‘ครูคือผู้เสียสละ’ ‘เด็กคือผ้าขาว’ ‘การศึกษาต้องก้าวทันโลก’ ชุดความคิดเหล่านี้ถูกขีดเส้นใต้ว่าเป็นมายาคติที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทยมานาน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนถอดรื้อมายาคติและวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย มายาคติทำงานกับผู้คนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ หากไม่มีการตั้งคำถาม สังคมก็อาจไม่ได้พิจารณาชุดความคิดอื่นมาประกอบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับบริบทของยุคสมัย
ข้อใดต่อไปนี้คือชุดความคิดที่ถูกต้องในระบบการศึกษาไทย?
ก.ครูคือผู้เสียสละ
ข.เด็กคือผ้าขาว
ค.การศึกษาต้องก้าวทันโลก
ง.ถูกทุกข้อ
[คำถามข้อนี้มีเวลาให้คิด 1 นาที]
ถ้าได้คำตอบแล้ว…กรุณาเก็บไว้ในใจก่อน เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกข้อไหน สิ่งที่อยากชวนคิดต่อก็คือ ความคับแคบของการกำหนดคำตอบให้เลือกในรูปแบบเดียวกับข้อสอบปรนัย ที่ทำให้เราไม่สามารถอภิปรายใช้เหตุผล และพลาดโอกาสในการตั้งคำถามที่อาจจะเปิดทางให้เห็นคำตอบหรือทางออกที่ดีกว่าเดิม
ถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงพอจะเห็นบางแง่มุมแล้วว่า คำถามข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของความผิดเพี้ยนในระบบการศึกษาที่ประกอบขึ้นด้วยมายาคติหลายชุด ซึ่ง The Potential ชวน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาคลี่ม่าน ‘มายาคติ ’ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม เพื่อคลายเงื่อนปมที่ร้อยรัดการศึกษาไทยให้ก้าวช้ากว่าที่ควรจะเป็น
VIDEO
มายาคติ: ชุดความคิดที่ต้องทบทวน
หากย้อนกลับไปหาที่มา คำว่า ‘มายาคติ’ (Myth) ในช่วงหนึ่งถูกจัดอยู่ในทฤษฎีกลุ่มโครงสร้างสัญวิทยา (Structural Semiology) ว่าด้วยการประกอบสร้างความหมายทางวัฒนธรรม โดย โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ได้จัดวางแนวคิดสำคัญๆ ซึ่งผูกโยงกันเป็นคำจำกัดความของมายาคติ ได้แก่ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และการเสกสรรปั้นแต่ง
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ดร.อดิศร เกลี่ยคำนิยามของมายาคติที่ใช้เป็นกรอบในการพูดคุยครั้งนี้ว่า หมายถึง ชุดความคิด ความเชื่อ ที่ถูกถ่ายทอดหรือส่งต่อๆ กันมาในสังคมหรือในบริบทหนึ่งๆ ซึ่งชุดความคิด ความเชื่อเหล่านี้ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นระบบวัฒนธรรม ฐานคิด หรือคุณค่าที่คนในสังคมนั้นๆ มีร่วมกัน
“เพราะฉะนั้น มายาคติไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีหรือดี แต่เรากำลังศึกษาว่า ชุดความคิด ความเชื่อแบบหนึ่งๆ ว่ามันส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง
วิธีคิด วิธีปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งระดับนโยบายของประเทศว่าเวลาที่เราตัดสินใจในบางสิ่งบางอย่าง แล้วเราใช้มายาคตินั้นๆ เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ บางทีมันทำให้เราลืมที่จะตั้งคำถามว่า เอ๊ะ..ตกลงนี่มันจริงเสมอไปหรือเปล่า แล้วมันคงยังใช้ได้กับสถานการณ์ วัฒนธรรม หรือความคิดความเชื่อในปัจจุบันหรือเปล่านะครับ
เพราะว่าบางทีมันมีความขัดแย้งในตัวคนของแต่ละยุคสมัยเหมือนกัน แต่พอคนบางรุ่นยังยึดถืออยู่กับวิธีคิดแบบเดิม มันก็ทำให้การที่เราจะเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของการศึกษาหรือว่าการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมเป็นไปได้ยาก เพราะว่าเรายังคงอยู่กับวิธีคิดหรือว่าความเชื่อแบบเดิมๆ”
