนั้นมีความสุขที่สุดมากกว่า ถ้าเรารู้สึกว่าอยู่ตรงนั้นไม่สบายใจ เราก็แค่ Leave ออกมาอยู่โซนอื่นแค่นั้นเอง มันคือการปรับที่ตัวเรา 

สุดท้ายแล้วธันย์ว่านี่เป็นวิธีการที่ดีนะ เพราะเราไม่ได้เอาความรู้สึกตัวเองไปแขวนไว้กับคนอื่น มันทำให้เราไม่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อใครหรือสิ่งไหน สิ่งที่เรากลับมาให้ความสำคัญคือดูว่าเรายังขาดตกบกพร่องส่วนไหน หรือส่วนไหนที่เราพอจะช่วยซัพพอร์ตได้ 

แต่เรื่องสภาพแวดล้อม ธันย์มองอีกพาร์ทหนึ่งคือไม่ใช่เราจะมองว่าบันไดมันไม่ใช่ปัญหา เราก็ยังมองว่ามันเป็นปัญหาแหละ แต่แค่เราอาจจะดูว่าประสบการณ์ตรงนี้มันจะเอาไปพัฒนาต่อยอดด้านสิ่งก่อสร้างยังไงในอนาคต หรือสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่เกิด อาจจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เอาไปทำงานในด้านอื่นๆ ที่ทุกคนอาจจะเคยเห็นอย่างพวก Universal Design (การออกแบบเพื่อมวลชน) ต่างๆ 

ทุกวันนี้ รุ่นพี่ของธันย์หลายคนอาจรู้สึกว่าพอมาร้านๆ หนึ่ง เจอบันไดแล้วเขาขึ้นไม่ได้ ก็จะอยากให้มันมีทางลาดนะ แต่สำหรับธันย์ ธันย์มองว่าเปลี่ยนอะเปลี่ยนได้ แต่ว่าเริ่มต้นเปลี่ยนจากสิ่งที่มันยังไม่สร้างให้ก่อน ส่วนสิ่งที่มันทำอยู่แล้วเราอาจจะแนะนำร้านหรืออะไรก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วร้านก็มีเจ้าของคือมันไม่สามารถที่จะเปลี่ยนได้ตามใจเราทันที ธันย์ก็จะอยู่แบบสายกลางมากกว่า ไม่ได้เอาสภาพแวดล้อมหรือเอาบุคคลอื่นมายึดติดกับตัวเรา เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราก็ฟรีสไตล์ไปได้ทุกที่ 

คือเราไม่มานั่งโกรธว่าทำไมมันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะเราโลกสวยแต่ไม่อยากเอาทุกข์มาแบกไว้?

ใช่ค่ะ นอกจากนี้ธันย์รู้สึกว่าชีวิตเราต้องดำเนินต่อไป หรือทำในสิ่งที่มันเป็นแพสชันของเรา แต่สิ่งต่างๆ ของคนอื่นมันเป็นเหมือนปัญหาของเขา ถ้าเราไม่มองไม่ใส่ใจ เราก็อยู่กับตัวเองและพัฒนาของเราไป ธันย์มองว่าพอมาถึงจุดหนึ่งที่เราทำอะไรบางอย่างที่อาจจะเปลี่ยนความคิดได้ สุดท้ายแล้วมันง่ายกว่าการที่ต้องเดินไปบอกเขา เราแค่ทำให้เขาเห็น แล้วเขาก็จะเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิดเอง เพราะธันย์ก็เคยเจอกับตัวเอง แรกๆ สมัยที่เกิดอุบัติเหตุใหม่ๆ ตอนนั้นสังคมของพ่อแม่ เขาอาจจะมองว่า มีลูกพิการ…น่าสงสารจังเลยต้องเลี้ยงดู  ธันย์ก็ไม่ได้บอกพ่อนะว่าให้โทรหาเพื่อนคนนั้นเลยเดี๋ยวธันย์จะบอกว่าธันย์จะสู้แล้ว ธันย์ก็ไม่ได้เอาปัญหาเขามาแขวนกับเรา ธันย์ก็ให้เขามองภาพไปเรื่อยๆ 

สุดท้ายทุกวันนี้เขาก็เห็นธันย์ออกรายการ ใช้ชีวิต ไปทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เขาก็เปลี่ยนคำพูดนั้นกลับมาชื่นชมพ่อ มันเลยทำให้ธันย์มองว่ามันไม่ใช่ปัญหาเรา เราก็พัฒนาของเราต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันง่ายกว่าด้วยที่เขาเปลี่ยนคำพูดเองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเดินไปบอก ดังนั้นเปลี่ยนที่ตัวเราง่ายกว่าการที่เราไปเปลี่ยนคนอื่น

ถึงตอนนี้อะไรคือแพสชันหรือเป้าหมายชีวิตของธันย์?

เป้าหมายชีวิตคืออยากจะใช้ประสบการณ์หรือความพิการของตัวเองต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาชีพหรือสายอื่นๆ ที่จะสามารถช่วยเหลือสังคม เป็นแพสชันที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะหนึ่งธันย์มองว่าประสบการณ์ชีวิตเรามีประโยชน์กับคนอื่น สองคือเรารู้สึกว่าประสบการณ์ความพิการที่เกิดขึ้นมันก็มีประโยชน์กับสังคมหรือว่าประเทศชาติในการพัฒนาต่อยอด ธันย์เลยมีแพสชันอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม 

ทุกวันนี้ต่อให้เป็นงานเล็กๆ ที่ไม่มีงบ ถ้ามีเวลาจะไป เพราะอย่างน้อยเราต้องได้อะไรบ้างแหละ ได้ขนมฟรี(หัวเราะ) ได้เจอเพื่อน มันก็เลยเป็นเหมือนสิ่งที่เราเห็นคุณค่าในหลายมิติมากกว่า เราไม่ได้เห็นว่าทุกอย่างต้องมีเงินถึงจะมีคุณค่าเสมอไป แต่การที่ไปแล้วได้ความรู้คือคุณค่าอย่างหนึ่ง ไปแล้วได้รู้จักสิ่งใหม่ๆ ทุกวันนี้ที่คนเห็นว่าเราทำหลายอย่างมากๆ มันไม่ใช่เป็นเพราะเรามีชื่อเสียง 

ธันย์ว่าชื่อเสียงมันเป็นสิ่งที่มาแล้วก็หายไป แต่สิ่งที่ยังรักษาชื่อเสียงธันย์อยู่ทุกวันนี้ คือการที่ธันย์ออกไปทำสิ่งต่างๆ แล้วมันก็รวมกันเป็นก้อนใหญ่ๆ เหมือนที่ทุกคนเห็น

สำหรับคนที่อยากได้กำลังใจและคอยเป็นกำลังใจให้ธันย์ อีกหนึ่งช่องทางที่สามารถติดตามได้คือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก’?

เพจนี้วัตถุประสงค์หลักคือ อยากทำเป็น Memory ให้ตัวเองว่าเราเจอเรื่องราวอะไรมาบ้าง ร่วมกิจกรรมอะไรมาบ้าง อยากเก็บรูปภาพ อยากเขียนความรู้สึกเรื่องราว แต่สุดท้าย ณ ปัจจุบัน เพจนี้มันสร้างประโยชน์คือเป็นหนึ่งช่องทางที่ทำให้เราได้คุยกับคนที่เขาไม่มีโอกาสที่จะได้คุยกับเรา ยกตัวอย่างเช่น มีคนพิการบางคนที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ไม่มีทุนทรัพย์ก็ส่งรูปมาว่าผมถูกตัดขามาสามปีแล้ว ต้องทำยังไงบ้าง หรือบางคนเป็นคุณแม่ทักมาว่าลูกเพิ่งพิการจะเรียนต่อแบบไหน ใช้ชีวิตยังไง ก็เหมือนเป็นประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาแล้วเราก็ไปแชร์ให้เขาฟัง อ๋อ! ลองช่องทางนี้ดูนะคะ ลองแบบนี้ดูนะคะ มันเลยเป็นฟีลว่านอกจากเราจะได้แชร์แล้ว  เราก็ได้ทราบว่าปัญหาจริงๆ ที่เขาเจอกันส่วนใหญ่คืออะไร

หรืออีกเคสหนึ่งที่จำได้แม่นคือ เขารู้สึกท้อเพราะถูกบูลลี่ในโรงเรียน แล้วที่บ้านไม่ยอมรับและจะไม่ให้เขาไปทำงานที่กรุงเทพ เพราะคิดว่าเป็นคนพิการไปแล้วก็เหมือนไปลำบากประมาณนี้ เขาก็เครียดว่าสุดท้ายเขาก็ทำอะไรไม่ได้เลย ไปเรียนก็ไม่มีความสุข อยู่บ้านก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ใจอยากจะทำงาน ธันย์ก็ใช้วิธีที่เคยทำแนะนำเขา แต่ไม่ได้บอกว่าต้องไปคุยกับพ่อหรือต้องทำแบบนั้นแบบนี้นะ เพราะชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน บางทีครอบครัวเขาไม่ได้เหมือนครอบครัวเรา แต่สิ่งที่ธันย์บอกคือแนวทางว่าตอนนี้ก็มีการทำงานที่บ้านนะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ให้ก็ลองดูก่อนไหม จะให้ข้อมูลเขามากกว่าว่าพอจะมีช่องไหนที่พอจะลดช่องว่างของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 

ธันย์มองว่าการช่วยหรือให้เขาไปเลยเหมือนเราไม่ได้รู้ชีวิตเขาจริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่ามันจะส่งผลกระทบยังไง ก็คำนึงถึงชีวิตเขาต่อไปด้วยเหมือนกัน เพราะการชี้นำเกินไปเราก็ไม่โอเค ธันย์ก็เป็นคนหนึ่งที่ถ้ามีใครมาชี้นำแล้วเราไม่ประสบความสำเร็จมันก็อาจจะรู้สึกเฟลได้ 

ในอนาคตมีโครงการอะไรที่อยากทำอีกบ้าง?