ที่สำคัญคือ เมื่อชุดความคิดความเชื่อนั้นอยู่กับสังคมมาเป็นระยะเวลานาน คนจำนวนหนึ่งมักจะคิดว่านั่นคือ ‘ความจริง’ ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง โดยปราศจากการตั้งคำถาม
“บางทีเราคิดว่ามันเป็นความจริงไปเรียบร้อยแล้ว คิดว่านั่นคือสิ่งที่มันต้องเป็น เพราะฉะนั้นบางทีเราลืมตั้งคำถามว่า คนรุ่นใหม่เขาคิดแบบเดียวกับเราหรือเปล่า หรือว่าเราลืมตั้งคำถามว่า เพราะวิธีคิดแบบนี้ที่เราคิดว่ามันดีอยู่แล้ว มันส่งผลกระทบในด้านลบยังไงบ้างหรือเปล่าต่อคนบางกลุ่ม
ยกตัวอย่างเช่น มายาคติเกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จ ซึ่งเรามักจะมองว่าเด็กที่เก่งและประสบความสำเร็จ คือคนที่ต้องสอบเข้าคณะแพทย์ได้ หรือตัองเป็นคนที่ได้เกรดดีๆ ซึ่งมายาคติแบบนี้ แน่นอนว่าด้านหนึ่งมันก็ช่วยผลักดัน สนับสนุนให้คนตั้งใจเรียน พยายามที่จะแข่งขัน เพื่อให้ตัวเองสามารถที่จะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันมันก็กำลังบอกเราว่า ถ้าคุณไม่ได้เป็นไปในทิศทางแบบนั้น ก็หมายความว่าคุณอาจเป็นคนที่ถูกมองว่าไม่เอาไหน เป็นคนที่ไม่เก่งพอ หรือเป็นคนที่โรงเรียนไม่ให้ความสำคัญ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้บอกว่า มันดี หรือ ไม่ดี แต่เรากำลังตั้งคำถามกับมัน แล้วเราควรจะเอาสิ่งที่มันเกิดขึ้นแบบนี้กลับมาพูดคุยกัน เพื่อเราจะได้เข้าใจตรงกัน แล้วก็เพื่อเราจะได้ชวนกันมองว่ามันมีความเป็นไปได้อื่นๆ บ้างหรือเปล่า”
‘ครูคือผู้ให้’: บางสิ่งที่หายไปในความเป็นครู
มายาคติแรกที่ ดร.อดิศร ชวนให้เราทบทวนตั้งคำถามกับประโยคที่ว่า ครูคือผู้ให้ ครูคือผู้เสียสละ ครูคือเรือจ้าง มีหน้าที่ส่งเด็กจากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อความคาดหวังของสังคมว่า ครูจะต้องเป็นเสียสละอยู่เสมอ
“รากคิดเกี่ยวกับเรื่องครูคือผู้เสียสละ เราจะเห็นได้ทุกๆ ปีช่วงใกล้วันครู โฆษณาที่ออกมาในแง่ของการเชิดชูครูที่ทำเพื่อลูกศิษย์ อดหลับอดนอนยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ลูกศิษย์ของเราได้ดิบได้ดี แล้วพอมาผนวกกับยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งครูถูกคาดหวังจากทางฝั่งนโยบายฝั่งภาครัฐ อย่างตอนนี้ที่กำลังมีข่าวกันอยู่ เรื่องของกระบวนการในการทำประเมินที่มันไปกินเวลาครู แทนที่จะได้ใช้เวลาในชั้นเรียนกับนักเรียน ก็ไปเสียเวลากับการทำเอกสาร
คำถามก็คือเวลาที่เรามองว่าครูคือผู้ต้องเสียสละแบบนี้ ส่วนที่มันไม่ถูกตั้งคำถามคือ แล้วภาครัฐหายไปไหน เวลาที่เรามองว่าครูคือผู้ที่ต้องลงไปช่วยเหลือเด็ก เอ๊ะ..มันเป็นหน้าที่ของครูอย่างเดียวหรือเปล่า จริงๆ แล้วมันมีหน้าที่ของภาครัฐใช่ไหม มันมีหน้าที่ของภาคอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาช่วยกันทำให้เด็กนักเรียนแต่ละคนสามารถที่จะมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณค่าในความเป็นมนุษย์นะครับ
เพราะฉะนั้นพอครูถูกเรียกร้องให้ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง ก็กลายเป็นว่าครูเองก็รู้สึกคาดหวังกับตัวเองว่าต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุดเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เราต้องยอมรับก่อนว่าการที่ครูสามารถเสียสละ ทำงานโดยที่หวังที่จะให้ลูกศิษย์ของครูนั้นได้ดีเนี่ยมันไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่คำถามก็คือเวลาที่เราคาดหวังกับครูในลักษณะแบบนี้ เราลืมตั้งคำถามในลักษณะที่เป็นวิชาชีพของตัวครูเอง
ที่ผ่านมาเวลาที่เราพูดถึงครูที่ดี เรามักจะมองว่าเป็นครูที่เสียสละ เป็นครูที่ทำงานหนัก แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าการเสียสละหรือการทำงานหนักนั้นมันเกี่ยวข้องกับการที่เขาสามารถสอนเด็กด้วยศักยภาพให้สามารถเข้าถึงความรู้ความเข้าใจต่างๆ ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะต้องมีหรือเปล่า แต่เราไปโฟกัสเฉพาะแค่ว่าครูคนนี้เสียสละมากพอหรือเปล่า ทำงานหนักหรือเปล่านะครับ
เราลืมไปว่าจริงๆ บทบาทที่สำคัญและเป็นบทบาทหลักของครูก็คือการสอน การสอนในที่นี้คือการสอนให้เด็กเกิดความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์นำไปปฏิบัติได้ แต่คำถามเหล่านี้มันไม่ค่อยถูกตั้งเท่าไร ครูก็เลยมีหน้าที่ในแง่ของการเอาความรู้มาถ่ายทอดให้กับเด็กอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันในสังคมเท่าไรนัก
เพราะฉะนั้นมายาคติเหล่านี้ที่มันกำกับวิธีคิดของเราเกี่ยวกับเรื่องของครู มันก็เลยทำให้บางทีเราลืมที่จะมองครูในอีกบทบาทหนึ่งเช่นกัน ในแง่ของบทบาทความเป็นมืออาชีพของตัวครูเองนะครับ
อีกแง่หนึ่งก็คือเวลาที่เรามองว่าครูเป็นผู้เสียสละ ส่วนหนึ่งจะพบว่าครูเองพอถูกคาดคั้นหรือว่าคาดหวังจากสังคมมาก ก็เกิดอาการที่เรียกว่า Burn Out ใช่ไหมครับ เพราะเรามองว่าครูจะต้องเป็น Role Model เป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นพ่อพิมพ์ของชาติ ทั้งที่จริงๆ แล้วครูก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน เราไม่เห็นจะต้องคาดหวังว่าทุกๆ คนจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวได้อย่างงดงาม เพราะจริงๆ แล้วเด็กสามารถเรียนรู้จากความเป็นมนุษย์ในตัวครูเองได้ นะครับ
ครูไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์สะอาด แต่ครูควรจะต้องเป็นคนที่สามารถยึดมั่นในวิชาชีพของตัวเอง มีจรรยาบรรณในวิชาชีพของตัวเอง แต่นอกเวลางานนั่นก็เป็นโอกาสของตัวครูเองที่เขาจะทำในสิ่งที่ต้องการได้ แล้วครูก็ควรจะต้องมีเวลาพักผ่อน มีเวลาที่จะใช้กับครอบครัว ครูไม่จำเป็นที่จะต้องเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาลงในแง่ของการดูแลเด็กทั้งหมดทั้งมวลใช่ไหมครับ เพราะครูเองก็มีชีวิตมีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน
มิติเหล่านี้มักจะไม่ค่อยพูดถึงในแง่ของการจัดการศึกษาเท่าไร เพราะเรามองครูในลักษณะที่เป็นวิชาชีพที่จะต้องยกย่องขึ้นไว้ที่สูงเท่านั้นครับ”
‘เด็กเป็นผ้าขาว’: สีสันความแตกต่างหลากหลายที่ถูกระบายทับ
พร้อมๆ ไปกับความคาดหวังที่สูงยิ่งที่มีต่อตัวครู ในทางตรงกันข้ามเด็กนักเรียนก็ถูกกดทับด้วยมายาคติที่มองว่าพวกเขาเปรียบเสมือนผ้าขาว บริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งผู้ใหญ่สามารถระบายสีอะไรลงไปก็ได้ โดยหวังผลว่ามันจะสวยงามตามแบบที่ตนเองต้องการ
ดร.อดิศร มองว่าชุดความคิดนี้ทำให้ผู้ใหญ่นิยามเด็กบนความเปราะบาง และจำเป็นต้องได้รับการดูแล(สั่งสอน) อย่างดีที่สุด