อยากทำโครงการที่ต่อยอดให้กับเพื่อนๆ น้องๆ คนอื่นๆ ได้มีโอกาสเหมือนเรา คือหนึ่งธันย์มองว่ามันเป็นทักษะชีวิตที่ต่อยอดได้ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นด้านกีฬาด้านอาชีพหรือด้านอะไรที่เฉพาะเจาะจง ธันย์ว่ามันเป็นทุกด้านเลย ถ้ามีโอกาสคืออยากทำโครงการเกี่ยวกับคนพิการไปเรื่อยๆ ธันย์มองว่าสมัยธันย์เมื่อ 10 ปีที่แล้วโครงการน้อยมากและยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่านี้เลย แต่ทุกวันนี้มันมีการรณรงค์ทำอะไรเยอะแยะมากขึ้น คือถ้ามีโอกาสแล้วมีวัยวุฒิคุณวุฒิที่ยังพอช่วยได้ก็อยากสร้างโครงการเพื่อต่อยอดเขาไป เพราะเราก็เป็นหนึ่งคนที่เมื่อสิบปีที่แล้วไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง จะใช้ชีวิตแบบไหน จะไปโรงเรียนยังไง จะเข้าไปในมหาวิทยาลัยแบบไหน มันเหมือนเป็นภาพที่ทำให้เราเห็นตัวเองเมื่อก่อน 

ที่สำคัญคือปัจจุบันธันย์ยังเห็นน้องๆ ที่เพิ่งพิการ เขายังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพก็เปิดรับเยอะแยะแล้วนะ เพราะข่าวสารพวกนี้อาจยังไปไม่ถึง หรือค่านิยมที่ว่าคนพิการจบม.6 ก็คือแทบไม่มีโอกาสเรียนต่อแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงตำแหน่งงานในบริษัทต่างๆ หรือประเภทขององค์กรบริษัทที่มีการจ้างงานคนพิการ คือมันมีดีเทลที่ลึกมากๆ 

ถ้าสมมติตัวธันย์เองวันนั้น Leave ตัวเองออกจากสังคมคนพิการ กลับมาใช้ชีวิตกับคนปกติทั่วไปเลยซึ่งสามารถทำได้ แต่ธันย์ไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น ธันย์มาเข้าใจตัวเองตอน 3-4 ปีหลังเกิดอุบัติเหตุว่าจริงๆ แล้วธันย์พัฒนาชีวิตมาถึงตรงนี้ได้เป็นเพราะธันย์เรียนรู้จากรุ่นพี่คนพิการนะ เพราะฉะนั้นถ้าธันย์เอาตัวเองไปอยู่กับสังคมเพื่อนๆ กลุ่มเดิม เท่ากับธันย์ไม่มีอะไรที่พัฒนาต่อไปเลย คือแค่รักษาความเป็นปกติให้กับตัวเองแค่นั้น แต่จะไม่ได้เรียนรู้ว่ามันมีองค์กรนี้มีแหล่งเหล่านี้อยู่ ทุกวันนี้ธันย์มีข้อมูลเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน ที่ผลิตวีลแชร์ บริษัทหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ก็มาจากสิ่งเหล่านี้แหละ 

ถ้าอนาคตมีโอกาสก็อยากทำโครงการที่เหมือนสร้างโอกาสให้คนพิการ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการสื่อสารให้เขาเข้าถึงมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นช่องทางให้เขาวางแผนว่าจะเดินไปทางไหน

ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุที่สิงคโปร์ เคยมีสักครั้งไหมที่คิดว่า ถ้าวันนั้นไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเราจะเป็นยังไง?

เคยคิดค่ะ แต่ก็มองภาพไม่ออกเหมือนกัน อาจจะเป็นคนที่เรียนจบมาแล้วกลับไปทำงานที่บ้านและใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ขับรถไปทำงานกลับมาบ้าน อาจไม่ได้ใช้ชีวิตในเชิงลบแต่คงธรรมดาปกติไม่หวือหวา แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพาร์ทตอนนั้นเราจะมีความสุขในรูปแบบไหน เราอาจจะมีความสุขแบบฟีลทำอาสาหรือเปล่า ธันย์ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ธันย์คิดว่ามันก็คงไม่ได้ต่างจากตรงนี้เยอะ แต่วิธีการอาจแตกต่างไป

ทุกวันนี้ธันย์มีความภูมิใจในตัวเอง?

ใช่ค่ะ ทุกวันนี้รู้สึกภูมิใจนะ จุดไหนที่เรารู้สึกยังไม่ภูมิใจก็พัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นเหมือนแพสชันใหม่ๆ ที่เราอยากจะทำแหละ ธันย์ว่าคนทุกคนไม่ได้มีลิมิตในชีวิตของตัวเอง สมมติเรามีลิมิตบางอย่าง เราก็จะรู้สึกว่าเราอยากได้มากกว่านั้น สุดท้ายแล้วความสุขก็เหมือนกันแหละที่เรารู้สึกว่าถ้าปีนี้เรามีความสุข แต่ปีหน้าเราก็ไม่อยากให้มันมีความสุขแค่เท่านี้ เราอยากมีความสุขให้มากขึ้นกว่าเดิม มันเป็นเหมือนสิ่งที่เราพัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกปีแหละ ธันย์ก็หาสิ่งใหม่ๆ ทำตลอดเพราะว่าอาจจะด้วยลักษณะนิสัยที่ธันย์ชอบทำอะไรใหม่ๆ ก็เลยทำให้ธันย์อยากออกไปเรียนรู้ด้วย ได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น

ในมุมของสาวน้อยคิดบวก ธันย์มีอะไรอยากบอกกับน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่อาจกำลังรู้สึกว่าชีวิตมันช่างหนักเหนื่อย หมดพลัง สิ้นหวัง?

ธันย์ว่ามันเป็นวัฏจักรของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอ แต่แค่จะเจอรุนแรงระดับไหน ไม่มีใครที่โลกสวยงามตั้งแต่เด็กจนโตหรอก คือทุกคนต้องเจอจุดเปลี่ยนหรือความผิดหวังบ้าง 

สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ก็คือว่าคนเราผิดหวังได้แต่อย่าผิดหวังนาน และอย่าใช้ความผิดหวังนั้นในทางที่ผิด 

ซึ่งในที่นี้หมายถึงว่าพอเราผิดหวังแล้ว ถ้าเราใช้ชีวิตเพื่อประชดความผิดหวัง สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้มามันก็จะได้เป็นความผิดหวังแหละ เหมือน 1+1 ได้ 2 มันก็เหมือน ผิดหวัง+ผิดหวัง มันก็ได้ผิดหวัง 

ธันย์รู้สึกว่าชีวิตเราเหมือนสมการ ถ้าเราใช้ชีวิตแบบแฮปปี้+แฮปปี้ สุดท้ายเราก็จะมีความสุข หรือความผิดหวัง+แฮปปี้บ้าง ผสมกันสุดท้ายมันก็ยัง 50:50 ธันย์เลยมองว่าถ้าเราผิดหวังระดับหนึ่งแล้ว เราต้องใช้ชีวิตให้เกินกว่าความผิดหวังที่เราเจอแล้วเราจะค้นพบว่า 

จริงๆ แล้วความผิดหวังมันเป็นไดอารี่ เหมือนกับธันย์ในวันนี้ที่มันกลับกลายเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ 

ความผิดหวังของใครหลายๆ คนก็ไม่ได้เป็นความผิดหวังที่ต้องปิดประตูแบบปิดตายไปเลย มันอาจจะเป็นประโยชน์กับคนในองค์กร คนในสังคมหรือคนอื่นๆ ในชีวิต ถ้าไม่มีคนผิดหวังมันก็จะไม่มีคนที่สอนบทเรียนหรือสอนให้กับคนอื่นๆ ที่ยังไม่เจอความผิดหวังก็ได้ คืออย่ามองว่าความผิดหวังมันเป็นด้านลบเสมอไป สุดท้ายเมื่อเจอความผิดหวังเราก็แค่แก้ไขความผิดหวังเหล่านั้นแล้วก็พยายามสร้างสิ่งที่มีความสุขให้มากกว่าความผิดหวังที่เราเจอ 

เหมือนทุกวันนี้ธันย์เจอความผิดหวังจากอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นต่อไปมันก็จะต้องเป็นความสุขที่มากกว่าสิ่งที่เราเจอ ทุกคนก็จะเห็นว่าทำไมเราถึงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขไม่มีลิมิตโน่นนี่นั่น จริงๆ มันมีกรอบของมันอยู่แล้วคือไม่ได้ใช้ชีวิตแบบสุดโต่งขนาดนั้น แค่เราได้ใช้ชีวิตในสิ่งที่เรารู้สึกว่าแฮปปี้มีความสุข ไปไหนที่เราอยากไป มีสิทธิ์ในการตัดสินใจทำในสิ่งที่เราอยากทำ มันน่าจะเป็นจุดที่ธันย์รู้สึกแฮปปี้สำหรับตัวธันย์เอง ซึ่งธันย์เชื่อว่าน้องๆ หลายคนที่เขาอาจเจอความผิดหวังอยู่ เขาก็จะมีกรอบความสุขของเขาที่เขาสามารถมีความสุขได้และออกไปใช้ชีวิตได้ 

Tags:

การเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)Growth mindsetความเข้าอกเข้าใจ(empathy)การเติบโตคนพิการการเรียนรู้positivity mindsetความสุขธันย์- ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์วัยรุ่น

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Book
    ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • วิชาพื้นฐานของคนพิการ คือการเห็นคุณค่าของตัวเอง: เพียงฟ้า สุทธิพรมณีวัฒน์ 

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • How to get along with teenager
    ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.3 “I am worth enough.”