“ทีนี้พอเวลาเรามองเด็กในลักษณะที่เขาเหมือนกับเป็นผู้รับอย่างเดียว เราลืมไปว่าจริงๆ แล้วทุกวันนี้เด็กเองเขาเติบโตมาในสังคมที่มันมีความหลากหลาย มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเขามีความคิด ความเข้าใจในโลกและชีวิตนะครับ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ระบบการศึกษาควรจะมองเขาในลักษณะที่เขาเองก็มีความคิดและความสามารถที่จะเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้นอกเหนือจากการที่ผู้ใหญ่สั่งสอนเขา
เมื่อไรก็ตามที่เรามองว่า ครูหรือว่าผู้ใหญ่มีหน้าที่ในแง่ของการสั่งสอนเด็กอย่างเดียว เราก็จะมองว่าเขาอยู่ในสถานะที่อาจจะต่ำกว่าเรา แล้วหน้าที่ของเราก็คือการทำให้เขากลายเป็นคนที่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องไม่ดี มายาคติแบบนี้ด้านนึงมันก็ช่วยโอบอุ้มให้เด็กๆ ของเราสามารถเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสม
แต่อีกด้านหนึ่ง พอเรามองว่าเด็กเป็นเสมือนกับผ้าขาว เราก็มักจะมองว่าหน้าที่ของเราคือการไปแต่งแต้ม เราไม่ได้มองว่าจริงๆ แล้วผ้าแต่ละชนิดมันมีความแตกต่างหลากหลาย ผ้าแต่ละชนิดไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด เด็กก็เหมือนกัน เด็กเองก็มีความแตกต่างหลากหลาย เด็กมีความเข้าใจ มีความคิดอ่าน มีความต้องการ มีความปรารถนา มีความถนัด มีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน
ทีนี้พอเรามองว่าเด็กเป็นผ้าขาวเหมือนกันหมด หน้าที่ของเราก็คือการลงไปแต่งแต้มเหมือนๆ กันไปหมด ระบบการศึกษาในบ้านเรามันก็เลยไม่ได้มองว่าคนมีลักษณะที่เป็นปัจเจกบุคคล มีลักษณะที่อาจจะต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายในชีวิตที่แตกต่างกัน มีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างกัน
แต่พอเรามองว่าทุกอย่างเหมือนกันหมดเป็นผ้าขาวเหมือนกันหมด ก็เลยขาดมิติในแง่ของการที่จะมองเด็กให้เห็นความเป็นปัจเจก ให้เห็นความหลากหลายในตัวของพวกเขา อันนี้เป็นประเด็นที่สองในแง่ของมายาคตินะครับ”
‘การศึกษาต้องก้าวทันโลก’: หมุดหมายที่อาจผิดทิศในโลกที่พลิกผัน
อีกหนึ่งมายาคติที่ ดร.อดิศร ชวนปรับโฟกัสให้เห็นกันชัดๆ ก็คือ การศึกษาต้องก้าวทันโลก ชุดความคิดนี้ดูเผินๆ ไม่น่าจะมีอะไรโต้แย้ง แต่หากลองตั้งหลักกันสักนิด ตั้งคำถามอีกสักครั้งว่า แท้จริงแล้วโลกกำลังไปทางไหน บางทีอาจเราจะพบคำตอบที่ดีกว่า
“เวลาที่เราพูดว่าการศึกษาต้องก้าวให้ทันโลกเนี่ย โลกตอนนี้กำลังไปทางไหนนะครับ จากงานวิจัยเราพบว่า ผู้ใหญ่ คนทั่วๆ ไปมักมองว่าตอนนี้โลกมีสองลักษณะใหญ่ๆ ลักษณะแรกคือ มองว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้าย โลกเต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ ยาเสพติด อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ทำให้เขาออกนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้นในโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ผู้ใหญ่ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องหาวิธีการจำกัดขอบเขตของการที่เยาวชนจะถูกล่อล่วงไปในลักษณะแบบนั้น วิธีการของผู้ใหญ่ก็คือการตีกรอบให้กับเขา แล้วก็พยายามสั่งสอนเขาให้เป็นคนดี พยายามให้เขาอยู่ในศีลในธรรม