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Life classroom
    เปลี่ยนโรค เปลี่ยว เหงา ซึมเซา เป็นโลกใหม่: 5 วิธีช่วยให้วัยรุ่นรู้สึกดีกับตัวเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Life classroom
    SELF-COMPASSION: ไม่ต้องใจร้ายกับตัวเองมากนักก็ได้วัยรุ่น

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์

Julia: เป็นกุลสตรีในแบบของหนู ถึงพ่อไม่ชอบก็ไม่เป็นอะไร
Movie
17 February 2023

Julia: เป็นกุลสตรีในแบบของหนู ถึงพ่อไม่ชอบก็ไม่เป็นอะไร

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • จูเลีย หรือ Julia child คือชื่อของนักเขียนชาวอเมริกันผู้เขียนตำราอาหารฝรั่งเศสและทำรายการสอนทำอาหารชื่อ ‘The French chef’ ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในอเมริกา ช่วงยุค 60’s
  • ซีรีส์ Julia เล่าพาร์ทต่อจากหนัง หลังจากที่เธอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น และได้เห็นจุดเริ่มต้นของการทำรายการทีวีของจูเลีย ที่ก็มีความยากในยุคที่ผู้หญิงเพิ่งจะเริ่มได้มีบทบาทมากขึ้นในสังคมการทำงาน
  • จูเลียไม่ปล่อยให้คำพูดของคนในครอบครัวมาลดคุณค่าหรือเก็บคำพูดเหล่านั้นมาทุบตีตัวเองแม้แต่น้อย เธอกลับยืนหยัดกับตัวตนของตัวเอง และเป็น ‘กุลสตรี’ ในแบบของตัวเธอเอง

Tags:

ครอบครัวการสร้างความเข้าใจการสร้างความมั่นใจJuliaรายการทีวีรายการทำอาหารผู้หญิงการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Weerathep pomphan-cover
    Life classroom
    ‘เรียนรู้จากความพ่ายแพ้ เรียนรู้จากชัยชนะ’ นักฟุตบอลทีมชาติที่มีครอบครัวเป็นกองหลัง: วีระเทพ ป้อมพันธุ์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Movie
    Pachinko (2022): อ่านผู้หญิงเกาหลีในนาม ‘ซุนจา’

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Beef (2023) เก็บกด แบกรับ ปิดบัง ฉบับ Asian Americans

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Yes Day: ขอให้มีสักวันที่แม่จะไว้ใจและให้พื้นที่อิสระพอที่เราจะใช้ชีวิตในแบบของตนเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Myth/Life/Crisis
    ‘ครอบครัว’ ที่ไม่เป็นไปตามขนบ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

เยียวยาโดยไม่ยึดติดกับบทบาท
Myth/Life/Crisis
16 February 2023

เยียวยาโดยไม่ยึดติดกับบทบาท

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • สิ่งที่สร้าง ‘กรงขัง’ ครอบใครหลายๆ คนนั้น หากมองลึกลงไป จะพบว่ามีระดับชั้นของการถูกทำให้รู้สึกบาดเจ็บอยู่ รอยแผลหรือกำลังใจใดที่ได้รับจากครอบครัวที่เป็นพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมแรกที่สร้างชีวิตคน จึงสามารถจะสลักไว้เป็นวิธีคิดของคนๆ นั้นด้วย
  • ภัทรารัตน์ หยิบยกความรู้สึกนึกคิดที่เหมือนถูกขังและบาดเจ็บของตัวละคร ‘แนนซี่’ และ ‘ผีแม่ลูก’ จากซีรีส์เรื่อง  Cabinet of Curiosities ตอน The Murmuring ที่ทำให้พวกเขาไม่อาจหาทางออกและปลดปล่อยตัวเองได้ มาเปรียบเทียบกับการสร้างกรงขังทางความรู้สึกของใครหลายๆ คน
  • เรื่องเล่าของแต่ละคนเสริมสร้างและตอกย้ำความเชื่อนั้นๆ และในชีวิตจริงเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าของตนเอง จะเป็นเรื่องเล่าประโลมใจหรือชวนหดหู่ ก็อยู่ที่เราเลือกจะตอกย้ำอย่างไร

1.

แนนซี่ เป็นนักวิจัยพฤติกรรมนกผู้มุ่งมั่น แต่ไม่ถูกมองเห็น ในขณะที่แฟนของเธอซึ่งทำงานอย่างเดียวกันกลับได้รับคำชื่นชมและการยอมรับอย่างเต็มเปี่ยม หลังจากที่สูญเสียลูกไป เธอกลายเป็นคนที่ดูหมกหมุ่นอยู่กับงานแต่เพียงเท่านั้น ในสายตาของคนทั่วไปเธออาจดูเป็นผู้หญิงแปลกๆ ที่เอาแต่สนใจนกจนเหมือนไม่สนใจเรื่องอื่นเลย  

อยู่มาวันหนึ่งเธอและแฟนได้ไปเช่าบ้านพักตากอากาศอยู่ริมทะเลสาบที่เหมาะกับการสังเกตพฤติกรรมนก โดยบ้านหลังนั้นเคยมีเหตุการณ์น่าเศร้าสลดเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเธอได้เรียนรู้เรื่องนี้หลังจากที่ได้อยู่บ้านพักดังกล่าวไประยะหนึ่งแล้ว ในบ้านหลังนั้นดูเหมือนมีคนกำลังอาศัยอยู่ รูปเจ้าของเก่าก็ยังติดตรึงอยู่บนฝาผนัง กลิ่นอายความโดดเดี่ยวฟุ้งลอยอยู่ในบรรยากาศหนาหนักของบ้าน  

คืนหนึ่งในขณะที่แนนซี่กำลังจะหลับ เธอได้ยินเสียงร่ำไห้ของเด็กชายและเสียงนั้นก็ดังขึ้นทุกวันจนเธอรู้สึกหลอนแต่ขณะเดียวกันก็สนใจอย่างเต็มที่ เธอจึงเริ่มเล่าเรื่องให้แฟนและผู้จัดหาบ้านฟัง ซึ่งแทนที่จะได้รับการรับฟัง คนอื่นก็สะท้อนกลับมาคล้ายเธอกุเรื่องขึ้น ที่นั่นไม่มีผี มีแต่สิ่งเธอที่คิดไปเอง ราวกับทุกคนโทษว่าเธอผิดหรือเพี้ยนไปเอง จะทำอย่างไรได้เล่าเมื่อไม่มีใครเชื่อ อย่างมากแฟนก็เข้ามาปลอบโดยที่ไม่ได้เชื่ออะไรเธอเลย จนเธอตัดสินใจเผชิญหน้ากับผี จึงได้ทราบว่ามีผี 2 ตน คือผีเด็กและผีแม่ ผีเด็กที่ตัวเปียกเฝ้าถามตลอดเวลาว่า “ผมทำอะไรผิด” กับผีแม่ที่เอาแต่พูดว่า “แกทำอะไรลงไป” ภาพหลอนต่างๆ เกิดขึ้นต่อหน้าของเธอ เด็กถูกแม่กดน้ำจนตายและแม่ที่กระโดดหน้าต่างฆ่าตัวตาย  

ในบ้านหลังนี้ ฝูงนกมักบินมาเกาะอยู่บนผนังผุพัง นกบางตัวที่ต้องการจะบินออกไปสู่อิสรภาพก็ทำได้เพียงวิ่งชนหน้าต่างและคอหักตายไปทั้งที่มีช่องทางให้ออกไปมากมาย นั่นเป็นดั่งใครก็ตามที่ถูกความรู้สึกนึกคิดของตัวเองขังไว้จนไม่อาจหาทางออกได้ 

วันหนึ่ง แนนซี่ขึ้นไปนั่งคนเดียวในห้องสีน้ำเงินสลัวด้วยใจเหม่อลอย แล้วเธอก็เห็นผีเด็กตนนั้นอีก เขาวิ่งหนีไปตามห้องต่างๆ พร้อมกับบอกว่า “คุณแม่โกรธผม” จนในที่สุดเขาหยุดยืนอยู่ตรงมุมมืดและพูดว่า “คุณแม่โกรธผม ผมไม่รู้ว่าผมทำอะไรผิด ที่นี่หนาว มันมืดมากๆ” เธอจึงสื่อสารกับเด็กน้อยว่า “คุณแม่ทำสิ่งเลวร้ายกับหนู หนูโดนทำร้าย มันไม่ใช่ความผิดของหนู หนูเป็นเด็กที่ไร้ที่ตินะครับ” เธอบอกให้เด็กน้อยมาอยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่าง แล้วเด็กน้อยก็วิ่งเข้าหาแสง เขาไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป ในขณะที่ผีแม่กลับกรีดร้องดังขึ้นจากชั้นบน แนนซี่รีบวิ่งขึ้นไปพบผีสาวที่กำลังร้องไห้มองดูมือตัวเองและพูดซ้ำๆ ว่า “นี่แกทำอะไรลงไปๆๆ” จากนั้นก็กระโดดลงไปจากตรงนั้น ซึ่งเป็นฉากการฆ่าตัวตายซ้ำ แต่ครั้งนี้เธออยู่ในแสงสว่าง

ฝูงนกโบยบินส่งเสียงร้องก้องจรดผืนน้ำไกลสุดสายตา คล้ายบอกว่าแนนซี่ก็ได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากห้องขังโดดเดี่ยวแห่งความรู้สึกลบๆ แล้วเช่นกัน  

2.