อีกลักษณะหนึ่งก็คือ โลกที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความพลิกผันอยู่ตลอดเวลา โลกที่มันกำลังวิ่งไปข้างหน้าแล้วเราบอกให้เขาต้องวิ่งตามให้ทัน ทีนี้การต้องวิ่งตามให้ทันโลกที่มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเนี่ย ส่วนหนึ่งก็เลยพยายามที่จะจินตนาการว่าต้องทำอะไรกับเด็กบ้าง เราก็พยายามจัดการการศึกษาต่างๆ ที่มันมีความก้าวหน้า พยายามที่จะกำหนดเป้าหมายว่าเดี๋ยวโลกมันจะไปทางนี้แหละ ฉะนั้นเราต้องสร้างเด็กให้มันไปตอบรับกับโลกแบบนี้ แต่ถามหน่อยว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีใครจินตนาการถึงการเผชิญกับสถานการณ์โควิดอย่างนี้บ้าง แล้วเราก็พบว่าโลกหลังโควิดเนี่ยมันเป็นโลกที่เราไม่ได้จินตนาการมาก่อน โลกที่ทุกอย่างมันถูกจับให้มาอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งวิธีคิดต่อเรื่องของการจัดการศึกษามันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป
ที่ผ่านมาเรามักจะละเลยวิธีการในการที่เราจะมองความเปลี่ยนแปลงของโลก คือเรามองว่าถ้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เข้าสู่ระบบเทคโนโลยี เราก็พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น จัดหลักสูตรต่างๆ ให้มันไปตอบสนองในเรื่องเดียวกันหมด ก็คือการไปตอบสนองให้เด็กเป็นคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เรื่องที่มันขาดหายไปก็คือ เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการพัฒนาเด็กในด้านอื่นๆ เพราะมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด งบประมาณทุกอย่าง นโยบายทุกอย่าง ก็เลยทุ่มเทไปทางด้านนี้หมด จนลืมไปว่า จริงๆ แล้วเด็กเองเขาก็ยังมีความเป็นมนุษย์ เขายังมีความต้องการที่หลากหลาย เขายังความต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องภายในของเขา การจัดการกับสภาวะซึมเศร้าหรือว่าการจัดการกับสภาวะหลายๆ อย่างที่เขาต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน
แต่พอเราไปมองเฉพาะแค่เรื่องที่ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มันก้าวไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เราก็เลยพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายตรงนั้น แล้วก็ลืมเป้าหมายอื่นๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาไปด้วยเช่นกัน”
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า มายาคติทำงานกับผู้คนในสังคมตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากไม่มีการตั้งคำถามว่า ชุดความคิดหรือวิธีการมองโลกเช่นนี้ส่งผลอย่างไร สังคมก็อาจตกอยู่ในภาวะเหมือนถูกสะกดจิตแล้วทำตามกันไป แทนที่จะพิจารณาชุดความคิดอื่น หรือคุณค่าอื่นมาประกอบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นอนาคตที่มีอยู่จริง
ก้าวพ้นมายาคติ สู่การศึกษาที่เปิดกว้างและรับฟัง
ท่ามกลางความพร่ามัวของเลนส์ที่ผู้คนใช้มองโลกมานาน แน่นอนว่าย่อมมีความเคยชินและความเชื่อว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือความจริงที่ชัดเจน การไปให้พ้นจากมายาคติจึงมีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เป็นทั้งความหวังและความท้าทาย
“เราต้องสอนให้คนรุ่นใหม่รู้จักที่จะตั้งคำถามนะครับ กับสิ่งที่เรามองว่าเป็นความปกติ เป็นสิ่งที่เรามองว่ามันเป็นแบบนี้แหละอย่าไปเปลี่ยนมันเลย เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มส่งเสียงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียว แต่ว่าหลายๆ คนเริ่มส่งเสียงมากขึ้น ผมคิดว่าคนที่เป็นคนออกนโยบาย คนที่เขาต้องทำงานในเชิงของการมองภาพกว้าง เขาก็อาจจะเริ่มได้ยินเสียงนะครับ เป็นเสียงของคำถาม เป็นเสียงของการตั้งข้อสังเกต เป็นเสียงของการที่เราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องทะเลาะกัน แต่เราสามารถที่จะเห็นต่างกันได้