ถูกขัง

แนนซี่ แฟนของเธอ ผีเด็กและผีสาว ต่างก็เป็นตัวละครที่ถูกความรู้สึกนึกคิดของตัวเองขังไว้ 

แนนซี่ถูกขังจากความรู้สึกผิดเรื่องลูกตายจนไม่อยากคุยกับใครเพราะกลัวถูกโทษว่าเธอผิด จากพื้นเพที่เชื่อว่าตนไม่ค่อยถูกมองเห็นในด้านดีๆ อยู่แล้ว 

แฟนของแนนซี่ถูกขังจากความเชื่อมั่นในหน้าที่และความเชื่อถือที่สังคมมอบให้ จนคิดว่าทางออกของตัวเองเหมาะกับแนนซี่ที่สุด โดยไม่ฟังเธอเลยและพยายามตัดบทเธอเสมอ

ผีเด็กถูกขังในความเดียวดายและมืดมิดในบ้านหลังนั้น เขายังคงคิดว่าตัวเองทำอะไร ‘ผิด’ เสมอมา 

ผีสาวถูกขังอยู่ในความคิดว่าตัวเองเป็นเมียน้อยและการมีลูกทำให้คนรักไม่ยอมหลบเมียหลวงกลับมาหาตัวเอง ถูกทอดทิ้งไว้ที่บ้านซึ่งห่างไกลผู้คนและไม่มีสิทธิ์ไปเจอใครเพราะเป็นเมียน้อยเขา นอกจากนี้ยังโทษตัวเองที่ฆ่าลูกจึงได้ฆ่าตัวตายตาม 

อะไรเล่าคือสิ่งที่สร้างกรงขังครอบคนเหล่านี้ ถ้ามองลึกลงไป มันมีระดับชั้นของการถูกทำให้รู้สึกบาดเจ็บอยู่ เช่น เริ่มจากครอบครัวและวิธีการถูกเลี้ยงดูมา ซึ่งก็มีผลกระทบกับชีวิตมาก ครอบครัวถือเป็นพื้นฐานที่สร้างชีวิตคน เป็นสิ่งแวดล้อมแรกที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยหลังจากเกิดมา รอยแผลหรือกำลังใจใดที่ได้รับก็สามารถจะสลักไว้เป็นวิธีคิดของคนๆ นั้นด้วย

หากการทำให้บาดเจ็บ มีสถานะทางสังคม

นอกจากนี้ มองในระดับที่กว้างกว่าครอบครัว กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมและ ‘ศีลธรรม’ บางอย่างก็มักเน้นย้ำการปกป้องคนที่มีลำดับขั้นสูงกว่า เช่น ผู้ใหญ่เหนือผู้น้อย พระเหนือฆราวาส พ่อแม่เหนือลูก เจ้านายเหนือลูกน้อง เป็นต้น ซึ่งก็พลิกไปมาได้ตามปัจจัยอื่นๆ อีกที 

ไม่แปลก คนที่มีความสามารถและคุณสมบัติบางอย่างมากกว่า มีอำนาจ เข้าถึงทรัพยากรมากกว่าก็มักมีสิทธิ์ออกกฎและ/ หรือมักได้รับการสนับสนุนมากกว่าจากชุมชนที่ยังต้องพึ่งการอุปถัมภ์นั้นๆ หากพวกเขาทำผิดต่อคนที่มีผลรวมอภิสิทธิ์น้อยกว่า ฝ่ายหลังก็อาจระบายให้ใครฟังได้ยาก ดังนั้น หากเราเคยถูกทำร้าย(ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการทำให้ตัวเองเป็นเหยื่อ) โดยคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า อย่างหนึ่งที่เราทำได้ก็คือขอบคุณตัวเองที่ยังคงทำความเข้าใจเงามืดในตัวเองและมองหาแสงสว่างแม้ในโมงยามที่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าข้าง ฯลฯ เราไม่จำเป็นต้องรีบให้อภัย แต่เราอาจให้อภัยได้ง่ายขึ้นเมื่อตระหนักว่าไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ เราก็เคยทำร้ายคนอื่นเหมือนกัน และจริงๆ การให้อภัยก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการทำร้ายสักหน่อย

3.

ไม่ยึดติดกับบทบาท

ในสถานการณ์ครอบครัว ในฐานะลูก สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือบอกพ่อแม่ซึ่งอาจเคยทำร้ายเรา (โดยพวกเขาก็มักไม่ได้ตั้งใจ และก็น่าเห็นใจเพราะพวกเขาก็มีบาดแผลหรือความเครียดของตน และก็มีประเด็นที่พวกเขายังขังตัวเองอยู่เช่นกัน) ว่าเราขอบคุณที่แม้เขาจะไม่มีตัวอย่างที่ดีกว่านี้ แต่พวกเขาก็ทำดีมากแล้ว 

เราอาจเคยพบการละเมิดต้นแบบของสิ่งที่สามารถจัดอยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่สูงกว่า เช่น ละเมิดต้นแบบของการเป็นแม่ (Mother Archetype) และละเมิดแบบของผู้ที่แสวงหาสัจจะ หากแบบของพ่อแม่ทำให้เกิดบทบาทการหล่อเลี้ยงลูกให้เจริญงอกงามมีสุขภาวะ 

บางคราพวกเขาอาจทำร้ายลูกหรือยับยั้งการเติบโตของลูกโดยไม่ตั้งใจ หรือนักสอนศาสนาผู้ถูกแห่แหนซึ่งเป็นแบบอย่างแห่งการแสวงหาสัจจะบางครั้งก็อาจจะไม่ได้รักษาความจริงเสมอไป แต่คนอื่นก็มีเส้นทางการเติบโตของพวกเขาเองและเปลี่ยนบทได้เสมอ 

ในกรณีแนนซึ่งได้เป็นพยานรู้เห็นว่าแม่ทำร้ายลูก เธอได้กระโจนเข้าไปช่วยผีเด็กและนั่นทำให้เธอไม่กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำร้ายอันมีสถานะ แต่ในอีกมุมหนึ่งฉันไม่อาจคาดหวังให้คนที่กำลังแสดงบทบาทใดๆ ที่ได้รับการสรรเสริญและปกป้องไม่เล่นนอกบท และถึงจุดหนึ่ง หลังเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไป เราเองก็ต้องแยกแยะการที่เราถูกอีกฝ่ายปั่นหัวให้เราไม่กล้าเชื่อความรับรู้ของตัวเราเองจนเหมือนเราบ้าไปเอง ออกจากการที่เราเองฉายภาพ (projection) ร้ายกาจอย่างเกินสัดส่วนต่อข้อเท็จจริงไปที่คนอื่นซึ่งพวกเขาก็มีทั้งแง่บวกและลบหลากหลายเช่นเดียวกันกับเรา

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่บรรดาคนที่ได้รับการยกย่องทางวัฒนธรรมกลับเกื้อกูลตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้นเมื่อพวกเขาไม่พยายามทำตามบทที่พวกเขาคิดว่าต้องเล่นอีกต่อไป เช่น เมื่อพ่อแม่ไม่พยายามทำตัวเป็นพ่อแม่ให้ลูกที่โตมากแล้ว พ่อแม่ก็กลับเกื้อกูลลูกได้อย่างเหลือล้นและมีพื้นที่ให้ทุกคนหายใจ หรือนักบวชที่ไม่ต้องพยายามทำตัวเป็นพระพุทธรูปก็สามารถยอมรับได้ว่าตนเองก็เคยผิดพลาดและไม่ต้องบิดข้อเท็จจริงเพื่อรักษาภาพลักษณ์อันแข็งตัวตามที่สาธุชนคาดหวัง แต่กลับมีความจริงแท้ในระดับสมมุติเป็นการตอบแทน ก่อนจะไปถึงระดับปรมัตถ์

เราเองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบทเดียวตลอด ซึ่งก็ทำให้เปิดรับความไหลลื่นของคนอื่นได้มากขึ้นด้วย  

ลูกก็สามารถมีห้วงเวลา(แปลว่า ไม่ใช่ว่าทำได้ตลอด)ที่เป็นมารดาทางอารมณ์ให้พ่อแม่ได้ ห้วงขณะเช่นนั้น ความคาดหวังและบาดเจ็บจากการกระทำเชิงลบต่างๆ ของพ่อแม่หรือผู้ดูแลก็บรรเทาลง และเราอาจแม้แต่เข้าใจได้ว่า ในสิ่งที่ดูเหมือนว่าพ่อแม่ทำร้ายก็มีผลดีบางอย่าง เช่น ช่วยตัดสายสะดือทางจิตวิญญาณให้เราเติบโตแยกออกเป็นปัจเจกได้ง่ายขึ้น อย่างไรเสียพ่อแม่ที่มีกายเนื้อและความเป็นมนุษย์ ก็คือของขวัญในการแยกจากเพื่อมาเกิดบนโลกมนุษย์ของลูกเช่นเดียวกัน