ผมคิดว่าสังคมไทยเนี่ย เราไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นต่าง เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่ากับความประนีประนอมค่อนข้างสูง ทีนี้ความประนีประนอมเหล่านี้หลายๆ ครั้งมันทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้สนทนา ได้สื่อสาร ได้บอกเล่าถึงความคิด ความรู้สึกของแต่ละคน ให้เข้าใจ แล้วก็มารับฟังกันอย่างแท้จริง” ดร.อดิศร เสนอบันไดขั้นที่หนึ่งเพื่อออกจากวังวนนี้
“ผมคิดว่าการเริ่มต้นด้วยการรับฟังเป็นเรื่องที่สำคัญมากในสังคมนะครับ เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่เราเอาชุดความคิดความเชื่อของเราชุดเดียว มาเป็นตัวกำหนดในการออกนโยบายหรือออกกฎหมายหรือออกระเบียบต่างๆ เมื่อนั้นเราจะพบว่ามีอีกหลายคนมากที่เขาอาจจะมีวิถีชีวิต มีวิถีการมองโลก มีไลฟ์สไตล์ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายหรือนโยบายเหล่านั้น แล้วมันผลักเขาไปสู่การเป็นคนชายขอบของสังคม แล้วปัญหาหลายๆ เรื่องในสังคมไทยปัจจุบัน ปัญหาเรื่องของความรุนแรง เรื่องของการแสดงออกที่เรามองว่าเป็นเรื่องของความก้าวร้าว จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งมันเริ่มมาจากการที่เราไม่เปิดพื้นที่ของการรับฟังเสียงที่แตกต่างหลากหลายนะครับ”
โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ การรับฟังอย่างใส่ใจและเรียนรู้ว่าเขาคิดอ่านอย่างไร มองโลกอย่างไร มีความคิดความเชื่อแบบไหน ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม
“ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการจัดการเรียนรู้ต้องเห็นความหลากหลายของผู้เรียน เห็นว่าแต่ละคนเขามีเป้าหมายในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วหลายๆ คนเรียนในหลักสูตรเดียวกัน เรียนในวิชาเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องมีเป้าหมายในชีวิต หรือมีวิธีการในการเรียนรู้ที่เหมือนกัน
การที่เราค่อยๆ ฟังกัน แล้วหาพื้นที่ตรงกลางที่สามารถรองรับความแตกต่างหลากหลายตรงนี้ได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยขยับให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้”
มองในมุมนี้ สิ่งที่สถาบันการศึกษาควรใส่ใจมากขึ้น คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ทั้งชีวิตของตัวผู้เรียนเอง ที่เรียกว่าเป็น Lifelong Learning
“การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจะสร้างให้ผู้เรียนสามารถเป็น Lifelong Learner เป็นผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้สถาบันการศึกษาควรต้องเป็นคนเริ่มต้น เราต้องช่วยให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ตรวจสอบได้ว่าความรู้ที่ไปได้มาจากอินเทอร์เน็ตนั้นมันมีหลักฐาน มีองค์ประกอบในแง่ของการที่ความรู้ชุดหนึ่งๆ มันถูกสร้างขึ้นมาแบบไหน แล้วตัวเขาเองต้องสามารถประเมินได้ว่าความรู้หรือทักษะเหล่านี้มันถูกต้อง มันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของสถาบันการศึกษาจะค่อยๆ เปลี่ยนไป แล้วมันก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนรุ่นใหม่
แนวโน้มที่เราอาจจะพบเห็นมากขึ้นในอนาคตก็คือ คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ใช้เวลาสี่ปีแล้วก็เรียนในระดับมหาวิทยาลัยรวดเดียวจบ แต่อาจจะเป็นการเรียนแล้วทำงานไปด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สถาบันการศึกษาเองต้องปรับตัวให้ได้ เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่จำเป็นจะต้องเรียนตามระบบอีกต่อไป เขาสามารถที่จะเข้าถึงความรู้และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งเราจำเป็นจะต้องเข้าใจแล้วก็ต้องสนับสนุน ไม่ใช่ไปขัดขวางแล้วพยายามบังคับให้เขาเข้าสู่กฎเกณฑ์ที่เราตั้งเอาไว้ ซึ่งมันถูกผลิตขึ้นเมื่อหลายสิบกว่าปีที่แล้ว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยจนถึงปัจจุบัน”
ถึงตรงนี้ มายาคติทางการศึกษาที่สืบต่อกันมานอกจากจะไม่ใช่เข็มทิศที่เที่ยงตรงแล้ว สังคมน่าจะต้องมีชุดความคิดที่ขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้ไปต่อได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของยุคสมัย
“จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนะครับ ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยพูดเอาไว้นานมากแล้วว่า การศึกษา ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนเติบโตและสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ รัฐมีหน้าที่ในแง่ของการสนับสนุนให้เยาวชนแต่ละคนสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพของเขา และเมื่อไรก็ตามที่คนแต่ละคนสามารถที่พัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ เขาก็จะสามารถที่จะ contribute หรือว่าสร้างสิ่งดีๆ กลับเข้ามาสู่สังคม เขาจะสามารถช่วยให้สังคมมีทรัพยากรที่มีคุณภาพ แล้วก็สามารถทำสิ่งดีๆ ได้นะครับ
แต่ตอนนี้วิธีคิดของฝั่งรัฐก็คือ ยังมองระบบการศึกษาในลักษณะเป็นโรงงานอยู่ พอเราตื่นเต้นกับเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 เราก็ให้ทุกคนไปเรียนทักษะในศตวรรษที่ 21 กันหมด พอมีเรื่องเอไอทุกคนก็ต้องไปเรียนเอไอกันให้หมด เราลืมไปว่าจริงๆ แล้วเยาวชนแต่ละคนเขามีความหลากหลาย แล้วเขาก็มีความสนใจที่แตกต่างกัน ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เขาได้ทำในสิ่งที่สนใจ เข้าถึงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เขาย่อมจะทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่มันเป็นสิ่งที่ดีและตอบกลับมาที่สังคมเสมอ”
ดร.อดิศร ย้ำว่าสังคมไม่ต้องการความเหมือนกัน ความเหมือนกันไม่ได้ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า สังคมเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อเราสนับสนุนความหลากหลายของผู้คนในสังคม
“แต่ละคนเหมือนเป็นภาพต่อของจิ๊กซอว์ที่มาทำให้สังคมมีความสมบูรณ์มากขึ้น ถ้าเราสามารถมองเห็นศักยภาพของคนที่มีความหลากหลายแบบนี้ ผมเชื่อว่าสังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้ แล้วเราจะไม่ย่ำอยู่กับที่ ไม่พยายามจะทำให้ทุกคนกลายเป็นนวัตกร ไม่พยายามจะทำให้ทุกคนเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของเอไอหรือว่าโค้ดดิ้งต่างๆ เหมือนกันไปหมด เราจะสามารถมองเห็นว่าแต่ละคนมีความงอกงาม มีความแตกต่างหลากหลายและเขาสามารถช่วยให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าได้อย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าตอนนี้นักวิชาการ นักการศึกษารุ่นใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งรุ่นอาวุโสหลายๆ คน เริ่มมองเห็นแล้วว่าเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับการจัดการศึกษา แล้วเสียงเหล่านี้เริ่มเป็นที่ได้ยินมากขึ้นในสังคม ผมคิดว่าเราเห็นแนวโน้มที่ดี แต่มันต้องใช้เวลาและแน่นอนว่าเราไม่ควรที่จะไปรอฮีโร่ พระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยแก้หรือเปลี่ยนแปลงการศึกษานะครับ