อีกทั้ง เสี้ยววินาทีที่คนเล่นบทลูกสัมผัสได้ว่าตนเองก็เป็นมารดาของสิ่งต่างๆ ในระดับที่กว้างใหญ่กว่าและพ้นไปจากความรู้สึกว่าเป็น ‘ลูกของกู’ เราก็ไม่คาดหวังอะไรจากคนอื่น อย่างในกรณีที่ผู้คนเล่าเรื่องเปราะบางแห่งการถูกทำร้ายให้ฟัง เราพูดเข้าข้างเขาได้ เราเป็นพยานในความเจ็บปวดและความไม่ยุติธรรมที่เกิดกับเขาตามความรับรู้ของเขาได้ แต่พวกเขาต่างมีวิถีของตนและไม่ได้มีหน้าที่มาเข้าใจเรา แม้แต่ในสิ่งที่เราสื่อสารเมื่อเขาต้องการความเห็นใจจากเรา 

เขาก็เป็นอิสระจากเรา เช่นเดียวกับที่เราจึงเป็นอิสระทางใจจากพวกเขาด้วย

กระนั้น สภาวะเช่นนั้นก็มิได้คงอยู่ตลอด เมื่อกลับสู่โลกปุถุชน ช่วงไหนที่ไม่ไหว จะเล่าเรื่องที่รู้สึกว่าอยุติธรรมในชีวิตให้คนไว้ใจสักคนฟังก็ได้นะ    

ซึ่งก็มักจะพบว่ามีเพื่อนฝูงที่โดนเหมือนเราในกรณีต่างๆ และเข้าใจ ไม่ต้องมีเยอะแต่ก็เป็นอาหารใจที่เพียงพอแล้ว 

ผู้คนต่างเห็นเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น เรื่องเล่าของแต่ละคนเสริมสร้างและตอกย้ำความเชื่อนั้นๆ ในชีวิตจริงเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าของตนเอง จะเป็นเรื่องเล่าประโลมใจหรือชวนหดหู่ มันก็อยู่ที่เราเลือกจะตอกย้ำอย่างไรนั่นเอง 

อ้างอิง

ภาพยนตร์ Cabinet of Curiosities ตอน The Murmuring ฉายทาง Netflix

Tags:

สุขภาพจิตบาดแผลทางจิตใจความรู้สึกบาดแผลหนังCabinet of CuriositiesThe Murmuring

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • emotional corrective experience-cover
    Healing the trauma
    บาดแผลทางใจอาจลึกเกินกว่าจะเยียวยาด้วยความคิด การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดที่ความรู้สึกด้วย (emotional corrective experience)

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • IMG_3795
    Healing the trauma
    เมื่อบาดแผลหล่อหลอมชีวิต: การเติบโตงอกงามจากความเจ็บปวด (Post-traumatic Growth)

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Movie
    บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้): คงจะดีกว่านี้ถ้าพ่อพูดอะไรที่คำนึงถึงความรู้สึกเราบ้าง

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.9 บาดแผลของการทำผิดพลาดแล้วถูกประจานให้อับอาย

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Healing the trauma
    จิตวิทยาของการกราดยิง (mass shooting): บาดแผลทางใจและการรับมือกับเหตุการณ์เลวร้าย

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

“บนโลกนี้มีเด็กเก่งมากมาย เขาแค่ไม่ได้รับโอกาส” คุยกับ ไมกี้ – นิธิยุทธ วงศ์พุทธา นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์
15 February 2023

“บนโลกนี้มีเด็กเก่งมากมาย เขาแค่ไม่ได้รับโอกาส” คุยกับ ไมกี้ – นิธิยุทธ วงศ์พุทธา นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์

เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • “การให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันสำคัญมาก เพราะจะเป็นการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้สังคมเราเจริญก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง การพัฒนาก็เกิดมาจากคนล้วนๆ คนสร้างสิ่งสร้างสรรค์ เราก็ควรสร้างคนให้มีคุณภาพ”
  • คุยกับ เด็กชายช่างสงสัยผู้ไม่กลัวความล้มเหลว นิธิยุทธ วงศ์พุทธา หรือ ไมกี้ นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ วัย 14 ปี เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศอย่าง ‘หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด’ และเหรียญทองบนเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว อย่าง ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ เพื่อผู้สูงอายุ
  • การได้ลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความช่างสงสัย ช่างสังเกตของตัวเองนั้น นอกจากจะทำให้เขาได้เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความสุขที่ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้

“มีเด็กที่เก่งในด้านต่างๆ มากมาย เด็กทุกคนเกิดมาด้วยความอยากรู้อยากเรียน การให้โอกาสเด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เพราะว่าการพัฒนาล้วนแล้วเกิดมาจากคน และการสร้างคนให้มีคุณภาพ ก็จะทำให้เขาไปสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้สังคมยั่งยืนไปอย่างต่อเนื่อง”

นิธิยุทธ วงศ์พุทธา หรือ ไมกี้ นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ วัย 14 ปี เด็กชายช่างสงสัยผู้ไม่กลัวความล้มเหลว เขาเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลระดับประเทศอย่าง ‘หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด’ และเหรียญทองบนเวทีประกวดระดับโลกมาแล้ว อย่าง ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ เพื่อผู้สูงอายุ 

ไมกี้เป็นหนึ่งในเยาวชนคนเก่ง โครงการ ‘Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด’ โครงการสนับสนุนเยาวชนไทยเพื่อสานฝันให้เป็นจริง โดย Central Retail ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เป็นการนำเรื่องราวของเด็กๆ ที่มีทักษะความสามารถมาถ่ายทอดในมุมของคนที่ได้รับโอกาส เพื่อจุดประกายเด็กที่มีความสามารถให้กระตุ้นศักยภาพของตัวเอง และมอบโอกาสให้กับเด็กที่ขาดโอกาส

นอกจากไมกี้แล้ว Gift to Gifted ยังมีเด็กเก่งอีก 3 คน คือ ศิรินันท์ ตันติเวส (น้องลิ้งค์) นักไวโอลินตัวน้อย วัย 13 ปี หนึ่งในสมาชิกของวงดุริยางค์เยาวชนไทย (Thai Youth Orchestra : TYO) ผู้มอบความสุขให้กับผู้ชมผ่านเสียงดนตรีบนเวทีการแสดง, ธนาธรณ์ นุกิจ (น้องแมนยู) จิตรกรวัยจิ๋ว อายุเพียง 11 ปี ที่ค้นพบพรสวรรค์ทางด้านการวาดภาพศิลปะตั้งแต่ 7 ขวบ เรียนรู้ด้วยตนเองจนพัฒนาฝีมือในระดับสูงขึ้น พร้อมมีความฝันในการได้โชว์ภาพวาดฝีมือของตนเองในงานนิทรรศการศิลปะ และ บาริสต้าตัวน้อย จิราพันธ์ กำเนิดมงคล (น้องวีวี่) เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง อายุ 10 ปี ที่เติบโตพร้อมกับสวนกาแฟตั้งแต่ยังเล็ก ซึมซับและเรียนรู้ทุกกรรมวิธีการผลิตมาจากครอบครัว มีความรักและใฝ่ฝันที่จะสร้างสรรค์กาแฟรสละมุนที่ชงจากฝีมือของตนเองให้กับทุกคนได้ลิ้มลอง

ความช่างสงสัยและเฝ้าสังเกต คุณสมบัติเบื้องต้นของนักประดิษฐ์    

ความช่างสงสัย ช่างถาม ช่างพูดของเด็กๆ ที่บางครั้งผู้ใหญ่อาจรู้สึกว่า…ช่างเจื้อยแจ้วซะเหลือเกิน สงสัยเก่ง ถามเก่งอะไรปานนั้น เด็กบางคนก็พลังล้นเหลือในการหาคำตอบที่ตัวเองสงสัยเสียด้วย ซึ่งความสงสัยนี้เอง จะนำไปสู่ความอยากเรียนรู้ในที่สุด เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของไมกี้ ที่เกิดจากความสงสัยใคร่รู้ของตัวเอง 

“ผมเริ่มคิดอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์ตอนที่ผมอยู่ประถมศึกษาปีที่ 5 ตอนนั้นผมเดินกลับจากโรงเรียน แล้วผมเห็นคนตาบอดข้ามถนน เขาขายลอตเตอรี่ ผมคิดว่าผมสร้างสิ่งประดิษฐ์เพราะความช่างสงสัย ช่างสังเกต เพราะผมสังเกตเห็นแผลบนหัวเขา แล้วผมก็สงสัย เอ๊ะ…เขาเป็นแผลอย่างนั้นได้ยังไง ผมก็เดินเข้าไปถามเขา เขาก็บอกว่าหัวเขาไปชนกับป้ายที่แขวนอยู่ตามทาง เนื่องจากว่าตัวที่เขาใช้ในการช่วยเดินมันไม่สามารถตรวจจับสิ่งที่อยู่ด้านบนได้ 

ผมก็เลยคิด เอ๊ะ…จะช่วยคนนี้ได้ยังไง อ๋อ…นึกออกละ พ่อเคยพาผมไปบ้านหม้อ ไปดูพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พวกเซ็นเซอร์โรลเลอร์ ผมเคยเห็นเซ็นเซอร์ตัวที่จะตรวจจับสิ่งกีดขวางได้ ผมก็เลยได้สร้างสิ่งประดิษฐ์แรกของผม 

เมื่อผมเอาหมวกให้คนตาบอดคนนั้น แล้วเขาบอกว่าเขามีความสุขมากเลย ไม่เดินชนป้ายแล้ว ผมมีความรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งที่ผมทำให้เขามีความสุข” ไมกี้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นนักประดิษฐ์ ที่ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อไมกี้เกิดความสงสัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาแล้ว ซึ่งในที่นี้หมายถึงการที่เขาสังเกตเห็นแผลบนหัวของคนตาบอดคนหนึ่ง แล้วสงสัยว่า “เอ๊ะ…เขาเป็นแผลอย่างนั้นได้ยังไง” สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการต่อยอดความสงสัยนั้นให้นำไปสู่การเรียนรู้จนได้คำตอบ จุดนี้ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งรีบดับไฟหรือปัดตกความสงสัยของเด็กๆ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียเจ๋งๆ ที่คาดไม่ถึงก็ได้ อย่างที่ไมกี้ได้รับการซัพพอร์ตจากพ่อแม่ของเขา

“พอผมสงสัยแล้วผมก็จะไปปรึกษากับคุณแม่และคุณพ่อของผม ถามว่า เอ๊ะ…ผมมีปัญหาอย่างนี้ผมจะแก้ยังไง” 

คุณพ่อคุณแม่แนะนำว่า ให้ลองเข้าไปคุยกับคนตาบอดคนนั้นเลย เพราะการจะแก้ปัญหาเรื่องใดก็ต้องสอบถามเจ้าตัวที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาอย่างทุกจุด แล้วต่อยอดไอเดียนั้นด้วยการหาความรู้พื้นฐานว่าอะไรบ้างที่จะสามารถนำมาประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหลักการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะใช้ก่อน เพื่อจะนำมาต่อยอดไอเดียนั้น  

จึงกลายมาเป็นผลงานชิ้นแรกของไมกี้นั่นก็คือ ‘หมวกแจ้งเตือนสำหรับคนตาบอด’ หรือ I-See Cap for the Blind เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินได้โดยไม่ชนป้ายหรือสิ่งกีดขวางที่อยู่ในระดับศีรษะหรือในระดับสายตาอีกต่อไป เพราะมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับให้ ซึ่งเป็นผลงานที่ไมกี้ภาคภูมิใจมากที่สุด

“หมวกช่วยคนตาบอด เป็นสิ่งประดิษฐ์แรกของผมเลย ถ้าไม่มีมันนะ ผมก็คงไม่ได้สร้างสิ่งประดิษฐ์เพิ่มต่อไปเรื่อยๆ สิ่งประดิษฐ์ I-See Cap คือสิ่งที่ทำให้ผมอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์ อยากช่วยเหลือคนต่อไปอีกเรื่อยๆ มันคือสิ่งที่เริ่มความสงสัย ความอยากรู้ของผม”

“นอกจากหมวกแล้ว ก็มีตัวจับคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้หลักการไฟฟ้าเคมีในการจับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วแยกมันออกมา และมีพัดลมที่เอาไว้ต่อกับที่ที่เขาจะปล่อยอากาศเหลือที่เราไม่ใช้อยู่แล้ว ไปแปลงเป็นพลังงานได้ แล้วก็ชิ้นล่าสุดก็คือ เก้าอี้ช่วยยืน ครับ”

จากหมวกคนตาบอด สู่เก้าอี้ช่วยยืน

สำหรับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นล่าสุดที่ไปคว้ารางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติ ในรายการ The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo ประเทศจีน นั่นก็คือ ‘เก้าอี้ช่วยยืน’ 

“ชื่อภาษาอังกฤษมันคือ The smart chair แต่ชื่อภาษาไทยมันคือ เก้าอี้ช่วยยืน แรงบันดาลใจก็คือจากความช่างสงสัย ช่างสังเกตของผมครับ ผมเห็นคุณย่าผมเขาพยายามลุกขึ้นยืน แต่เขาลุกขึ้นยืนไม่ได้เอง เพราะว่าเขาเป็นโรคกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ต้องมีคนคอยพยุงขึ้น และเนื่องจากว่าผิวของเขาอ่อนมันทำให้เขาเป็นรอยแผลช้ำ ผมก็เลยคิดว่าทำยังไงดีให้เขาได้ลุกขึ้นแบบไม่ต้องเป็นรอยแผล ไม่ต้องมีคนพยุง ผมก็เลยคิดค้นสมาร์ทแชร์ เก้าอี้ช่วยยืนขึ้นมา ช่วยให้ค่อยๆ สามารถลุกได้ทั้งที่ก้นยังอยู่ติดกับเก้าอี้ เพราะเก้าอี้มันจะค่อยดันก้นขึ้นมา สามารถลุกขึ้นได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย”

ไมกี้เล่าว่า การได้ลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความช่างสงสัย ช่างสังเกตของตัวเองนั้น นอกจากจะทำให้เขาได้เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการได้รับรู้ถึงความสุขในการช่วยเหลือคนอื่น และความสุขที่ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้

และเมื่อถามถึงกระบวนการในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ว่ามีจุดที่เราล้มเหลวหรือท้อบ้างหรือไหม? ไมกี้ตอบทันทีด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ไม่ครับ เพราะว่าทุกครั้งที่ผมล้มเหลว ผมก็มองว่าเป็นการที่ผมสามารถใกล้ถึงกับความสำเร็จมากขึ้น” 

“คุณพ่อคุณแม่ผมสอนมาว่า ทุกความล้มเหลวเป็นการใกล้ถึงความสำเร็จมากขึ้น และทุกความสำเร็จก็มาจากความล้มเหลวก่อนทั้งนั้น”

ไมกี้จึงมีคุณพ่อคุณแม่เป็นไอดอล “เพราะพวกเขาเป็นคนที่สอนผมว่าควรที่จะทำยังไง สอนให้ผมเห็นใจคนอื่น เขาจะเป็นคนที่สอนให้ผมรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ แล้วผมก็อยากเป็นเหมือนเขา”

แม้ภาพตอนนี้ไมกี้จะกลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์’ และนั่นก็เป็นความสุขในการได้ช่วยเหลือคนในแบบที่ไมกี้บอกเสมอว่าชอบและอยากทำมันต่อไป แต่ลึกๆ แล้วเขามีอีกหนึ่งความฝันนั่นก็คือ การเป็นนักแสดงละครเพลง 

“ผมอยากเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็กๆ ละ ตั้งแต่ 4 ขวบผมก็อยากจะเป็นนักแสดง แต่แม่บอกว่าเป็นไปได้ยาก เขาไม่จ้างผมหรอก ผมก็เลยผิดหวังไป แล้วก็เข้าไปเจอการสร้างสิ่งประดิษฐ์ แต่ยังไงก็ตามยังอยากจะเป็นนักแสดงอยู่ ส่วนเรื่องละครเพลงมันเกิดขึ้นเพราะว่าผมก็ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว” 

“ในอนาคตผมจะไปทดลองเรียนในโรงเรียนที่เขาสอนเกี่ยวกับละครเพลง จะลองร้องเพลง เอาจริงๆ ผมไม่ได้ร้องดี ก็เลยอยากฝึกร้องให้ได้ดี ผมก็จะได้เป็นนักแสดงละครเพลง แล้วผมก็ยังจะคงประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ของผมต่อไป เพราะว่ามันทำให้ผมมีความสุข การได้ประดิษฐ์ของมาช่วยคนมันทำให้ผมมีความสุขมากเลยครับ”

โอกาส…ที่เด็กๆ ควรได้รับ

พูดถึงโอกาสแล้ว ไมกี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่ฉายภาพได้ชัดในการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี ได้รับการสนันสนุนจากคนในครอบครัว และได้พื้นที่ในการแสดงศักยภาพ

“การให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันสำคัญมาก เพราะจะเป็นการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้สังคมเราเจริญก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง การพัฒนาก็เกิดมาจากคนล้วนๆ คนสร้างสิ่งสร้างสรรค์ เราก็ควรสร้างคนให้มีคุณภาพ” 

และในฐานะที่เป็นหนึ่งในตัวแทนเยาวชนคนเก่ง โครงการ ‘Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด’ ที่ให้ทั้งพื้นที่ในการแสดงศักยภาพหรือลงมือทำในสิ่งที่อยากทำอย่างสร้างสรรค์ และให้ทุนสนับสนุนด้วย ไมกี้ มองว่า “โครงการนี้มันให้โอกาสผมได้ไปโชว์พรสวรรค์ให้คนทั้งโลกเห็น ซึ่งทำให้ผมมีความสุขมากๆ และก็ให้ทุนด้วย ในการพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ” 

“บนโลกนี้มีเด็กเก่งมากมายเลยครับ มีเด็กคนนึงเก่งไวโอลิน คนนึงเก่งวาดรูป คนนึงเก่งทำกาแฟ เด็กทุกคนมีพรสวรรค์ไม่เหมือนกัน แล้วผมเชื่อนะว่าเด็กทุกคนในโลกใบนี้ต่างมีสิ่งนึงที่เขาเก่ง เราก็ควรจะให้โอกาสเด็กเหล่านี้ได้แสดงตัว ไม่ว่าจะเป็นเวทีใดๆ หรือว่าจะเป็นเหมือนงาน Give to gifted ของเซ็นทรัลรีเทลอย่างนี้ หรือว่าเป็นงานประกวด ผมคิดว่าเด็กทุกคนควรจะได้รับโอกาสพวกนี้ในการแสดงตัว ในการพัฒนาความเก่ง หรือ พรสวรรค์ของตัวเอง” 