ตอนนี้มีคำที่เขากำลังใช้กันก็คือ All for Education ก็คือทุกๆ ภาคส่วนต้องลงมาช่วยกัน ต้องช่วยกันส่งเสียงอย่าให้มันเป็นการแค่เสียงของคนแค่ในภาคการศึกษา หรือเสียงของคนที่กำหนดนโยบายเท่านั้น แต่คนที่อยู่ในวงการอื่น ทุกคนเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาหมดไม่ทางใดก็ทางนึง เราควรต้องช่วยกันส่งเสียง อย่ายอมรับในสิ่งที่เราคิดว่ามันไม่มีประโยชน์
เราต้องช่วยกันส่งเสียงว่าเราต้องการการศึกษาที่ช่วยพัฒนาลูกหลานของเรา เยาวชนของชาติหรือคนรุ่นใหม่ ที่จะทำให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณค่า เห็นคุณค่าในตัวเอง แล้วก็มองเห็นว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้างในชีวิตนี้ ไม่ใช่การที่เราไปพยายามสร้างกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างเพื่อมากำกับควบคุมทำให้ทุกอย่างมันเป็นมาตรฐานเดียว เป็นระบบโรงงานแบบนั้นนะครับ”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะของการเปลี่ยนผ่าน บนรอยต่อระหว่างชุดความคิดแบบเก่าและใหม่นั้น ย่อมมีทั้งความหวังและข้อกังวล
“ความหวัง คงจะเป็นความหวังกับคนรุ่นใหม่นะครับ ผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีคิด มีวิธีการมองโลกที่เขาเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น เขาเริ่มส่งเสียงมากขึ้น เขากล้าที่จะบอกในสิ่งที่เขาไม่พอใจหรือสิ่งที่เขาต้องการออกมาได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการที่เราจะสร้างพื้นที่ของการรับฟังเสียง แน่นอนว่าเราอาจจะต้องให้พื้นที่ของการรับฟังเสียงของคนรุ่นอื่นๆ ด้วยเช่นกันว่าเขาคิดเห็นอย่างไร พื้นที่ที่เรามีความเท่าเทียมกันในแง่ของการรับฟัง ผมคิดว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสังคมไทยเรายังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่อยู่ แล้วเรายังสามารถที่รู้แล้วว่ามันมีปัญหาอะไร แล้วเขาพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบไหนนะครับ”
“ส่วนข้อกังวลผมมองว่าเรายังมีพื้นที่ลักษณะนี้ค่อนข้างน้อย แล้วอย่างที่บอกกัน มายาคติของคนในสังคมที่พอเห็นเยาวชนออกมาส่งเสียงเรียกร้องในหลายๆ เรื่อง ก็มักจะมองว่าพวกเขากำลังถูกหลอกบ้าง พวกเขาใช้ความรุนแรงบ้าง เราตัดการได้ยินเสียงที่เขากำลังส่งมา ซึ่งผมคิดว่าความน่าเป็นห่วงก็คือ พอเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นไปตามภาพลักษณ์ของการเป็นเยาวชนที่ดีที่เราตั้งใจเอาไว้ นั่นก็คือเยาวชนที่ดีต้องเป็นคนที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องเป็นคนที่นอบน้อมถ่อมตน ต้องเป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ตั้งใจเรียน ต่างๆ เหล่านี้
พอเรามองว่าเยาวชนเขาไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของเรา เราก็แปะป้ายว่าเขาเป็นคนไม่ดี พอเราแปะป้ายว่าเขาเป็นคนไม่ดีปั๊บเราเลิกฟังความคิดเห็นจากเขาทันที ผมคิดว่าตรงนี้มันคือการปิดกั้นโอกาสของการที่เราจะได้ยิน ได้ฟังความคับข้องใจจากเขา ข้อเสนอของเขา หรือแม้กระทั่งอนาคตที่เขาเองต้องเป็นเจ้าของต่อไป สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันในฐานะผู้ใหญ่นะครับ ในแง่ของการสร้างพื้นที่ของการรับฟังกันให้มากขึ้น” ดร.อดิศร กล่าวทิ้งท้าย