“เพราะมีเด็กที่เก่งในด้านต่างๆ มากมาย เด็กทุกคนเกิดมาด้วยความอยากรู้อยากเรียน แล้วก็การให้โอกาสเด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จะเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เพราะว่าการพัฒนาล้วนแล้วเกิดมาจากคน และการสร้างคนให้มีคุณภาพ ก็จะทำให้เขาไปสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้สังคมยั่งยืนไปอย่างต่อเนื่อง”

สุดท้ายแล้ว สำหรับเด็กที่กำลังมีความฝันหรือแม้จะไม่มีความฝันใดๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ขอแค่มีความสุขในการทำสิ่งๆ หนึ่ง ค่อยๆ เรียนรู้กันไป  

“ให้พยายามและไม่ยอมแพ้ ความสำเร็จก็เกิดมาจากความล้มเหลวก่อนหน้าทั้งนั้น ให้พยายามไปเรื่อยๆ จนสามารถถึงสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ อย่าใหัใครบอกว่า…ให้ยอมแพ้ พยายามต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็หาวิธีที่จะให้โลกเห็นพรสวรรค์ของคุณ” นี่คือความคิดของเด็กชายช่างสงสัยผู้ไม่กลัวความล้มเหลว ไมกี้ – นิธิยุทธ วงศ์พุทธา

Tags:

การศึกษาความฝันโอกาสไมกี้ – นิธิยุทธ วงศ์พุทธานักประดิษฐ์รุ่นเยาว์Voice of New Gen

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • micheal-apple-nologo
    Transformative learning
    Michael Apple ในช่วงเวลาที่เราต้องคำถามว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ ?

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    กล้าพอไหม? ที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่จากในโรงเรียน (Dare the school build a new social order?)

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    คลี่ม่าน ‘มายาคติทางการศึกษา’ เปิดพื้นที่เรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างทาง: ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Book
    A Street Cat Named Bob : แค่มีเธอเคียงข้าง โลกก็ไม่อ้างว้างเกินไป

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Movie
    School town king: การศึกษาที่ไม่มีที่ให้ความแตกต่าง ไม่เอื้อให้ครอบครัวยินดีกับฝันที่ไม่เหมือนกันของเด็ก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

ข้างหลังภาพ – ไม่ได้มีแค่ความรักในภาพวาด
Book
11 February 2023

ข้างหลังภาพ – ไม่ได้มีแค่ความรักในภาพวาด

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ข้างหลังภาพ เล่าเรื่องราวความรักระหว่างคุณหญิงกีรติกับนพพร ที่มีฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทว่า รักของทั้งคู่ เป็นความรักที่ดูจะ ‘ผิดที่ผิดทาง’ มาตั้งแต่ต้น
  • เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชั้นครูของไทย ที่นับได้ว่าเป็นนิยายรักที่โรแมนติกและงดงามที่สุด ไม่ว่าจะนับเฉพาะวรรณกรรมไทยหรือวรรณกรรมสากล
  • บางคนถึงกับกล่าวว่า รักที่ไม่สมหวัง คือ รักแท้ในอุดมคติอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลว่า เป็นความรักที่ให้ไป โดยไม่เกี่ยงว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมา

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ประโยคข้างบนนี้ นอกจากจะเป็นหนึ่งในวรรคทองของวรรณกรรมไทยแล้ว ยังเป็นประโยครักที่ตราตรึงใจนักอ่านมากที่สุดอีกประโยคหนึ่ง

และประโยคที่ว่านี้ มาจากนวนิยายเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมยกให้เป็นนิยายรักที่โรแมนติกและงดงามที่สุด ไม่ว่าจะนับเฉพาะวรรณกรรมไทยหรือวรรณกรรมสากล

ในเดือนที่ความรักลอยอบอวลอยู่ในมวลอากาศ เราจะหยิบยกเรื่องราวความรักของ ‘คุณหญิงกีรติ’ และ ‘นพพร’ จากนวนิยายเรื่องนี้ มาคุยกันครับ

รักที่ไม่สมหวัง คือ รักในอุดมคติ?

ข้างหลังภาพ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชั้นครูของไทย เป็นเรื่องราวความรักระหว่างคุณหญิงกีรติกับนพพร ที่มีฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทว่า รักของทั้งคู่ เป็นความรักที่ดูจะ ‘ผิดที่ผิดทาง’ มาตั้งแต่ต้น 

คุณหญิงกีรติ เป็นหญิงสาวอายุมากกว่าเด็กหนุ่มนักศึกษาอย่างนพพร สถานภาพทางสังคมก็แตกต่างกัน และที่สำคัญที่สุด คุณหญิงกีรติ สมรสแล้วกับเจ้าคุณอธิการบดี ผู้เป็นเพื่อนสนิทของบิดาของนพพร

หลากหลายปัจจัย ทำให้ทั้งคู่ใกล้ชิดสนิทสนม จนกลายเป็นความรักต้องห้าม ที่เป็นเหมือนเส้นขนาน ที่ไม่มีวันมาบรรจบพบกันได้

ฉากสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ เกิดขึ้นขณะที่คุณหญิงกีรติและนพพร ได้เดินทางไปเที่ยวภูเขามิตาเกะ ความงดงามของธรรมชาติ ณ ที่แห่งนั้น บวกกับความเป็นหนุ่มเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อความรัก แต่มีหัวใจเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก นพพรเอ่ยปากบอกความในใจออกไป และพยายามคาดคั้นคำตอบจากคุณหญิงกีรติว่า รู้สึกเช่นเดียวกับตนหรือไม่

แม้ว่าจะไร้เดียงสาต่อความรักไม่ต่างจากนพพร แต่ด้วยความเป็นผู้หญิง ที่ถูกผูกมัดด้วยกรอบจารีต ศีลธรรม รวมถึงสถานภาพทางสังคม คุณหญิงกีรติ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม และขอให้นพพรลืมเหตุการณ์ในวันนั้นเสีย

หลังจากนั้น ทั้งคู่ต่างแยกย้ายไปบนเส้นทางชีวิตของตน คุณหญิงกีรติเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมเจ้าคุณอธิการบดี ขณะที่นพพร ยังอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อเรียนต่อ กาลเวลาที่ผ่านไป ทำให้ความรู้สึกที่นพพรมีต่อคุณหญิง ค่อยๆจืดจางลง บวกกับการที่ชายหนุ่มเข้าใจว่า หญิงสาวไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับเขา

กว่าที่นพพรจะได้รู้ว่า คุณหญิงกีรติรักเขาเช่นกัน ทุกอย่างก็สายเกินไปเสียแล้ว นพพรแต่งงานกับคู่หมั้นที่ผู้ใหญ่ตระเตรียมไว้แต่แรก ขณะที่คุณหญิงกีรติ ล้มป่วยหนักจนเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต

คุณหญิงกีรติ ได้มอบของขวัญวันแต่งงานแก่นพพร เป็นภาพวาดสีน้ำ ชื่อ ‘มิตาเกะ’ ซึ่งเธอวาดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่นพพรได้เอ่ยปากบอกรักเธอ ภาพวาดที่ฉากหน้าเป็นแค่ลายเส้นระบายสีน้ำฝีมือธรรมดา ทว่า ข้างหลังภาพ อัดแน่นด้วยความรักและความทรงจำอันแสนอ่อนหวาน

“จำได้ไหม นพพร ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น”

“ความรักของผมเกิดขึ้นที่นั่น” นพพรตอบ

“ความรักของเรา นพพร” พูดแล้วเธอหลับตา และพูดต่อไปอย่างแผ่วเบาเหลือเกิน “ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”

และในการพบกันครั้งสุดท้ายของทั้งคู่ คุณหญิงกีรติ ได้เขียนข้อความบนกระดาษเพื่อแทนคำบอกลาครั้งสุดท้ายแก่นพพร ข้อความนั้นเขียนว่า

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ฉากจบที่แสนรันทด หากงดงาม ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ ทะยานขึ้นหิ้งวรรณกรรมแห่งความรัก เทียบชั้นกับวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง Romeo and Juliet นิยายรักร่วมสมัยอย่าง Atonement รวมถึงภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจผู้ชมทั่วโลกอย่าง Titanic

หลายคนอาจสังเกตเห็นว่า จุดร่วมของเรื่องราวความรักที่ตราตรึงใจเหล่านี้ ก็คือ ความรักที่ไม่สมหวัง (Unrequited Love) 

ซึ่งบางคนถึงกับกล่าวว่า รักที่ไม่สมหวัง คือ รักแท้ในอุดมคติอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลว่า เป็นความรักที่ให้ไป โดยไม่เกี่ยงว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมา

ขณะที่บางคนมองว่า ความรักที่สมหวังแล้ว เป็นเหมือนภารกิจที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว จึงอยู่ในสภาพหยุดนิ่ง ต่างจากความรักที่ไม่สมหวัง ซึ่งเปรียบดังภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น จึงมีพลวัตรที่ขับเคลื่อนความรักนั้นต่อไป

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะไม่สมหวัง รักนั้นจึงยังคงอยู่

นอกจากนี้ เรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง ยังมีแง่มุมที่คล้ายคลึงกับโศกนาฏกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของละคร หรือภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด

รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ระบุว่า การที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง เป็นเพราะความรักที่รวดร้าวในหนังสือหรือในภาพยนตร์ ช่วยให้พวกเขาหันกลับมาทบทวนและปรับปรุงความสัมพันธ์ หรือความรักของตัวเอง

“เรื่องราวที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ทำให้เราอารมณ์ดี และรู้สึกว่าทุกอย่างโอเค ไม่มีอะไรต้องวิตก ขณะที่เรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง จะทำให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเอง และพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น” รองศาสตราจารย์ซิลเวีย น็อบล็อค-เวสเตอร์วิค ผู้จัดทำรายงานการวิจัย กล่าว

แม้จะเป็นความรักที่ซาบซึ้งตรึงใจ แต่ในทางจิตวิทยามองว่า ความรักที่ไม่สมหวัง ถือเป็นความเจ็บปวดทางอารมณ์ (emotional pain) ซึ่งจะส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง 

และผลกระทบที่ว่านั้น คงอยู่ได้นานตั้งแต่หลายเดือน ไปจนถึงชั่วชีวิตคนๆหนึ่ง หากคนๆนั้นไม่ตัดสินใจมูฟออนออกจากความสัมพันธ์นั้น

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบทางจิตใจ ยังอาจลุกลามจนส่งผลต่อสุขภาพกาย ดังเช่นคุณหญิงกีรติ ซึ่งอาการป่วยยิ่งทวีความรุนแรง หลังจากทราบข่าวว่า นพพรกำลังจะแต่งงานกับหญิงคู่หมั้น ที่เธอไม่เคยรับรู้มาก่อน

กรอบจารีตสังคม ที่อยู่ข้างหลังภาพ

ครั้งแรกที่พบหน้ากัน คุณหญิงกีรติ มีอายุ 35 ปี ขณะที่นพพร เป็นเด็กหนุ่มวัย 22 ปี แม้ว่าทั้งคู่จะมีช่วงอายุที่ห่างกัน แต่ก็ยังถือเป็นวัยหนุ่มสาวใกล้เคียงกัน หากเทียบกับช่องว่างระหว่างวัยของคุณหญิงกีรติ กับเจ้าคุณอธิการบดี ผู้เป็นสามีวัย 50 กว่าปี

และการพบเจอกันครั้งนั้น ถือเป็นรักครั้งแรกของทั้งคู่ รักที่แสนบริสุทธิ์และร้อนแรง โดยเฉพาะกับหญิงสาวที่ไม่เคยพบเจอความรักมาก่อน ด้วยความที่ถูกเลี้ยงดูอยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด จนเหมือนนกน้อยที่ขังในกรงทอง

“ฉันก็เหมือนกับคนทั้งหลาย ย่อมปรารถนาใฝ่ฝันถึงความรักและการแต่งงาน ฉันปรารถนาที่จะพูดถึงและรู้สึกด้วยตนเองในเรื่องราวของชีวิตในโลกใหม่… ฉันปรารถนาที่จะมีบ้านขอบตัวเอง ที่จะติดต่อสมาคมกับโลกภายนอก… ยังมีความปรารถนาที่งดงามอีกหลายอย่างที่ฉันย่อมจะบรรลุได้ ถ้าเพียงแต่ฉันได้พบความรัก”

คำพูดของคุณหญิงกีรติในฉากนี้ สะท้อนถึงค่านิยมของสตรีไทยในยุคสมัยนั้น (ราวปี 2475 – 2480) ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้หญิงจะมีตัวตนได้ ก็ด้วยสถานภาพที่อิงอยู่กับผู้อื่นเท่านั้น นั่นคือ สถานภาพ ‘ภรรยา’ และ ‘แม่’ ดังนั้น การแต่งงาน จึงนับเป็นความฝันของผู้หญิง ที่จะสร้างตัวตนของตัวเอง

ทว่า คุณหญิงกีรติ อาจเป็นหญิงไทยในวรรณกรรมคนแรกๆ ที่ค้นพบว่า สถานภาพความเป็นภรรยา ไม่ได้ทำให้เธอมี ‘ตัวตน’ ขึ้นมาเลย เธอแค่เปลี่ยนสถานภาพ จากนกน้อยในกรงทองของพ่อ กลายมาเป็นนกน้อยในกรงทองของสามี

ตัวคุณหญิงกีรติเอง ก็ดูจะยอมรับสถานภาพของผู้หญิง ที่ถูกผูกติดอยู่กับผู้ชาย ในสังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมที่ชายเป็นใหญ่

“เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก มันเป็นหน้าที่ของเรา”

แม้จะยอมรับสถานภาพดังกล่าว แต่ลึกๆ ในใจ คุณหญิงกีรติยังมีสิ่งที่โหยหาและขาดหายมาตลอด ก็คือ ความรัก จนกระทั่งได้มาพบและได้รับการเติมเต็มจากนพพร และความรักนั่นเอง ทำให้เธอค้นพบตัวเองในฐานะ ‘คุณหญิงที่รักของผม’

ทว่า ถึงที่สุดแล้ว คุณหญิงกีรติ ก็ยังไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง ด้วยกรอบของศีลธรรม จารีตประเพณี และค่านิยมความเป็นกุลสตรีไทยในสมัยนั้น ทำให้เธอไม่ยอมปริปากให้นพพรรับรู้ถึงความรู้สึกในใจ

จนกระทั่งในตอนที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันช่วงนาทีสุดท้าย ก่อนที่คุณหญิงกีรติจะเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมเจ้าคุณอธิการบดี เธอก็ยังไม่ยอมปริปาก

“คุณหญิงรักผมไหม?” นพพรกระซิบถามเป็นครั้งสุดท้าย

“รีบลงไปเสียเถิด นพพร” พูดแล้วเธอยกมือขึ้นปิดหน้าชั่วขณะหนึ่ง “รีบไปเสีย ฉันแทบใจจะขาด”

แม้ว่าคุณหญิงกีรติ จะไม่ได้เอ่ยคำว่า ‘รัก’ ออกจากปาก แต่ความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลของเธอ ถูกแสดงออกผ่านหยดน้ำที่คลอตา ทว่า ชายหนุ่มกลับไม่รับรู้ เพราะสิ่งที่เขาต้องการ มีเพียงแค่ถ้อยคำที่ประกาศชัดออกจากปาก

ด้วยความไร้เดียงสาของวัย บวกกับความเป็นผู้ชาย ที่มักไม่เข้าใจความซับซ้อนทางอารมณ์ หรือมีความละเอียดอ่อนในเรื่องความรู้สึกเท่ากับผู้หญิง ทำให้นพพร เข้าใจผิดไปว่า การที่คุณหญิงกีรติ ไม่เอ่ยคำว่า ‘รัก’ แปลว่า เธอไม่มีความรู้สึก ‘รัก’ ให้แก่เขา

อาจกล่าวได้ว่า จารีตประเพณี รวมถึงค่านิยมของสังคม คือ กรอบที่ปิดกั้นไม่ให้คุณหญิงกีรติ เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงออกไป และกรอบอันนั้นเอง ที่ขังเธอไว้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

สมมติว่า ถ้าคุณหญิงกีรติ ไม่ถูกกรอบกฎเกณฑ์ของสังคมครอบทับไว้ อะไรจะเกิดขึ้น

เธออาจเปิดเผยความในใจให้นพพรได้รับรู้ ตั้งแต่หลังเหตุการณ์มิตาเกะ หรืออาจจะหลังจากที่เจ้าคุณอธิการบดีถึงแก่กรรมไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ทั้งคู่ก็อาจสมหวังในความรัก ท่ามกลางเสียงซุบซินนินทาของผู้คนในสังคม

หรือเรื่องราวทั้งหมดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเลย เพราะหญิงสาวชื่อกีรติ ตัดสินใจไม่แต่งงานกับเจ้าคุณอธิการบดี และใช้ชีวิตสาวโสดอย่างมีความสุข แม้ว่าเธออาจจะไม่ได้พบกับ ‘ความรัก’ เลยก็ตาม

และเธอก็คงไม่ได้เขียนข้อความลงบนกระดาษว่า

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

อ้างอิง

The 11 reasons we fall in love : https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-mysteries-love/201701/the-11-reasons-we-fall-in-love

Unrequited Love: What it means and how to move on : https://psychcentral.com/health/unrequited-love-meaning

งานวิจัย สถานภาพสตรีไทยในวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 โดยนางฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

Smiling through the tears: Study shows how tearjerkers make people happier : https://www.sciencedaily.com/releases/2012/03/120326132533.htm

Tags:

Behind the paintingความรักวรรณกรรมความเจ็บปวดข้างหลังภาพอุดมคติจารีตกฎเกณฑ์สังคมศรีบูรพา

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Movie
    Modern love : ไม่จำเป็นต้องลืมคนเก่า-ถูกแทน หัวใจเรารักได้มากกว่านั้น

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • IMG_3795
    Healing the trauma
    เมื่อบาดแผลหล่อหลอมชีวิต: การเติบโตงอกงามจากความเจ็บปวด (Post-traumatic Growth)

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Everyone can be an Educator
    เมื่อความรักไม่สามารถปล่อยไปตามธรรมชาติได้ มา Unlearn และ Relearn คำว่า ‘ความสัมพันธ์’ กันใหม่กับ Thaioasister

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • Relationship
    สามเหลี่ยมความรัก : ตอนนี้เรารักกันแบบไหน

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel